“ไบรอน โมเรโน่” ผู้ตัดสินที่ถูกโลกตราหน้าว่าขี้โกงในฟุตบอลโลก 2002 ที่เกาหลีใต้

“ไบรอน โมเรโน่” ผู้ตัดสินที่ถูกโลกตราหน้าว่าขี้โกงในฟุตบอลโลก 2002 ที่เกาหลีใต้

“ไบรอน โมเรโน่” ผู้ตัดสินที่ถูกโลกตราหน้าว่าขี้โกงในฟุตบอลโลก 2002 ที่เกาหลีใต้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ฟุตบอลโลกครั้งไหนคือครั้งที่อื้อฉาวที่สุด?”
 

คำถามนี้สำหรับนักดูบอลรุ่นเก๋าอาจจะเป็นคำถามที่ตอบยากพอสมควร เพราะตลอด 21 ครั้งของมหกรรมลูกหนังระดับโลกนี้ คงมีเหตุการณ์อื้อฉาวที่อยู่ในความทรงจำไม่น้อย แต่สำหรับนักดูบอลยุคมิลเลนเนียมเป็นต้นมา เชื่อว่าทุกคนคงมีคำตอบเดียวในใจเหมือนกัน

ฟุตบอลโลก 2002 ที่เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น”

ทั้งที่ในครั้งนั้นควรจะเป็นฟุตบอลโลกที่น่าภาคภูมิใจ เนื่องจากเป็นฟุตบอลโลกครั้งที่ทีมจากทวีปเอเชียเราทำผลงานได้ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ (ทีมชาติเกาหลีใต้คว้าอันดับ 4 ของการแข่งขันมาครอง) แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันมีความไม่ชอบมาพากลมากมายเกิดขึ้นในการแข่งขันครั้งนั้น ซึ่งต่อมาได้บานปลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง (เช่นการที่นักเตะเกาหลีใต้ทั้งหมดที่ค้าแข้งอยู่ในลีกอิตาลีจำเป็นต้องย้ายออกจากประเทศ)

“ไบรอน โมเรโน” คือหนึ่งในบุคคลที่เป็นตัวแปรสำคัญของเหตุการณ์ดังกล่าว ก่อนหน้าฟุตบอลโลกครั้งนี้เกิดขึ้น แทบจะไม่มีใครรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของเขา แต่เมื่อการแข่งขันจบลง ด้วยสิ่งที่เขากระทำ ทำให้แฟนบอลทั้งโลกจดจำเขาได้เป็นอย่างดีในทางลบ 

โมเรโนโดนคนเกือบทั้งโลกเกลียดจากการกระทำของตัวเองในฟุตบอลโลก 2002 แต่หลังจากนั้นคงมีน้อยคนที่จะรู้ว่าเขาโดนผลการกระทำของตัวเองเล่นงานไปเรื่อย ๆ จนชีวิตดิ่งสู่จุดตกต่ำจนยากจะกู่กลับ 

  เหตุการณ์วันนั้นที่ แตจอน เวิลด์ คัพ สเตเดี้ยม 

วันที่ 18 มิถุนายน ปี 2002 เวลา 20.30 


Photo : 黒忍者

นี่คือช่วงเวลาที่แฟนบอลทั่วโลกรอคอย ศึกฟุตบอลโลก 2002 รอบ 16 ทีมสุดท้ายนัดสำคัญกำลังจะเริ่มขึ้นในอีกไม่ช้า ณ สนาม แตจอน เวิลด์ คัพ สเตเดี้ยม เป็นการพบกันระหว่างทีมชาติอิตาลี หนึ่งในมหาอำนาจลูกหนังของโลกที่ขนเหล่านักเตะซูเปอร์สตาร์ลงสนามคับคั่ง ไม่ว่าจะเป็น จานลุยจี บุฟฟอน, เปาโล มัลดินี่, ฟรานเชสโก ตอตตี, อเลสซานโดร เดล ปีเอโร และอีกมากมาย กับทีมชาติเกาหลีใต้เจ้าภาพการแข่งขันครั้งนั้น ที่ถึงแม้ดีกรีนักเตะจะเป็นรองแบบเทียบไม่ติด แต่ในรอบแบ่งกลุ่มพวกเขาก็โชว์ฟอร์มได้น่าประทับใจ ด้วยการเอาชนะชาติยักษ์ใหญ่อย่างโปรตุเกสมาได้

การแข่งขันนัดนี้นอกจากการได้เล่นในบ้านแล้ว ทีมชาติเกาหลีใต้เป็นรองทุกหน้าเสื่อ แต่อย่างไรก็ตามกลับมีคน ๆ หนึ่งไม่คิดเช่นนั้น และก็ไม่ใช่ใครที่ไหน จิโอวานนี ตราปัตโตนี กุนซือทีมอัซซูรี่ในขณะนั้น 

“ผมรู้ว่าเรื่องร้าย ๆ กำลังจะเกิดขึ้นกับเราแน่ เพราะทีมชาติญี่ปุ่นอีกหนึ่งเจ้าภาพเพิ่งตกรอบไปเมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่แล้ว”

“ผมบอกกับ ปีเอโตร เกดิน ผู้ช่วยของผมว่านี่คือสัญญาณร้าย คอยดูให้ดีว่าจะเกิดอะไรขึ้น” ขรัวเฒ่าเปิดเผยความรู้สึกในตอนนั้นหลังจากผ่านมาหลายปี

และมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ทีมชาติอิตาลีต้องเจอกับความยากลำบากเกินกว่าที่คาดคิด ไม่ใช่เพราะพวกเขาเล่นผิดฟอร์ม หรือทีมชาติเกาหลีใต้เล่นได้ดี แต่เป็นเพราะการตัดสินที่ค้านสายตาหลายครั้งในเกมนั้นจากผู้ตัดสิน

ไบรอน โมเรโน ไม่ใช่ผู้ตัดสินชื่อดัง อายุ 33 ปี (ในเวลานั้น) แต่ก็เป็นความภาคภูมิใจของชาวเอกวาดอร์ ที่มีผู้ตัดสินมาทำหน้าที่ในฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย 

แต่เมื่อเสียงนกหวีดดังขึ้น แฟนบอลทั่วโลกก็เริ่มสนใจชื่อผู้ตัดสินคนนี้ขึ้นมาทันที เมื่อทีมชาติเกาหลีใต้ได้ลูกจุดโทษตั้งแต่นาทีที่ 4 จากการที่ โซล คี-เฮือน โดน คริสเตียน ปานุชชี เข้าปะทะ ถึงแม้หลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้บรรยาย หรือผู้เล่นทีมอิตาลีเองจะมองว่าไม่เป็นการฟาวล์ที่ชัดเจน จนเกินเป็นการประท้วงยกใหญ่ แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงคำตัดสิน อย่างไรก็ตาม เทพีแห่งโชคชะตายังเข้าข้างทีมชาติอิตาลี เมื่อลูกยิงของ อัน จ็อง-ฮวัน ไม่ผ่านมือของ จันลุยจี บุฟฟอน ทำให้สกอร์ยังเสมอกันที่ 0-0


Photo : m.blog.daum.net

หลังจากนั้นนักเตะทีมชาติเกาหลีใต้ก็เล่นรุนแรงใส่นักเตะทีมชาติอิตาลีแทบจะตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการกระโดดเตะใส่ เจนนาโร่ กัตตูโซ่ เหยียบหน้า เปาโล มัลดินี่ ศอกใส่หน้า อาเลสซานโดร เดล ปีเอโร และเข้าปะทะ ฟรานเชสโก โคโค่ จนถึงขั้นเลือดตกยางออก อย่างไรก็ตามแทบไม่มีเสียงนกหวีดเป่าหยุดเกมดังออกจากปากโมเรโน่เลย ตรงกันข้ามกับทีมชาติอิตาลี ที่เข้าปะทะผู้เล่นทีมชาติเกาหลีใต้นิดหน่อยเสียงนกหวีดจะดังทันที 

แต่แล้วเสียงเชียร์ในสนาม แดจอน เวิลด์ คัพ สเตเดี้ยม ที่ดังสนั่นมาตั้งแต่เริ่มเกมก็เงียบลงทันตาในนาทีที่ 18 เมื่อ คริสเตียน วิเอรี่ ทำประตูให้พลพรรคอัซซูรี่ขึ้นนำชาติเจ้าภาพไปก่อน และจบครึ่งแรกไปด้วยการที่ทีมชาติอิตาลีออกนำทีมชาติเกาหลีใต้ 1 ประตูต่อ 0


Photo : uk.sports.yahoo.com

เข้าสู่ครึ่งหลัง รูปเกมไม่แตกต่างจากครึ่งแรก ทั้งสองทีมผลัดกันมีโอกาสทำประตู แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คืออุณหภูมิความเดือดของเกม เพราะทีมชาติเกาหลีใต้ก็ยังคงเน้นการเข้าปะทะรุนแรงใส่คู่ต่อสู้ ในนาทีที่ 51 คิม แทยอง คว้าเสื้อของ อเลสซันโดร เดล ปีเอโร เข้าอย่างจัง จังหวะนี้ผู้เล่นอิตาลีเห็นว่า คิม แทยอง ควรจะได้ใบเหลืองที่สองไล่ออกจากสนามไป แต่ผู้ตัดสินโมเรโนกลับเพียงตักเตือนเขาเท่านั้น และจากคำตัดสินที่ดูเอื้ออำนวยให้เจ้าภาพ ท้ายที่สุด ก็เป็นเกาหลีใต้ที่ได้ประตูตีเสมอจนได้จาก โซล คี-เฮือน นาทีที่ 88 ต้องตัดสินกันในช่วงต่อเวลาพิเศษ

ในยุคนั้นการต่อเวลา ยังใช้กฎโกลเดนโกล ใครยิงได้ชนะทันที และเข้าสู่ช่วงต่อเวลาพิเศษได้ไม่นาน เกาหลีใต้ ก็ครองความได้เปรียบยิ่งขึ้น เมื่อไบรอน โมเรโน่ ตัดสินใจแจกใบแดงให้กับ ฟรานเชสโก ตอตตี ในข้อหาพุ่งล้มในเขตโทษ แต่เมื่อย้อนดูภาพช้าปรากฏว่าจังหวะนี้เขาโดนกระแทกจริง ๆ และรางวัลที่ควรได้รับคือจุดโทษมากกว่า การตัดสินของโมเรโน่ จังหวะนี้ ทำให้บรรยากาศในสนามยิ่งตึงเครียดขึ้นไปอีก...แต่นี่ยังไม่ใช่ที่สุด อีก 5 นาทีต่อมา ทีมชาติอิตาลีก็ได้เฮ เมื่อ ดามีอาโน ตอมมาซี ทำประตูได้สำเร็จ เขาหลุดเดียวจากลูกจ่ายของวิเอรี่ แต่ก่อนที่จะได้ลั่นไก ธงล้ำหน้าจากผู้ตัดสินข้างสนามก็ยกขึ้น ดับฝันทีมชาติอิตาลีลงทันที ซึ่งเป็นอีกครั้งที่เมื่อย้อนดูภาพช้าชัด ๆ ลูกนี้ไม่ล้ำหน้าชัดเจน 


Photo : @Nostalgic_Footy

การตัดสินของไบรอน โมเรโน่ สร้างความได้เปรียบแก่เจ้าภาพครั้งแล้วครั้งเล่า จนทำให้รูปเกมบิดเบี้ยวไป ซ้ำร้ายสำหรับชาวอิตาลี เพราะก่อนหมดเวลา 120 นาที อัน จ็อง-ฮวัน​ ก็โหม่งประตูชัย​ให้ทัพโสมแดงได้สำเร็จ​ หยุดเส้นทาง “อัซซูรี” ไว้แค่รอบ​ 16​ ทีมสุดท้าย


Photo : thesefootballtimes.co

การแข่งขันจบลง เกาหลีใต้เจ้าภาพได้ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สุดยิ่งใหญ่ พวกเขาไม่ได้สนใจหรอกว่าผู้คนทั่วโลกจะมองว่าผู้ตัดสินในเกมนั้นเอื้อประโยชน์ให้พวกเขาหรือไม่ เพราะพวกเขาได้สร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาแล้ว แต่ผู้แพ้และผู้คนทั่วโลกไม่ได้รู้สึกแบบนั้น เขารู้สึกว่าอิตาลีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการตัดสินของผู้ตัดสินโมเรโน่ ตลอดทั้งเกม 


Photo : www.vice.com

“เหตุผลเดียวที่เขามาที่นี่คือการพาทีมชาติเกาหลีใต้เข้ารอบ โมเรโนเป็นคนไร้ความสามารถอย่างสิ้นเชิง” คริสเตียน ปานุชชีกล่าวด้วยความฉุนเฉียว 

“ด้วยความสัตย์จริง นี่คือการปล้นชัยชนะโดยสมบูรณ์แบบ” บรูโน่ ปิซซัว นักข่าวชื่อดังชาวอิตาลีให้ความเห็น 

“เขาคือผู้ตัดสินที่แย่ที่สุดตลอดกาล” อีกหนึ่งความเห็นจาก La Gazzetta dello Sport สื่อกีฬาชื่อดังจัดหนักใส่โมเรโน่ หลังอิตาลีต้องตกรอบด้วยน้ำมือของเจ้าภาพ

ขณะที่ไบรอน โมเรโน ไม่คิดเช่นนั้น เขามองว่าเขามีข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อยในเกมนี้ 

“การให้ใบเหลือง หวัง ซุน-ฮง ในการทำฟาวล์ จันลูกา ซัมบรอตตา แทนที่จะเป็นใบแดง คือ ความผิดพลาดเดียวของผม”  


Photo : www.planetfootball.com

สำหรับชาวอิตาเลียนคงยากที่จะให้อภัย ไบรอน โมเรโน แต่หากมองในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ที่บางครั้งคนเราก็ผิดพลาดได้ มันน่าเห็นใจที่เขาต้องโดนคำด่า สาปแช่ง การขู่ฆ่ามากมาย หรือแม้กระทั่งการนำชื่อไปตั้งเป็นชื่อห้องน้ำในประเทศอิตาลี

…หลังจบฟุตบอลโลก 2002 เขากลับไปที่เอกวาดอร์ ผู้คนที่บ้านเกิดต่างรู้สึกเห็นอกเห็นใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับโมเรโน่ และมองว่า เขาถูกกระทำ และโจมตีเกินกว่าเหตุมากเกินไป...เขาไม่ใช่ผู้ร้าย มันเป็นแค่ความผิดพลาดของมนุษย์คนหนึ่ง ในเหตุการณ์หนึ่ง  

แต่หลังจากนั้นไม่นานแฟนบอลเอกวาดอร์ ก็เริ่มโกรธเกลียดเขาเหมือนที่แฟนทั่วโลกเป็นบ้างแล้ว…

นี่มันผู้ตัดสินจอมฉาว!  

โมเรโน่ คือ ผู้ร้ายสำหรับชาวโลก หลังฟุตบอลโลก 2002 แต่ไม่ใช่ที่บ้านเกิด​ เขาคือผู้ตัดสินชาวเอกวาดอร์คนที่​ 3 เท่านั้นที่ได้รับเกียรติให้ทำการตัดสินในศึกฟุตบอลโลก​ เขาคือเกียรติยศของประเทศชาติ ดังนั้นเกมแรกที่เขากลับมาตัดสินฟุตบอลภายในประเทศบ้านเกิด ผู้ชมในสนามต่างพร้อมใจกันยืนขึ้น เพื่อรักษาเกียรติ และให้กำลังใจผู้ตัดสินรายนี้อย่างสุดซึ้งกินใจ  


Photo : www.corriere.it

ระหว่างนั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี ยื่นคำร้องถึงสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ให้สืบสวนสอบสวนการทำหน้าที่ของไบรอน โมเรโน่ ว่ามีส่วนได้-เสียกับเกาหลีใต้เข้าภาพหรือไม่ แต่ยังไม่ทันจะรับเรื่อง เซปป์ แบลตเตอร์ ประธานฟีฟ่า ในยุคนั้นก็รีบออกมาปฏิเสธทันควัน  

“สิ่งที่เกิดขึ้นในเกมระหว่าอิตาลีกับเกาหลีใต้เกิดจากความผิดพลาดของไลน์แมนที่มีความบกพร่องในการให้ความช่วยเหลือผู้ตัดสินหลัก” ส่วนหนึ่งจากคำแถลงการของฟีฟ่าโดยแบลตเตอร์ 

ไม่มีหลักฐานใดชี้ชัดว่าไบรอน โมเรโน่ รับสินบน หรือมีส่วนได้-เสียกับเกาหลีใต้ อย่างที่สหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี หรือคนทั่วโลกคิด และนายใหญ่ฟีฟ่าก็ยืนกรานในการอยู่เคียงข้างการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินชาวเอกวาดอร์รายนี้ มันเหมือนเป็นการยกภูเขาออกจากอก มันเท่ากับเขาบริสุทธิ์ และยังสามารถเดินอย่างสง่าผ่าเผย ทำอาชีพผู้ผดุงความยุติธรรมในสนามได้อย่างเต็มภาคภูมิ 

ทุกอย่างกลับมาอยู่ในสภาวะปกติ ไบรอน โมเรโน่ ทำหน้าที่ผู้ตัดสินต่อไป แต่เหตุการณ์อื้อฉาวจากการตัดสินของเขาดังไปทั่วโลกอีกครั้ง เพียงแค่ 2 เดือนหลังจากศึกฟุตบอลโลก 2002

มันเป็นเกมระหว่าง ลิกา เด กิโต กับบาร์เซโลน่า 2 ทีมยักษ์ใหญ่ของเอกวาดอร์ ที่ สนามเอสตาดิโอ โรดริโก ปาซ เดลกาโด ท่ามกลางแฟนบอลกว่าสี่หมื่นชีวิต ที่เข้ามาเป็นสักขีพยาน ซึ่งขณะที่บาร์เซโลนา ทีมเยือนนำเจ้าบ้านอยู่ 3 - 2 ในช่วงท้าย นาทีที่ 99 ของเกมโมเรโน่ นกหวีดหวานเป่าจุดโทษให้กับลิกา เด กิโต จากจังหวะการปะทะชุลมุนกันในกรอบเขตโทษ และเพชฌฆาตของฝั่งเจ้าบ้านก็ไม่พลาด สังหารเข้าไป ตีเสมอเป็น 3-3

เกมทำท่าว่าจะจบลงด้วยผลเสมอ แต่ในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ นาทีที่ 101 ผู้เล่นของบาร์เซโลน่าก็ผลักผู้เล่นฝ่ายเจ้าบ้านล้มลงในกรอบเขตโทษ หลังจากนั้นเสียงนกหวีดก็ดังขึ้นทันที เป็นอีกครั้งที่เจ้าบ้านได้ลูกจุดโทษ และพวกเขาก็ไม่พลาด สังหารประตูเข้าไปสำเร็จ ทำให้ ลิกา เด กิโต พลิกกลับมานำเป็น 4 ประตูต่อ 3 ก่อนเกมจะจบลงด้วยสกอร์ดังกล่าวท่ามกลางความชุลมุนวุ่นวายของแฟนบอลทีมเยือนที่รู้สึกเหมือนโดนปล้นชัยชนะ​​ แต่สุดท้ายตำรวจก็ควบคุมเหตุการณ์​ไว้ได้​ไม่ให้บานปลายไปสู่เหตุรุนแรง

“ไบรอน โมเรโนน่าจะขาดคุณสมบัติในการทำหน้าที่ตัดสินเกมนี้ เนื่องจากเขากำลังจะลงสมัครเลือกตั้งสภาเมืองกีโต้ ผมเชื่อว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน โมเรโนต้องการสร้างคะแนนนิยมให้กับตัวเองด้วยการบันดาลชัยชนะให้ Liga de Quito” ประธานสโมสรบาร์เซโลน่า จวกยับ พร้อมกับชี้ช่องให้เห็นว่าบางทีมันมีผลประโยชน์อะไรบางอย่าง ที่โมเรโน่ ได้นอกเหนือจากเงินทองในการทำหน้าที่ตัดสินที่น่ากังขานี้ 


Photo : www.benditofutbol.com

สหพันธ์ฟุตบอลเอกวาดอร์ไม่รอช้าที่จะนำข้อร้องเรียนเข้าตรวจสอบ และพวกเขาก็พบว่ามันไม่ใช่คำกล่าวอ้างเลื่อนลอย เรื่องนี้มีมูลความจริง เพราะไบรอน โมเรโน มีชื่อเป็นหนึ่งในผู้ลงสมัครสภาเมืองกีโต้ตามคำกล่าวอ้าง จึงทำให้เชื่อได้ว่าเขามีแรงจูงใจมากพอที่จะทุจริตผลการแข่งขันเพื่อสร้างคะแนนความนิยมกับชาวเมืองกิโต้ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีหลักฐานชัดว่าโมเรโนบันทึกเวลาการยิงประตู 2 ประตูสุดท้ายของทีม ลิกา เด กิโต ว่าเกิดขึ้นในนาทีที่ 88 และ 90 ทั้งที่ความจริงมันเกิดขึ้นในนาทีที่ 99 และ 101 สหพันธ์ฟุตบอลเอกวาดอร์ให้ความเห็นว่าการกระทำเช่นนี้ส่อให้เห็นเจตนาทุจริตอย่างชัดเจน จึงตัดสินใจแบนโมเรโนจากการทำหน้าที่ทันที 20 นัด ปฏิเสธการอุทธรณ์ทุกกรณี และยังกล่าวว่าถ้าพบความผิดปกติเพิ่มเติมจะทำการถอดถอนโมเรโนออกจากอาชีพผู้ตัดสินทันที  

“ผมทดเวลาบาดเจ็บเกินเพราะผู้เล่นของบาร์เซโลน่าหยุดเล่น”

“มันคือความผิดพลาดทั่วไปของมนุษย์ที่เกิดขึ้นได้ โทษครั้งนี้ไม่ยุติธรรมสำหรับผม ผมรู้จิตสำนึกของตัวเองดีว่ากำลังทำอะไรอยู่” โมเรโนแสดงความคิดเห็นถึงบทลงโทษที่ได้รับ

การแบนโมเรโน ยาวนานถึง 20 นัด ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อีกมากมาย ลุกลามไปถึงฟีฟ่าที่โดนกดดันให้มีการสอบสวนการทำหน้าที่ของโมเรโนในฟุตบอลโลก 2002 อีกครั้ง 

“จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ฟีฟ่าจะทำการสืบสวนการทำหน้าที่ของไบรอน โมเรโนอีกครั้ง อย่างเป็นธรรมและโปร่งใสที่สุด” 

สุดท้ายฟีฟ่าก็มีบทลงโทษเบื้องต้นแก่ ไบรอน โมเรโน จากการที่เขาตัดสินให้ลูกยิงของ ดามีอาโน ตอมมาซี ไม่ได้ประตู แต่ยังยืนยันเหมือนเดิมว่าไม่มีการทุจริตล็อกผลการแข่งขันในเกมดังกล่าวใดๆ ทั้งสิ้น 

หลังจากพ้นโทษแบนอันยาวนานกว่า 8 เดือน โมเรโนก็กลับมาทำหน้าที่ตัดสินอีกครั้ง แต่เพียงนัดแรก ในเกมระหว่างเดปอร์ติโบ กิโต เจอกับเดปอร์ติโบ กูเอนกา เขาก็จัดการแจกใบแดงไล่ผู้เล่นฝั่งเจ้าบ้านออกไปอีก​ 3 คน แบบน่ากังขา การกระทำนี้ส่งผลให้เขาโดนตัดสินโทษแบนเพิ่มอีกหนึ่งนัดทันที ก่อนที่ในเดือนต่อมา สหพันธ์ฟุตบอลเอกวาดอร์จะตัดสินใจใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด ถอดถอนเขาออกจากการเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งท้ายที่สุดมันทำให้โมเรโนตัดสินใจรีไทร์จากอาชีพผู้ตัดสินทันที เพราะเขารู้สึกว่าตัวเอง ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสหพันธ์ฟุตบอลเอกวาดอร์ 


Photo : www.benditofutbol.com

“ผมควรจะได้รับการจดจำที่ดีกว่านี้ เพราะผมคิดว่าผมทำงานของตัวเองได้ดี แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันคงเป็นเรื่องยากที่ผมจะได้รับการยอมรับจากฟีฟ่าอีกครั้ง ดังนั้นการตัดสินใจรีไทร์คงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด”

“ผมยอมเดินแอ่นอกด้วยเกียรติยศออกทางประตูหน้า ผมยอมตายที่จะรักษาเกียรติตัวเองดีกว่าต้องยอมคุกเข่า” โมเรโนกล่าวถึงการตัดสินใจของตัวเอง

ไบรอน โมเรโน ลาขาดจากชีวิตผู้ตัดสินฟุตบอล แต่สำหรับเขาไม่มีอะไรที่ถนัดไปกว่าการอยู่ในเส้นทางลูกหนัง เขาหันไปเป็นนักวิเคราะห์ฟุตบอลในช่องโทรทัศน์เล็กๆ ช่องหนึ่งในบ้านเกิด มีงานในวงการบันเทิงเล็กๆ น้อยๆ และชื่อของเขาก็ห่างหายไปจากชาวโลก จนกระทั่ง 7 ปีต่อมา... 

  การปรากฏตัวขึ้นอีกครั้ง

วันที่ 20 กันยายน ปี 2010
ท่าอากาศยานนานาชาติจอห์น เอฟ. เคนเนดี นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา 


Photo : www.eluniverso.com | ARCHIVO

บรรยากาศทุกอย่างดำเนินไปอย่างปกติ แต่ท่ามกลางความวุ่นวายของผู้คน เจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำท่าอากาศยานสังเกตเห็นความผิดปกติของชายวัยกลางคนคนหนึ่งที่เดินทางมาจากประเทศเอกวาดอร์ เขาดูวิตกกังวลอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนั้นร่างกายของเขาในช่วงท้องยังพองโตออกมาจนดูพิรุธ ดังนั้นก่อนที่จะผ่านด่านคนเข้าเมืองไป ชายคนดังกล่าวจึงโดนสกัดเพื่อตรวจค้น

เมื่อตรวจค้นอย่างละเอียด พบว่าตามร่างกายของชายคนดังกล่าวมีเฮโรอีนน้ำหนักกว่า 6 กิโลกรัมพันอยู่รอบตัว ทั้งบริเวณร่างกายท่อนบนและช่วงขา จึงทำการจับกุม ก่อนจะนำตัวไปสอบสวน จนทราบชื่อ เขาคือ ไบรอน โมเรโน ชาวเอกวาดอร์ อายุ 40 ปี เป็นอดีตผู้ตัดสินกีฬาฟุตบอล 

ข่าวนี้ควรจะเป็นข่าวเล็กๆ เป็นที่พูดถึงแค่ในนิวยอร์ก เพราะการลักลอบขนยาเสพติดเข้าสหรัฐอเมริกานั้นไม่ใช่เรื่องแปลก มีให้เห็นได้แทบทุกวัน แต่เนื่องจากตัวการความผิดในครั้งนี้คือชายที่ชื่อ ไบรอน โมเรโน ข่าวนี้จึงดังไกลไปถึงประเทศอิตาลี

“เฮโรอีนหกกิโลกรัมเหรอ ผมไม่แปลกใจเลย ผมว่าโมเรโนมีสิ่งนี้ตั้งแต่ปี 2002 แล้วล่ะ เพียงแต่มันไม่ได้ซ่อนอยู่ในกางเกงใน แต่มันอยู่ในระบบความคิดของเขา”

“คนในวงการฟุตบอลที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดมันคือความอัปยศที่ยากจะรับได้” จานลุยจี บุฟฟอน ให้ความเห็นอย่างดุเดือดเมื่อทราบข่าวดังกล่าว


Photo : www.dailymail.co.uk

ไม่ใช่แค่บุฟฟ่อน แต่สื่อทั่วโลกต่างก็ประโคมข่าวนี้กันอย่างสนุก เพราะต้องยอมรับว่าถึงแม้ฟุตบอลโลก 2002 จะผ่านมาหลายปีแล้ว แต่โมเรโนก็ไม่สามารถลบภาพการเป็นผู้ร้ายในสนามในค่ำคืนที่แตจอน เวิลด์ คัพ สเตเดี้ยม ออกไปได้ บางสื่อถึงกับโจมตีว่า การที่โมเรโนกลายเป็นคนรับจ้างขนส่งยาเสพติด นั่นแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนขี้โกงโดยนิสัยอยู่แล้ว และมันก็คงเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในฟุตบอลโลกด้วย จนไมเคิล แพดเดิ้น ทนายของโมเรโน ต้องออกมาปกป้องลูกความตัวเอง

“ผู้คนพยายามเชื่อมโยงเหตุการณ์นี้เข้ากับเหตุการณ์เมื่อฟุตบอลโลก 2002 ผมต้องบอกว่ามันไม่เกี่ยวข้อง และเป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง” แพดเดิ้น แถลงการณ์แบบขึงขัง 

  เบื้องหลัง คือ อะไร? 

จากผู้ตัดสินในศึกฟุตบอลโลก สู่นักขนยาเสพติดข้ามชาติ อะไรทำให้ชีวิตคน ๆ หนึ่งมีเส้นทางชีวิตตกต่ำแบบนี้ได้?


Photo : www.corriere.it

“โมเรโนบอกว่าตั้งแต่จบศึกฟุตบอลโลก 2002 สภาพจิตใจของเขาก็ย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ ยิ่งมาถูกตัดสินให้เลิกอาชีพผู้ตัดสินฟุตบอลทำให้เขายิ่งรับมือกับมันได้ยาก ถึงเขาจะเริ่มมีเงินมีทองพอสมควรจากการบทบาทหน้าที่ในหน้าจอโทรทัศน์ก็ตาม แต่เงินที่ได้มาก็หมดไปจากการใช้เกินตัวเพื่อหาความสุขให้กับตัวเอง ทั้งการพนันและซื้อสิ่งของต่าง ๆ ทำให้สุดท้ายเขาเริ่มมีหนี้สินล้นพ้นตัว จนต้องตัดสินใจเลือกทางเดินโง่ ๆ แบบนี้” ไมเคิล แพดเดิ้น อธิบาย

โมเรโนมีสิทธิ์จำโทษสูงสุดถึง 10 ปี แต่โชคยังดีที่ศาลรัฐนิวยอร์กตัดสินลงโทษจำคุกเขาเพียง 2 ปีครึ่งเท่านั้นจากการสารภาพความจริงทุกอย่างแต่โดยดี รวมทั้งสภาพการต่าง ๆ บ่งชี้ว่าเขาโดนบีบบังคับจริงๆ จึงตัดสินใจเช่นนี้

“ผมขอโทษ ขอโทษจริง ๆ จากก้นบึ้งของหัวใจ” โมเรโนกล่าวต่อหน้าผู้พิพากษารัฐนิวยอร์ก

“แฟนสาวของเขาแท้งลูก นอกจากนั้นเขายังมีหนี้สินท่วมหัวจากการวางแผนชีวิตผิดพลาด ใช้เงินเกินตัว จนต้องตัดสินใจทำแบบนี้ เขาเพียงแค่หวังว่าเงินที่ได้จากการรับจ้างในครั้งนี้ จะช่วยให้เขาจัดการหนี้สินที่มีได้”

“เขาละอายต่อสิ่งที่กระทำเป็นอย่างมาก” แพดเดิ้นทนายแถลงต่อศาลรัฐนิวยอร์ก


Photo : www.corriere.it

ชีวิตหลังกรงขังของโมเรโน แสดงให้เห็นว่าคำขอโทษของเขาไม่ใช่คำพูดลอย ๆ เขาสำนึกผิดต่อสิ่งที่กระทำลงไปจริง ๆ เพราะระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ โมเรโนจัดเป็นนักโทษชั้นดี เขาร่วมกิจกรรมอาสารีดผ้าให้กับนักโทษคนอื่น ๆ นอกจากนั้นเขายังมีส่วนช่วยในการจัดการแข่งขันฟุตบอลให้เหล่าผู้ต้องขังได้มีกิจกรรมการออกกำลังกาย ส่งผลให้เขาได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนด สรุปแล้วโมเรโนใช้ชีวิตอยู่หลังกำแพงเรือนจำเพียง 26 เดือนเท่านั้น หลังจากพ้นโทษ โมเรโนตัดสินใจเดินทางกลับประเทศเอกวาดอร์ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่แบบเงียบๆ… 

แต่ผู้คนทั่วโลกจดจำเขาในภาพความเป็นผู้ตัดสินจอมวายร้าย, ภาพของชายที่เบื้องหลังเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่นรับผลประโยชน์ทับซ้อน หรือกระทั่งคนขายยาเสพติด ไปแล้วแบบไม่อาจลบทิ้งได้ และมันเป็นสิ่งที่ไบรอน โมเรโน่ ต้องทำใจ เพราะเขาย้อนกลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้อีกแล้ว ไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นจากความบริสุทธิ์ใจ หรือไม่ก็ตาม  

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook