เปลวเพลิงเพื่อเสรีภาพ : ความตายของ "Blue Girl" หญิงผู้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ฟุตบอลอิหร่าน

เปลวเพลิงเพื่อเสรีภาพ : ความตายของ "Blue Girl" หญิงผู้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ฟุตบอลอิหร่าน

เปลวเพลิงเพื่อเสรีภาพ : ความตายของ "Blue Girl" หญิงผู้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ฟุตบอลอิหร่าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สนามฟุตบอล คือหนึ่งในพื้นที่ ที่เปิดโอกาสให้มนุษย์แสดงตัวตน ความเป็นตัวของตัวเองออกมามากที่สุด โดยเฉพาะในแง่ของความรัก การแสดงออกถึงแพชชั่นเชิงบวก กับทีมฟุตบอลทีมโปรด

แฟนบอลมีสิทธิ์จะเข้าไปร้องเพลงเชียร์ เขียนป้ายสนับสนุนทีมรัก ในสนามฟุตบอล พื้นที่ที่เปิดกว้างให้กับกลุ่มคนทุกเพศ ทุกวัย ไม่ว่าจะเป็น เด็ก, ผู้ใหญ่, คนแก่, ผู้ชาย, ผู้หญิง, คนพิการ, คนผิวขาว หรือสีผิวไหน ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน ในสนามฟุตบอล

 

นี่คือสิ่งที่สนามฟุตบอลควรจะเป็น อย่างไรก็ตาม ในแต่ละประเทศ แต่ละพื้นที่ ล้วนมีวัฒนธรรมทางสังคมที่แตกต่างกัน บางครั้งวัฒนธรรม ส่งผลต่อข้อจำกัดของการแสดงออก ในสนามฟุตบอล

ประเทศอิหร่าน หนึ่งในรัฐอิสลาม ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลาง มีปัญหากับคำว่า "เสรีภาพ" ในสนามฟุตบอล พื้นที่ที่ควรเป็นของทุกคนในสังคม ไม่ใช่ของทุกคน และกีฬาที่ควรนำมาซึ่งความสุขของผู้ชม กลับนำมาซึ่งสิ่งที่แย่ที่สุด ของชีวิตมนุษย์ อย่าง "ความตาย"

โลกที่ไม่เท่าเทียม

พูดถึงกีฬาฟุตบอลกับอิหร่าน หลายคนจดจำประเทศนี้ ในฐานะชาติแถวหน้าของทวีปเอเชีย ที่ผ่านเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย มาแล้วถึง 5 ครั้ง และเป็นแชมป์เอเชียน คัพ รายการใหญ่ประจำทวีปอีก 3 สมัย

ความเก่งกาจของทัพสิงโตแห่งเปอร์เซีย ทำให้เกมลูกหนังได้รับความนิยมไปทั่วประเทศ รวมถึงในกลุ่มเพศหญิง ที่คลั่งไคล้กีฬาประเภทนี้ ไม่ต่างกับเพศชาย

อย่างไรก็ตาม โอกาสของเพศหญิง กับการเข้าถึงกีฬาฟุตบอล แตกต่างกับเพศชายโดยสิ้นเชิง จากข้อจำกัดทางศาสนา ที่มีอิทธิพลอย่างมากในวัฒนธรรมสังคมอิหร่าน...

 1

ในอดีต อิหร่านเคยเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตก ภายใต้ยุคสมัยของพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ในปี 1979 เกิดการปฏิวัติอิหร่านในโดยกลุ่มผู้นำทางศาสนา และอิหร่านถูกเปลี่ยนแปลง ให้กลายเป็นรัฐอิสลาม ที่มีศาสนาเป็นใหญ่ ในการควบคุมกฎหมาย วัฒนธรรม จารีต ในสังคมนับแต่นั้น

เมื่อศาสนาอิสลาม มีบทบาทอย่างมากในสังคม ผู้หญิงจึงถูกมองเป็นเพศที่ไม่เหมาะสม กับการเล่น และรับชมกีฬา สำหรับสังคมที่เป็นรัฐศาสนาเคร่งครัด อย่างอิหร่าน โอกาสเล่นและชมกีฬา อย่างถูกกฎหมายของผู้หญิง ถูกจำกัดเพียงไม่กี่ชนิดกีฬา ขณะที่ฟุตบอล โอกาสที่หญิงชาวอิหร่านจะได้รับชมในสนาม เท่ากับศูนย์

 2

การต่อสู้กับจารีต ประเพณี ที่ฝังลึกอยู่ในสังคม คือหนึ่งในการต่อสู้ที่อยากที่สุด หากมนุษย์ต้องการความเปลี่ยนแปลงในสังคม...

หญิงชาวอิหร่าน ต้องต่อสู้อย่างหนัก เพื่อสิทธิของตัวเองในกีฬาฟุตบอล ให้พวกเธอได้รับการยอมรับ ในฐานะนักกีฬาเทียบเท่ากับเพศชาย ไม่ใช่นักฟุตบอล ที่ทำได้แค่หลบซ่อน แอบเล่นฟุตบอลตามท้องถนน ขณะที่ในเวทีอย่างเป็นทางการ กลับไม่มีที่ให้พวกเธอยืน

ในขณะที่ทีมฟุตบอลชายของอิหร่าน ประสบความสำเร็จมายาวนาน ทีมฟุตบอลหญิงของประเทศ กลับได้ลงสนาม ในนามทีมชาติครั้งแรก เมื่อปี 2005 ที่ผ่านมา แต่ถึงจะก่อตั้งได้ไม่นาน พวกเธอสามารถทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม และเกือบจะได้ไปแข่งขัน ในศึกโอลิมปิก เกมส์ 2012 ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

 3

แต่ทีมฟุตบอลหญิงของอิหร่าน กลับถูกแบนจาก FIFA...เมื่ออิหร่านไม่อนุญาตให้นักฟุตบอลหญิง ลงเล่นเกมลูกหนัง โดยไม่สวมฮิญาบ (ผ้าคลุมศรีษะของหญิงอิสลาม) ซึ่งผิดกับกฎและความต้องการของ FIFA ทำให้พวกเธอถูกตัดสิทธิ์ในการลงเล่น รอบคัดเลือกรอบสุดท้าย ของทวีปเอเชีย ตกรอบโดยไม่ได้ลงสนาม แม้แต่นัดเดียว

เป็นเรื่องที่เจ็บปวดหัวใจอย่างมาก สำหรับผู้หญิงอิหร่าน ไม่ใช่แค่เหล่านักฟุตบอล หรือคนทำงานที่เกี่ยวข้อง แต่เป็นแฟนลูกหนังเพศหญิงทุกคน ที่ต้องพบกับความพ่ายแพ้ กับสิ่งที่พยายามต่อสู้มาอย่างยาวนาน

สู้เพื่อความเท่าเทียม

เวลาผ่านไป ความขัดแย้งในประเด็นฟุตบอลหญิง ยิ่งเพิ่มมากขึ้น สิทธิที่แตกต่าง ไม่เท่าเทียม กับเพศชาย และสังคมโลกลูกหนัง 

ไม่ใช่แค่การเล่นฟุตบอลในสนาม แต่สิทธิการเข้าชมเกมการแข่งขัน เป็นอีกเรื่องสำคัญ ที่แฟนบอลหญิงชาวอิหร่าน ต่อสู้มาตลอด พวกเธอต้องการเสรีภาพ ที่จะเดินเข้าสนามบอลได้ตามต้องการ ไม่ต่างจากผู้ชาย เพราะตั้งแต่ปี 1981 อิหร่านออกกฎหมายห้าม ไม่ให้ผู้หญิง เข้าชมเกมการแข่งขัน ในสนามฟุตบอลเป็นอันขาด

Open Stadium (โอเพน สเตเดี้ยม) คือโครงการที่แฟนบอลหญิง ร่วมใจกันสร้างขึ้น เพื่อรณรงค์การเปิดโอกาส ให้สตรีได้มีพื้นที่แสดงตัวตนในฐานะ แฟนบอลที่รักกีฬาลูกหนัง 

 4

"ทุกครั้งที่มีการแข่งขันฟุตบอลในอิหร่าน ฉันเจ็บปวดหัวใจ และถามตัวเองว่า 'ทำไมเราถึงไม่สามารถไปชมเกม ไม่สามารถไปที่สนามแข่งขัน'" หนึ่งในผู้ร่วมทำแคมเปญ Open Stadium เผยความรู้สึก

"ครั้งหนึ่งทีมชาติอิหร่าน แข่งขันกับทีมชาติเยอรมัน เป็นแมทช์การแข่งขันที่เรารู้ว่า อาจจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว ที่อิหร่าน แต่ในวันนั้นผู้หญิงอิหร่าน ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสนาม แม้จะเป็นนักข่าวก็ตาม ถ้าพยายามที่จะเข้าไป เราก็จะถูกลากออกมา ด้วยหน่วยงานรักษาความปลอดภัย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ เวลาที่ทีมชาติอิหร่านลงทำการแข่งขัน" 

ความพยายาม ในการเดินทางไปชมเกมฟุตบอลที่สนาม ของหญิงชาวอิหร่านเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง... การแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย คือช่วงเวลาที่ล้ำค่า เพราะพวกเธอสามารถชมการแข่งขัน ได้อย่างปกติ เหมือนแฟนบอลทั่วไป เพราะไม่มีกฎหมาย จารีต ประเพณี หรือความเชื่อทางศาสนา มาเป็นข้อจำกัดสิทธิการเข้าสนามฟุตบอล 

 5

#NoBan4Women คือสิ่งที่หญิงชาวอิหร่าน ร่วมรณรงค์ตลอดช่วงเวลาที่พวกเธออยู่ที่รัสเซีย เพื่อกระตุ้นให้คนในวงการฟุตบอล ทั้งในและนอกประเทศ หันมาสนใจและช่วยเหลือ กับความยากลำบากที่พวกเธอต้องพบเจอ

น่าเสียดายที่ทุกอย่างดูเงียบเฉย การแข่งขันฟุตบอลโลกจบลง แฟนบอลหญิงชาวอิหร่าน ต้องพบกับสิทธิอันจำกัด ต่อไปในเกมลูกหนัง และนำมาซึ่งเหตุการณ์ที่น่าเศร้าครั้งหนึ่ง ของวงการฟุตบอล

เพลิงไฟแห่งความตาย

ซาฮาร์ โคดายาริ (Sahar Khodayari) คือชื่อของหญิงสาววัย 29 ชาวอิหร่านคนหนึ่ง เธอมีชีวิตการงานที่เพียบพร้อม ด้วยวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านคอมพิวเตอร์  และเธอก็เป็นแฟนฟุตบอลตัวยงคนหนึ่งเช่นกัน หลังตกหลุมรักเกมลูกหนังตั้งแต่วัยเยาว์

อิสติกลอล เอฟซี คือสโมสรฟุตบอลทีมโปรดของเธอ โคดายาริให้กำลังใจทีมรักอยู่เสมอ แม้ปกติเธอจะไม่สามารถเข้าไปเชียร์ทีมรัก ในสนามแข่งขันได้ก็ตาม

 6

วันที่ 12 มีนาคม 2019 คือวันที่สโมสรอิสติกลอล จะลงสนามพบกับ สโมสร อัล-ไอน์ จากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในศึกเอเอฟซี แชมเปียนส์ ลีก รอบแบ่งกลุ่ม นัดที่ 2 ซึ่งจะเป็นนัดแรกของฤดูกาล ที่อิสติกลอลจะได้ลงสนามในเกมเหย้า ของศึกฟุตบอลทวีปเอเชีย 

โคดายาริ ต้องการไปเป็นส่วนหนึ่ง ของการแข่งขันนัดนี้ ถึงขอบสนาม แม้เธอจะเป็นผู้หญิง แต่เพศสภาพไม่ใช่สิ่งที่สามารถกั้นขวาง ความรักระหว่างเธอและฟุตบอล...โคดายาริตัดสินใจปลอมตัวเป็นผู้ชาย และเดินทางไปที่รังเหย้าของทีมอิสติกลอล

โชคร้ายที่แผนของเธอ ไม่เป็นไปตามที่คาด เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสนามจับได้ ว่าเธอคือผู้หญิงไม่ใช่ผู้ชาย และพยายามนำตัวเธอออกจากสนาม 

 7

โคดายาริ ไม่ต้องการให้ใครมาพรากความฝันของเธอ กับการเชียร์ทีมรักในเกมสำคัญ เธอจึงพยายามขัดขืน สุดท้ายเธอจึงถูกนำตัวออกจากสนาม ด้วยการใช้กำลัง และถูกส่งตัวให้กับตำรวจ จับไปนอนอยู่ในคุกถึง 3 คืน สุดท้ายหญิงสาววัย 29 ปีถูกตั้งข้อหา "ไม่สวมฮิญาบในที่สาธารณะ" และ "ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่"

วันที่ 2 กันยายน 2019 เธอถูกเรียกตัวไปที่ศาล เพื่อรับฟังคำตัดสิน...หากเป็นภาพยนตร์แฮปปี้ เอนดิ้ง เราคงได้เห็นบทบาท ของพระเอกที่จะเข้ามาช่วยเหลือ น่าเสียดายนี่คือภาพยนตร์โศกนาฏกรรม บทสรุปสุดท้าย เธอถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน

การติดคุกโดยต้นเหตุมาจาก การเข้าสนามฟุตบอล คือเรื่องที่โหดร้ายของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่รักฟุตบอลสุดหัวใจ และเธอไม่เลือกเก็บมันไว้ในใจ แต่แสดงออกผ่านการกระทำ

 8

เมื่อเดินออกจากศาล เธอตัดสินใจราดน้ำมันใส่ตัวเอง และเผาตัวเองบริเวณหน้าศาล สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งการตัดสินคดีความ ที่เธอไม่เห็นด้วยแม้แต่น้อย

ไม่มีใครรู้ว่า แท้จริงแล้ว โคดายาริทำแบบนี้ ด้วยเหตุผลอะไร เพราะเธอบาดเจ็บสาหัส จากการจุดไฟเผาตัวเองครั้งนี้ และเสียชีวิตในวันที่ 9 กันยายน 2019 หรือหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น

ชัยชนะจากความสูญเสีย

หากเปิดหนังสือ เพื่อหาความเปลี่ยนแปลงในสังคม ตามหน้าประวัติศาสตร์โลก การสูญเสียบางสิ่ง คือจุดเร่งชั้นดี ที่นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลง โชคร้ายที่มนุษย์ไม่เคยจดจำเรื่องนี้ และมักตื่นตัวทุกครั้งในวันที่สายเกินไป

การเผาตัวเองของโคดายาริ โด่งดังไปทั่วโลก เธอถูกขนานนามโดยชาวเน็ต และสื่อว่า "Blue Girl" (บลูเกิร์ล) ซึ่งสื่อถึงหญิงสาวผู้ให้การสนับสนุนสโมสรอิสติกลอล ที่มีสีน้ำเงินเป็นสีประจำสโมสร และเธอยอมตามเพื่อสิ่งนี้

ความตายของโคดายาริ เร่งให้องค์กรด้านมนุษยชน ออกมาโจมตีและกดดันถึงประเด็นสิทธิเสรีภาพของสตรีในอิหร่าน นำโดยองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลก อย่างองค์กรแอมเนสตี (Amnesty) และฮิวแมน ไรท์ วอช (Human Rights Watch) ที่ออกมาแสดงความเสียใจ และโจมตีทุกฝ่ายที่เพิกเฉยต่อประเด็นสิทธิสตรี จนนำไปสู่การเกิดเหตุการณ์ที่น่าเศร้า โดยเฉพาะฟีฟ่า หัวเรือใหญ่แห่งโลกลูกหนัง

 9

แต่นั่นไม่เท่ากับการออกมาโจมตีสุดเผ็ดร้อน ของกระทรวงต่างประเทศ ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยแถลงการณ์สั้นๆว่า

"การเสียชีวิตของ 'บลูเกิร์ล' ซาฮาร์ โคดายาริ คือภาพสะท้อนที่ชัดเจน ว่าประชาชนอิหร่านทุกคนต้องตกเป็นเหยื่อ จากการปกครองในรูปแบบรัฐศาสนา"

เช่นเดียวกับโครงการ Open Stadium ที่ออกแถลงการณ์ว่า "ถ้าประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน, การหน่วงเหนี่ยวกักขัง, การติดคุก ยังไม่เพียงพอสำหรับฟีฟ่า ในการเข้ามาจัดการกับเรื่องนี้ พวกเราอีกสักหนึ่งคน ก็จะเผาตัวเองบ้าง เพื่อแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงอิหร่านต้องการชมฟุตบอลในสนามมากแค่ไหน"

 10

แรงกดดันจากทั่วทิศ ทำให้ฟีฟ่าต้องออกแถลงการณ์ ขอความร่วมมือ (แกมบังคับ) จากสมาคมฟุตบอลอิหร่าน ให้อนุญาต ผู้หญิงทุกคนในประเทศอิหร่าน มีสิทธิ์รับชมเกมการแข่งขันในสนามอย่างเสรี พร้อมให้คำมั่นกับประชาคมโลกว่า ผู้หญิงอิหร่านสามารถรับชมเกมการแข่งขัน ศึกฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก ของทีมชาติอิหร่านได้อย่างแน่นอน ในช่วงเดือนตุลาคม

ท้ายที่สุด สมาคมฟุตบอลอิหร่านอนุญาต ให้แฟนฟุตบอลเข้ารับชมเกมการแข่งขันในสนาม ระหว่างทีมชาติอิหร่าน กับทีมชาติกัมพูชา ในวันที่ 10 ตุลาคม

ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แสนชื่นมื่น สำหรับแฟนบอลเพศหญิงทุกคน เพราะในเกมประวัติศาสตร์ กับการเข้าสู่สนามฟุตบอล ของหญิงชาวอิหร่าน อย่างถูกกฎหมายครั้งแรก ในรอบ 38 ปี ทัพสิงโตแห่งเปอร์เซีย ถล่มกัมพูชาด้วยสกอร์ 14-0

 11

"พวกเรามีความสุขมาก ในที่สุดเราก็มีโอกาสได้เข้าสนามฟุตบอล เป็นความรู้สึกที่น่าเหลือเชื่อที่สุด ฉันทำได้แค่ดูบอลผ่านจอโทรทัศน์มา 22-23 ปี เป็นช่วงเวลาที่ยาวนานเหลือเกิน" ซาห์รา ปาชาอิ หนึ่งในหญิงสาว ที่ได้เป็นส่วนร่วมกับเกมประวัติศาสตร์ เปิดเผยความรู้สึก

ในความเป็นจริง สิทธิการชมเกมในสนามฟุตบอลของเพศหญิง ยังคงถูกจำกัด...รัฐบาลอิหร่าน อนุญาตให้ผู้หญิงชมเกมได้เฉพาะ การแข่งขันของทีมชาติอิหร่านเท่านั้น ไม่รวมฟุตบอลลีกในประเทศ, ท่ามกลางตั๋ว 78,000 ใบที่ถูกขายในเกมระหว่าง อิหร่านและกัมพูชา ผู้หญิงได้รับตั๋วเพียง 3,500 ใบ บนอัฒจรรย์ชั้นบนสุดของสนาม และถูกจำกัดให้นั่งร่วมกันเท่านั้น

 12

ท้ายที่สุด เสรีภาพสำหรับการชมฟุตบอล ระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายในอิหร่าน ยังคงห่างกันมาก แต่อย่างน้อยเรื่องราวที่เกิดขึ้น อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ของการพัฒนาสิทธิสตรีกับพื้นที่โลกลูกหนัง ในประเทศอิหร่าน เพื่อวันหนึ่ง หญิงชาวอิหร่าน จะมีโอกาสเชียร์ฟุตบอล ร้องเพลง อย่างอิสระเสรี แบบที่พวกเธอต้องการ

และเพื่อให้ ซาฮาร์ โคดายาริ หรือ บลูเกิร์ล ไม่ต้องจากโลกใบนี้ไป โดยไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลง

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ เปลวเพลิงเพื่อเสรีภาพ : ความตายของ "Blue Girl" หญิงผู้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ฟุตบอลอิหร่าน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook