ซื้อแข้งนั้นสำคัญไฉน?

ซื้อแข้งนั้นสำคัญไฉน?

ซื้อแข้งนั้นสำคัญไฉน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

31 สิงหาคมหรือวันศุกร์ที่จะถึงนี้ คือเดธไลน์ของตลาดซื้อ-ขายนักเตะในเวทีค้าแข้งยุโรป และ หากคอลูกหนังท่านใดติดตามความเคลื่อนไหว ของตลาดมาตั้งแต่วันเปิดตลาด (1 ส.ค.)

จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าตลาดซื้อ-ขายซัมเมอร์นี้คึกคักพอสมควรทีเดียว เพราะมีแข้งน่าสนใจที่ตัดสินใจหอบเสื่อผืนหมอนใบไปหาความท้าทายใหม่หรือความสำเร็จที่รออยู่ในอนาคตข้างหน้า หรือ

ในขณะเดียวกันก็มีนักเตะบางรายที่ถูกขายออกมาเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของสโมสร เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจของยุโรปในเวลานี้นับว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างตึงเครียด และส่งผลกระทบต่อประเทศน้อยใหญ่ไม่เบา

ทำให้เราเห็นว่าได้บางลีกก็ทุ่มซื้อตัวผู้เล่นหน้าใหม่มาเสริมทีมกันโครมๆ ขณะที่บางลีกก็กระเบียดกระเสียนกว่าจะงัดเงินออกมาได้แต่ละบาทก็คิดทบทวนประมาณหมื่นกว่ารอบนั่นเอง

ใจแรกก่อนเขียน "อารมณ์คมคาย" ตอนนี้ขึ้นมา ผมอยากวิเคราะห์การซื้อขายนักเตะในช่วงซัมเมอร์นี้มากกว่า อารมณ์ประมาณว่า "เซอร์ไพรส์ที่สุด", "แพงที่สุด", "ซื้อแล้วคุ้มค่าที่สุด" หรืออะไรประมาณนี้

แต่นึกขึ้นได้ว่ายามที่ตอนนี้ถูกเผยแพร่ไปตลาดนั้นยังไม่ปิดตัวและอาจมีเหตุการณ์ใดๆ อื่นๆ ที่ทำให้มันมีคำว่า "ที่สุด" มากกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ก็ได้ แต่ถ้าจะลองหยิบมาคุยเล่นขำๆ แบบพอหอมปากหอมคอ

คงไม่มีใครเถียงว่าการย้ายตัวของ โรบิน ฟาน เพอร์ซี่ย์ กองหน้าดัตช์ของ อาร์เซน่อล ไปอยู่กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด บิ๊กทีมร่วมลีกที่แม้จะไม่ใช่เซอร์ไพรส์ เพราะ "อาร์วีพี" แย้มเป็นนัยไว้ก่อนแล้วว่าอยากย้ายออกจากถิ่นเอมิเตรส์ สเตเดี้ยม ตั้งแต่เนิ่นๆ

แต่ก็เป็นการข้ามค่ายที่เปรียบได้ดังเมื่อครั้ง โซล แคมป์เบล กองหลังท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ย้ายมาอยู่กับ อาร์เซน่อล จนถูกสาปส่งว่าเป็น "คนทรยศ" หรือที่ใครขนานนามกันว่า "Judas" นั่นเอง เพราะจากนักเตะสุดที่รักของทีมกลับกลายเป็นอาวุธชิ้นใหม่ให้บรรดาอริเอามาห้ำหั่นกันเองในวันหน้า

ส่วนอีกกรณีที่ดูยืดเยื้อที่สุดคือกรณีของ ลูก้า โมดริช ที่กว่าจะย้ายไปสวมหมายเลข 19 ของ เรอัล มาดริด ทีมยักษ์ใหญ่ในลีกลา ลีกา สเปน ได้ก็เล่นเอาเจ้าตัวลุ้นแล้วลุ้นอีก แต่สุดท้ายก็ลุล่วงไปได้ด้วยดีจนได้

อาร์แซน เวนเกอร์ กุนซือเฟร้นช์แมนของทัพ "ปืนใหญ่" เคยออกมาแสดงอาการไม่พอใจที่หลายคนออกมายืนยันว่าการปล่อยตัวแข้งหลักของทีมออกในทุกๆ ซัมเมอร์ คือสาเหตุที่ทำให้ อาร์เซน่อล ไม่ประสบความสำเร็จในตลอด 6 ปีที่ผ่านมา

โดยนายใหญ่ของ "เดอะ กันเนอร์ส" บอกว่า เขารู้ดีว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ และเมื่อนักเตะไม่มีใจที่จะเล่นให้ สโมสรก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะรั้งตัวไว้อีก นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นและยอมรับได้ของบอร์ดบริหารและคนวงในของทีม

แต่นั่นอาจไม่ใช่เหตุผลที่แฟนๆ จะรับได้ จึงเป็นที่มาของการต่อว่า หรือการเผาเสื้อสาปแช่งที่เราได้เห็นกันออกสื่อมากมายนั่นเอง

สิ่งที่น่าสนใจก็คือคุณผู้อ่านทั้งหลายเคยสังเหตุหรือไม่ว่า การซื้อ-ขายนักเตะในยามเปิดตลาดหลายที่ผ่านมากลายเป็นวัฒนธรรมประจำทีมที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ จนผมแยกแยะพฤติกรรมการเสริมทีมของบรรดาทีมต่างๆ ออกมาได้หลายประเภท

และนี่คือที่มาของ "อารมณ์คมคาย" ในตอนนี้ เราจะมาวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อของบรรดาทีมต่างๆในเวทีค้าแข้งยุโรปกัน ซึ่งต้องบอกว่ามันสนใจไม่น้อยทีเดียว เพราะอย่างน้อยมันก็ทำให้เราพอคาดเดาได้ว่าทีมที่คุณรักคุณเชียร์เสริมนักเตะแต่ละรายมาร่วมทีมด้วยเหตุผลใด โดยเหตุผลคร่าวที่พอสรุปได้ก็มีดังนี้

"ซื้อตามความต้องการ"

แน่นอนว่าในแต่ละฤดูกาลผ่านไป ผู้จัดการทีมและบอร์ดบริหารอย่างผู้อำนวยการกีฬาของทีมต่างๆ จะเห็นจุดบกพร่อมและข้อเสียของทีมตัวเองที่เกิดขึ้น บางทีมยิงประตูได้น้อย เสียประตูมากเกินความจำเป็น หรือผิดพลาดในเรื่องของการเล่นบอลกลางอากาศก็หานักเตะรายใหม่มาเสริมกัน

ซึ่งนี่เป็นเหตุผลง่ายๆ ที่สุดก็คือ "ผิดพลาดตรงไหนก็เสริมกันไปตรงนั้น" เช่นเดียวกับกรณีการซื้อ ชินจิ คากาวะ ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หรือการซื้อ เอแด็ง อาซาร์ ของ เชลซี คือมีปัญหาเกมรุกก็ซื้อผู้เล่นมาเสริมในจุดนั้นนี่เป็นเรื่องที่เห็นได้ทั่วไปในการซื้อขายนักเตะ

"ซื้อตามมารยาท"

อันนี้คิดเองแล้วก็ขำเอง เพราะเห็นหลายครั้งที่กุนซือบางรายที่เพิ่งย้ายมาคุมทีมนั้นทีมนี้ได้ไม่นานพยายามลากลูกน้องเก่ามาร่วมงานได้ พอเข้าใจว่าปลาบปลื้มฝีเท้านักเตะที่ตัวเองปลุกปั้นมากับมือ แต่บางทีควรดูความเหมาะสมว่าพร้อมพอหรือสามารถเข้ากับทีมใหม่ที่ย้ายมาคุมได้หรือไม่

ชัดเจนที่สุดกับกรณีของ เบรนแดน ร็อดเจอร์ส ที่ยอมกลืนน้ำลายกระชากตัว โจ อัลเล็น จาก สวอนซี มาร่วมงานด้วยกันอีกครั้ง คำถามคือ เอามาเพื่อ? ทำไมไม่หาซื้อกองหลังแน่นๆ มาเสริมหรืออุดรูรั่วที่ทีมมีอยู่

หรืออย่างในกรณีของ คาร์โล อันเชล็อตติ ที่พยายามดึงลูกน้องเก่าจาก เอซี มิลาน มาร่วมทัพปารีส แซงต์ แชร์กแมง หลายต่อหลายคน แต่ 3 เกมแรกก็ในลีกเอิงฤดูกาลนี้ก็สอนให้ "คาร์เล็ตโต้" เข้าใจได้ว่าการสร้างทีมระดับ "ต่างดาว" มันไม่ง่าย แต่ถ้าแค่ "ต่างด้าว" ก็ไม่ยาก

"ซื้อไปงั้นๆ ให้เห็นว่าซื้อ"

อันนี้คือพฤติกรรมการซื้อที่ตลกที่สุด และเมื่อเห็นนักเตะที่ซื้อมาก็มีคำถามว่า "ซื้อมาเพื่อ?" ยกตัวอย่าง ปาร์ค ชู-ยัง หอกเกาหลีใต้ของ อาร์เซน่อล ที่คว้าตัวมาเมื่อซัมเมอร์ที่ผ่านมา ผ่านไป 1 ปีเพิ่งจะได้ลงเล่นกับต้นสังกัดในเกมอย่างเป็นทางการเพียง 6 เกมเท่านั้น

ส่วนใหญ่พวกที่ถูกซื้อมาในลักษณะนี้อาจเกี่ยวข้องกับการขยายตลาดของสโมสร โดยเฉพาะนักเตะเอเชีย ถ้าไม่เก่ง ไม่เจ๋ง ไม่เข้าขั้น "เทพ" จริงๆ โอกาสซื้อมานั่งก้นด้านสูงมาก

แต่พฤติกรรมการซื้อเช่นนี้ก็ยังมยังให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ไอ้คนดูบอลอย่างเราคงไม่เท่าไหร่หรอกครับ แต่ไอ้นักฟุตบอลที่ไปทนกินน้ำตาใต้ศอกชาวบ้านเขานี่สิ สงสารแทนมันจริงๆ

"ซื้อเพราะคนอื่นให้ซื้อ"

พฤติกรรมการซื้อเช่นนี้ส่วนใหญ่มักเกิดกับสโมสรที่มีฐานเศรษฐกิจที่ดี และมีเจ้าของสโมสรเป็นระดับเศรษฐี จึงมักมี "ใบสั่ง" เพราะเจ้าของสโมสรอาจเป็นพวกบ้าเกม "Football Manager" เลยเอามาอิงกับชีวิตจริง

เพราะเห็นว่าตัวเองมีเงิน เลยเจียดเม็ดเงิน ต้องใช้คำว่า "เจียด" นะครับ เนื่องจากเงินมันเยอะเกิน มาซื้อนักเตะที่ตัวเองชื่นชอบมาไว้ในสโมสรตัวเอง ใกล้เคียงที่สุดคงเป็น เชลซี ที่หลายต่อหลายครั้งนักเตะหน้าใหม่ที่เข้ามามีเงาของ "เสี่ยหมี" โรมัน อบราโมวิช เจ้าของทีมอยู่ข้างหลัง

และพร้อมจะทุ่มทุกอย่างที่มีเพื่อคว้านักเตะที่ใฝ่ฝันมาอยู่ทีมของตัวเองให้ได้ ง่ายๆ ที่สุด "เอล นินโญ่" เฟร์นานโด ตอร์เรส ใครจะก่นด่าว่า "ฉลาดน้อย" หรืออะไรยังไงก็ไม่สน เข้าตำรา "คนมีตังค์ทำอะไรก็ไม่ผิด" อยากได้นี่ ใครจะทำไม

หรือจะให้ย้อนยุคไปหน่อยก็ต้องเป็น เรอัล มาดริด ในยุคที่มี ฟลอเรนติโน่ เปเรซ เป็นประธานสโมสรในครั้งก่อน (2000 - 2006 ) (ปัจจุบัน เปเรซ ก็ยังเป็น แต่เป็นการกลับมาเป็นใหม่อีกครั้งในปี 2009)

ครั้งนั้นบิ๊กบอสทัพ "ชุดขาว" ประกาศเลยว่าต้องมีแข้งระดับสตาร์ย้ายมาร่วมสังเวียน ซานติอาโก้ เบร์นาเบว อย่างน้อยซัมเมอร์ละ 1 คน อันเป็นที่มาของการดึงนักเตะอย่าง ไมเคิ่ล โอเว่น, โจนาธาน วู้ดเกต, โรบินโญ่ หรือ หลุยส์ ฟิโก้ จนเป็นกรณีพิพาทกับ บาร์เซโลน่า ใหญ่โตกันไปในคราวนั้น

อย่างไรก็ตาม นี่้เป็นพฤติกรรมการซื้อที่เกิดจากการวิเคราะห์ของตัวผมเองนะครับ ไม่ได้อ้างอิงจากสำนักไหนทั้งนั้น จริงแล้วยังมีอีกหลายพฤติกรรมที่ผมเก็บมานั่งคิดนั่งขำคนเดียว

แต่ถ้าจะร่ายออกไปก็ดูจะเยิ่นเย้อและยืดเยื้อเกินไปซะหน่อย เอาเป็นว่าผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่าไม่ว่าใครจะย้ายมาหรือย้ายไป ทุกทีมต่างล้วนมีเป้าหมายพาทีมไปสู่ความสำเร็จเท่านั้น

เท่าที่ผมเห็นมาดูจะมีแต่ สตีฟ คีน ของ แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส คนเดียวที่ชอบการก่นด่าและการสาปแช่งจากการหน้าด้านหน้าทนเพราะทีมไม่ประสบความสำเร็จ ฮ่าๆ

ส่วนเซอร์ไพรซ์ช่วงท้ายของตลาดซื้อ-ขายจะเป็นใครและจะมีหรือไม่ยังต้องติดตามครับ

เรื่องโดย "อธิคม ภูเก้าล้วน"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook