พจนานุกรม "ฟุตบอลยุคเก่า" ที่คนรุ่นใหม่อาจลืมไปหมดแล้ว

พจนานุกรม "ฟุตบอลยุคเก่า" ที่คนรุ่นใหม่อาจลืมไปหมดแล้ว

พจนานุกรม "ฟุตบอลยุคเก่า" ที่คนรุ่นใหม่อาจลืมไปหมดแล้ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฟุตบอลคือกีฬายอดนิยม อันดับหนึ่งของคอกีฬา แน่นอนว่ามีศัพท์เฉพาะต่างๆมากมาย ที่ถูกใช้ในการบรรยายเกมการแข่งขัน ซึ่งบางคำเป็นคำที่คุ้นหูของแฟนบอล และได้ยินกันบ่อยครั้งในปัจจุบัน

แต่ด้วยประวัติศาสตร์ยาวนาน มากกว่า 100 ปี ของฟุตบอลสมัยใหม่ ทำให้มีคำศัพท์เกิดขึ้นมากมาย ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา บางคำตกยุคไปตามกาลเวลา บางคำถูกเปลี่ยนแปลงความหมาย บางคำถูกคำอื่นนำมาใช้แทนที่

Main Stand จะพาไปพบกับคำศัพท์ทางลูกหนัง ที่เคยนิยมใช้ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ด้วยวันเวลาที่ผันผ่านไป แฟนบอลรุ่นใหม่อาจไม่รู้จัก หรือบางคนอาจจะลืมไปแล้วก็เป็นได้

 

Casual

"แคสชวล" หลายคนอาจรู้จักคำนี้ ในชื่อของการแต่งตัวรูปแบบหนึ่ง ที่เน้นความเรียบง่ายของเสื้อผ้า ด้วยสีสันไม่ฉูดฉาด แต่ดูดีมีระดับ ซึ่งเป็นสไตล์การแต่งตัวที่ได้รับความนิยม ของผู้คนในเขตเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สหรัฐอเมริกา และทวีปยุโรป

 11

อย่างไรก็ตาม ครั้งหนึ่งคำว่าแคสชวล เคยถูกใช้นิยามถึงวัฒนธรรมการแต่งตัวของ "ฮูลิแกน" กลุ่มอันธพาลลูกหนัง ที่แพร่หลายอย่างมาก ในประเทศอังกฤษ ช่วงยุค 70's-80's 

จุดเริ่มต้นนั้นเกิดขึ้นโดยฮูลิแกนชนชั้นแรงงาน จากเมืองลิเวอร์พูล ซึ่งหันมาแต่งตัวด้วยแบรนด์แฟชั่นชั้นสูงเข้าสนามบอล แทนที่การใส่เสื้อบอล และผ้าพันคอเข้าสนามฟุตบอล แบบดั้งเดิม 

แม้เป้าประสงค์ของการแต่งตัวด้วยแบรนด์ราคาแพง จะเกิดขึ้นเพื่อหลบหลีก การเป็นเป้าหมายการถูกทำร้ายจากฮูลิแกนทีมคู่แข่ง แต่ครั้งหนึ่งสไตล์การแต่งตัวแบบแคสชวล ได้กระจายไปทั่วแดนผู้ดี 

ในภายหลังการปราบปรามฮูลิแกน อาจทำให้คำว่าแคสชวลห่างหายไปบ้าง จากโลกลูกหนัง แต่การแต่งตัวในรูปแบบนี้ ยังคงมีให้เห็นอยู่ในวงการฟุตบอลอังกฤษ จนถึงปัจจุบัน

Firm

"เฟิร์ม" เป็นอีกหนึ่งคำที่ฮูลิแกน สร้างความหมายไว้กับโลกฟุตบอล คำนี้ถูกใช้ในการเรียกชื่อ กลุ่มแฟนบอลฮูลิแกนของแต่ละสโมสร ที่แต่ละทีมจะมี "เฟิร์ม" เป็นของตัวเอง

 22

คำว่าเฟิร์ม แทบจะขึ้นพาดหัวของหนังสือพิมพ์กีฬาที่อังกฤษแทบทุกสัปดาห์ ตามการอาละวาดของฮูลิแกนที่ก่อเหตุอื้อฉาวไปทั่วประเทศ

เหมือนกับคำว่า "แคสชวล" คำว่า "เฟิร์ม" ถูกลดบทบาทไปจากกีฬาลูกหนัง หลังการล่มสลายของวัฒนธรรมฮูลิแกน เหลือไว้เพียงคำว่า "Old Firm" ซึ่งหมายถึงดาร์บี้แมทช์เมืองกลาสโกว์ ระหว่าง เซลติก กับ เรนเจอร์ส สองทีมยักษ์ใหญ่จากสกอตแลนด์เท่านั้น

Libero

"ลิเบอโร" มาจากคำว่า "อิสระ" ในภาษาอิตาลี ซึ่งถูกใช้ในการอธิบาย ผู้เล่นกองหลังตัวสุดท้าย ที่จะยืนอยู่ด้านหลังแผงหลังในแนวรับอีกที โดยหน้าที่ของลิเบอโร คือเป็นกองหลังที่คอยปัดกวาดเกมรุกฝ่ายตรงข้าม หลังจากผ่านแผงแบ็คโฟร์มา 

 33

นอกจากหน้าที่ในเกมรับ ลิเบอโรยังมีหน้าที่ พาบอลขึ้นไปสร้างสรรค์เกมรุกจากแผงหลัง ทำให้ผู้เล่นตำแหน่
งนี้ต้องมีทักษะการครอบครองบอลที่ยอดเยี่ยม รวมถึงทีเด็ดจากการจ่ายบอล และลูกยิงไกล ซึ่งด้วยการเคลื่อนไหวที่เป็นอิสระนี้เอง ทำให้ตำแหน่งนี้ถูกเรียกว่า ลิเบอโร

แม้ชื่อจะมาจากอิตาลี แต่เยอรมันคือชาติที่นำตำแหน่งลิเบอโร มาใช้จนสร้างชื่อในวงการ ทั้ง ฟรานซ์ เบ็คเคนบาวเออร์, โลธาร์ มัทเธอุส หรือ มัทธีอัส ซามเมอร์

อย่างไรก็ตาม บทบาทของกฎล้ำหน้า และแทคติคลูกหนังที่เปลี่ยนไป ทำให้ความสำคัญของตำแหน่งลิเบอโร่ เลือนหายไปจากวงการฟุตบอลในที่สุด

Sweeper

"สวีปเปอร์" คือตำแหน่งการเล่นที่ใกล้เคียงกับลิเบอโร กับตำแหน่งการยืน หลังแผงกองหลัง เพื่อคอยปัดกวาดเกมรุกฝ่ายตรงข้าม แต่แตกต่างกันตรงที่ สวีปเปอร์จะไม่ขึ้นไปเติมเกมรุกแบบ ลิเบอโร โดยจะปักหลักยืนคุมพื้นที่อยู่ในแผงหลัง

 44

เหมือนกับตำแหน่งลิเบอโร เมื่อกฎล้ำหน้ามีบทบาทในโลกลูกหนัง รวมถึงแทคติคที่เปลี่ยนแปลง ตำแหน่งนี้ก็ค่อยๆ ตายไป 

กระนั้น ตำแหน่งดังกล่าวได้กลับมาสู่วงการฟุตบอลอีกครั้ง กับการเล่นรูปแบบใหม่ของผู้รักษาประตู ในรูปแบบ สวีปเปอร์-คีปเปอร์ ที่จะขึ้นมาคุมพื้นที่ของแผงหลังนอกกรอบเขตโทษ โดยนายทวารสายนี้ที่ขึ้นชื่อในปัจจุบันก็มีอย่าง มานูเอล นอยเออร์, อลีสซง เบคเกอร์ และ เอแดร์ซอน โมราเอส นั่นเอง

Wing Half

“วิงฮาล์ฟ” เป็นอีกหนึ่งตำแหน่งฟุตบอล ที่เคยมีบทบาทอย่างมากในอดีต โดยเฉพาะในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่แทคติค 2-3-5 ยังคงเป็นที่นิยม

 55

วิงฮาล์ฟ ถูกใช้อธิบายกองกลาง ที่ยืนอยู่บริเวณริมเส้นของสนาม (บางครั้งก็รวมถึงกองกลางตัวกลางเช่นกัน) ซึ่งมีหน้าที่ในการรับผิดชอบเกมรับ คอยตัดเกม หรือหยุดเกมบุกของ แผนกองหน้า 5 ตัว ก่อนที่จะไปถึงแผงหลังสุดท้าย

ตามการเปลี่ยนแปลงของแทคติคฟุตบอล ตำแหน่งวิงฮาล์ฟ จึงหายไป...อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งวิงแบ็คในปัจจุบัน ได้รับอิทธิพลหลายอย่าง มาจากตำแหน่งวิงฮาล์ฟในอดีต

Makelele Role

“มาเกเลเล โรล” หรือที่แปลเป็นไทยว่าตำแหน่งของมาเกเลเล มาจากชื่อของ โคลด มาเกเลเล กองกลางตัวเก่งของ เรอัล มาดริด และ เชลซี ในช่วงยุค 2000 กับสไตล์การเล่นที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์

 66

มาเกเลเล ปฏิวัติสไตล์การเล่นของกองกลางตัวรับ แทนที่จะใช้สไตล์การเล่นที่หนักหน่วง การเข้าปะทะที่รุนแรง มาเกเลเลเลือกใช้การอ่านเกมที่ชาญฉลาด ยืนอยู่ในจังหวะที่ถูกต้อง และตัดบอลอย่างเรียบง่าย ก่อนจะจ่ายบอลให้คนอื่นต่อไป 

นักเตะแบบมาเกเลเล ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบในเกมรุก เขาแค่แย่งบอลและจ่ายบอลคืนให้ผู้เล่นเกมรุก เพื่อนำไปครองบอลต่อเท่านั้น นักเตะแบบมาเกเลเล โรล คนหนึ่งคือ เซร์คิโอ บุสเกตส์ ที่ต่อยอดสไตล์การเล่นแบบมาเกเลเล ได้อย่างยอดเยี่ยม

ปัจจุบันตำแหน่งแบบ มาเกเลเล โรล ถูกกำหนด ด้วยภาษาทางเทคนิคว่า The Anchor Man (ดิ แอนเชอร์ แมน) ขณะที่สไตล์การเล่นกองกลางตัวรับมาเกเลเล ถูกปรับให้เพิ่มมิติ สามารถจ่ายบอลยาวได้มากขึ้น เพิ่มมิติในเกมรุก ทำให้นักเตะสไตล์แบบมาเกเลเล ค่อยๆ น้อยลงไป

Snake

“สเน็ค” หรือคำภาษาอังกฤษที่แปลว่า “งู” ในช่วงหนึ่งเคยถูกใช้ในการอธิบาย นักเตะในตำแหน่งปีกที่มีลีลา ลวดลาย การเลี้ยงบอลหลอกล่อคู่ต่อสู้ ได้อย่างมีเทคนิคและชั้นเชิง รวมไปถึงมีความรวดเร็ว ในการกระชากบอล ไม่ต่างอะไรกับความเร็ว ของงูในการล่าเหยื่อ

 77

แต่ในปัจจุบัน คำว่า สเน็ค ในวงการฟุตบอลที่ยุโรป ถูกเปลี่ยนความหมาย ใช้เป็นคำโจมตี นักฟุตบอลที่ย้ายทีม ไปอยู่กับทีมอริหรือทีมขั้วตรงข้ามร่วมลีก เช่นในกรณีของ โรบิน ฟาน เพอร์ซี ที่ย้ายจาก อาร์เซนอล ไปอยู่กับ แมนฯ ยูไนเต็ด หรือ ราฮีม สเตอร์ลิง ที่ย้ายจาก ลิเวอร์พูล ไปอยู่กับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้

Screw Shot 

“สกรู ช็อต” คือคำที่ใช้อธิบายลูกที่ยิงปั่นโค้งจนเปลี่ยนทิศทาง หรือลูกยิงแบบที่คนไทยเรียกกันจนติดปากว่า ลูกยิงปั่นไซด์ในปัจจุบัน

 88

เหตุผลที่ในอดีตลูกยิงปั่นโค้ง ถูกเรียกว่า สกรู ช็อต เพราะการหมุนของลูกบอลที่ถูกยิงออกไป เหมือนกับการหมุนของลูกสกรูที่ถูกขัน

เมื่อลูกยิงแบบปั่นโค้งถูกใช้กันมากขึ้น ในช่วงศตวรรษที่ 20 ลูกยิงแบบนี้ จึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น เคิร์ล (Curl) ในเวลาต่อมา

Doing a Leeds

“ดูอิ้ง อะ ลีดส์” เป็นคำล้อเลียน ที่ถูกใช้กับสโมสรฟุตบอล ที่ประสบความล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่นาน เคยประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่

 99

โดยคำนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของลีดส์ ยูไนเต็ด ซึ่งเคยประสบความสำเร็จ เป็นทีมแถวหน้าของอังกฤษในอดีต และในปี 2001 ลีดส์สามารถผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ ของศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก

แต่เพียงแค่ในปี 2004 ลีดส์ตกชั้น ไปอยู่ลีกเดอะ แชมเปียนชิพ ก่อนที่ปี 2007 จะตกชั้นไปอยู่ลีกวัน ซึ่งเป็นลีกอันดับ 3 ของฟุตบอลอังกฤษ

ดูอิ้ง อะ ลีดส์ กลายเป็นแรงบันดาลใจ ให้เกิดคำอีกหลายคำตามมา เช่น ดูอิ้ง อะ แบรดฟอร์ด, ดูอิ้ง อะ วิมเบอร์ตัน, ดูอิ้ง อะ โบลตัน, ดูอิ้ง อะ แบล็คเบิร์น เป็นต้น

Golden Goal

“โกลเดน โกล” คือกฎกติกาที่ใช้ในช่วงต่อเวลาพิเศษ 30 นาที หากทีมไหนที่ทำประตูได้ก่อน ทีมนั้นจะเป็นผู้ชนะในทันที โดยไม่ต้องมีการแข่งขันต่อให้ครบ 30 นาที

 

นอกจากโกลเดน โกล ยังมีซิลเวอร์ โกล (Silver Goal) ที่หากมีการทำประตูใน 15 นาทีแรกของการต่อเวลา แล้วฝ่ายที่เสียประตูไม่สามารถทำประตูตีเสมอได้ ภายในครึ่งแรก เกมการแข่งขันจะจบลงทันที โดยฝ่ายที่ทำสกอร์นำจะได้เป็นผู้ชนะไป

กฎดังกล่าว ทำให้เกิด โกลเดน โกล ในความทรงจำมากมาย ทั้ง โอลิเวอร์ เบียร์โฮฟฟ์ ที่ทำประตูให้ทีมชาติเยอรมันคว้าแชมป์ฟุตบอลยูโร 1996 และฟรีคิกของ ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล ซึ่งทำให้ทีมชาติไทยที่เหลือ 9 คน พลิกโค่นเกาหลีใต้ในเอเชี่ยนเกมส์ปี 1998 

อย่างไรก็ตามกฎโกลเดน โกล และซิลเวอร์ โกล ได้ถูกยกเลิกไปหลังจบการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2004 เนื่องจากไม่ได้รับความนิยมจากคอลูกหนัง เพราะแม้จะมีกฎนี้ แต่ละทีมก็ยิ่งไม่เล่นเกมบุกเพื่อหวังทำประตูเข้าไปใหญ่ เพราะความผิดพลาดเพียงครั้งเดียวอาจนำมาซึ่งความพ่ายแพ้แบบไม่มีโอกาสแก้ตัว พวกเขาจึงตั้งใจเล่นเกมรับ เพื่อหวังวัดดวงในการดวลจุดโทษมากกว่า

Jew Goal

“ยิว โกล” คือคำที่ใช้อธิบายสถานการณ์ จังหวะหลุดเดี่ยวของผู้เล่นเกมรุกสองคน เข้าไปดวลกับผู้รักษาประตู ที่ยืนป้องกันอยู่เพียงลำพัง ก่อนที่ผู้เล่นทีมรุกที่ครองบอล จะส่งบอลให้เพื่อนยิงอีกคน ยิงเข้าประตูเปล่าๆไป

 

เหตุผลที่ลักษณะการทำประตูแบบนี้ ถูกเรียกว่า ยิว โกล มาจากความเชื่อที่ฝังรากลึกของคนในยุโรป ที่มองว่าชาวยิวเป็นพวกขี้โกง ซึ่งประตูในลักษณะนี้ แฟนบอลบางคนมองว่าไม่สมศักดิ์ศรี เพราะเป็นการยิงประตูด้วยสถานการณ์ 2 รุม 1 ทำให้แฟนบอลเรียกว่า เป็นการทำประตูแบบพวกยิว

อย่างไรก็ตาม คำนี้ถูกลดการใช้ลงในปัจจุบัน เนื่องจากทัศนคติของคนทั่วโลกเปลี่ยนไป การเรียกว่า ยิว โกล จึงเป็นคำที่สื่อถึงการเหยียดเชื้อชาติ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ พจนานุกรม "ฟุตบอลยุคเก่า" ที่คนรุ่นใหม่อาจลืมไปหมดแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook