"โคโซโว" : ชาติจากสงครามที่ใช้เวลาไม่กี่ปีสู่แถวหน้าของวงการฟุตบอล

"โคโซโว" : ชาติจากสงครามที่ใช้เวลาไม่กี่ปีสู่แถวหน้าของวงการฟุตบอล

"โคโซโว" : ชาติจากสงครามที่ใช้เวลาไม่กี่ปีสู่แถวหน้าของวงการฟุตบอล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชื่อของ “โคโซโว” เริ่มคุ้นหูแฟนฟุตบอลมากขึ้น จากผลงานโดดเด่น ทั้งในเกมอุ่นเครื่อง และยูโร 2020 รอบคัดเลือก แม้ว่านัดล่าสุดจะบุกไปพ่ายอังกฤษอย่างสนุก แต่ก็มีลุ้นเข้าไปเล่นในรอบสุดท้าย หลังรั้งอยู่ในอันดับ 3 ของตาราง

ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน พวกเขาเป็นเพียงชาติเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสงครามในประเทศ ที่ทำให้มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก และหลายล้านคนต้องทิ้งถิ่นฐานในบ้านเกิด อพยพหนีภัยไปอยู่ในต่างประเทศ 

ในขณะที่ด้านฟุตบอล พวกเขาแทบไม่มีตัวตน เนื่องจากไม่ได้รับการรับรองจากฟีฟ่า และยูฟ่า จึงทำได้เพียงลงเตะในเกมอุ่นเครื่องอย่างไม่เป็นทางการ และไม่มีแม้แต่โอกาสลงเล่นในรอบคัดเลือกของฟุตบอลโลก และฟุตบอลยูโร

 

แต่ช่วงเวลาไม่กี่ปี โคโซโว ก็สามารถพลิกสถานการณ์ จนมีลุ้นเข้าไปเล่นในทัวร์นาเมนต์ระดับเมเจอร์  พวกเขาทำได้อย่างไร ร่วมค้นหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand 

อดีตดินแดนยูโกสลาเวีย 

ยูโกสลาเวีย เป็นหนึ่งในประเทศที่ยิ่งใหญ่ของฝั่งยุโรปตะวันออก พวกเขาประกอบไปด้วยคนหลากหลายชาติพันธุ์ หลายรัฐที่มารวมกันเป็นประเทศ และหนึ่งในนั้นคือ โคโซโว ดินแดนที่ตั้งอยู่ใจกลางของคาบสมุทรบอลข่าน 

 1

นายพลโยซิป โบรซ ติโต คือผู้นำที่มีบทบาทในการรวมยูโกสลาเวียให้เป็นปึกแผ่น เขาปกครองยูโกสลาเวียมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยใช้นโยบายกระจายอำนาจ ให้แต่ละรัฐมีอิสระในการปกครองตนเอง 

แต่การอสัญกรรมของเขา ก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศ หลังเขาเสียชีวิตไม่นาน ขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็เริ่มก่อตัวขึ้น เพราะแต่เดิมแล้วยูโกสลาเวีย เป็นประเทศที่มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ทำให้หลายรัฐพยายามแยกตัวเป็นอิสระเมื่อมีโอกาส

และการขึ้นครองอำนาจของ สโลโบดาน มิโลเชวิช ผู้นำคนใหม่ก็ทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้น เมื่อเขาใช้นโยบายชาตินิยมอย่างสุดโต่ง โดยมอบอำนาจให้กับกลุ่มชาวเซิร์บ ในขณะเดียวกันก็ริดรอนสิทธิเสรีภาพของรัฐอื่นด้วยการยกเลิกเขตปกครองตัวเอง 

เมื่อถูกริดรอดสิทธิ รัฐทั้งหลายก็เริ่มประท้วง แต่มิโลเชวิช กลับใช้กำลังเข้าปราบปรามรุนแรงยิ่งขึ้น เขาพยายามสลายความเป็นตัวตนของรัฐต่างๆ เช่นเดียวกับ โคโซโว ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวแอลเบเนียซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม 

การปราบปรามยังส่งผลไปถึงเกมลูกหนัง แม้ว่า โคโซโว จะอยู่ภายใต้การปกครองของยูโกสลาเวีย แต่พวกเขาก็มีลีกภายในของตัวเอง แต่มันไม่ง่ายนักในตอนนั้น เพราะมันไม่ใช่ลีกถูกกฎหมาย อีกทั้งยังถูกมองว่าเป็นเป็นเครื่องมือในการสร้างความกลมเกลียวในโคโซโว พวกจึงต้องเล่นอย่างหลบๆ ซ่อนๆ ให้พ้นจากสายตาของเจ้าหน้าที่ 

 2

เกมการแข่งขันจึงเป็นไปด้วยความลำบาก ต้องแข่งกันในสนามขรุขระ หรือพื้นที่ห่างไกลความเจริญ แต่บางทีก็ไม่สามารถเล็ดรอดจากจากทางการไปได้ บ่อยครั้งที่พวกเขาถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาหยุดเกมกลางคัน หรือบางทีผู้เล่นก็ถูกจับกุมไปหรือโดนทำร้าย 

“มันเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนต้องอยู่อย่างไม่มีความสุขแม้แต่ในบ้านตัวเอง บางคนหายตัวไปในตอนกลางคืน มันเป็นเรื่องที่น่ากลัว บางคนถูกทำร้าย หรือบางคนแม้แต่ศพก็หาไม่เจอ” เอ็ดมอนด์ รูโกนา อดีตกองหน้า เอฟซี พริสตินา ทีมจากเมืองหลวงของโคโซโว กล่าวกับ inews 

“ผมเคยเห็นเพื่อนร่วมทีมถูกลากไประหว่างเกมทั้งที่ยังสวมชุดแข่งของพริสตินา เรารอเขาเกือบ 3 ชั่วโมงจนได้รับการปล่อยตัว หน้าเขาถูกทุบตี และมีรอยช้ำ” 

แต่พวกเขาก็ไม่ยอมแพ้ และยังลงเล่นต่อไป จนกระทั่งสงครามครั้งใหญ่อุบัติขึ้น

สงครามโคโซโว   

แต่เดิมโคโซโว ถือเป็นหนึ่งในดินแดนที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ พื้นที่แห่งนี้เป็นสมรภูมิการรบระหว่างเจ้าซายลาซาร์ ที่นำกองกำลังชาวเซิร์บออธอดอกซ์ เข้าสู้กับ กองกำลังทหารจักรวรรดิออตโตมันของ สุลต่านมูรัต เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1389 ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ “สมรภูมิโคโซโว” 

 3

แต่ถึงอย่างนั้น มันกลับถูกใช้เป็นแค่เครื่องมือทางการเมืองของ มิโลเชวิช ในการสร้างแนวคิดแบบเชื้อชาตินิยมเท่านั้น เมื่อในความเป็นจริง ดินแดนแห่งนี้กลับได้รับการปฎิบัติอย่างชายขอบจากรัฐบาล และกลายเป็นดินแดนที่ยากจนที่สุดภายใต้การปกครองของชาวเซิร์บในตอนนั้น 

ด้วยเหตุนี้ทำให้คนโคโซโว เริ่มประท้วงและก่อตั้งกองกำลังปลดปล่อยโคโซโวขึ้นในปี 1996 (Kosovo Liberation Army) กองกำลังดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากแอลเบเนีย ประเทศที่ตั้งอยู่ติดกัน และมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น 

การประท้วงทำให้รัฐบาลเซอร์เบียส่งกองกำลังเข้ามาปราบปรามอย่างหนัก และบานปลายกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบในปี 1998 ผู้บริสุทธิ์มากมายต้องเสียชีวิตจากน้ำมือของทหารเซอร์เบีย หลายคนต้องทิ้งถิ่นฐานเพื่อหนีตายออกนอกประเทศ  รวมไปถึงนักฟุตบอลโคโซโว ที่ทำให้ลีกภายใน ต้องพักเบรกลงชั่วคราว 

ก่อนที่เหตุการณ์จะยากเกินควบคุม องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ ได้เข้ามาแทรกแซง การระดมทิ้งระเบิดต่อเนื่อง 78 วันของพวกเขาบีบให้ มิโลเชวิช ต้องถอนกำลังทหารออกจากโคโซโว และยอมให้กองกำลังสันติภาพเข้ามาควบคุม ก่อนที่มิโลเชวิช จะถูกจับในฐานะอาชญากรสงครามในเวลาต่อมา 

 4

หลังกองกำลังเซิร์บออกจากโคโซโวในปี 1999 ดินแดนแห่งนี้ ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของสหประชาชาติถึง 9 ปี รายงานของ ศูนย์กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศระบุว่า มีผู้คนถึง 850,000 คนที่เข้าร่วมการสู้รบ และ 13,500 คนต้องเสียชีวิตและสูญหายจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ 

แม้ว่าสันติภาพจะกลับคืนมา แต่ฟุตบอลยังเป็นเรื่องยากที่จะเริ่มต้น บางสนามต้องบูรณะอย่างหนัก พื้นสนามเต็มไปด้วยหญ้าที่รกรุงรังเพราะถูกทิ้งไปในช่วงสงคราม และอัฒจันทร์หลายแห่งถูกใช้เป็นที่พักพิงสำหรับผู้ลี้ภัย 

แต่การกลับมาของคนๆ หนึ่ง ก็เปลี่ยนอนาคตของฟุตบอลโคโซโวไปตลอดกาล

ชายที่ชื่อ ฟาดิล วอคร์รี 

“วอคร์รีคือตำนาน เขาคือฮีโร่ของเรา ทุกอย่างที่เขาทำ เขาทำเพื่อประชาชน” วารอน เบริชา เพลย์เมกเกอร์ทีมชาติโคโซโวบรรยายความรู้สึกกับ BBC 

5

นอกจาก ฟาดิล วอคร์รี จะเป็นชื่อของสนามเหย้าของทีมชาติโคโซโวแล้ว ยังเป็นชื่อของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของฟุตบอลโคโซโว เขาเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 2018 ด้วยอาการหัวใจวาย ขณะมีอายุเพียง 57 ปี 

ก่อนหน้านั้น เขาดำรงตำแหน่งประธานสหพันธ์ฟุตบอลโคโซโว มาตั้งแต่ปี 2008 ในวันที่เขารับตำแหน่ง เขาแทบต้องเริ่มต้นจากศูนย์ ออฟฟิศของเขาเป็นเพียงห้องสองห้องในอพาร์ทเมนต์ มีโต๊ะ 2 ตัวและคอมพิวเตอร์ 2 เครื่อง 

เขาเข้ามาทำงานในสหพันธ์ฯ โดยไม่มีเงิน แต่มีชื่อเสียง เขาเป็นสุดยอดนักฟุตบอลที่มีต้นกำเนิดมาจากโคโซโว เป็นกองหน้าที่เล่นได้สองเท้า แม้จะไม่ได้ครบเครื่อง แต่ก็เต็มไปด้วยเทคนิค อีกทั้งยังเป็นคนที่มีเสน่ห์และมีความน่าเชื่อถือ 

 6

ในสมัยที่เล่นให้กับ ปาร์ติซาน เบลเกรด เขาเริ่มรู้ว่าสถานการณ์เริ่มไม่ค่อยปกติ การอยู่ต่อในยูโกสลาเวียไม่ใช่เรื่องดี จึงตัดสินใจย้ายครอบครัวไปฝรั่งเศส ด้วยการไปเล่นให้กับ นีมส์ โอลิมปิก 

“ในตอนนั้น ทุกคนในยูโกสลาเวีย รู้ว่าสงครามน่าจะเกิดขึ้น แค่ไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นที่ไหน และเมื่อไร” เกรมอซ วอคร์รี ลูกชายวัย 32 ปีของ ฟาดิล กล่าวกับ BBC 

เขาออกไปใช้ชีวิตในต่างแดน ส่วนใหญ่เล่นให้กับทีมในฝรั่งเศส ก่อนจะแขวนสตั๊ดในปี 1995 และหลังสงครามจบลง 5 ปี ฟาดิล ก็ตัดสินใจกลับมาโคโซโว ด้วยการรับงานเป็นผู้อำนวยการกีฬาของ พริสตินา เอฟซี ก่อนจะได้รับเลือกเป็นประธานสหพันธ์ฟุตบอลโคโซโว ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2008 หรือหนึ่งวันก่อนการประกาศเอกราช  

 7

และทันทีที่แยกตัวออกจากเซอร์เบีย เขาก็ได้ยื่นเรื่องของเข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่า และถูกปฏิเสธกลับมา แต่ก็ไม่ได้เหนือความคาดหมาย เนื่องจากตอนนั้นมีเพียง 51 ชาติจาก 193 ชาติของสหประชาชาติที่ให้การรับรองโคโซโว ในฐานะประเทศ 

อย่างไรก็ดี พวกเขาก็พยายามในแบบของตัวเอง วอคร์รี เชิญทีมต่างๆ มาเตะนัดกระชับมิตรอย่างไม่เป็นทางการ ทำให้พวกเขาได้เจอกับทีมอย่าง ไซปรัสเหนือ, ซัปมิ ซึ่งเป็นตัวแทนของชาวซามิ ที่อาศัยอยู่ในนอร์เวย์ ฟินแลนด์ และรัสเซีย หรือการได้ดวลกับตัวแทนจาก โมนาโก เป็นต้น 

ผู้เล่นส่วนใหญ่ของทีมในตอนนั้น มาจากนักเตะที่เล่นในประเทศเป็นหลัก หลายคนคือคนที่ถูกบังคับให้ทิ้งถิ่นฐานหนีตายในช่วงสงคราม และเพิ่งกลับมาไม่กี่ปี ในขณะที่บางคนคือคนที่จับอาวุธสู้กับทหารชาวเซิร์บมาก่อน 

ก่อนที่ก้าวสำคัญของพวกเขาจะมาถึงในปี 2014

นัดแรกในประวัติศาสตร์ 

ปี 2014 ส.บอลโคโซโว ได้รับข่าวดี เมื่อฟีฟ่ายอมให้พวกเขาลงเล่นในเกมกระชับมิตรกับชาติที่เป็นสมาชิกของฟีฟ่าได้ แน่นอนว่าสิ่งนี้ถูกต่อต้านจากเซอร์เบีย เนื่องจากพวกเขาไม่ยอมรับการประกาศตัวเป็นเอกราชจากโคโซโว 

 8

แต่โคโซโว ก็ไม่สน พวกเขาเชิญ เฮติ ชาติจากทะเลแคริเบียนในทวีปอเมริกากลาง มาเป็นคู่ต่อกรสำหรับเกมนัดแรกอย่างเป็นทางการ และเลือกเมืองมิโตรวิกา เป็นสังเวียนสำหรับเกมสำคัญในนัดนี้ 

พวกเขายังเรียก ซาเมียร์ อุจคานี นายทวารทีมชาติแอลเบเนีย, ลัม เร็กซ์เฮปี แข้งทีมชาติฟินแลนด์ รวมไปถึง อาเดียน กาชี จากนอร์เวย์ และ อัลเบิร์ต บังจาคุ จากสวิตเซอร์แลนด์ ที่ต่างได้รับอนุญาตจากฟีฟ่าเข้ามาติดทีมในชุดนี้ แม้ว่าเกมจะจบลงด้วยการเสมอกัน 0-0 แต่มันคือก้าวที่ยิ่งใหญ่สำหรับพวกเขา 

“สำหรับเรา มันยิ่งใหญ่มาก มันคือชัยชนะที่ยิ่งใหญ่” เกรมอซกล่าวกับ BBC 

“มันคือข้อความที่ชัดเจนจากฟีฟ่า ตอนที่พวกเขาอนุญาตให้เราเล่นเกมกระชับมิตร มันสื่อว่า ‘อย่าหยุด คุณจะได้เข้าเป็นสมาชิกอย่างสมบูรณ์ แต่เราจำเป็นต้องใช้เวลาเพื่อเตรียมคนให้พร้อม’” 

“แม้ว่าเราจะไม่ได้เล่นเพลงชาติของเรา แต่มันก็โอเค เราเล่นฟุตบอล นั่นคือสิ่งสำคัญ อย่างแรกที่สำคัญคือเราได้เล่นเกมกระชับมิตร จากนั้น คณะผู้แทนของเราได้รับเชิญเข้าไปประชุมสภาของฟีฟ่าเป็นครั้งแรก พ่อของผมได้ไปในพิธีมอบรางวัลบัลลงดอร์ เรามีสัญญาณว่างานของเรากำลังเป็นไปด้วยดี” 

2 ปีหลังจากนั้น ความพยายามทั้งหมดของพวกเขาก็มาบรรลุผล เมื่อโคโซโว ได้รับการตอบรับเป็นสมาชิกของยูฟ่าและฟีฟ่าในเดือนพฤษภาคมปี 2016 ซึ่งหมายความว่าพวกเขาสามารถลงแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ได้แล้ว 

“ทั้งประเทศหยุดนิ่ง ทุกอย่างหยุดนิ่ง หลังการประกาศเอกราช นี่คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในโคโซโว” เกรมอซอธิบาย 

“ผู้คนต่างจุดพลุฉลอง ออกมาตามท้องถนน ราวกับว่าเราคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก

 9

ในการโหวตของยูฟ่า มีคนเห็นด้วย 28 เสียงและไม่เห็นด้วย 24 เสียง แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือประธานสมาคมฟุตบอลเซอร์เบีย ที่ออกมาให้ความเห็นว่ามันจะสร้างความวุ่นวายในยุโรป 

อย่างไรก็ดี ยูฟ่า เตรียมแผนรับมือไว้แล้ว โดยทั้งสองประเทศ จะไม่สามารถอยู่ในกลุ่มเดียวกัน หรือถ้าหากบังเอิญต้องมาพบกันเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พวกเขาต้องไปแข่งในสนามเป็นกลาง ภายใต้บทบัญญัติของยูฟ่า สำหรับประเทศที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง 

และนั่นก็คือการกลายเป็นทีมชาติโคโซโวอย่างเป็นทางการ สถานะที่พวกเขารอคอยมานานหลายปี ก่อนจะสร้างปรากฎการณ์ได้ในเวลาต่อมา

แรงกระตุ้นจากอดีต 

ด้วยภัยสงคราม ทำให้มีชาวโคโซโวจำนวนมากอพยพหนีตายไปอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วยุโรป ทั้งนอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ หรือปลายทางยอดนิยมอย่าง สวิสเซอร์แลนด์ ที่ทำให้พวกเขามีผู้เล่นที่สามารถเล่นให้โคโซโวกระจายอยู่ทั่วยุโรป 

 10

“ในปี 2012 ในเกมที่ สวิตเซอร์แลนด์ พบกับ แอลเบเนีย มีผู้เล่น 15 คนในสนามที่สามารถเล่นให้โคโซโวได้” เกรมอซกล่าวกับ BBC  

“พ่อของผมก็อยู่ในเกมวันนั้น ดูเกมไปกับ เซปป์ แบล็ตเตอร์ ประธานฟีฟ่าในเวลาต่อมา แบล็ตเตอร์พูดกับพ่อผมว่า ‘เกมนี้สนุกไหม?’” 

“พ่อของผมตอบไปว่า ‘เหมือนกับดูโคโซโวเอ เจอกับ โคโซโวบีเลย” 

หลังจากผ่านช่วงตั้งไข่ โคโซโว ก็ค่อยๆ สร้างทีมจากนักเตะพลัดถิ่น พวกเขาได้ตัว วารอน เบริชา ที่เกิดในสวีเดนมาเสริมทัพ และ เวดัท มูริกี อดีตกองหน้าทีมชาติแอลเบเนีย U21 มาช่วยล่าตาข่าย 

อย่างไรก็ดี น่าเสียดายที่ กรานิต ชากา และ เซอร์ดาน ชากิรี สองผู้เล่นที่มีเชื้อสายโคโซโว เลือกเล่นให้กับทีมชาติสวิสเซอร์แลนด์ไปแล้ว ไม่เช่นนั้นเราอาจจะเห็นทีมชาติโคโซโว ในหน้าตาที่ต่างออกไปจากตอนนี้อีกมาก

แม้ว่าในช่วงแรก โคโซโว จะต้องพบกับความลำบากในฐานะทีมชาติอย่างเป็นทางการ หลังแพ้รวด 9 นัดในเกมฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก 2018 ทั้งที่นัดแรกประเดิมสนามด้วยการบุกไปเสมอฟินแลนด์ แต่มันก็กลายเป็นบทเรียนที่ทำให้พวกเขาเติบโตขึ้น

เพราะนับตั้งแต่นั้น โคโซโว ก็ไม่รู้จักกับคำว่าปราชัยอีกเลย โดย 6 เกมในยูฟ่า เนชั่นลีก พวกเขาคว้าชัยได้ถึง 4 นัด และเสมอ 2 นัด ก่อนสร้างสถิติไร้พ่ายต่อเนื่องยาวนานถึง 15 นัดติดต่อกัน และสามารถเอาชนะทีมดังอย่างเช็ก และบัลแกเรียได้อีกด้วย 

 11

“ผม และเพื่อนร่วมทีม รวมไปถึงทีมงานทุกคนพร้อมที่จะตายในสนาม เราจะพยายามและทุ่มเทแบบ 1,000 % เพื่อเสื้อและประเทศของเรา” เวดัต มูริกี ผู้ยิงประตูตีเสมอในเกมเอาชนะเช็ก 2-1 กล่าวกับ The Guardian หลังเกม

นอกจากนี้ ภัยจากสงครามยังทำให้พวกเขามีประสบการณ์ร่วมกัน ทุกคนต่างมีเรื่องราวของตัวเอง บางคนเคยถูกโจมตีจากทหารเซอร์เบีย บางคนต้องเดินข้ามภูเขาหลายลูกเพื่อหนีตาย และสิ่งเหล่านี้ก็กลายเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาในสนาม 

“พอผู้เล่นของเรานั่งลงแล้วคุยกัน มันไม่ใช่เรื่องฟุตบอล ทุกคนมีเรื่องราวของตัวเอง คนที่ไม่ได้อยู่โคโซโวในช่วงสงครามฟังคนที่อยู่ในนั้นช่วงสงคราม” ฟลอร็องต์ ฮาเดิร์กโยนาจ กองหลังทีมชาติโคโซโวของฮัดเดอร์สฟิลด์ ทาวน์ที่เกิดในสวิส กล่าวกับ Daily Mail 

“เราเคยได้ยินเรื่องของเพื่อนร่วมทีมที่ต้องเดินข้ามภูเขาเพื่อหลบหนีตอนที่พวกเขายังเด็กมาก ไม่มีอาหาร ต้องเดินไปเรื่อยๆ 2 หรือ 3 วัน ท่ามกลางเสียงปืนที่อยู่รอบๆ ตัวเขา มันสะเทือนอารมณ์ เพราะคุณรู้ว่าครอบครัวของคุณ ลุง ญาติ ก็เจอในเรื่องแบบเดียวกัน” 

น่าเสียดายที่นัดล่าสุด โคโซโว ต้องหยุดสถิติไร้พ่าย 15 นัดลง หลังบุกไปพ่ายต่ออังกฤษ 5-3 ที่ เซนต์ส แมรี แต่พวกเขาก็ยังมีความหวังที่จะผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป รอบสุดท้าย หลังรั้งอยู่ในอันดับ 3 ของตาราง และมีแต้มตามหลัง เช็ก อันดับ 2 แค่เพียงคะแนนเดียว ซึ่งต้องมาลุ้นว่าพวกเขาจะทำได้ดีแค่ไหน จะผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลยูโรรอบสุดท้ายได้หรือไม่ หรืออาจจะสร้างเซอร์ไพรส์เหมือนที่ครั้งหนึ่งโครเอเชียเคยสร้างปรากฎการณ์ในฟุตบอลโลก 1998  

 12

แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับพวกเขาคือการพัฒนาอย่างมั่นคง ไปพร้อมกับการพัฒนาประเทศ และมันไม่ใช่ฝันของ วอคร์รี หรือของนักเตะคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นฝันของชาวโคโซโวทุกคน 

“ความฝันของเรากำลังดำเนินไป” อุจคานีกล่าวกับ The Guardian 

“ตอนแรกผมคิดว่ามันใช้เวลา 4-6 ปีสำหรับเรากว่าที่จะพร้อม แต่ตอนนี้ หลังจากนั้นแค่ 3 ปีเราก็อยู่ในความสำเร็จที่ยอดเยี่ยมแล้ว”

“ถ้าเราสามารถทำให้มันเป็นจริง (ผ่านเข้ารอบสุดท้าย) หลังจากนั้นมันต้องสุดยอดมากแน่ๆ แต่เป้าหมายหลักของเราคือ เราคือทีมที่อยากเติบโตขึ้น และสร้างอนาคตที่สวยงามสำหรับประเทศของเรา” 

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ "โคโซโว" : ชาติจากสงครามที่ใช้เวลาไม่กี่ปีสู่แถวหน้าของวงการฟุตบอล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook