ไขข้อข้องใจจากฟิสิกส์ : ทำไมฟรีคิกของ "ชุนซุเกะ นาคามูระ" จึงร้ายกาจ

ไขข้อข้องใจจากฟิสิกส์ : ทำไมฟรีคิกของ "ชุนซุเกะ นาคามูระ" จึงร้ายกาจ

ไขข้อข้องใจจากฟิสิกส์ : ทำไมฟรีคิกของ "ชุนซุเกะ นาคามูระ" จึงร้ายกาจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ลูกโค้งของผู้เล่นทั่วไปจะมีความเร็วอยู่ที่ 80-90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ฟรีคิกของ ชุนซุเกะ นาคามูระ มีความเร็วอยู่ที่ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง" ทาเคชิ อาซาอิ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยสึคุบะอธิบาย

"ลูกยิงหลังเท้าของนักเตะระดับโลก มีความเร็วอยู่ที่ 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้นมัน (ฟรีคิกของ นาคามูระ) จึงเป็นลูกยิงที่มีความเร็วสูงมาก" 

ชุนซุเกะ นาคามูระ อาจจะไม่ใช่นักเตะจากทวีปเอเชีย ที่คว้าแชมป์กับทีมดังเหมือนกับ ชินจิ คางาวะ หรือโชว์ฟอร์มโหดในลีกใหญ่เหมือนกับ ซน ฮึง มิน แต่เขากลับเป็นที่จดจำของแฟนบอลในยุโรป จากอาวุธร้ายที่เรียกว่า "ฟรีคิก" 

มันคืออาวุธที่ทรงประสิทธิภาพที่สร้างความหวาดหวั่นไปทั่วยุโรป ที่แม้แต่ เอ็ดวิน ฟาน เดอร์ ซาร์ หรือ ฟาเบียน บาร์กเตซ ผู้รักษาประตูระดับท็อป ยังเคยถูกเล่นงานมาแล้ว จนทำให้เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักเตะที่ยิงฟรีคิกได้ดีที่สุดในโลก

เขาทำได้อย่างไร ? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand

ซ้ายแม่นราวจับวาง

หลังการกำเนิดขึ้นของเจลีกในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 มีนักเตะสัญชาติญี่ปุ่นมากมายที่สามารถขึ้นมาสร้างชื่อในเอเชีย และระดับโลก หนึ่งในนั้นคือ ชุนซุเกะ นาคามูระ 

เขาเริ่มต้นค้าแข้งกับ โยโกฮามา มารินอส (ปัจจุบันคือ โยโกฮามา เอฟ มารินอส) ตั้งแต่เรียนจบมัธยมปลายในปี 1997 และได้ย้ายไปเล่นในต่างแดนกับ เรจจินา, กลาสโกว เซลติก และ เอสปันญอล ก่อนจะกลับมาเล่นในญี่ปุ่นอีกครั้งในปี 2010 

จุดเด่นของ นาคามูระ คือการจ่ายบอลที่แม่นยำ และการยิงประตูที่ไว้ใจได้ แถมยังเต็มไปด้วยเทคนิค และมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ทำให้เขามักจะได้รับบทบาท "เพลย์เมกเกอร์" ทั้งในสโมสรและทีมชาติ หรือแม้กระทั่งตอนค้าแข้งในต่างประเทศ

Photo : Daily Record

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เขาโด่งดังไปทั่วโลก เพราะ นาคามูระ ยังมีอีกอย่างที่เชี่ยวชาญในระดับปรมาจารย์ นั่นก็คือการเตะ "ฟรีคิก" 

เขาคือคนที่เตะลูกนิ่งได้เก่งที่สุดของญี่ปุ่น และเป็นเจ้าของสถิติผู้เล่นที่ยิงฟรีคิกได้มากที่สุดตลอดกาล เจ1 ลีก ด้วยผลงาน 24 ประตู มากกว่า ยาซุฮิโตะ เอ็นโด กองกลางจอมเก๋าของ กัมบะ โอซากา ที่ยิงไป 19 ประตู รวมทั้งเคยยิงผ่านมือผู้รักษาประตูชื่อดังมาแล้วมากมาย 

หนึ่งในฟรีคิกที่เป็นที่จดจำมากที่สุด คือประตูที่ยิงใส่ เอ็ดวิน ฟาน เดอ ซาร์ ผู้รักษาประตูของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในศึก ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก เมื่อปี 2006 ที่กลายเป็นประตูชัยช่วยให้ต้นสังกัดผ่านเข้าสู่รอบน็อคเอาต์ในรายการนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 

"เขาคือผู้เล่นที่สามารถตัดสินเกมจากลูกเซ็ตพีซ อย่างฟรีคิกหรือเตะมุมเพียงครั้งเดียว เท้าซ้ายของเขาสร้างโอกาสมากมาย การมีอยู่ของเขาเป็นสิ่งจำเป็นต่อทีม" เทรุฮิโกะ นาคางาวะ อดีตเพื่อนร่วมทีม เอฟ มารินอส กล่าวกับ Soccer Digest

มีเรื่องเล่าว่าสมัยที่ดาวเตะเลือดซามูไร ย้ายไปเล่นให้กับ เซลติก ช่วงแรก ๆ กอร์ดอน สตรัคคัน กุนซือของทีมในตอนนั้น ได้จัดการแข่งขันเพื่อทดสอบว่าใครจะเป็นคนยิงฟรีคิกของทีม ซึ่ง นาคามูระ เองก็เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมการทดสอบ 

อย่างไรก็ดี เขาไม่ใช่เพียงแค่ร่วมแข่ง แต่กลับทำให้คนทั้งสนามซ้อมต้องตะลึง เมื่อแข้งทีมชาติญี่ปุ่น จัดการยิงฟรีคิก 10 ลูก ลงถังไปทั้งหมด 10 ลูก หรือ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม และทำให้เขาได้รับตำแหน่งคนเตะเซ็ตพีซมือหนึ่งของทีมโดยดุษฎี

Photo : Daily Record

"ตอนที่เซ็นนาคามูระเข้ามา ช่วงวันแรก ๆ ของการซ้อม กอร์ดอนบอกผมว่า 'สแตน เรากำลังจะซ้อมฟรีคิกกับนาย, นาคามูระ, ไอเดน แม็คเกียดี เราจะดูกันว่าใครจะเป็นคนได้ยิงฟรีคิกของทีม' พูดตามตรง ผมไม่รู้จักนา

 

"ผมจำได้ว่าเราตั้งกำแพงกัน และนาคะก็ยิงเข้าไปโดนถังด้านบนแบบยิง 10 เข้า 10" 

"จากนั้น กอร์ดอนก็หันมาและบอกว่า 'นาคะจะเป็นคนยิงฟรีคิกนับตั้งแต่นี้' และเดินออกไป"  

Photo : UEFA

ความยอดเยี่ยมในการเล่นลูกตั้งเตะของ นาคามูระ ยังทำให้เขาได้รับการยอมรับในระดับสากล Scottich Sun สื่อสก็อตแลนด์ เลือกเขาเป็น 1 ใน 10 นักเตะที่ยิงฟรีคิกได้ดีในโลก ในขณะที่เกม FIFA 21 จัดให้เขามีค่าพลังการเตะลูกนิ่งสูงเป็นอันดับ 6 ของเกม 

นอกจากนี้ ความเก่งกาจในด้านนี้ ยังทำให้เขา มักจะได้รับเชิญจากรายการเกมโชว์ญี่ปุ่น ไปปฏิบัติภารกิจยิงฟรีคิกในสถานการณ์ต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ ตัวอย่างที่น่าจะคุ้นตาชาวไทยที่สุดคือภารกิจ ยิงบอลเข้าหน้าต่างรถบัสที่กำลังแล่นอยู่ ซึ่งแน่นอนว่าเขาก็ทำมันได้สำเร็จ

ว่าแต่อะไรที่อยู่เบื้องหลังความโหดนี้

ผู้เชี่ยวชาญด้านลูกโค้ง 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าฟรีคิกจากเท้าซ้ายของนาคามูระ ถือเป็นหนึ่งในอาวุธอันตรายที่ผู้รักษาประตูหลายทีมต้องผวา จากความโค้งในระดับที่อ้อมกำแพง และความแม่นยำราวกับจับวาง แต่สิ่งทำให้ลูกยิงของเขาน่ากลัวขึ้นไปอีกขั้น คือความแรงของมัน 

เนื่องจากตามปกติแล้ว ลูกโค้งจะมีอัตราการสูญเสียพลังงานค่อนข้างมาก และทำให้ลูกยิงแบบโค้งเบากว่าลูกยิงตรงๆ แต่ไม่ใช่สำหรับบอลที่ออกมาจากปลายเท้าของ นาคามูระ

 

Photo : Twitter | bet65

"ปกติแล้วเวลาบอลมันปั่น (หรือหมุน) มันจะสูญเสียพลังงาน และทำให้ความเร็วของบอลลดลง" อาซาอิ ทาเคชิ ศาสตราจารย์ สาขาวิชาชีวกลศาสตร์การกีฬา คณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยสึคุบะ อธิบายกับ Foot X Brain  

"ลูกโค้งของนักกีฬาทั่วไปจะมีความเร็วอยู่ที่ 80-90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ฟรีคิกของ ชุนซุเกะ นาคามูระ มีความเร็วอยู่ที่ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง" 

"ลูกยิงหลังเท้าของนักเตะระดับโลก มีความเร็วอยู่ที่ 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้นมัน (ฟรีคิกของ นาคามูระ) จึงเป็นลูกยิงที่มีความเร็วสูงมาก" 

และเคล็ดลับที่ทำให้ นาคามูระ สามารถยิงฟรีคิกได้ทั้งโค้งและแรง คือวิธีการเข้าหาบอลและจุดสัมผัสบอล เขาจะวิ่งเข้าหาบอลจากด้านข้าง (คล้ายกับวิธีของ เดวิด เบ็คแฮม) ก่อนจะใช้ข้างเท้าด้านในสัมผัสบอลจากส่วนใต้ของลูกแล้วปั่นขึ้นเป็นแนวเฉียง 

Photo : Foot X Brain

"ฟรีคิกของ ชุนซุเกะ นาคามูระ มีลักษณะเฉพาะคือ มันสามารถเลี้ยวด้วยความเร็ว" ศาสตราจารย์อาซาอิ ที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับลูกฟรีคิกมา 7 ปีกล่าวต่อ 

"การวิ่งเข้ามาจากด้านข้างของเขาเป็นผลทำให้เกิดสิ่งนั้น การปะทะกันแบบเฉียง ๆ ทำให้บอลลอยขึ้นพร้อมกับปั่นไปด้วย" 

แต่สิ่งที่สำคัญที่ทำให้ฟรีคิกของเขามีความพิเศษกว่าคนอื่น คือการหมุนสะโพกอันเป็นเอกลักษณ์ นาคามูระ จะวางเท้าหลักให้ห่างจากลูกบอลพอสมควร เขาบอกว่าเพื่อให้มีวงมากพอในการหมุนสะโพก 

Photo : Foot X Brain

"เขาใช้วิธีการหมุนสะโพกที่พอดี ทำให้ความเร็วในการปั่นบอลเพิ่มขึ้น ซึ่งความเร็วในการปั่นบอลที่เพิ่มขึ้นนี้ จะสามารถถ่ายทอดไปที่บอลได้ดี ยิ่งไปกว่านั้น เขายังเตะบอลด้วยความแรงในขณะที่ปั่นบอลได้อีกด้วย" ศาสตราจารย์อาซาอิ อธิบาย 

"ถ้าบอลลอยขึ้นไปด้วยความเร็ว มันจะมีแรงต้านลมที่สูงมาก (ต้านลมได้ดี) พอเป็นแบบนั้น ช่วงที่ความเร็วลดลง มันจะเกิดการเลี้ยวอย่างรุนแรง" 

"การลอยขึ้นไปด้วยความเร็วแล้วหักลง ทำให้บอลเข้ากรอบ และมีโอกาสที่จะเป็นประตูสูง" 

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้มันกลายเป็นฝันร้ายของผู้รักษาประตู

ศึกษาคู่แข่ง 

แม้ว่า นาคามูระ จะเป็นนักเตะที่ยิงฟรีคิกได้อย่างแม่นยำ แต่หากสังเกตจะพบว่า ลูกยิงของเขา ไม่ได้มีรูปแบบเดียว เขาเป็นนักเตะที่ยิงฟรีคิกได้หลากหลาย ที่นอกจากปั่นโค้งอ้อมกำแพง ยังมีทั้งหลอกยิงไปอีกทาง หรือแม้กระทั่งยิงอัดตรง ๆ 

สิ่งนี้เกิดจากนิสัยชอบทำการบ้านอยู่เสมอของเขา นาคามูระ มักจะศึกษาข้อมูลของผู้รักษาประตูคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็น จุดอ่อน-จุดแข็ง ในการรับลูกโด่งและลูกเรียด ไปจนถึงลักษณะนิสัยเฉพาะตัว ว่าเป็นพวกอ่านเกมแล้วพุ่งไปก่อนหรือไม่ 

Photo : Japan Bullet

"สิ่งแรกที่ควรพิจารณาในการเตะฟรีคิก คือประเภทของผู้รักษาประตู ว่าเป็นแบบอ่านเกมล่วงหน้าแล้วเคลื่อนที่ไปก่อน หรือรออยู่ที่เส้น ถ้าเป็นแบบแรก ก็มีโอกาสที่จะได้ประตูสูง" นาคามูระกล่าวกับ Number 

"นอกจากนี้ต้องดูว่าอ่อนลูกโด่งหรือเปล่า หรือไม่ก็อ่อนลูกเรียด ผมต้องมีข้อมูล ก่อนจะคิดว่าจะยิงแบบไหน" 

นั่นทำให้ในพจนานุกรมของ นาคามูระ ไม่มีจุดที่เรียกว่า "จุดที่ดี" แม้แต่จุดเดียว เพราะทุกครั้งที่ได้ฟรีคิก เขาต้องคำนวณทั้งความสูง ความเร็ว และตำแหน่งการยืนของผู้รักษาประตู ก่อนจะตัดสินใจว่าฟรีคิกลูกนี้จะยิงในรูปแบบไหน 

Photo : The Scotsman

ยกตัวอย่างเช่นในเกมเจลีก ฤดูกาล 2015 กับ กัมบะ โอซากา ในขณะที่ เอฟ มารินอส ตามอยู่ 2-1 ทีมมาได้ฟรีคิกในช่วงท้ายเกม หากเป็นผู้เล่นทั่วไป คงจะคิดแค่ให้ข้ามกำแพงแล้วเข้ากรอบไว้ก่อน 

แต่ นาคามูระ คิดซับซ้อนกว่านั้น เขาเลือกยิงไปที่ ชุน นาคางาวะ นักเตะที่สูงที่สุดของกำแพง เพื่อให้บอลมีความเร็วกว่าปกติ ซึ่งมันก็ได้ผล เมื่อบอลเสียบสามเหลี่ยมเข้าไป ชนิดที่ผู้รักษาประตูกัมบะ นึกว่าบอลจะหลุดกรอบออกไปด้วยซ้ำ 

"ผมอยากเพิ่มความเร็วของบอลในการเล่นลูกเซ็ตเพลย์ ดังนั้นสิ่งเดียวที่คิดคือต้องยิงเหนือผู้เล่นตัวสูง" นาคามูระ ให้เหตุผลกับ Number

หรือในศึกคอนเฟดเดอเรชันคัพ 2003 กับฝรั่งเศส ที่ญี่ปุ่นมาได้ฟรีคิกเยื้องไปทางซ้ายของผู้รักษาประตู โดยทั่วไปแล้วสำหรับนักเตะเท้าซ้าย ลูกยิงที่ดีที่สุดในมุมนี้สำหรับผู้เล่นเท้าซ้ายคงจะเป็นการยิงอ้อมกำแพงให้เข้าเสาแรก

แต่นาคามูระ คิดไปไกลกว่านั้น เขารู้ดีว่า ฟาเบียน บาร์กเตซ โกลของฝรั่งเศส เป็นพวกอ่านเกม จึงเลือกยิงไปทางเสาไกล และทำให้ บาร์กเตซ ที่ขยับตัวไปก่อน พุ่งกลับมาไม่ทัน ก่อนที่บอลจะเช็ดเสาสอง เข้าไปอย่างงดงาม

เช่นกันกับเกมที่เจอ อุราวะ เรดส์ ในฤดูกาล 2015 ที่ตอนแรกดูเหมือนว่าเขาจะยิงอ้อมกำแพงไปทางขวาของ ชูซาคุ นิชิซาวะ แต่สุดท้ายกลายเป็นการหลอกยิงไปอีกฝั่ง จนทำให้โกล เรดส์ พุ่งตามไปไม่ทัน ซึ่งคล้ายกับลูกที่ยิงใส่ ยูจิ โรคุตัน ของ เวกัลตะ เซนได ในฤดูกาลเดียวกัน 

มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นจากการวิเคราะห์ในหัวของ นาคามูระ และการสั่งสมประสบการณ์ จนทำให้ฟรีคิกของเขาร้ายกาจและเปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพกว่านักเตะทั่วไป และมีลุ้นทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นผู้รักษาประตูระดับไหนก็ตาม 

ทว่า ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน 

 

แปรความกดดันเป็นพลัง 

"ผมไม่ได้มีเทคนิคพิเศษอะไรในการเตะฟรีคิก จนมาเป็นนักเตะอาชีพ ผมรู้สึกว่านี่คือจุดแข็งของผม แต่ก่อนหน้านั้น ผมไม่ได้คิดถึงมันขนาดนั้น" นาคามูระ กล่าวในหนังสือ 「中村俊輔式 サッカー観戦術」

นาคามูระ อาจจะเป็นนักเตะที่ฉายแววเด่นมาตั้งแต่สมัยมัธยม หลังพาโรงเรียนมัธยมโทโค กัคคุเอ็น เข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติ จนทำให้มีหลายทีมตามจีบ แต่ฝีไม้ลายมือในการเตะฟรีคิกของเขาในตอนนั้นไม่ได้โดดเด่นขนาดนี้ 

แต่จุดเปลี่ยนของเขาก็มาถึงในปี 1997 เมื่อการย้ายมาอยู่กับมารินอส ทำให้เขาได้รับภาระที่หนักอึ้งตั้งแต่ปีแรกในฐานะนักเตะอาชีพ นั่นคือการได้รับมอบหมายให้เป็นคนเตะฟรีคิกของทีม 

Photo : YouTube | J.LEAGUE

"ตอนปีแรกที่ผมย้ายมามารินอส โค้ช (ฮาเวียร์) อัซกา คอร์ตา บอกผมที่ตอนนั้นเพิ่งอายุ 18 ว่า 'นายเป็นคนเตะฟรีคิก' ในการซ้อมผมมีรุ่นพี่ที่สุดยอดทั้ง มาซามิ อิฮาระ, โนริโอะ โอมูระ และโชจิ โจ ยืนเป็นกำแพง ผมจึงจะยิงไปโดนพวกเขาไม่ได้ แถมโกลก็เป็น (คาวางุจิ) โยชิคัตสึซัง" นาคามูระกล่าวกับ Gendai Business 

"ถ้ายิงไปโดนพวกเขามันไม่ดีแน่ ผมจึงต้องยิงให้เข้าภายใต้สถานการณ์ที่กดดันนั้น เพราะว่าผมเป็นเด็กใหม่แต่ได้เป็นคนเตะ จึงต้องรับผิดชอบด้วยการยิงให้เข้าในเกม  แต่ความกดดันอย่างต่อเนื่องแบบนั้นก็เป็นประสบการณ์ที่สุดยอดมาก" 

มันจึงทำให้ นาคามูระ พยายามฝึกซ้อมในเรื่องนี้อย่างหนัก แม้ว่าเขาจะเป็นคนที่เตะบอลได้ดีอยู่แล้ว แต่มันก็ไม่เพียงพอสำหรับมืออาชีพ เขาจึงมักใช้เวลาทั้งก่อนและหลังซ้อมไปการเตะฟรีคิก โดยมี โยชิคัตสึ คาวางุจิ ผู้รักษาประตูทีมชาติญี่ปุ่นเป็นผู้ช่วย 

"โยชิคัตสึซัง ช่วยซ้อมอย่างเข้าใจในตัวรุ่นน้องอย่างผม เขาคอยให้คำแนะนำจากมุมมองของผู้รักษาประตู การที่ผมได้ฝึกซ้อมกับผู้รักษาประตูทีมชาติญี่ปุ่นอยู่เสมอ ทำให้ผมสามารถยิงได้โดยไม่กลัวในการแข่งขัน" นาคามูระ กล่าวต่อ 

Photo : CalcioWeb

ประสบการณ์ดังกล่าวได้ทำให้ นาคามูระ มองความกดดันในแง่ดีเสมอ เขามองว่ามันคือแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เขาพยายามพัฒนาฟรีคิกของตัวเองให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาคิดมาตลอด แม้แต่สมัยที่ค้าแข้งในต่างแดน 

"ในเซเรียอา อิตาลี การแอบทำโดยไม่ให้ผู้ตัดสินรู้นั้นเป็นเรื่องปกติ กำแพงอาจจะพยายามเข้ามาใกล้หรือตอนเตะมุมอาจจะมีเหรียญลอยมาจากบนอัฒจันทร์" แข้งชาวญี่ปุ่นกล่าวต่อ

"หรือในสนามซ้อมของเรจจินา เสาโกลเป็นแบบฝังอยู่ในดิน ความสูงของโกลก็อาจจะลดลงเวลาเล่น ดังนั้นในการซ้อมคุณจึงต้องพยายามยิงบอลให้มุดลงต่ำจากกำแพงที่พยายามเข้ามา" 

Photo : These Football Times

มันคือความท้าทายที่ นาคามูระ ต้องก้าวข้ามให้ได้ จนทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในนักเตะที่ยิงฟรีคิกได้ดีที่สุดในโลก ที่แม้แต่ต่างชาติยังให้การยอมรับ 

"สิ่งที่ผมเรียนรู้จากต่างประเทศ คือการได้รับการไว้วางใจและยอมรับจากทุกคน ผมคิดว่าความกดดันทุกรูปแบบมันอยู่ในนั้น ที่ทำให้มันก่อตัวมาเป็นฟรีคิกในสไตล์ของผมในตอนนี้" 

นี่คือสิ่งที่ชายคนหนึ่งใช้เวลาบ่มเพาะมากว่า 20 ปี และทำให้ดาวเตะของ โยโกฮามา เอฟซี ยังคงเป็นนักเตะที่ประมาทไม่ได้ แม้ว่าตอนนี้จะมีอายุแตะเลข 4 ไปแล้วก็ตาม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook