"ฮอร์เก คัมโปส" : เคน วาคาชิมัตสึ ในโลกความจริง

"ฮอร์เก คัมโปส" : เคน วาคาชิมัตสึ ในโลกความจริง

"ฮอร์เก คัมโปส" : เคน วาคาชิมัตสึ ในโลกความจริง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากการป้องกันประตูคือหน้าที่ที่ดีที่สุดสำหรับผู้รักษาประตู แต่จะดีแค่ไหนหากนายด่านคนนั้น สามารถขึ้นไปเล่นเป็นศูนย์หน้ายามทีมต้องการประตู

เหมือนกับในการ์ตูนเรื่องกัปตันสึบาสะ ภาคล่าสุด (Rising Sun) ที่โค้ช โคโสะ คิระ ตัดสินใจดัน เคน วาคาชิมัตสึ ผู้รักษาประตูจอมหนึบขึ้นไปเล่นเป็นศูนย์หน้าให้กับทีมชาติญี่ปุ่น ในการสู้ศึกฟุตบอลโอลิมปิกรอบสุดท้ายที่กรุงมาดริด

 

แม้อาจจะดูเป็นเพียงจินตนาการ เพราะคงไม่มีใครเอาผู้รักษาประตูฝีมือดี ขึ้นไปล่าตาข่าย แต่ในความเป็นจริง เคยมีคนทำแบบนี้เมื่อราว 30 ปีก่อน แถมยังเป็นเกมระดับอาชีพอีกด้วย 

และนี่คือเรื่องราวของพวกเขา

จากโลกจริงสู่ตัวละคร 

ปี 1981 โยอิจิ ทาคาฮาชิ ได้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นโบว์แดงขึ้น เมื่อกัปตันสึบาสะ การ์ตูนที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการได้ชมฟุตบอลโลก 1978 ในวัยเด็กของเขา โด่งดังเป็นพลุแตกจนมียอดขายอย่างถล่มทลาย และได้รับความนิยมไปทั่วบ้านทั่วเมือง 

 1

นอกจากท่าไม้ตายที่อลังการงานสร้างจะเป็นจุดขายสำคัญที่ทำให้กัปตันสึบาสะโด่งดัง ปฏิเสธไม่ได้ว่าคาแร็คเตอร์ที่ชัดเจนของตัวละคร ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ผู้อ่านติดการ์ตูนเรื่องนี้จนงอมแงม

แม้ว่าตัวละครหลักของเรื่องหลายตัวจะเป็นตัวละครที่ทาคาฮาชิออกแบบขึ้นมาเอง แต่ก็มีตัวละครจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะนักเตะต่างชาติ ที่เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากนักเตะในโลกจริง 

ตัวอย่างเช่น ฮวน ดิอาซ ดาวเตะของอาร์เจนตินาที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ดิเอโก มาราโดนา ดาวเตะระดับตำนานของโลก หรือ ซัลวาตอเร เจนติเล ปราการหลังชาวอิตาลี ที่มาจาก คลาดิโอ เจนติเล อดีตกองหลังยูเวนตุส 

หรือแม้กระทั่ง คาร์ล ไฮนซ์ รุมมินิเก ดาวยิงของทัพอินทรีเหล็ก และ โยฮัน ครัฟฟ์ เพลย์เมกเกอร์ของฮอลแลนด์ ก็อยู่เบื้องหลังคาแร็คเตอร์ของ คาร์ล ไฮนซ์ ชไนเดอร์ และไบรอัน ไคร์ฟอร์ด ในการ์ตูนเรื่องนี้ 

 2

“(ดิเอโก) มาราโดนา ทำสิ่งพิเศษให้ผมเห็นอยู่เสมอ เขามักจะทำสิ่งตรงข้ามกับที่เราคิดไว้ เขาสร้างเซอร์ไพร์สได้บ่อยครั้ง สิ่งที่เขาตัดสินใจมักจะถูก และเขาเป็นคนหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมสร้างเรื่องราว และอยู่เบื้องหลังคาแร็คเตอร์ของ ฮวน ดิอาซ” ทาคาฮาชิ ให้สัมภาษณ์กับ AS เมื่อปี 2016 

แต่มีตัวละครอยู่คนหนึ่ง ที่แม้ว่าสัญชาติและรูปลักษณ์ อาจจะไม่ได้เหมือนกับนักเตะคนใดในโลกจริง แต่คาแร็คเตอร์และชีวิตของเขา กลับคล้ายกับผู้เล่นระดับตำนานคนหนึ่งของโลกด้วยความบังเอิญ

เคน วาคาชิมัตสึ และ ฮอร์เก คัมโปส คือ สองคนนั้น

ผู้รักษาประตูสุดบ้าบิ่น 

หาก วากาบายาชิ เกนโซ คือเทพปกปักษ์ของฝั่ง โอโซระ สึบาสะ ในวัยเด็ก เคน วาคาชิมัตสึ ก็คือคนรับหน้าที่นั้นในทีมของ เฮียวงะ โคจิโร คู่ปรับของพวกเขาในช่วงเริ่มเรื่อง

 3

วาคาชิมัตสึ เริ่มต้นเข้าสู่วงการฟุตบอลอย่างจริงจัง โดยจากชักชวนของโค้ชคิระ ซึ่งเป็นโค้ชคนเดียวกันของเฮียวงะ ก่อนที่ฝีไม้ลายมือของเขาจะก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญของทีมชาติญี่ปุ่นในเวลาต่อมา 

แรกเริ่มเดิมที วาคาชิมัตสึ เป็นนักคาราเต้มาก่อน เขาเป็นถึงลูกชายของเจ้าสำนักวาคาโดริว และถูกวางตัวให้เป็นผู้สืบทอดโรงฝึก และด้วยพื้นฐานของกีฬาชนิดนี้ทำให้เขากลายเป็นผู้รักษาประตูที่มีปฏิกิริยาที่ว่องไวมาก 

เขายังมีลีลาการเซฟที่เป็นเอกลักษณ์ ด้วยการนำวิชาคาราเต้มาปรับใช้ในการป้องกันประตู ไม่ว่าจะเป็นท่า Triangle Jump Defensive Chop ที่ใช้วิธียันเสาด้านหนึ่ง เพื่อพุ่งไปเซฟประตู หรือท่า Wakado-ryu Defensive Karate Punch ที่ต่อยลูกบอลที่พุ่งเข้ามาหาตัวให้กระเด็นออกไป 

วาคาชิมัตสึ ยังชอบที่จะออกมาเล่นบอลนอกกรอบเขตโทษ เมื่อทีมกำลังต้องการประตู เขายังเป็นนายทวารที่ใช้เท้าได้ดี และมักจะทิ้งปากประตู ออกมาจ่ายบอลให้เพื่อนร่วมทีมหลายต่อหลายครั้ง 

และสไตล์การเล่นแบบนี้ก็ดันไปคล้ายกับผู้เล่นคนหนึ่งที่ชื่อว่า ฮอร์เก คัมโปส 

 4

แม้ว่าในเรื่องกัปตันสึบาสะ อ.ทาคาฮาชิ จะให้คัมโปส เป็นต้นแบบของ ริคาร์โด เอสปาดา ผู้รักษาประตูเยาวชนเม็กซิโก แต่เมื่อพิจารณาถึงบทบาทและรูปแบบการเล่น เขากลับมีความคล้ายกับ วาคาชิมัตสึ มากกว่า  

โดยเฉพาะเรื่องปฏิกิริยาที่ว่องไว บวกสปริงข้อเท้าที่ทรงพลัง ทำให้แม้จะมีส่วนสูงเพียงแค่ 168 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าตัวเล็กมากในตำแหน่งผู้รักษาประตู แต่ คัมโปส ก็ใช้ความสามารถที่มีกลบข้อด้อยได้อย่างหมดสิ้น การบินปัดบอลที่กำลังจะพุ่งเสียบสามเหลี่ยมเป็นสิ่งที่พบเห็นจนชินตาจากเขา

 

คัมโปส ยังมีความกล้าและบ้าบิ่นไม่ต่างจากวาคาชิมัตสึ หากบอลอยู่ในอาณาเขต คัมโปส พร้อมจะพุ่งไปหามันอย่างไม่เกรงกลัว แม้ว่าคู่แข่งเข้ามากดดัน เขาเป็นพวกพร้อมพุ่งชนอยู่เสมอ และยังชอบที่จะออกไปตัดบอลนอกกรอบเขตโทษอยู่เป็นประจำ

“มันเป็นตำแหน่งที่พิเศษ” คัมโปสพูดถึงความเป็นอิสระในสไตล์การเล่นของเขากับ Sports Illustrated

แต่นี่ไม่ใช่เรื่องเดียวที่ทั้งคู่มีอะไรที่คล้ายกัน

กองหน้าจำเป็น 

วาคาชิมัตสึ เป็นหนึ่งในผู้เล่นคนสำคัญในเรื่องกัปตันสึบาสะ แม้ว่าในเรื่องเขาจะต้องตกเป็นตัวสำรองของ เก็นโซ วาคาบายาชิ เจ้าของฉายา SGGK (Super Great Goalkeeper) แต่เมื่อได้รับโอกาสเขาก็ทำหน้าที่ได้อย่างไม่มีที่ติ

 6

อย่างไรก็ดี แม้จะขึ้นชื่อในฐานะเทพปกปักษ์หน้าปากประตู แต่วาคาชิมัตสึ ก็มีสิ่งหนึ่งที่ทำได้ดีไม่แพ้กัน นั่นคือการเล่นในตำแหน่งศูนย์หน้า  

ในเกมนัดกระชับมิตรกับเดนมาร์กก่อนโอลิมปิกรอบคัดเลือกโซนเอเชีย เขาสร้างความตื่นตะลึงไปทั่วสนาม เมื่อถูกเปลี่ยนตัวลงมาเล่นเป็นกองหน้าคู่กับ ชุน นิตตะ ในครึ่งหลัง ก่อนจะทำผลงานได้อย่างโดดเด่น ใช้สปริงข้อเท้าที่ยอดเยี่ยม เป็นตัวโหม่งชงให้ญี่ปุ่นบวกสกอร์เพิ่มจนเอาชนะไปได้ 4-1 

“การเปลี่ยนคุณวาคาชิมัตสึเป็นกองหน้า เป็นหนึ่งในแนวคิดของโค้ชคิระ มาตั้งแต่สมัยเมวะ เอฟซี รุ่นประถมแล้ว” ทาเคชิ ซาวาดะ อดีตรุ่นน้องเมวะ เอฟซีกล่าวในภาค Golden 23 

“คุณวาคาชิมัตสึได้ลงเป็นกองหน้ากับคุณเฮียวงะในการซ้อมมาไม่รู้ตั้งกี่ครั้ง ในการแข่งระดับชาติ ทั้งที่เป็นนายประตูแต่คุณวาคาชิมัตสึก็พัฒนาการบุกและขึ้นมาทำประตูได้ด้วย เขามีศักยภาพเกินพอที่จะเป็นกองหน้าที่ดีอีกด้วย” 

“คุณวาคาชิมัตสึ มีคุณสมบัติการเป็นผู้เล่นในสนามมาตั้งแต่อดีตแล้ว เพราะมีเอซตัวจริงอย่างคุณเฮียวงะอยู่ก็เลยต้องเล่นเป็นผู้รักษาประตู”  

วาคาชิมัตสึ ยังได้รับบทบาทในฐานะศูนย์หน้า ทั้งในนัดกระชับมิตร และรอบคัดเลือก เขาเบิกสกอร์ได้ในนัดอุ่นเครื่องกับไนจีเรีย และลงช่วยทีมในตำแหน่งนี้โอลิมปิกรอบสุดท้ายที่มาดริด 

ขณะที่ คัมโปส แม้ว่าเขาจะเริ่มต้นค้าแข้งในตำแหน่งผู้รักษาประตู แต่ตำแหน่งที่ทำให้เจ้าตัวแจ้งเกิดจริงๆกลับเป็นตำแหน่งแนวรุก ที่เกิดขึ้นสมัยค้าแข้งให้กับ ปูมาส ในลีกสูงสุดของเม็กซิโก

ย้อนกลับไปในปี 1989 ขณะที่ คัมโปส เล่นให้กับ ปูมาส เป็นฤดูกาลที่สอง เขาเริ่มเบื่อกับบทบาทผู้รักษาประตูสำรอง จึงได้ขอโค้ชลงเล่นในตำแหน่งกองหน้าแทน และโค้ชก็ดันอนุญาตเสียด้วย  

และเขาก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เมื่อกองหน้าชั่วคราวอย่างเขากลับทำหน้าที่ได้ดีกว่ากองหน้าอาชีพเสียอีก เขาซัดประตูได้อย่างถล่มทลาย ยิงไปถึง 22 ประตูในทุกรายการพร้อมคว้าตำแหน่งดาวยิงสูงสุดของทีมไปครอง 

 

“อันที่จริงผมมักจะเล่นตำแหน่งศูนย์หน้าอยู่เป็นประจำตั้งแต่สมัยเด็กๆและตอนวัยรุ่น” คัมโปสกล่าวกับ FourFourTwo 

“ผมเล่นในตำแหน่งศูนย์หน้าเต็มตัวอยู่ 2 ปีสมัยเล่นให้กับพูมาส ตอนนั้น อโดลโฟ ริออส เป็นผู้รักษาประตูตัวจริง ผมจึงขอเล่นศูนย์หน้าและยิงประตูได้ ”

“โค้ชมักจะบอกผมเสมอว่า ต้องไม่ลืมการเป็นผู้รักษาประตู ผมเคยหัวเราะเพราะว่าตอนนั้น ผมเป็นดาวซัลโวของทีมในตอนนั้น”

เส้นทางที่ต่างออกไป

ชีวิตของคัมโปส และวาคาชิมัตสึ เกือบจะคล้ายกันอยู่แล้ว หากนายด่ายเม็กซิโก ไม่เก่งเกินไปในฐานะผู้รักษาประตู เมื่อหลังจากนั้น คัมโปส ดันยึดตำแหน่งมือหนึ่งของทีมมาได้ 

 8

นั่นทำให้เขาต้องกลับไปเฝ้าเสาเป็นงานหลัก และแทบไม่ได้ลงเล่นในตำแหน่งศูนย์หน้ามากนัก ต่างจากวาคาชิมัตสึ ที่กำลังไปได้สวยในตำแหน่งใหม่ 

แต่ถึงอย่างนั้นคัมโปสก็ยังฝากผลงานยิงให้ทีมได้อย่างน้อย 1 ประตูในอีก 5 ฤดูกาลกับปูมาส ก่อนจะย้ายไปค้าแข้งในเมเจอร์ ซ็อคเกอร์ลีกของสหรัฐอเมริกากับ แอลเอ กาแล็คซี 

“ท้ายที่สุดเขาให้ผมกลับไปเล่นหน้าเสาโกล มันสนุกนะ ตอนแรกพวกเขาตำหนิโค้ชที่เอาผมไปเล่นศูนย์หน้า แต่หลังจากนั้นพวกเขาก็ตำหนิโค้ชที่ย้ายผมจากตำแหน่งตัวรุก”

อย่างไรก็ดี คัมโปส ยังมีโอกาสได้เล่นในตำแหน่งกองหน้าอยู่บ้างสมัยค้าแข้งกับแอลเอ โดยเป็นผู้เล่นไม่กี่คนของลีกที่มียูนิฟอร์มสองแบบ คือ เสื้อผู้รักษาประตูและเสื้อผู้เล่น 

นอกจากนี้เขาเกือบจะได้เจริญรอยตาม วาคาชิมัตสึ ด้วยการลงเล่นเป็นกองหน้าให้กับทีมชาติ หลังมีกระแสว่าโค้ชอาจจะส่งเขาเป็นผู้เล่นในนัดที่เม็กซิโกจะพบกับ บัลแกเรีย ในฟุตบอลโลก 1994 รอบ 16 ทีมสุดท้าย 

“ครั้งหนึ่งผมเคยได้ยินว่าโค้ช (มิเกล เมเจีย บารอน) คิดไว้ว่าจะเอาผมไปเล่นศูนย์หน้าในนัดพบ บัลแกเรีย ในรอบ 16 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโลก 1994 แต่มันก็ไม่ได้เกิดขึ้น” คัมโปสกล่าวกับ FourFourTwo 

“หลังจากนั้นในฟุตบอลโลก 1998 พวกเขาห้ามผู้รักษาประตูออกมาเป็นผู้เล่น เหลือเชื่อ ผมต้องคุยกับฟีฟ่าในเรื่องนี้ซักวัน” 

 9

แม้ว่าการผจญภัยในตำแหน่งกองหน้าของวาคาชิมัตสึ ยังต้องดำเนินต่อไป เมื่อทีมชาติญี่ปุ่น กำลังโรมรันพันตูกับเยอรมันในรอบ 8 ทีมสุดท้ายฟุตบอลโอลิมปิกในภาค Rising Sun แต่สำหรับคัมโปส เส้นทางนี้ถูกหยุดเอาไว้ตั้งแต่ปี 2004 หลังแขวนสตั๊ดด้วยวัย 38 ปี

อย่างไรก็ดี ชีวิตของเขาก็ยังผูกพันกับฟุตบอล เมื่อเข้ารับตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทีมชาติเม็กซิโกทันทีที่เลิกเล่น ในช่วงปี 2004-2006 ก่อนจะออกมารับหน้าที่คอมเมนเตเตอร์ทางโทรทัศน์ในปัจจุบัน  

แม้จะอายุเกือบ 50 ปีแล้ว แต่เขามักจะถูกรับเชิญไปเล่นในเกมการกุศลอยู่บ่อยครั้ง และในปี 2016 คัมโปส ก็มีโอกาสได้แสดงศักยภาพที่ซ่อนไว้สู่สายตาชาวโลก เมื่อถูกส่งลงสนามในตำแหน่งกองหน้าให้กับทีมตำนานเม็กซิโก พบทีมรวมดาราโลก ในนัดฉลองครบรอบ 50 ปีที่ เอสตาดิโอ อัซเตกา ชามอ่างยักษ์แห่งเม็กซิโก 

 

คัมโปส ไม่ได้แค่ลงเล่นแต่กลับทำประตูสุดสวย ด้วยการพุ่งโหม่งเข้าไปตุงตาข่าย พร้อมพิสูจน์ให้เห็นว่าสัญชาตญาณการเป็นกองหน้า ยังคงไหลเวียนอยู่ในตัวเขาไม่จางหายไป 

ราวกับจะบอกโลกว่าชีวิตของเขาไม่ได้ถูกลิขิตไว้เพียงหน้าปากประตูตัวเองเพียงอย่างเดียว  

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ "ฮอร์เก คัมโปส" : เคน วาคาชิมัตสึ ในโลกความจริง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook