เบื้องหลังโต๊ะเล็กหูหนวกชายไทย : "รองแชมป์โลก" ที่บางคนต้องใช้โอกาสทั้งชีวิตแลกมา..

เบื้องหลังโต๊ะเล็กหูหนวกชายไทย : "รองแชมป์โลก" ที่บางคนต้องใช้โอกาสทั้งชีวิตแลกมา..

เบื้องหลังโต๊ะเล็กหูหนวกชายไทย : "รองแชมป์โลก" ที่บางคนต้องใช้โอกาสทั้งชีวิตแลกมา..
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้จะทำได้เพียงแค่ตำแหน่ง "รองแชมป์โลก" หลังพ่าย อิหร่าน ไปในรอบชิงชนะเลิศ 3-8 เมื่อช่วงบ่ายวันเสาร์ที่ 28 พ.ย. ที่ผ่านมา ณ สนามนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ

ทำให้ "ทีมฟุตซอลคนหูหนวกชายไทย" ต้องอกหัก เป็นได้แค่ "พระรอง" อีกครั้ง หลังจากเคยเข้าชิงชนะเลิศมาแล้ว ในการแข่งขันชิงแชมป์โลกครั้งที่ 2 ปี 2007 ที่ประเทศบัลแกเรีย แต่ก็พ่ายให้กับ ยูเครน ไป 2-3 แบบน่าเสียดาย

กับทัวร์นาเม้นต์ เวิลด์ คัพ ครั้งที่ 4 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพนี้ แม้จะต้องอกหักเป็นครั้งที่สอง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลอดทุกนัดที่ผ่านมา ทีมชาติไทยของเรา "ฟอร์มแจ่ม" เล่นได้ใจแฟนๆทุกนัด

จนมาถึงรอบชิงชนะเลิศ ที่เราก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า ทีมชาติอิหร่าน แข็งแกร่งกว่าเรา สมศักดิ์ศรีแชมป์เก่าและป้องกันตำแหน่งแชมป์โลกไว้ได้อย่างยอดเยี่ยม

วันนี้ Sport Sanook มีข้อมูลเบื้องลึก เกี่ยวกับขุนพลนักฟุตซอลทีมชาติไทยชุดนี้มาฝากกัน ลองอ่านดูครับแล้วพวกคุณจะ "รักและภาคภูมิใจ" พวกเขาทุกคน ในฐานะเพื่อนร่วมชาติแน่นอนครับ

---------------------------------------------------------------------------

ผลงานของ "ทีมฟุตซอลคนหูหนวกชายทีมชาติไทย" ในฟุตซอลโลก ครั้งที่ 4 รอบแรก เสมอ อิตาลี 6-6/ ชนะ อุซเบกิสถาน 14-4 / ชนะ บราซิล 6-1 / เสมอ ฮอลแลนด์ 1-1 / รอบรองชนะเลิศ ชนะ รัสเซีย 3-2 / รอบชิงชนะเลิศ แพ้ อิหร่าน 3-8

ทีมฟุตซอลคนหูหนวกไทยส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันครั้งแรกในฟุตซอลโลกปี 2007 ที่ประเทศ บัลแกเรีย เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โดยครั้งแรกที่ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขัน ไทยเราคว้า "รองแชมป์" หลังพ่าย ยูเครน ในนัดชิงฯ ซึ่งทัวร์นาเมนต์นั้น "อโนทัย สาธิยมาศ" คว้ารางวัลนักเตะยอดเยี่ยม

หลังจากนั้นปี 2011 ที่ประเทศสวีเดน เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ไทยเราจบด้วยการคว้าอันดับ 9 หลังเอาชนะบราซิลในรอบจัดอันดับ

ก่อนจะเป็นทีมชุดนี้ พวกเขามีการรวมตัวกันมาตั้งแต่ก่อนปี 2007 ด้วยการเป็นทีมฟุตบอลคนหูหนวกทีมชาติไทย วิธีการเล่นใช้รูปแบบการเล่นแบบเข้าใจจนแข็งแกร่ง หลายคนบอกว่าพวกเขาเล่นคล้ายกับ ดรีมทีม ชุดรุ่งเรือง ความสามารถสอดผสานกันได้อย่างลงตัว

ขณะเดียวกัน ทีมมีเรื่องราวน่าสนใจมากมาย "อนุสรณ์ พิมพ์งา" คนหนุ่มไฟแรงจากภูเก็ต ที่เคยให้สัญญากับตัวเองเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วว่า จะพาทีมชาติไทยชุดนี้ไปให้ถึงเวทีระดับโลกด้วยตำแหน่งที่คนไทยยอมรับ ในเเง่ของผลงานและส่วนสำคัญสุดคือความสามารถของนักกีฬาเหล่านี้ว่าพัฒนาได้ รวมไปถึงการสร้างทางเลือกอาชีพกีฬาให้กับพวกเขาเหล่านี้

ส่วน "เบอร์ 10-อโนทัย สาธิยมาศ" ตัวเก่งของทีม วัย 39 ปี เขาได้รับการยอมรับจากโลกของฟุตบอลและฟุตซอลคนหูหนวกว่าเป็น "โรนัลโด้แห่งโลกไร้การได้ยิน" อดีตที่ผ่านมาเคยเล่นฟุตซอลไทยลีกให้กับสโมสรลีโอบางซื่อ และเคยทำงานที่บริษัทบางกอกกล๊าส

แต่ปัจจุบันผันตัวเองไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด จ.พระนครศรีอยุธยา ทำงานโรงงาน อโนทัย มีแฟนที่แต่งงานกันแล้ว แม้ว่าเธอจะไร้การได้ยิน แต่ทั้งคู่ก็มีลูกด้วยกันและทุกอย่างครบปกติอย่างที่เขาคาดหวัง ทุกวันนี้จึงมุ่งหน้าทำงานอย่างเต็มที่เพื่อลูก สำหรับฟุตซอลโลกครั้งนี้ เขาอยากคว้าแชมป์โลกให้ได้สักครั้งเพื่อแฟนบอลไทยและลูกวัย 7 ขวบของเขา

"เบอร์ 5-ปฏิพน สิงห์แก้ว" ดาวเตะไร้เสียงวัย 36 ปี จากประจวบคีรีขันธ์ คือนักเตะที่เล่นได้ทุกตำแหน่ง อยู่กับทีมมาตั้งแต่ชุดแรก ก่อนหน้านี้เคยเล่นฟุตบอลระดับถ้วยพระราชทาน ค. ให้กับหัวหิน และฟุตซอลลีกให้ลีโอบีจี

อดีตที่น่าสนใจ เขาเคยมีอาชีพขายไอศครีม แต่ถ้ามีเวลาว่าง รองเท้าที่พกติดรถมักถูกนำมาใช้เสมอ ฟุตบอลทำให้ชีวิต ของ "ต่อ" ปฏิพน เปลี่ยน จนเข้าได้เข้าเรียนที่ มรภ.สวนดุสิต และพัฒนาชีวิตเรื่อยมา

"เบอร์ 11-เกียรตินันท์ สำราญประภัสสร" แม้ว่าจะโดนใบแดง ในเกมที่พบกับ ฮอลแลนด์ แต่โปรไฟล์ของเขาก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะเคยผ่านการเล่นฟุตบอลอาชีพระดับดิวิชั่น 2 ให้กับ สมุทรปราการ เอฟซี


"เบอร์ 7-จำลอง บ่อนา" เด็กหนุ่มชาวดอยร้อยเปอร์เซ็นต์จากเชียงราย แล้วขยับตัวเองไปเรียนที่โสตฯเชียงใหม่ ที่กลายเป็นเพชรเม็ดงามจากรายการชิงแชมป์ปทท.ในฟุตบอลคนหูหนวก ถูกดึงเข้ามาสู่ทีมชาติพร้อมกับการผงาดสู่เส้นทางนักฟุตซอลอาชีพกับ ลีโอบีจี


"เบอร์ 9-นเรศ นุ่มภักดี" ดาวซัลโวของทีมชาติไทย เกิดที่จ.เพชรบูรณ์ พ่อแม่แยกทางตั้งแต่ยังเล็ก ต้องอาศัยอยู่กับยายแบบยากลำบาก ก่อนที่จะเดินทางไปหาอนาคตตัวเองที่โรงเรียนโสตฯจ.ตาก และเริ่มเรียนรู้ฟุตบอลที่นั่น กับ อ.ผจญ จนพัฒนาฝีเท้าขึ้นมาได้อย่างยอดเยี่ยม ทุกวันนี้ดาวยิงเท้าหนักทำงานโรงงานเกี่ยวกับพวกน็อตสกรูที่ฉะเชิงเทราเลี้ยงชีพตัวเอง

"ชนินันท์ แย้มขวัญยืน" ล่ามภาษามือจากจ.ตรังที่อยู่กับทีมมาตั้งแต่ตั้งไข่จนถึงปัจจุบัน ปี 2547 คือจุดเริ่มของสาวร่างเล็กรายนี้ วันนี้เธอภูมิใจที่เป็นส่วนเล็กๆที่ทำให้คนหูหนวกทำฝันอันยิ่งใหญ่ได้สำเร็จ

อีกหนึ่งคนที่ต้องพูดถึง แรงจูงใจของนักฟุตซอลไทย คือ "บิ๊กป๋อม-อดิศักดิ์ เบ็ญจศิริวรรณ" ผู้บุกเบิกความคลั่งไคล้ให้คนไทยได้รู้จักกีฬาชนิดนี้ เขาคือแบคอัพชั้นดีของทีมฟุตซอลไทยทุกชุด

วันนี้ทายาทของเขา "ธัชพัทธ์ เบ็ญจศิริวรรณ" เด็กหนุ่มวัย 25 ปี ที่ก่อนหน้านี้ตามติดพ่อมาที่สนามซ้อม เดินตามฝันอันยิ่งใหญ่ของพ่อ ด้วยการเข้ามาเป็น ผจก.ทีมฟุตซอลคนหูหนวกทีมชาติไทย และอยากเห็นทีมฟุตซอลไทยประสบความสำเร็จทุกชุด

แม้ว่าฝีเท้าของพวกเขาจะฉกาจฉกรรจ์แค่ไหน? แต่ชีวิตปกติของหลายคนต้องทำงาน บางบริษัทอนุญาตให้มาเก็บตัวแข่งขัน บางบริษัทไม่อนุมัติ จึงทำให้เขาเหล่านี้ลาออกจากการทำงาน มาเติมฝันที่ต้องการมาทั้งชีวิต นั่นคือ "ฟุตบอล หรือ ฟุตซอล" ที่เขารัก

เครดิตเนื้อหาจากเฟสบุ๊ก Monchai Sukkho

 

อัลบั้มภาพ 64 ภาพ

อัลบั้มภาพ 64 ภาพ ของ เบื้องหลังโต๊ะเล็กหูหนวกชายไทย : "รองแชมป์โลก" ที่บางคนต้องใช้โอกาสทั้งชีวิตแลกมา..

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook