"เออิบาร์" : สโมสรต้านทุนนิยม ที่บริหารด้วยหลักสังคมนิยม ยืนหยัดเพื่อคนในท้องถิ่น
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/sp/0/ud/216/1083899/gsf.jpg"เออิบาร์" : สโมสรต้านทุนนิยม ที่บริหารด้วยหลักสังคมนิยม ยืนหยัดเพื่อคนในท้องถิ่น

    "เออิบาร์" : สโมสรต้านทุนนิยม ที่บริหารด้วยหลักสังคมนิยม ยืนหยัดเพื่อคนในท้องถิ่น

    2020-05-30T08:56:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    การบริหารสโมสรฟุตบอลไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ละทีมล้วนมีปัญหาที่แตกต่างกันไป บางสโมสรอาจมีงบประมาณมหาศาล กำไรมากมาย แต่ผลงานไม่เป็นไปตามที่แฟนบอลคาดหวัง, บางสโมสรอาจจะผลงานดี แต่ต้องแลกกับการใช้เงินมหาศาล ที่อาจนำไปสู่การล้มละลาย เมื่อวิกฤติเศรษฐกิจมาเยือน

    มีสโมสรฟุตบอลทีมหนึ่ง ที่โดดเด่นด้านการบริหารจัดการองค์กร จนเป็นสโมสรฟุตบอลทีมเดียวบนโลก ที่ได้รับการรับรองจากองค์กร ISO ว่าเป็นสโมสรที่มีการบริหารจัดการอย่างได้มาตรฐาน รวมถึงเป็นแบบอย่าง ที่สถาบันศึกษาด้านการเงิน ใช้เป็นกรณีศึกษา ด้านการบริหารองค์กร ทั้งที่พวกเขา ไม่ได้สนใจเรื่องผลประโยชน์ กำไร หรือถ้วยแชมป์ แม้แต่น้อย

    เรากำลังพูดถึงสโมสรเออิบาร์ ทีมขนาดเล็กที่มีงบประมาณ จำกัดจำเขี่ย แต่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นทีมระดับกลาง ของลาลีกา ลีกฟุตบอลสูงสุดของประเทศสเปน

    ทั้งที่ได้รับการยกย่องจากโลกทุนนิยม แต่สโมสรนี้กลับมีวิธีบริหารแบบสังคมนิยม แตกต่างไปจากสโมสรฟุตบอลอื่น ที่ไม่ใช่เรื่องเงินหรือความสำเร็จเป็นตัวนำ แต่ให้ความสำคัญในเรื่องของแฟนบอล และสังคมท้องถิ่น

    จิตวิญญาณของเออิบาร์

    เออิบาร์ (SD Eibar) คือสโมสรขนาดเล็ก ก่อตั้งขึ้นในฐานะทีมฟุตบอลประจำเมืองเออิบาร์ เมืองในแคว้นบาสก์ ที่มีประชากรประมาณ 27,406 คน แน่นอนว่าไม่ใช่เมืองขนาดใหญ่อะไรในสเปน ประชากรในเมือง มีน้อยกว่าความจุสนามฟุตบอลบางสนามเสียอีก 

     1

    สโมสรแห่งนี้ถูกก่อตั้งในปี 1940.. หรือ 1 ปีให้หลังจากสงครามกลางเมืองสเปน พิษของสงครามครั้งนี้ ทำลายเมืองเออิบาร์จนย่อยยับ สโมสรเออิบาร์จึงถูกก่อตั้ง พร้อมกับการเริ่มต้นใหม่ของเมือง และยืนเคียงข้างกัน นับแต่วันนั้น

    เออิบาร์ ไม่ใช่ทีมที่ประสบความสำเร็จอะไรมากนัก พวกเขาวนเวียนอยู่ในดิวิชั่น 3 ของฟุตบอลลีกสเปนเป็นหลัก แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ สำหรับคนเออิบาร์ เพราะเมืองแห่งนี้กำลังเติบโต กับการสร้างตัวเป็นเมืองอุตสาหกรรมใหม่ ของประเทศสเปน เศรษฐกิจภายในเมืองเติบโตอย่างต่อเนื่อง  

    อย่างไรก็ตาม วิกฤติน้ำมันที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่ปี 1980 ส่งผลอย่างมากกับเมืองเออิบาร์ เพราะรัฐบาลสเปนปรับนโยบายด้านเศรษฐกิจ เงินทุนที่ใช้ในการลงทุนกับอุตสาหกรรมภายในเมืองหดหาย 

    ผลลัพธ์ที่ตามคือธุรกิจอุตสาหกรรมภายในเมือง เจอวิกฤติต้องปิดตัวลง ชาวเออิบาร์จำนวนไม่น้อย ต้องย้ายถิ่นฐานออกจากเมือง เพื่อหาทางรอดในชีวิต

     2

    “วิกฤติด้านอุตสาหกรรม ในช่วงปี 1980’s ทำร้ายเออิบาร์อย่างหนัก ทั้งที่เราเคยเป็นหนึ่งในเมืองที่สำคัญที่สุดด้านอุตสาหกรรมของสเปน เรามีบริษัทมากมายในหลากหลายธุรกิจ ส่งออกผลิตภัณฑ์ไปทั่วประเทศ”

    “วิกฤติครั้งนั้นเลวร้ายมากสำหรับเรา และสิ่งเดียวที่เราเหลืออยู่ คือฟุตบอล” อเล็ก อารันซาบัล (Alex Aranzabal) ประธานสโมสรเออิบาร์ ในช่วงปี 2009 ถึง 2016 กล่าวถึงช่วงเวลาที่มืดหม่นของเมืองในอดีต

    “ฟุตบอลกลายเป็นพื้นที่ทางสังคม ให้คนหลบหนีจากช่วงเวลาที่เลวร้าย ทำให้เรารู้ว่าอย่างน้อยเราก็สามารถหาช่วงเวลาที่มีความสุข ให้กับชีวิตได้” โรแบร์โต อัลบิตู (Roberto Albizu) แฟนบอลพันธุ์แท้ของเออิบาร์อีกราย กล่าวเพิ่มเติม

    แน่นอนว่า เมื่อเศรษฐกิจภายในเมืองร่วงหล่น สโมสรแห่งนี้ต้องรับภาระทางการเงินที่หนักขึ้น แต่ผลงานในสนามกลับออกมาตรงกันข้าม กับสิ่งที่เมืองนี้ต้องเผชิญ เพราะในปี 1988 สโมสรเออิบาร์ สามารถเลื่อนชั้นขึ้นสู่ ลีกเซกุนดา (ลาลีกา 2 ในปัจจุบัน) หรือลีกระดับ 2 ของปรเทศสเปน เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1958 

     3

    ราวกลับว่า สโมสรแห่งนี้กำลังสู้เพื่อคนเมืองเออิบาร์ ให้กลับมาลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง

    “พวกเราคือทีมที่ทำงานอย่างหนัก เหมือนกับที่เมืองนี้เป็น เออิบาร์เป็นที่ขึ้นชื่อ ในเรื่องของคนทำงานหนัก พวกเราอยู่ด้วยจิตวิญญาณของชนชั้นแรงงาน” จอน เออร์ราสติ (Jon Errasti) อดีตนักฟุตบอลของเออิบาร์ ผู้เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขแท้ๆของเมืองนี้ กล่าวถึงจิตวิญญาณ อันเป็นที่ยึดมั่นของเมืองและสโมสรที่ชื่อ เออิบาร์

    ไม่เป็นทาสทุนนิยม

    บทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนั้น สอนชาวเออิบาร์ว่า ทุนนิยม คือสิ่งที่ไว้ใจไม่ได้ การใช้เงินเป็นตัวนำในการขับเคลื่อนสังคม อาจนำมาสู่ความพินาศครั้งใหญ่ หากเกิดปัญหาเศรษฐกิจ และพวกเขาจะไม่ยอมให้เรื่องแบบนี้ กลับมาเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 กับสโมสรฟุตบอลที่พวกเขารัก

    ทีมเออิบาร์ จึงชูเรื่องที่สำคัญที่สุด ในการบริหารสโมสรแห่งนี้ นั่นคือ ไม่ว่าทีมจะอยู่ในระดับดิวิชั่นไหน ผลงานของทีมจะดีหรือร้ายอย่างไร ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับผลงานในหรือนอกสนาม สโมสรแห่งนี้ ห้ามเป็นหนี้โดยเด็ดขาด

    ด้วยเหตุนี้ เออิบาร์จึงไม่เคยไปได้ไกลกว่าลีกเซกุนดา และตกชั้นลงไปเล่นลีกเซกุนดา บี บ้างในบางปี เพราะพวกเขาไม่สามารถใช้เงินซื้อนักเตะดีๆเข้าทีมได้ และบริหารสโมสรตามรายได้ที่ทีมได้รับ มีเท่าไหร่ ใช้เท่านั้น ไม่มีทางที่เออิบาร์ จะไปกู้เงินจากธนาคาร เพื่อนำเงินมาลงทุน สร้างความสำเร็จชั่วข้ามคืน

     4

    แต่แล้ว สโมสรเออิบาร์ ต้องพบกับการตัดสินใจครั้งใหญ่ ในปี 2014.. เมื่อสโมสรแห่งนี้ คว้าตำแหน่งอันดับ 2 ของลีกเซกุนดา ได้เลื่อนชั้นขึ้นสู่ลาลีกา สเปน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร 

    แต่สมาคมฟุตบอลสเปน ต้องการให้เออิบาร์ จดทะเบียนสโมสรเป็นบริษัทมหาชน แทนที่การถือหุ้นผ่านระบบสมาชิกสโมสร ในฐานะองค์กรแบบไม่แสวงผลกำไรแบบดั้งเดิม 

    ในตอนนั้นเออิบาร์มีเงินไม่มากพอ ที่จะจดทะเบียน โดยขาดเงินไปถึง 2,146,525 ยูโร หรือประมาณ 76 ล้านบาท และหากเออิบาร์หาเงินมาจดทะเบียนไม่ได้ พวกเขาจะถูกปรับตกชั้น ร่วงจากที่ได้เล่นในลาลีกา ลงไปเล่นลีกเซกุนดา บี ลีกระดับ 3 ของประเทศสเปน

    “พวกเขาโดนบังคับให้เพิ่มเงินลงทุน เพราะความผิดพลาดของการบริหารจากสโมสรอื่น...หรือในอีกแง่หนึ่ง เออิบาร์ถูกลงโทษ จากความสำเร็จที่พวกเขาทำ ที่แตกต่างไปจากทีมอื่น” ซิด โลว์ (Sid Lowe) นักข่าวฟุตบอลสเปนชื่อดัง เผยแง่มุมหนึ่ง กับสิ่งที่เออิบาร์ต้องเผชิญ

     5

    “เราคือหนึ่งในสโมสรของประเทศสเปน ที่ไม่มีหนี้ซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก หรือจะพูดก็ได้ว่า เราเป็นทีมเดียวในระดับลีกสูงสุด สองระดับแรกของสเปนที่ไม่มีหนี้ ดังนั้นเราจะไม่เสียเงิน กับเรื่องไม่เป็นเรื่องแบบนี้” อเล็ก อารันซาบัล อดีตประธานสโมสรของทีมกล่าว

    เออิบาร์ เลือกในทางที่สโมสรส่วนใหญ่ ไม่ต้องการจะเลือก คือการยอมถูกปรับตกชั้น เพียงเพราะไม่ต้องการเป็นหนี้ 2 ล้านยูโร...อย่างไรก็ตาม เออิบาร์ไม่ได้มองว่า พวกเขาอับจนหนทางเสียทีเดียว แต่พวกเขาเลือกเดิมพันครั้งใหญ่ ที่จะชี้ชะตาสโมสร

    เออิบาร์ออกแคมเปญ “ปกป้องเออิบาร์” เพื่อระดมทุนสนับสนุนสโมสร ด้วยการเปิดรับสมัครสมาชิกสโมสร จากทั่วโลก เพื่อนำเงินก้อนที่ได้จากแคมเปญนี้ มาช่วยให้เออิบาร์อยู่รอดในลีกเซกุนดาต่อไป

    พวกเขาทำได้สำเร็จ เออิบาร์สามารถหาสมาชิกได้จาก 60 ประเทศทั่วโลก สามารถนำเงินก้อนเข้ามาช่วยสโมสร และที่สำคัญไปมากกว่านั้น พวกเขาสร้างฐานแฟนคลับให้กับทีมไปทั่วโลก ผ่านการที่คนเหล่านั้น กลายเป็นหนึ่งในเจ้าของสโมสรเออิบาร์ด้วยตัวเอง

    แม้จะได้เลื่อนชั้นขึ้นมา แต่ด้วยทำทีมเพียงแค่ 16 ล้านยูโร (ประมาณ 560 ล้านบาท) ในฤดูกาล 2014/15 พวกเขาจึงจบการแข่งขันในอันดับที่ 18 ของตาราง และต้องตกชั้นลงไปเล่น ในลีกเซกุนดาอีกครั้ง

    เหมือนโชคชะตาเป็นใจให้ เออิบาร์ อยู่ในลาลีกา สเปนต่อไป เพราะสโมสรเอลเช (Elche) ทีมอันดับ 13 ของตาราง ถูกเข้าควบคุมกิจการทางการเงิน และถูกปรับตกชั้น ทำให้เออิบาร์ได้เสียบช่องว่างตรงนี้แทน

     6

    เออิบาร์คงไม่ได้อยู่ในลีกสูงสุดต่อไป หากสโมสรเอลเชเลือกดำเนินการบริหารทีม ในรูปแบบเดียวกับเออิบาร์...สิ่งที่เกิดขึ้นกับเอลเช พร้อมกับการอยู่รอดของเออิบาร์ คือภาพสะท้อนอย่างดีว่า พวกเขาเลือกแนวทางการบริหารทีมฟุตบอล ได้อย่างถูกต้อง

    สโมสรเพื่อประชาชน

    อีกหนึ่งแนวคิดสำคัญ ที่สโมสรเออิบาร์ใช้ในการบริหารทีม คือ โมเดล เออิบาร์ (Model Eibar) คือการเน้นบริหารด้วยการมีส่วนร่วมจากแฟนบอล, รักษาค่านิยมแบบฟุตบอลอนุรักษ์นิยมเอาไว้ และรักษาตัวตนของสโมสรให้มากที่สุด

    สำหรับเออิบาร์ สโมสรฟุตบอลไม่ได้มีไว้แสวงหากำไร แต่มีไว้เพื่อแฟนบอลเท่านั้น นโยบายของสโมสรต้องเดินหน้าในแบบที่แฟนบอลต้องการ และเจ้าของสโมสร ที่จะมาเลือกทางเดินให้กับทีม ต้องเป็นแฟนบอลเท่านั้น

    หนึ่งในตัวอย่างสำคัญ คือฤดูกาล 2015/16.. เมื่อฤดูกาลกำลังจะเริ่มต้นขึ้น สโมสรเออิบาร์ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ ระหว่างยอมไปกู้เงินธนาคาร เพื่อนำเงินมาซื้อนักเตะช่วยให้ทีมอยู่รอด ไม่ต้องหนีตกชั้นแบบปีก่อนหน้า หรือไม่ซื้อนักเตะเข้าสู่ทีม และยอมรับสภาพหากทีมต้องตกชั้น

    สิ่งที่สโมสรเออิบาร์ทำ คือ พวกเขาสอบถามไปยังสมาชิกผู้ถือหุ้นสโมสร ว่าอยากให้สโมสรทุ่มเงินในตลาดซื้อขาย เพื่อโอกาสรอดตกชั้นหรือไม่...คำตอบที่กลับมา สมาชิกของสโมสรโหวตว่าไม่ต้องการ ทำให้เออิบาร์ใช้ เงินในตลาดซื้อขายหน้าร้อนปีนั้น เพียง 3 ล้านยูโร (ประมาณ 106 ล้านบาท)

    “เราจะใช้เงินมากกว่านี้ เพื่อซื้อนักเตะราคาแพงเข้ามาร่วมทีมก็ได้ แต่เราไม่ทำ เราไม่คิดว่าเราจะต้องไปเซ็นสัญญานักฟุตบอล ที่ค่าเหนื่อยแพง ที่เราไม่สามารถจ่ายได้ไหว” 

    “ผมคิดว่าการทำทีม ด้วยงบประมาณตามรายรับ-รายจ่ายของเรา อย่างตรงไปตรงมา คือเรื่องที่ดีที่สุด ในการทำทีมฟุตบอล” อเล็ก อารันซาบัล ประธานสโมสรเออิบาร์ ในช่วงปี 2009 ถึง 2016 กล่าว

    ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ความคิดในการกู้เงินจากธนาคาร ไม่เคยเกิดขึ้นกับสโมสรเออิบาร์...อย่างไรก็ตาม มีวิธีอื่น ที่พวกเขาสามารถหาเงินเข้าสโมสรได้ เช่น การขายหุ้นสโมสร ให้กับเศรษฐีนายทุน เพราะมีนักลงทุนจำนวนไม่น้อย ที่สนใจจะเข้ามาลงทุนกับเออิบาร์ ยกระดับด้านการเงินให้กับทีม

    “เรามองว่าการรับความช่วยเหลือจากพวกเขา เพื่อเป็นทางลัดให้กับเรา คือเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เราต้องการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่า เงินซื้อเออิบาร์ไม่ได้ เออิบาร์เป็นของแฟนบอลทุกคน...เพราะทุกคนคือส่วนหนึ่งของสโมสรเล็กๆแห่งนี้” อาร์ราเต เฟอร์นานเดซ (Arrate Fernandez) เจ้าหน้าที่ด้านการสื่อสารของเออิบาร์ กล่าว

     7

    “นี่คือเรื่องสำคัญของสโมสรเออิบาร์ เราไม่ต้องการนักธุรกิจร่ำรวย กลุ่มทุนตะวันออกกลาง หรือมหาเศรษฐีจากรัสเซีย มาเป็นเจ้าของ เพราะแฟนบอลทุกคนคือเจ้าของสโมสร มันสร้างความเชื่อมโยงที่หยั่งรากลึก ระหว่างสโมสรกับชุมชน” อเล็ก อารันซาบัล กล่าวเพิ่ม

    เราคือเออิบาร์

    ความสำเร็จหรือถ้วยแชมป์ ไม่ใช่สิ่งที่สโมสรเออิบาร์ให้ความสำคัญมากที่สุด นั่นคือสิ่งที่พวกเขาเลือกและยอมรับ...หากสโมสรแห่งนี้จะร่วงหล่นจากลาลีกา สเปน อย่างรวดเร็ว คงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด

    กระนั้นสโมสรแห่งนี้ กลับอยู่รอด บนลีกสูงสุดของสเปน มาจนถึงปัจจุบัน และขยับขึ้นมาเป็นทีมระดับกลางตาราง ไม่ต้องไปหนีตกชั้นอีกด้วย

    แม้จะมีงบประมาณจำกัดจำเขี่ย แถมปิดรับระบบทุนนิยม แต่เออิบาร์กลับมีเคล็ดลับ ความสำเร็จที่ง่ายและไม่ซับซ้อน นั่นคือการใช้นักเตะ ที่พร้อมเล่นเฟุตบอลพื่อทีม เพื่อสโมสร เพื่อเมืองเออิบาร์เท่านั้น

     8

    นักเตะที่เข้ามาเล่นให้เออิบาร์ส่วนใหญ่ คือนักเตะที่เซ็นสัญญาแบบไม่เสียค่าตัว หรือยืมตัวมาเล่น หากจะต้องเสียเงินก็เป็นราคาไม่กี่ล้านยูโรเท่านั้น

    เมื่อไม่มีเงินหรือความสำเร็จเข้ามาดึงดูดนักเตะ ทำให้นักเตะที่จะย้ายมาเล่นให้กับเออิบาร์ ต้องเป็นนักเตะที่มีใจ อยากจะเล่นให้เออิบาร์จริงๆ หรือนักเตะที่ขาดโอกาส ต้องการลงสนามเพื่อพิสูจน์ตัวเอง 

    นักเตะเหล่านี้ เข้ามาพร้อมกับความกระหาย ต้องการลงสนาม ต้องการช่วยทีมจริงๆ แม้จะไม่ใช่นักเตะฝีเท้าชั้นเลิศ แต่เรื่องใจสู้ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของทีม พวกเขาไม่แพ้ใคร

    นอกจากนี้ หากนักเตะคนไหนอยากย้ายออกจากเออิบาร์ พวกเขาพร้อมเปิดประตู ให้นักเตะรายนั้นออกไป เพราะเออิบาร์ไม่มีเงินจะรั้งนักเตะเอาไว้ และการขายผู้เล่นออกไป ช่วยสร้างรายได้ให้สโมสรอีกด้วย...ท้ายที่สุดเออิบาร์ จึงเหลือเพียงผู้เล่น ที่มีหัวใจอยากเล่นให้กับทีมเท่านั้น

    อีกหนึ่งส่วนสำคัญ ที่เป็นเคล็ดลับให้เออิบาร์ประสบความสำเร็จ เกินกว่างบประมาณที่พวกเขามี คือความสัมพันธ์ระหว่างนักฟุตบอล กับแฟนบอล และเมืองเออิบาร์

    ก่อนเกมการแข่งขันเกมเหย้าทุกนัดของเออิบาร์ นักเตะจะไปรวมตัว ที่ร้านกาแฟท้องถิ่นแห่งหนึ่ง เพื่อพูดคุยกับแฟนบอลก่อนหารแข่งขัน ทำให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจหัวอกซึ่งกันและกัน ก่อให้เกิดเป็นพลังที่แข็งแกร่งของผู้เล่นเออิบาร์ทั้ง 12 คน

    นอกจากนี้ สโมสรเออิบาร์ยังมีความตั้งใจ ที่จะใช้ฟุตบอล เป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจของเมืองเออิบาร์ ในฐานะศูนย์กลางของเมือง ดึงดูดผู้คนจากต่างเมือง เข้ามาชมฟุตบอล เพื่อเสริมเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของเมือง

    “ผมเข้าใจดีว่า ฟุตบอลมีความสำคัญมากแค่ไหนกับผู้คน เราต้องการทำผลงานให้ดีที่สุด เพื่อแสดงให้ทุกคนเห็นว่า เมืองนี้สามารถประสบความสำเร็จได้”

     9

    “เราคิดว่า การช่วยเหลือผู้คนในสังคม ให้พวกเขาสามารถสร้างสังคมที่ดีขึ้น นี่คือ DNA ของสโมสรแห่งนี้” อเล็ก อารันซาบัล อดีตประธานสโมสรของทีมกล่าว

    เออิบาร์ อาจเป็นทีมขนาดเล็ก ทางตอนเหนือของประเทศสเปน ไม่มีความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ถ้วยแชมป์มาประดับตู้โชว์...แต่สำหรับตัวสโมสรและแฟนบอลเออิบาร์ ต่อให้ไร้ถ้วยแชมป์ หรือไม่มีโอกาสได้ไปฟุตบอลยุโรปเหมือนสโมสรอื่นในสเปน พวกเขาคงไม่รู้สึกผิดหวังอะไร

    เพราะเออิบาร์ รู้ถึงตัวตน จุดยืนของสโมสร และรู้ดีว่าทีมฟุตบอลทีมนี้สู้เพื่ออะไร.. ไม่ใช่ถ้วยแชมป์ แต่เพื่อความสุขของคนเมืองเออิบาร์ และแฟนบอลเออิบาร์ทั่วโลก ที่จะได้มีทีมฟุตบอลให้เชียร์ตราบนานเท่านาน

    อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

    อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ "เออิบาร์" : สโมสรต้านทุนนิยม ที่บริหารด้วยหลักสังคมนิยม ยืนหยัดเพื่อคนในท้องถิ่น