เรื่องราวความใจบุญของเหล่าสตาร์ NBA

เรื่องราวความใจบุญของเหล่าสตาร์ NBA

เรื่องราวความใจบุญของเหล่าสตาร์ NBA
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หนึ่งในสิ่งซึ่งต้องแลกกับการมีชื่อเสียงของใครสักคน โดยไม่สนว่าจะเป็นวงการใด คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งนั้นคือ “ความเป็นส่วนตัว”

เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นแทบจะทันทีหลังกลายเป็นคนดังนั้น คือการที่ผู้คนมากมายจับตามองในแทบจะทุกอิริยาบถ ว่าจะกินอะไร จะนอนที่ไหน จะใช้ชีวิตอย่างไร ใช้รถคันไหน ใช้สินค้าแบรนด์เนมไหน ซึ่งเหล่านักกีฬา อย่างเหล่าซูเปอร์สตาร์ในบาสเกตบอล NBA ก็หนีไม่พ้น เพราะพวกเขานั้นมีรายได้มหาศาล หลายคนเป็นเศรษฐีระดับพันล้านเลยทีเดียว และเงินที่นักบาสเหล่านั้นได้มาจากค่าตัว ค่าสปอนเซอร์ ค่าโฆษณาสินค้า การออกรายการ ส่วนแบ่งจากผลิตภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งธุรกิจของตนเอง หากพูดแบบไม่ต้องเกรงใจคือ เงินเหล่านั้น “กินทั้งชาติก็ไม่หมด” 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะเห็นการใช้ความมั่งคั่งในมุมที่สื่อพยายามหยิบยกมานับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นซูเปอร์คาร์นับสิบๆ คันของ ไมเคิล จอร์แดน, เพนเฮาส์หรูหราทั่วสหรัฐอเมริกาของ เลบรอน เจมส์ หรือแม้กระทั่งชีวิตที่แฟชั่นจ๋า แบรนด์เนมทั้งตัวของ รัสเซล เวสบรูค แต่ขณะเดียวกัน ก็มีการใช้เงินทองที่หามาได้ในมุมมองที่ผู้คนมักจะมองข้ามไปเช่นกัน ซึ่งหากเปรียบด้วยคำในภาษาไทยคงเป็นคำว่า “ความใจบุญ”

 

ว่ากันด้วยเรื่อง ความใจบุญ จิตอาสา หรือการให้สิ่งดีๆ กับเยาวชนและสังคมนั้น ถือเป็นสิ่งที่นักกีฬานิยมทํากันมากมาย ตั้งแต่ยุค 1980s เป็นต้นมา เมื่อนักกีฬาหลายคนจากหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็น NBA, อเมริกันฟุตบอล NFL, เบสบอล MLB หรือลีกกีฬาอื่นๆ ต่างมีการบริจาคคืนกําไรกลับสู่สังคม จริงอยู่ที่เรื่องนี้อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกฏหมายที่สหรัฐอเมริกา หรือหลายๆ ประเทศนั้นชอบใช้กันคือ เงินบริจาคสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ แต่พวกเขาก็ยินดีทำ ไม่ว่าจะเป็นการทำโดยส่วนตัวหรือผ่านโครงการของลีกก็ตาม

ไม่เพียงเท่านั้น หลายคนยังเลือกที่จะทำแบบปิดทองหลังพระ ไม่เน้นออกสื่อให้เป็นที่เอิกเกริก อย่างเช่น สก็อตตี้ พิพเพ่น หนึ่งจาก 3 ทหารเสือแห่ง ชิคาโก้ บูลส์ ในยุค 1990s ที่ซื้อบัตรเข้าชมเกม NBA เกมละประมาณ 20 ใบเพื่อให้เด็กๆ ที่ด้อยโอกาสได้มาชม หรือ เบน วอลเลซ เซ็นเตอร์ ดีทรอยต์ พิสตันส์ ชุดแชมป์ปี 2004 ที่มักจะไปทํากิจกรรมการกุศล ไม่ว่าจะเป็นบริจาคอุปกรณ์การเรียน หรือเปิดคลินิคเล่นบาส แม้กระทั่ง 3 สหายระดับออลสตาร์จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ที่นําโดย แพทริค ยูวิง, อลองโซ่ มัวร์นิ่ง และ ดิเคมเบ้ มูตอมโบ้ ที่ต่างใช้เวลาช่วงปิดฤดูกาลไปสอนบาสเกตบอลให้กับมหาวิทยาลัยเก่าตนเอง และไปทําประโยชน์ให้แก่ชุมชนแถวๆ มหาวิทยาลัย

และด้วยความที่วงการ NBA นั้นมีธรรมเนียมปฏิบัติคือ รุ่นพี่จะทำหน้าที่สั่งสอนรุ่นน้อง ปลูกฝังค่านิยมที่ถูกที่ควรต่างๆ ให้เสมอๆ นั่นทําให้นักบาสเกตบอลระดับซูเปอร์สตาร์ รวมถึงนักบาสดาวรุ่ง มีกิจกรรมทําประโยชน์แก่สังคมในด้านใดด้านหนึ่งที่ตนเองนั้นถนัดและสามารถที่จะทําได้แทบทุกคน ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ภาพของ “นักบาสใจบุญ” ใน NBA นั้นเด่นชัดสุดๆ และที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น...

เลบรอน เจมส์

เลบรอน ถือเป็นนักกีฬา รวมถึงคนที่มีความมุ่งมั่นในการทําเพื่อสังคมอย่างแท้จริง แม้เขาจะเป็นนักบาสที่มีคนไม่ชอบหน้า หรือแม้แต่ตั้งตัวเป็น “Hater” ผู้เป็นกองแช่งอย่างเปิดเผยมากที่สุดคนหนึ่ง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า นี่คือคนที่ทําเพื่อสังคมโดยไม่หวังผลตอบแทนตัวจริงคนนึงของ NBA เลยทีเดียว

 1

เลบรอนมีความฝันที่ยิ่งใหญ่สำหรับตัวเองอยู่เรื่องหนึ่ง คือการ “เปิดโรงเรียนที่มีอุปกรณ์การเรียน และช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสให้เติบโต และมีอนาคต” ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในความคิดของเขามาโดยตลอด จากวัยเด็กที่ยากจนข้นแค้น มีคุณแม่เลี้ยงดูเพียงลำพัง (คุณพ่อของเลบรอนมีประวัติอาชญากรรมเป็นหางว่าว จนไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเขาเลย) และอยู่ในย่านเสื่อมโทรมที่เต็มไปด้วยอาชญากรรม ทำให้เขาสัญญากับตัวเองตั้งแต่นั้นว่าจะทําให้ชุมชนที่เขาอยู่และใกล้เคียงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่ขาดในตอนนั้นคือ ทุนทรัพย์ 

หลังจากที่สร้างชื่อเสียงและเงินทองจากการแข่งขันกีฬามากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ที่สุดเจ้าตัวก็สานฝันเพื่อสังคมของตนเองสําเร็จเมื่อปี 2018 นี้เอง ด้วยการตัดสินใจสร้างโรงเรียนที่มีทุกสิ่งตามที่ฝันไว้ เพื่อให้เด็กๆ ได้มีโอกาสและอนาคตและที่ดี นั่นคือ I Promise School ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองแอครอน รัฐโอไฮโอ บ้านเกิดของเขานั่นเอง

 2

“มันเป็นความฝันของผมตั้งแต่เด็กแล้ว ผมอยากทําอะไรที่ดีให้แก่ชุมชน อยากให้เด็กได้เรียน ได้มีโอกาส ผมสร้างโรงเรียนนี้ขึ้นมา และอยากให้เน้นถึงความเป็นครอบครัว เพราะตอนเด็กนั้นผมเคยไม่มีมาก่อน ผมรู้จักแถวนี้ดีมาก เด็กๆ ผมขี่จักรยานอยู่แถวนี้ ผมรู้เลยว่าแถวนี้มีแต่ความทุกข์ยาก ไม่สมบูรณ์ แล้วตอนนี้ผมมีเงินเพียงพอ ทําไมผมจะไม่ทําให้ที่ที่ผมอยู่มามันดีขึ้นล่ะ” นี่คือสิ่งที่เลบรอนเปิดใจถึงเบื้องหลังในการก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้

I Promise School โรงเรียนแห่งสัญญาและความภูมิใจของเลบรอนนั้น ใช้ทุนในการก่อตั้งมากกว่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยใช้หลักสูตร STEM-Base หรือ The Family Resource Center ที่เน้นการวางแผนร่วมกับครอบครัวเด็ก และให้ครอบครัวเป็นศูนย์กลาง อีกทั้งมีแผนที่จะผูกหลักสูตรกับมหาวิทยาลัยแอครอนด้วยในอนาคต นอกจากโรงเรียนแล้ว ยังมีศูนย์กีฬาในร่มและกลางแจ้ง ที่ร่วมสร้างกับมูลนิธิของ 2K บริษัทผู้ผลิตเกม NBA 2K อันโด่งดัง 

โรงเรียนแห่งนี้จะเปิดแบบเต็มหลักสูตรในปี 2022 และคาดว่าจะมีรายจ่ายปีละหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะไม่ได้เน้นธุรกิจ แต่เป็นการคืนกําไรสู่สังคม จากการที่ I Promise School คือโรงเรียนสาธารณะที่พ่อแม่สามารถส่งเด็กเข้ามาเรียนได้แบบแทบไม่ต้องเสียเงินเลย โดยโรงเรียนรับภาระให้แทบจะทั้งหมด ซึ่งเลบรอนยังเผยด้วยว่า “ผมสัญญากับตัวเอง ไม่เคยบอกใครว่า ผมจะทําให้ชุมชนนี้ดีขึ้นตั้งแต่ยังเด็ก และเมื่อผมมีพอ ผมต้องทําตามสัญญาที่ผมตั้งมั่นไว้”

 3

ไม่ใช่เพียงแค่โรงเรียนแห่งนี้เท่านั้น จิตกุศลของเลบรอนนั้นมีมากมาย อาทิ การบริจาคเงินกว่า 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แอฟริกัน-อเมริกันของสหรัฐอเมริกา หรือบริจาคอีก 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้มูลนิธิบอยส์แอนด์เกิร์ลคลับ ที่ให้ความช่วยเหลือแก่เยาวชน และเจ้าตัวยังได้ตั้งมูลนิธิ Lebron James Family ขึ้นมาเพื่อระดมทุน บริจาคเงิน ช่วยกิจกรรมการกุศลอื่นๆ อีกมากมาย

รัสเซล เวสบรูค

คุณอาจจะเห็นภาพของ เวสบรูค อยู่ในสายแฟชั่น จากการที่มีร้านเสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องประดับสุดหรูหราของเขาในมหานครนิวยอร์ก แถมการเปิดตัวของเวสบรูคก่อนเข้าสนามแต่ละครั้ง จะเรียกว่า “หลุดมาจากแคทวอล์ค” เลยก็ยังได้ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อโค้ท, นาฬิกา, กางเกง, รองเท้า ทุกอย่างล้วนมีสไตล์และความแพง ซึ่งเคยมีสื่อนำไปประเมินราคาแล้วพบว่า เสื้อผ้าเครื่องประดับที่เขาใส่เดินทางมายังสนามแข่งแต่ละครั้ง มีมูลค่าสูงกว่า 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว

 4

แม้เราอาจจะเห็นเวสบรูคในมุมของการอวดร่ำอวดรวย อีกทั้งภาพลักษณ์ในสนามยังมีความดุดัน, ก้าวร้าว, มุ่งมั่น, เน้นโชว์ผลงานตัวเองให้โดดเด่นจนหลายคนมองว่าไม่ยอมทำเพื่อทีม รวมถึงมีปากเสียงกับแฟนๆ อยู่บ่อยๆ แต่ รัสเซล เวสบรูค ยังมีอีกมุมหนึ่งที่หลายคนอาจยังไม่เห็น นั่นคือ “ความใจดีและทําเพื่อสังคม” 

ความใจดีของเวสบรูคนั้นมีเยอะมากมาย อย่างเช่นเหตุการณ์เมื่อปี 2015 เขาได้ข่าวว่า คริสทิน กอนซาเลส ซิงเกิลมัมชาวโอกลาโฮมาที่มีลูกน้อย 2 คน ประสบความลำบากในการเดินทางไปส่งลูกน้อยที่โรงเรียนเนื่องจากขาดยานพาหนะ แม้เธอจะขยันตัวเป็นเกลียว รวมถึงได้รับการยกย่องจากที่ทํางานและเพื่อนๆ ว่า เป็นคนดีและรักลูกมากก็ตาม เมื่อเวสบรูครู้ถึงความลําบากนี้ เขาจึงเดินทางไปเซอร์ไพรส์กอนซาเลส ด้วยการนํารถ SUV ที่ได้เป็นรางวัลจากการเป็น MVP ในเกมออลสตาร์ปีดังกล่าวไปมอบให้ ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

 5

โดยหลังจากปาดน้ำตาจากความดีใจแล้ว กอนซาเลสเผยว่า “เขา (เวสบรูค) ยื่นกุญแจให้ฉัน มันเหมือนเรื่องตลก แต่เขาบอกว่ามันคือรางวัลของฉัน และคุณมีช่วงเวลาที่ยากลําบากพอแล้ว เท่านั้นแหละ ชั้นเชื่อว่ามันคือความจริง ขอบคุณรัสเซลมากๆ” ซึ่งเวสบรูคก็ได้บอกว่า “เธอทํางานหนักเพื่อลูกๆ มามากพอแล้ว ผมแค่อยากให้เธอได้อยู่กับครอบครัวของเธอมากขึ้นก็เท่านั้น” ไม่เพียงเท่านั้น ในปีต่อมา เวสบรูคยังนำรถที่ได้จากการเป็น MVP ในเกมออลสตาร์ไปมอบให้กับครอบครัวอิบราฮิมในมหานคร ลอสแอนเจลิส ซึ่งกำลังประสบภาวะลำบากเมื่อรถคันเดิมของพวกเขาพังอีกด้วย

นอกจากนั้น เวสบรูคยังได้ก่อตั้ง Russell Westbrook Why Not? Foundation ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ได้ชื่อจากฉายาที่สื่อตั้งให้ โดยเจ้าตัวเผยถึงจุดกำเนิดของมูลนิธิแห่งนี้ว่ามาจาก “เด็กๆ” เนื่องจากเขาเคยตั้งคำถามกับตัวเองตอนเด็กๆ เยอะมาก อย่าง “เรื่องนี้มันเกิดขึ้นเพราะอะไร?” “ทําไมไม่ทําอย่างนั้นหรืออย่างนี้?” จนคุณแม่ของเขาบอกว่า “ทําไมลูกไม่ทําเลยละ” นั่นทําให้เวสบรูคนําคํานี้มาใช้ และเขาอยากให้เด็กๆ มีแรงบันดาลใจที่จะสู้ชีวิต ไม่ท้อถอย โดยมูลนิธิแห่งนี้เน้นความสำคัญในการให้การศึกษากับเด็กๆ ตามชุมชนต่างๆ รวมถึงแรงบันดาลใจกับเด็กๆ ทุกคนให้สู้ชีวิต ซึ่งในการไปเยือนชุมชนของเวสบรูคแต่ละครั้ง เขาจะไม่เรียกสื่อให้ตามไปทำข่าว เพราะต้องการความเป็นส่วนตัว โดยกิจกรรมก็จะประกอบด้วยการเลี้ยงอาหาร บริจาคเงิน และช่วยกิจกรรมอื่นๆ ในชุมชนแบบเป็นกันเองมากๆ 

เวสบรูคเปิดใจถึงการทำกิจกรรมในแบบของเขาว่า “มันดีมากๆ เลยนะกับการทําการกุศลนี้ มันทําให้ผมรู้จักชื่อ ครอบครัวของเด็กๆ ทุกคน รู้ว่าเขาชอบอะไรบ้าง” ขณะที่ พริสซิลล่า ควินทาน่า แม่ของเด็กน้อยที่เคยมารับการช่วยเหลือจากมูลนิธิเวสบรูคเคยเล่าว่า “รัสเซลเป็นคนขี้อาย และชอบพูดเรื่องตลก เขามาเลี้ยงอาหารกับชุมชนของเรา และลูกฉันก็เป็นหนึ่งในนั้น ตอนท้ายเขาชวนเด็กๆ ไปชอปปิ้ง เลือกของที่อยากได้ นั่นมันยอดเยี่ยมมากๆ” 

และอีกสิ่งที่ตอกยํ้าความเป็นคนรักเด็กมากๆ ของเวสบรูคเกิดขึ้นก่อนช่วงคริสต์มาสปี 2015 เมื่อเขาได้ข่าวว่า มีเด็กน้อยวัย 13 ปีในโอกลาโฮมาชื่อ จาเนห์ โชคร้ายถูกกระสุนปืนลูกหลงจากการยิงกันบริเวณที่เขาขี่จักรยานผ่านเข้าที่คอ ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าอาจต้องเป็นอัมพาตตลอดชีวิต และสิ่งที่จาเนห์ขอพรในคริสต์มาสแห่งฝันร้ายในปีนั้นคือ “อยากเจอกับ รัสเซล เวสบรูค สักครั้ง”

 6

วันต่อมา โทรศัพท์ในโรงพยาบาลศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพเด็ก โอกลาโฮมา ซิตี้ ดังขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ของที่นั่นเผยว่า “เราเพิ่งได้รับโทรศัพท์จากรัสเซล เขาโทรมาอย่างเร่งด่วนว่าอยากพบจาเนห์ และเขาเดินทางใกล้จะถึงโรงพยาบาลแล้ว เมื่อเราพบรัสเซลในมือของเขามีเสื้อและรองเท้าพร้อมลายเซนต์ของเขา” 

รัสเซล เวสบรูค นําเสื้อและรองเท้าพร้อมลายเซ็นของเขาไปให้กับจาเนห์ และพูดคุยอย่างสนุกสนานและส่วนตัวกว่าหนึ่งชั่วโมง แม้ว่าจาเนห์จะเป็นแฟน เลบรอน เจมส์ ก็ตาม แต่เวสบรูคก็แซวขําๆ พร้อมเล่ามุกตลกฝืดที่ชอบเล่าให้ฟัง และก่อนไปเขาได้เซ็นเช็คจํานวนหนึ่งไว้ให้กับเด็กน้อยด้วย

คริส พอล

หลายคนคงจําพอลจากการเล่นที่มีลูกตุกติกเยอะ หรือแอคชั่นที่มากมาย แต่อย่างไรก็ตาม เบื้องลึก คริส พอล คือนักบาสเกตบอลที่รักเด็ก รักชุมชนและสังคมอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเงินส่วนตัว 2.5 ล้านเหรียญให้กับมหาวิทยาลัย เวค ฟอเรสต์ ที่เขาเคยศึกษา เพื่อซื้ออุปกรณ์การกีฬา บริจาคเป็นทุนการศึกษา รวมถึงช่วยโครงการกีฬาและชุมชนของมหาวิทยาลัย 

 7

ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยความที่ คริส พอล นั้นมีลูกน้อย ทําให้เขานั้นรักเด็ก และเข้าใจเด็กเป็นอย่างมาก อย่างเหตุการณ์ในช่วงวันขอบคุณพระเจ้าปี 2014 เมื่อเขาได้เห็นคลิปที่ แจ็ค กัลลาเกอร์ จากเมืองอีรี่ รัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งเพิ่งสูญเสีย ลิซ่า เอไลเน่ คุณแม่จากโรคมะเร็งสมอง พูดถึงเรื่องราวความรักที่มีต่อคุณแม่ที่ซื้อรองเท้า Air Jordan CP3 ให้เป็นของขวัญ ซึ่งนอกจากจะใส่มันลงเล่นบาสแล้ว ยังนำมันไปวางเป็นกระถางดอกไม้ที่หลุมฝังศพเวลามาเยี่ยมอีกด้วย โดยคำขอที่แจ็คเขียนไว้ในคลิปคือ “อยากให้ CP3 สวมรองเท้าที่เขียนข้อความ L.E.G. (ตัวอักษรแรกของชื่อคุณแม่) ลงสนามสักนัด” 

เมื่อพอลได้เห็นคลิปนี้เข้า สิ่งที่เขาทําตอนนั้นเลยคือ ช่วยให้ทีมงานพาแจ็คและครอบครัวมาหาเขาที่สนาม ในเกมที่ แอลเอ คลิปเปอร์ส ต้นสังกัดของเขาในตอนนั้นไปเยือน ดีทรอยต์ พิสตันส์ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2014 โดยนอกจากแจ็คกับครอบครัวจะได้ดูเกมการแข่งขันแล้ว คริส พอล ยังมอบรองเท้าของเขาอีก 3 คู่พร้อมลายเซ็นให้ และเหนืออื่นใด พอลได้เขียนชื่อคุณแม่ของแจ็คลงบนรองเท้าที่ใส่เล่นในเกมดังกล่าวด้วย ซึ่งหลังเกมพอลเปิดใจว่า “มันเป็นสิ่งเพียงเล็กน้อยที่ผมจะทําเพื่อเขาได้จริงๆ เรื่องราวของแจ็คนั้นน่าทึ่ง เขากตัญญูและรักคุณแม่มาก ผมแค่หวังว่าอะไรก็ได้ที่ทําให้เขามีความสุขและยิ้มได้ ผมจะทํามัน ผมเคยสูญเสียมาก่อน ผมทราบดีว่ากําลังใจเป็นสิ่งจําเป็น”

 8

ก่อนหน้านั้น ในปี 2005 คริส พอล ได้เปิดมูลนิธิ Chris Paul Family ขึ้น ซึ่งเป็นมูลนิธิที่เน้นการช่วยเหลือชุมชน และวางรากฐานคุณภาพชีวิต สุขภาพให้กับเด็กๆ จากคำสอนของปู่ตั้งแต่ตอนที่จำความได้ว่า ให้ช่วยเหลือเด็กๆ และคนที่ขาดโอกาส ช่วยเหลือเด็กๆ โดยพอล และครอบครัว พ่อแม่ พี่ชายน้องสาวเขามีส่วนร่วมและก่อตั้งขึ้น มูลนิธิแห่งนี้เป็นมูลนิธิที่ไม่หวังผลกําไร และได้มีการเชื่อมโยงไปกับมูลนิธิเด็กและสังคมอีก 5 แห่ง รวมถึงมหาวิทยาลัยเวค ฟอเรสต์ด้วย 

แม้เขาจะไม่เปิดเผยอย่างโจ่งแจ้ง แต่การทำความดีมาอย่างต่อเนื่อง ที่สุดแล้วก็มีคนเห็น โดยทาง NBA ได้มอบรางวัลช่วยเหลือสังคมดีเด่น หรือ NBA Community Assist Award ให้ถึง 4 ครั้ง โดยภารกิจของมูลนิธิแห่งนี้ ส่วนหนึ่งจะเน้นการบริจาคอุปกรณ์คอมพิวเตอร์กับเทคโนโลยีให้แก่โรงเรียนและชุมชน รวมถึงเมื่อมีโปรแกรมว่าง พอลจะจัดโบว์ลิ่งการกุศลเพื่อระดมทุนช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสอีกด้วย

 9

นอกจากนี้ยังมีนักบาสเกตบอล NBA อีกหลายต่อหลายคนที่ทําประโยชน์เพื่อสังคม ชุมชน และผู้ด้อยโอกาส ไม่เว้นแม้แต่ ไมเคิล จอร์แดน นักบาสเกตบอลที่รวยที่สุดในโลก

โดยเขาบริจาคให้กับองค์กร มูลนิธิ หรือผู้ประสบภัยในทุกๆ ปี อาทิ บริจาคเงิน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับผู้ประสบภัยจากพายุเฮอริเคนฟลอเรนซ์, บริจาคเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้สภากาชาดอเมริกา, บริจาค 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับองค์กรสุขภาพในเมืองชาร์ลอตต์ เมืองที่เขาเป็นเจ้าของทีม ชาร์ลอตต์ ฮอร์เนตส์, บริจาค 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แอฟริกัน-อเมริกัน หรือให้อีก 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯกับกองทุนตํารวจชุมชน โดยยังมีอีกกว่า 50 แห่งที่จอร์แดนนั้นบริจาคและมีส่วนร่วม เมื่อคิดเป็นเงินก็อยู่ที่ราวๆ เกือบ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ซึ่งจอร์แดนเคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ผมเติบโตมาจากครอบครัวที่ไม่รวยมาก พื้นฐานครอบครัวเป็นสิ่งสําคัญพ่อผมสอนเสมอให้ช่วยเหลือผู้คนเมื่อมีโอกาส การให้โอกาสแก่สังคมที่เติบโตมาเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และการช่วยเหลือผู้คน เด็กๆ ก็เป็นสิ่งที่จําเป็นมาก”

 10

การบริจาคเพื่อการกุศล, การก่อตั้งมูลนิธิ หรือการให้โอกาส ให้แรงบันดาลใจแก่เด็กๆ สังคม และชุมชนนั้น หลายคนอาจมองว่า “เพราะนักบาสเหล่านั้นมีเงินเลยทําได้” หรือ “เป็นอีกหนึ่งรูปแบบในการประชาสัมพันธ์ตนเอง” และข้ออ้างต่างๆ นานา แต่สิ่งหนึ่งที่นักบาสเหล่านี้เห็นตรงกันคือ พวกเขาอยู่อย่างยากไร้ในตอนเด็กๆ และการใช้ชีวิตด้วยความยากลําบากนั้นโหดร้ายเพียงใด

ซึ่งสิ่งที่ดีที่สุดที่พวกเขาสามารถทำได้เมื่อเติบโตและมั่งมีแล้วก็คือ “คืนกําไร และส่งต่อสังคมที่ดีกว่าให้คนรุ่นต่อไป” นั่นเอง

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ เรื่องราวความใจบุญของเหล่าสตาร์ NBA

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook