ออเร้นจ์... มังงะฟุตบอล ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของท้องถิ่นญี่ปุ่น

ออเร้นจ์... มังงะฟุตบอล ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของท้องถิ่นญี่ปุ่น

ออเร้นจ์... มังงะฟุตบอล ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของท้องถิ่นญี่ปุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มิตติ ติยะไพรัช อดีตประธานสโมสร สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด เจ้าของตำแหน่งแชมป์ไทยลีกฤดูกาล 2019 เคยให้สัมภาษณ์ว่ามังงะ “Orange พันธุ์เตะเลือดสีส้ม” คือแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาก่อตั้งทีม “กว่างโซ้งมหาภัย” ขึ้นเมื่อสิบปีก่อน 

สำหรับชาวไทย มังงะเรื่องนี้ อาจจะไม่โด่งดังเท่ากับการ์ตูนยอดฮิตอย่าง “กัปตันสึบาสะ” แต่ที่ญี่ปุ่น พวกเขาก็มีแฟนติดตามอยู่ไม่น้อย และได้รับการยกย่องในฐานะมังงะ “น้ำดี” แถมยังมีส่วนผลักดันที่ทำให้ “เอฮิเมะ เอฟซี” สโมสรบ้านเกิดของผู้เขียนให้กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง 

อะไรคือสิ่งที่ทำให้ Orange ได้รับเสียงชื่นชมขนาดนี้ ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

มังงะนอกกระแส

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “กัปตันสึบาสะ” คือผู้บุกเบิกที่ทำให้มังงะฟุตบอลได้รับความนิยมในวงกว้าง ทำให้หลังจากนั้นมีมังงะแนวนี้เกิดขึ้นมามากมาย เช่นเดียวกับ “Orange พันธุ์เตะเลือดสีส้ม” ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2001 


Photo : yahoo.co.jp

Orange เป็นเรื่องราวของทีม นันโยะ ออเรนจ์ สโมสรใน F2 (ลีกระดับ 2 ของการ์ตูน เทียบได้กับ J2 ในโลกความจริง) จากเมืองนันโยะ จังหวัดเอฮิเมะ บนเกาะชิโกกุ ที่กำลังตกที่นั่งลำบาก หลังประธานคนเก่าเสียชีวิต ทำให้ บงโนะ มิกะ หลานสาวที่อยู่เพียงชั้นมัธยมปลาย ต้องเข้ามารับตำแหน่งแทนอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

นอกจากนี้ ทีมก็ประสบปัญหาทางการเงินจนทำให้หอพักนักกีฬาถูกธนาคารยึด ส่งผลให้นักเตะย้ายออกจากทีมไปเกือบหมด ส่วนผลงานในสนามก็ย่ำแย่ จบในอันดับสุดท้ายของตาราง ทำให้ไม่ค่อยมีคนเข้ามาชมเกม และไม่มีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุนทีม ทว่ายังรักษาสถานภาพทีมในลีกรองไว้ได้ (แม้ไม่มีการอธิบายชัดเจนในเรื่อง แต่คาดว่าน่าจะเป็นการอิงกับ เจ 2 ลีกรองของญี่ปุ่น ซึ่งในขณะที่การ์ตูนตีพิมพ์ยังไม่มีการตกชั้น)

และเหมือนเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อผู้ว่าการของเมืองยื่นคำขาดว่า หากทีมไม่ได้เลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในลีกสูงสุด ทีมต้องถูกยุบเพื่อเอางบประมาณไปใช้ในส่วนอื่น ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในสถานการณ์เช่นนี้ 

ทว่า ในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด วาคามัตสึ มุซาชิ เด็กหนุ่มปริศนาก็ปรากฎตัวขึ้น และบอกว่าจะทำให้ นันโยะ ออเรนจ์ กลายเป็นทีมอันดับหนึ่งของโลก เพราะได้สัญญากับประธานสโมสรคนเก่าเอาไว้ 

เขาจับคู่กับ อาโอชิมา โคจิโร นักเตะส่วนเกินจาก โตเกียว ชูบารูส ในลีกสูงสุด ที่ย้ายมาเป็นเพลย์เมกเกอร์คนใหม่ของทีมจากการขอร้องของมิกะได้อย่างลงตัว เขาทั้งสองผนึกกำลังกับนักเตะชุดใหม่ ที่คัดตัวเข้ามา จนพา นันโยะ ออเรนจ์ สร้างปาฏิหาริย์ เลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นใน F1 ได้สำเร็จแบบต้องลุ้นจนใจหายใจคว่ำถึงนัดสุดท้ายของฤดูกาล 

มองอย่างผิวเผิน Orange อาจจะดูเป็นมังงะแนว “สู้เพื่อฝัน” ทั่วไป กับพล็อตเรื่องที่พระเอกมีความฝัน และสุดท้ายก็ฝ่าฟันอุปสรรค จนประสบความสำเร็จในตอนจบ ตามขนบของโชเน็นมังงะ 

แต่ในความเป็นจริงมังงะเรื่องนี้กลับมีอะไรมากกว่านั้น ...

การต่อสู้ของสโมสรในลีกล่าง 

ในยุคที่การ์ตูนฟุตบอลพูดถึงความเก่งกาจของตัวเอก หรือการแข่งขันของเหล่าวัยรุ่นในฟุตบอลอินเตอร์ไฮ แต่ ทัตสึกิ โนดะ ผู้เขียนเรื่องนี้ กลับเลือกที่จะนำเสนอเรื่องราวของการต่อสู้ในลีกรอง 


Photo : shooty.jp

ปี 2001 ... 2 ปี หลังจากเจลีกก่อตั้ง J2 ได้สำเร็จในปี 1999 อาจารย์โนดะ ก็เลือกใช้ลีกแห่งนี้เป็นฉากหลังของการ์ตูนในชื่อสมมุติว่า F2 และเขาก็ยังยึดถือแนวทางนี้ในมังงะเรื่องต่อมาของเขา 

ไม่ว่าจะเป็น Ole ที่พูดถึงการทำงานของสตาฟอาสาในสโมสร คาสุสะ โอเล สโมสรใน N2, Money Football ที่มุ่งเน้นในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสโมสรฟุตบอลกับเงินทองที่มีฉากหลังก็เป็นลีกรอง หรือล่าสุดคือเรื่อง Perori! StadaruTabi ที่ว่าด้วยการหาของอร่อยในตามสนามแข่งของตัวเอกที่เป็นแฟนบอล เจฟ ยูไนเต็ด จิบะ ซึ่งเป็นทีมใน J2 

“ผมชอบดูเกมของ J2 ผมชอบฟุตบอล การได้ดูพวกเขามันสนุกมากเลย” โนดะ ให้สัมภาษณ์กับ Gurunavi ถึงเหตุผลในการเขียนเรื่อง Perori! StadaruTabi เมื่อปี 2017  

แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าผู้แต่งมีความสนใจในลีกรองเป็นทุนเดิม จากการที่ตัวเอกในมังงะของเขา แทบไม่มีใครเกี่ยวข้องกับทีมในลีกสูงสุด  แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าเขาพยายามเสนอความยากลำบากของสโมสรในลีกระดับล่าง 

และปัญหาที่หลายทีมในลีกรองต้องเผชิญก็คือปัญหาทางการเงิน เช่นเดียวกับ นันโยะ ออเรนจ์ ทีมของตัวเอกในเรื่อง Orange ที่เล่นอยู่ใน F2 ลีกระดับ 2 ของประเทศ และมีสถานะง่อนแง่นจากปัญหางบประมาณ หลังการจากไปของเจ้าของคนเก่า 

สถานการณ์ของ นันโยะ ออเรนจ์ ในตอนเริ่มเรื่องจึงถือว่าเข้าขั้นวิกฤต พวกเขาไม่มีหอพักนักกีฬาที่ถูกธนาคารยึดที่ไป ทำให้ต้องมาอาศัยอยู่ในบ้านของมิกะ เจ้าของทีมคนใหม่วัย 16 ปี เป็นการชั่วคราว เช่นเดียวกับสนามซ้อมที่ต้องไปใช้สวนสาธารณะของเมืองแทน 

พวกเขายังมีปัญหาขาดแคลนนักเตะ หลังนักเตะชุดเดิมลาออกไป เนื่องจากไม่มีหอพักให้อยู่ และเนื่องจากไม่มีเงินมากพอ ไม่สามารถดึงนักเตะฝีเท้าดีมาร่วมทีมได้ จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการคัดตัวเอาผู้เล่นที่พอใช้ได้เข้ามา

แม้ว่าพวกเขาอาจได้นักเตะชื่อดังอย่าง อาโอชิมะ โคจิโร จากลีกสูงสุดมาร่วมทีม แต่ค่าจ้างก็อยู่ในระดับ 5 ล้านเยนต่อปีเท่านั้น (ราว 1.5 ล้านบาท) หรือตกเดือนละ 4.16 แสนเยน (ราว 1.25 แสนบาท) ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับสมัยที่เขาเล่นให้ โตเกียว ชูบารูส ที่ได้ค่าเหนื่อย 50 ล้านเยนต่อปี (ราวละ 15 ล้านบาท หรือตกเดือนละ 1.25 ล้าน) แถมยังเป็นเงินก้อนสุดท้ายที่ไปกู้มาอีกด้วย 

นอกจากนี้พวกเขายังขาดแคลนสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุนในเรื่องการเดินทางเวลาต้องออกไปเล่นเป็นทีมเยือน ที่ทำให้ทีมต้องกัดฟันใช้รถไมโครบัสคันเล็กๆ เป็นพาหนะ ซึ่งส่งผลต่อความเหนื่อยล้าของนักเตะ ทั้งความแออัดของขนาดรถ และระยะเวลาในการเดินทางที่บางครั้งอาจจะใช้เวลาร่วม 20 ชั่วโมงเลยทีเดียว   

มันคือการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาลูกโซ่ที่ทีมจากลีกรองต้องเผชิญ โดยมีจุดเริ่มต้นจากปัญหาการเงิน นั่นคือเมื่อทีมไม่มีเงิน ก็ไม่มีศักยภาพที่จะดึงนักเตะฝีเท้าดีมาร่วมทีม ซึ่งส่งผลต่อผลงานในสนาม และเมื่อผลงานย่ำแย่ ก็ไม่มีทั้งคนดูและสปอนเซอร์เหลียวแล และวนกลับไปที่ปัญหาการเงินอีกครั้ง กลายเป็นวงจรแบบนี้เรื่อยไปไม่จบไม่สิ้น

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ Orange พยายามพูดถึง 

การสนับสนุนจากท้องถิ่น

แม้ในฤดูกาล 2001 ซึ่งเป็นปีที่ Orange ปรากฎสู่สายตาผู้อ่าน จะมีสโมสรจากส่วนภูมิภาคมากมาย ตั้งแต่เหนือจรดใต้ จากคิวชูถึงฮอกไกโด ร่วมลงทำศึกในลีกอาชีพของญี่ปุ่น แต่กลับไม่มีสโมสรจากเกาะชิโกกุ มีสถานะเป็นทีมอาชีพแม้แต่ทีมเดียว 


Photo : shooty.jp

ในตอนนั้น โอตสึกะ ฟาร์มาซูติคอล (โทคุชิมา วอร์ติส ในปัจจุบัน) ทีมจากจังหวัด โทคุชิมา และ เอฮิเมะ เอฟซี จากจังหวัดเอฮิเมะ ต่างเล่นอยู่ใน JFL ลีกระดับ 3 ซึ่งมีสถานะเป็นทีมกึ่งอาชีพ (ปัจจุบันคือลีกระดับ 4 ของประเทศ หลัง เจ 3 เปิดตัวครั้งแรกในปี 2014) ในขณะที่ คามาทามาเระ ซานุกิ ของจังหวัดคางาวะ ยังอยู่ในชิโกกุลีก ลีกภูมิภาค ส่วน โคจิ ยูไนเต็ด เอสซี จากจังหวัดโคจิ เพิ่งจะก่อตั้งขึ้นในปี 2016 ที่ผ่านมา 

และมันก็ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ อาจารย์โนดะ สร้างทีม นันโยะ ออเรนจ์ ขึ้นมา ด้วยเหตุผลว่ากลัวจะไม่มีทีมจากบ้านเกิดของตัวเองเล่นอยู่ในลีกอาชีพ แม้ว่าในตอนนั้นจะเป็นเพียงแค่จินตนาการก็ตาม 

นั่นคือเหตุผลว่าเหตุใด ที่ตั้งของสโมสร นันโยะ ออเรนจ์ ในมังงะ Orange จึงอยู่ในจังหวัดเอฮิเมะ เกาะชิโกกุ เกาะที่เล็กที่สุดในบรรดาเกาะหลักของญี่ปุ่น 

“ผมวาดมังงะเรื่อง Orange ในช่วงฟุตบอลโลก ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ปี 2002 เหตุผลก็คือ ผมอยากวาดมังงะฟุตบอลมาก่อนหน้านี้” โนดะกล่าวกับ Shooty.jp

“ในตอนนั้นเจลีก มีสโมสรจากภูมิภาคต่างๆ มากมาย ซึ่งมันเป็นเรื่องที่น่าอิจฉา แต่ที่ชิโกกุ ผมคิดว่ามันอาจจะไม่มีตลอดไป ดังนั้นผมจึงวาดมันขึ้นมาโดยคิดว่าแม้จะมีแค่ในมังงะ แต่ทำให้มันเป็นจริงดีกว่า” 

แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือการที่ นันโยะ ออเรนจ์ มีฐานที่มั่นอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ ในเกาะเล็กๆ ที่มีผลผลิตมวลรวมอยู่ในอันดับท้ายๆ ของประเทศ ยิ่งทำให้ “ความเป็นท้องถิ่น” ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจารย์โนดะ พยายามนำเสนอในมังงะเรื่องนี้ เด่นชัดมากขึ้นไปอีก 

แม้ว่า ออเรนจ์ จะโชคดีที่ได้ วาคามัตสึ มุซาชิ กองหน้าฝีเท้าดี ที่เคยถูกทาบทามไปค้าแข้งในลีกสูงสุดของสเปน และ อาโอชิมา โคจิโร เพลย์เมกเกอร์ที่จ่ายบอลแม่นราวกับจับวางมาร่วมทีม แต่สโมสรก็คงไม่สามารถเลื่อนชั้นได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนในท้องถิ่น 

มันเป็นสิ่งที่อาจารย์โนดะ เน้นย้ำอยู่เสมอในมังงะเรื่องนี้ ในสมัยที่แทบไม่มีการ์ตูนเรื่องไหนพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนจาก PONPOKO บริษัทท่องเที่ยวที่เข้ามาสนับสนุนการเดินทาง โดยให้ยืมรถบัสระดับเฟิร์สคลาส (แม้จะแค่ 3 เดือนก็ตาม) เป็นยานพาหนะขนนักเตะ โดยแลกกับการที่ผู้เล่นของสโมสรต้องไปเป็นนายแบบให้กับบริษัท 

หรือการที่โรงเรียนเก่าของ มิกะ เปลี่ยนแผนทัศนศึกษาที่เกียวโต เพื่อเข้ามาเชียร์ออเรนจ์ ซึ่งมาเล่นเกมเยือนพบกับ เกียวโต มิวทอส จนสามารถยิงแซงสองประตูรวดพลิกกลับมาเอาชนะได้สำเร็จ เช่นเดียวในนัดชี้เป็นชี้ตายเพื่อเลื่อนชั้นในช่วงท้ายฤดูกาล ก็มีผู้ชมเข้ามาเป็นกำลังใจจนเต็มความจุ 30,318 คน ทั้งในช่วงต้นซีซั่นมีแค่หลักพันเท่านั้น 

Orange ยังได้พูดถึงความเป็นท้องถิ่นผ่านผู้เล่น จากการที่ทีมมีนักเตะที่เกิดในเมืองนันโยะ หรือเป็นคนของเกาะชิโกกุ ทั้ง คาตาโองะ ซาโตชิ นักเตะดาวรุ่งที่ขึ้นมาจากระบบเยาวชนของสโมสร, โคบายาชิ ชินอิจิ อดีตครูมัธยมต้นในโรงเรียนของเมือง หรือโค้ช โคจิ สึกุโอะ ก็เป็นอดีตครูโรงเรียนมัธยมปลายนันโยะ 

เช่นเดียวกับ โคจิโร ที่แม้จะไม่ได้เป็นคนเอฮิเมะ แต่ก็มาจากจังหวัดโคจิ ซึ่งอยู่ในเกาะชิโกกุเหมือนกัน คล้ายกับ จอร์จ ซานโตส ที่แม้จะเป็นชาวต่างชาติ (บราซิล) โดยกำเนิด แต่ก็ได้แต่งงานกับคนญี่ปุ่น และโอนสัญชาติจนกลายเป็นคนของเมืองนันโยะอย่างเต็มตัว

อันที่จริงสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เจลีกพยายามเน้นย้ำอยู่เสมอ ว่าการที่สโมสรหนึ่งจะยืนหยัดขึ้นได้ ท้องถิ่นต้องมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน ที่ทำให้กฎต่างๆ ของเจลีกพยายามสลายความเป็นองค์กรของทีม และเน้นการสร้างความสัมพันธ์ของท้องถิ่น และ ออเรนจ์ ก็มีทั้งชาวเมืองนันโยะ คอยสนับสนุน และนักเตะที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของเกาะชิโกกุ เป็นความภาคภูมิใจของพวกเขาในจุดนี้   

“คำสำคัญของรูปแบบการร่วมมือกันในชุมชนของเจลีก ประกอบไปด้วย บ้านเกิด (hometown) ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอาศัยอยู่ หรือเป็นภาษาพูดก็คือ เมืองของเรา (our town) และการยึดมั่นในพื้นที่ของเรา (regional  adherence) ซึ่งมีความหมายง่ายๆ ว่า ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในพื้นที่บ้านเกิด” นี่คือสิ่งที่ โวล์ฟแรม แมนเซนเรเตอร์ และ จอห์น ฮอร์น กล่าวในงานวิจัย Football in the community: global culture, local needs and diversity in Japan

ในขณะเดียวกัน Orange ยังได้พูดถึง ส่วนราชการท้องถิ่น ที่มีส่วนไม่น้อยต่อความอยู่รอดของทีม เหมือนในตอนแรกที่ นันโยะ ออเรนจ์ ผลงานไม่ดี แล้วโดนนายกเทศมนตรีของเมืองขู่จะยุบทีม แต่สุดท้ายเมื่อทีมเลื่อนชั้น ก็เปลี่ยนใจมาสนับสนุนทีม 

ฟังดูอาจจะดูเหมือนว่าการ์ตูนเขียนให้นายกเทศมนตรีเป็นผู้ร้าย แต่มันคือเรื่องจริง เพราะเงินส่วนหนึ่งที่เข้ามาสนับสนุนทีม ก็มาจากภาษีประชาชน เช่นเดียวกับสนามเหย้าของสโมสร ที่ปกติแล้วในญี่ปุ่น เมืองต่างเป็นเจ้าของ หากทีมไม่ได้รับความนิยม รัฐบาลท้องถิ่นของเมือง ก็สามารถเลือกจะเอางบนี้ไปใช้ในส่วนอื่นได้ 

“วลีสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ sanmi ittai (สามองค์) ที่หมายถึงภาพอุดมคติของฟุตบอลในชุมชน โดยมีพื้นฐานจากการร่วมมือกันของคนในท้องถิ่นกับธุรกิจ และระบบราชการท้องถิ่นส่วนภูมิภาค” แมนเซนเรเตอร์ และ ฮอร์น กล่าวต่อ 

“เจลีกทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางและจุดเชื่อมต่อระหว่างการกระจัดกระจายของส่วนภูมิภาค ด้วยการส่งเงินทุนสาธารณะผ่านเข้าไปในชุมชนฟุตบอล ความสนใจในทีมท้องถิ่น จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการเอาชีวิตรอดของทีมในเชิงพานิชย์” 

อย่างไรก็ดี Orange ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นสภาพแวดล้อมในลีกรองเท่านั้น แต่ยังตั้งคำถามน่าคิดไว้ด้วย

ผลประโยชน์ตกที่ใคร? 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในการแข่งขันยาวแบบฤดูกาล สิ่งหนึ่งที่หลายทีมต้องเจอไม่ว่าจะเป็นลีกสูงสุดหรือลีกรอง นั่นคือปัญหาอาการบาดเจ็บของผู้เล่นตัวหลัก และปัญหานี้จะยิ่งทวีคูณขึ้นไปอีกหากเป็นทีมขนาดเล็ก เช่นเดียวกับ นันโยะ ออเรนจ์ 

จากการที่พวกเขาประสบปัญหาทางการเงิน ทำให้ ออเรนจ์ มีขนาดทีมที่เล็กมาก บวกกับความแตกต่างในคุณภาพของผู้เล่นตัวจริงและตัวสำรอง ทำให้เมื่อมีผู้เล่นได้รับบาดเจ็บ จึงส่งผลกระทบต่อทีมอย่างหนัก 

ไม่ว่าจะเป็นการขาด จอร์จ ซานโตส กองหลังกัปตันทีม จนทำให้กำลังใจของทีมลดลง หรือการขาดหายของ โคจิโร ที่ทำให้ทีมผลงานสะดุด ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นปัญหาของทีมในลีกรองเป็นอย่างดี 

และจากเรื่องดังกล่าว ยังเป็นการฉายภาพให้เห็นประเด็น การไม่ยอมส่งนักเตะไปเล่นทีมชาติ เมื่อในเรื่อง มิกะ ถึงขั้นไปขอร้อง โองาวาระ ฮิเดโอะ นายกสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น เพื่อขอยกเว้น ไม่เรียกตัว มุซาชิ ไปเล่นให้ญี่ปุ่นชุดโอลิมปิกเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากทีมประสบปัญหาผู้เล่นบาดเจ็บ 

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ แทบจะไม่ได้เป็นปัญหากับทีมในลีกสูงสุด เพราะโปรแกรมการแข่งขัน ต้องหยุดพักเบรกให้กับทีมชาติตามกฎของฟีฟ่าเดย์อยู่แล้ว แต่สำหรับลีกรอง ที่ตารางการแข่งขันไปชนกับตารางทีมชาติอยู่บ่อยครั้ง มันจึงเป็นคำถามว่าสิ่งนี้ทำได้ไหม หากทีมกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก แม้ทีมคู่แข่งของคุณส่งนักเตะมาเล่นทีมชาติได้ก็ตาม เหมือนในเรื่องที่ ไซตามะ เลโอเน ส่ง มิคิ โซซัน จอมทัพหมายเลข 10 มาเล่นในทีมโอลิมปิก   

และสามารถตั้งคำถามต่อไปได้ว่า หากนักเตะปฏิเสธทีมชาติได้ ถ้าอย่างนั้นการก่อตั้งลีก จะมีขึ้นเพื่ออะไร?

เพราะแรกเริ่มเดิมที การก่อตั้งลีกอาชีพมีขึ้นเพื่อไว้เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับทีมชาติ หากมีนักเตะฝีเท้าดี แต่ไม่ยอมมาเล่นให้ทีมชาติ การก่อตั้งลีกก็ไม่มีความหมายอะไร 

“เพื่อให้ทีมชาติญี่ปุ่นเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก จึงจำเป็นต้องมีลีกอาชีพภายในญี่ปุ่น แล้วเหล่าผู้บุกเบิกก็ได้สร้าง F ลีกขึ้น” โองาวาระ ฮิเดโอะ ประธานสมาคมฟุตบอลฯ ในเรื่อง Orange กล่าวกับมิกะ 

“จุดประสงค์ในครั้งนั้นยังคงเหมือนเดิมจนถึงปัจจุบัน F ลีก มีไว้เพื่อทีมชาติญี่ปุ่นยังคงมีต่อไป” 

“วาคามัตสึ มุซาชิ จึงได้รับเลือกเข้าเป็นทีมชาติญี่ปุ่นไปโอลิมปิก ถ้าคนที่อยู่ใน F ลีก ล่ะก็ การเข้าร่วมอย่างเต็มใจ เป็นเรื่องปกติไม่ใช่หรือ”   


Photo : www.jsgoal.jp

แม้ว่าในเรื่อง มิกะ จะทำได้ (โดยมีเงื่อนไข) แต่ด้วยความที่คนญี่ปุ่น มีความคิดในการเห็นถึงผลประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว ทำให้การกระทำในครั้งนี้ พวกเขาถูกโจมตีอย่างหนักจากแฟนบอลทั่วประเทศ รวมไปถึงคนในชุมชนบางส่วน

นี่คือสิ่งที่ Orange พยายามจะตั้งคำถามกับผู้อ่าน ว่าหากเกิดขึ้นในสถานการณ์จริง ในทีมที่เราเชียร์ เราจะเลือกคำตอบไหน และอย่างไหนคือสิ่งที่ดีที่สุด? 

Orange จึงไม่ใช่แค่มังงะฟุตบอลทั่วไป การสะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างของฟุตบอลญี่ปุ่น ผ่านเรื่องราวที่น่าติดตามของทีมจากลีกรอง ที่ได้สอดแทรกประเด็นไว้มากมาย ทั้งเรื่องการจัดการ อิทธิพลของสื่อ รวมไปถึงการร่วมมือของคนในชุมชน 

จนที่สุดแล้ว มังงะเรื่องนี้ก็มีโอกาสได้ตอบแทนจังหวัดบ้านเกิด ...

 

จากจินตนาการสู่โลกจริง 

แม้ว่า Orange จะปิดฉากลงอย่างเป็นทางการในปี 2003 แต่เรื่องราวของพวกเขามันไม่จบเพียงแค่นั้น เมื่ออิทธิพลของการ์ตูนเรื่องนี้ได้เข้าไปมีส่วนผลักดัน เอฮิเมะ เอฟซี สโมสรในโลกจริงในการเข้าสู่วงการฟุตบอลอาชีพ


Photo : shooty.jp

“ในตอนนั้น ผมรู้ว่า เอฮิเมะ เอฟซี อยู่ใน JFL แต่ผมไม่รู้ว่าพวกเขามีเป้าหมายจริงจังที่จะเข้า เจลีก ฟุตบอลอาชีพสำหรับเอฮิเมะคงเป็นไปไม่ได้” อาจารย์โนดะกล่าวกับ shooty.jp 

“หลังจากลงเรื่องเป็นตอนๆ อยู่ 2 ปีจนจบ เลขาฯ ของ เอฮิเมะ เอฟซี ก็โทรมาหา ดูเหมือนเลขาฯ คนนั้นจะเป็นนักอ่านการ์ตูนตัวยง และขอให้คุยกับผู้อำนวยการในตอนนั้น” 

หลังจากนั้น อาจารย์โนดะ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับสโมสรอย่างเต็มตัว โดยเริ่มจากการสร้างคาแร็คเตอร์ของทีมในปัจจุบันขึ้นมา ไปจนถึงมีส่วนที่ทำให้ทีมเปลี่ยนจากชุดแข่งจากสีน้ำเงินเป็นสีส้ม และผ่านขึ้นไปเล่นในลีกอาชีพได้เมื่อปี 2006 

“หลังจากได้คุยกับประธานของเอฮิเมะ เขาก็ปรึกษาว่า ‘เอฮิเมะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในคนหมู่มากเลย มีไอเดียอะไรบ้างมั้ย?’ ผมก็เลยบอกไปว่า ‘มาลองวาดคาแรกเตอร์อะไรสักอย่างต่อจากนี้กันเถอะ’ ก็เลยสร้างคาแรกเตอร์ของมิคังขึ้นมา ในตอนนั้น เอฮิเมะ ยังสวมชุดแข่งสีน้ำเงินอยู่เลย” โนดะกล่าวต่อ 

“ในช่วงเวลานั้น ทีมจากจังหวัดใกล้ๆ อย่าง โทคุชิมา วอร์ติส ตั้งเป้าที่จะไปเล่นในเจลีก เช่นเดียวกับ เดอะสปา คุซัตสึ (เดอะสปาคุซัตสึ กุนมะ ในปัจจุบัน) มันจึงกลายเป็นการต่อสู้ของ 3 ทีมใน JFL สู่เจลีกอย่างกะทันหัน เป็นการต่อสู้ของ 3 สี หลังจากนั้น ทั้งสองทีมจาก JFL ก็ขึ้นไปเล่น J2 โดยทิ้งเอฮิเมะเอาไว้” 

“แต่ปีต่อมาเราหลังชนฝา จึงตัดสินใจเปลี่ยนสีชุดแข่งมาเป็นสีส้ม และใช้คาแร็คเตอร์ของผลส้มมาประยุกต์ สำหรับเป้าหมาย ‘มุ่งหน้าสู่เจลีก!’ ผมได้ดูเกมตัดสินที่เจอฮอนด้า เอฟซี ที่เราออกไปเยือน เราชนะและมันก็สนุกมาก จากนั้นผมได้เป็นคนวาดมาสค็อตของทีม (โอเลคุง) และกลายเป็นแฟนบอลของ เอฮิเมะ เอฟซี” 


Photo : 
bluesman-billy.cocolog-nifty.com

ปัจจุบัน อาจารย์โนดะ ยังคงร่วมงานกับ เอฮิเมะ เอฟซี โดยเฉพาะการ์ตูน 4 ช่องจบ ที่วาดลงโซเชียลมีเดียของสโมสร ยามที่ทีมต้องออกไปเล่นเป็นทีมเยือน รวมไปถึงยังวาดโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของทีมอยู่บ่อยครั้ง 

ในขณะเดียวกัน Orange ไม่ได้ส่งผลต่อ เอฮิเมะ เอฟซี เท่านั้น แต่มันยังเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ มิตติ ติยะไพรัช อดีตประธานสโมสร สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ที่เพิ่งคว้าแชมป์ไทยลีกในฤดูกาลล่าสุด ก่อตั้งทีมขึ้นมาเมื่อปี 2009 อีกด้วย

มันคือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า โลกจินตนาการและโลกจริงสามารถมาบรรจบกันได้ หาก “กัปตันสึบาสะ” เป็นตัวแทนของการขับเคลื่อนวงการฟุตบอลในระดับโลก “Orange” ก็คือผู้ขับเคลื่อนในระดับท้องถิ่นก็ว่าได้ 


Photo : www.ehimefc.com

“ฟุตบอลเป็นกีฬาที่สนุก ความสนุกของมันไม่ใช่อยู่ที่ลีลาของผู้เล่นเพียงอย่างเดียว แต่เพราะมันสามารถเปลี่ยนเมืองทั้งเมืองได้เลย” โนดะกล่าวใน Orange เล่มที่ 1

สิ่งเหล่านี้คือพลังของมังงะฟุตบอลที่ชาวญี่ปุ่นใช้ประโยชน์จากมันมาโดยตลอด “มังงะสร้างชาติ” จึงเป็นคำเปรียบเปรยที่ไม่ผิดนักสำหรับพวกเขา จากการกระทำทั้งในอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook