ทีมชาติไทยต้องอยู่กับ "ความจริง"

ทีมชาติไทยต้องอยู่กับ "ความจริง"

ทีมชาติไทยต้องอยู่กับ "ความจริง"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาเชื่อว่าแฟนฟุตบอลไทยหลายคนคงผิดหวังกับเกมที่เจอกับ “ทีมชาติซาอุดิอาระเบีย” คาบ้าน 0-3 ไม่น้อย เพราะโอกาสในการลุ้นพื้นที่เพลย์ออฟในฐานะทีมอันดับ 3 ของกลุ่มริบหรี่เหลือเกินกับ 1 แต้มจาก 6 นัดแม้ว่าจะเหลือเกมในมืออีก 4 นัดก็ตาม เพราะตามหลักทฤษฎีเราต้องชนะรวดในเกมที่เหลือละลุ้นอย่าให้ “ทีมชาติออสเตรเลีย” ชนะได้เป็นอันขาด

แน่นอนว่า เกมนี้ขุนพลช้างศึกทำเต็มที่แล้วแต่ผู้มาเยือนทำได้ดีกว่า ยิ่งความได้เปรียบก่อนลงสนามเรื่องของรูปร่างและทักษะที่เหนือกว่าซึ่งส่งเกตได้ในเกมว่ามีหลายครั้งที่นักเตะคู่แข่งพยายามใช้เกมโยนยาวบอมบ์เข้าใส่กรอบเขตโทษของไทย อย่างลูกแรกที่เสียก็มาจากลูกโยนเข้ามา ลูกที่สองก็เป็นการผ่านบอลเข้ามาจากริมเส้น และลูกทีมสามมาจากจังหวะสวนกลับเร็ว

มาถึงตรงนี้คงต้องยอมรับ “ความจริง” ว่าขุนพลช้างศึกของเราในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมามีการพัฒนาขึ้นมาจนเหนือกว่าระดับภูมิภาค “อาเซียน” พอสมควร แต่ถ้าในระดับทวีป ถือว่ายังเป็นรองหลายๆทีมไม่ว่าจากเอเชียตะวันออกอย่าง “ญี่ปุ่น” หรือ “เกาหลีใต้” รวมถึงบรรดาทีมจากตะวันออกกลางทั้งหลาย

ดังนั้นไม่แปลกใจเลยว่าทำไมนโยบายของนายกสมาคม “พล.ต.อ สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆมากมากนับตั้งแต่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการพัฒนาบรรดานักเตะเยาวชนหรือดาวรุ่งที่จะขึ้นมาเป็นกำลังหลักของทีมชาติในยุคต่อไป  

เพราะฟุตบอลถึงโค้ชจะเก่งแค่ไหนก็ไม่สามารถบันดาลชัยชนะให้ได้ตลอดด้วยเหตุผลที่ว่า “เกมลูกหนัง” ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องโค้ชเพียงอย่างเดียว แต่ต้องหมายถึง “ทักษะ” “ความสามารถ” “ฝีเท้า” ที่ขึ้นอยู่กับนักเตะภายในทีม รวมทั้ง “การเล่นเป็นทีม” “ความเข้าใจกันของนักเตะ” ซึ่งมีความแตกต่างกัน นักเตะแต่ละคนมาจากต่างสโมสรต่างที่ ไม่ได้เล่นฟุตบอลทีมเดียวกันทุกวัน

ไม่นับปัจจัยอื่นที่ใกล้เข้ามาหน่อย อย่าง “สภาพความฟิต” ก่อนเกม หรือนักเตะบางคนเพิ่งหายจากอาการบาดเจ็บ ขณะที่นักเตะคู่แข่งกำลังอยู่ในช่วงฟิตสุดๆ ดังนั้นศักยภาพของนักเตะที่ออกมาในสนามก็ไม่เหมือนกันซึ่งบางทีปัจจัยบางอย่างก็อาจจะทำให้ทีมที่เป็นรองกว่าพลิกล็อกล้มยักษ์ได้เหมือนกัน ถือว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยแต่ก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนปัจจัยภายนอก เรื่องของ “ดิน ฟ้า อากาศ” หรือ “ผู้ตัดสิน” ก็มีส่วนได้ในบางครั้ง ทำให้ต่อจากนี้คงต้องมองถึงการพัฒนานักเตะที่กำลังจะขึ้นมาเพื่อความยั่งยืน คงมาหวังรอประเภท “นักเตะฟ้าประทาน” หรือพวก “อัจริยะลูกหนัง” ที่จะขึ้นมานานทีปีหนเหมือนสมัยก่อนก็คงไม่ได้

 สิ่งที่ดีที่สุดก็คือการสร้าง “นักเตะรุ่นใหม่ๆที่จะขึ้นมา” ให้พร้อมที่สุด ดีที่สุดเพื่อจะก้าวขึ้นไปต่อกรกับคู่แข่งในระดับที่สูงกว่าอย่างทวีปหรือความฝันที่จะขึ้นไปในระดับโลก ไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายให้ได้

ถ้าจำกันได้ เกมแรกที่เราไปเยือน “ซาอุดิอาระเบีย” เกมนั้นขุนพลทีมชาติไทยทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมจนเกือบได้ผลเสมอกลับไป ถ้าไม่เจอพิษของผู้ตัดสินชาวจีน “หม่า หมิง” ซะก่อน หรือในรอบก่อนหน้านี้เราเคยตีเสมอซาอุหลังจากถูกนำไปก่อนสองลูกจนผลการแข่งขันออกมา 2-2 มาแล้ว นั้นคงเป็นอีกเหตุผลที่นักเตะเศรษฐีน้ำมันเล่นกับเราแบบไม่มีประมาทและเชื่อว่าเตรียมตัวมาดีก่อนเกมแน่

สุดท้ายเกมของทีมชาติไทยล่าสุดที่แพ้ ก็คงโทษใครไม่ได้เพราะภาพที่เห็นคือ “ความจริง” สิ่งที่ทำได้ต่อจากนี้คือ “ยอมรับ” และ เตรียมตัวสำหรับนัดต่อไปกับ “ทีมชาติญี่ปุ่น” ในสัปดาห์หน้าให้ดีที่สุดก็เท่านั้นเอง

แบงค์ พิพัช

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook