10 ปี ตลาดมกราคม พรีเมียร์ลีก

10 ปี ตลาดมกราคม พรีเมียร์ลีก

10 ปี ตลาดมกราคม พรีเมียร์ลีก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฟุตบอล : ยามที่สกู๊ปชิ้นนี้ออกสู่สายตาแฟนๆ สปอร์ตกูรู คงเป็นเวลาที่ตลาดซื้อขายเดือนมกราคม หรือที่เรียกว่าตลาดรอบฉุกเฉินปิดตัวลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ดังนั้นการที่ผมจะสวมบทหมอดูทำนาย หรือสาธยายว่าต้นปี 2013 นี้ใครย้ายไปไหนบ้าง คงออกยากอยู่ เพราะตอนที่ผมร่ายสกู๊ปบนคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ "ตลาดมันยังไม่ปิด"

สมัยก่อนการซื้อ-ขายนักเตะเขาไม่มีกำหนดเวลากันหรอกครับ ใครใคร่จะซื้อเมื่อไหร่ก็ซื้อ ใคร่จะขายเมื่อไหร่ก็ขาย แต่นับวันการย้ายทีมของพ่อค้าแข้งยิ่งปั่นป่วน อลม่าน และไร้ความเป็นธรรม

ดังนั้น องค์กรบิ๊กสุดของวงการลูกหนังโลกอย่าง ฟีฟ่า จึงบรรจงคลอดกฎเหล็กมาจำกัดช่วงเวลาตลาดซื้อขายของบรรดาลีกต่างๆ บนโลกให้มีซะสองช่วงคือช่วงปิด และครึ่งฤดูกาล ซึ่งในอังกฤษเป็นช่วงเดือนสิงหาคมคือรอบแรก และ รอบสองเดือนมกราคมนี่เอง

ด้วยเหตุนี้เองตลาดฉุกเฉินหลังวันสิ้นปีของลีกผู้ดีก็ถือกำเนิดขึ้นในซีซั่น 2002-03 หรือจะว่ากันจริงๆ ก็เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2003 หรือเมื่อ 10 ปีมาแล้วนั่นแหละ

ดังนั้นผมอยากจะถือโอกาสครบรอบ 10 ตั้งแต่ลีกผู้ดี หรือ พรีเมียร์ลีก ของเราๆ ท่านๆ นั่นล่ะ ได้รู้จักตลาดซื้อ-ขายตอนปีใหม่ พาคุณผู้อ่านนั่ง "ไทม์แมชชีน" ไปดูว่าแต่ละปีมีอะไรเด็ดๆ เกิดขึ้นในอดีตบ้าง

เริ่มที่ปี 2003 ปีนี้คือปีแรก ดังนั้นหลายๆ ทีมอาจยังงงๆ ทำให้ตลาดอาจไม่สะพัดนัก มูลค่ารวมของการทำธุรกิจของบรรดาทีมใน พรีเมียร์ลีก ในช่วงนี้มีมูลค่าเพียง 35 ล้านปอนด์เท่านั้น นักเตะที่แพงที่สุดตอนนั้นคือ โจนาธาน วู๊ดเกต ที่ย้ายจาก ลีดส์ มาอยู่กับ นิวคาสเซิ่ล มาด้วยค่าตัว 9 ล้านปอนด์ ที่มาในวันสุดท้าย

ขณะที่ทีมที่มือเติบที่สุดคือ แมนฯ ซิตี้ ที่ซื้อ ร็อบบี้ ฟาวเลอร์ มาจาก "ยูงทอง" และ ดาวิด ซอมเมย จาก บอร์กโดซ์ ที่ราคารวมกัน 9.5 ล้านปอนด์ แพงกว่า "สาลิกา" ครึ่งล้าน (มูลค่ารวม 35 ล้านปอนด์)

ปี 2004 อาร์เซน่อล เป็นหนึ่งในทีมที่ไม่ยอมขยับตัวในปีแรก แต่กลับทุ่มแพงที่สุดด้วยการกระชาก โฆเซ่ อันโตนิโอ เรเยส มาจาก เซบิย่า ที่สนนราคาถึง 19.5 ล้านปอนด์ แต่ต้องบอกว่าคุ้มมากเนื่องจากเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่ช่วยให้ "ปืนโต" เถลิงบัลลังก์แชมป์ ลีก

แม้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับ เชลซี จะเทหมดหน้าตักด้วยการเสริม หลุย์ ซาฮา (แมนฯ ยูฯ 12.5 ล้านปอนด์จาก ฟูแล่ม) และ สกอตต์ พาร์เกอร์ (เชลซี 10 ล้านปอนด์จาก ชาร์ลตัน) มาร่วมทีมก็ตาม ขณะที่ เจอร์เมน เดโฟ ก็ย้ายจาก เวสต์แฮม มาอยู่กับ สเปอร์ส ด้วยสนนราคา 7 ล้านปอนด์ในช่วงนี้เช่นกัน (มูลค่ารวม 50 ล้านปอนด์)

ปี 2005 นักเตะที่มูลค่าสูงสุดในปีนี้คือ ฌ็อง-อแล็ง บูมซง ที่ย้ายจาก เรนเจอร์ส มาอยู่ นิวคาสเซิ่ล ที่มีค่าหัวแค่ 8 ล้านปอนด์เท่านั้น

ขณะที่ มิกาเอล อาร์เตต้า ก็ย้ายจาก เรอัล โซเซียดาด มาสร้างตำนานในแดนผู้ดีกับ เอฟเวอร์ตัน ด้วยสัญญายืมตัวในซีซั่นนี้เช่นกัน ก่อนจะถูกใจย้ายมาอยู่แบบถาวรในปีต่อมา ส่วน สเปอร์ ก็เป็นอีกทีมที่ได้นักเตะมาร่วมทีมมากมายทั้ง อัลเม็ด ฮอสซัม มิโด้, แอนดี้ รีด และ ไมเคิ่ล ดอว์สัน ด้วย (มูลค่ารวม 50 ล้านปอนด์)

ปี 2006 ปีนี้ถือเป็นไฮไลท์ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่จัดการเสริมแนวรับด้วย เนมานย่า วิดิช และ ปาทริช เอวร่า ด้วยค่าตัวรวมกัน 12 ล้านปอนด์

ส่วนนักเตะที่ค่าตัวแพงที่สุดในรอบนี้ค่าตัวแค่ 7 ล้านปอนด์ มี ดีน แอชตัน (นอริช ไป เวสต์แฮม) เอ็มมานูเอล อเดบายอร์ (โมนาโก ไป อาร์เซน่อล) รวมทั้ง วิดิช ด้วย และปีนี้เอง อาร์เซน่อล กลายเป็นทีมที่มือเติบที่สุดที่จ่ายไปถึง 15 ล้านปอนด์ ที่ซื้อ อเดบายอร์, ธีโอ วัลค็อตต์ และ อาบู ดิยาบี้ (มูลค่ารวม 70 ล้านปอนด์)

ปี 2007 มีนักเตะค่าตัวแพงที่สุดเป็น แอชลีย์ ยัง ที่ย้ายจาก วัตฟอร์ด มา วิลล่า ด้วยราคา 8 ล้านปอนด์ ขณะที่ ลิเวอร์พูล ได้นักเตะมาเสริมถึง 7 ราย แต่มีเพียง อัลวาโร่ อาร์เบลัว รายเดียวที่ซื้อมา (4.5 ล้านปอนด์) ขณะที่รายอื่นเป็น ฮาเวียร์ มาสเคราโน่ รวมทั้ง เอมิเลียโน่ อินซัว ที่เป็นตัวเด่น (มูลค่ารวม 62 ล้านปอนด์)

ในปี 2008 เป็นปีที่ตลาดค่อนข้างสะพัดอยู่เหมือนกัน โดยมีเม็ดเงินหมุนเวียแตะหลัก 100 ล้านปอนด์เป็นครั้งแรก และเป็นอีกครั้งที่นักเตะค่าตัวแพงที่สุดมีค่าตัวมากกว่า 10 ล้านปอนด์ และนั่นคือการที่ นิโกล่าส์ อเนลก้า จาก โบลตัน มา เชลซี ด้วยค่าตัว 15 ล้านปอนด์

นอกจากนี้ "สิงห์บลูส์" ยังมือเติบสุดๆ ด้วยการดึง บานิสลาฟ อิวาโนวิช (9 ล้านปอนด์) รวมทั้ง ฟรังโก ดิ ซานโต (3 ล้านปอนด์) ด้วย อีกรายที่ช่วยให้ตลาดสะพัดคือ อฟอนโซ่ อัลเวส ที่ย้ายจาก ฮีเรนวีน มาอยู่ มิดเดิ้ลสโบรซ์ ด้วยค่าตัว 13.5 ล้านปอนด์ (มูลค่ารวม 160 ล้านปอนด์)

มาถึงปี 2009 ก็เป็นอีกปีที่มูลค่ารวมในตลาดมีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านปอนด์ นำโดย ไนเจล เดอ ยองก์ ที่ย้ายมาจาก ฮัมบูร์ก มาอยู่กับทัพ "เรือใบสีฟ้า" ที่สนนราคา 16 ล้านปอนด์

ขณะที่ เจอร์เมน เดโฟ ก็หวนกลับมาอยู่กับ สเปอร์ส อีกครั้งหลังจากย้ายไป ปอร์ทสมัธ ด้านแชมป์ทีมมือเติบมี 2 ทีม คือ สองทีมที่กล่าวมานี่แหละ ฝั่ง "เรือใบสีฟ้า" ได้ เครก เบลลามี, เวย์น บริดจ์ และ เชย์ กิฟเว่น มาร่วมทีม ส่วน "คลับไก่" นอกจาก เดโฟ ก็มี ปาสกาล ชิมบงด้า, วิลสัน ปาลาซิออส และซื้อ ร็อบบี้ คีน คืนมาจาก ลิเวอร์พูล (มูลค่ารวม 180 ล้านปอนด์)

ปี 2010 ถือเป็นปีที่เงียบเหงาที่สุด เนื่องจากมีเงินหมุนเวียนแค่ 30 ล้านปอนด์เท่านั้น ตอนนั้น โยเนส กาบูล ที่ย้ายจาก ปอร์ทสมัธ มาอยู่กับ สเปอร์ส มีค่าตัวสูงสุดที่ 11 ล้านปอนด์ ส่วน อาสเมียร์ เบโกวิช ก็ย้ายมาเป็นมือหนึ่งของ สโต๊ค ในช่วงนี้ด้วย รวมทั้ง วีแกน ก็ได้ตัว วิคเตอร์ โมเซส มาร่วมทีมเช่นกัน

2011 เป็นไฮไลท์ในรอบ 10 ปีนี้ก็ว่าได้ โดยสปอร์ตไลท์จับจ้องไปที่การย้ายทีมของ เฟร์นานโด ตอร์เรส จาก ลิเวอร์พูล ไป เชลซี ด้วยค่าตัวสูงเป็นประวัติการณ์ในตลาดเดือนมกราที่มูลค่า 50 ล้านปอนด์ แถมยังไปเอา ดาวิด ลุยส์ มาจาก เบนฟิกา ด้วยค่าตัวถึง 25 ล้านปอนด์ ทำสถิติเป็นทีมที่ทุ่มหนักที่สุดในการเปิดตลาดรอบสองนี้ไปเลยทีเดียว

ขณะที่ "หงส์แดง" ก็ไม่น้อยหน้าด้วยการดึง หลุยส์ ซัวเรส และ แอนดี้ คาร์โรลล์ ด้วยค่าตัวรวมกันเกือบ 60 ล้านปอนด์ (มูลค่ารวม 225 ล้านปอนด์)

ปี 2012 ที่ผ่านมา ก็มีการเคลื่อนไหวพอสมควร นิวคาสเซิ่ล ดึงนักเตะค่าตัวแพงที่สุดของตลาดรอบนี้มาอีกแล้ว และเป็น ปาปิส ซิสเซ่ ที่กลายเป็นกำลังหลักของทีมแล้วด้วยค่าตัว 10 ล้านปอนด์

แต่ เชลซี เป็นทีมที่ทุ่มทุนมากที่สุดด้วยการซื้อ เควิน เดอ บรุย, แกรี่ เคฮิลล์ และ ลูคัส เปียซอน โดย ควีนส์ปาร์ค เรนเจอร์ส ดึง บ็อบบี้ ซาโมร่า และ ฌิบริล ซิสเซ่ มาร่วมทีมในช่วงนี้ด้วยเช่นกัน

แหม รอบนี้มากันสาระเต็มๆ เลย สรุปแล้ว เชลซี ก็ครองแชมป์ใช้จ่ายเยอะสุดในรอบ 10 ปีประจำตลาดรอบเดือนมกราคมนี้ไป ด้วยวงเงิน 123 ล้านปอนด์ ตามมาด้วยเศรษฐีอีกรายอย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ 109 ล้านปอนด์ สเปอร์ 91 ล้านปอนด์ ลิเวอร์พูล 81 ล้านปอนด์

ขณะที่ แมนฯ ยูฯ และ อาร์เซน่อล อยู่อันดับ 8 ร่วม โดยจ่ายไปทีมละ 36 ล้านปอนด์ แต่ยังไงเสียตลาดรอบนี้ก็เรียกว่าตลาดฉุกเฉิน เพราะแต่ละคนที่ทุกทีมดึงมา มีเป้าหมายเพื่ออุดรอยรั่วของทีมก่อนหน้านี้

ดังนั้น หากทีมขวัญใจคุณไม่ซื้อใคร ก็ขอให้คิดเสียว่า ทีมนั้นเกร่งแบบไร้จุดอ่อนแล้วก็ได้ จะได้ไม่แอบเซ็ง

เรื่องโดย "FIATTA"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook