"มาซายูกิ โอคาโนะ" : ผู้สร้างชมรมฟุตบอลจากเด็กเกเรดั่งเรื่อง Rookies เวอร์ชั่นฟุตบอล

"มาซายูกิ โอคาโนะ" : ผู้สร้างชมรมฟุตบอลจากเด็กเกเรดั่งเรื่อง Rookies เวอร์ชั่นฟุตบอล

"มาซายูกิ โอคาโนะ" : ผู้สร้างชมรมฟุตบอลจากเด็กเกเรดั่งเรื่อง Rookies เวอร์ชั่นฟุตบอล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มาซายูกิ โอคาโนะ ปีกในตำนานของ อุราวะ เรดส์ กลายเป็นที่จดจำในฐานะ “ฮีโร่ของชาติ” หลังยิงประตูโกลเด้นโกล ช่วยให้ญี่ปุ่น เอาชนะอิหร่าน 3-2 เมื่อปี 1997 พร้อมคว้าตั๋วเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี 1998 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

 

อย่างไรก็ดี เส้นทางสู่การเป็นฮีโร่ของเขานั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะในสมัยมัธยมปลาย เขาต้องสร้างชมรมฟุตบอลที่เคยเป็นศูนย์รวมเด็กเกเร ไร้ระเบียบวินัย จนกลายเป็นหนึ่งในทีมสุดแกร่งของจังหวัด และเกือบจะผ่านเข้าไปเล่นไปเล่นในศึกชิงแชมป์ระดับชาติได้อย่างเหลือเชื่อ 

พบกับเรื่องที่ราวหลุดออกมาจากการ์ตูน Rookies ในเวอร์ชั่นฟุตบอล จนถูกนำมาสร้างเป็นละครได้ที่นี่

สิ่งเดียวที่เหลือคือฟุตบอล 

ย้อนกลับไปในช่วงยุค 70’s - 80’s ฟุตบอลอาจจะยังไม่ได้รับความนิยมเท่ากับเบสบอล กีฬาอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น แต่โอคาโนะ ก็ตัดสินใจเลือกเล่นกีฬาชนิดนี้ เขาเริ่มเล่นฟุตบอลตอนอยู่ชั้นประถม 1 ก่อนจะมาเล่นอย่างจริงจังตอนประถม 3 และตั้งใจว่าจะเข้าชมรมฟุตบอลตอนขึ้นมัธยมต้น 

 1

อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไปมันกลับไม่เป็นเช่นนั้น โอคาโนะ ที่รักสนุกดูเหมือนจะสนใจอย่างอื่นมากกว่า ชีวิตใน ม.ต้น ของเขาหมดไปกับการเล่นเกม และเที่ยวเล่น ส่วนฟุตบอล แม้จะยังเล่นอยู่ แต่ก็เล่นไปแบบเอาสนุก ไม่ได้ฝึกซ้อมอย่างเข้มงวด จนเรียกไม่ได้เต็มปากว่าสนใจกีฬาชนิดนี้ 

3 ปีผ่านไปอย่างรวดเร็ว ตามปกติแล้วนักเรียนญี่ปุ่น เมื่อจบชั้นมัธยมต้นก็จำเป็นต้องสอบเข้าโรงเรียนใหม่ ซึ่งมันก็สร้างความลำบากให้โอคาโนะ เพราะเขาไม่ได้เป็นคนที่มีผลการเรียนที่ดี แถมกีฬาก็ไม่ได้เก่งกาจ ที่จะช่วยให้สอบติดโรงเรียนดังๆได้

“ผมโตที่โยโกฮามา ตอนเด็กๆ ผมได้เรียนอะไรหลายอย่าง แต่ก็ไม่ได้ทำต่อเลย สิ่งเดียวที่ผมยังทำอยู่คือฟุตบอล ผลการเรียนของผมตอน ม.ต้นก็ไม่ได้ดีเด่ แถมยังไม่ชอบเรียนอีก” โอคาโนะ กล่าวกับ Nikkei  

สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เขาวางแผนที่จะไปเล่นฟุตบอลที่บราซิล เพราะในสมัยนั้นญี่ปุ่นยังไม่มีเจลีก พวกเขามีเพียงลีกกึ่งสมัครเล่นที่เป็นทีมของบริษัทเตะกันเท่านั้น ทำให้บราซิล กลายเป็นหมุดหมายสำหรับนักฟุตบอลญี่ปุ่น รวมไปถึง คาสุโยชิ มิอุระ ที่ย้ายไปอยู่ที่นั่นตั้งแต่ปี 1982 จนได้เซ็นสัญญากับทีมดังอย่าง ซานโตส และ พัลไมรัส

แต่แผนของเขาต้องล้มครืนอย่างไม่เป็นท่า เมื่อพ่อกับแม่คัดค้านอย่างหัวชนฝา ในขณะที่เขากำลังกลุ้มใจว่าจะเอายังไงต่อดีกับชีวิต เสียงสวรรค์จากอาก็บอกเขาว่า ถ้าอยากเล่นฟุตบอลให้ไปเรียนที่จังหวัดชิมาเนะสิ ที่นั่นมีโรงเรียนที่เน้นเรื่องฟุตบอล และมีหอพักให้นักเรียนด้วย 

 2

“พอจบ ม.ต้นก็ฝันว่าจะไปเรียนโรงเรียนสอนฟุตบอลที่บราซิล แต่ครอบครัวไม่เห็นด้วย ท้ายที่สุด อาก็แนะนำโรงเรียนที่แม้แต่คนอย่างผมก็เข้าได้ ก็เลยไปเรียนที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมัตสึเอะนิฮง ที่เมืองมัตสึเอะ จังหวัดชิมาเนะ (ปัจจุบันชื่อโรงเรียนโชนัน แห่งมหาวิทยาลัยริสโช)” โอคาโนะกล่าวต่อ  

“ตอนนั้นคิดว่า ถ้าเทียบกับเมืองใหญ่ๆ จังหวัดชิมาเนะคู่แข่งน่าจะมีน้อยกว่า น่าจะได้ไปแข่งทั่วประเทศไม่ยาก แน่นอนว่ามีความมุ่งมั่นที่จะเข้าชมรมฟุตบอลด้วย”  

และนั่นก็ทำให้ โอคาโนะ ต้องจากบ้านเป็นครั้งแรก เขาต้องย้ายไปอยู่ในหอพักของโรงเรียนที่จังหวัดชิมาเนะ ที่อยู่เกือบจะตอนใต้ของญี่ปุ่น และห่างจากโยโกฮามากว่า 800 กิโลเมตร  

ทว่าเมื่อไปถึง มันทำให้เขารู้สึกว่าเขาคิดผิดที่มาที่นี่...

โรงเรียนดัดสันดาน 

แม้ว่าจะไม่ได้ไปบราซิล แต่การได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่เน้นฟุตบอล ก็ถือว่าไม่เลวสำหรับโอคาโนะ แม้จะไกลบ้านอยู่บ้าง เพราะต้องใช้เวลาเกือบ 10 กว่าชั่วโมงโดยรถยนต์ หรือ 12 ชั่วโมงโดยรถไฟ (จังหวัดชิมาเนะไม่มีรถไฟความเร็วสูง ชินคันเซ็นผ่าน) แต่การได้ออกมาใช้ชีวิตอิสระจากพ่อแม่ในช่วงวัยรุ่น ก็ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนที่ไม่แย่ 

 3

แต่ทันทีที่เขาเหยียบที่นี่ เขาก็อยากจะหันหลังกลับทันที เมื่อที่แท้จริงโรงเรียนสาธิต ม.มัตสึเอะนิฮงในตอนนั้น คือโรงเรียนดัดสันดาน ที่นักเรียนนักเลงจากทั่วประเทศมาอยู่ด้วยกัน 

ที่โรงเรียนเต็มไปด้วยนักเรียนที่แต่งตัวแบบแยงกี้ (อันธพาลญี่ปุ่น) ที่มักสวมเสื้อตัวใหญ่ กางเกงทรงกระบอก และทรงผมสุดแนว หรือย้อมผมทอง ที่ราวหลุดออกมาจากการ์ตูน เรียกเขาว่าอีกา (Crow) หรือจอมเกบลูส์ (Blues) 

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่เป็นโรงเรียนดัดสันดาน ทำให้โรงเรียนมีกฎระเบียบที่เคร่งครัด หอในมีเวลาเปิด-ปิด และมีกริ่งแจ้งเตือนตอน 6 โมงเย็น แต่ยังคงมีคนพยายามแหกกฎอยู่เสมอ ว่ากันว่า มักจะมีเด็กเกือบ 100 คนพยายามโดดหอมาจากชั้น 2 เป็นประจำทุกปี แต่ก็โดนจับได้แทบทุกครั้ง 

ในขณะเดียวกัน ที่โรงเรียนแห่งนี้ยังมีระบบรุ่นพี่-รุ่นน้องที่เคร่งครัด รุ่นพี่เปรียบเสมือนพระเจ้าที่รุ่นน้องต้องทำตามคำสั่ง และเด็กปีหนึ่ง ต้องกล่าวทักทายรุ่นพี่และครูบาอาจารย์ทุกครั้งที่เจอหน้า ซึ่งบางครั้งเวลาไปห้องน้ำ อาจต้องกล่าวคำทักทายจนหมดเวลาพัก 

หรือทุกวันตอนตี 4 รุ่นน้องจะต้องตื่นมาทำความสะอาดหอพัก โดยมีรุ่นพี่คอยควบคุม และแกล้งควงโซ่เดินไปมาพร้อมกับพูดว่า “เกือบโดนแล้วๆ” แต่สุดท้ายก็โดนรุ่นน้องแทบทุกครั้ง 

“โรงเรียนที่ผมจบมาตอนนั้น กฎของโรงเรียนเข้มงวดมาก เป็นโรงเรียนกินนอนที่มีเวลาปิดประตูตอนเย็น ว่ากันว่าเป็นต้นแบบของโรงเรียนลูกผู้ชายในมังงะ ที่มีการสอนสุดโหด เป็นศูนย์รวมของพวกวัยรุ่นเกเรจากทั่วประเทศ” โอคาโนะ ย้อนความหลังกับ Nikkei   

แต่ความจริงที่ทำให้เขาช็อคที่สุดคือ โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีชมรมฟุตบอล เขาผิดหวังและเสียใจมาก เขาร้องไห้ทุกวัน และอยากหนีออกจากโรงเรียน ในใจวนเวียนกับคำว่า “ตูมาที่นี่ทำไม?”

อย่างไรก็ดี ในขณะที่ โอคาโนะ กำลังหมดหวังกับชีวิตที่บัดซบที่โรงเรียนแห่งนี้ เขาก็ได้บังเอิญเจอรุ่นพี่คนหนึ่ง สวมชุดแข่งเตะบอลอัดกำแพงอยู่คนเดียวตรงหลังสนามโรงเรียน รุ่นพี่คนนั้นชื่อว่า “โทงะ” 

หลังจากได้คุยกับรุ่นพี่โทงะก็รู้ว่า เขาไม่ใช่คนเดียวที่โดนหลอก เพราะรุ่นพี่ก็เข้ามาโรงเรียนนี้เพราะคิดว่ามีชมรมฟุตบอลเหมือนกัน เขาเจอกับคนที่มีชะตากรรมเดียวกันกับเขาแล้ว

 4

“พอเข้าไปเรียน ก็รู้ว่าที่นี่ไม่มีชมรมฟุตบอล ยิ่งตกใจเมื่อรู้ว่ามีรุ่นพี่ที่เข้ามาโรงเรียนนี้เพราะคิดว่ามีฟุตบอลเหมือนกัน ผมเห็นเขาเตะบอลกับกำแพงอยู่คนเดียวหลังสนามโรงเรียน ตอนนั้นคิดว่าจะลาออกกลับโยโกฮามาเดี๋ยวนั้นเลย” โอคาโนะ เผยความรู้สึก

“แต่ฟุตบอลเป็นสิ่งเดียวที่ผมเล่นมาโดยตลอด ก็เลยไม่อยากเลิก และไม่ชอบการหนี เหนือสิ่งอื่นใด ผมได้รับกำลังใจจากพ่อแม่ว่า ‘ให้เล่นฟุตบอลที่ถนัดต่อไป’ หลังจากนั้นก็เลยบอกกับรุ่นพี่ว่า ‘เรามาตั้งชมรมฟุตบอลกันเถอะ’ และได้ไปลองต่อรองกับครูใหญ่ ความปรารถนาอันแรงกล้าของพวกเราทำให้ครูใหญ่อนุญาต” 

ในที่สุดชมรมฟุตบอลแห่งโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมัตสึเอะนิฮง ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น

ชมรมฟุตบอล = ชมรมต่อยตี? 

โอคาโนะ และรุ่นพี่โทงะ ได้ร่วมสร้างชมรมฟุตบอลได้สำเร็จ แต่ฟุตบอลเป็นการแข่งขันที่ต้องใช้ผู้เล่นถึง 11 คน และพวกเขามีกันแค่ 2 คน หากเป็นเช่นนี้ต่อไปในไม่ช้าคงต้องถูกยุบ ทำให้พวกเขาต้องเปิดรับสมาชิกเพิ่ม

 5

ปกติแล้วที่โรงเรียน จะแบ่งเป็น 3 ห้อง ห้อง 1 คือคนเรียนเก่ง ห้อง 2 คือพวกโควตานักกีฬา ส่วนห้อง 3 คือพวกนักเรียนนักเลง และคนที่สนใจเข้าชมรมฟุตบอลของโอคาโนะ ก็คือนักเรียนจากห้อง 3 ทำให้ชมรมของพวกเขา จึงกลายเป็นศูนย์รวมตัวปัญหาไปโดยปริยาย 

“พอเปิดรับสมัครคน ก็มีคนมาสมัครเกือบ 20 คน แต่ไม่มีใครมีพื้นฐานเลย คนที่อยากเล่นฟุตบอลก็มีแค่นิดเดียว ส่วนมากเป็นคนที่ไม่มีประสบการณ์ กฎล้ำหน้ายังไม่รู้จักเลย” อดีตปีก อุราวะ เรดส์ เล่าด้วยความขมขื่น  

อันที่จริงคนที่สมัครเข้ามา แทบไม่ได้สนใจกีฬาชนิดนี้เลย พวกเขาสนใจแต่เรื่องต่อยตีเท่านั้น การเข้าชมรม ก็เพียงเพราะว่าสามารถอยู่นอกหอพักหลัง 6 โมงได้ โดยใช้กิจกรรมชมรมเป็นข้ออ้างเท่านั้น 

“สมาชิกในชมรมฟุตบอล มีแต่พวกนักเรียนที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย เป็น ‘โทได (มหาวิทยาลัยโตเกียว) แห่งการต่อยตี’ เหตุผลในการเข้าชมรมก็เพื่อจะได้อยู่นอกหอพักอีกซักหน่อยเท่านั้นเอง” 

ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าชมรมจะมีอาจารย์ที่ปรึกษา แต่อาจารย์คนดังกล่าว ก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องฟุตบอลเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะปกติโรงเรียนญี่ปุ่น อาจารย์ที่มาทำหน้าที่ตรงนี้ไม่จำเป็นต้องรู้จักกีฬาชนิดนั้นก็ได้ มีเพียงช่วยดูแลนักเรียนเท่านั้น ทำให้โอคาโนะ ต้องรับบททั้งผู้เล่น โค้ช ผู้จัดการทีม เรียกว่าภาระต้องตกมาอยู่ที่เขาคนเดียวทั้งหมด

“แน่นอนว่าทีมไม่มีโค้ช คนที่มีประสบการณ์ก็มีแต่พวกผมที่อยู่ปีหนึ่ง สมัย ม.ต้นรุ่นพี่เคยสอนวิธีการฝึกมาบ้าง ก็เลยมาเป็นโค้ชแทน”  

 6

แต่ในที่สุดพวกเขาก็สามารถรวบรวมสมาชิกที่พอจะมีแวว โดยเอาจุดเด่นของแต่ละคนมาใช้เป็นประโยชน์ เช่นรุ่นพี่ไอซัง (นามสมมติ) เป็นแชมป์เทควันโด และต่อยตีเก่งที่สุดในโรงเรียน ก็เอามาเล่นกองหน้าเพราะเตะเก่ง หรือซีคุง (นามสมมติ) ที่อ่านเกมเก่ง ก็เอามาเล่นกองกลาง 

เช่นเดียวกับ รุ่นพี่เอชซัง ที่ร่างกายบึกบึนและเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ แถมยังมีสายตาอาฆาตที่น่ากลัว ก็ให้เล่นกองหลังไว้ข่มขู่คู่แข่ง หรือ เอ็มคุง ที่เก่งกาจในกีฬาดอจบอล แต่ใช้เท้าไม่ได้เลย ก็ให้ไปเป็นผู้รักษาประตูคอยรับบอลแทน  

“แม้ว่าจะมีแต่คนที่ไม่เคยเล่นฟุตบอล แต่พวกที่ต่อยตีเก่งๆ นั้นเยอะมาก ซึ่งทำให้พวกเขามีพรสวรรค์เรื่องกีฬา พวกเขามีพละกำลังและพัฒนาความสามารถได้เร็ว”  

พอทีมเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง โอคาโนะ ก็พยายามหาเกมอุ่นเครื่องเพื่อทดสอบทีม เขาไล่โทรขอแข่งซ้อมกับโรงเรียนอื่นมากมาย แต่ด้วยชื่อเสียงในด้านไม่ดีของโรงเรียน ทำให้ต้องเจอแค่คำปฏิเสธ 

แต่ในที่สุด ก็มีโรงเรียนหนึ่งที่ตอบรับ แต่พวกเขาก็แทบช็อกเมื่อเดินทางไปถึง

กระชับมิตรที่จบลงด้วยเลือด 

ทันทีที่รถบัสเดินทางไปถึงโรงเรียนคู่แข่ง พวกเขาก็ต้องตกใจกับสภาพที่เห็น กำแพงของโรงเรียนเต็มไปด้วยสีที่ถูกพ่น ส่วนกระจกก็แตกยับเกือบทุกบาน แทบไม่น่าเชื่อว่ายังมีการเรียนการสอนอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้ 

 7

นอกจากนี้ นักกีฬาของพวกเขาไม่มีใครสวมชุดแข่งเลยแม้แต่คนเดียว ทุกคนมาในชุดนักเรียน แถมสตั๊ดของพวกเขายังดัดแปลงเป็นพิเศษ โดยมีปุ่มสตั๊ดที่แหลมและยื่นยาวออกมากว่าปกติ แต่สุดท้ายก็ได้รับการยืนยันว่านี่คือคู่แข่งที่พวกเขาต้องเจอ 

ก่อนเกมบรรยากาศค่อนข้างตึงเครียด และมีนักเรียนของโรงเรียนเจ้าถิ่นมามุงดูการแข่งขันอยู่รอบสนาม และหลังเขี่ยลูกเริ่มเกมไปได้ไม่ถึงนาที ในขณะที่ โอคาโนะ กำลังจะจับบอล เข่าของรุ่นพี่ ก็เสยคางคู่แข่งไปเป็นที่เรียบร้อย จากนั้นความวุ่นวายก็เกิดขึ้น 

“พวกเขามีพรสวรรค์ แต่น่าเสียดายพวกเขาเลือดร้อน พวกเขาวิ่งเข้าใส่ทีมคู่แข่งจนชุลมุนทันทีที่เริ่มเกม ยอมทิ้งการแข่งขัน หรือด่าคู่แข่งด้วยถ้อยคำหยาบคาย”  

ทั้งสองทีมต่างตะลุมบอนเข้าหากัน แม้ฝั่งโอคาโนะ จะมีราว 20 คน ส่วนอีกฝั่งมี 300 คน แต่ด้วยความที่โรงเรียนของโอคาโนะ ขึ้นชื่อเรื่องต่อยตี ทำให้รุ่นพี่สอยคู่แข่งร่วงลงไปนอนคนแล้วคนเล่าราวกับในการ์ตูน และเอาชนะได้สำเร็จ 

แต่มันไม่ใช่ชัยชนะที่โอคาโนะต้องการ เขามาที่นี่เพื่อแข่งฟุตบอล ไม่ใช่ต่อยตี และมันก็ทำให้ โอคาโนะ ถึงขีดสุด แม้ว่าเขาจะกลัว แต่ก็ไม่สนอะไรอีกแล้ว เขาร้องไห้ ตะโกนต่อว่ารุ่นพี่ และประกาศขอลาออก 

“เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แทนที่จะเสียใจกับความพ่ายแพ้ แต่ต้องกลับมาเจ็บปวดกับการแข่งขันอะไรแบบนี้ และสุดท้ายทำให้ผมระเบิดความรู้สึกออกมา”  

“‘มันไม่ใช่ฟุตบอลแบบนี้’ ผมพูดด้วยเสียงที่ดังต่อหน้าทุกคนพร้อมกับร้องไห้ออกมา ‘ชมรมแบบนี้ ผมขอลาออก’ แล้วก็กลับไปที่หอพัก” 

การตะโกนใส่รุ่นพี่ เป็นเรื่องที่ไม่สมควร แถมยังเป็นการพูดใส่รุ่นพี่ที่เป็นนักเลง มันคือการทำเรื่องน่ากลัวที่สุดในชีวิต แต่ตอนนั้นโอคาโนะยอมทุกอย่าง จะถูกอัดหรือถูกต่อยจากรุ่นพี่ก็ช่าง แต่เขาทนไม่ไหวอีกแล้ว 

ทว่า มันกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เมื่อเหล่ารุ่นพี่สำนึกผิดต่อสิ่งที่เกิดขึ้น พวกเขามาหาโอคาโนะ ถึงห้องในหอพัก ขอโทษต่อสิ่งที่ทำลงไป และบอกว่าขอโอกาสอีกครั้ง 

และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดใหม่ของชมรมฟุตบอลของพวกเขา

กลับตัว กลับใจ

หลังจากวันนั้น ทุกคนก็เริ่มเปลี่ยนวิธีคิด และตั้งใจซ้อม โดยมีโอคาโนะเป็นผู้ออกแบบเมนูฝึก แม้จะซ้อมหนักและโหด แต่เหล่ารุ่นพี่ก็ไม่เคยบ่น ก้มหน้าก้มตาซ้อมต่อไป และยังใช้เวลาว่างฝึกซ้อมด้วยตัวเอง ราวกับว่ากำลังชดเชยกับความผิดที่เคยทำไว้ในอดีต 

 8

“ผมให้รุ่นพี่ฝึกเลี้ยงบอลที่หน้าผาใกล้ๆโรงเรียน ถ้าบอลตกลงไปที่หน้าผา ก็ต้องลงไปเอา การลงไปเอาบอลขึ้นมาจากผาก็ถือเป็นการฝึกฝน นักฟุตบอลก็พยายามอย่างเต็มที่ที่จะไม่ทำบอลตกลงไป พวกเขาจะตั้งใจเลี้ยงบอล ทำให้เลี้ยงเก่งขึ้น” โอคาโนะ อธิบาย

“เนื่องจากผมเป็นลูกคนเดียว ผมเลยถนัดกับการเล่นคนเดียว หรือเล่นโดยใช้จินตนาการมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ ดังนั้น ก็เลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้การฝึกซ้อมทำให้พัฒนาขึ้น และรู้สึกอินไปกับเกมอย่างตั้งใจ ในตอนที่เค้นไอเดีย ก็ได้เมนูเหล่านี้มา”  

ในเกมที่ 3 ของการแข่งซ้อม ในที่สุดพวกเขาก็สามารถแข่งจนจบ 90 นาทีได้สำเร็จ แม้ว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับทีมที่เต็มไปด้วยพวกเลือดร้อนของโรงเรียนของโอคาโนะ การต้องอดทนไม่สาวหมัดใส่คู่แข่งในกีฬาที่เต็มไปด้วยการปะทะนั้นถือเป็นเรื่องน่านับถือเป็นอย่างยิ่ง

หลังจากนั้น ผลงานของพวกเขาก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้น จากแพ้ 20-0 ก็เริ่มลดลงมาเหลือ 10-0 และหลังจากก่อตั้งชมรมครึ่งปี ในที่สุดพวกเขาก็เสมอคู่แข่งเป็นครั้งแรก ทุกคนต่างร้องไห้ให้กับผลในนัดนี้ในครั้งนี้ ไม่เว้นแม้แต่อาจารย์ที่ปรึกษา

“ในเกมอุ่นเครื่องช่วงแรก เราแพ้อย่างยับเยินด้วยผลต่างเกินกว่า 20 ลูก แต่พอเราฝึกซ้อมกันมากขึ้น ลงแข่งมากขึ้น เราก็สามารถลดช่องว่างเหลือแค่ 10 ลูก เราค่อยๆ ลดช่องว่างทีละนิด จนเมื่อเราสามารถจบเกมด้วยการเสมอ มันทำให้เราดีใจมากจนทุกคนในชมรมร้องไห้ออกมา”

“พอได้เห็นผลสำเร็จที่เกิดจากความพยายามอย่างจริงจัง มันเป็นเรื่องที่สนุกมาก ไม่ว่าจะฝึกซ้อมอย่างเข้มงวดแค่ไหน แต่ไม่มีใครล้มเลิกเลยสักคนเดียว เพราะว่านิสัยพื้นฐานของพวกเขาเป็นพวกเกลียดความพ่ายแพ้ ผมพยายามสอนพวกเขาตรงๆ มันทำให้ผมสามารถเซ็ตเมนูฝึกซ้อมและสอนพวกเขาได้ง่าย”

หลังจากนั้น โรงเรียนของเขาก็เริ่มเก่งขึ้น

มุ่งสู่ทั่วประเทศ 

หลังจากเสมอคู่แข่งได้เป็นครั้งแรก โรงเรียนของโอคาโนะก็พัฒนาขึ้น พวกเขาเริ่มชนะคู่แข่ง จนเริ่มมีชื่อเสียงในระดับจังหวัด 

 9

และพอทีมเริ่มผลงานดี โรงเรียนก็เข้ามาให้การสนับสนุน ทั้งสร้างหอพักแยกเฉพาะชมรมฟุตบอล หรือการอนุญาตให้สมาชิกชมรมฯ เลิกเรียนเร็วกว่าคนอื่น เพื่อให้มีเวลาซ้อมมากขึ้น

“ตอนผมอยู่ปี 2 มีการเปิดทดสอบฝีเท้าสำหรับเด็ก ม.ต้น ชักชวนเด็กเก่งๆ มาเล่นด้วย ฝั่งโรงเรียนก็หาโค้ชฟุตบอลมา และสร้างหอพักสำหรับชมรมฟุตบอลโดยเฉพาะขึ้นมา” อดีตฮีโร่ทีมชาติญี่ปุ่นกล่าว  

นอกจากนี้ผลการเรียนของสมาชิกชมรมก็ดีขึ้น เนื่องจากหากใครสอบตก จะหมดสิทธิ์ทำกิจกรรมชมรม จนกว่าจะสอบซ่อมผ่าน ทำให้คนเก่ง มาช่วยติวคนที่หัวไม่ดี เพื่อให้สอบผ่านกันทุกคน

“สมาชิกในชมรมผลการเรียนดีขึ้น พวกเขารู้ดีว่า ‘คนที่ผลการเรียนไม่ดี จะไม่สามารถลงแข่งได้ และจะทำให้ทุกคนเดือดร้อน’ ภาพที่เห็นก็คือคนที่เรียนเก่งจะคอยช่วยสอนคนที่เรียนไม่เก่ง เป็นสิ่งที่เห็นกันเป็นปกติ” 

เมื่อทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง ทีมก็พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังก่อตั้งชมรมได้ 1 ปีครึ่ง ในที่สุดโรงเรียนสาธิต ม.นิฮงมัตสึเอะ ก็สร้างปรากฎการณ์เข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศ ในการแข่งขันฟุตบอลระดับจังหวัด ก่อนจะคว้าอันดับ 3 มาครอง 

และในตอนที่โอคาโนะขึ้นปี 3 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของชีวิตมัธยมปลาย เขาตั้งเป้าที่จะไปเล่นทั่วประเทศให้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนั่นหมายความว่าพวกเขาต้องคว้าแชมป์ของจังหวัดมาครองเท่านั้น

“ตอนปี 2 เราเคยคว้าอันดับ 3 ของเขต พอปี 3 เราจึงตั้งเป้าที่จะไปเล่นระดับประเทศให้ได้” 

แต่โรงเรียนของโอคาโนะ ก็ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม จนทะลุเข้ามาถึงรอบรองชนะเลิศได้อีกครั้ง คู่แข่งของพวกเขาคือทีมที่เคยเจอมาก่อนและเอาชนะได้ แต่ว่านัดนั้นกลับโดนแก้เกม ด้วยการใช้ผู้เล่น 3 คนไล่ประกบ โอคาโนะ จนกระดิกไม่ได้ ทำให้สุดท้ายเกมเสมอกัน 1-1 และต้องตัดสินด้วยการยิงจุดโทษ 

การยิงจุดโทษมาถึงคนสุดท้าย และเป็น โอคาโนะ ผู้แทบจะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของทีม ที่ตัดสินใจรับหน้าที่นี้ แต่น่าเสียดายที่โชคชะตาไม่เข้าข้างพวกเขา เมื่อ โอคาโนะ กลายเป็นคนยิงพลาด และทำให้ทีมแพ้ เขารู้สึกเสียใจเป็นอย่างมาก จนทรุดลงไปกองกับพื้น ที่สุดท้ายความฝันต้องสลายไปด้วยมือของเขาเอง  

“มันคือตำแหน่งของคนที่ยิงพาทีมชนะ คนที่เพิ่งเริ่มเล่นฟุตบอล ทุกคนที่พยายามอย่างหนักจนมาถึงวันนี้ และมันเป็น ‘เกมที่ยังไงก็ชนะ’ แล้วผมควรต้องทำอย่างไร?” โอคาโนะ ย้อนความหลัง 

อย่างไรก็ดี เพื่อนร่วมทีมกลับไม่รู้สึกโกรธหรือโทษโอคาโนะ ทันทีที่เขายิงพลาด เพื่อนร่วมทีมต่างก็วิ่งเข้ามาหาและพูดว่า “ดีแล้วที่โอคาโนะเป็นคนยิงพลาด” เพราะมันคือสิ่งที่เขาสร้างมากับมือ หากเขาทำพลาดคงไม่มีใครว่าได้ 

แม้ว่าน่าเสียดายที่สุดท้ายมันต้องจบลงอย่างน่าเศร้า แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังหลงเหลือเรื่องดีๆอยู่บ้าง เมื่อโอคาโนะ และเพื่อนร่วมทีมอีก 2 คนที่เพิ่งจะเริ่มเล่นฟุตบอลตอน ม.ปลาย ต่างได้รับเลือกติดทีมจังหวัด 

และหลังจากนั้น โอคาโนะ ก็ยังสานต่อเส้นทางชีวิตนักฟุตบอล เขายังคงเล่นฟุตบอลต่อที่มหาวิทยาลัยนิฮง และได้เซ็นสัญญากับ อุราวะ เรดส์ ในปี 1994 ก่อนจะกลายเป็นฮีโร่ของชาติยิงประตูพาญี่ปุ่น เข้าไปเล่นในฟุตบอลโลก รอบสุดท้ายได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เมื่อปี 1997 

 10

ส่วนรุ่นพี่โทงะ ต่อมาได้เป็นประธานของบริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่ง และกลายเป็นหนึ่งในสปอนเซอร์สนับสนุนทีมไกนาเร ทตโตริ ที่โอคาโนะ ทำหน้าที่ผู้จัดการทั่วไปของทีม 

ในขณะที่ชมรมฟุตบอลของโรงเรียนสาธิต ม.นิฮงมัตสึเอะ ก็ยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน และสามารถผ่านเข้าไปเล่นทั่วประเทศครั้งแรกเมื่อปี 2011 โดยเข้าไปถึงรอบ 4 ทีมสุดท้ายอีกด้วย 

ก่อนที่หลังจากนั้น เรื่องราวของโอคาโนะจะถูกเปิดเผยออกมา หลังไปออกรายการวาไรตี้ในบ้านเกิด และถูกนำไปสร้างเป็นมินิซีรี่ส์ฉายไปทั่วประเทศไปเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา 

มันเป็นข้อพิสูจน์ที่ทำให้เห็นว่า สิ่งที่โอคาโนะทำไม่เคยสูญเปล่า หัวใจที่ไม่ยอมแพ้ของเขา ทำให้เขายังเล่นฟุตบอลต่อไป ไม่ว่าจะเกิดอุปสรรรคอะไร จนกลายเป็นต้นกำเนิดของเรื่องราวมากมาย ทั้งประวัติศาสตร์ชาติ มรดกแก่รุ่นน้อง และตัวตนของเขาเอง 

 11

“ผมเองก็ไม่ใช่นักฟุตบอลที่เก่งกาจอะไร ไม่ได้อยู่ในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงเรื่องฟุตบอล แถมต้องมาเรียนต่อ ม.ปลายที่โรงเรียนซึ่งไม่มีชมรมฟุตบอล ตั้งแต่ตอนนั้นจึงคิดว่าไม่ว่าจะยังไง ผมจะเล่นฟุตบอลต่อไป ผมขอถางทางด้วยตัวเอง ต้องคว้าโอกาสที่มี การติดทีมชาติญี่ปุ่น การได้ลงเล่นในฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรก” 

“สุดท้ายผมเป็นคนหนึ่งที่ใช้พลังขับเคลื่อนจนหาลู่ทางนี้จนได้ โอกาสมันไม่ได้มีมากนักหรอก แต่ผมก็ใช้โอกาสนี้ปะติดปะต่อมันจนได้ผลอย่างที่เห็น ผมคิดว่าอิทธิพลของจิตใจที่ไม่เกรงกลัว ที่เกิดจากการบ่มเพาะมาตั้งแต่สมัยเรียน มีผลกับเรื่องนี้มาก”    

“ประสบการณ์การสร้างชมรมฟุตบอล การชักชวนรุ่นพี่สุดเฮ้วเข้าทีม และการเข้าไปถึง 4 ทีมสุดท้ายในระดับเขต ทำให้ผมมั่นใจ และไม่ถอดใจกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อาจจะมีบ้างที่มีอารมณ์ที่ไม่ได้ทำตามแผน แต่ความรู้สึกที่อยากจะเล่นฟุตบอลของตัวเองมันไม่สั่นคลอนเลย มันคงเป็นความรู้สึกแน่วแน่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม” โอคาโนะทิ้งท้าย

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ "มาซายูกิ โอคาโนะ" : ผู้สร้างชมรมฟุตบอลจากเด็กเกเรดั่งเรื่อง Rookies เวอร์ชั่นฟุตบอล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook