Ford v Ferrari : 24 ชั่วโมงแห่งการชิงชัยของสองมหาอำนาจ ที่กลายเป็นตำนานโลกยานยนต์

Ford v Ferrari : 24 ชั่วโมงแห่งการชิงชัยของสองมหาอำนาจ ที่กลายเป็นตำนานโลกยานยนต์

Ford v Ferrari : 24 ชั่วโมงแห่งการชิงชัยของสองมหาอำนาจ ที่กลายเป็นตำนานโลกยานยนต์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมือง เลอ ม็องส์ ประเทศฝรั่งเศส ปี 1966

อากาศในช่วงบ่ายวันที่ 18 มิถุนายน ไม่ค่อยแจ่มใสนัก ท้องฟ้าปกคลุมด้วยหมู่เมฆ มีฝนตกลงมาเล็กน้อย ยิ่งทำให้บรรยากาศดูขมุกขมัวขึ้นไปอีก แต่นั่นเทียบไม่ได้เลยกับบรรยากาศแสนตึงเครียดของผู้คนที่กำลังจดจ่อกับการแข่งขันครั้งประวัติศาสตร์ที่จะเริ่มในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า ... เรากำลังพูดถึง 24 Hours of Le Mans หรือ เลอ ม็องส์ 24 ชั่วโมง รายการแข่งขันรถยนต์แบบเอ็นดูรานซ์ (Endurance) ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก สามารถกล่าวได้ว่ามันคือลานประลองศักดิ์สิทธิ์ ที่ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ทั่วโลกจะส่งรถที่ดีที่สุดของตัวเองมาพิสูจน์ให้ทุกคนได้รู้ว่าใครคืออันดับหนึ่ง ทั้งในแง่ของความเร็ว และความทนทาน

โดยปกติในทุกๆ ปี เลอ ม็องส์ 24 ชั่วโมง ก็เป็นรายการแข่งขันใหญ่ที่ทุกคนให้ความสนใจอยู่แล้ว แต่ในปี 1966 มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้การแข่งขันครั้งนี้มีกลิ่นอายว่ามันจะดุเดือดยิ่งกว่าทุกครั้ง และจะถูกบันทึกลงในหน้าประวัติศาสตร์เป็นที่เล่าขานไปอีกนาน เพราะมันคือสงครามที่มีศักดิ์ศรีของสองค่ายรถยนต์มหาอำนาจโลกเป็นเดิมพัน

 

นี่คือศึกตัดสินระหว่าง ฟอร์ด กับ เฟอร์รารี่

เมื่อทุกอย่างพร้อม สัญญาณเริ่มการแข่งขันก็ดังขึ้น เหล่าอาชาเหล็กต่างก็พุ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างพร้อมเพรียง และในอีก 24 ชั่วโมงต่อจากนี้ก็จะรู้ผลว่าใครคือผู้ชนะ

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันระหว่าง ฟอร์ด กับ เฟอร์รารี่ นั้นไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นขึ้น แต่มันเริ่มก่อนเสียงสัญญาณจะดังมานานมากแล้ว...

เสือสองตัวอยู่บนถนนเดียวกันไม่ได้

ถ้าจะเล่าถึงจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างสองบริษัทยักษ์ใหญ่ เราอาจจะต้องเดินทางข้ามเวลากลับไปไกลสักหน่อย ... ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่บรรยากาศกำลังคุกรุ่น

ฟอร์ด คือบริษัทจากแผ่นดินสหรัฐอเมริกา ส่วน เฟอร์รารี่ คือบริษัทจากอิตาลี ซึ่งอย่างที่รู้กันว่าทั้งสองประเทศนั้นอยู่ขั้วตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิงในช่วงเวลาดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้นทั้งสองบริษัทต่างก็มีส่วนร่วมในการช่วยประเทศตัวเองสู้ศึกสงคราม โดยฟอร์ดช่วยผลิตเครื่องบินรบให้กับกองทัพอเมริกา เช่นเดียวกับเฟอร์รารี่ ที่ช่วยสร้างเครื่องบินรบให้อิตาลี

วันหนึ่งที่สงครามยังไม่สงบ เครื่องบินรบอเมริกาที่ผลิตโดยฟอร์ดก็บินมาทิ้งระเบิดใส่โรงงานเฟอร์รารี่ในประเทศอิตาลี แต่เหตุการณ์นี้ฟอร์ดไม่ได้เป็นฝ่ายกระทำฝ่ายเดียว เพราะหลังจากนั้นไม่นานยักษ์ใหญ่แห่งอเมริกาก็โดนเอาคืนอย่างสาสม โรงงานของพวกเขาระเบิดเป็นจุลไม่ต่างกันจากการโจมตีของฝ่ายอิตาลี

 1

ถึงแม้เหตุการณ์ในครั้งนั้นจะเป็นการสู้รบกันในนามประเทศชาติ ไม่ได้เป็นการห้ำหั่นกันโดยตรง และค่อนข้างยากที่จะหาข้อพิสูจน์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือจุดเริ่มต้นของตะกอนความแค้นที่เกิดขึ้นในใจของทั้งสองฝ่าย

หลังจากนั้นเวลาก็ล่วงเลยไปสองทศวรรษ ก่อนที่ชนวนความแค้นครั้งใหม่จะก่อตัวขึ้น

ปี 1963 เป็นช่วงที่สถานะทางการเงินของฟอร์ดเริ่มย่ำแย่ ยอดขายตกลง เหล่าผู้บริหารต่างพยายามระดมความคิดอย่างหนักเพื่อจะทำให้ฟอร์ดกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง และบทสรุปคือ ... พวกเขาอยากนำรถฟอร์ดลงสู่สนามแข่งขัน 

ไม่ใช่ว่าการนำรถลงแข่งขันประลองความเร็วจะสามารถสร้างกำไรเข้าสู่บริษัทได้ ตรงกันข้ามฟอร์ดต้องใช้เงินจำนวนมากในการลงทุน แต่ผลลัพธ์ที่จะได้ถ้าพวกเขาเป็นผู้ชนะคือการประกาศให้โลกรู้ว่ารถของพวกเขาเจ๋งที่สุดในโลก สร้างภาพลักษณ์ใหม่ว่าฟอร์ดไม่ใช่แค่บริษัทผลิตรถยนต์ธรรมดาๆ และสิ่งที่จะตามมาคือยอดขายที่มากขึ้น

 2

ถึงแม้ที่ผ่านมาฟอร์ดจะเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่จุดเด่นของพวกเขาคือรถยนต์ทั่วไปที่ใช้บนท้องถนน ไม่ใช่รถยนต์สมรรถนะสูงเน้นความเร็ว ดังนั้นปัญหาสำคัญของฟอร์ดคือพวกเขาไม่มีรถยนต์ที่ดีพอจะลงทำการแข่งขัน ตรงกันข้ามกับเฟอร์รารี่ ที่ถึงแม้รถของพวกเขาจะไม่ได้ขายดีเทน้ำเทท่า จนเห็นเกลื่อนถนนเหมือนฟอร์ด แต่ในสนามประชันความเร็ว พวกเขา คือ ราชา

ฟอร์ดตัดสินใจที่จะใช้เงินแก้ปัญหา ... ในเมื่อตัวเองไม่มีรถสปอร์ต แต่เฟอร์รารี่มีรถสปอร์ตที่เร็วที่สุดในโลกอยู่ ถ้าอย่างนั้นก็ซื้อบริษัทเฟอร์รารี่เสียเลย

ฟอร์ดส่งนักเจราจาซื้อขายไปยังเมือง โมเดนา ประเทศอิตาลี เพื่อพูดคุยกับ เอนโซ่ เฟอร์รารี่ ประธานบริษัทในเวลานั้น และทุกอย่างก็เหมือนจะเป็นไปด้วยดี เงินจำนวนสิบล้านเหรียญกำลังจะเดินทางเข้ากระเป๋าบริษัทเฟอร์รารี่ แต่อยู่ๆ ทางฝั่งฟอร์ดก็เพิ่มเงื่อนไขในการซื้อครั้งนี้ว่า พวกเขาขอเป็นคนควบคุมงบประมาณรวมถึงจัดการทุกอย่างเกี่ยวกับทีมรถแข่งเฟอร์รารี่

 3

ข้อเสนอนี้สร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับเอนโซ่ เพราะถึงแม้จะไม่ได้ร่ำรวยเท่าฟอร์ด แต่ชายคนนี้ก็เป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในอิตาลี มีศักดิ์ศรีอีโก้สูงเป็นภูเขา ไม่ชอบให้ใครมาทำตัวเหนือกว่า ทำให้การเจรจาที่ดำเนินมายี่สิบสองวันและเกือบจะได้ข้อสรุปกลับพังไม่เป็นท่า

ฟรังโก้ กอซซี่ เลขานุการส่วนตัวของเอนโซ่ซึ่งร่วมอยู่ในห้องเจรจาด้วยเผยว่า ทันทีที่เอนโซ่เห็นเงื่อนไขที่ผูกมัดงบประมาณการทำทีมรถแข่งเฟอร์รารี่ เจ้านายของเขาก็หยิบปากกาสีม่วงมาขีดเส้นใต้ข้อความดังกล่าวด้วยอารมณ์โมโห ก่อนจะพูดออกมาว่า

"นี่มันละเมิดความเป็นอิสระที่ผมเคยให้สัญญากับหัวหน้าทีมรถแข่งไว้" หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยคำสบถอีกมากมายที่ไม่สามารถหาคำแปลได้ในพจนานุกรม

ก่อนที่สุดท้ายเอนโซ่จะหันมาพูดกับกอซซี่ว่า

"ไปหาอะไรกินกันเถอะ" 

ทีมงานเฟอร์รารี่ทั้งหมดจึงเดินออกจากห้องเจราจาไป และก็ไม่กลับมาอีกเลย ทิ้งให้ฝ่ายฟอร์ดทั้ง 14 คนอยู่ในความเงียบ

 4

ทีมเจราจาของฟอร์ดบินกลับอเมริกามือเปล่า ไม่นานข่าวนี้รู้ถึงหู เฮนรี่ ฟอร์ด ที่สอง ประธานบริษัทฟอร์ดในเวลานั้น เกิดเป็นความโกรธควันออกหูที่รู้สึกเหมือนโดนหยาม

"คนหนึ่งคือซีอีโอที่โด่งดังและทรงพลังที่สุดในอเมริกา ส่วนอีกคนคือชาวอิตาลีอัจฉริยะผู้หลงตัวเองที่สุดในโลก" เอ.เจ. ไบม์ ผู้เขียนหนังสือ Go Like Hell: Ford, Ferrari, and Their Battle for Speed and Glory at Le Mans ให้คำนิยามถึงสองผู้กุมบัลลังก์บริษัทยักษ์ใหญ่ในขณะนั้น และเป็นเหตุผลว่าทำไมความขัดแย้งครั้งนี้จึงปะทุขึ้น

ฟอร์ดตัดสินใจใช้เงินก้อนที่จะใช้ซื้อเฟอร์รารี่มาสร้างทีมรถแข่งของตัวเอง พร้อมประกาศกร้าวว่าพวกเขาจะเอาชนะเฟอร์รารี่ในรายการแข่ง เลอ ม็องส์ 24 ชั่วโมง

"ข้าจะไปที่ เลอ ม็องส์ และจะเตะก้นหมอนั่นที่นั่น"

หมูสนามจริง สิงห์สนามซ้อม

หลังจากนั้นเพียงหนึ่งปี ฟอร์ดก็ไม่รอช้าที่จะกระโจนลงสู่สนามแข่งทันที พวกเขาทุ่มเงินมหาศาลเพื่อหวังเอาชนะ นอกจากนั้นยังรวบรวมยอดฝีมือจากทั่วทุกสารทิศเข้าสู่ทีม ทั้งนักแข่ง วิศวกร รวมถึงทีมงาน

หนึ่งในนั้นคือ แคร์รอล เชลบี้ อดีตนักแข่งรถในตำนานชาวอเมริกัน เจ้าของทีมรถแข่ง Shelby American ซึ่งเป็นทีมที่ร่วมแข่ง เลอ ม็องส์ 24 ชั่วโมง อยู่แล้วในครั้งก่อนๆ โดยใช้รถของ AC Cobra Daytona Coupe แต่คราวนี้ทีม Shelby American ทั้งหมดจะเปลี่ยนมาใช้รถของฟอร์ดในฐานะทีมโรงงาน

เรียกได้ว่าถึงจะเป็นหน้าใหม่ แต่ก็เป็นหน้าใหม่ประสบการณ์สูง

 5

อย่างไรก็ตามขึ้นชื่อว่าเป็นการแข่งขัน เลอ ม็องส์ 24 ชั่วโมง ไม่มีคำว่าง่าย ไม่ใช่แค่ทุ่มเงินอย่างเดียวแล้วจะเอาชนะได้ การจะเป็นผู้ชนะในรายการนี้ต้องมีอะไรมากกว่านั้น ... และเมื่อสัญญาณการแข่งขัน เลอ ม็องส์ 24 ชั่วโมงในปี 1964 ดังขึ้น ฟอร์ดก็ได้รู้ซึ้งถึงความจริงข้อนี้

ไม่มีใครปฏิเสธว่ารถรุ่น GT40 ของฟอร์ดที่ส่งลงทำการแข่งขันนั้นไม่เร็ว ตรงกันข้ามนี่อาจจะเป็นรถที่เร็วที่สุดในสนามก็ว่าได้ แต่ปัญหาคือพวกเขาไม่สามารถหาวิธีให้มันวิ่งได้ครบ 24 ชั่วโมง รถแต่ละคันของฟอร์ดต่างมีปัญหา ทั้งเกียร์พัง ปะเก็นฝาสูบขาด และในที่สุดอาชาเหล็กตัวนี้ก็ไม่อาจฝืนสังขารตัวเองได้ ต้องออกจากการแข่งขันไปอย่างน่าเจ็บใจ ... ทุกคัน

 6

"พวกเขาใช้เงินจำนวนมาก แต่นั่นก็ไม่รับประกันว่าคุณจะชนะการแข่งขัน" เพรสตัน เลอร์เนอร์ ผู้เขียนหนังสือ Ford GT: How Ford Silenced the Critics, Humbled Ferrari and Conquered Le Mans ให้ความเห็น

หลังจากล้มเหลวในปี 1964 ฟอร์ดก็ตั้งความหวังว่าปีหน้าจะเป็นปีที่พวกเขาได้ผงาด แต่เหมือนภาพฉายซ้ำ การแข่งขัน เลอ ม็องส์ 24 ชั่วโมงปี 1965 ฟอร์ดก็ไม่สามารถประคองรถ GT40 ให้วิ่งครบ 24 ชั่วโมงได้แม้แต่คันเดียวอีกครั้ง ซึ่งปัญหาที่พบก็เป็นปัญหาเดิมๆ และที่น่าเจ็บใจยิ่งไปกว่านั้น... ผู้ชนะของทั้งสองปีคือรถยนต์จากค่าย เฟอร์รารี่

 7

อย่างไรก็ตาม ผู้ชายอย่าง เฮนรี่ ฟอร์ด ที่สอง ไม่ใช่คนที่ยอมแพ้ง่ายๆ ยิ่งแพ้เขายิ่งรู้สึกอยากชนะ เขาทุ่มงบประมาณเพิ่มเพื่อสร้างรถยนต์คันใหม่ที่จะพาเขาสู่เส้นทางแห่งผู้ชนะ ... มันคือ GT40 Mark II รถยนต์ที่ออกแบบมาอย่างดีเยี่ยม มีครบทั้งความสะดวกสบายในการนั่ง ทัศนวิสัยกว้างไกล ที่สำคัญคือเครื่องยนต์เหมาะสำหรับการวิ่งในระยะไกล และสามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 215 ไมล์ หรือราว 350 กิโมเมตรต่อชั่วโมง

นอกจากนั้นฟอร์ดรุ่นใหม่คันนี้ยังมีอาวุธลับที่ทำให้มันเหนือกว่าคู่แข่งคันอื่นๆ คือระบบเบรกที่ออกแบบโดย ฟิล เรมิงตัน โดยเป็นเบรกที่มีกลไกในการสับเปลี่ยนทั้งผ้าเบรกและจานเบรกได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งถือว่าล้ำยุคมากสำหรับนวัตกรรมยานยนต์ในสมัยนั้น

 8

ในตอนนี้ฟอร์ดพร้อมแล้วสำหรับการเป็นผู้ชนะใน เลอ ม็องส์ 24 ชั่วโมง ปี 1966...

ขึ้นสู่บัลลังก์

หลังจากสัญญาณเริ่มต้นการแข่งขัน เลอ ม็องส์ 24 ชั่วโมงปี 1966 ดังขึ้น ต่างฝ่ายต่างไม่มีใครยอมใคร ขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้นตั้งแต่ในช่วงแรก โดยเฉพาะฟอร์ดที่ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าพวกเขามุ่งมั่นอย่างสุดๆ ที่จะเป็นผู้ชนะ ดูได้จากการที่พวกเขาส่งรถเข้าแข่งรวมในนามทุกทีมถึง 13 คันด้วยกัน

เมื่อจบรอบแรก ฟอร์ดเริ่มต้นได้ดีด้วยการเป็นผู้นำสามอันดับแรก ตามมาด้วยเฟอร์รารี่ในอันดับที่สี่ และเมื่อเข้าสู่รอบที่สาม แดน เกอร์นี่ย์ นักขับจากทีม Shelby American ซึ่งเป็นทีมโรงงาน ก็เริ่มทิ้งห่างคันอื่นๆ ด้วยม้าเหล็ก Ford GT40 Mk.II หมายเลข 3

 9

แต่เมื่อผ่านไปเก้ารอบ ปรากฎว่า โยเค่น รินด์ท และรถ GT40 จากทีมอิสระจำเป็นต้องออกจากการแข่งขันด้วยปัญหาด้านเครื่องยนต์ นี่จึงเป็นคันแรกของทีมฟอร์ดที่ต้องเก็บกระเป๋ากลับบ้าน

เข้าสู่ช่วงสองทุ่ม ท้องฟ้ามืดสนิท แต่การแข่งขันภายในสนามยังคงเข้มข้น โดยในตอนนี้ผู้นำสองอันดับแรกคือ แดน เกอร์นี่ย์ และ เคน ไมล์ส ในรถ GT40 Mk.II หมายเลข 3 และ 1 ตามลำกับ ขณะที่ เปโดร โรดริเกซ ควบ Ferrari 330 P3 Spyder ไล่ตามาติดๆ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เฟอร์รารี่สามารถไล่ตามเข้าใกล้ฟอร์ดได้มากขึ้นเนื่องจากในช่วงค่ำมีฝนตกลงมาอีกระลอก ทำให้เครื่องยนต์ที่เร็วแรงกว่าของฟอร์ดไม่สามารถดึงประสิทธิภาพออกมาได้เต็มที่ ตรงกันข้ามกับเฟอร์รารี่ที่รถของพวกเขาออกแบบมาให้สามารถไปกับพื้นถนนในสภาพนี้ได้ดีกว่า

 10

และสุดท้าย ด้วยฝนที่ตกต่อเนื่องยาวนานกว่าหกชั่วโมง ส่งผลให้เฟอร์รารี่สามารถแซงฟอร์ดขึ้นมาเป็นผู้นำได้สำเร็จ แต่ฟอร์ดของ เกอร์นี่ย์ และ ไมล์ส ก็ยังคงไล่ตามมาอย่างกระชั้นชิด

เมื่อสายฝนจางหายไป ตำแหน่งผู้นำก็กลับมาอยู่กับฟอร์ดอีกครั้ง ส่วนเฟอร์รารี่นั้นเหมือนเคราะซ้ำกรรมซัด เพราะยังไม่ทันที่ท้องฟ้าจะสว่าง รถแข่งของพวกเขาก็ทยอยออกจากการแข่งขันไปเรื่อยๆ สาเหตุหลักมาจากความร้อนเครื่องยนต์สูงเกินขีดจำกัด และก่อนที่พระอาทิตย์จะขึ้น ตำแหน่งผู้นำสี่อันดับแรกก็ตกเป็นของฟอร์ดทั้งหมด

จนเข้าสู่ช่วงท้ายของการแข่งขัน จาก 13 คันที่ฟอร์ดส่งลงสนาม ในตอนนี้เหลือเพียง 3 คันเท่านั้นที่ยังยืนหยัดเร่งเครื่องยนต์ต่อไปอย่างไม่ยอมแพ้ แต่นี่ไม่ใช่ข่าวร้าย เพราะสถานการณ์ของเฟอร์รารี่เลวร้ายยิ่งกว่า เจ้าความเร็วจากอิตาลีเหลือรถที่ยังอยู่ในการแข่งขันเพียง 2 คัน และที่สำคัญคันหน้าสุดของพวกเขาตามหลังผู้นำจากฟอร์ดอยู่ถึง 47 รอบสนาม เรียกได้ว่าถ้าไม่มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เชื่อขนมกินได้ว่าชัยชนะจะตกเป็นของฟอร์ด

 11

เข้าสู่นาทีสุดท้ายของการแข่งขัน เข็มสั้นนาฬิกากำลังจะวนครบสองรอบ ไม่มีปาฏิหาริย์สำหรับเฟอร์รารี่ เพราะกลุ่มผู้นำสามอันดับแรกตอนนี้คือฟอร์ดทั้งหมด โดยมีปอร์เช่อีกสี่คันอยู่ในลำดับ 4-7 ส่วนเฟอร์รารี่ แม้คันที่ผลงานดีสุดของพวกเขา ยังย่ำแย่อยู่ที่อันดับ 8

ชัยชนะอยู่ใกล้แค่เอื้อม แต่นั่นยังไม่สาแก่ใจฟอร์ด พวกเขาต้องการประกาศให้โลกรู้ว่าตอนนี้ฟอร์ดคือราชาตัวจริงแห่งท้องถนน และในขณะเดียวกันพวกเขาต้องการเหยียบเฟอร์รารี่ให้มิดจมดิน ลีโอ บีบบ์ หนึ่งในผู้บริหารของฟอร์ดจึงตัดสินใจทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด 

 12

เขาส่งสัญญาณให้นักแข่งในรถกลุ่มผู้นำทั้งสามคันค่อยๆ ลดความเร็วเข้าหากัน ก่อนจะเข้าเส้นชัยพร้อมๆ กัน เป็นการปิดฉาก เลอ ม็องส์ 24 ชั่วโมงปี 1966 ด้วยภาพในตำนาน

เมื่อการแข่งขันสิ้นสุดลง ด้วยชัยชนะของ Ford GT40 Mk.II หมายเลข 2 ขับโดย บรูซ แม็คลาเรน และ คริส เอม่อน ถึงเวลาที่ผู้ชนะจะฉลองชัย แน่นอนว่าคงไม่มีใครจะดีใจสะใจไปมากกว่า เฮนรี่ ฟอร์ด ที่สอง

"อันที่จริง มันคือชัยชนะที่ล้มเหลว" Preston Lerner ให้ความเห็น เนื่องจากการทุ่มงบประมาณมหาศาลของฟอร์ดดูไม่คุ้มค่ากับชัยชนะที่ได้รับเอาเสียเลย แต่เชื่อว่าในวินาทีนั้น เฮนรี่ ฟอร์ด ที่สอง คงไม่ได้ใส่ใจ

 13

ส่วนเฟอร์รารี่ต้องพบกับความผิดหวังอย่างไม่มีใครคาดคิด และเลวร้ายยิ่งไปกว่านั้น เพราะในการแข่งขัน เลอ ม็องส์ 24 ชั่วโมง ในปี 1967-1969 พวกเขาก็ไม่เคยได้ลิ้มรสแห่งชัยชนะอีกเลย เพราะฟอร์ดยังคงครองความยิ่งใหญ่อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งยักษ์ใหญ่จากอเมริกาเลิกส่งทีมเข้าแข่งขันในปี 1970 นั่นแหละ ค่ายรถต่างๆ จึงค่อยลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง

ถึงแม้ เลอ ม็องส์ 24 ชั่วโมง ปี 1966 จะจบสิ้นไปแล้ว แต่อย่างที่บอกว่าเหตุการณ์นี้คือตำนานอันยิ่งใหญ่ที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์วงการยานยนต์ และยังคงส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน ...

มรดกจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์

จากปี 1966 ถึงปัจจุบัน เวลาล่วงเลยมาเกินครึ่งศตวรรษ แต่เราก็ยังสามารถพบเจอสิ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้อยู่ นั่นคือรถรุ่น GT40 Mark II ที่ขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในรถระดับตำนานของฟอร์ด และด้วยความยิ่งใหญ่ในครั้งนั้น ส่งผลให้ฟอร์ดผลิตรถซึ่งถือว่าเป็นทายาทโดยตรงของ GT40 Mark II ออกมา ...

นั่นคือ Ford GT ซึ่งผลิตรุ่นแรกในปี 2004-06 และรุ่นที่สองตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งยังวางจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน ด้วยจำนวนการผลิตเพียงปีละ 250 คัน แถมพวกเขายังคว้าแชมป์ เลอ ม็องส์ 24 ชั่วโมง ในคลาส LMGTE Pro ในปี 2016 ด้วย Ford GT ของทีม Ford Chip Ganassi Team USA อีกด้วย

 14

นอกจากนั้นตำนานเหตุการณ์ เลอ ม็องส์ 24 ชั่วโมง ปี 1966 ก็เพิ่งถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในชื่อ Ford v Ferrari นำแสดงโดย คริสเตียน เบล รับบทเป็น เคน ไมลส์ หนึ่งในนักขับของฟอร์ด และ แม็ตต์ เดม่อน รับบทเป็น แคร์รอล เชลบี้ ... ทั้งสองคนคือเบื้องหลังคนสำคัญผู้นำ Ford สู่ชัยชนะ

Ford v Ferrari เข้าฉายไปแล้วในต่างประเทศ และได้รับคำวิจารณ์ในแง่บวก โดยบางสำนักถึงกับบอกว่านี่คือหนึ่งในภาพยนตร์ตัวเต็งรางวัลออสการ์ครั้งที่จะถึง เมื่อได้รับคำชมขนาดนี้ ยิ่งกระตุ้นความสนใจให้อยากรู้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเล่าเหตุการณ์ เลอ ม็องส์ 24 ชั่วโมง ปี 1966 ออกมาในแง่มุมไหน นำเสนอออกมาอย่างไร และไม่ต้องกังวล เพราะทุกคนจะได้พิสูจน์มันกับตาตัวเองแน่นอน เพราะ Ford v Ferrari มีโปรแกรมเข้าฉายในประเทศไทยเดือนพฤศจิกายน 2019 ที่จะถึงนี้...

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ Ford v Ferrari : 24 ชั่วโมงแห่งการชิงชัยของสองมหาอำนาจ ที่กลายเป็นตำนานโลกยานยนต์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook