จุดจบของ 'Tiki-Taka'?

จุดจบของ 'Tiki-Taka'?

จุดจบของ 'Tiki-Taka'?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฟุตบอล : การผงาดของ 2 ทีมจากเมืองมาดริดที่ได้ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศฟุตบอลยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มี 2 ทีมจากลีกเดียวกันและเมืองเดียวกันเปิดฉากสู้กันเดิมพันโทรฟี่แชมป์ในบรรยากาศแบบเกมดาร์บี้แมตช์ เป็นเรื่องที่มีความน่าสนใจในหลากหลายมิติ

หนึ่งในนั้นคือการกำหนด "เทรนด์" ของฟุตบอลยุคต่อไป ว่าทีมที่จะประสบความสำเร็จนั้นต้องทำตามพิมพ์เขียวของ เรอัล มาดริด และแอตเลติโก มาดริด

พิมพ์เขียวของสองทีมนี้เป็นอย่างไร? ทั้ง "ราชันชุดขาว" และ "ตราหมี" ต่างเป็นทีมที่มีรากฐานจากเกมรับที่แข็งแกร่ง ขณะเดียวกันก็มีเกมรุกหลากหลาย สามารถจู่โจมได้ทั้งในรูปแบบของเกมเคาน์เตอร์แอทแทค หรือการเซ็ตเกมขึ้นไปด้วยเทคนิคและความสามารถของผู้เล่นในระดับสูง

เพียงแต่จุดแข็งสำคัญที่สุดอยู่ที่เกมโต้กลับเร็ว โดยพวกเขายินดีที่จะเป็นฝ่ายลงไปตั้งรับเพื่อรอโอกาสเหมาะๆที่จะโต้ตอบด้วยเกมรุกที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งด้วยเกมแบบนี้ทำให้เรอัล มาดริด สยบทีมอันดับหนึ่งของโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอย่างบาเยิร์น ได้ราบคาบ

เช่นกันกับแอตฯ มาดริด ที่สามารถเล่นได้ทั้งเกมรับที่แข็งแกร่ง หรือเกมรุกที่ดุดัน เพียงแต่พวกเขาจะไม่เปิดฉากบุก หรือครองเกมแบบพร่ำเพรื่อเหมือน บาร์เซโลน่า หรือบาเยิร์น มิวนิค 2 ทีมที่ดีที่สุดในโลกในช่วงก่อนหน้านี้

กล่าวโดยสรุปสั้นที่สุดคือทั้ง "เรอัล" และ "อัตเลติ" เป็นทีมที่รับอย่างมีชั้นเชิง และมีอาวุธหนักจะใช้เล่นงานคู่ต่อสู้นั่นเอง

การผงาดของ 2 ทีมนี้ สวนทางกับความตกต่ำของทีมที่เป็น "ขวัญใจมหาชน" อย่างบาร์ซ่า และบาเยิร์น ที่ตกรอบไปแบบน่าอดสู และนั่นนำไปสู่คำถามสำคัญในเวลานี้ที่น่าขบคิดตามว่า ฤา นี่จะเป็นการสิ้นยุคของฟุตบอลสไตล์สวยงามที่เรียกกันว่า Tiki-Taka แล้ว?

ทั้งนี้ต้องแจกแจงกันเพิ่มเติมก่อนว่า บาร์เซโลน่า ในปัจจุบันเองก็ไม่ได้เล่นในสไตล์ Tiki-Taka แบบดั้งเดิม (ซึ่งมีความหมายทำนอง "เคาะไปมา") นับตั้งแต่เกราร์โด "ตาตา" มาร์ติโน่ เข้ามาคุมทีม เพราะกุนซือชาวอาร์เจนไตน์ ต้องการปรับบาร์ซ่า ให้เป็นทีมที่ลุยแลกแบบ Direct หรือใส่กันดื้อๆทื่อๆมากขึ้น มากกว่าจะเล่นสวยงาม แพรวพราวเหมือนในยุคของเป๊ป กวาร์ดิโอล่า และตีโต้ บีลาโนบา ผู้เพิ่งจากไป

ในขณะที่บาเยิร์น แม้จะมี "ราก" ของระบบการเล่นที่วางโดย หลุยส์ ฟาน ฮาล ปรมาจารย์ชาวดัตช์ผู้ซึ่งสืบทอดปรัชญา "โททัลฟุตบอล" อันเป็นต้นตำหรับที่ "นักเตะเทวดา" โยฮัน ครอยฟ์ นำไปวางรากฐานต่อที่บาร์เซโลน่า และปรัชญาดังกล่าวเริ่มได้ผลในยุคของเป๊ป แต่พวกเขาก็ไม่เล่นในระบบ Tiki-Taka แท้ๆเหมือนทีมจากคาตาลันแต่อย่างใด แม้ว่าจะได้เป๊ป เข้ามาคุมทีมในฤดูกาลนี้ก็ตาม

อย่างไรก็ตามในความเข้าใจแล้วทั้งบาร์ซ่า และบาเยิร์น ต่างเป็น 2 ทีมที่เป็นตัวแทนของ Tiki-Taka (บาร์ซ่า ในฐานะต้นตำหรับ และบาเยิร์น ในฐานะที่มีโค้ชซึ่งประสบความสำเร็จจากระบบนี้และพยายามนำมาประยุกต์ต่อในปัจจุบัน) และการตกต่ำของทั้งสองทีมย่อมนำไปสู่คำถามว่าระบบการเล่นดังกล่าวนั้น "หลงยุค" ไปเรียบร้อยแล้วใช่หรือไม่?

มีผู้รู้บอกว่าคำตอบที่แท้จริงต่อคำถามข้างต้นคือ "ไม่"

โจนาธาน วิลสัน นักเขียนดังชาวอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องประวัติศาสตร์ระบบการเล่นในวงการฟุตบอลโลก ให้ความเห็นส่วนตัวว่าเรื่องแท็คติกส์ฟุตบอลนั้นไม่มีอะไรที่ผิดทั้งหมด หรือถูกเสมอ ในเกมฟุตบอลไม่มี "สูตรสำเร็จ" ที่ตายตัวว่าหากใช้ระบบแบบนี้แล้วจะประสบความสำเร็จได้

การจะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องเกิดจากปัจจัยที่หลากหลาย และต้องผสมผสานองค์ประกอบต่างๆให้งลงตัวมากที่สุด

บาร์เซโลน่า ที่เริ่มประสบความสำเร็จในยุคของเป๊ป ด้วยฟุตบอล Tiki-Taka นั้นเป็นเพราะระบบการเล่นนี้ในช่วงเวลานั้นเป็นของใหม่ที่โลกลูกหนังไม่เคยพบเจอมาก่อน

ฟุตบอลในสไตล์บาร์ซ่า เน้นเกมรุกธรรมชาติก็จริง แต่ไม่เคยมีทีมชุดใดที่เล่นสวยงาม ผ่านบอลกันอย่างแม่นยำ วิ่งทำทางหาช่อง (ตามกฏตัววิ่งที่ 3 - ซึ่งถ้าอยากทราบรายละเอียดวันหลังจะเอามาอธิบายให้ฟังครับ) และไล่บีบเอาบอลจากคู่ต่อสู้อย่างรวดเร็วภายใน 6 วินาที ซึ่งเป็นกฏทองคำอีกข้อของ Tiki-Taka ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลแล้ว นี่เป็น "นวัตกรรม" ทางเกมลูกหนังที่น่ายกย่องอย่างมาก

เมื่อเจอทีมที่เล่นได้ระดับนี้ บวกกับระดับความสามารถของนักเตะอย่างลิโอเนล เมสซี่, ชาบี้ เอร์นานเดซ, อันเดรส อิเนียสต้า, เซร์จิโอ บุสเกตส์, เกราร์ด ปิเก้, ดาเนี่ยล อัลเวส หรือเปโดร โลเปซ ทำให้คู่ต่อสู้ยังปรับตัวตามไม่ทัน และทำให้บาร์ซ่า กลายเป็นโคตรทีมไร้เทียมทานในยุคของเป๊ป

ความยิ่งใหญ่ของ Tiki-Taka นั้นยืนยงอยู่หลายปี จนกระทั่งเริ่มมีสัญญาณความตกต่ำในฤดูกาล 2010-11 ที่เป๊ป ไม่สามารถพาทีมคว้าแชมป์ได้ และตัดสินใจลาออกเพราะรู้สึก "พอ" กับการทำงานในคัมป์ นู ที่รักของเขา ซึ่งแม้ตีโต้ จะสานต่อและนำทีมคว้าแชมป์ได้ในฤดูกาลที่แล้ว แต่บาร์ซ่า ดูจะสูญเสีย "ออร่า" ของทีมไร้เทียมทานไปแล้ว


คู่แข่งที่เคยไล่ต้อนสนุกเท้าต่างทยอย "จับทาง" พวกเขาได้ และความปราชัยย่อยยับต่อบาเยิร์น เมื่อฤดูกาลที่แล้วไม่ต่างอะไรจากการ "ปิดฉาก" ยุคของพวกเขา

ก่อนที่บาเยิร์น จะโดนเรอัล มาดริด พิฆาตในแบบเดียวกันในปีนี้

อย่างไรก็ดีในอนาคตยังมีโอกาสที่บาร์เซโลน่า บาเยิร์น หรือทีมอื่นๆที่มีศักยภาพสูงมากพอจะเดินตามรอยระบบการเล่นนี้และกลับมาประสบความสำเร็จอีก ซึ่งอาจจะมีการปรับกลยุทธ์ในการเล่นให้มีความละเอียดอ่อนมากยิ่งขึ้นเพื่อทำให้ทีมอย่าง เรอัล มาดริด หรือแอตเลติโก มาดริด จับไม่ได้ไล่ไม่ทันอีกครั้ง

เพียงแต่อย่างที่เรียนให้ทราบครับว่ามันต้องเกิดจากองค์ประกอบมากมายที่ต้องมาพร้อมๆกันด้วย

ความตกต่ำของ Tiki-Taka หรือทีมฟุตบอลที่เน้นเกมรุกและการครองบอลที่สวยงามจึงเป็นแค่เรื่องธรรมดาสามัญในเกมลูกหนัง ที่ยังคงหมุนไปตามการหมุนเวียนของโลก

วันนี้อาจถึงคราวที่ทีมซึ่งเชื่อมั่นในปรัชญาเกมรับที่เหนียวแน่นจะประสบความสำเร็จ และอาจจะมีอีกหลายทีมที่เดินตามรอยแอตเลติโก มาดริด ที่น่าจะเป็นต้นแบบของสโมสรระดับกลางถึงใหญ่ที่ไม่ได้มีเงินทุนมากมายนัก แต่สามารถสร้างทีมให้ประสบความสำเร็จได้ (เรอัล มาดริด เป็นข้อยกเว้นเพราะนักเตะสุดยอดเกือบทั้งทีม และโชคดีที่ได้โค้ชเก่งเข้ามา)

แต่วันหน้า อาจจะเป็นบาร์เซโลน่า หรือทีมอย่างลิเวอร์พูล ที่จะกลับมาผงาดในวงการฟุตบอลยุโรปได้อีกครั้ง เพียงแต่มันจะไม่ "ซ้ำรอย" เดิมทุกอย่าง เพราะย่อมมีรายละเอียดที่แตกต่างเท่านั้น

ไม่ต่างอะไรจากใบไม้ดอกไม้ ที่หากยังคงร่วงหล่น ย่อมหมายการผลิบานในวันข้างหน้าเช่นกัน

ลูกแม่กิ่ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook