สงสัยกันไหม : ทำไม "ไนจีเรีย" ที่คว้าแชมป์เยาวชนมาทุกรุ่นกลับไปไม่ถึงไหนเมื่อขึ้นชุดใหญ่?

สงสัยกันไหม : ทำไม "ไนจีเรีย" ที่คว้าแชมป์เยาวชนมาทุกรุ่นกลับไปไม่ถึงไหนเมื่อขึ้นชุดใหญ่?

สงสัยกันไหม : ทำไม "ไนจีเรีย" ที่คว้าแชมป์เยาวชนมาทุกรุ่นกลับไปไม่ถึงไหนเมื่อขึ้นชุดใหญ่?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อความสุดยอดสมัยเป็นดาวรุ่ง ไม่สามารถทำให้ทีมชุดใหญ่ของพวกเขาได้เฉิดฉาย

ในฟุตบอลระดับเยาวชน ทีมชาติไนจีเรีย ถือเป็นหนึ่งในยอดทีมของโลกที่ไม่ได้มาจากยุโรปหรืออเมริกาใต้ จากผลงานที่นับนิ้วแทบไม่หวาดไม่ไหว

พวกเขาคือเจ้าของแชมป์โลก 5 สมัยในรุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี รองแชมป์โลก 2 สมัยในรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี และยังเป็นทีมจากแอฟริกาทีมแรกในประวัติศาสตร์ ที่สามารถคว้าเหรียญทองฟุตบอลโอลิมปิกมาคล้องคอได้เมื่อปี 1996

 

อย่างไรก็ดี สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับทีมชุดใหญ่ของพวกเขา เมื่อผลงานที่ดีที่สุดในระดับโลก คือการผ่านเข้าไปเล่นในรอบ 16 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโลกเท่านั้น 

อะไรคือสิ่งกีดขวางที่ทำให้พวกเขาไปไม่สุด? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand

คอร์รัปชั่นทำลายฟุตบอล 

ไนจีเรีย คือประเทศในเครือจักรภพ ที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษมาร่วม 109 ปี แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็เป็นหนึ่งในประเทศร่ำรวยของแอฟริกา ที่มีรายได้หลักมาจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จากการเป็นหนึ่งในประเทศที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติมั่งคั่งประเทศหนึ่งของโลก 

 1

ในปี 2019 พวกยังมีผลผลิตมวลรวมภายในประเทศที่สูงถึง 444,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 13.4 ล้านล้านบาท มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของแอฟริกา และทิ้งห่างแอฟริกาใต้ อันดับ 2 อยู่ราว 70,000 ล้านดอลลาร์ (2 ล้านล้านบาท) 

อย่างไรก็ดี อดีตอาณานิคมอังกฤษแห่งนี้ กลับเป็นประเทศที่มีสัดส่วนคนยากจนมากที่สุดของโลก จากข้อมูลขององค์กร World Poverty Clock และ สถาบันบรุกกิงส์ ระบุว่าไนจีเรียที่มีประชากรทั้งประเทศอยู่ราว 200 ล้านคน กลับมีคนที่มีรายได้ไม่ถึง 1.9 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน หรือราว 57.6 บาท (หากคิดเป็นเดือน จะได้ราวละ 1,800 บาท) อยู่ถึง 87 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ

สิ่งที่ทำให้พวกเขาต้องเผชิญชะตากรรมเช่นนี้ก็คือคอร์รัปชั่น ไนจีเรียเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดคอร์รัปชั่นมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก พวกเขามีดัชนีความโปร่งใสเกือบรั้งท้ายอยู่ในอันดับ 144 จาก 180 ประเทศ 

ด้วยกฎหมายที่ย่อหย่อน เปิดโอกาสให้คนผิดได้ลอยนวล ทำให้คอรัปชั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติในทุกหย่อมหญ้าในไนจีเรีย เช่นเดียวกับวงการฟุตบอล ที่มักจะมีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นมาตลอด 

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการค้าเงินค่าจ้างโค้ช และนักเตะ ที่ขนาด สเตเฟน เคซี อดีตกุนซือทีมชาติไนจีเรีย ยังโดนเบี้ยว ทั้งที่พาทีมคว้าแชมป์ แอฟริกัน เนชันส์ คัพ เมื่อปี 2013 หรือการติดสินบนผู้ตัดสิน ที่กลายเป็นเรื่องปกติ จนทำให้ครั้งหนึ่ง เคยมีสกอร์ที่เหลือเชื่ออย่าง 79-0 และ 67-0 มาแล้ว

 2

“พวกเราคือปัญหาของวงการฟุตบอลในจีเรีย ทีมต้องการชนะ ผู้จัดการทีมก็รู้ว่าถ้าพวกเขาไม่ชนะ พวกเขาก็จะถูกไล่ออก โค้ชก็รู้ว่าถ้าพวกเขาทำผลงานไม่ได้ พวกเขาก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้จัดการทีมและโค้ชจึงร่วมมือกับผู้เล่น” โบลาจี โอโจโอบา เลขาธิการ สหพันธ์ฟุตบอลไนจีเรียกล่าวในงานสัมนาก่อนเปิดฤดูกาลรัฐตะวันตกเมื่อปี 2016 

“นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมสโมสรส่วนใหญ่ถึงไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างนักเตะ แต่มีเงินไว้ปรนเปรอผู้ตัดสิน บางสโมสร ผู้จัดการทีมและโค้ชร่วมมือกับผู้ตัดสินด้วยซ้ำ มันเกิดขึ้นกับทุกสโมสร” 

หรือล่าสุดเมื่อปี 2019 เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหพันธ์ฟุตบอลไนจีเรีย ที่มีทั้งรองประธาน NFF เลขาธิการ กรรมการบริหาร ได้ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดียักยอกเงินของสหพันธ์ที่ได้มากจากสปอนเซอร์ทีมชาติ การถ่ายทอดสด และเงินจัดสรรจากฟีฟ่าไปใช้เป็นการส่วนตัว 

“ผู้คนเหล่านี้กำลังทำลายฟุตบอลของเรา ด้วยการแบ่งเงินเข้ากระเป๋าส่วนตัว ที่เอาไว้ใช้เพื่อพัฒนาฟุตบอลของเรา” การา กอมเบ นายกสมาคมฟุตบอลรัฐกอมเบของไนจีเรียกล่าวกับ Score Nigeria 

“ข้อเท็จจริงชัดเจนมาก 4-5 ปีที่แล้ว พวกเขาไม่มีตัวตน แต่นับตั้งแต่ตอนนั้น พวกเขาก็มีทรัพย์สมบัติและเงินไว้จับจ่ายมากมาย พวกเขามีเงินมากมายจนถึงขนาดสามารถจัดการหรือประนีประนอมกับจ้าหน้าที่ได้” 

“มันคือแม่มดที่คอยตามล่าสมบัติของเรา แม่มดที่ล่าเงินทุน ที่มีความหมายต่อการพัฒนาฟุตบอล”

สิ่งเหล่านี้ทำให้แม้ว่าไนจีเรีย จะมีทีมเยาวชนที่แข็งแกร่งเพียงใด พวกเขาก็ไม่สามารถพัฒนาได้อย่างที่ควรจะเป็น เพราะเม็ดเงินที่นำมาพัฒนาฟุตบอลอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนกลับมาไม่ถึง และมันก็เป็นสิ่งที่คอยขัดขวางความก้าวหน้าของพวกเขา 

“ความสำเร็จมักจะเป็นเหตุบังเอิญในไนจีเรียและแอฟริกา” อาบิโอลา คาซีม นักข่าวของไนจีเรียกล่าวกับ Guardian 

“ในต่างประเทศ มันมักจะมีระดับขององค์กรหรือโครงสร้างเพื่อเกมการแข่งขัน แต่ที่นี่มันไม่มีทั้งกลยุทธ์หรือแบบแผน มันเป็นเพราะพรสวรรค์ของผู้เล่น ทำให้ทีมกีฬาแอฟริกาประสบความสำเร็จ ทั้งๆ ที่มีความสับสนวุ่นวาย” 

ทว่า พวกเขายังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเหมือนมะเร็งร้ายคอยกัดกิน

โกงอายุ 

แม้ว่าไนจีเรีย จะเป็นเจ้าของแชมป์โลกในรุ่นอายุไม่เกิน 17 ปีถึง 5 สมัย และผ่านเข้าชิงชนะเลิศถึง 8 ครั้ง หรือเกือบครึ่งหนึ่งของการแข่งขัน รวมไปถึงคว้ารองแชมป์โลกอีก 2 ครั้งในรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี แต่ความสำเร็จของพวกเขา ก็เต็มไปด้วยความคลางแคลงใจจากเรื่องอื้อฉาว “โกงอายุ”  

 3

ข้อสงสัยเกี่ยวกับการโกงอายุของไนจีเรียครั้งแรก ต้องย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน เมื่อพวกเขาถูกฟีฟ่าแบนจากการแข่งขันในทุกรายการเป็นระยะเวลา 2 ปี หลังพบว่าวันเกิดของนักเตะ 3 คนในทีมชุดโอลิมปิก 1988 ไม่ตรงกับที่ลงทะเบียนไว้ในทัวร์นาเมนต์ก่อนหน้า

การใช้ผู้เล่นอายุเกินในการแข่งขันระดับเยาวชน เป็นสิ่งที่ไนจีเรีย ทำมาโดยตลอด เพราะมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติในประเทศแอฟริกา ที่ทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันตั้งแต่การแข่งขันระดับทวีป ไปจนถึงระดับโลก

“เราใช้นักเตะอายุเกินเพื่อคว้าแชมป์ในรุ่นเยาวชน ผมรู้เรื่องนั้น” แอนโธนี โคโจ วิลเลียมส์ อดีตประธานสหพันธ์ฟุตบอลไนจีเรียให้สัมภาษณ์กับ BBC 

“ทำไมถึงพูดแบบนั้น เพราะมันคือความจริง เราโกงมาโดยตลอด มันคือความจริง” 

“เมื่อคุณโกง จะทำให้คุณพรากโอกาสของนักเตะดาวรุ่งที่ควรได้ลงเล่นในทัวร์นาเมนต์นี้อย่างถูกต้องไป”

แม้ว่าฟีฟ่าจะใช้เทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) มาสแกนข้อมือเพื่อตรวจสอบอายุที่แท้จริงเป็นครั้งแรก ตั้งแต่การแข่งขันฟุตบอลโลก U17 ที่ไนจีเรียเป็นเจ้าภาพในปี 2009 แต่การโกงอายุของไนจีเรีย ก็ยังมีอยู่มาโดยตลอด 

ในปี 2013 พวกเขาต้องเสียนักเตะคนสำคัญหลายคนในการแข่งขันฟุตบอลโลกรุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี หลังตรวจ MRI ไม่ผ่าน ในขณะที่ปี 2018 พวกเขาต้องส่งนักเตะจากชุด U17 ถึง 15 คนกลับบ้าน หลังพบว่าอายุเกิน ก่อนลงแข่ง แอฟริกัน เนชั่นคัพ U17 รอบคัดเลือกที่ไนเจอร์ 

และมันคือเหตุผลว่าเหตุใด นักเตะไนจีเรีย ที่ทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในระดับเยาวชน กลับไม่สามารถทำผลงานได้ดีนักในทีมชุดใหญ่ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของคือกรณีของ เฟมี โอปาบุนมี กองหน้าทีมชาติไนจีเรีย ชุดรองแชมป์โลก U17 เมื่อปี 2001 

โอปาบุนมี คือหนึ่งในนักเตะที่ทำผลงานได้อย่างโดดเด่นของรายการ เขายิงไปถึง 5 ประตู และพาไนจีเรีย เข้าชิงชนะเลิศได้สำเร็จ แม้ว่าสุดท้ายจะพ่ายต่อทีมชาติฝรั่งเศสในนัดชิง แต่เขาก็ถูกดันขึ้นมาเล่นในทีมชุดใหญ่ในปีต่อมา 

รองดาวซัลโวฟุตบอลโลก U17 2001 ยังถูกหนีบไปเล่นฟุตบอลโลกในปี 2002 ที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ และทำสถิติกลายเป็นผู้เล่นอายุน้อยที่สุดอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์ที่ได้ลงเล่นในฟุตบอลโลกหลังถูกส่งลงสนามในเกมพบอังกฤษ 

 4

อย่างไรก็ดี อีก 3 ปีต่อมา เขากลับมีสถานะเป็นเพียงนักเตะพาร์ทไทม์ของทีมในลีกล่างของฝรั่งเศส และหายไปจากสารบบฟุตบอลตั้งแต่ปี 2006 โดยมีสโมสรชูตติ้งสตาร์ ในลีกไนจีเรีย เป็นสโมสรสุดท้ายที่บันทึกไว้ 

“(ปัญหาโกงอายุ) เป็นปัญหาใหญ่และยังมีอยู่ พวกเขาบางคนเล่นอยู่ในชุด U17 แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปี พวกเขาก็เลิกเล่น เพราะเริ่มวิ่งไม่ไหว” โจนาธาน อัคโปโบรี อดีตกองหน้าทีมชาติไนจีเรียที่ผันตัวมาเป็นเอเยนต์ กล่าวกับ BBC Sports 

“ดูทีมชาติสเปน เราจะเห็นตัวอย่างและสิ่งที่พวกเขาทำ เหมือนกับชาบี และอันเดรส อิเนียสตาที่มาจากทีมเยาวชน คุณสามารถเห็นเส้นทางอาชีพของเขาได้ตลอด”

“แต่พอมองไปที่ผู้เล่นแอฟริกันในระดับ U17 บางทีปี หรือสองปี หลังจากนั้นพวกเขาก็เลิกแล้ว เพราะว่าพวกเขาไม่สามารถทำผลงานได้เหมือนกับตอนเล่นในระดับ U17 เพราะว่าพวกเขาแก่แล้ว มันคือการให้ผู้เล่นที่ผิดกฎได้มีพื้นที่แสดงความสามารถ ซึ่งไม่ถูกต้อง” 

ในขณะเดียวกันปัญหาดังกล่าวไม่ได้มีแค่ในระดับเยาวชนเท่านั้น

อายุจริง ≠ อายุในฟุตบอล

ปัญหาการโกงอายุ เป็นเหมือนปัญหาที่ฝังรากลึกของไนจีเรีย และไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มดาวรุ่ง เพราะในอดีตมีผู้เล่นในทีมชุดใหญ่หลายคน ถูกระบุว่าปกปิดอายุที่แท้จริง รวมไปถึงสตาร์ดังที่เคยผ่านเวทีฟุตบอลโลก

 5

เอนวานโก คานู อดีตดาวเตะชื่อดังของอาร์เซนอล ถูกกล่าวหามีอายุจริง 52 ปี ไม่ใช่ 43 ปีที่ระบุไว้ โอบาเฟมี มาร์ติน อดีตกองหน้านิวคาสเซิลอายุ 42 ปี ไม่ใช่ 35, เจย์ เจย์ โอโคชา อายุจริงมากกว่า 10 ปีจากที่ลงทะเบียน หรือ ตาริโบ เวสต์ อยู่ในวัย 50 กว่าปีแล้ว 

มันจึงกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้สื่อข่าวในประเทศ ตั้งข้อสังเกตว่านี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ไนจีเรีย ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในเวทีระดับโลก เนื่องจากผู้เล่นของพวกเขามีอายุมากเกินไป 

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับแองโกลา (แอฟริกัน เนชั่นส์ คัพ 2010 ที่ไนจีเรียได้อันดับ 3) ยืนยันว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นในอดีต นักเตะของเราส่วนใหญ่ ปลอมอายุในการแข่งขัน นักเตะของเราเกือบทั้งหมด อายุมากกว่าที่พวกเขาแสดง” อดีตผู้จัดการทีมสโมสรชั้นนำของไนจีเรียกล่าวกับ Guardian

การโกงอายุสำหรับผู้เล่นชุดใหญ่ มันคือการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้มีชีวิตการค้าแข้งได้นานขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ส่งผลกระทบต่อทีมชาติ เรื่องจากพวกเขาไม่สามารถใช้งานนักเตะได้ตามประสิทธิภาพที่ควรเป็น 

“เด็กของเราแก่มากแล้ว เรากำลังชดใช้มันจากการโกงอายุ” เคน อนุกเวเจ อดีตแพทย์ทีมชาติไนจีเรีย และบอร์ดบริหาร NFF กล่าวกับ BBC

“นักเตะของเราหลายคนเลิกเล่น แล้วก็กลายเป็นปู่หรือตาทันที ผมมีเพื่อนคนหนึ่งที่เคยเล่นให้ไนจีเรียลีกบอกผมว่าอายุจริงของเขาคือ 34 แต่ในวงการฟุตบอลเขาอายุเพียงแค่ 21 ปีเท่านั้น” จอร์จ ออนมอนยา เสริมในบทความของตัวเองในเว็บไซต์ Nigeria Village Square

และสิ่งที่ทำให้ นักเตะไนจีเรีย โกงอายุกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันก็มาจากการคอร์รัปชั่น ที่ทำให้ระบบข้าราชการหละหลวม จนปล่อยให้การปลอมแปลงเอกสาร ง่ายดายไม่ต่างจากการโฟโต้ช็อป  

 6

“คุณสามารถเดินเข้าไปในสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในวันนี้ ปลอมเอกสารที่ศูนย์ธุรกิจที่อยู่ใกล้ๆ เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนสถานที่เกิด วันเกิด จ่ายเงิน 7,000-10,000 ไนรา (580-830 บาท) แทนที่จะจ่ายให้ทางการที่ 5,500 ไนรา สำหรับหนังสือเดินทางระหว่างประเทศ และแค่ไม่ถึงชั่วโมงทุกอย่างก็เสร็จสิ้น” ออนมอนยากล่าว

การได้พาสปอร์ตใหม่ เหมือนเป็นคนใหม่ ถ้าเป็นนักฟุตบอลก็คือการได้กลับมาเป็นหนุ่มอีกครั้ง พวกเขายังสามารถซื้อใบมรณบัตรของคนที่ตายแล้ว และเอาชื่อตัวเองไปสวมแทน และกลายเป็นอีกคนได้อย่างไม่ยากเย็น 

“อันที่จริง การโกงอายุมันไม่ได้มีแค่ในแอฟริกา ผมแน่ใจว่ามันมีทั้งในอเมริกาใต้ แต่สำหรับที่แอฟริกาปัญหานี้มันใหญ่มากจริงๆ” อัคโปโบรี กล่าวกับ BBC 

“บางทีมันอาจจะง่ายสำหรับผู้เล่นในแอฟริกาที่เอาตัวรอดจากเรื่องนี้ หรือไม่ก็เคยชินกับมันแล้ว มีไม่กี่ที่บนโลกที่จะง่ายเท่ากับแอฟริกา แต่ก็มีความพยายามที่จะหยุดมันอยู่”  

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ปัญหาเดียวที่วงการไนจีเรียต้องเผชิญ เพราะพวกเขายังมีภัยเงียบที่อาจไม่รู้ตั

อิทธิพลจากฟุตบอลยุโรป 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าแอฟริกา คือแหล่งส่งออกนักฟุตบอลฝีเท้าดี แต่ราคาย่อมเยา ทำให้ในแต่ละปีที่นักเตะจากทวีปนี้มากมายที่ได้ย้ายไปโชว์ฝีเท้าในยุโรป

 7

เช่นเดียวกับไนจีเรีย พวกเขาก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งนักเตะไปค้าแข้งในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นในอดีตอย่าง เอ็นวานโก คานู, เจย์ เจย์ โอโคชา, ฟินีดี จอร์จ, ทาริโบ เวสต์ หรือชุดปัจจุบันอย่าง วินเฟรด เอ็นดีดี (เลสเตอร์ ซิตี้) หรือ จอห์น โอบี มิเกล ที่เพิ่งอำลาทีมชาติไป

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการย้ายไปค้าแข้งในยุโรป จะส่งผลดีต่อการพัฒนาฝีเท้าของผู้เล่นของไนจีเรีย แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ส่งผลกระทบต่อทีมชาติ นั่นคือสไตล์การเล่นของพวกเขา 

ไมเคิล ค็อกซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแทคติกของ ESPN ระบุว่าทีมยุโรป กำลังทำลายฟุตบอลแอฟริกันอย่างไม่รู้ตัว ด้วยการเซ็นสัญญานักเตะแอฟริกันอายุน้อย แล้วเปลี่ยนรูปแบบให้ลดการสร้างสรรค์ลงและเน้นพละกำลังมากขึ้น 

ผลที่ตามมาก็คือนักเตะแอฟริกันเหล่านี้กลายเป็นนักเตะแบบ “มาเกเลเล โรล” (The Makélélé role) ที่ตั้งชื่อจาก โคลด มาเกเลเล นักเตะทีมชาติฝรั่งเศส ที่มักจะไม่ข้ามเส้นกลางสนาม และกลายเป็นกองกลางตัวรับเต็มตัว เน้นเกมรับมากกว่าเกมบุกไปโดยปริยาย 

สิ่งนี้เห็นได้ชัดเจนจาก จอห์น โอบี มิเกล อดีตกัปตันทีมชาติไนจีเรีย แต่เดิมเขาคือเพลย์เมกเกอร์ เป็นตัวสร้างสรรค์เกม ที่มีจุดเด่นอยู่ที่การเลี้ยงบอลที่เชื่องเท้า และลูกคิลเลอร์พาสที่แม่นราวจับวาง 

 8

“เขาเคยเป็นเด็กหนุ่มในชุดหมายเลข 10 ไม่ได้รวดเร็ว แต่ดูมีบารมีเวลาคุมเกม เกมของเขาเป็นระบบของการเคลื่อนตัว มองหาการจ่ายที่เหมาะสมในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อปลดล็อคกองหลังที่เจาะได้ยาก” โคลิน อูโด นักข่าวชาวไนจีเรียกล่าวกับ Slate 

แต่หลังจากย้ายไปเล่นให้กับเชลซี เขาก็ถูกลดบทบาทในส่วนนี้ และเปลี่ยนมาเป็นผู้เล่นเกมรับ เพื่อเปิดโอกาสให้ แฟรงค์ แลมพาร์ด ได้เล่นเกมรุกเต็มตัว ซึ่งทำให้เขากลายเป็นนักเตะที่แย่ไปเลยเมื่อกลับมารับใช้ทีมชาติไนจีเรีย 

“เขาเสียความสร้างสรรค์ ที่ส่งเขาไปสู่เวทีระดับโลก เชลซีทำลายสิ่งที่มิเกลเคยเป็นไปแล้ว” แซมซัน เซียเซีย โค้ชไนจีเรียให้ความเห็นกับ Slate 

และมันก็ยังเป็นแบบนี้เรื่อยมา สังเกตได้จากทีมชุดปัจจุบัน นักเตะที่ย้ายไปเล่นในยุโรปส่วนใหญ่ จะมีสไตล์การเล่นคล้ายกับมิเกล และหานักเตะสร้างสรรค์เกมได้อย่าง โอโคชา ยากขึ้นไปทุกที

ยังคงพยายามอยู่ 

แม้ว่าปัจจุบันไนจีเรีย จะยังคงเผชิญปัญหาเดิมๆ ที่ทำให้ฟุตบอลของพวกเขาพัฒนาได้ไม่ไกล แต่พวกเขาก็ยังพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงมัน โดยเริ่มตั้งแต่วิธีคิดในพัฒนาเยาวชนที่เน้นความยั่งยืนมากกว่าถ้วยรางวัล  

 9

สหพันธ์ฟุตบอลไนจีเรีย เพิ่งจะกำหนดนโยบายใหม่ที่ระบุว่าจะให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบเยาวชน มากกว่าการตั้งเป้าคว้าแชมป์โลกให้มากที่สุด ในรุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี ซึ่งเป็นรุ่นที่พวกเขาครองความยิ่งใหญ่ เหมือนที่ผ่านมา 

“ฟุตบอลโลก U17 คือโปรแกรมการพัฒนาที่ดี  และไนจีเรียก็แสดงให้เห็นว่าเรามีความสามารถที่จะคว้าแชมป์ในระดับโลก” เซยี อคินวุนมี เจ้าหน้าที่เทคนิค NFF กล่าวกับ Goal 

“เราเคยคว้าแชมป์ (ฟุตบอลโลก U17) มาแล้ว 5 ครั้งก่อนหน้านี้ แต่สิ่งที่เราต้องการมากกว่านั้นคือการพัฒนาผู้เล่นของเรา” 

“เราอยากให้ระบบพัฒนาเยาวชนได้เติบโต เราไม่อยากให้คนส่งนักเตะเข้าสู่ทีมชาติจากทุกซอกทุกมุม เราอยากให้ระบบที่ดีที่สุดทำให้เราขึ้นไปอยู่ในระดับท็อป” 

ไนจีเรีย ยังหวังที่จะลดช่องว่างกับทีมระดับโลก เพื่อพาตัวเองขึ้นไปอยู่แถวหน้าของวงการลูกหนัง แต่ในขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า พวกเขายังมีปัญหาอีกมายมายที่ต้องจัดการ หากต้องการไปถึงจุดนั้น 

“เรายังมีงานอีกมากมายที่ต้องทำ มันเป็นปัญหาเดิมๆ รออุปกรณ์การซ้อมมาถึง ปัญหาวีซา เราต้องทำให้ดีกว่านี้” เกอร์โน โรห์ กุนซือทีมชาติไนจีเรียที่คุมทีมมาตั้งแต่ปี 2016 กล่าวกับ The Straits Times

“เราต้องทำให้ดีกว่านี้กับนักเตะดาวรุ่ง ที่จำเป็นอย่างยิ่งในเรื่องระเบียบวินัย เรามีนักเตะแอฟริกันที่ทำผลงานได้ดีในยุโรป อย่าง วิมเลียม ทรูส เอกอง ที่เกิดในยุโรป และนำปรัญญาและวัฒนธรรมที่ดีมาให้คนอื่นในทีมได้เรียนรู้” 

 10

เหล่านี้คือสิ่งที่สหพันธ์ฟุตบอลไนจีเรีย กำลังพยายาม เพื่อที่ทีมชาติของพวกเขาไม่ถูกปรามาสว่าเก่งเพียงแค่ในระดับเยาวชน แต่ทีมชุดใหญ่กลับเหลวไม่เป็นท่า ซึ่งพวกเขาก็หวังว่าวิธีคิดแบบใหม่ จะพาพวกเขาไปอยู่ในที่ที่ควรจะเป็น 

“เรายังคงหนุ่ม เปลี่ยนแปลงง่าย และสามารถเล่นฟุตบอลที่ดีได้ ทุกอย่างจะเข้ามาเมื่อถึงเวลา เรากำลังพยายามอย่างเต็มที่ และเรากำลังพยายามไปถึงจุดนั้น” โรห์ ทิ้งท้าย

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ สงสัยกันไหม : ทำไม "ไนจีเรีย" ที่คว้าแชมป์เยาวชนมาทุกรุ่นกลับไปไม่ถึงไหนเมื่อขึ้นชุดใหญ่?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook