สกู๊ป : หากจะหลงรัก "เด็กเก่า"

สกู๊ป : หากจะหลงรัก "เด็กเก่า"

สกู๊ป : หากจะหลงรัก "เด็กเก่า"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อวานได้แตะไว้เล่นๆว่า หากกลับไป “หลงรัก” เด็กเก่า ซึ่งในที่นี้หมายถึง อดีตผู้เล่นที่สโมสรตัวเองปล่อยไปแล้ววันหนึ่งข้างหน้าเกิดอยากได้ตัวกลับมา จะทำอย่างไร?

ครับ ก่อนอื่น ขออนุญาต “พาย้อน” กลับไปที่ “ประเด็น” ที่มาที่ไปของปัญหากันก่อนว่า เหตุการณ์เช่นที่ว่า เกิดขึ้นได้เพราะ 2 ปัจจัยหลักๆ คือ 1.นักเตะคนนั้นดันไปโชว์ฟอร์มได้ดีกับทีมใหม่จนทำให้ตัวเองดูมีความน่าสนใจขึ้นมา และ 2.สโมสรต้นสังกัดเดิม (น่าจะ) มีการเปลี่ยนกุนซือ

หาไม่แล้วกุนซือเดิมที่ปล่อยตัวผู้เล่นคนนั้นๆไป คงจะกลืนน้ำลายตัวเองลำบากหากจะกลับไป “ยอมจ่าย” แพงๆ ดึงนักเตะที่ตัวเองเคยไม่ต้องการกลับมา

ประมาณว่า คงตอบคำถามสังคมได้ยากครับ!

หรือกุนซือใหม่ “อาจชอบ” ต่างจากกุนซือเก่าที่ “ปล่อยทิ้ง” นักเตะนั้นๆออกไป

โดย “ภาพรวม” ของเรื่องนี้คำตอบที่จะเป็น “กุญแจ” ไขปมของเรื่องหลงรักเด็กเก่า คือ คำว่า “buy-back clause” หรือในที่นี้หมายถึงการใส่ประโยคว่า “สามารถซื้อตัวกลับ” สโมสรเดิมได้ เข้าไปในสัญญาการซื้อขาย

ใครว่างๆ ผมแนะนำครับ พิมพ์ว่า “buy-back clause” เข้าไปในกูเกิ้ลท่านก็จะพบ “เรื่องราว” น่าสนใจมากมายที่ผมจะขอสรุปง่ายๆ ประกอบเรื่องในวันนี้ว่า

1.สโมสรสเปน เรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า ฯลฯ ปฏิบัติในวิธีการนี้มานานแล้ว เฉพาะอย่างยิ่งนับจากฟุตบอลเปลี่ยนยุคเป็น “สมัยใหม่” เป็นดิจิตอล กลายเป็นธุรกิจแบบอาชีพเหมือนปัจจุบัน

ล่าสุด อัลบาโร่ โมราต้า ที่ย้ายกลับจากยูเวนตุสมาเรอัล มาดริด ก็อยู่ในข่ายนี้ หลังดาวเตะสแปนิชวัย 23 ปีย้ายไปยูเว่ด้วยราคาไม่แพงนัก 20 ล้านปอนด์เมื่อ 2 ปีก่อน

แต่หลังทำผลงานได้เยี่ยม ยิง 15 ประตูใน 2 ซีซั่นที่กัลโช่ เซเรีย อา และเป็นส่วนหนึ่งในขุนพล “ยูโร 2016” กับทีมชาติสเปน

 

ซีเนอดีน ซีดาน แจ้งเรอัล มาดริด ขอใช้ปฏิบัติการ “buy-back clause” ในสัญญาซื้อขายปี 2014 ทันที และสามารถซื้อโมราต้ากลับด้วยราคาเพียง 23 ล้านปอนด์เท่านั้น

(ทั้งที่ราคาตลาดน่าจะเบ่งได้ระหว่าง 35 – กว่า 50 ล้านปอนด์)

2.ทีมอังกฤษไม่ค่อยทำ ทว่านับจากอดีตมีการ “ปฏิบัติ” อยู่บ้าง เช่น ตอน เควิน คีแกน ย้ายกลับจาก ฮัมบูร์ก มาอังกฤษ ก็ปรึกษาลิเวอร์พูลก่อนจะขอไปร่วมทีมเซาแธมป์ตัน

หรือเอียน รัช ก็กลับมาลิเวอร์พูลหลังไปเล่นกับยูเวนตุส

แต่ทว่าส่วนใหญ่แล้ว ทีมอังกฤษในปัจจุบันไม่ว่าจะ เชลซี, แมนฯ ซิตี้, แมนฯ ยูฯ, อาร์เซนอล ฯลฯ ที่มีนักเตะโดยเฉพาะเยาวชน กับดาวรุ่งอายุน้อยในสังกัดอยู่มาก

จะใช้วิธีการ “ปล่อยยืมตัว” (Loan deal) มากกว่า “ขาย” โดยเพิ่ม “buy-back clause” เข้าไปในสัญญาเหมือนทีมจากลา ลีกา

จากทั้งข้อ 1 และข้อ 2 ผมเอง “แอบมอง” ว่ามีความต่างกันไม่มากนัก แต่อาจจะเป็น “ปัจจัย” สำคัญที่ผลต่อการปฏิบัติต่อตัวผู้เล่นคนนั้นๆ

การ “ปล่อยยืม” จะเกิดจากต้นสังกัดเดิมไม่ต้องการใช้นักเตะคนนั้น ณ ตอนนั้น จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้นักเตะมี “โอกาสน้อย”

ดังนั้น การให้ยืมตัวจึงเกิดขึ้นไปสู่ทีมใหม่ที่ (อาจจะ) ไม่ได้ต้องการตัวนักเตะนั้นๆมากพอขนาดจะเสนอซื้อ แต่อาจจะพร้อม “ยอมรับ” ข้อเสนอจากต้นสังกัดเดิมได้ เช่น

ให้นักเตะได้ลงสนามในจำนวนนัดที่มากพอ และช่วยจ่ายเงินเดือนอาจจะทั้งหมด/ครึ่งหนึ่ง/ฯลฯ

พอหมดเวลายืมตัวก็อาจส่งตัวกลับแบบจบแล้วจบกัน

ต่างจากการ “ซื้อขาย” โดยมี “ประโยค buy-back” อยู่ในสัญญา ที่อย่างน้อยทีมใหม่ต้องสนใจนักเตะคนนั้นๆ หรือนักเตะคนนั้นต้องเจ๋งในระดับหนึ่ง

ทีมเก่าก็ไม่ได้ต้องการเสียไปง่ายๆ แต่จะทำอย่างไรได้ เช่น กรณีโมราต้า ที่มาดริดมีทั้ง คาริม เบนเซม่า, โรนัลโด้, แกเร็ธ เบล, เฆเซ่ ฯลฯ

การขายให้ยูเว่ไม่แพง แต่แอบพ่วงประโยค buy-back เอาไว้จึงเกิดขึ้น และก็ถือว่าอย่างน้อยยูเวนตุสได้ใช้โมราต้าถึง 2 ซีซั่นก่อนได้เงินคืนแบบกำไรนิดหน่อย 3 ล้านปอนด์

ซึ่งก็ไม่ได้ “ขี้เหร่” แต่อย่างใด!

ลิเวอร์พูลเองในซีซั่นนี้ที่ปล่อยดาวรุ่งอย่าง จอร์ดอน ไอบ์, แบรด สมิธ, แซร์จี้ กาโนส ล้วนสอดแทรก “buy-back clause” ทั้งสิ้น

ดังนั้น สาวก “เดอะ ค็อป” สบายใจได้ครับว่า ในวันใดข้างหน้า ลิเวอร์พูลจะไม่เจอเหตุการณ์เหมือนเชลซี เจอกับ เนมันย่า มาติช หรือแมนฯ ยูฯ (อาจไม่ตรงนัก) กับ พอล ป๊อกบา แน่ๆในอนาคต

หากกลับมาหลังรักเด็กเก่า ไอบ์, สมิธ และกาโนส

ครับ ฟุตบอลในปัจจุบันได้เดินทางมาถึงจุดที่เราๆท่านๆไม่ได้คิด และกลายเป็นธุรกิจที่ “ไปไกล” มากที่สุดแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook