เสรีภาพ และ เงินจากจีน : ถึงคราวที่ NBA ต้องเลือก?

เสรีภาพ และ เงินจากจีน : ถึงคราวที่ NBA ต้องเลือก?

เสรีภาพ และ เงินจากจีน : ถึงคราวที่ NBA ต้องเลือก?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากถามว่า ลีกกีฬาอะไรคือลีกที่ได้รับความนิยมอันดับ 1 ในประเทศจีน? คำตอบที่ได้ยินอาจทำให้คนทั่วไปประหลาดใจ

เพราะลีกที่ว่า ไม่ใช่ CSL หรือ ไชนีส ซูเปอร์ ลีก ฟุตบอลลีกสูงสุดแดนมังกร ไม่ใช่แม้กระทั่ง พรีเมียร์ ลีก ของอังกฤษ ลีกลูกหนังยอดนิยมอันดับ 1 ของโลก... แต่เป็น NBA ลีกบาสเกตบอลของสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับการยกให้เป็นลีกแม่นห่วงที่ดีที่สุดของโลก

 

ทว่าท่ามกลางความสัมพันธ์อันหวานชื่น ใครจะคิดว่า แค่โพสต์เดียวในทวิตเตอร์ จะทำให้ทุกอย่างกลับกลายเป็นขื่นขมในเวลาไม่กี่อึดใจ

และกลายเป็นคำถามกลับไปยัง NBA เองว่า ระหว่างคุณค่าที่เป็นพื้นฐานของประเทศสหรัฐอเมริกา กับเงินจากตลาดต่างประเทศอันดับ 1 ของลีก พวกเขาจะเลือกอะไร?

ลีกกีฬาอันดับ 1 ของชาวจีน

แม้เป็นที่ทราบกันว่า NBA คือลีกกีฬายอดนิยมอันดับ 1 ของชาวจีน แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองเกิดขึ้นก่อนที่จะมีนักบาสเกตบอลแดนมังกรบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปเล่นที่นั่นเสียอีก

 1

จุดเริ่มต้นของทั้งหมดต้องย้อนกลับไปยังช่วงปลายยุค 1980s ซึ่ง เดวิด สเติร์น คอมมิชชันเนอร์ผู้คุมอำนาจสูงสุดใน NBA ยุคนั้น ได้พบปะและลงนามในข้อตกลงร่วมกับ CCTV สถานีโทรทัศน์ที่ดำเนินงานโดยรัฐบาลจีนเพื่อให้มีการถ่ายทอดสดเกม NBA ในดินแดนหลังม่านไม้ไผ่

หลังจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่าง NBA กับประเทศจีนก็พัฒนาขึ้นตามลำดับ มีการเปิดสำนักงานของ NBA ขึ้นที่ฮ่องกงในปี 1992 จนกระทั่งมี หวัง จื้อจื้อ เป็นนักบาสเกตบอลชาวจีนคนแรกที่ได้ไปเล่นใน NBA กับ ดัลลัส แมฟเวอริคส์ เมื่อปี 2001

อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสฟีเวอร์ NBA ในจีน เบ่งบานอย่างไม่หยุดยั้งด้วยพลานุภาพของนักบาสเกตบอลเพียงคนเดียว ... เหยา หมิง หนึ่งในนักแม่นห่วงที่ดีที่สุดเท่าที่ประเทศนี้เคยมีมา เพราะเมื่อ ฮิวส์ตัน ร็อคเก็ตส์ เลือกเข้าทีมใน NBA ดราฟต์ ปี 2002 ชาวจีนตอบรับด้วยการเปิดหน้าจอชมการถ่ายทอดสดเกมแรกที่เขาลงสนามให้กับทีมมากกว่า 200 ล้านคน อีกทั้งยังทุ่มโหวตจน "อาเหยา" ติดทีมออลสตาร์ตั้งแต่ฤดูกาลแรกที่ลงเล่น ณ ลีกแห่งนี้

 2

กระแสความนิยมในตัวเหยาและ NBA นำมาซึ่งอีกหลายสิ่งที่ตามมา ทั้งการนำเกมอุ่นเครื่องก่อนเปิดฤดูกาล หรือ ปรีซีซั่น มาเล่นที่แดนมังกรเป็นครั้งแรกในปี 2004 รวมถึงการตั้ง NBA China องค์กรซึ่งทำหน้าที่จัดการและดูแลสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของลีกในประเทศจีนเมื่อปี 2008

ปัจจุบัน NBA ถือเป็นธุรกิจระดับยักษ์ในประเทศจีน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2019 Tencent บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของแดนมังกร ลงนามในข้อตกลงมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แลกกับการได้เป็นพาร์ทเนอร์ทางดิจิตอลแบบเอ็กซ์คลูซีฟเจ้าเดียวตลอด 5 ปีจากนี้ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือเป็นข้อตกลงความร่วมมือที่มีมูลค่าสูงสุดนอกสหรัฐอเมริกาอีกด้วย ขณะเดียวกัน NBA ยังมีความตกลงร่วมกับ Weibo โซเชียลมีเดียยอดนิยมอันดับ 1 ของจีน ในการนำไฮไลต์ของเกมไปฉายบนนั้น ซึ่งในรอบเพลย์ออฟของปี 2017 มีการกดดูวิดีโอการแข่ง NBA มากถึง 2.9 พันล้านครั้งเลยทีเดียว

 3

ไม่เพียงเท่านั้น กระแสความนิยมใน NBA ยังขยายตัวมาถึงนักบาสเกตบอล แฟนๆ ชาวจีนต่างใช้เงินซื้อสินค้าที่เกี่ยวข้องอย่างมหาศาล จนสตาร์ดังของวงการอย่าง เลบรอน เจมส์, สเตฟเฟ่น เคอร์รี่ และ เจมส์ ฮาร์เด้น หรือแม้แต่ระดับตำนานอย่าง โคบี้ ไบรอันท์ ต่างต้องจัดคิวเยือนแดนมังกรในทุกๆ ปี เพื่อเปิดคลินิกสอนวิชาแม่นห่วงให้กับเด็กๆ รวมถึงเป็นตัวช่วยในการประชาสัมพันธ์ เพื่อที่แบรนด์สินค้าซึ่งให้การสนับสนุนจะสามารถขายรองเท้า หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ รุ่นล่าสุดได้อย่างมากมายมหาศาล และในทางกลับกัน แบรนด์สัญชาติจีนเองก็พร้อมที่จะทุ่มเงินเพื่อจ้างนักกีฬาใน NBA มาโปรโมตสินค้า อันส่งผลให้สามารถรับทรัพย์ยิ่งกว่าเดิมทั้งตัวแบรนด์และนักกีฬาด้วย

เหตุเพราะทวีตเดียว?

จากที่กล่าวมาข้างต้น คงเห็นภาพแล้วว่า ประเทศจีน คือดินแดนที่นำเม็ดเงินมหาศาลมาสู่ NBA จนเมื่อมีการทำโพลสำรวจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2019 ผลปรากฎว่า NBA คือลีกกีฬายอดนิยมอันดับ 1 ของแดนมังกร เหนือกว่า พรีเมียร์ ลีก ของอังกฤษ รวมถึง ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ฟุตบอลสโมสรถ้วยใหญ่ของยุโรปเสียอีก ขณะที่ CSL ไม่ติดท็อป 10 เสียด้วยซ้ำ

 4

แต่ใครจะเชื่อว่า ความสัมพันธ์อันนำมาซึ่งผลประโยชน์มหาศาลของ NBA กำลังจะพังทลายลงด้วยข้อความบนทวิตเตอร์เพียงข้อความเดียว ...

เหตุการณ์ทั้งหมดเริ่มต้นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2019 เมื่อ ดาริล มอเร่ย์ โพสต์รูปที่มีข้อความ "Fight for freedom, stand with Hong Kong" ลงบนทวิตเตอร์ของเขา ทุกอย่างดูจะธรรมดา ยกเว้นก็เพียงแต่สถานะของมอเร่ย์นั้น คือผู้จัดการทั่วไป หรือ GM ของ ฮิวส์ตัน ร็อคเก็ตส์ ทีมที่เคยมี เหยา หมิง ฮีโร่นักบาสของคนจีนทั้งชาติเป็นผู้เล่น อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในทีมที่แฟนๆ แดนมังกรติดตามมากที่สุด

แม้ ทิลแมน เฟอร์ทิทตา เจ้าของทีมจะรีบดับกระแสด้วยการทวีตว่า สิ่งที่มอเร่ย์ทวีต คือการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่ในฐานะของทีม พร้อมกับยืนยันว่า ทีมต้องการที่จะช่วย NBA โปรโมตลีกให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และไม่ใช่องค์กรทางการเมือง แต่เนื่องด้วยความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองชาติที่คุกรุ่นมาเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจีนยังแสดงออกอย่างชัดเจนว่า ฮ่องกง คือหนึ่งดินแดนในการปกครอง ซึ่งพวกเขาจะไม่มีวันยอมให้ใครหน้าไหนมาแบ่งแยกออกไปโดยเด็ดขาด ทวีตเดียวที่ว่านี้จึงส่งผลกระทบอันรุนแรง

 5

สมาคมบาสเกตบอลจีน หรือ CBA ซึ่งมี เหยา หมิง เป็นประธาน ประกาศยุติความร่วมมือทั้งหมดที่มีกับทีมร็อคเก็ตส์ เช่นเดียวกับสถานีโทรทัศน์ CCTV ซึ่งประกาศไม่ถ่ายทอดสดเกมของทีมนี้บนโทรทัศน์ และบริษัทห้างร้านต่างๆ ซึ่งรวมถึง Tencent ก็ยุติความสัมพันธ์ด้วย

แม้ตัวมอเร่ย์จะออกมาทวีตอีกครั้งว่า ตัวเขาไม่ได้มีความประสงค์ที่จะโจมตีประเทศจีนในทวีตดังกล่าว แต่ก็มีเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะในแดนมังกรให้ลงโทษด้วยการปลดมอเร่ย์จากตำแหน่ง GM ของร็อคเก็ตส์

แน่นอน ที่สุดแล้วเรื่องก็มาถึงจุดที่ NBA ต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง แต่แถลงการณ์จาก อดัม ซิลเวอร์ คอมมิชชันเนอร์คนปัจจุบัน ที่แม้จะมีใจความแสดงความเสียใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้น แต่กลับทำให้สถานการณ์ทุกอย่างดูจะแย่ลงกว่าเดิม ...

 6

"NBA ทราบดีว่า มุมมองของคุณมอเร่ย์ได้สร้างความขุ่นเคืองต่อเพื่อนและแฟนๆ ชาวจีน ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้า เนื่องจากเรากับประเทศจีนมีความสัมพันธ์กันมากว่า 30 ปี และเราก็ทราบดีว่า สหรัฐอเมริกาและจีนนั้นมีระบบการปกครองและความเชื่อที่แตกต่างกัน"

"อย่างไรก็ตาม แม้ภารกิจของ NBA คือการนำธุรกิจไปสู่ประเทศต่างๆ โดยไม่สำคัญว่าจะปกครองในระบอบไหน แต่เรื่องดังกล่าวเป็นมากกว่าแค่เพียงเรื่องธุรกิจ เพราะคุณค่าของความเท่าเทียมกัน, ความเคารพซึ่งกันและกัน รวมถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น คือสิ่งที่อยู่คู่กับ NBA และจะเป็นเช่นนี้ต่อไป นอกจากนี้ หนึ่งในจุดแข็งสำคัญของเรา คือความหลากหลายที่รวมกันเป็นหนึ่งไม่ว่าจะในด้านใดอีกด้วย"

"เราขอยืนยันว่า NBA จะไม่เอาตัวเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความเห็นของนักกีฬา พนักงาน หรือ เจ้าของทีมคนไหน เราจะไม่ห้ามใครพูด หรือไม่พูดประเด็นใด เพราะนโยบายและแนวทางของเราไม่ได้เป็นเช่นนั้น ซึ่งเราเข้าใจดีกว่า การตัดสินใจเช่นนี้ย่อมมีผลสืบเนื่องตามมา และเราต้องยอมรับกับสิ่งนั้น"

เงินทอง หรือ เสรีภาพ?

แถลงการณ์ของ NBA ซึ่งมีท่าทีชัดเจนว่า พวกเขาจะไม่ลงโทษมอเร่ย์ ผู้จุดชนวนความขัดแย้งระหว่างลีกกับประเทศจีน ทำให้พันธมิตรของ NBA ในจีนทุกรายประกาศยุติความสัมพันธ์ ไม่แค่กับทีมร็อคเก็ตส์ต้นเหตุของเรื่องเท่านั้น แต่หมายความรวมทั้งลีก... ไม่มีความร่วมมือระหว่างกัน ไม่มีการถ่ายทอดสดเกมปรีซีซั่นให้แฟนๆ แดนมังกรได้ชม ซึ่งถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า จะรวมไปถึงเกมฤดูกาลปกติและรอบเพลย์ออฟที่กำลังจะมาถึงหรือไม่

 7

จากเหตุการณ์ดังกล่าว หลายฝ่าย อย่างอาจารย์จากมหาวิทยาลัยซีเรคิวส์ จอห์น โวโลฮาน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายกีฬาและความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนทางกีฬาเผยว่า นี่คือปัญหาที่นำมาซึ่งความเจ็บปวดของทั้งคู่ แต่แน่นอนว่า มีฝ่ายหนึ่งที่เจ็บกว่า

"สมมติว่าจีนตัดสินใจที่จะไม่ถ่ายทอดสดเกม NBA อีกต่อไป แน่นอนว่า CCTV กับ Tencent ต้องเจ็บ แต่ NBA จะเจ็บกว่า ถ้ามีฝ่ายใดที่แพ้ ฝ่ายนั้นคือ NBA"

คำถามคือ ในเมื่อรู้เช่นนี้ เหตุใด NBA ถึงเลือกที่จะปกป้องการแสดงความเห็นของมอเร่ย์กันล่ะ?

เหตุผลดังกล่าวสะท้อนผ่านแถลงการณ์ของ อดัม ซิลเวอร์ แล้ว เพราะ NBA คือลีกกีฬาที่เปิดรับความแตกต่างและหลากหลาย รวมถึงยังเป็นลีกที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวทางสังคม หรือ Social Activism มาโดยตลอด ซึ่งตัวของซิลเวอร์เองเสริมว่า "เรื่องเหล่านี้ถูกส่งทอดต่อกันมาหลายทศวรรษจนเป็น DNA ของ NBA และเราต้องการให้ผู้เล่นนั้นเป็นมนุษย์ที่มีหลายมิติ กล้าที่จะมีส่วนร่วมในฐานะพลเมือง"

ย้อนกลับไปในเหตุการณ์ที่มีการรณรงค์ "คุกเข่าขณะเปิดเพลงชาติ" เพื่อประท้วงเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ, สีผิว รวมถึงการปฏิบัติอันไม่เท่าเทียมของเจ้าหน้าที่รัฐในสหรัฐอเมริกา ... NBA คือลีกที่เปิดโอกาสให้นักกีฬา และบุคลากรเลือกตัดสินใจที่จะทำหรือไม่ทำได้อย่างอิสระ ไม่มีการออกแถลงการณ์บังคับให้ต้องยืนขณะเปิดเพลงชาติแบบในศึกอเมริกันฟุตบอล NFL 

ทว่าหากมีใครละเมิดการยอมรับในความแตกต่าง อันเป็นค่านิยมของ NBA แล้วละก็ ... เขาผู้นั้นจะได้รับการลงโทษอย่างหนัก เหมือนกรณีที่ โดนัลด์ สเตอร์ลิ่ง ถูกบีบให้ขายทีม ลอส แอนเจลิส คลิปเปอร์ส เมื่อปี 2014 หลังใช้ถ้อยคำเหยียดผิว แมจิค จอห์นสัน ตำนานของวงการผ่านการสนทนากับคู่ขาที่หลุดถึงมือสื่อ ซ้ำร้าย สเตอร์ลิ่งยังถูก NBA แบน ห้ามยุ่งเกี่ยวกับวงการบาสเกตบอลตลอดชีวิตอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า นี่คือการปะทะกันระหว่างความแตกต่างทางความคิด ฝ่ายจีนแสดงออกอย่างชัดเจนว่า ฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา ขณะที่ NBA ก็มีเรื่องเสรีภาพทางการแสดงออกเป็นค่านิยมที่ต้องรักษา ซึ่งแม้แต่แฟนกีฬาชาวจีนเองก็ยังเสียงแตกเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

เพราะแม้พวกเขาจะไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงใด วัฒนธรรมบาสเกตบอล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง NBA ก็ได้หยั่งรากลึกลงในวิถีชีวิตชาวจีน ซึ่ง CBA เผยว่า มีประชากรชาวจีนกว่า 300 ล้านคนที่เล่นกีฬานี้ไปเรียบร้อยแล้ว เห็นได้จากเกมอุ่นเครื่องระหว่าง ลอส แอนเจลิส เลเกอร์ส กับ บรูคลิน เน็ตส์ ที่แข่งขันในช่วงไม่กี่วันหลังความขัดแย้งปะทุ ซึ่งก็ยังได้รับการต้อนรับจากแฟนๆ เป็นจำนวนมาก แม้จะไม่มีการถ่ายทอดสด รวมถึงมีการแสดงสัญลักษณ์จากผู้ชมในสนาม ด้วยการปิดสติกเกอร์ธงชาติจีนทับโลโก้ NBA บนเสื้อที่ใส่ก็ตาม

 8

แต่ทางซิลเวอร์เองก็ทราบดีว่า หากสถานการณ์ยังเป็นไปเช่นนี้ ที่สุดแล้วจะเป็นเรื่องที่ไม่ดีกับทุกฝ่าย เขาจึงได้เริ่มกระบวนการเจรจากับทางฝ่ายจีน ซึ่งรวมถึง CBA ภายใต้การดูแลของเหยาด้วย

"ที่สุดแล้ว หากทั้งสองฝ่ายต้องการที่จะจัดการกับปัญหานี้ พวกเขาก็ต้องหาทางประนีประนอม" ไอแซค เบนจามิน นักยุทธศาสตร์การสื่อสารในภาวะวิกฤติของ PRCG Sports เผย "อาจไม่ได้หมายความว่าจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับชัยชนะ แต่นั่นหมายความว่าคุณจำเป็นต้องมีหุ้นส่วนที่สร้างผลประโยชน์ร่วมกันในอนาคต"

เสรีภาพในการแสดงความเห็น และผลประโยชน์มหาศาล คือสิ่งที่ NBA ต้องเลือกในสถานการณ์อันยากลำบากกับประเทศมหาอำนาจอย่างจีน คำถามคือ จะมีทางเลือกใดที่ยังช่วยให้พวกเขารักษาผลประโยชน์ไว้ได้ โดยที่ยังรักษาคุณค่าและค่านิยมของพวกเขาได้มากที่สุด

ซึ่งบางที สิ่งนั้นอาจไม่มีอยู่จริงก็เป็นได้...

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ เสรีภาพ และ เงินจากจีน : ถึงคราวที่ NBA ต้องเลือก?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook