เพาล์ พรอยส์ : บิดาแห่งนักปีนเขามือเปล่าที่ความตายก็หยุดยั้งปณิธานเขาไม่ได้

เพาล์ พรอยส์ : บิดาแห่งนักปีนเขามือเปล่าที่ความตายก็หยุดยั้งปณิธานเขาไม่ได้

เพาล์ พรอยส์ : บิดาแห่งนักปีนเขามือเปล่าที่ความตายก็หยุดยั้งปณิธานเขาไม่ได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อจิตวิญญาณอันแรงกล้าของเขาได้ถูกส่งต่อผ่านกาลเวลา

“ความตาย” คือสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายสำหรับ “นักปีนเขามือเปล่า” เหมือนที่เพิ่งเกิดขึ้นกับ แบรด ก็อบไบรท์ นักปีนเขาชื่อดัง ที่อำลาโลกไปด้วยอุบัติเหตุตกเขา เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2019 ที่ผ่านมา 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการปีนเขามือเปล่าเป็นกีฬาที่อันตราย เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์ช่วยเหลือ และมีอุปกรณ์ป้องกันเพียงน้อยนิด (หรือไม่มีเลย) จนทำให้นักปีนเขาชื่อดังต้องจบชีวิตลงมาแล้วหลายราย แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมในหมู่คนที่รักการผจญภัยและความท้าทาย 

อย่างไรก็ดี การปีนเขามือเปล่า คงไม่ได้รับการยอมรับ หากไม่มีชายที่ชื่อว่า เพาล์ พรอยส์ เขาคือบุกเบิก และผลักดันในกีฬาชนิดนี้มาเมื่อ 100 กว่าปีก่อนอย่างจริงจัง จนได้รับการขนานนามว่า “บิดาแห่งนักปีนเขามือเปล่า”

และนี่คือเรื่องราวของเขา

เด็กน้อยจากเมืองกลางหุบเขา  

ห่างออกไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงเวียนนา เมืองหลวงของประเทศออสเตรีย เกือบ 300 กิโลเมตร มีเมืองที่ชื่อ อัลเทาซี แทรกตัวอยู่ มันเป็นเมืองเล็กๆ ที่ตั้งอยู่กลางหุบเขา และเป็นบ้านเกิดของ เพาล์ พรอยส์ นักปีนเขาคนสำคัญในประวัติศาสตร์ 


Photo : austria-forum.org

อันที่จริงครอบครัวของพรอยส์ไม่ใช่คนเมืองนี้ พ่อของเขาเป็นครูสอนดนตรีชาวฮังการีเชื้อสายยิว ส่วนแม่เป็นครูส่วนตัวให้กับบารอน ที่มีถิ่นฐานอยู่กรุงเวียนนา แต่พวกเขามักจะใช้เวลาในช่วงวันหยุดฤดูร้อนที่เมืองใจกลางหุบเขาแห่งนี้ ก่อนจะย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่นี่เป็นการถาวร 

แม้ว่าพ่อของพรอยส์ จะมีอาชีพเป็นครูสอนดนตรีก็จริง แต่เขาก็มีความสนใจในเรื่องพฤกศาสตร์อยู่ไม่น้อย การได้มาอยู่ในเมืองที่รายล้อมไปด้วยภูเขา ทำให้เขามีโอกาสได้เข้าไปหาพืชพันธุ์ตามธรรมชาติอยู่เสมอ 

แน่นอนว่าพรอยส์ มักจะตามพ่อของเขาไปด้วยทุกครั้ง ซึ่งบางทีจำเป็นต้องปีนป่ายขึ้นไปบนภูเขา เพื่อหาพืชพันธุ์แปลกๆ และมันก็เป็นตัวจุดประกาย ความชื่นชอบในการปีนเขาของเขา

อย่างไรก็ดี พรอยส์ กลับมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เขาเป็นคนที่สุขภาพไม่ดีนัก ตอนอายุ 6 ขวบ เคยป่วยหนักจนเกือบพิการ ด้วยโรคโปลิโอ หลังร่างกายเป็นอัมพาตไปครึ่งซีก ที่ทำได้แต่นอนอยู่บนเตียงและนั่งรถเข็นอยู่เกือบครึ่งปี 

ทำให้หลังดีขึ้น เขาจำเป็นต้องเล่นยิมนาสติก และหัดเดิน เพื่อฟื้นฟูร่างกายกลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง  แต่มันกลับทำได้ดีกว่านั้น เมื่อการฝึกฝนได้ทำให้เขามีร่างกายที่เพรียวลมและเหมาะกับการเป็นนักกีฬา 

ทว่าตอนอายุ 10 ขวบ เขาก็ต้องได้รับข่าวร้าย เมื่อพ่อของเขาเสียชีวิตอย่างกะทันหัน แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เขาล้มเลิกการปีนเขา พรอยส์ ยังคงออกไปเที่ยวเล่นบนภูเขาเหมือนตอนที่พ่อยังอยู่ และมันก็ทำให้เขารู้ว่าเขาได้ตกหลุมรักมันไปแล้ว และมุ่งมั่นที่จะเป็นนักปีนเขาอย่างจริงจังตอนอายุ 11 ปี 

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่เขาเกิดมาในครอบครัวของชนชั้นสูง ที่การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้เขามีอีกภารกิจสำคัญก็คือการเรียน และเขาก็ทำได้ดีไม่ขาดตกบกพร่อง เมื่อสามารถคว้าปริญญาตรีในสาขาสรีระวิทยาของพืชที่มหาวิทยาลัยเวียนนา ก่อนจะคว้าปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยมิวนิค ประเทศเยอรมนี

ทว่า ชีวิตของเขาไม่ได้เกิดมาเพื่อสิ่งนี้ 

 

ผู้บุกเบิกปีนเขามือเปล่า 

แม้ว่าหลังเรียนจบ พรอยส์ จะมีอาชีพเป็นผู้ช่วยในสถาบันพฤษศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมิวนิค แต่มันไม่สามารถหยุดยั้งความชื่นชอบในการปีนเขาของเขา อันที่จริงเขายังคงปีนเขาอยู่เสมอตั้งแต่สมัยเรียนมาจนถึงวัยทำงาน 

Photo : www.alpenverein.it

ตอนอายุ 21 ปี เขาเริ่มปีนเขาในระดับที่ไม่ยากนัก แต่หนึ่งปีหลังจากนั้น พรอยส์ก็ค่อยๆ ขยับความยากให้กับตัวเอง ด้วยการปีนเขาคนเดียวที่ แพลนสไปซ์ โดยใช้เส้นทาง Pichl-Route ทางฝั่งผานอร์ธเฟซ 

เขาฝึกฝนทักษะและความสามารถ รวมถึงความเร็วและประสบการณ์ จนในที่สุดก็สามารถปีนภูเขาไปถึง 1,200 ครั้ง โดย 300 ครั้งเป็นการปีนคนเดียว และ 150 ครั้งเป็นการปีนบนเส้นทางนั้นครั้งแรก 

หลังจากนั้นไม่นาน พรอยส์ ก็กลายเป็นนักปีนเขาที่มีความสามารถรอบด้าน ไม่เพียงแต่ภูเขาหินที่เขาพิชิตได้ แต่ภูเขาที่เต็มไปด้วยหิมะ ก็ไม่ใช่งานยากสำหรับเขา ในสมัยที่เรียนอยู่ที่มิวนิค เขาจะใช้เวลาว่างเสาะหาภูเขาที่ปีนยากๆ เพื่อพิชิตมันอยู่เสมอ 

ก่อนที่หน้าร้อนในปี 1911 ชื่อเสียงของพรอยส์จะโด่งดังไปไกล เมื่อเขา สามารถพิชิตภูเขา Totenkirchl ทางฝั่งผาตะวันตก ในการปีนครั้งที่สองด้วยเวลาเพียงแค่ 2 ชั่วโมงครึ่ง 

มันคือหนึ่งในเส้นทางที่ยากที่สุดของเทือกเขาแอลป์ ด้วยความสูงถึง 2,190 เมตร ที่แม้แต่เขาเองในการปีนครั้งแรก ยังใช้เวลาถึง 7 ชั่วโมง แต่ครั้งที่สองกลับใช้เวลาไม่ถึงครึ่ง แถมยังเป็นการปีนคนเดียว 

และที่สำคัญมันเป็นการ “ปีนเขามือเปล่า” ที่ไม่ใช้อุปกรณ์ช่วยปีนอย่าง Piton หรือหมุดนิรภัยที่ตอกไปในรอยแตกของผาเพื่อร้อยเชือกกันตกอีกด้วย 

อันที่จริง Piton และ คาราบิเนอร์ (ห่วงนิรภัยเพื่อการโรยตัว) เป็นอุปกรณ์ที่เพิ่งถูกนำมาใช้สำหรับการปีนเขา ในตอนแรกมันถูกนำมาใช้เพื่อความปลอดภัย หรือยึดสายโรยตัว แต่หลังจากนั้นมันถูกนำมาใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยปีน ทั้งไว้ดึงตัวขึ้นไป หรือป้องกันไม่ให้เชือกเหวี่ยง หรือใช้เพื่อเช็คแรงตึงของเชือก 

แต่พรอยส์ ก็เลือกที่จะปฏิเสธอุปกรณ์เหล่านี้ โดยเขามองว่ามันไม่ต่างอะไรกับการโกงธรรมชาติ และเชื่อว่าการปีนเขาต้องมาจากศักยภาพของตัวเองที่ผ่านการพัฒนาและฝึกฝน โดยไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี 

“การมีอุปกรณ์ช่วยเหลือในการปีนเขา อาจจะทำให้ภูเขาอันแสนโหดกลายเป็นของเล่นง่ายๆ ก็จริง แต่ของพวกนี้ ที่สุดแล้วมันก็มีแตกมีพัง ซึ่งคุณก็จะทำอะไรไม่ได้นอกจากโยนมันทิ้งไป” พรอยส์เขียนไว้ในปี 1911 

จากนั้น พรอยส์ก็เดินหน้าสร้างประวัติศาสตร์ให้กับตัวเอง ด้วยการไล่เก็บภูเขาดังๆ อย่าง อย่าง Guglia di Brenta และ Croz dell'Altissimo ที่อิตาลี และ Grossen Ödstein ที่ออสเตรีย ที่ต่างมีระดับความสูงที่ 2,300-2,800 เมตร และแน่นอนเป็นการปีนเขามือเปล่า

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับกับแนวความคิดและสไตล์ของเขา

 

ข้อพิพาท Piton 

หลังประสบความสำเร็จในการพิชิตยอดเขา Totenkirchl ด้วยมือเปล่า เขาก็เริ่มเผยแพร่สไตล์การปีนเขาของตัวเองให้คนทั่วไปได้รับรู้มากขึ้น โดยเริ่มจากการเขียนบทความในชื่อ “อุปกรณ์ช่วยปีนบนเส้นทางของแอลป์” ลงในหนังสือพิมพ์ Deutsche Alpenzeitung

ในบทความเขาได้บรรยายปรัชญาในการปีนเขาของเขาออกมา 6 ข้อ โดยเน้นไปที่การต่อต้านการอุปกรณ์ช่วยปีน ไม่ว่าจะเป็น Piton หรือ บีเลย์ ที่ใช้สำหรับผ่อนเชือก หรือควบคุมความเร็วขณะโรยตัว ที่ถูกมองว่าเป็นตัวขัดขวางความสามารถที่แท้จริง 

ในขณะเดียวกันเขายังไม่ยอมรับการโรยตัวลงมาเมื่อปีนถึงยอด และมองว่าถ้าปีนลงมาทางเดิมไม่ได้ ก็ควรปีนขึ้นเพื่อหาเส้นทางใหม่ สำหรับ พรอยส์ การปีนลงก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทาง (รูท) ของนักปีนเขา 

นอกจากนี้เขายังประณามการปีนเขาแบบใหม่ ที่เรียกกันว่า Free Climbing ที่แม้ว่าจะใช้เพียงเชือกช่วยเพื่อความปลอดภัย แต่สำหรับเขา การปีนเขาที่แท้จริง ควรไม่มีอุปกรณ์ช่วยอะไรเลย 

“กฎ 6 ข้อของพรอยส์ 

1. ควรปีนภูเขาที่อยู่สูงกว่าความต้องการที่อยากจะปีน 
2. ควรปีนขึ้นไปคนเดียวซึ่งจะทำให้ลงมาได้อย่างปลอดภัย 
3. เครื่องช่วยปีนใช้เพียงแค่ในสถานการณ์ที่อันตรายเท่านั้น 
4. Piton ควรนำมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น เพราะมันไม่เคยเป็นส่วนประกอบหลักในการปีนเขา
5. เชือกถูกใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการปีน แต่ไม่ได้เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ปีนเขาได้ 
6. หลักปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยเกิดขึ้นจาก การประเมินขีดความสามารถของตัวเองอย่างความสมเหตุสมผล ไม่ได้มาจากอุปกรณ์ช่วยปีน”


Photo : www.squamishchief.com

อย่างไรก็ดี แม้ว่าคนส่วนใหญ่ จะเห็นด้วยกับทฤษฎีของเขา ที่เน้นความสามารถของบุคคลมากกว่าเทคโนโลยี แต่ในทางปฏิบัติมันถูกมองว่าสุดโต่งเกินไป และถูกมองว่าเป็นแนวคิดที่เอาไว้ต่อต้านกับอีกฝ่ายเท่านั้น 

ในขณะเดียวกันเขายังโดนโจมตีในเรื่องความไร้มนุษยธรรม เนื่องจากอุปกรณ์ป้องกัน อาจช่วยรักษาชีวิตคน เช่นเดียวกับถูกมองว่าเป็นแนวคิดที่เอาไว้หลอกล่อคนหนุ่มสาวมาสังเวยชีวิตให้กับความคิดสุดโต่งของเขา 

นอกจากนี้ เขายังถูกโต้แย้งในนิยามของอุปกรณ์ช่วยปีน เพราะหากเป็นการปีนเขามือเปล่าที่แท้จริง รองเท้าและขวานเจาะน้ำแข็งก็ควรนับเป็นอุปกรณ์ปีนเขาเช่นกัน  

แต่เขาก็ไม่ได้สนใจกับคำวิจารณ์เหล่านั้น แม้กระทั่งช่วงสุดท้ายของชีวิต 

 

หมองูตายเพราะงู 

บทความของพรอยส์ สร้างแรงกระเพื่อมให้แก่วงการปีนเขาไม่น้อย ที่นอกจะทำให้เขากลายเป็นนักปีนเขาชื่อดัง มันยังทำให้เขากลายเป็นวิทยากรเกี่ยวกับการปีนเขาที่โลกต้องการตัวมากที่สุดในเวลานั้น 


Photo : festivaltour.de

แนวคิดของเขากลายเป็นที่สนใจและได้รับการยอมรับ และได้รับการยกย่องในฐานะผู้บุกเบิกจริยธรรมของการปีนเขาที่แท้จริง ซึ่งทำให้เขามีคิวไปบรรยายกว่า 50 ครั้งในปี 1913

แม้จะมีงานบรรยายเต็มมือ แต่พรอยส์ ก็ยังทำในสิ่งที่ตัวเองรักอยู่เสมอ เขายังคงเสาะหาภูเขาหรือเส้นทางยากๆ และปีนมันโดยไม่ใช้อุปกรณ์ช่วย ไม่ว่าจะอันตรายขนาดไหนก็ตาม 

เขายังคงยึดมั่นในแนวคิด และชื่นชอบที่จะออกไปปีนเขาคนเดียว ซึ่งต่างจากคนอื่นที่มักจะมีคู่หูไปด้วย เพื่อช่วยดูแลกัน แต่สำหรับพรอยส์ การปีนเขาคนเดียว มันทำให้เขารู้สึกปลอดภัยกว่า 

แม้ก่อนหน้านั้นในปี 1912 เขาจะเห็น ฮัมฟรีย์ โอเวน โจนส์ นักปีนเขาชาวอังกฤษ เสียชีวิตต่อหน้า จากการตกเขา แต่มันก็ไม่เคยสั่นคลอนแนวคิดของเขาเลย แม้แต่ตอนวาระสุดท้ายของชีวิต 

มันเป็นวันที่ 3 ตุลาคม 1913 พรอยส์ ออกไปปีนเขาด้วยมือเปล่าคนเดียวเหมือนเคย เป้าหมายของเขาในครั้งนี้คือ Mandlkogel ที่ปกคลุมไปด้วยหิมะของออสเตรีย ทางผานอร์ธริดจ์ ซึ่งเขาไม่เคยปีนมาก่อน 

แต่ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนั้น ที่รู้เพียงว่าเขาไม่เคยกลับลงมาอีกเลย และกว่าจะหาเขาเจอก็ผ่านไปกว่า 1 สัปดาห์ครึ่ง ที่มีคนพบศพของเขาฝังอยู่ใต้กองหิมะที่ถล่มลงมา และลึกลงไปเกือบ 50 เซนติเมตร 


Photo : gripped.com

จากจุดที่เกิดเหตุทำให้รู้ว่าเขาน่าจะตกลงมาจากความสูงราว 300 เมตร ในขณะที่หลักฐานที่พบที่เป็นมีดพับที่เปิดอยู่ และกระเป๋าสะพายหลังที่มีอุปกรณ์ห่วงเชือก ทำให้คาดว่าเขาน่าจะหยุดพักที่แนวเขา แต่เสียสมดุลและสุดท้ายก็ร่วงลงมา 

การเสียชีวิตของ พรอยส์ สร้างความเศร้าโศกให้แก่วงการนักปีนเขาในช่วงเวลานั้น แม้แต่คนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิด ก็ยังรู้สึกเศร้ากับการจากไปก่อนวัยอันควรของเขา 

“การปีนเขาคนเดียว มักจะถูกวิจารณ์ และมีผู้ชื่นชอบไปพร้อมกัน แต่ด้วยความรู้สึกเสียใจต่อความตายก่อนวัยอันควรของนักปีนเขาที่ยอดเยี่ยม และเป็นคนที่ดีคนหนึ่ง มาพร้อมกับความรู้สึกภาคภูมิใจที่ยังมีชายที่มีสติปัญญาสูงที่สุดในรุ่นของเรา” เจฟฟรี วินธอร์ป ยัง นักปีนเขาชาวอังกฤษกล่าวถึง พรอยส์ 

“เขาเป็นคนเป็นคนที่มีความรู้อย่างเต็มเปี่ยมที่ทำให้ทั้งหมดกลายเป็นเรื่องง่าย สร้างทางเลือกที่มีคุณค่ายิ่งกับชีวิต แถมยังสามารถใช้ทักษะเหล่านี้เพื่อเผชิญกับระดับความยากที่เพิ่มขึ้น และยอมรับกับปัญหาด้วยความกล้าหาญและเยือกเย็น” 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าพรอยส์ จะเสียชีวิตลงด้วยวัยเพียงแค่ 27 ปี แต่แนวคิดของเขาก็ไม่ได้ตายตามตัวเขาไป 

 

มรดกแก่คนรุ่นหลัง 

อันที่จริงการปีนเขาด้วยมือเปล่า เริ่มเสื่อมความนิยมลงในช่วงทศวรรษที่ 1920 เมื่อสมาคมปีนเขาของออสเตรีย และเยอรมันในตอนนั้น กลายเป็นแหล่งซ่องสุมของกลุ่มผู้ต่อต้านยิว 


Photo : festivaltour.de

แน่นอนว่ามันส่งผลกระทบโดยตรงต่อ แนวคิดของพรอยส์ เนื่องจากเขามีเชื้อสายยิวจากฝั่งพ่อ แถมคู่หูนักปีนเขาของเขาหลายคนก็กลายเป็นนาซี ที่ทำให้แนวคิดและชื่อของเขาค่อยๆ เลือนหายไปในประวัติศาตร์  

จนกระทั่งในทศวรรษที่ 1960-1970 ชื่อของ พรอยส์ ได้ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง จากกระแส Free climbing movement ที่มองว่าเชือกและเครื่องมือเป็นเพียงอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยเท่านั้น และกลายเป็นรูปแบบการปีนเขาของหลายคนในยุคนั้น 

ไม่ว่าจะเป็น เฮนรี บาร์เบอร์ ที่พิชิต เซนติเนล ร็อก ในอุทยานแห่งชาติโยเซมิตี ในระดับความสูง 457 เมตร โดยไม่ใช้เชือกในปี 1973 และ จอนห์ บาร์คา นักปีนเขาวัย 19 ปี ที่ปีนที่ New Dimensions ที่โยเซมิตี จากความสูง 91 เมตร โดยไม่ใช้อุปกรณ์อะไรเลยในปี 1976

ปรัชญาของพรอยส์ ยังถูกสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากถูกมองว่ามันคือการปีนเขาที่แท้จริง ที่ไม่เพียงต้องใช้ความสามารถทางร่างกาย แต่ต้องใช้ความแข็งแกร่งทางจิตใจที่จะต้องเอาชนะความกลัวให้ได้ 

และมันก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักปีนเขาชื่อดังหลายคน รวมไปถึง จิม เรย์โนลด์ นักปีนเขาชาวอังกฤษ และ อเล็กซ์ ฮอนโนลด์ นักปีนผาชาวอเมริกัน จนทำให้พรอยส์ ได้รับการยกย่องในฐานะ “บิดาแห่งการปีนเขามือเปล่า” 

ในปี 2018 แนวคิดของเขาได้ถูกพูดถึงอีกครั้ง เมื่อ อเล็กซ์ ฮอนโนลด์ ได้สร้างสถิติใหม่ขึ้นด้วยการพิชิตภูเขา เอล แคพพิทัน ที่มีความสูง 975 เมตร ซึ่งเรื่องราวของเขาก็ถูกถ่ายทอด ผ่านภาพยนตร์สารคดี Free Solo จนได้รับรางวัลออสการ์ประเภทสารคดียอดเยี่ยม ประจำปี 2018 ที่เพิ่งมีการประกาศรางวัลเมื่อช่วงต้นปี 2019 ที่ผ่านมา 


Photo : www.kvcrnews.org

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าหากสิ่งไหนคือของจริง แม้ตัวจะตายไปแล้ว แต่ความคิดจะยังคงอยู่ เหมือนกับปรัญญาของ พรอยส์ ที่ถูกมองว่าเป็นแก่นแท้ของการปีนเขา จนทำให้มันข้ามผ่านกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน  

“สำหรับผม การปีนเขามือเปล่าเป็นวิธีที่จะช่วยผสมผสานความสวยงามของมนุษย์และความสวยงามของธรรมชาติของโลกเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างศิลปะที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น” เรย์โนลด์กล่าวกับ National Geographic 

“มันคือสิ่งที่ควรค่าแก่การทำให้ลุล่วงในยุคปัจจุบัน สำหรับหลายคนที่ไม่มีจุดหมายว่าจะทำเพื่ออะไร”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook