สกู๊ป : Minimum Requirement ปิศาจแดง

สกู๊ป : Minimum Requirement ปิศาจแดง

สกู๊ป : Minimum Requirement ปิศาจแดง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถามว่าให้เลือกระหว่าง เสมอ 0-0 น่าเบื่อ กับสนุกตื่นเต้นเร้าใจ 3-3 แบบเกมกับนิวคาสเซิล เมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา

ผมเชื่อว่า 100 ทั้ง 100 คนแฟนบอลปิศาจแดง เลือกอย่างหลังแน่นอน!

แต่หากมองในดีเทล เช่น ออกนำก่อน 2-0 แต่โดนตีเจ๊า 2-2 และอุตส่าห์ได้ เวย์น รูนีย์ ยิงประตูที่ 2 ของตัวเองออกนำอีกครั้ง 3-2 ตอน 10 นาทีท้ายก่อนโดนตีเสมอนาทีสุดท้าย

แฟนผีทั้ง 100 คนอาจ “สับสน” เล็กน้อย เพราะโดยมากย่อมรู้สึก “เสียดาย” ที่ไม่ได้ 3 แต้ม หรือในบริบทนี้สมควรเรียกว่า ทำ 3 คะแนนหลุดมือมากกว่า

ดังนั้น หากวิเคราะห์จึงต้องพิจารณาให้ดีว่า จะมองแค่ “มุมเสมอ” สกอร์สูง หรือโนสกอร์

หรือจะมองว่า ทำ 3 แต้มหล่น และอันดับร่วงไปที่ 6 กันแน่


อย่างไรก็ดีครับ กระแสส่วนใหญ่ “ชื่นชม” วิธีการเล่น และความตั้งใจของนักเตะแมนฯยูฯ และหลุยส์ ฟาน ฮัล ในเกมนี้กับนิวคาสเซิล ที่ก่อนเกมได้นักเตะดัง จอนโจ้ เชลวี เดินหาเหรดลงสนามในฐานะนักเตะใหม่ค่าตัวแค่ 12 ล้านปอนด์

ครับ แมนฯยูฯ ไม่ควรเสียความตั้งใจ และสูญเสียความเชื่อมั่นในวิถีการเล่นที่ “อย่างน้อย” ที่สุดสามารถเอาชนะใจแฟน ๆ ของตัวเองได้

นี่คือ “พื้นฐาน” ของการทำทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตรงตาม “มาตรฐาน” ที่เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ได้สร้างไว้

ดังนั้น Minimum requirement หรือความต้องการ “ต่ำสุด” จากแฟนบอลที่ต้องการเห็นทีมรักจะเป็น คือ เล่นบอลเอนเตอร์เทน

จากนั้นจึงเน้น “ผลการแข่งขัน”

ผมกำลังบอกว่า ไม่ใช่ แฟนผี หรือแฟนบอลทั่วไปจะสนเฉพาะความเอนเตอร์เทน

แฟนบอลสนใจที่สุด คือ ผลการแข่งขันนั่นแหละครับ



เพราะจะว่าไปแล้ว หากผลงาน “ชนะ” ได้ 3 แต้มนอนหลับฝันดี ต่อให้เล่นแย่ขนาดไหนก็มี “ความสุข” ได้

แต่ประเด็นที่เกิดกับทีมปิศาจแดง คือ ปรัชญา ฟาน ฮัล ตั้งโจทย์ไว้ที่เก็บผลการแข่งขันให้ได้ก่อนโดยไม่ได้เน้น “โจทย์แรก” ที่สไตล์การเล่น

กับทีมอื่น ๆ หรือทีมเล็กลงมาหน่อย เช่น พาเลซ, สโต๊ค, นิวคาสเซิล, เวสต์บรอมฯ, เวสต์แฮม ฯลฯ นั้นทำได้ครับ

ทีมเล็กสามารถ “เซ็ตอัพ” ทีมด้วยวิธีการเล่นเพื่อเน้นผลการแข่งขันที่แฟนบอลสามารถ “ยอมรับ” ได้ เพราะความคาดหวังจะต่ำกว่า

แต่กับทีมใหญ่ มันต้องอย่างน้อย “สไตล์” มาก่อนอันเป็น Minimum Requirement จากแฟนบอลตามที่ผมเรียนไว้ข้างต้น

จากนั้นจึงค่อยหา “บาลานซ์” ระหว่างเกมรุก กับเกมรับให้ดี ดังที่รูนีย์บ่นหลังเกมนี้ว่า ไม่สามารถเสียได้ 3 ประตูแล้วหวังชนะ


ทั้งนี้ในเชิงฟุตบอล การยิงประตูยังไงก็ยากกว่าการป้องกันประตู

ฉะนั้นในแง่ดีคือ แมนฯยูฯ สามารถยิงได้แล้ว 3 เม็ด แต่จะทำอย่างไรเพื่อปิดเกม?

หรือยิงให้ได้มากกว่าเสีย เพื่อรักษาชัยชนะ และสุดท้ายแล้วก็คือ เสริมสร้างความมั่นใจ “ต่อยอด” เป็นทั้งสไตล์ และผลการแข่งขันที่ยอดเยี่ยมได้ต่อไป

ประเด็นสำหรับเกมนัดนี้ที่สามารถมองได้ “เป็นบวก” คือ ฟาน ฮัล เองก็เหมือนจะ “ยอมรับ” ในเพรสคอนเฟอเรนซ์ก่อนเกมว่า เค้าก็เบื่อกับการเล่นของทีมในตอนนี้

ซึ่ง “นัยยะ” การพูดดังกล่าวผมก็ไม่ค่อยเข้าใจนักเหมือนแฟนบอลทั่ว ๆ ไปนั่นแหละครับ

เพราะ กุนซือดัตช์เองไม่ใช่หรือที่ “กำหนด” ทิศทาง และวิธีการเล่นจะให้เสี่ยง เอามันส์ เช่นเกมนี้ หรือเพลย์เซฟเหมือนที่ผ่านมา

แล้วจะมาพูดทำไม? หรือพูดได้อย่างไรว่า “เบื่อ”

ขณะเดียวกัน หลัง “ฟีดแบ็ก” ค่อนข้างดีแม้จะเสมอ หนำซ้ำโดน “ขโมยชัย” ฟาน ฮัล จะกล้าฮึดขนาดไหน?


เพราะในมุมกลับคือ หากเสมอ 0-0 น่าเบื่อเหมือนเคยแทนที่จะมัน ๆ 3-3 กระแสคงดูไม่จืด และคงทำให้เก้าอี้ยิ่งร้อนฉ่า

เอาเป็นว่า ประเด็นของผมในวันนี้คือ “โจทย์แรก” คือ สไตล์การเล่นได้ถูกตอบแล้ว

“โจทย์ต่อไป” คือ ผลการแข่งขันอันหมายถึงการค้นหา “สมดุล” ระหว่างรับ และรุกจึงค่อยตามมา

ซึ่งหาก “โจทย์หลัง” ยังทำไม่ได้ อย่างน้อยก็ต้องไม่แพ้เช่นเกมนี้ที่แฟน ๆ ยังรับได้ เพราะมันคือ Minimum Requirement ที่พวกเค้าต้องการ และคาดหวัง

จากนั้นอะไรจะเกิด ผมว่า มันคงสนุก และดูราบรื่นขึ้นสำหรับ หลุยส์ ฟาน ฮัล และทีมนะครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook