สกู๊ป : ฮันนีมูน ก่อน “เหนื่อยโฮก”

สกู๊ป : ฮันนีมูน ก่อน “เหนื่อยโฮก”

สกู๊ป : ฮันนีมูน ก่อน “เหนื่อยโฮก”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จริงๆ แล้วมันเป็นสถานการณ์ “ปกติ” ครับว่า อะไรๆ ในช่วงนี้จะ “ดีหมด” เข้าตำราจังหวะการ “ฮันนีมูน”

หรือ Honeymoon period ระหว่าง แซม อัลลาไดซ์ กับทีมชาติอังกฤษ และเหล่าบรรดาผองแฟนคลับ, สื่อมวลชน พ่วงด้วย “ทุกฝ่าย” ที่เกี่ยวข้อง

ข่าวคราวช่วงนี้จึงอาจมี “ลำเอียง” กันบ้าง อะไรบ้าง หรือหลับตา 1 ข้างไปจนอย่างน้อยจบแมตช์แรกของการคุมทีมกับสโลวาเกีย วันที่ 4 ก.ย.

นั่นแหละครับ ผลการ “พิพากษา” จึงจะคลอดออกมาว่า อัลลาไดซ์ ผ่าน หรือไม่ผ่าน?

ฉะนั้น ในช่วงเวลานี้เรื่อยไปจนถึงเวลาการประกาศตัวนักเตะ “ชุดแรก” ของ “บิ๊กแซม” ประมาณปลายเดือน ส.ค.เราๆ ท่านๆ คงต้องรับฟังคำพูดหวานหู “น้ำผึ้ง” ผสมมะนาวไปพลางๆ ก่อน

ในแง่ดีมองได้ว่า ให้ “กำลังใจ” กันไปก่อน แต่ในแง่ร้ายก็สามารถมองได้เช่นกันว่า “อะไรฟ่ะ มีเวลาฮันนีมูน แค่ 1 เดือนเอง!!!”

ทว่านี่แหละครับ คือ “ชีวิตกุนซือ” เฉพาะอย่างยิ่ง การต้องมาคุมชาติฟุตบอลอันดับต้นๆ ของโลกที่ห่างหายความสำเร็จมายาวนานถึง 50 ปีเต็มๆ

กล่าวคือ อังกฤษ “เลยจุด” ที่ควรได้รับอะไรตอบแทนในวงการเป็นความสำเร็จระดับรายการเมเจอร์ไม่ว่าจะ บอลโลก หรือยูโร มานานแล้ว

ไม่ว่าจะ “บอลโลก 1990” หรือ “ยูโร 1996” ที่เข้าถึงรอบตัดเชือกแล้วแพ้ดวลจุดโทษให้เยอรมัน มันคืออะไรที่ “ใกล้เคียง” มากๆ

แต่มันยัง “ใกล้” ไม่พอเท่านั้นเอง! ดังนั้นการเดินทางของชนชาติมาถึงยุคกุนซือคนที่ 15 นับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมาในช่วงจังหวะที่เหมาะสม

และมองใน “แง่บวก” แล้ว คือ เข้าข้างอัลลาไดซ์ อย่างมาก

เพราะการว่างเว้นตำแหน่งแชมป์ไปครึ่งศตวรรษ ตามหลังการตกรอบ “ยูโร 2016” ด้วยการแพ้แก่ไอซ์แลนด์ น่าจะเป็นจุด “ตกต่ำ” ที่สุดแล้วของทีมชาติสิงโตคำราม

“บิ๊กแซม” ประกาศก้องแล้วหลังรับตำแหน่งว่า นักเตะจะมาคิดว่าการสนับสนุนจากแฟนๆ เป็น “ของตาย” ไม่ได้อีกต่อไป

แต่ผู้เล่น และทีมงานมีความรับผิดชอบต้องสร้างสรรค์ผลงานให้ดีเพื่อ “เอาชนะ” แฟนๆ หลังความน่าผิดหวังจากยูโรที่ผ่านมา

“คีย์เวิร์ด” ที่ดีที่กุนซือวัย 61 ปีได้พูดถึง คือ “แพสชั่น, ความทุ่มเท และคุณภาพ” มันใช่เลยครับ เพราะทีมชุดบอลโลก 2014 กับยูโร 2016 ที่ผ่านมาอาจสะท้อนตัวตน รอย ฮอดจ์สัน มากไปเล็กน้อย

แฟนบอลเลยได้เห็น “แพสชั่น” ในแบบถกเสื้อ, ปาดเหงื่อ, วิ่ง สู้ ฟัด, ดับเครื่องชน ฯลฯ น้อยเกินไป

ครับ “แพสชั่น” นี่แหละ คือ “แก่น” สำคัญของฟุตบอลอังกฤษที่สะท้อนผ่านวิถีการเล่นที่ไม่เหมือนใคร เช่น เกมเร็ว, รุกดุดัน, เตะเอามันส์, บุกแบบกล้าหาญ ฯลฯ

ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้หายไปหลังทีมชาติไปได้อิทธิพลจากสโมสรที่ปรับตัวเป็น “ยูโรเปี้ยน สไตล์” มากขึ้นผ่านจำนวนนักเตะต่างชาติ หรือกุนซือต่างแดนที่เข้ามาหากินในพรีเมียร์ลีก

แน่นอนครับว่า “บิ๊กแซม” เก่งฉกาจในเรื่องทำทีมแบบอังกฤษ เพราะเติบโตในสายงานตั้งแต่เป็นผู้เล่น และทำทีมมาโดยตลอด

ขณะที่อีกจุดเด่น คือ Man management หรือการบริหารคนที่เจ้าตัวมั่นอก มั่นใจ ว่าเค้ามีความสามารถสูง

องค์ประกอบเด่นๆ เหล่านี้แหละครับที่สามารถทำให้แฟนๆ “ฝันหวาน” ได้ เพราะมันเป็นปัจจัยสำคัญเบื้องต้นในการทำทีมชาติที่ไม่ได้มี “เวลา” มากมายในการเตรียมทีม

เมื่อเป็นดังนี้ รูปแบบการเล่นง่ายๆ อาจจะเรียกว่า “บอลไดเรกต์” ที่ไม่จำเป็นต้องโยนยาวอย่างเดียว แต่เป็นการใช้ผู้เล่นริมเส้นเร็วๆ เจาะตรง

รวมกับการปลุกเร้า สร้างแรงบันดาลใจเก่งๆ เพื่อดึงสิ่งที่ดีที่สุดของผู้เล่นออกมาจึงน่าจะสำคัญที่สุด

ลำดับขั้นตอนต่อจากนี้ คือ กระบวนการทำงานตั้งแต่แต่งตั้งทีมชาติ เช่น แซมมี ลีตามด้วยเลือกผู้เล่นที่ “ตรงสเป๊ค” เข้ามา

ตามรายงานสื่อก็คล้ายๆ กันแหละครับกับนักเตะคาแร็กเตอร์ “ใจเกิน 100%” และอาจเคยผ่านมือ “บิ๊กแซม” มา เช่น มาร์ค โนเบิ้ล, แอรอน เครสส์เวลล์, แอนดี้ แคร์โรลล์

นอกจากนี้ก็จะเป็น “ชุดเดิมๆ” เป็นหลัก แต่ที่จะไม่เหมือนเดิม คือ ความคิดฝังหัว ที่รับรองได้ว่า ต่อแต่นี้ไป “เหงื่อโฮก” กันทุกคนแน่ๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook