เหรียญทองสองด้าน : เหตุใดคนเกาหลีใต้ถึงไม่พอใจที่ “ซน ฮึง มิน” ได้สิทธิ์ยกเว้นเกณฑ์ทหาร

เหรียญทองสองด้าน : เหตุใดคนเกาหลีใต้ถึงไม่พอใจที่ “ซน ฮึง มิน” ได้สิทธิ์ยกเว้นเกณฑ์ทหาร

เหรียญทองสองด้าน : เหตุใดคนเกาหลีใต้ถึงไม่พอใจที่ “ซน ฮึง มิน” ได้สิทธิ์ยกเว้นเกณฑ์ทหาร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“เกณฑ์ทหาร” คำสั้นๆ 3 พยางค์ ซึ่งเป็นที่ถกเถียง ในหมู่ประชาคมโลก ถึงความเหมาะสมว่า ควรมีอยู่ต่อไปหรือไม่ ในสังคมโลกศิวิไลซ์ ปัจจุบัน

สำหรับประเทศเกาหลีใต้ แม้จะพัฒนาไปก้าวไกลแค่ไหน แต่ระบบการเกณฑ์ทหาร ยังคงเข้มแข็ง มีมาสืบเนื่องยาวนาน นับตั้งแต่จบสงครามเกาหลี ในยุค 50’s ของศตวรรษที่ 20

ไม่มีผู้ชายคนไหน จะหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารไปได้ ยกเว้นข่ายบางประการ ที่รัฐบาลเกาหลีใต้กำหนดไว้ ให้ บุคคลผู้นั้นพ้นจากการเป็นทหาร หนึ่งในนั้นคือ การเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ ในเวทีนานาชาติ

ซน ฮึง มิน คืออีกหนึ่งคน ที่ได้รับสิทธิ์นี้ ในฐานะหนึ่งในนักเตะ ชุดเหรียญทองเอเชียนเกมส์ 2018 ร่วมกับเพื่อนๆอีก 22 คน ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ

อย่างไรก็ตาม ทั้งที่เป็นนักเตะชื่อดัง เป็นฮีโร่ของประเทศ และอาจเป็นนักเตะที่เก่งที่สุด ตั้งแต่ประเทศเกาหลีใต้เคยมีมา แต่กลับได้รับเสียงต่อต้าน จากประชาชนในประเทศ ถึงสิทธิ์ที่เขาได้รับ การละเว้นไม่ต้องเข้ากรมรับใช้ชาติ 

ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะ ซน เท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มนักกีฬา ประเภทอื่นด้วยเช่นกัน ที่ชาวเกาหลีใต้มองว่า ไม่สมควรได้รับการยกเว้น

กีฬากับการโฆษณา

เป็นที่รู้กันดีว่า เกาหลีใต้ เป็นชาติที่อยู่ในสภาวะเสี่ยงสงครามตลอดเวลา เพราะมีอาณาเขต ติดกับเกาหลีเหนือ บริเวณชายแดนระหว่างสองประเทศ มีการทดลองใช้อาวุธ เป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะฝั่งเกาหลีเหนือ ความตึงเครียดปกคลุมชีวิต ของประชาชนทั้งสองประเทศ 


Photo : www.voanews.com

ด้วยเหตุนี้ การเกณฑ์ทหาร จึงมีความสำคัญอย่างมาก เปรียบเสมือนการสร้างความเชื่อมั่นแก่คนในชาติ ว่าพวกเขา จะพร้อมรับกับทุกสถานการณ์ 

ประเด็นหนึ่งที่ผู้คนในสังคมเกาหลีใต้ มักถกเถียงกันคือ การที่ กลุ่มนักกีฬาที่สร้างชื่อเสียง และความสำเร็จในระดับนานาชาติ จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเกณฑ์ทหาร  ซึ่งหากมองผิวเผิน กีฬา กับ ความมั่นคงชาติ อาจเป็นคนละประเด็น แต่หากมองถึงเหตุผลทางประวัติศาสตร์ เรื่องนี้มีที่มาที่ไปและเหตุผล 

ย้อนกลับไปในช่วงที่เกาหลีใต้ สร้างชาติขึ้นมาใหม่ หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ในตอนนั้นเกาหลีใต้ เป็นชาติที่ยากจนติดลำดับต้นๆของเอเชีย ปราศจากเทคโนโลยี และขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ แต่สิ่งที่พวกเขามี คือ ความเป็นชาติที่ทะเยอทะยาน อยากก้าวขึ้นมาสู่มหาอำนาจของเอเชีย 

รัฐบาลเกาหลีใต้ มองเห็นความสำคัญ ที่จะแสดงศักยภาพให้ชาวโลกได้เห็น ซึ่งวิถีทางที่เลือกใช้ คือการโฆษณาผ่าน “กีฬา” 

ในยุค 70’s และ 80’s ท่ามกลางไฟร้อนของสงครามเย็น การแข่งขันกีฬานานาชาติ เช่น โอลิมปิก ไม่เคยเป็นแค่การแข่งขันกีฬา เพื่อกระชับมิตร พวกเขาให้มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่สุดในโลก เพื่ออวดแสนยานุภาพ ความแข็งแกร่งของประเทศ ผ่านนักกีฬา ที่เปรียบเหมือนนักรบในอดีต บนสังเวียนที่ต่างออกไป

ปี 1973 เกาหลีใต้ ได้ประกาศกฏหมาย เรื่องข้อยกเว้นการเกณฑ์ทหารของนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ ในมหกรรมกีฬาระดับชาติ อย่าง โอลิมปิก หรือ เอเชียนเกมส์ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับเหล่านักกีฬา มุ่งมั่นคว้าเหรียญทอง เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ

หลังจากนั้นเป็นต้นมา นักกีฬาเกาหลีใต้ จำนวนไม่น้อยได้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ ขณะที่โลกฟุตบอล กฎนี้ถูกประกาศใช้ ในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2002 ที่ตัวเองเป็นเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่น 

หากแข้งเสือขาว (มีที่มาจากโลโก้ของสมาคมฯ) สามารถผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายได้เป็นอย่างน้อย พวกเขาจะได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหาร ก่อนที่ทีมชาติเกาหลีใต้ จะผ่านเข้าไปจบถึงตำแหน่งอันดับ 4 


Photo : www.hindustantimes.com

สำหรับกีฬาฟุตบอลปัจจุบัน นักเตะที่อยู่ในข่ายได้รับการยกเว้น คือผู้ที่สามารถช่วยให้ทีมชาติประสบความสำเร็จดังนี้ แชมป์ฟุตบอลเอเชียนคัพ,  พาทีมจบ 4 อันดับแรกในฟุตบอลโลก, เหรียญทองเอเชียนเกมส์ และเหรียญรางวัลใดก็ได้ในโอลิมปิก เกมส์ 

เหมือนอย่างตอนที่ทีมฟุตบอลรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี คว้าเหรียญทองแดง โอลิมปิก 2012 ที่กรุงลอนดอน และได้รับลดเวลาการเป็นทหาร จาก 2 ปี เหลือเพียงการฝึกพื้นฐาน 4 สัปดาห์เท่านั้น จบแล้วก็จบกัน

เวลาเปลี่ยน ความสำคัญเปลี่ยน

ยุคปัจจุบัน เกาหลีใต้ ได้กลายเป็น ชาติฟุตบอลแถวหน้าของทวีปเอเชีย มีนักเตะมากมายค้าแข้งอยู่ในทวีปยุโรป ตามลีกชั้นนำของโลก ดังนั้นการจะพูดว่า นักบอลเหล่านี้ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ตามที่รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องการ คงไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด


Photo : newsbeezer.com

อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกหมุนเวียนเข้าสู่ ปี 2018 เหตุการณ์การละเว้นการเกณฑ์ทหารของผู้เล่นชุดเหรียญทอง เอเชียนเกมส์ ที่มี ซน ฮึง มิน เป็นตัวชูโรง กลับได้รับแรงต่อต้านอย่างหนักหน่วง บนโลกอินเทอร์เน็ต และกลายเป็นกระแสสังคม อย่างรวดเร็ว 

เหตุผลสำคัญมาจากความเชื่อที่เปลี่ยนไป ชาวเกาหลีใต้จำนวนไม่น้อย คิดว่า นักฟุตบอล รวมถึงนักกีฬาประเภทอื่น เล่นเพื่อตัวเอง ไม่ได้เล่นเพื่อชาติ เล่นเพราะอยากจะรอดเกณฑ์ทหาร ไม่ใช่สร้างชื่อเสียงให้บ้านเกิด 

น้ำตาที่เหล่านักฟุตบอลเกาหลีใต้ ร่ำไห้แบบไม่อายฟ้าอายดิน ในการแข่งขันโอลิมปิก 2016 ที่ประเทศบราซิล ไม่ใช่เพราะเสียใจ ที่ไม่อาจสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ แต่เป็นเพราะเสียใจ ที่ตัวเอง กำลังต้องไปเป็นทหาร

ต่อให้เป็นเช่นนั้นจริง หากเหล่านักฟุตบอลจะนั่งร้องไห้ เพราะต้องไปเข้ากรมรับใช้ชาติ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดนัก หากมองในมุมนักเตะ เพราะหลายคน อาจกำลังมีอาชีพการค้าแข้งที่สดใส บางคนเล่นในทวีปยุโรป ส่วนบางคนกำลังจะได้ไปเล่นในอนาคตอันใกล้ 


Photo : Military.com

ดังนั้น สำหรับนักฟุตบอลบางคน พวกเขามองว่า การต้องไปเป็นทหารคือการเสียโอกาส เป็นระยะเวลาร่วม 2 ปี จากที่ต้องเล่นบอลในยุโรป กลายเป็นต้องมาเล่นให้กับ ซังจู ซังมู (Sangju Sangmu) ทีมของทหาร รวมถึง อาซาน มูกุงฮวา (Asan Mugunghwa) ทีมของตำรวจในเคลีก ที่บางครั้ง เล่นในลีกพระรอง ไม่ใช่ลีกสูงสุด ด้วยซ้ำไป

เมื่อเป็นเช่นนี้ นักเตะบางคนจึงพยายาม หาทางเลี่ยง การเกณฑ์ทหารให้ได้ เช่น ปาร์ค ชู ยอง อดีตผู้เล่นของอาร์เซนอล ที่ใช้สิทธิ์พำนัก 10 ปี ในประเทศโมนาโก ยืดช่วงเวลา ผ่อนผันการเข้ารับเกณฑ์ทหาร ออกไปได้อีก 10 ปี 

จากที่เขาต้องเข้ากรมในปี 2012 ยืดออกเป็น 2022 นั่นทำให้เขาถูกโจมตีอย่างหนัก จากประชาชนเกาหลีใต้ ด้วยข้อหาไม่เต็มใจรับใช้ชาติ จนเจ้าตัวต้องขอโทษผ่านสื่อ ในเวลาต่อมา แม้ที่สุดแล้ว เขาจะได้รับสิทธิ์ลดหย่อน จากการเป็นส่วนหนึ่งของทีมชุดเหรียญทองแดงโอลิมปิก 2012 ก็ตาม

แต่ที่หนักหนาสาหัส คงเป็นเคสของ ซน ฮึง มิน เขายอมที่จะพลาด การเล่นให้กับ ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ต้นสังกัดของเขา ช่วงต้นฤดูกาล เพื่อไปแข่งขันเอเชียนเกมส์ ภาพเหล่านี้ ทำให้ชาวเกาหลีใต้ ตั้งข้อสงสัยกับเหล่านักกีฬาชื่อดังระดับนี้ว่าเขาตั้งใจเล่นกีฬา เพื่อชาติหรือเพื่อตัวเอง?


Photo : www.eurosport.com

นอกจากนี้ ชาวเกาหลีใต้ ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า มีการเลือกปฏิบัติ ในวงการกีฬา ที่อาจมีการล็อบบี้ เลือกนักกีฬา ที่อยากหลุดพ้นการเกณฑ์ทหาร ให้เข้าร่วมการแข่งขัน มากกว่าที่จะดูฝีมือ ในเวทีการแข่งขัน

เหตุผลนี้ ยิ่งทำให้เคสของ ซน โดนโจมตีเป็นพิเศษ จริงอยู่ที่ ซน คือนักบอลที่เก่งที่สุดของเกาหลีใต้ แต่ชาวเกาหลีใต้หลายคน เชื่อสนิทใจว่า เหตุผลที่ซนติดทีมนี้ เพราะผู้มีอำนาจบางกลุ่มที่ไม่ต้องการให้แข้งรายนี้ เสียเวลาไปเป็นทหารร่วม 2 ปี แถมยังมีหลักฐานชัดเจน เมื่อข้อตกลงที่ทีมไก่เดือยทอง ตกลงกับสมาคมฟุตบอลฯ ในการปล่อยตัว ซน เล่นรายการนี้ คือสเปอร์สจะได้ใช้งานเขาในช่วงต้นเดือนมกราคม 2019 ก่อนจะปล่อยให้เขากลับมารับใช้บ้านเกิด ในศึกเอเชียนคัพ ตั้งแต่เกมสุดท้ายของรอบแรก

ยิ่งคนเกาหลีใต้ที่ค่อนข้างเซนสิทีฟ กับกระแสสังคม  ย่อมมองว่า นี่เป็นการปฏิบัติ อย่างไม่เท่าเทียม นักฟุตบอลคนรวย ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจให้ไม่ต้องเป็นทหาร ขณะที่ชาวเกาหลีใต้ยากจน จำนวนมาก มีครอบครัวต้องเลี้ยงดู กลับต้องไปเข้ากรม เสียโอกาสหลายอย่างในชีวิต

อาจจะมีข้อโต้แย้งว่า สุดท้ายแล้ว นักฟุตบอลเหล่านี้ ได้สร้างชื่อเสียง ให้กับประเทศ บนเวทีนานาชาติ แต่คนเกาหลีใต้บางส่วน ไม่ได้มองเช่นนั้น 

เพราะการคว้าเหรียญทอง จากการแข่งขันเอเชียนเกมส์ มักถูกคนเกาหลีมองว่า ไม่ใช่ความสำเร็จที่สร้างชื่อ ให้กับประเทศ เพราะเกาหลีใต้ คือชาติแถวหน้าของเอเชียอยู่แล้ว ถ้าจะได้เหรียญทองคงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

คนเกาหลีใต้ อินกับการประสบความสำเร็จในทัวร์นาเมนต์ระดับโลกจริงๆ มากกว่า เช่น ฟุตบอลโลก และ โอลิมปิก แต่สำหรับทัวร์นาเมนต์อย่างเอเชียนเกมส์ อาจไม่มีค่าหรือความหมายเหมือนอย่างในอดีตอีกแล้ว ในมุมมองคนเกาหลีใต้


Photo : www.insidethegames.biz

“ผมคิดว่า มันไม่ยุติธรรมเลย เพราะประเทศของเราได้เหรียญทอง ในกีฬาฟุตบอล และเบสบอล มาอย่างละ 5 ครั้ง แล้วมั้ง” ปาร์ค ฮันจิน หนุ่มวัย 27 ปี ผู้เคยผ่านประสบการณ์ เป็นทหารเกณฑ์มาแล้ว ตัดพ้อถึงความไม่ยุติธรรม

“ผมคิดว่ามีเหตุผลหลัก เหตุผลเดียว ที่คนเกาหลีใต้ จะให้ความสนใจ กับเกมนัดชิงชนะเลิศ ฟุตบอลเอเชียนเกมส์ คือพวกเขาต้องการดูแค่ว่า สุดท้ายแล้ว ซนจะต้องเป็นทหารเกณฑ์หรือไม่” กู ฮยอกโม อีกหนึ่งอดีตทหารเกณฑ์ เผยภาพที่ชัดเจน ถึงความนิยมการแข่งขันเอเชียนเกมส์ กับนิวยอร์กไทม์ส

วงการบันเทิง > วงการกีฬา 

อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้กระแสต่อต้าน การละเว้นเกณฑ์ทหาร เกิดขึ้นมา นั่นเป็นเพราะวงการกีฬา มีคู่แข่ง ที่ชาวเกาหลีใต้รู้สึกว่าสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ได้มากกว่า นั่นคือ อุตสาหกรรมบันเทิง โดยเฉพาะศิลปินเค-ป็อป


Photo : www.koreaboo.com

ย้อนเวลา กันอีกครั้ง ไปในปี 1997 เกาหลีใต้ต้องพบเจอ วิกฤติเศรษฐกิจ ครั้งสำคัญ ในช่วงเวลาเดียวกับ วิกฤตการณ์ ต้มยำกุ้ง ของไทย 

ทำให้รัฐบาล มองหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจ ของประเทศอีกครั้ง โดยเลือกใช้วิธีเดิม เหมือนสมัยยุค 70’s คือหาอุตสาหกรรมสักอย่าง สร้างภาพลักษณ์ด้านบวก บนเวทีโลก แต่คราวนี้ เกาหลีใต้มองข้ามวงการกีฬา แล้วหันไปพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงแทน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ทั้งเหล่านักร้อง นักแสดง ซีรีส์ รายการวาไรตี้ จากเกาหลีใต้ เป็นที่นิยมไปทั่วโลก สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศเกาหลีใต้ โดยเเท้จริง 

เหตุผลนี้ ทำให้ชาวเกาหลีใต้ มีตัวเปรียบเทียบสำคัญ พวกเขามองว่า หากจะมีคนได้รับสิทธิ์ ละเว้นการเกณฑ์ทหาร ก็ขอให้เป็นเหล่าไอดอล ที่สร้างชื่อเสียง ให้กับประเทศในเวทีนานาชาติ รวมถึงสร้างรายได้มหาศาลระดับพันล้านเข้าสู่ประเทศในแต่ละปี

เพราะก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน ที่โด่งดัง ไปทั่วโลกแค่ไหน ทั้ง ดงบังชินกิ (TVXQ), ซุปเปอร์ จูเนียร์ (Super Junior), บิ๊กแบง (BIGBANG) หรือเอ็กโซ (EXO) พวกเขาล้วนต้องเข้ารับเกณฑ์ทหาร ไม่มีทางหลีกเลี่ยง


Photo : nypost.com

ช่วงเวลาเดียวกับที่ ซน ฮึง มิน ได้ละเว้นการเกณฑ์ทหาร คือเวลาเดียวกับที่วงบีทีเอส (BTS) หรือ บังทันโซยอนดัน ไอดอลชายของเกาหลีใต้ โด่งดังแบบสุดขีด บนเวทีโลก 

ถ้าให้สรุปสั้นๆ ว่าพวกเขาดังขนาดไหน บีทีเอส เป็นวงดนตรี ที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุด บนโลกอินเทอร์เน็ต ที่สหรัฐอเมริกา ในปี 2017 มีอัลบั้มขึ้นชาร์ตบิลบอร์ด อย่างต่อเนื่อง และได้อันดับ 1 ในชาร์ต 3 อัลบั้มในปีเดียว ซึ่งไม่เคยมี ใครทำได้มาก่อน นับตั้งแต่ เดอะ บีตเทิลส์ (The Beatles) ทำได้ในปี 1996 

ความโด่งดังนี้ ทำให้พวกเขาได้ขึ้นปกนิตยสาร TIME ในฐานะ Next Generation Leaders หรือผู้นำของคนรุ่นใหม่

ขณะที่ทัวร์คอนเสิร์ตของบีทีเอส มีผู้ชมรวมกันมากกว่า 1,600,000 คน สร้างรายได้ไปกว่า 149 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยคร่าวๆ ได้กว่า 4,591 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนมหาศาล คือเงินที่ไหลเข้าประเทศ ไปพัฒนาประเทศเกาหลีใต้ต่อไป

“ผมเคยทำงานอยู่ที่จอร์แดน ผมสัมผัสได้เลยว่า เค-ป็อปโด่งดังมากแค่ไหน และมีบทบาทอย่างมาก ที่ทำให้คนท้องถิ่น ได้รู้จักประเทศเกาหลีใต้” คัง แทก ยู ครูสอนเทควันโด ที่เคยใช้ชีวิตในต่างแดน กล่าวถึงความโด่งดัง ของอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ 


Photo : @BTS_twt

อย่างไรก็ตาม ในปี 2020 สมาชิกของบีทีเอส จะต้องเริ่มต้นเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมต่างๆ ของวงต้องลดลงไปโดยปริยาย ทำให้ประชาชนบางส่วน ไม่พอใจ ที่ศิลปินกลุ่มนี้ ไม่ได้รับการละเว้น ในขณะที่ซน กลับไม่ต้องเข้ากรม ทั้งที่ชนะเพียงแค่ เหรียญทองเอเชียนเกมส์

“ผมคิดว่าสมาชิกของบีทีเอส ควรได้รับการละเว้นการเกณฑ์ทหาร” ซง กยองแทค อดีตนักสกี ทีมชาติเกาหลีใต้ แสดงความเห็น “ถ้าชาวเกาหลีใต้ไปต่างประเทศ แล้วพวกเขาไม่รู้ว่า เรามาจากไหน เพียงแค่บอกว่า เราเป็นคนชาติเดียวกับบีทีเอส พวกเขาจะรู้จักเราในทันที”

“คนรุ่นใหม่จำนวนมาก กำลังตั้งคำถามกับประเทศ ในพื้นที่สาธารณะ ทำไมศิลปินที่ขึ้นบิลบอร์ดชาร์ต ถึงมีค่าน้อยกว่า นักกีฬาที่ชนะการแข่งขัน?” ฮา แทกยอง นักกฎหมายชาวเกาหลีใต้กล่าว

อย่างน้อยก็สู้เพื่อชาติ

เสียงต่อต้าน จากชาวเกาหลีใต้ ทำให้รัฐบาลต้องรีบออกมาตอบรับ ด้วยการพร้อมทบทวน พิจารณา ถึงการละเว้นเกณฑ์ทหาร ให้มีความโปร่งใส และยุติธรรมมากขึ้น 


Photo : modern.az

“เรามีแผนอยู่แล้ว ที่จะเปลี่ยนแปลงระบบถึงการคัดเลือกทหาร ในส่วนของประชาชน จากอุตสาหกรรมบันเทิง และกีฬาใหม่อีกครั้ง” กี ชานซู กรรมธิการ ของกองทัพเกาหลีใต้ กล่าว

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าชาวเกาหลีใต้ทุกคน จะไม่เห็นด้วย กับการละเว้นการเกณฑ์ทหารของ ซน ฮึง มิน เพราะถึงอย่างไร นักกีฬาทุกคน ที่ลงเล่นให้กับทีมชาติ ในนามเกาหลีใต้ คือตัวแทนของชาติ มีธงชาติ ปักอยู่บนหน้าอกเสื้อ

“ผมยืนยันได้ว่า นักกีฬาที่จะไปเล่นในกีฬาโอลิมปิกทุกคน พวกเขาอยากไปแข่ง เพราะต้องการเหรียญทอง เพื่อเป็นเกียรติประวัติของตัวเอง และประเทศชาติ ไม่ได้หวังผล เรื่องการเกณฑ์ทหาร” ซง กยองแทค กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วงที่ซน ฮึง มิน กำลังแข่งขันรายการ โอลิมปิก 2016 มีชายชาวเกาหลีใต้หลายคน ยื่นเรื่องต่อกรมทหาร ขอเพิ่มเวลารับใช้ชาติเป็น 2 เท่า แทน ซน ฮึง มิน ที่พลาดเป้าคว้าเหรียญ จนไม่ได้สิทธิ์ละเว้นการเกณฑ์ทหารในตอนนั้น

ขณะเดียวกันตัวของซน ได้ออกมาเปิดปาก หลังเกิดเรื่องราวความขัดแย้ง โดยมีตัวเองเป็นต้นเหตุ สุดท้ายเขายืนยันว่า เขาเต็มใจรับใช้ชาติ เพื่อสร้างเกียรติยศให้ประเทศ และไม่เกี่ยงหากต้องไปเล่น ให้กับทีมทหารในอนาคต

“การคว้าเหรียญทอง ในเอเชียนเกมส์ คือสิ่งสำคัญ ของชีวิตผม เพราะผมได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ ผมได้เห็นผู้คนมากมายมีความสุข กับชัยชนะของเรา เป็นภาพที่ผมจะไม่ลืม”

“ถ้าผมไม่ได้เหรียญทอง ผมก็เต็มใจ จะไปเล่นให้กับทีมของทหาร (ซังจู ซังมู) อย่างไรก็ตาม ผมดีใจ ที่ผมทำได้สำหเร็จ เพื่อชาติของผม”


Photo : www.koreatimes.co.kr

เหรียญย่อมมีสองด้าน และขึ้นอยู่กับว่า จะมองที่ด้านไหน ความเหมาะสมของการละเว้น การเกณฑ์ทหาร ให้กับเหล่านักกีฬา ยังคงดำเนินต่อไป แต่วิธีแก้ที่ดีที่สุด อาจไม่ใช่การจำกัดความว่า ใครสมควรได้รับการยกเว้น เพราะอาจเป็นการปรับเปลี่ยนวิธี การเกณฑ์ทหารในรูปแบบใหม่ ให้เหมาะสมกับโลกที่เปลี่ยนไป

ด้วยสภาพความตึงเครียดที่ลดน้อยลง ระหว่างสองชาติเกาหลี ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้ เตรียมปรับลดจำนวนทหารลงในอนาคต รวมถึงลดระยะเวลา ในการรับใช้ชาติ โดยจะเริ่มต้นในปี 2021 เพื่อปรับให้เข้ากับยุคสมัย และลดแรงเสียดทานจากประชาชน ที่จำนวนไม่น้อย อยากให้การเกณฑ์ทหาร เป็นเรื่องของการสมัครใจมากกว่า

เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด ทั้งนักกีฬา นักร้อง นักแสดง พนักงานบริษัท พ่อค้า หรือคนตกงาน ล้วนต้องการที่จะกำหนด ชะตาชีวิตของตัวเอง มากกว่าให้ใครคนอื่นมาบังคับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook