"บิลลี่ คอนน์" : มวยรองบ่อนที่ไล่ถลุงตำนานนักชก ทั้งๆที่ต่อน้ำหนักให้ 12 กิโลกรัม

"บิลลี่ คอนน์" : มวยรองบ่อนที่ไล่ถลุงตำนานนักชก ทั้งๆที่ต่อน้ำหนักให้ 12 กิโลกรัม

"บิลลี่ คอนน์" : มวยรองบ่อนที่ไล่ถลุงตำนานนักชก ทั้งๆที่ต่อน้ำหนักให้ 12 กิโลกรัม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โจ หลุยส์ คือนักชกรุ่นเฮฟวี่เวตชาวอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว หมัดของเขาหนักระดับคว่ำคู่ชกได้ด้วยการต่อยแย็บธรรมดา ไม่ต้องใช้หมัดตรง ไม่ต้องใช้หมัดฮุก ก็สามารถปิดบัญชีได้ง่ายดาย ความยอดเยี่ยมของเขาคือสิ่งที่นักมวยอย่าง มูฮัมหมัด อาลี และ ไมค์ ไทสัน ยังต้องยอมซูฮก

อย่างไรก็ตาม กลับมีนักชกรองบ่อนฉายา "เด็กน้อยแห่งพิตสเบิร์ก" ชายผู้ไม่เคยชกระดับเฮฟวี่เวตเลยแม้แต่ไฟต์เดียว ซึ่งต้องมาขึ้นชกกับ โจ หลุยส์ ในฐานะบันไดที่มาเพื่อเอนเตอร์เทนแฟนๆจากการโดน โจ หลุยส์ ไล่ถลุง

 

ที่สุดแล้วไฟต์แห่งการต่อน้ำหนัก 12 กิโลกรัมจบลงอย่างไร? และอะไรทำให้ไฟต์นี้ถูกยกให้เป็นอีกหนึ่งไฟต์อมตะสุดคลาสสิกตลอดกาลของวงการมวยโลก

ติดตามได้ที่นี่

ความยิ่งใหญ่ของ The Brown Bomber 

โจ หลุยส์ ชื่อนี้อาจจะเป็นชื่อของนักมวยรุ่นแชมป์เฮฟวี่เวตที่ไม่คุ้นหูคนไทยมากนัก อย่างไรก็ตามสำหรับชาวอเมริกันแล้ว นี่คือนักชกที่เป็นฮีโร่ของประเทศ

 1

โจ มาจากครอบครัวชั้นแรงงานที่ย้ายจากเมืองเล็กๆ ในรัฐ อลาบาม่า เข้ามาหางานทำในเมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน จากการถูกคุกคามเรื่องสีผิว ณ เวลานั้นเขามีอายุแค่ 12 ปี แต่ก็ต้องเริ่มทำงานช่วยครอบครัวแล้ว อาชีพของ โจ ในตอนนั้นคือการเป็นเด็กส่งน้ำแข็ง 

เมื่อความจนมันน่ากลัวและการส่งน้ำแข็งทำให้เขายังต้องอดมื้อกินมื้อ โจจึงใช้ช่วงเวลาหลังเลิกงานเข้าไปฝึกชกมวยกับศูนย์นันทนาการและพัฒนาเยาวชนท้องถิ่น พร้อมความหวังว่าการเลือกใช้แรงแบบนี้ จะนำพาไปสู่เส้นทางที่ถูกต้องและทำเงินได้มากกว่าการยกน้ำแข็งไปวันๆ

โจ หลุยส์ คือคนตัวใหญ่ที่หมัดหนักและมีความว่องไว ดังนั้นเขาจึงพัฒนาตัวเองได้รวดเร็วในช่วงการต่อยระดับสมัครเล่น ภายในระยะเวลาแค่ 3 ปี ก็กลายเป็นยอดมวยและคว้ารางวัลนวมทองคำ หรือที่เปรียบได้กับจุดสูงสุดของชีวิตนักมวยสมัครเล่น และเขาก็เทิร์นโปรตอนอายุ 20 ปี 

ทุกสายตาจับจ้องการเข้ามาของเจ้าของฉายา "เดอะ บราวน์ บอมบ์เบอร์" เพราะเขาเป็นมวยประเภทหมัดหนักแบบธรรมชาติ ว่ากันว่านักชกอย่าง โจ เฟรเซียร์, ร็อคกี้ มาร์เซียโน หรือ ไมค์ ไทสัน ที่ถูกยกย่องว่าพลังหมัดรุนแรงโดนจังๆ น็อคแน่นอน ยังมีความต่างกับหมัดของ โจ หลุยส์ เพราะหมัดของ โจ นั้นสามารถน็อคคู่ต่อสู้ได้โดยการชกแบบธรรมดา ต่างกับทั้ง 3 คนก่อนหน้านี้ที่หนักด้วยความแรงจากการปล่อยหมัด 

หลุยส์ ไล่เก็บคู่แข่งไล่มาเรื่อยๆ ไม่ว่าจากทั้งยุโรป อเมริกาใต้ หรือแม้แต่มวยอเมริกันดีๆ ก็เสร็จ โจ หลุยส์ หมด จนสุดท้ายก็ได้แชมป์รุ่นเฮฟวี่เวตมาครองจากการคว่ำ เจมส์ แบรดด็อค ในปี 1937 หลังจากนั้นก็ไม่มีใครต้านทานเขาได้อีกเลย

ไฟต์สร้างชื่อของ โจ หลุยส์ ที่โด่งดังไปทั่วโลกคือการเอาชนะ มักซ์ ชเมลิ่ง นักชกจากเยอรมันในยุคที่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และ นาซี ยังปกครองประเทศ ซึ่งในไฟต์เมื่อปี 1938 นั้นเป็นการเจอกันของ 2 มวยที่ดีที่สุดจากแต่ละฟากโลก และเหมือนเป็นสงครามย่อยๆ เลยทีเดียว เพราะในด้านการเมืองและการทหาร สหรัฐอเมริกา และ เยอรมัน ก็ยังมีเหตุการณ์ตึงๆ กันเสมอ 

 2

ตัวของ โจ นั้นเคยแพ้ ชเมลิ่ง มาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้ แถมยังเป็นความพ่ายแพ้ครั้งแรกบนสังเวียนอีกด้วย ทว่าครั้งนี้ซึ่งเป็นไฟต์ล้างตา โจ ฝึกหนักยิ่งกว่าเดิม และเชื่อว่านี่คือการเดิมพันระดับประเทศ และมันทำให้เขาเอาชนะ ชเมลิ่ง ได้ด้วยการน็อคตั้งแต่ยกแรก ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ว่าหมัดของเขาหนักจริง คือข่าวที่ว่า มักซ์ ชเมลิ่ง ซึ่งโดน โจ หลุยส์ ซัด 1 หมัดเน้นๆ จนแพ้น็อค ต้องรักษาตัวหลังไฟต์ดังกล่าวยาวนานกว่า 3 เดือนเลยทีเดียว

นั่นคือเหตุการณ์ที่ทำให้ โจ หลุยส์ เป็นฮีโร่ของชาวอเมริกัน และจากนั้นก็แทบไม่เคยมีนักมวยคนไหนที่เข้ามาเป็นงานยากของเขาเลย โจ หลุยส์ ทำสถิติป้องกันแชมป์เฮฟวี่เวตได้นานที่สุดในประวัติศาสตร์ด้วยระยะเวลากว่า 11 ปี...

นี่คือเรื่องราวและสถิติความยิ่งใหญ่ของ โจ หลุยส์ ชัยชนะของเขาทำให้ผู้แพ้ทุกคนแทบไม่ถูกพูดถึง ตามคำกล่าวที่ว่าไม่มีใครจำคนแพ้ ทว่าต้องยกให้ 1 คนเป็นกรณีพิเศษ นักชกที่เข้ามาเป็นเหมือนบันไดให้ โจ หลุยส์ เก็บสถิติเพิ่ม และน็อคโชว์แฟนมวย... เขาคือ บิลลี่ คอนน์ นักชกผิวขาวชาวอเมริกันที่เป็นมวยรองบ่อนที่สุดคนหนึ่งที่ โจ ต้องออกแรงชกด้วย

ไอ้แห้งจากพิตสเบิร์ก 

ก่อน เมดิสัน สแควร์ การ์เด้น หรือ เอ็มจีเอ็ม แกรนด์ จะถือกำเนิดและกลายเป็นเมกกะแห่งวงการมวย มีเวทีที่ชื่อว่า "โปโล กราวด์" เวทีและสนามที่จุคนดูได้กว่าครึ่งแสนชีวิต ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้นมีเพียงครั้งเดียวที่ผู้ชมแตะหลักถึง 6 หมื่นคน นั่นคือไฟต์ระหว่าง แจ็ค เด็มพ์ซี่ย์ ตำนานนักชกของอเมริกิน กับ หลุยส์ ฟิร์โป้ ในปี 1923

 3

ทว่าในไฟต์ระหว่าง โจ หลุยส์ กับ บิลลี่ คอนน์ นักชกที่แพ้มากว่า 10 ไฟต์ ในปี 1941 นั้นกลับได้รับความสนใจในระดับเดียวกันแบบไม่น่าเชื่อ แม้ว่าระดับความสูสีก่อนขึ้นชกแทบจะมองไม่เห็นโอกาสของผู้ท้าชิงเลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะด้วยเรื่องสถิติ, สไตล์, ชื่อเสียง หรือเนื้อตัวก่อนขึ้นเวที 

บิลลี่ คอนน์ มาได้อย่างไร? และกล้าเผชิญหน้ากับ โจ หลุยส์ เพราะอะไร? นั่นคือสิ่งที่ผู้คนอยากรู้ เพราะความเป็นรองเรื่องน้ำหนักตัวที่มากถึง 25 ปอนด์ (12 กิโลกรัม) น้ำหนักตัวของ คอนน์ เดิมทีอยู่ที่ 170 ปอนด์ แต่เขาต้องทำน้ำหนักเพิ่มสุดชีวิตเพื่อให้ได้ 180 ปอนด์ สำหรับชกในรุ่นเฮฟวี่เวตครั้งแรกกับ โจ หลุยส์ ซึ่งการต่อน้ำหนักแบบนี้ แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะได้เห็นจากมวยรอง  

และนั่นเองคือเหตุผลที่แฟนๆ ทั่วประเทศอยากจะเห็น จะมีอะไรสนุกไปกว่าการได้เห็นฮีโร่ของประเทศไล่ถลุงรอบเวทีให้เป็นขวัญตาสักครั้ง 

"ผมรู้ว่าเขาจะสู้ด้วยวิธี Hit and Run (ชกแล้วชิ่ง) แต่ผมจะบอกให้ว่า เขาสามารถวิ่งไปไหนก็ได้ แต่ในเวทีเขาหนีผมไม่พ้นหรอก" โจ หลุยส์ กล่าวก่อนขึ้นชก และตัวของ บิลลี่ คอนน์ เองก็รู้สึกว่า โจ ไม่ได้พูดเล่นๆ

"ความกลัวแผ่ซ่านเมื่อขึ้นเวทีและเห็นเขาอยู่ที่อีกฝั่ง สีหน้าของเขามันบอกอารมณ์ประมาณว่า รีบขึ้นมาเร็วๆ เราจะได้รีบๆต่อย รีบๆกลับบ้าน" บิลลี่ อธิบายถึงออร่าบางอย่างก่อนขึ้นชก

ไม่มีใครได้กลับบ้านเร็ว...

เสียงระฆังดังขึ้น โจ หลุยส์ ทำตามความตั้งใจและออร่าพลังที่แผ่ออกมา เขาอยากจะกลับบ้านเร็วๆ... ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร เขาเล่นงานที่หน้าท้องของ บิลลี่ คอนน์ จนเกือบจุกในยกแรก หลังจากนั้นยกที่สอง คอนน์ ต้องหนีแบบเดียว สไตล์ Hit and Run ไม่สมบูรณ์เพราะเขาแทบไม่ได้ออกหมัดชัดๆเลย แม้แต่หมัดแย็ปก็ตาม 

 4

อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มยก 3 คอนน์ กลับมาเป็นฝ่ายพลิกเกมแบบไม่น่าเชื่อ เขาเปลี่ยนจากถอยหนีเป็นการเต้นฟุตเวิร์ก ขยับตัวเปลี่ยนท่าอย่างต่อเนื่องและว่องไว และเริ่มปล่อยหมัดจิ้มเข้าหน้าเข้าตา โจ หลุยส์ ได้แบบกลายเป็นคนละคน 

เว็บไซต์ The Fight City พยายามอธิบายว่าการชกในวันนั้นของ คอนน์ เหมือนกับสไตล์ "พริ้วเหมือนผีเสื้อ ต่อยเจ็บเหมือนผึ้ง" ที่กำเนิดและโด่งดังในอีก 20-30 ปีให้หลังโดย มูฮัมหมัด อาลี

ไม่รู้ว่าเพราะด้วยน้ำหนักที่เป็นรองหรือไม่ที่ทำให้ คอนน์ โยกหลบหม้ดของ โจ หลุยส์ เหมือนกับของสนุก และหมัดของเขาคมขึ้นเรื่อยๆ ยกที่ 4 บิลลี่ คอนน์ ทำให้หัวเข่าของ โจ ต้องทรุด จากการปล่อยหมัดขวาตรงเข้าที่หน้า 

นอกจากการชกแล้วหนี คอนน์ ยังเตรียมอีกสิ่งมา นั่นคือการตั้งรับที่เหนียวแน่นอน ไม่เปิดช่องให้โดนชกง่ายๆ หรือต่อให้โดนชก การ์ดของเขาก็จะเกะกะไปหมด จน โจ หลุยส์ ที่มีหมัดหนักโดยธรรมชาติต่อยไม่เข้าเป้า พลังความแรงจึงลดไปเยอะมากระดับ 30-50% เลยทีเดียว เมื่อทุกอย่างเป็นต่อ แฟนมวยเริ่มสนุกกับการชกของบิลลี่ มวยรองที่พวกเขามารอดูโดนยำ เขาเริ่มได้รับเสียงเชียร์และต่อยได้ดีขึ้นเรื่อย ว่ากันว่านับตั้งแต่ยก 4 ถึงยก 12 คะแนนของ บิลลี่ นั้นนำโด่งชนิดที่ว่าช่วงเวลาที่เหลืออีก 3 ยก (ยุคนั้นไฟต์ชิงแชมป์ต้องสู้กันถึง 15 ยก) โจ หลุยส์ จำเป็นต้องน็อคเอาต์เขาให้ได้เท่านั้น ไม่อย่างนั้น โจ หลุยส์ จะเสียแชมป์ให้กับมวยรองบ่อนที่ไม่มีใครกล้าคิดว่าจะชนะฮีโร่ของประเทศอย่างเขา 

"โจ แกเสร็จฉันแล้วว่ะ" บิลลี่ เริ่มมั่นใจกับผลที่กำลังจะเกิดขึ้น แม้ตอนนั้น โจ หลุยส์ จะใจดีสู้เสือ แต่จริงๆแล้ว มันเป็นความรู้สึกพลาดที่เขาเลือกขึ้นชกไฟต์นี้

 5

"ผมผิดพลาดจริงๆ ที่เลือกขึ้นชกไฟต์นี้ ผมรู้ว่า คอนน์ เป็นคนตัวเล็กๆ และผมเองก็ไม่อยากให้สื่อเอาไปเขียนว่า ผมไล่ชกไอ้แอ้ดที่ไหนจนหมดสภาพ ก่อนชกไฟต์นั้น ผมต้องออกไปวิ่งเรียกเหงื่อ กินน้ำให้น้อยที่สุด เพื่อลดน้ำหนักให้ต่ำกว่า 200 ปอนด์ให้ได้"

"มันเป็นอะไรที่ลำบากอยู่บ้าง แต่ตอนนั้นผมคิดจริงๆ ว่า คอนน์ คือนักชกที่ฉลาด เขาจะสู้เหมือนกับยุง คือเขามากัดคุณแล้วก็บินหนี"

สิ่งที่ โจ คิดไว้ก่อนชกเป็นจริงทุกอย่าง โดยเฉพาะยก 7, 8 และ 9 นั้น บิลลี่ เร็วขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหมัดทั้งฟุตเวิร์กจน โจ หลุยส์ เปิดตำรารับไม่ทัน และเป็นไปอย่างนั้นจนถึงยกที่คลาสสิกที่สุดในประวัติศาสตร์มวยโลก... ยกที่ 13

คลาสสิก…

ยกที่ 13 คือยกที่ บิลลี่ คอนน์ กำลังจะกลายเป็นตำนานมวยโลก อีกไม่กี่ก้าวไม่กี่ยกจากนี้ เขาจะกลายเป็นแชมป์โลกเฮฟวี่เวตด้วยการคว่ำนักชกขวัญใจอันดับ 1 ของประเทศ สมองของเขาล่องลอยไปไกลถึงไหนต่อไหน ภาพในอดีตจากการปิดยิมซ้อมแบบเอาเป็นเอาตายเพื่อไฟต์นี้สลายไป เหลือแต่เพียงการเลือกอนาคตว่า "เขาจะชนะ โจ หลุยส์ ด้วยวิธีไหนดี?"

 6

ก่อนขึ้นยกที่ 13 จอห์นนี่ เรย์ พี่เลี้ยงของ บิลลี่ คอนน์ ตบที่ไหล่เขาและพยายามจะบอกว่ายังไงเสียก็ชนะแน่ ทำเหมือนเดิม ตั้งรับ อยู่ให้ห่าง และสวนกลับให้ไว... ทว่า บิลลี่ หันมายักคิ้วให้และตอบกลับว่า "ไม่ล่ะ ผมจะเดินลงไปน็อคเขาในยกนี้"

"เฮ้ย บิลลี่ นี่ โจ หลุยส์ นะเว้ย แกห้ามประเมินนักมวยคนนี้ต่ำเด็ดขาด แค่คิดจะแลกหมัดกับเขาก็ผิดแล้ว ถอยออกมาให้ห่างจากเขาซะ แล้วนายจะชนะไฟต์นี้แน่นอนเชื่อฉันสิ" เรย์ ตะโกนเป็นครั้งสุดท้ายก่อนระฆังเริ่มยก 13 จะดังขึ้น ทว่า บิลลี่ ยักไหล่ราวจะบอกว่า "ไม่ต้องห่วงหรอกน่า" 

เมื่อเห็นเช่นนั้น เรย์ หันมาพึมพำกับตัวเองว่า "ชีวิตแก แกเลือกเองก็แล้วกัน" 

แฟนๆ กว่า 55,000 คน ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นสิ่งนี้กับตาตัวเอง เพราะระฆังยกที่ 13 ดังเป๊ง บิลลี่ เดินจ้ำเข้าหา โจ หลุยส์ ทันที การฝันหวานว่าจะคว่ำตำนานของมวยโลกทำให้เขาประมาทโดยไม่รู้ตัว 

เมื่อ บิลลี่ เลือกเดินเข้าหาก็เหมือนการส่งกล่องของขวัญมอบให้กับ โจ หลุยส์ เพราะอยู่ๆ คนที่หลบเขาได้ตลอดกลับเดินมาเข้าระยะทำการของเขาเสียอย่างนั้น 

โจ หลุยส์ กระทุ้งลำตัวเหมือนในยกแรก ทำให้ คอนน์ เซ ก่อนจะตามซ้ำด้วยซ้ายอีกหนึ่งครั้งให้เซหนักกว่าเดิม ตอนนี้ โจ หลุยส์ รู้ว่าถึงเวลาปิดบัญชีแล้ว จากนั้นหมัดซ้ายเปรี้ยงเดียวที่รุนแรงราวกับความอัดอั้นที่ต้องทนโดนชกมาถึง 12 ยกได้ระเบิดออกมา... บิลลี่ คอนน์ เจ้าแห้งแห่งพิตสเบิร์ก ล้มลงกับพื้นและสุดท้ายถูกนับ 10 แพ้ไปในที่สุด

 7

"ผมเหมือนกับคนหัวขาด และหัวของผมขาดหายไปพร้อมๆ กับเงิน 1 ล้านเหรียญ"... บิลลี่ คอนน์ เปิดเผยภายหลัง

หมัดซ้ายและขวา ฟุตเวิร์กที่รวดเร็ว และจังหวะเข้าออกที่ตรงเป๊ะตลอด 12 ยกที่ผ่านมาของ บิลลี่ ไม่มีความหมาย เพราะสุดท้ายแล้วคะแนนเหล่านั้นไม่ถูกเอามานับเลยหลังจากที่เขาถูกนับ 10 ไป อย่างไรก็ตาม ไฟต์นี้ถูกยกย่องให้เป็นไฟต์ที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์มวยโลกตลอดกาลไฟต์หนึ่งเลยทีเดียว

โจ หลุยส์ แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นอัจฉริยะแห่งการออกหมัด แค่คุณต่อยเขาและไล่ต้อนเขาได้ ไม่ได้แปลว่าเขาจะแพ้ หมัดอัศจรรย์ของ โจ หลุยส์ เปรี้ยงเดียวที่หัวของ คอนน์ ทำให้ คอนน์ เห็นภาพต่างๆ และความผิดพลาดของตัวเองที่เลือกจะทิ้งแผนการที่ซ้อมมา และปล่อยอารมณ์ไปกับเสียงเชียร์และสถานการณ์บนเวทีเกินไป

นี่คือไฟต์ที่เขาเข้าใกล้ความพ่ายแพ้มากที่สุด... แต่สุดท้ายเขาก็ยังไม่แพ้ เพราะความห้าวหาญเกินไปของ คอนน์ รวมถึงพลังหมัดที่มากเกินไปของตัว โจ หลุยส์ เองด้วย

เมื่อ โจ หลุยส์ เดินลงเวที เขาเจอกับผู้จัดการของเขา โจ ยิ้มให้และถามว่า "คืนนี้กลืนน้ำลายไปกี่อึกแล้ว (เพราะความหวาดเสียว)" 

 8

ผู้จัดการของเขายังไม่ทันตอบดี โจ หลุยส์ เดินไปที่ห้องพัก เพราะเขาเองก็ถามไปอย่างนั้นแหละ ความจริงเขารู้ดีว่ากองเชียร์เต็มความจุของ โปโล กราวด์ ต่างก็นั่งไม่ติดเก้าอี้กันทั้งนั้นสำหรับประวัติศาสตร์ของนักมวยทั้ง 2 คนในค่ำคืนนั้น

และด้วยความสูสีจากไฟต์นั้น ทำให้ต้องมีไฟต์รีแมตช์เกิดขึ้นตามมา แต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เคาะประตูสหรัฐอเมริกาหลังจากนั้นไม่นาน ทำให้กว่าที่ไฟต์ดังกล่าวจะเกิดขึ้น ต้องรอถึงปี 1946 หลังสงครามยุติ ทว่าการฟิตร่างกายช่วงสงครามที่แตกต่าง ทำให้ผลลัพธ์ออกมาไม่สมกับที่รอคอย

เพราะในศึกครั้งที่สอง คอนน์ทำได้เพียงแค่หลบหมัดของโจไปเรื่อยๆ ก่อนที่จะโดนหมัดแพ้น็อกไปในยกที่ 8 เท่านั้นเอง

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ "บิลลี่ คอนน์" : มวยรองบ่อนที่ไล่ถลุงตำนานนักชก ทั้งๆที่ต่อน้ำหนักให้ 12 กิโลกรัม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook