"เจาะลึกเงินอัดฉีดโอลิมปิกเกมส์ 2016"

"เจาะลึกเงินอัดฉีดโอลิมปิกเกมส์ 2016"

"เจาะลึกเงินอัดฉีดโอลิมปิกเกมส์ 2016"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากที่เมื่อวันก่อนนี้ Sanook! Sport เขียนถึงเงินรางวัลที่นักกีฬาระดับตำนานอย่าง ไมเคิล เฟลป์ส ได้รับจากคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งสหรัฐอเมริกาว่า คิดเป็นเงินไทยแล้วอยู่ที่ประมาณ 875,000 บาทต่อเหรียญทอง 1 เหรียญ

แฟนกีฬาหลายคนเลยเอาตัวเลขนี้มาเปรียบเทียบกับตัวเลขที่นักกีฬาไทยได้รับ และออกความเห็นว่า ถ้าฉลามหนุ่มอยู่เมืองไทย ต่อให้ไม่ได้เป็นพรีเซนเตอร์แบรนด์ไหน ก็เป็นเศรษฐีร้อยล้านไปแล้ว!

Sanook! Sport ก็เลยสงสัยต่อว่า แล้วนักกีฬาโอลิมปิกชาติอื่นๆ ล่ะได้เงินโบนัสค่าเหรียญทอง จากโอลิมปิกกันคนละเท่าไหร่บ้าง??

นี่คือข้อมูลเพิ่มเติมที่เราเอามาฝากกัน

ชาติที่ต้องพูดถึงเป็นอันดับแรก เพราะให้เงินสูงสุดก็คือประเทศสิงคโปร์

โดยตัวเลขสำหรับการคว้าเหรียญทองอยู่ที่เกือบ 26 ล้านบาท!!  


แน่นอนว่านักกีฬาแดงลอดช่อง ที่รับทรัพย์ก้อนโตไปเต็มๆ จากโอลิมปิกคราวนี้ ก็คือ "โจเซฟ สคูลลิ่ง" นักว่ายน้ำดาวโรจน์ ที่เอาชนะ "ไมเคิล เฟลป์ส" ในการว่ายผีเสื้อ 100 เมตร นั่นเอง

อันดับรองลงมา คือกลุ่มประเทศที่อัดฉีดเงินให้นักกีฬาเหรียญทองเกิน 10 ล้านบาท

นำโดย อาเซอร์ไบจาน ประเทศที่อุดมไปด้วย "น้ำมัน" ซึ่งเป็นทรัพยากรหลักของประเทศ ค่ารางวัลเหรียญทอง จึงสมกับรายได้ของประเทศ โดยตกเหรียญละเกือบๆ 18 ล้านบาท 

ตามมาด้วยอินโดนีเซีย ที่ให้เหรียญละ 13.5 ล้านบาท มากกว่าของไทยที่กองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ มอบให้นักกีฬาเหรียญทองคนละ 10 ล้านบาท


ถัดมาคือกลุ่มประเทศที่ให้เงินค่าเหรียญทองเกิน 5 ล้าน แต่น้อยกว่า 10 ล้าน ได้แก่

คาซัคสถาน 8.75 ล้านบาท , คีร์กีซสถาน 7 ล้านบาท , ลัตเวีย 6.65 ล้านบาท และอิตาลี 6.61 ล้านบาท ขณะที่ อูซเบกิสถาน, เบลารุส และ ยูเครน ให้เท่าๆ กันคือ 5.25 ล้านบาท

ลดลงมาอีกนิดคือ ออสเตรเลีย และ ฮังการี ที่นักกีฬาเหรียญทองของพวกเขารับไปเหรียญละ 4 ล้านกว่าบาท ซึ่งยังถือว่ามากกว่าประเทศอย่าง ฝรั่งเศส และ รัสเซีย อยู่เกือบ 2 เท่า

เพราะทั้งสองประเทศมอบเงินอัดฉีดอยู่ที่ 2 ล้านกว่าบาท ส่วน แอฟริกาใต้ นั้นหย่อนๆ 2 ล้านบาทไปนิดหน่อยเท่านั้น

ขณะที่สองยักษ์ใหญ่ในวงการกีฬาอย่าง จีน และ สหรัฐอเมริกา ถือว่ามีเรทใกล้เคียงกัน เพราะของจีนตกอยู่ประมาณ 1 ล้านบาท

โดยสหรัฐอเมริกา ก็อย่างที่บอกไปว่าเหรียญทองละ 875,000 บาทเท่านั้นเอง ซึ่งก็ยังถือว่ามากกว่า เยอรมนี ที่ให้เหรียญละเกือบ 7 แสน  และ แคนาดาที่ให้ประมาณ 5 แสนบาท


ทั้งนี้ทั้งนั้น บอกเลยว่าไม่ใช่ทุกประเทศที่จะมีเงินอัดฉีดส่วนนี้จากภาครัฐนะ!!

เพราะบางประเทศ อย่าง สหราชอาณาจักร ,สวีเดน และ นอร์เวย์ คือ 3 ประเทศที่ไม่มีเงินโบนัสตรงส่วนนี้เลย
 
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ประเทศที่ไม่มีเงินอัดฉีดเหรียญทอง จะไม่ได้สนับสนุนนักกีฬาโอลิมปิก

เพราะอย่างอังกฤษเอง (สหราชอาณาจักร) ก็มีเงินสนับสนุนในรูปแบบเบี้ยเลี้ยงรายปีสำหรับนักกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก เฉลี่ยแล้วปีละ 1.26 ล้านบาทต่อคน

เพราะฉะนั้น เฉพาะตัวเลขอัดฉีดนักกีฬาเหรียญโอลิมปิก จึงไม่ได้เป็นดัชนีเพียงอย่างเดียวที่บ่งบอกถึงนโยบายในการสนับสนุนกีฬาของประเทศนั้นๆ



สุดท้ายคงพอจะมองออกว่า "เศรษฐีใหม่" จะเกิดขึ้นในประเทศใดบ้าง เพราะนี่คืิอการนับเฉพาะตัวเลขของภาครัฐเท่านั้น

ส่วนในภาคเอกชน ขอบอกว่ามีอีกเพียบ ไม่เชื่อก็ลองดูตัวเลขคร่าวๆของ  2 เจ้าของเหรียญทองจากไทยทั้ง โสภิตา ธนสาร และ สุกัญญา ศรีสุราช เพราะตอนนี้ก็น่าจะได้รับเงินอัดฉีดทะลุ 25 ล้านไปแล้ว

แต่เดี๋ยวก่อน....!! แฟนๆกีฬาอย่ามองว่าเงินมากโขขนาดนี้ พวกเขาได้มากเกินไปหรือเปล่า?

อย่าลืมนะว่าพวกเขาต้องเสียสละ  ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจตลอดหลายปี ที่สำคัญความยากลำบากในการซ้อม มันมีความหมายต่อนักกีฬาที่ก้าวไปสร้างความสำเร็จ และตามมาด้วยชื่อเสียงของประเทศ

เพราะความสำเร็จของนักกีฬา มันมาจากต้นทุนแห่งความมุ่งมั่น มันไม่ใช่ได้มาเพราะโชคช่วยแต่อย่างใด  

เรื่องโดย "หนูแพน อินไซต์"

 *อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์
- Voice of America
- Money Under 30

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook