เชียร์!!

เชียร์!!

เชียร์!!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฟุตบอล : ช่วงนี้ประเทศไทยดังไกลไปเมืองนอกหลายเรื่องหลายราวทีเดียวนะครับ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาก็เพิ่งได้เห็นป้ายไวนิลของแฟนบอลทีมหนึ่งที่แสดงถึงรากเหง้าภูมิปัญญาคนเขียนได้อย่างชัดเจน

ในวันเดียวกันก็เกิดเหตุตะลุมบอนกันในเกมลีกดิวิชั่น 2 ของไทย ก่อนหน้านั้นก็เคยได้ยินกฎห้ามเชียร์เสียงดังจากฝ่ายจัดการแข่งขันไทยพรีเมียร์ลีก นี่ยังไม่รวมเรื่องแบดมินตัน, เณรคำ และฮอร์โมน ไหนจะน้ำมันรั่วที่เสม็ด (เอ๊ะ! ผมเอาหลายเรื่องมารวมกันเกินไปหรือปล่าวเนี่ย)

งั้น "อารมณ์คมคาย" คัดเอามาเฉพาะเรื่องกองเชียร์พอ จากใจคนเขียนเลยนะครับ "งง" และ "สับสน" กับพฤติกรรมการเชียร์ของกองเชียร์ไทยไม่ว่าจะเป็นบอลนอกหรือบอลใน ไม่ได้เชียร์แค่เอาสะใจ แต่เชียร์ยังกะขายบ้าน หรือเชียร์แบบถวายหัว

แสดงสีหน้าไม่รู้อีโหน่อิเหน่ กำลังคิดในใจว่ากูเท่สะเต็มประดา สุดท้ายปลาเน่าตัวเดียวเหม็นหมดทั้งเข่ง

ผมไม่ได้บอกว่าการเชียร์ทีมที่ตัวเองรักแบบสุดหัวใจเป็นเรื่องไม่ดี ผมไม่ได้บอกว่าต่อแต่นี้เวลาเราเชียร์กีฬา เราควรเชียร์เบาๆ สมัยเป็นนักเรียนผมเป็นประธานเชียร์ครับ ผมรู้ดีว่าการเชียร์ให้สนุกสนานและมีความสุข รวมทั้งเป็นกำลังใจแก่นักกีฬาในสนามเป็นอย่างไร พูดแล้วเลยต้องกลับมานิยามคำว่าเชียร์กันก่อน ผมไม่รู้ว่าคำว่า "เชียร์" ของคุณผู้อ่านคืออะไร

แต่สำหรับผมการเชียร์ก็คือ "การส่งแรงใจให้แก่นักกีฬาในสนาม ไม่ว่าจะด้วยการร้องเพลง ไม่ว่าจะด้วยการตะโกน หรือการไม่พอใจคำตัดสินที่ไม่เข้าข้างทีมตัวเอง ไม่พอใจการกระทำของ่ายตรงข้ามที่ทำให้ทีมตัวเองเสียเปรียบ" นั่นล่ะครับคือการเชียร์ของผม ผมไม่เคยรู้สึกว่าการด่าทอ ใช้คำหยาบ หรือสบถในเกมกีฬาเป็นเรื่อง "เกรียน" ของการเชียร์ แต่การเหยียดสีผิว, การดูถูกเชื้อชาติ, การนำโศกนาฏกรรม และการไม่รู้จักแพ้ ชนะ อภัย ในกีฬาต่างหากครับที่เรียกว่า "เกรียน"

จุด จุด จุด

ภาพกองเชียร์ของทีมเสื้อสีส้มและทีมเสื้อสีฟ้า (ไม่อยากพูดชื่อทีม) เริ่มสงครามขวดกันก่อนจะกลายเป็นการตะลุมบอนในเกมลีกดิวิชั่น 2 ของไทย บอกได้คำเดียวว่าแสนสลดหดหู่กับภาพที่ได้เห็น มีคนเคยส่ง sms มาในรายการวิทยุของผมแล้วบอกว่า "กีฬาทำให้ผู้หญิงคิดแบบผู้ชาย และก็ทำให้ผู้ชายคิดแบบผู้หญิง" ผมไม่เชื่อ แต่ผมคิดว่าน่าจะเหมาะกับสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นมากที่สุด

จากการถามไถ่ของพี่น้องนักข่าวที่นั่งอยู่ในสนามของเกมสุดอัปยศดังกล่าวด้วยนั้นบอกผมว่า เหตุเกิดจากกองเชียร์ของฝั่งหนึ่งไปขว้างขวดใส่นักเตะของอีกทีมหนึ่ง แบบอยู่ดีๆ ขับรถมอเตอร์ไซค์มาแล้วก็กระทำการก่อนจะขับรถหลบหนีไป แล้วทิ้งให้คนที่อยู่ข้างในก่อเหตุสลดใจอะไรทำนองนั้น เรื่องเกิดจากคนไม่กี่คน แต่ทำให้คนอีกหลายคนต้องเดือดร้อน ทำไมไม่หยุด แล้วไปจับคนก่อเหตุมาลงโทษ ทำไมคนไทยชอบแก้กันที่ปลายเหตุ ทำไมถึงไม่แก้กันที่ต้นเหตุ

ส่วนเรื่องป้ายไวนิลที่เกิดขึ้นในเกมอุ่นเครื่องของทีมจากต่างประเทศทีมหนึ่ง โดยกลุ่มแฟนบอลกลุ่มหนึ่ง ที่สนามกีฬาของไทยในวันหนึ่ง มีข้อความว่า ""Alex Ferguson out working Go to the Hell", "20=โกง", "Munich, 58"

ผมเฉยๆ กับ 2 ประโยคแรก เพราะผมบอกไปตั้งแต่ช่วงต้นแล้วว่า สบถ หยาบ สาปแช่ง เป็นเรื่องทั่วไปที่เกิดขึ้นได้ แต่ประโยคสุดท้ายรับไม่ได้จริงๆ ลองนึกแบบใกล้ตัวที่สุด

สมมตินะครับสมมติ สมมติว่าคุณมีญาติที่เสียชีวิตไปแล้วไม่ว่าจะด้วยเรื่องอะไรก็ตาม แต่มันคือโศกนาฏกรรมของครอบครัว อยู่ดีก็มีใครที่ไหนไม่รู้มารำเลิกการเสียชีวิตเหล่านั้นขึ้น พูดคุยหยอกล้อเล่นกันเป็นเรื่องสนุกสนาน "คุณสนุกกับเรื่องนี้หรือไม่??"

ตอนท้ายยังมีเรื่องราวดราม่ากันถึงขนาดบอกว่า เป็นแฟนเทียมมั่งล่ะ, ขำๆ มั่งล่ะ มันไม่ขำนะครับ คล้ายวลี "ผมไม่เล็กนะครับ" นั่นแหละ แล้วก็มีแฟนของทีมเดียวกันออกมาโต้ตอบให้ เอาหน้าคนทำออกมาประจานทำไม จะด่าการกระทำก็ด่าไป ทำไมต้องประจานให้เป็นเรื่องใหญ่ เห็นความขัดแย้งตรงนี้ใช่มั้ยครับ

และทั้งหมดเกิดขึ้นจากเพียงกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ทำไมไม่คิดก่อนทำ ทำไมไม่ชั่งใจหรือชั่งน้ำหนักการกระทำว่าผลที่จะตามมาคืออะไรกันก่อน

กลายเป็นเรื่องระดับโลก ในเว็บเดลี่เมลล์ มีข่าวเป็นพันๆ แต่ข่าวนี้ติด 1 ใน 10 งามไส้!!!

ประเด็นของ "อารมณ์คมคาย" ในตอนนี้ก็คือกองเชียร์ชาวไทยมีความเป็นมืออาชีพพอแล้วหรือยัง กับยุควงการกีฬาไทยพัฒนาบางประเภทกีฬา ผมเป็นคนหนึ่งที่เชื่อฝรั่งมังค่าหรือชาวต่างชาติไม่ได้มีชาติตระกูลดีไปกว่าคนไทยอย่างเรา เขาก็คน เราก็คน มีสมองและสองมือพอๆ กัน

แต่ถ้านับเฉพาะความเป็นมืออาชีพของกองเชียร์เพียงอย่างเดียว ผมต้องยอมรับจริงๆ ว่ากองเชียร์ชาวไทย (บางกลถ่ม) ยังด้อยพัฒนา ไม่สมกับการเป็นประเทศกำลังพัฒนาของพวกเราเลยนะครับ อย่างน้อยๆ ถ้าไม่อายฝรั่งตาน้ำข้าว อายกันเองบ้างก็น่าจะดี เวลามีเรื่องแบบนี้หลุดออกไป มันก็มักจะมีคำถามกลับมาว่า "พวกนี้คิดอะไร ถึงทำเช่นนี้ได้"

และในขณะที่เราหลายคนกำลังเรียกร้องหาความสำเร็จในกีฬาประเภทใดก็ตามของเรา เราเคยย้อนกลับมามองตัวเราเองว่าเป็นมืออาชีพเช่นเดียวกับนักกีฬาอาชีพของเราแล้วหรือยัง

เรื่องโดย "อธิคม ภูเก้าล้วน"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook