"มองต่างมุม"

"มองต่างมุม"

"มองต่างมุม"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผมได้ฟังบทสัมภาษณ์หลังเกมทันทีในอุโมงค์สนาม วิคาเรจ โร้ด ของโจเซ่ มูรินโญ่ ที่เจ้าตัวได้ "สะท้อน" ปัจจัยความพ่ายแพ้ออกเป็น 3 ประเด็นด้วยกันครับ

1.ความผิดพลาดส่วนบุคคล และทีมที่ มูรินโญ่ กล่าวว่า ควบคุมได้ พัฒนาได้ และแน่นอนว่า นักเตะต้องใช้เวลาในสนามซ้อมทุกวันปรับปรุงให้ดีขึ้น

2.เรื่องกรรมการ ที่ควบคุมไม่ได้ เช่น นัดก่อนกับแมนฯซิตี้ ที่ควรได้ใบแดง และจุดโทษ กับเกมนี้กับวัตฟอร์ดที่ประตูแรกเป็นการฟาล์ว (เข้าใส่ อองโตนี มักซิญัล) แน่นอน

3.เรื่องโชค ซึ่งลูกทีมไม่มี และควบคุมไม่ได้ โดยกล่าวชมเชย โกเมซ นายทวารแตนอาละวาดที่เล่นดี ขณะที่การคอนโทรลสถานการณ์ในครึ่งหลังกลับต้องมาเสียท่าให้ประตูที่ 2 แบบไม่น่าเสียก่อนจะแพ้ไป

จริง ๆ ยังมีประเด็นอื่น ๆ อีก เช่น ลูกทีมไม่ได้เรียนรู้จากความผิดพลาด และไม่สามารถเล่นภายใต้ความกดดันได้ ฯลฯ

รวมความแล้ว แทบไม่มอง และคิดเหมือนแฟนบอล หรือบรรดาผู้สันทัดกรณีที่พูดชัดเจน และคล้ายกันในประมาณ 3 ประเด็นดังนี้

1.ระบบการเล่น จะเล่นฟอร์เมชั่นอะไร?

2.ใครจะเล่นอะไร? ตรงไหน? อย่างไร?

3.ใครจะเป็น 11 คนแรกในเกมหน้า?

ทั้งหมดนี้ยังดูงง ๆ เฉพาะอย่างยิ่งหลังแพ้มาติด ๆ กัน 3 นัดที่อะไรต่อมิอะไร "อีรุงตุงนัง" ไปหมดพร้อมกับปัญหาเรื่องการใช้ 2 ผู้เล่นหลัก: เวย์น รูนีย์ และพอล ป๊อกบา

โดยก่อนที่ผมจะไปแตก "รายละเอียด" คำถามผมคือ ลองพิจารณา "หัวข้อ" จากมูรินโญ่ข้างบนสุด และข้างบนจากกูรู เช่น พอล สโคลส์, สตีฟ แม็คมานามาน และแฟน ๆ บอล

แล้วลอง "เปรียบเทียบ" กันดูนะครับ

ทำไม ปัจจัยความพ่ายแพ้ และเล่นไม่ดีจากมุมมองของมูรินโญ่ถึง "แตกต่าง" อย่างมากจากผู้สันทัดกรณี และแฟนบอล?

จุดนี้นี่เองนำมาซึ่งการกล่าวถึง โจเซ่ มูรินโญ่ ในแง่ไม่ดีนัก เพราะเหมือนกุนซือโปรตุกีสจะ "โบ้ย" โน่นนี่นั่นไปทั่วตั้งแต่กรรมการ, โชคชะตาฟ้าดิน ยันนักเตะ กับทีมตัวเอง

โดยไม่ได้มองนักในส่วนรับผิดชอบของตัวเองที่โดนตั้งคำถาม

ทั้งนี้ในครึ่งแรกกับแมนฯซิตี้ ที่โดน "สอนบอล" มูรินโญ่ ใช้ระบบถนัด 4-2-3-1 เหมือนที่ใช้มาตั้งแต่พรีซีซั่นก่อนจะปรับเป็น 4-3-3 ในครึ่งหลัง และเล่นได้ดีขึ้น

ครั้นมาเกมกับเฟเยนูร์ด กุนซือวัย 53 ปีปรับกลับมาที่ 4-2-3-1 แต่เลือกใช้ดาวเตะค่าตัว 89 ล้านปอนด์ พอล ป๊อกบา ในตำแหน่ง "หน้าต่ำ" ไม่ใช่เป็น 1 ใน 2 ตรง "2" ของระบบ 4-2-3-1

ปัญหาก็คือ ป๊อกบา ยังคงไม่ดีเหมือนเดิม แม้จะถูกดันสูงขึ้นมาตามที่มีเสียงแนะนำ และแมนฯยูฯก็แพ้ให้กับลูกทีมของ โจวานนี่ ฟาน บรองฮอสต์ ซึ่งเป็น "จ่าฝูง" ของลีกดัตช์

จะว่าไปแล้ว การไปเจอเฟเยนูร์ดที่ชนะมา 5 นัดรวดก็เหมือนจังหวะไม่ดีเหมือนกันกับถ้วยที่ "น้ามู" ไม่ได้เน้นนัก

แต่ก็ต้องยอมรับว่า มีผลต่อสภาพจิตใจ และความรู้สึก เพราะทำให้กดดันจากสถิติที่แพ้ติดกัน 2 เกมก่อนจะเยือนวัตฟอร์ด

เกมกับแตนอาละวาดก็มีความน่าสนใจตรงที่ มูรินโญ่ หันไปใช้ระบบ 4-3-3 อีกครั้งเพื่อรับมือกับเกมรับเซนเตอร์ฮาล์ฟ 3 คนของ วอลเตอร์ มาซซารี่

โจเซ่ ต้องการให้ มักซิญัล, ซลาตัน อิบราฮิโมวิช และมาร์คัส แรชฟอร์ด ยืนสูงยัน "วิงก์แบ็ก" วัตฟอร์ด

แต่เอาเข้าจริงกลายเป็นว่า ทั้ง โจเซ่ โฮเลบาส และดารัล ยานมาต กลับเป็นฝ่ายยันซะจนเกมริมเส้นแมนฯยูฯไปไม่เป็น

ครึ่งหลัง มูรินโญ่ จึงต้องปรับกลับมาเล่น 4-2-3-1 อีกครั้ง และเล่นได้ดีขึ้นก่อนจะตีเสมอได้ ทว่าต้องมาเสียประตูท้ายเกม 2 เม็ดจากความผิดพลาดที่ให้ระบุคือ ลุค ชอว์ กับมารูยาน เฟลไลนี่

ในเกมนี้ นักเตะปิศาจแดง ถูกจัดหน้าที่กลับไปมา เช่น ป๊อกบา ที่ยืนสูงหน่อยในครึ่งแรกของกองกลาง 3 คนต้องไปยืนคู่ เฟลไลนี่

รูนีย์ ที่ยืนเหมือนป๊อกบาตอนครึ่งแรกก็ต้องไปยืนริมเส้นในครึ่งหลัง แต่ก็ทำได้ไม่ดี

นี่ยังไม่รับ เกมรับที่ เอริค บาญี่ เล่นไม่เหมือน 3 นัดแรก และคริส สมอลลิ่ง มีปัญหาการสื่อสารกับดาวิด เด เกอา จนเกือบเสียประตู

เกมรับที่เคยเป็นเครื่องหมายการค้าของมูรินโญ่ ชนิดที่เรียกได้ว่า "เสียยาก" เสียเย็นก็ดูไม่มั่นคง

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ผมว่า "ไม่เกี่ยว" กับกรรมการ และโชคชะตา หรือแค่ความผิดพลาดส่วนบุคคล/ทีม

เพราะ 3 ปัจจัยข้างต้น "ทุกทีม" ต้องเจอครับไม่เร็วก็ช้า และไม่มีใครอยู่ "ยืนยง" ชนะได้ทุกครั้งโดยไม่เสียผลประโยชน์เลยตลอด 90 นาทีใน 1 แมตช์ หรือ 38 นัดใน 1 ฤดูกาล

ดังนั้นทางที่ดี โจเซ่ มูรินโญ่ ต้อง "ใส่ใจ" ในปัญหาที่แท้จริงของทีมให้ได้เสียก่อน และยอมรับความจริง

หาใช่มองไปที่ "ปัจจัย" อย่างน้อย ๆ 2 ประการที่เจ้าตัวเองก็ยอมรับว่า ควบคุมไม่ได้

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook