ฮอนด้า เอฟซี : สโมสรจากลีกล่างญี่ปุ่นที่ได้แชมป์นับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่ยอมเลื่อนชั้น

ฮอนด้า เอฟซี : สโมสรจากลีกล่างญี่ปุ่นที่ได้แชมป์นับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่ยอมเลื่อนชั้น

ฮอนด้า เอฟซี : สโมสรจากลีกล่างญี่ปุ่นที่ได้แชมป์นับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่ยอมเลื่อนชั้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อการเลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในระดับสูงขึ้น ไม่ได้ตอบโจทย์เป้าประสงค์ของสโมสร

"การเลื่อนชั้น" น่าจะเป็นเป้าหมายของแทบทุกสโมสรที่ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันในลีก เพราะหากสามารถขึ้นไปเล่นในลีกระดับบน จนถึงลีกสูงสุด นอกจากเงินรางวัลที่มากขึ้นแล้ว มันยังช่วยยกระดับทีมให้สูงขึ้นได้อีกด้วย 

อย่างไรก็ดี ที่ญี่ปุ่นกลับมีสโมสรหนึ่ง ที่แม้ว่าพวกเขาจะคว้าแชมป์ในลีกล่างมาเต็มถ้วยโชว์สโมสร แต่ก็ไม่ยอมเลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในลีกที่สูงขึ้นเสียที 

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand

ทีมสมัครเล่นที่แข็งแกร่งที่สุด 

ณ เมืองฮามามัตสึ จังหวัดชิสุโอกะ เมืองหลวงแห่งฟุตบอลญี่ปุ่น ที่เป็นต้นกำเนิดยอดทีมทั้งในระดับมัธยม และระดับอาชีพ รวมไปถึงเป็นจังหวัดบ้านเกิดของ โอโซระ สึบาสะ ตัวเอกจากการ์ตูน กัปตันสึบาสะ มีทีมเล็กๆ ที่ชื่อว่า ฮอนด้า เอฟซี แฝงตัวอยู่ 


Photo : www.suyama-group.co.jp

พวกเขาถือเป็นทีมที่มีประวัติยาวนาน และมีอายุเกือบ 50 ปี หลังก่อตั้งขึ้นในปี 1971 ซึ่งถือเป็นยุคทองของเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยมี บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด บริษัทยานยนต์ชั้นนำของแดนอาทิตย์อุทัยเป็นเจ้าของ 

ฮอนด้า เอฟซี ก่อตั้งขึ้นด้วยจุดประสงค์ที่ไม่ต่างกับสโมสรกึ่งอาชีพทั่วไปของญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้น นั่นคือเป็นทีมไว้สำหรับให้พนักงานในบริษัทได้ออกกำลังกาย ทำให้นักเตะในทีมส่วนใหญ่ล้วนเป็นพนักงานของฮอนด้า ที่ทำงานในตอนเช้า และซ้อมบอลในตอนบ่าย

พวกเขาถือเป็นหนึ่งในสโมสรที่มีผลงานโดดเด่นในลีกระดับรองมาตั้งแต่สมัยที่ญี่ปุ่นยังไม่มีลีกอาชีพ และเริ่มไต่เต้ามาตั้งแต่ระดับจังหวัด ภูมิภาค จนมาถึงระดับประเทศ การันตีได้จากแชมป์จังหวัดชิสุโอกะ 1 สมัย แชมป์ภูมิภาคโทไค 2 สมัย และแชมป์ เจแปน ซ็อคเกอร์ ลีก 2 (JSL 2) อีก 2 สมัย 

แม้ในระดับ เจแปน ซ็อคเกอร์ ลีก 1 (JSL 1) ซึ่งเป็นลีกสูงสุดของญี่ปุ่น ก่อนเปลี่ยนมาเป็นเจลีก ฮอนด้า จะไม่เคยไปถึงตำแหน่งแชมป์ แต่ก็สามารถคว้าอันดับ 3 มาครองได้ถึง 2 ครั้งในปี 1985 และ 1990/91 บ่งบอกถึงผลงานที่ไม่ธรรมดาสำหรับพวกเขา 

อย่างไรก็ดี หลังการมาถึงของเจลีกในปี 1993 ฮอนด้าก็กลายเป็นหนึ่งในทีมที่ไม่ได้ไปต่อ เนื่องจากไม่ผ่านมาตรฐานการเป็นสโมสรอาชีพ ทำให้พวกเขาต้องกลับไปเริ่มต้นในลีกระดับล่างกับ เจแปน ฟุตบอลลีก (JFL) 


Photo : JFL

แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ยังไว้ลายความเก่งกาจในลีกรอง เมื่อสามารถเดินหน้าคว้าแชมป์ JFL มาครองได้ถึง 8 สมัย และเพิ่งจะคว้าแชมป์ JFL สมัยที่ 4 ติดต่อกันมาครองได้สดๆ ร้อนๆ ในฤดูกาลนี้ (2019) และกลายเป็นทีมที่คว้าแชมป์มากที่สุดในระดับนี้ จนได้รับการขนานนามว่า "ทีมสมัครเล่นที่แข็งแกร่งที่สุด" 

ฮอนด้า ยังเป็นหนึ่งในทีมระดับล่างที่มักจะสร้างปรากฎการณ์ด้วยการเป็นทีม "ล้มยักษ์" ในฟุตบอลถ้วยอย่าง เอ็มเพอเรอร์ส คัพ ได้บ่อยครั้ง โดยในปีล่าสุดพวกเขาเข้ามาถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 2 ที่เคยทำได้ต่อจากปี 2007 ด้วยการปราบทีมที่อยู่ในลีกสูงกว่าอย่าง ฮอกไกโด คอนซาโดเล ซัปโปโร (J1), โทคุชิมา วอร์ติส (J2) และ อุราวะ เรดส์ (J1) จนพังไม่เป็นท่า

อย่างไรก็ดี แม้พวกเขาจะแข็งแกร่งขนาดนี้ แล้วเหตุใดถึงไม่ได้เลื่อนชั้นเสียที?

ดีแค่ไหนก็ไม่พอ 

แม้สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น หรือ JFA จะก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1921 หรือเกือบ 100 ปีมาแล้ว แต่พวกเขาเพิ่งจะมีลีกฟุตบอลอาชีพมาไม่ถึง 30 ปี หลังเจลีกได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1993 


Photo : sakanowa.jp

แน่นอนว่าการเกิดขึ้นของเจลีก มีจุดประสงค์สำคัญเพื่อยกระดับฟุตบอลของประเทศ ผ่านการส่งเสริมให้ลีกมีสโมสรอาชีพมากที่สุด โดยพวกเขาเริ่มต้นจาก 10 สโมสรในปีแรก และขยายเพิ่มขึ้นจนมีสโมสรอาชีพเกือบ 50 สโมสรในปัจจุบัน 

อย่างไรก็ดี การที่จะได้ลงเล่นในเจลีก (J1, J2, J3) ไม่ใช่แค่ฝีมือเท่านั้น สโมสรเหล่านี้จำเป็นต้องผ่านมาตรฐานเจลีก และได้รับใบอนุญาตที่เรียกว่า เจลีก ไลเซนซิง ที่มาจากการประเมินของสมาคม 

มาตรฐานของพวกเขา ล้วนมีข้อกำหนดไว้อย่างชัดเจนในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของทีมที่ห้ามเป็นทีมขององค์กร ขนาดของสนาม แฟนบอลเฉลี่ย ระบบเยาวชน คุณภาพของโค้ช ไปจนถึงงบบริหารในแต่ละปี 

"กฎที่แจกให้กับทีมสมัครเข้าร่วมเจลีกเมื่อปี 1991 ระบุไว้ว่าทุกทีมต้องผ่านมาตรฐานดังนี้คือ 

1. ทุกทีมต้องเป็นอิสระจากบริษัทแม่ 
2. ใช้ระบบฟุรุซาโตะ (บ้านเกิด) ในการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนมากกว่าบริษัท 
3. ทุกทีมต้องมีสนามที่ต้องมีความจุไม่น้อยกว่า 15,000 ที่นั่ง 
4. ทุกทีมต้องมีทีมอายุไม่เกิน 18 ปีและ 15 ปี และทีมเยาวชน หรือแนวโน้มว่าจะทำ 
5. ทุกทีมต้องมีโค้ชที่ผ่านคุณสมบัติ 
6. ทุกทีมต้องร่วมจ่ายค่าจัดการในการก่อตั้งลีก, ค่าโฆษณา และค่าจัดการ 
7. ลีกถือสิทธิ์ในเกมการแข่งขัน, ผู้สนับสนุน, การถ่ายทอดสดและสินค้าที่ระลึก"


Photo : go2senkyo.com

แม้ว่ามาตรฐานของเจลีก จะลดหลั่นลงไปตามระดับของลีก แต่ ฮอนด้า เอฟซี ยังสอบตกในหลายข้อ โดยเฉพาะการเป็นอิสระจากบริษัทแม่ ที่พวกเขานำชื่อขององค์กรมาเป็นชื่อสโมสร ซึ่งเป็นเกณฑ์ข้อแรกๆ ที่เจลีกเน้นย้ำและนำมาพิจารณา

ในขณะเดียวกัน จำนวนแฟนบอลเฉลี่ย ก็ยังเป็นหนึ่งอุปสรรคสำคัญสำหรับพวกเขา เพราะถึงแม้ว่าสนาม ฮอนด้า มิยาโอกะ ซ็อคเกอร์ สเตเดียม สนามเหย้าของพวกเขาจะมีความจุ 4,000 ที่นั่ง ที่มากกว่ามาตรฐานของ J3 ที่ระบุไว้ว่าไม่ต่ำกว่า 3,000 ที่นั่ง แต่ยอดแฟนบอลเฉลี่ยกลับอยู่ในระดับ 1,000 คน น้อยกว่าที่เจลีกกำหนดไว้ที่ 2,000 คน ราว 2 เท่า

มันจึงเป็นเหตุผลว่าเพราะเหตุใด ฮอนด้า เอฟซี ที่เดินหน้าคว้าแชมป์ JFL มาหลายครั้ง จึงไม่สามารถเลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในลีกที่สูงขึ้นเสียที เพราะไม่ว่าจะคว้าแชมป์สักกี่ครั้ง หากไม่ผ่านมาตรฐานเจลีก สิทธิ์ดังกล่าวก็จะถูกเพิกถอนไป 


Photo : www.nikkansports.com

ซึ่งสิทธิ์ดังกล่าวนี้จะส่งต่อให้ทีมที่ที่ผ่านมาตรฐานของเจลีกที่อยู่ในอันดับถัดไปแทน ทำให้สโมสรจากเมืองฮามามัตสึแห่งนี้ ได้รับการขนานนามว่า "ผู้เฝ้าประตูสู่ J" จากการที่พวกเขาเป็นใบเบิกทางให้ทีมอื่นเข้าไปเล่นในเจลีก 

อย่างไรก็ดี อันที่จริง ฮอนด้า เอฟซี ก็ไม่ได้เป็นทีมไร้ชื่อ พวกเขาเป็นทีมเก่าแก่แถมมีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง ฮอนด้า มอเตอร์ เป็นบริษัทแม่หนุนหลัง 

แต่เพราะเหตุใดพวกเขาจึงไม่ยอมปรับปรุงทีมให้ผ่านมาตรฐาน

สโมสรที่ไม่ได้มีเป้าหมายเข้าเจลีก 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในลีกอาชีพ ถือเป็นจุดประสงค์หลักของแทบทุกสโมสรที่ส่งทีมเข้าแข่งขันในลีก เพราะมันหมายถึงเม็ดเงินที่จะเข้ามาสนับสนุนทีมมากขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาทีม 


Photo : soccer-time.net

แต่ไม่ใช่สำหรับ ฮอนด้า เอฟซี พวกเขาไม่ได้มีเป้าหมายที่จะขึ้นไปในเจลีก แต่เป็นการมีอยู่ของทีมบริษัท ทำให้พวกเขายึดถือความเป็นสโมสรสมัครเล่นให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ และนั่นก็เป็นเหตุผลว่าเพราะเหตุใดพวกเขาถึงไม่ยอมปรับปรุงทีมให้ผ่านมาตรฐานอาชีพ 

อันที่จริง ฮอนด้า ก็เคยมีโอกาสได้เป็นหนึ่งในสโมสรอาชีพถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงการก่อตั้งเจลีก ที่พวกเขาต้องรวมทีมกับ ฮอนด้า มอเตอร์ส ซายามะ เอฟซี สโมสรน้องในจังหวัดไซตามะ และย้ายฐานที่มั่นไปอยู่ที่เมืองอุราวะ แต่สุดท้ายเจ้าของฮอนด้า ก็ยืนยันว่าพวกเขาอยากจะมุ่งเน้นในธุรกิจยานยนต์มากกว่า

ส่วนอีกครั้งเกิดขึ้นในปี 1996 ที่เจลีก เตรียมจะเปิด J2 โดยครั้งนั้นพวกเขามีแผน ถึงขั้นได้ชื่อทีมใหม่ว่า อาคิวท์ ฮามามัตสึ แต่เนื่องจากสนามเหย้าไม่ผ่านเกณฑ์ และมีแฟนบอลท้องถิ่นไม่เพียงพอ โครงการนี้จึงถูกล้มเลิกไป 

ทำให้หลังจากนั้น แม้จะมีโอกาสเลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในเจลีก พวกเขาก็ปฏิเสธมันมาตลอด และเลือกที่จะเป็นสโมสรสมัครเล่นต่อไปอย่างจริงจังในฐานะทีมขององค์กร โดยเลือกที่จะยึดถือความเป็นผู้ท้าชิง และสร้างคุณค่าให้กับตัวเองโดยไม่เหมือนใคร ตามปรัชญาของ โซอิจิโร ฮอนดะ ผู้ก่อตั้งฮอนด้า 


Photo : www.nikkansports.com

"การมุ่งไปสู่การเป็นมืออาชีพมันก็เป็นรูปแบบหนึ่ง แต่บริษัทต้องการให้สโมสรฟุตบอลของบริษัทคงอยู่" ฮิเดคาสุ โคบายาชิ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของฮอนด้า เอฟซี กล่าวกับ Tokyo Shinbun 

"การทำให้ทีมฟุตบอลแข็งแกร่งขึ้นและสนุกไปกับมัน มันอาจจะดีกว่าการเป็นมืออาชีพเสียอีก มันคงจะดีถ้าได้สร้าง 'สี' ที่หาจากที่ไหนไม่ได้อีก" 

นอกจากนี้การเป็นสโมสรสมัครเล่น ในทางกลับกันมันยังมอบความมั่นคงให้กับผู้เล่นในทีม เมื่อผู้เล่นเกือบทั้งหมดต่างเป็นพนักงานของบริษัทที่มีเงินเดือนประจำ และมั่นใจว่าจะไม่อดตาย หากเล่นฟุตบอลไม่ได้แล้ว 

"คุณแทบไม่ต้องกังวลกับอาชีพที่สองเลย หลังเลิกเล่นก็ยังจดจ่อกับบริษัทได้" โคบายาชิกล่าวต่อ 

ในขณะเดียวกัน พวกเขาไม่ได้มีเฉพาะนักเตะสมัครเล่นเท่านั้น แต่ยังมีผู้เล่นบางคนที่มีสัญญาอาชีพกับทีม หนึ่งในนั้นคือ ทัตสึยะ ฟุรุฮาชิ กองหน้าจอมเก๋าของทีม 

เขาเป็นคนฮามามัตสึ โดยกำเนิด และเคยเล่นให้ฮอนด้า มาก่อน ก่อนจะย้ายไปค้าแข้งกับหลายทีมดังอย่าง เซเรโซ โอซากา, มอนเตดิโอ ยามางะตะ และโชนัน เบลล์มาเร รวมไปถึงเคยติดทีมยอดเยี่ยมแห่งปีเจลีกมาแล้ว 


Photo : @Honda_FC

"ฮอนด้าเป็นทีมที่ผมเห็นมาตั้งแต่อยู่ประถม พวกเขาคือทีมที่ผมใฝ่ฝันมาตลอด" ฟุรุฮาชิ กล่าวกับ Tokyo Shinbun

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วยกับการที่ทีมไม่ยอมเลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในลีกอาชีพ หลายคนก็รู้สึกเสียดายในศักยภาพของทีมที่ดีเกินกว่าจะอยู่ในระดับ JFL โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฮิโรยาสุ อิบาตะ กุนซือของฮอนด้าเอง ที่เคยมีประสบการณ์คุมทีม เจฟ ยูไนเต็ด จิบะ ใน J2 มาก่อน 

"ที่จริงผู้เล่นที่นี่ก็มีความฝันที่จะเป็นผู้เล่นอาชีพนะ (ในฐานะแมวมอง) ผมรู้สึกเศร้าที่ทีมไปถึงจุดนั้นไม่ได้" อิบาตะ ระบายความรู้สึก

ไม่ใช่แค่ทีมบริษัท 

แม้ว่า ฮอนด้า เอฟซี จะยืนยันสถานะในการเป็นสโมสรสมัครเล่น แต่ระบบโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารงานของพวกเขา กลับไม่ต่างจากทีมในเจลีก ซักเท่าไรนัก และเป็นหนึ่งในไม่กี่ทีมในญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าของสนามเหย้าของตัวเอง (ปกติกรรมสิทธิ์เป็นของเมือง) 


Photo : www.jfa.jp

พวกเขายังมีระบบเยาวชนที่ดีเยี่ยม ครบถ้วนตามเกณฑ์ของเจลีกตั้งแต่รุ่นอายุไม่เกิน 10 ปี ไปจนถึง 18 ปี และเคยผลิตนักเตะชื่อดังขึ้นมาประดับวงการ ไม่ว่าจะเป็น เคซุเกะ โอตะ อดีตกองหลังทีมชาติญี่ปุ่น หรือ ทัตสึยะ มัตสุอุระ อดีตกองกลาง จูบิโล อิวาตะ 

ฮอนด้า เอฟซี ยังเป็นหนึ่งในทีมที่มุ่งมั่นในการแข่งขัน พวกเขามักจะส่งทีมเข้าร่วมชิงชัยทุกครั้งที่มีโอกาส ไม่ว่าจะเป็นระดับโรงเรียน ลีกหรือถ้วยเยาวชน ไปจนถึงระดับอาชีพ 

ทำให้แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้มีเป้าหมายที่จะเลื่อนชั้น แต่พวกเขาก็มีความต้องการที่จะทำผลงานให้ดีที่สุดใน เอ็มเพอเรอร์ส คัพ ที่เคยไปไกลถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายมาแล้วถึง 2 ครั้งในปี 2007 และล่าสุดในปีนี้ 


Photo : @Honda_FC

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นความทะเยอทะยานจากสโมสรในลีกล่างทีมนี้ และเป็นเหตุผลที่ทำให้สามารถคว้าแชมป์ JFL มาครองได้ถึง 4 สมัยติดต่อกัน และเป็นหนึ่งในทีมที่น่ากลัวที่สุดที่ไม่ได้อยู่ในลีกอาชีพ 

"เราจะชนะต่อไปเรื่อยๆ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้แต่มือสมัครเล่นก็ทำได้ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมทีมถึงยกระดับขึ้นมาในช่วงหลายปีนี้" อิบาตะกล่าว 

ในขณะเดียวกัน พวกเขายังรักษาความเป็นท้องถิ่น แม้จะไม่ได้เป็นสโมสรอาชีพ แต่พวกเขาก็อุทิศตัวให้กับคนในเมืองฮามามัตสึ ด้วยกิจกรรมช่วยเหลือชุมชน และสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่น จนทำให้ทีมเป็นเหมือนตัวแทนของเมือง


Photo : @Honda_FC

นี่คือสิ่งที่ ฮอนด้า พยายามทำมาโดยตลอด แม้ว่าพวกเขาจะเป็นทีมของบริษัท แต่สิ่งที่พวกเขาทำไม่ต่างอะไรจากทีมในเจลีก เพียงแค่พวกเขาไม่ยอมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อเป็นทีมอาชีพเท่านั้น 

มันคือการพยายามสร้างคุณค่าให้ตัวเองในแบบที่ไม่เหมือนใคร เพราะหากมองจากภายนอก พวกเขาอาจจะเป็นแค่ทีมสมัครเล่น ที่คว้าแชมป์มากมายในลีกล่าง แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่พวกเขาทำมันอาจจะมากกว่าที่ตาเห็น 

และมันก็คือคุณค่าในแบบที่ โซอิจิโร ฮอนดะ ผู้ก่อตั้งบริษัทฮอนด้าเคยกล่าวเอาไว้ 

"คุณไม่สามารถวัดคุณค่าของคนๆ หนึ่ง จากรูปร่างภายนอกได้ แต่คุณสามารถวัดความยิ่งใหญ่จากคนๆ นั้นได้ โดยดูได้จากผลการกระทำของเขาที่สามารถสร้างประวัติศาสตร์ให้แก่มนุษยชาติ" 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook