ยิงประตูตัวเองเพื่อเข้ารอบ : "บาร์บาดอส-เกรนาดา" เกมการแข่งขันสุดเพี้ยนของโลก

ยิงประตูตัวเองเพื่อเข้ารอบ : "บาร์บาดอส-เกรนาดา" เกมการแข่งขันสุดเพี้ยนของโลก

ยิงประตูตัวเองเพื่อเข้ารอบ : "บาร์บาดอส-เกรนาดา" เกมการแข่งขันสุดเพี้ยนของโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ผมรู้สึกเหมือนโดนโกง คนที่ตั้งกฎนี้ขึ้นมา จะต้องป่วยทางจิตอย่างแน่นอน” เจมส์ คลาคสัน ผู้จัดการทีมเกรนาดากล่าว

ฟุตบอลถือเป็นกีฬาที่มีความซับซ้อนน้อยที่สุดกีฬาหนึ่ง มันมีกฎง่ายๆคือทำประตูคู่แข่งให้ได้มากที่สุด ทีมไหนทำได้เยอะกว่า ทีมนั้นเป็นฝ่ายชนะ ดังนั้นในการแข่งขัน ทั้งสองฝ่ายจึงมีเป้าหมายในการทำประตู เพื่อเป็นผู้คว้าชัย

 

แต่ครั้งหนึ่งเคยมีการแข่งขันสุดแปลกที่สุดในโลก ในศึกแคริบเบียน คัพ 1994 รอบคัดเลือก ระหว่าง บาร์บาดอส-เกรนาดา เมื่อทีมหนึ่งต้องทำเข้าประตูตัวเอง เพื่อให้ตัวเองผ่านเข้ารอบ 

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น Main Stand ขอพาย้อนไปชมเหตุการณ์นี้อีกครั้ง

ถ้วยแห่งศักดิ์ศรี 

ไกลออกไปทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา มีหมู่เกาะน้อยใหญ่ เรียงรายกระจายตัวกันอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก พวกเขาคือกลุ่มแคริบเบียน ภูมิภาคเล็กๆของทวีปอเมริกา ที่มีพื้นที่รวมกันเพียงแค่ 2.7 ตารางกิโลเมตร 

 1

แม้จะเป็นภูมิภาคเล็ก แต่ใช่ว่าความรักในฟุตบอลจะน้อยไปตามขนาด ชาวแคริบเบียน ชื่นชอบในกีฬาลูกหนังไม่ต่างจากภูมิภาคอื่น พวกเขาเคยมีตัวแทนผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลรอบสุดท้ายถึง 4 ทีมคือ คิวบา, เฮติ, จาไมกา และตรินิแดด และโตเบโก 

นอกจากนี้ พวกเขายังมีการแข่งขันแคริบเบียน คัพ ที่จัดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1989 และจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยก่อนที่สหพันธ์ฟุตบอลแคริบเบียนจะถูกรวมเข้ากับสมาพันธ์ฟุตบอลอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และแคริบเบียน (CONCACEF) มันคือหนึ่งในรายการที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคนี้ 

แม้จะไม่ใช่ถ้วยที่โด่งดังสำหรับโลกใบนี้ แต่สำหรับประเทศหมู่เกาะ ที่หลายชาติยังไม่ได้รับเอกราช นี่จึงเป็นเวทีในการแสดงศักยภาพในการแข่งขันนานาชาติ นอกเหนือจากฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก ที่กว่าจะเวียนมาถึงต้องใช้เวลารอถึง 4 ปี  

เช่นเดียวกับ เกรนาดา และ บาร์บาดอส สองประเทศเกาะที่มีระยะทางห่างกัน หากโดยสารด้วยเครื่องบินก็แค่ชั่วโมงเดียว และต่างไม่เคยผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลก หรือกระทั่งโกลด์คัพ (ฟุตบอลชิงแชมป์โซนคอนคาเคฟ) รายการนี้จึงเป็นบททดสอบสำคัญสำหรับพวกเขา ว่าอยู่ระดับไหนของภูมิภาค 

และในรอบคัดเลือก แคริบเบียน คัพ 1994 ทั้งสองทีมต่างโคจรกันมาพบกันในรอบแบ่งกลุ่ม ที่แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มละ 2-4 ทีม โดยเอาแชมป์กลุ่มทั้ง 6 กลุ่มเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายร่วมกับ มาร์ตินีค แชมป์เก่า และเจ้าภาพ ตรินิแดด และ โตเบโก

ในสมัยนั้น รอบคัดเลือกในแต่ละกลุ่มจะแข่งที่ประเทศเดียว แข่งขันแบบพบกันหมด ไม่มีเหย้า-เยือน ทำให้แต่ละทีมจะมีโปรแกรมทีมละ 2 นัด โดยครั้งนี้บาร์บาดอส ได้เป็นเจ้าภาพของกลุ่มที่ 1 ที่ได้มีโอกาสต้อนรับเกรนาดา และเปอร์โตริโก อีกหนึ่งชาติร่วมสาย 

ก่อนที่มันจะกลายเป็นการแข่งขันสุดเพี้ยนครั้งหนึ่งของโลก

เจ้าภาพลำบาก  

บาร์บาดอส เจ้าภาพพกความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยม แต่กลับล้มไม่เป็นท่า เมื่อเป็นฝ่ายประเดิมสนามด้วยความพ่ายแพ้ 0-1 ต่อเปอร์โตริโก ในขณะที่อีกคู่หนึ่งที่เตะกันอีก 2 วันต่อมา เปอร์โตริโก จะเป็นฝ่ายเสมอกับ เกรนาดา ใน 90 นาที

 2

จากผลดังกล่าว มันน่าจะทำให้ เปอร์โตริโก แทบจะลอยลำ เพราะถ้าตามปกติแล้ว พวกเขาจะมี 4 คะแนน และลุ้นให้เกรนาดา กับ บาร์บาดอส เสมอกันในนัดสุดท้าย แต่ไม่ใช่สำหรับรายการนี้ 

สหพันธ์แคริบเบียนในตอนนั้น กลัวการแข่งขันไม่สนุก จึงออกกฎพิเศษว่าทุกเกมในรอบแบ่งกลุ่มจะไม่มีผลเสมอ หากจบ 90 นาทีแล้วไม่มีผู้ชนะ ต้องต่อเวลาพิเศษออกไป แต่ถ้ายังเสมอกัน ก็จะตัดสินด้วยการยิงลูกโทษ ทำให้สุดท้ายในเกมนั้น เกรนาดา ก็เป็นฝ่ายเอาชนะไปได้ 2-0 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ 

ด้วยสกอร์ดังกล่าว ทำให้ตารางคะแนนในตอนนั้น เกรนาดา และเปอร์โตริโก มี 3 คะแนนเท่ากัน แต่เกรนาดา นำเป็นจ่าฝูง ด้วยประตูได้เสียที่ดีกว่า และเหลือการแข่งขันอีก 1 นัดที่จะเตะชี้ชะตากับ บาร์บาดอส เจ้าภาพ ที่จมอยู่ในอันดับสุดท้ายของตาราง 

เกรนาดา จึงอยู่ในสถานการณ์ที่ได้เปรียบ พวกเขามีประตูได้-เสียที่ตุนไว้ถึง 2 ลูก และ 3 คะแนนในนัดแรก ทำให้นัดสุดท้ายขอเพียงแค่ชนะ หรือแพ้ไม่เกิน 1 ประตู พวกเขาก็จะผ่านเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายเป็นสมัยที่ 3 ทันที 

ในขณะที่เจ้าภาพ ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ พวกเขายังไม่มีแต้มเลย แถมประตูได้ - เสียยังติดลบ 1 ทำให้เกมนัดสุดท้าย พวกเขาไม่เพียงต้องเอาชนะ แต่ยังต้องยิงให้ได้เกิน 2 ประตูอีกด้วย 

27 มกราคม 1994 คือวันชี้ชะตา เกมนัดนี้กำหนดเตะกันที่สนามกีฬาแห่งชาติบาร์บาดอส และกลายเป็นเจ้าภาพที่เป็นฝ่ายทำได้ดีกว่า เมื่อสามารถทำประตูออกนำเกรนาดาถึง 2 ลูก ซึ่งถ้าหากจบสกอร์นี้พวกเขาจะลอยลำทันที 

แต่ในนาทีที่ 83 กองเชียร์ของบาร์บาดอส ก็ต้องเงียบกริบ เมื่อเกรนาดา มาได้ประตูตื้นได้สำเร็จ สถานการณ์พลิกมาอยู่ฝั่งเกรนาดาแล้ว เพราะพวกเขาจะเป็นฝ่ายเข้ารอบ หากรักษาสกอร์นี้ไว้ได้ 

จากนั้น บาร์บาดอส จึงพยายามบุกหนัก เพราะพวกเขาต้องการอีกถึง 2 ประตู แต่ก็ไม่สามารถฝ่าแนวรับของ เกรนาดา ที่ลงมาตั้งรับเต็มตัว ยิ่งเข็มนาฬิกาเคลื่อนไป สถานการณ์ก็บีบคั้นเจ้าภาพเข้ามาทุกที

การยิง 2 ลูกในเวลาไม่กี่นาที เป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับบาร์บาดอส มันแทบจะเรียกได้ว่าปาฏิหาริย์ ในที่สุดพวกเขาก็ตัดสินใจทำในสิ่งที่ไม่คาดคิด

บูชายัญตัวเอง 

ฟุตบอลมักจะมีเรื่องเหนือความคาดหมายอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการยิง 2 ประตูในช่วงทดเจ็บของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในนัดชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก 1998-1999 หรือการถูกเอซี มิลาน นำไปก่อน 3 ลูกในครึ่งแรกของ ลิเวอร์พูล ในรายการเดียวกันเมื่อปี 2004-2005 ก่อนกลับมาคว้าแชมป์อย่างเหลือเชื่อในท้ายที่สุด 

 3

การตกอยู่ในสถานการณ์เป็นรองแล้วพลิกกลับมาได้ มักจะถูกเรียกเป็นตำนาน เช่นเดียวกับเกมระหว่าง บาร์บาดอส กับเกรนาดา เพียงแต่ครั้งนี้ มันเป็นตำนานที่ผิดแผกแปลกไปจากกรณีอื่นๆ 

ในตอนที่เกรนาดา ได้ประตูตีตื้น 1 - 2 บาร์บาดอส มีทางเลือกเดียวคือต้องยิงให้ได้อย่างน้อย 2 ประตูถึงจะเข้ารอบ ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ในช่วงเวลาอันน้อยนิด แต่พวกเขาก็มีแผนสำรอง โดยอาศัยประโยชน์จากกฎพิเศษในการแข่งขันครั้งนี้

เข็มนาฬิกาผ่านไปจนถึงนาทีที่ 87 แทนที่บาร์บาดอส จะเปิดเกมบุก พวกเขากลับส่งบอลไปในแดนหลังไปจนถึง เทอร์รี เซียลเลย์ กองหลังของทีม ในสนามต่างแปลกใจว่าพวกเขากำลังทำอะไร พวกเขาต้องการประตูไม่ใช่หรือ 

เซียลเลย์ ทำเหมือนกับบาร์บาดอส กำลังเข้ารอบ เมื่อเขาจัดการเคาะบอลเล่นไปมากับ ฮอเรซ สตูต ผู้รักษาประตู อยู่หน้าปากประตูตัวเอง แน่นอนว่าใครก็รู้ว่ามันคือการดึงเกม แต่มันไม่ควรสำหรับพวกเขา ที่กำลังต้องการประตูอย่างเร่งด่วน 

หลังเคาะบอลไปมาหลายวินาที เซียลเลย์ ก็ทำในสิ่งที่คู่แข่งไม่ได้คิดมาก่อน เมื่อจัดการหวดบอลตูมเดียว มันอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากเขาเตะบอลไปข้างหน้า เพียงแค่ครั้งนี้มันคือประตูตัวเอง เซียลเลย์ เตะบอลเต็มแรงเข้าไปตุงตาข่ายด้วยความตั้งใจ “ซวบ”! เกมกลับมาเสมอกันแล้ว 

 

บาร์บาดอส รู้ดีว่าด้วยเวลาที่จำกัด มันแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ต้องยิงถึง 2 ประตู พวกเขาจึงตัดสินใจใช้แผนสำรองให้เกมกลับมาเสมอกัน เพื่อไปลุ้นต่อในช่วงต่อเวลาพิเศษ เป็นการต่อชีวิตในเฮือกสุดท้าย 

“โค้ช (คีธ กริฟฟิธ) วางแผนนี้มาตั้งแต่ที่โรงแรมตอนที่เราประชุมทีม เขาบอกเราให้รู้สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในช่วงท้ายของเกม เราต้องยิงประตูตัวเองให้เกมกลับมาเสมอ” ฮอเรซ สตูต ผู้รักษาประตูของบาร์บาดอส ย้อนความหลังกับ The Cauldron

“เทอร์รี เซียลลี จ่ายบอลมาให้ผมและบอกว่า ‘ปล่อยมันเข้าไปเลย’ ผมบอกไปว่า ‘ไม่ อย่าทำให้ดูเป็นการทำเข้าประตูที่ชัดเจนเกินไป นั่น คือ เหตุผลว่าทำไมผมจึงจ่ายบอลคืนให้เขา เขาจ่ายให้ผมอีกสองสามครั้ง จากนั้นก็หวดตูมเข้าไปในประตู”

อย่างไรก็ดี ประตูตีเสมอทำให้เกรนาดารู้สึกตัว พวกเขาเข้าใจแล้วว่า บาร์บาดอส ต้องการทำอะไร  และพวกเขาเองก็อาจจะเป็นฝ่ายตกรอบ หากปล่อยให้มีการต่อเวลาพิเศษไป พวกเขามีทางเลือก คือ ต้องยิงประตูขึ้นนำ หรือไม่ก็ต้องเสียเพิ่มอีกประตู เพื่อให้แพ้ด้วยผลต่างประตูเดียว

ราวกับไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ บาร์บาดอส ก็รู้ว่าคู่แข่งของพวกเขาคิดอะไร และเตรียมแผนรับมือไว้แล้ว ทำให้อีก 3 นาทีก่อนครบ 90 นาที กลายเป็นการแข่งขันที่แปลกประหลาด เกรนาดา พยายามยิงประตูตัวเอง ในขณะที่ บาร์บาดอส เป็นฝ่ายป้องกันประตูของคู่แข่ง  

จากนั้นในช่วงทดเวลาเจ็บ 5 นาที ในขณะที่ เกรนาดา กำลังสับสนว่าไม่รู้จะยิงประตูทางไหนดี-ประตูตัวเองหรือประตูคู่แข่ง บาร์บาดอส ก็ใช้แผนสองด้วยการ ส่งผู้เล่น 5 คนไปป้องกันประตูตัวเอง ส่วนอีก 5 คนไปป้องกันประตูคู่แข่ง กลายเป็นรูปแบบการเล่นที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน จนสุดท้ายพวกเขาก็เสมอกัน 2-2 ในเวลาปกติ 

 5

“สิ่งที่เกรนาดาควรทำคือไปเอาบอลมาแล้วยิงเข้าประตูตัวเอง (ก่อนที่เราจะรู้ตัว) เราเคยคุยกันก่อนเกมว่าจะทำอย่างไรถ้าเกรนาดารู้แผนเราแล้ว เราก็เลยให้ตัวรุกของเรา ไปป้องกันประตูของเกรนาดา และกองหลังของเราก็ป้องกันประตูของเราอย่างที่เห็น” สตูต อธิบาย

“ผมไม่เคยเห็นแทคติกนี้จากโค้ชคนไหน ผมไม่รู้ว่าเขาคิดออกได้ไง คิดถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น แต่เขาก็คิดได้ เขาบอกเรา และเราก็ทำมัน” 

และนั่นไม่ใช่เรื่องผิดเพี้ยนเพียงเรื่องเดียวในวันนั้น เพราะในการต่อเวลาพิเศษ พวกเขายังนำกฎโกลเด้นโกล ที่ถูกคิดค้นในฟีฟ่าเมื่อปี 1993 มาใช้ในการแข่งขันในทัวร์นาเมนต์นี้ 

ตามปกติแล้วกฎนี้มีเงื่อนไขง่ายๆคือ ทีมที่ยิงประตูแรกในช่วงต่อเวลา จะเป็นฝ่ายชนะและเกมจบลงทันที แต่ครั้งนี้ดันมีอะไรมากกว่านั้น 

ไม่รู้ว่าส.บอลแคริบเบียน นึกสนุกแต่อย่างใด เพราะนอกจากการเพิ่มระบบต่อเวลาและยิงจุดโทษ เข้ามาในการแข่งขันในรอบแบ่งกลุ่ม พวกเขายังแก้กฎว่าประตู “โกลเด้นโกล” ที่ยิงได้ในช่วงต่อเวลาพิเศษจะถูกนับเป็น 2 ลูก 

และมันก็เข้าทางบาร์บาดอส เมื่อพวกเขาต้องการ 2 ประตูเพื่อเข้ารอบพอดิบพอดี

ไม่ได้โกง แค่ทำตามกฎ

ราวกับเขียนบทเอาไว้เมื่อในช่วงเวลาพิเศษ บาร์บาดอส ก็มาได้ประตูชัยที่ต้องการ  เป็นประตูโกลเด้นโกลด้วยกฎพิเศษ ที่แม้จะยิงเพิ่มได้ลูกเดียว แต่ก็ถูกนับเป็นสองประตู ช่วยให้พวกเขาเอาชนะไปได้ 4-2 ครบตามเงื่อนไข ผ่านเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายได้สำเร็จ 

ส่วนเกรนาดา ผู้ปราชัยในนัดนั้น รู้สึกผิดหวังกับเกมนัดดังกล่าว พวกเขารู้สึกเจ็บปวดมาก ที่มาโดนแทคติกที่คาดไม่ถึงของคู่แข่งชิงโควต้าในรอบสุดท้ายไปต่อหน้าต่อตา จากกฎสุดผิดเพี้ยนของการแข่งขัน 

“ผมรู้สึกเหมือนโดนโกง คนที่ตั้งกฎนี้ขึ้นมา จะต้องป่วยทางจิตอย่างแน่นอน เกมไม่ควรออกมาให้นักเตะต้องวิ่งในสนามกันอย่างสับสน” เจมส์ คลาคสัน ผู้จัดการทีมเกรนาดาในตอนนั้นกล่าวหลังเกม 

“ผู้เล่นของเราไม่รู้แม้กระทั่งต้องบุกไปทางไหน ประตูของเราหรือประตูคู่แข่ง ผมไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน สำหรับฟุตบอลมันต้องเป็นการทำประตูคู่แข่งเพื่อชนะ แต่ไม่ใช่สำหรับพวกเขา” 

ท้ายที่สุดหลังเกมวันนั้น ก็ไม่มีบทลงโทษอะไรต่อบาร์บาดอส เนื่องจากพวกเขาทำตามกฎของการแข่งขัน พวกเขายืนยันว่าพวกเขาไม่ได้โกง เพียงแค่ใช้กฎพิเศษ สร้างโอกาสให้กับตัวเองมากที่สุด 

“ผมคิดว่าเราเล่นตามกฎ แม้ว่าวิธีการเล่นของเรามันจะแปลกก็ตาม แต่สุดท้ายคุณก็ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อชัยชนะทั้งนั้นแหละ” คีธ กริฟฟิธ กุนซือของบาร์บาดอสกล่าวกับ The Cauldron

อย่างไรก็ดี ผลงานในรอบสุดท้ายของบาร์บาดอส ก็ไม่ได้ดีมากมาย คว้าชัยไม่ได้แม้แต่นัดเดียว ด้วยการเสมอกับโดมินิกัน และ กัวเดอลุป และพ่ายต่อ ตรินิแดดฯ เจ้าภาพ ตกรอบแรกด้วยอันดับ 3 ของกลุ่ม และไม่เคยได้เข้าไปเล่นในรายการนี้อีกเลยจนกระทั่งปี 2001 ก่อนจะได้สัมผัสกับเวทีนี้อีก 4 ครั้ง (2001, 2005, 2007, 2008)

ส่วน เกรนาดา พวกเขาแก้ตัวได้ในปี 1997 และเข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศในรอบสุดท้าย ก่อนทำได้เพียงอันดับ 4 และสามารถไปไกลถึงตำแหน่งรองแชมป์ในปี 2008 ก่อนที่การแข่งขันจะยุบไปในอีก 9 ปีต่อมา 

ส่วน “กฎโกลเด้นโกล” ของจริง มันได้ถูกฟีฟ่านำมาใช้จริงหลังจากนั้น โดยประเดิมในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 1996 และฟุตบอลโลก 1998 และถูกใช้เรื่อยมาจนถึงปี 2004 ก่อนถูกยกเลิกไป 

ในขณะที่กฎโกลเด้นโกล 2 ลูก นอกจากเกิดขึ้นในแคริบเบียนคัพ 1994 รอบคัดเลือกอีก 5 ครั้ง มันก็ไม่เคยถูกนำไปใช้ในรายการไหนอีกเลย แม้กระทั่งแคริบเบียน คัพ รอบสุดท้าย ก่อนถูกลืมเลือนหายไปตามกาลเวลา 

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ ยิงประตูตัวเองเพื่อเข้ารอบ : "บาร์บาดอส-เกรนาดา" เกมการแข่งขันสุดเพี้ยนของโลก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook