เอฟเอ คัพ.. ถ้วยแห่ง "พลังจูงใจ"

เอฟเอ คัพ.. ถ้วยแห่ง "พลังจูงใจ"

เอฟเอ คัพ.. ถ้วยแห่ง "พลังจูงใจ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ปัจจัย” ประการหนึ่งที่หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่าจะมี “อิทธิพล” ต่อผลการแข่งขันฟุตบอลได้มากมายก็คือการ “อัดฉีด”

จริงๆ แล้วการอัดฉีด สามารถเรียกให้สวยหรูได้ว่า “โบนัส” หรือเป็นเม็ดเงิน Incentive ซึ่งหมายถึงแรงจูงใจในการทำให้นักเตะ “ผลิตผลงาน” หรือ perform ได้ดีกว่าระดับปกติของตัวเอง

วิธีการมีเยอะแยะครับ เช่น สโมสรจ่ายตรงหากทีมชนะ ซึ่งถ้าเป็นสโมสรอาชีพในลีกยุโรป หรือแม้แต่ทีมชาติเอง การชนะเลิศถ้วยรางวัล หรือได้แชมป์ทัวร์นาเมนต์สำคัญมักจะมีเงินโบนัสประกาศล่วงหน้าเสมอ

แต่หากเป็นลีกฟุตบอลบ้านๆ ทั่วไป หรืออาจหมายรวมถึง “ลีกไทย” เท่าที่ผมเคยสัมผัส

"โทมัส เมเฆียส" นายด่านโบโร่ ที่แมนฯ ซิตี้ ยิงยังไงก็ไม่เข้า

วิธีการอาจ “แยบยล” กว่านั้น เช่น (แอบ)อัดฉีดศูนย์หน้าให้ยิงประตู หรือ(แอบ)ส่งซิกผู้รักษาประตูว่า หากไม่เสียประตูในแมตช์นี้จะได้เงินพิเศษ เป็นต้น

แน่นอนครับว่า หากทีมไม่เสียประตู(อัดฉีดนายทวารไปแล้ว) และยิงได้(แอบจะให้ศูนย์หน้า) ทีมย่อมชนะ และจะยอดเยี่ยมมากๆ ในแมตช์สำคัญ เช่น ดาร์บี้แมตช์ หรือนัดเจอกับทีมโซนเดียวกัน

เมืองนอก หรือลีกระดับสูงของโลกคงไม่มีวิธีการแยบยลดังกล่าว แต่ด้วย “พื้นฐาน” รายได้นักกีฬา และเงินรางวัล มันจะเป็นแรงจูงใจโดยอัตโนมัติให้นักกีฬา

ไม่นับความภาคภูมิใจ เกียรติยศ และศักดิ์ศรี ซึ่งประเมินค่าไม่ได้สำหรับนักกีฬาที่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นแรงจูงใจต่อชัยชนะเช่นกัน

เขียนถึงตรงนี้ ผมต้องการจะ “แตะถึง” เอฟเอ คัพ รอบ 4 ซึ่งพลิกล็อกป่นปี้ และระเนระนาดอีกหนว่า “แรงจูงใจ” อะไรทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว

คริสตัล พาเลซ บุกมาชนะ เซาธ์แฮมป์ตัน ทีมฟอร์มแรงคาบ้าน!!

ครับ เม็ดเงิน, ความภูมิใจ เกียรติยศ, ศักดิ์ศรี ข้างต้นมีส่วนอยู่แล้ว เพราะมันคงจะหา “ช่องทาง” ไหน? รายการใด ดีเท่ากับเอฟเอ คัพ เป็นไม่มีอีกแล้วในการประกาศตัวตน

นอกเหนือจากการได้เล่นใน “สนามใหญ่” เช่น กว่า 4 หมื่นคนใน สแตมฟอร์ด บริดจ์, 6 หมื่นคนใน เอติฮัด สเตเดี้ยม ฯลฯ

อันเป็น “ความฝัน” ของนักบอลเกรดรองๆ ที่ครั้งหนึ่งอยากเล่นท่ามกลางผู้คนหลายหมื่น(ที่แม้ไม่ใช่แฟนบอลตัวเอง) กับบรรดาแข้งระดับโลกที่เคยแต่ในโทรทัศน์.. จนเกิดการแย่งแลกเสื้อบ่อยๆ

หรือ ริชาร์ด มันนี่ ผู้จัดการทีม เคมบริดจ์ ถึงกับสั่งห้ามนักเตะแลกเสื้อกับขุนพลปิศาจแดง หากไม่ต้องการจ่ายค่าเสื้อที่แลกนั้น 40 ปอนด์ ให้กับสโมสร

ซึ่งในทางปฏิบัติคงไม่มีใครฟัง แต่ทางทฤษฎีน่าจะเป็นการ “กระตุ้น” ขวัญ กำลังใจ สมาธิ นักเตะตัวเองมากกว่าไม่ให้หมกมุ่นเรื่องนอกสนามมากไป

พลังแฝงของนักเตะ "เคมบริดจ์" ทำให้ผีแดงต้องเหนื่อยอีกนัด

เคมบริดจ์ จึงเตรียมรับเงินกระทั่งถึงรอบ 4 ถึง 1.5 ล้านปอนด์ และเตรียมนำเงินส่วนหนึ่งไปซ่อมห้องน้ำสนามแข่งขันจนเป็นข่าวดังไปทั่วโลก

มากกว่านั้น รายการ “แมตช์ ออฟ เดอะ เดย์” ทุกค่ำวันเสาร์และอาทิตย์ ที่ปกติจะฉายไฮไลต์พรีเมียร์ลีกแต่ละวีกก็จะเปลี่ยนเป็น “เอฟเอ คัพ”

ฉะนั้น โอกาสจะได้เป็น “ซูเปอร์สตาร์” ข้ามคืนบนจอตู้จึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ขอเพียงแต่คุณ และทีมของคุณประสบความสำเร็จเป็น “แจ๊ค” ล้ม “ยักษ์” หรือทำแค่เสียว เช่น ยันเสมอ 0-0 ได้เหมือน เคมบริดจ์ ในนัดเจอ แมนฯ ยูฯ

ที่น่าสนใจเข้าไปอีกคือ สมาคมฟุตบอลอังกฤษจะวาง “บอลถ้วย เอฟเอ คัพ” ไว้พิเศษ แตกต่างจากบอลถ้วยลีกยุโรปอื่นๆ

เพราะเอฟเอ คัพ จะเตะสุดสัปดาห์ และจะแทนที่ “บอลลีก” อันหมายถึง ทุกสายตา หรือเป้าหมายหลักของคอบอลสัปดาห์นั้นๆ จะเป็น “เอฟเอ คัพ”

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ เคมบริดจ์, โบโร่, แบร๊ดฟอร์ด, โบลตัน หรือแม้แต่ ไบรจ์ตัน ที่แพ้ด้วยซ้ำให้ อาร์เซนอล จึงมีชื่อกินพื้นที่สื่อได้มากมาย

(จากซ้ายไปขวา) โมราอิส, แบมฟอร์ด และ ดาร์บี้

สุดท้าย และจริงๆแล้วเป็นประเด็นที่ยังแทบไม่เคยมีใครแตะมาก่อนก็คือ ประโยคสั้นๆ ของ อาร์เซน เวนเกอร์ หลังเกมกับ ไบรจ์ตัน ครับ

กุนซือฝรั่งเศส มองในมุมว่า นักเตะในลีกรองหลายคนที่อยู่ในทีม “แจ๊ค” ล้มยักษ์ล้วนเป็นผลผลิตจาก Academy ทีมพรีเมียร์ลีกที่ไม่สามารถก้าวต่อไปได้ และต้องลดชั้นลงมาเซ็นสัญญานักเตะอาชีพในลีกรองๆ

ผู้เล่นเหล่านี้มีความพร้อมทั้งร่างกาย เฉพาะอย่างยิ่งจิตใจ ที่อยากพิสูจน์ตัวเองจากเมื่อครั้งโดน “ปฏิเสธ” จากทีมใหญ่จนต้องระเหเร่ร่อน

"แพทริก แบมฟอร์ด" อดีตเด็กฝึกใน เชลซี ก็อยู่ในชุด โบโร่ บุกชนะ แมนฯซิตี้ 2-0, "โรฮัน อินซ์" มิดฟิลด์ ไบรจ์ตัน อดีตเด็กสร้าง เชลซี อีกคน, "อดัม เคลย์ตัน" มิดฟิลด์ โบโร่ อดีตเด็ก แมนฯซิตี้ เอง

"ฟิลิเป้ โมเรส" หัวหอกโปรตุกีส ของ แบร๊ดฟอร์ด ก็คือ เด็กน้อยวัย 20 ที่ โจเซ่ มูรินโญ่ เคยปฏิเสธไม่เซ็นสัญญาเมื่อ 9 ปีก่อน

"สตีเฟ่น ดาร์บี้" อดีตเด็กหงส์ ก็อยู่ในทีม แบร๊ดฟอร์ด ชุดนี้

ฯลฯ และ ฯลฯ

ครับ ผู้เล่นหลายคน “มีปม” และต้องการพิสูจน์ตัวเอง ซึ่งก็ไม่มีเวทีใด “โดดเด่น” และเป็นช่องทางเหลี่ยมทองฝังเพชรได้เท่ากับ เอฟเอ คัพ อีกแล้ว

ไข่มุกดำ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook