"เรดบูล ซัลซ์บวร์ก" ทำอย่างไร จึงกลายเป็นสโมสรที่ยิ่งใหญ่ในออสเตรีย?

"เรดบูล ซัลซ์บวร์ก" ทำอย่างไร จึงกลายเป็นสโมสรที่ยิ่งใหญ่ในออสเตรีย?

"เรดบูล ซัลซ์บวร์ก" ทำอย่างไร จึงกลายเป็นสโมสรที่ยิ่งใหญ่ในออสเตรีย?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชื่อของ เรดบูล ซัลซ์บวร์ก กลายเป็นที่น่าจับตามองในฤดูกาลนี้ หลังทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในการกลับมาเล่น ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก รอบแบ่งกลุ่มในรอบหลายสิบปี

พวกเขาจัดการไล่อัด เกงค์ อย่างไม่ไว้หน้าทั้งไปและกลับด้วยสกอร์รวม 10-3 บุกไปพ่าย ลิเวอร์พูล อย่างเฉียดฉิว รวมไปถึงยันเสมอกับ นาโปลี ถึงเนเปิลส์ ทำให้แม้สุดท้ายจะไม่ได้ผ่านเข้ารอบ ก็ยังได้รับเสียงชื่นชมอย่างไม่ขาดสาย 

แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ผลงานในยุโรปเท่านั้น ในประเทศพวกเขาก็คือเบอร์หนึ่ง การันตีได้จากการคว้าแชมป์ลีกออสเตรีย 6 สมัยติดต่อกัน โดยเป็นการคว้าดับเบิ้ลแชมป์ร่วมกับถ้วย ออสเตรีย คัพ 4 สมัยติดอีกด้วย

 

อย่างไรก็ดี ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน พวกเขาเป็นเพียงทีมกลางตารางทำผลงานได้ลุ่มๆ ดอนๆ ไร้โทรฟีประดับตู้โชว์มาหลายปี แถมยังเคยจบในตำแหน่งรองบ๊วยของลีกในซีซั่น 2005-06 

พวกเขากลับมายืนอยู่ในจุดนี้ได้อย่างไร ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

ขึ้นๆ ลงๆ 

อันที่จริง เรดบูล ซัลซ์บวร์ก ก็ถือเป็นหนึ่งในทีมเก่าแก่ของออสเตรีย พวกเขาก่อตั้งขึ้นในปี 1933 ในชื่อ เอสวี ออสเตรีย ซัลซ์บวร์ก โดยเป็นการยุบรวม เอฟซี แฮร์ธา และ เอฟซี ราปิด สองสโมสรจากเมืองซัลซ์บวร์กเข้าด้วยกัน 

 1

อย่างไรก็ดี ในช่วงแรกพวกเขากลับไม่มีโอกาสได้ลงเล่นใน ออสเตรีย เนชั่นแนล ลีกา ลีกสูงสุดของประเทศ เมื่ออีก 5 ปีต่อมา พรรคนาซีของเยอรมันได้บุกเข้ายึดครองออสเตรีย ที่ทำให้ลีกแห่งนี้ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของระบบนาซี ที่หลายทีมต้องถูกยุบ และบางทีมต้องเปลี่ยนชื่อ 

แม้ว่า ซัลซ์บวร์ก จะรอดพ้นน้ำมือของนาซี และอยู่รอดมาได้หลังสงครามโลก แต่สถานะของทีมก็ยังคงง่อนแง่น พวกเขาเคยตัดสินใจยุบสโมสรในปี 1950 แต่ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ในปีเดียวกัน

ในปี 1953 ชาวเมืองซัลซ์บวร์ก ก็ได้ฉลอง เมื่อทีมเลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุดจนได้ ทว่าทีมก็ยังห่างไกลจากความสำเร็จ เมื่อทำได้เพียงวนเวียนอยู่ในโซนท้ายตาราง แถมบางฤดูกาลยังตกชั้นลงไปเล่นในลีกรองอีกหลายต่อหลายครั้ง 

พวกเขาต้องใช้เวลากว่า 20 ปีหลังขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุด กว่าจะกลายเป็นทีมขาประจำที่ไม่ต้องดิ้นรนหนีตกชั้น ก่อนที่ช่วงทศวรรษ 1970 ต่อทศวรรษที่ 1980 จะกลายเป็นยุคทองของพวกเขา เมื่อทีมไปไกลถึงตำแหน่งรองแชมป์ลีกในฤดูกาล 1970-71 ที่ทำให้ได้ลุยสโมสรยุโรปเป็นครั้งแรกในศึก ยูฟ่า คัพ ในปีต่อมา รวมไปถึงเข้าชิงชนะเลิศออสเตรียคัพถึง 3 ครั้งในฤดูกาล 1973–74, 1979–80, 1980–81

อย่างไรก็ดี พวกเขาลิ้มรสความสำเร็จได้เพียงแค่ไม่นาน เพราะหลังจากนั้น ซัลซ์บวร์ก ก็กลับไปสู่จุดเดิม กลายเป็นทีมกลางตาราง ที่บางทีค่อนไปทางท้ายตาราง ก่อนจะหายหน้าไปจากลีกสูงสุดเกือบ 5 ปีหลังร่วงตกชั้นในฤดูกาล 1984-1985 

 2

แม้ว่า ซัลซ์บวร์ก จะกลับมาครองความยิ่งใหญ่ได้อีกครั้งในช่วงทศวรรษที่ 1990 ที่เรียกว่าประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย ด้วยการคว้าแชมป์บุนเดสลีกาครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในฤดูกาล 1993-94 ก่อนจะซิวมาเพิ่มได้อีก 2 สมัยในปี 1994-95 และ 1996-97 และเข้าถึงนัดชิงชนะเลิศ ยูฟ่า คัพ ในซีซั่น 1993-94 แต่นั่นคือความสำเร็จช่วงท้ายๆ ในชื่อ ออสเตรีย ซัลซ์บวร์ก 

เพราะหลังจากนั้น พวกเขาไม่เคยได้สัมผัสกับโทรฟีอีกเลยเกือบนับ 10 ปี แถมยังตกต่ำถึงขนาดจนในอันดับรองสุดท้ายของลีกในฤดูกาล 2004-05 

จนกระทั่งการมาถึงของบริษัทเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อหนึ่ง ชะตากรรมของสโมสรก็เปลี่ยนไปตลอดกาล

ใต้ร่มเงาเรดบูล

แม้ว่าคนไทยจะคุ้นเคยกับ “กระทิงแดง” เครื่องดื่มชูกำลังชื่อดังมานานกว่า 40 ปี หลังวางจำหน่ายครั้งแรกที่ไทยในปี 1976 แต่สำหรับชาวออสเตรีย พวกเขาก็รู้จักกับเครื่องดื่มชนิดนี้มานานไม่แพ้กัน

 3

กระทิงแดง หรือในชื่อสากลว่า “เรดบูล” (Red Bull) ถูกนำเข้ามาวางขายในออสเตรีย โดย Dietrich Mateschitz นักธุรกิจชาวออสเตรีย ที่มีโอกาสได้ลิ้มรสตอนเดินทางมาประเทศไทย และถูกใจเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อนี้ ซึ่งช่วยให้เขาหายจากอาการเจ็ตแลกแบบชะงัด จนเข้าไปคุยกับ เฉลียว อยู่วิทยา เจ้าของบริษัท เพื่อนำไปขายในในต่างประเทศ 

พวกเขาได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทขึ้นในปี 1984 โดยเขาและเฉลียวถือหุ้นกันคนละ 49% (อีก 2% เป็นของ เฉลิม ลูกชายคนโตของเฉลียว ซึ่งปัจจุบันเขาถือหุ้น 51% หลังการเสียชีวิตของบิดา) แต่มีข้อแม้ว่า Mateschitz จะได้สิทธิ์ขาดในการบริหาร ภายใต้แบรนด์ เรดบูล

เรดบูล เวอร์ชั่นออสเตรีย ที่ปรับสูตรให้หวานน้อยลง และอัดก๊าซมากขึ้น ซึ่งใช้เวลาปรับสูตรอยู่นาน กว่าจะได้วางจำหน่ายในปี 1987 ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในต่างประเทศ พวกเขาเริ่มเป็นที่โด่งดังในยุโรปในช่วงทศวรรษที่ 1990s ก่อนจะครองส่วนแบ่งกว่า 75% ของตลาดสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปีแรกที่วางจำหน่ายที่นั่น และกลับมาดังในตะวันออกกลางและเอเชีย

ความสำเร็จอย่างถล่มทลาย ทำให้ในปี 2005 พวกเขาตัดสินใจก้าวเข้าสู่วงการฟุตบอล ด้วยการเข้าเทคโอเวอร์ ออสเตรีย ซัลซ์บวร์ก และเปลี่ยนชื่อทีมเป็น เรดบูล ซัลซ์บวร์ก พร้อมเปลี่ยนโลโก้ และสีประจำสโมสร มาเป็นโทนขาวแดง คล้ายกับโลโก้ของ เรดบูล อีกด้วย

 4

แม้ในตอนแรกพวกเขาจะถูกต่อต้านจากแฟนบอล เนื่องจากเปลี่ยนโฉมสโมสรใหม่จนแทบไม่เหลือเค้าเดิม ที่ทำให้แฟนบอลบางส่วน ถึงกับแยกตัวไปเชียร์ ออสเตรีย ซัลซ์บวร์ก ที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ แต่หลังจากนั้น พวกเขาก็เริ่มกลายเป็นที่ยอมรับของชาวเมือง 

เพราะ ซัลซ์บวร์ก โฉมใหม่ กลายเป็นที่น่าจับตามองของทั้งลีก พวกเขาสร้างความฮือฮาด้วยการดึงตัว จิโอวานนี ตราปัตโตนี อดีตกุนซือทีมชาติอิตาลี และ โลธาร์ มัทเธอุส ตำนานทีมชาติเยอรมันขึ้นมาเป็นเทรนเนอร์ร่วม ที่ทั้งคู่พาทีมคว้าแชมป์ได้ทันทีตั้งแต่ฤดูกาลแรกที่มาถึง

และนั่นก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ของ ซัลซ์บวร์ก ในร่มเงาของ เรดบูล เมื่อหลังจากนั้นพวกเขาสถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของลีกออสเตรีย ด้วยการคว้าแชมป์บุนเดสลีกาอีก 9 สมัย ซึ่งเป็นการคว้าแชมป์ติดต่อกัน 6 สมัย ที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน 

 5

ไม่เพียงแค่แชมป์ลีกเท่านั้น ฟุตบอลถ้วยก็เช่นกัน เมื่อพวกเขาจัดการกวาดมาได้ 6 สมัย และเป็นการคว้าแชมป์ 4 สมัยติดในช่วงปี 2013-2017 โดยทั้ง 6 สมัยเป็นการคว้าดับเบิ้ลแชมป์ร่วมกับแชมป์ลีก 

แม้อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลก ที่สโมสรระดับกลางหรือทีมระดับล่างจะประสบความสำเร็จ กลายเป็นทีมยักษ์ใหญ่ในช่วงเวลาไม่กี่ปี จากนักเตะชื่อดังที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงทีม ด้วยอำนาจเงินที่ดึงดูดเข้ามา แต่ไม่ใช่สำหรับ เรดบูล ซัลซ์บวร์ก

ระบบการเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีเศรษฐีเข้ามาสนับสนุนทีม ถือเป็นทางลัดที่ช่วยยกระดับทีมอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเงินทุนในการจับจ่ายใช้สอยกว้านซื้อนักเตะ แต่สำหรับซัลซ์บวร์ก แม้จะได้เงินรับอุดหนุน แต่วิธีการของพวกเขากลับต่างออกไป 

 6

พวกเขาใช้เงินส่วนใหญ่ไปกับการวางรากฐานให้กับสโมสรตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นการดึงโค้ชชื่อดังอย่าง ตราปัตโตนี ที่มีดีกรีพายูเวนตุส คว้าแชมป์เซเรียอาหลายสมัย หรือการใช้บริการแต่โค้ชต่างชาติเป็นหลัก ที่ทำให้ทีมมีโค้ชชาวออสเตรียแค่คนเดียวในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา 

และด้วยอิทธิพลของโค้ชต่างชาติ ช่วยหล่อหลอมให้ ซัลซ์บวร์ก มีสไตล์การเล่นที่ค่อนข้างทันสมัย และโดดเด่นกว่าเพื่อนร่วมลีก พวกเขามักจะมาในระบบ 4-4-2 แบบไดมอนด์, 4-2-2-2 หรือบางครั้งก็เป็น 4-4-2 มาตรฐาน โดยเน้นกดดันสูงบีบคู่แข่ง จนกลายเป็นเอกลักษณ์

ทำให้ประตูส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นมักจะมาจากการครองบอล แล้วจ่ายไปพื้นที่สุดท้ายให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผ่านการจ่ายบอลเร็ว และการประสานงาน นอกจากนี้พวกเขายังคาดหวังว่าจะต้องยิงประตูให้ได้ภายใน 10 วินาทีหลังจับบอล

นอกจากนี้ พวกเขายังมีความดุดัน ไล่บดขยี้คู่แข่งอย่างไม่ลดละ จนทำประตูได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยในฤดูกาล 2017-18 ซัลซ์บวร์กยิงไปถึง 81 ประตูจาก 36 นัด หรือเฉลี่ย 2.25 ประตูต่อนัด รวมไปถึงไล่ถล่ม บาเยิร์น มิวนิค ในเกมอุ่นเครื่องเมื่อปี 2014 จนได้รับเสียงชื่นชมจาก เป๊ป กวาร์ดิโอลา กุนซือของเสือใต้ในตอนนั้น 

 7

หรือล่าสุดในฤดูกาล 2019-20 ซัลซ์บวร์กก็เพิ่งทำผลงานได้อย่างโดดเด่นใน ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก โดยเฉพาะในเกมรุก ที่สามารถระเบิดตาข่ายคู่แข่งได้ 5 นัดติดต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบ้านอัดเกงค์ 6-2 บุกไปพ่ายต่อลิเวอร์พูล 3-4 รวมไปถึงนัดที่แพ้นาโปลี 2-3 

“ฟุตบอลของเรดบูลคือฟุตบอลสมัยใหม่ เร็วขึ้น ดุดันขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” อเล็กซานเดอร์ ซิคเลอร์ อดีตกองหน้าทีมชาติเยอรมันที่เป็นหนึ่งในสต้าฟโค้ชของซัลซ์บวร์กกล่าวกับ Inside11  

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จ

ซื้อมาขายไป 

แม้ว่าซัลซ์บวร์ก จะเป็นทีมที่มี เรดบูล เครื่องดื่มชูกำลังชื่อดังเป็นแบ็คอัพ แต่พวกแทบจะไม่ใช้เงินซื้อนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์มาร่วมทีมแม้แต่คนเดียว ในทางกลับกัน นักเตะชื่อดังหลายคนต่างมีจุดเริ่มต้นมาจากพวกเขา

 8

เพราะแทนที่จะทุ่มเงินซื้อนักเตะ ซัลซ์บวร์ก กลับใช้งบประมาณส่วนนี้ไปกับการเสาะหานักเตะโนเนมเพื่อนำมาปลุกปั้น ก่อนจะขายให้สโมสรอื่นในราคาที่สูงลิบ 

ในวันที่พวกเขาได้ตัว ดิอาดี ซาเมสเซโก และ อามาดู ไอฮารา จาก JMG บามาโก ในมาลี พวกเขาซื้อมาในราคารวมไม่ถึง 1 ล้านปอนด์ แต่ไม่กี่ปีหลังจากนั้น ก็ขายให้ ฮอฟเฟนไฮม์ และ แอร์เบ ไลป์ซิก ด้วยค่าตัวรวมกันถึง 28 ล้านปอนด์ 

ในขณะที่ นาบี เกอิตา เป็นเพียงกองกลางที่ไม่มีใครรู้จักจากกินี ของ FC Istre ทีมที่เพิ่งตกชั้นสู่ดิวิชั่น 3 ของฝรั่งเศส ซัลซ์บวร์ก ซื้อมาในราคาแค่ 1.35 ล้านปอนด์ ก่อนจะขายให้ ไลป์ซิก 26.78 ล้านปอนด์ และถูกขายไป ลิเวอร์พูลในราคา 75 ล้านปอนด์ 

 9

เช่นเดียวกับ ซาดิโอ มาเน ปีกความเร็วสูงที่ซื้อจาก เม็ตซ์ ในราคา 4 ล้านปอนด์ และขายให้ เซาธ์แฮมป์ตัน ได้ถึง 11.8 ล้านปอนด์ ก่อนย้ายไป ลิเวอร์พูล ด้วยค่าตัว 34 ล้านปอนด์ จนกลายเป็นหนึ่งในยอดแข้งของพรีเมียร์ลีก  

หรือล่าสุดเมื่อช่วงตลาดหน้าหนาวที่ผ่านมา สำหรับ ทาคุมิ มินามิโนะ ปีกชาวญี่ปุ่นที่ดึงตัวมาจาก เซเรโซ โอซากา ด้วยค่าตัวไม่ถึง 1 ล้านปอนด์ และขายให้ ลิเวอร์พูล 7.5 ล้านปอนด์ เช่นเดียวกับ เออร์ลิง ฮาร์ลันด์ ที่ขายให้ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ 18 ล้านปอนด์ โดยซื้อมาเพียง 7.2 ล้านปอนด์เท่านั้น 

 10

“เราขายนักเตะเพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสก้าวขึ้นไปสู่สโมสรที่ใหญ่กว่าเดิม” คริสโตเฟอร์ ฟรอยด์ ผู้อำนวยการกีฬาของ ซัลซ์บวร์ก กล่าวกับ FourFourTwo 

“นี่คือเรื่องราวของที่นี่ มันเป็นสิ่งสำคัญเมื่อเราพูดกับนักเตะดาวรุ่ง เอเยนต์ของพวกเขา ครอบครัวของพวกเขา เราสามารถโชว์ให้พวกเขาดูว่ามีนักเตะมากมายมาที่นี่ แม้ในตอนที่อยู่อาจไม่ใช่นักเตะที่มีชื่อ แต่ตอนนี้พวกเขากำลังเล่นอยู่ในลีกระดับท็อป นี่คือสิ่งสำคัญมากสำหรับเราในฐานะสโมสร” 

ด้วยนโยบายดังกล่าวทำให้ ซัลซ์บวร์ก กลายเป็นหนึ่งในทีมที่ทำกำไรได้อย่างมหาศาลจากการขายนักเตะ อันดับต้นๆ ของยุโรป โดยในรอบ 6 ฤดูกาลที่ผ่านมา พวกเขาขายนักเตะไปในราคารวมทั้งสิ้น 280.18 ล้านปอนด์ (ที่มา: transfermarkt) และเป็นกำไรถึง 234.71 ล้านปอนด์ เลยทีเดียว

ผลกำไรนี้ยังทำให้พวกเขามีเงินทุนสำหรับจับจ่ายใช้สอย หาซื้อนักเตะฝีเท้าดีมาปลุกปั้นต่อ กลายเป็นวงล้อของการพัฒนาที่ไม่มีที่สิ้นสุด แถมยังสามารถนำไปเงินไปพัฒนาทีมในด้านอื่นได้  

ทว่า มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะหานักเตะฝีเท้าดีเข้ามาร่วมทีมได้เป็นประจำทุกปี แต่ ซัลซ์บวร์ก ทำได้อย่างไร?

เครือข่ายแมวมองที่แข็งแกร่ง 

ในฟุตบอลสมัยใหม่ เครือข่ายแมวมองได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาทีมเพื่อประสบความสำเร็จ ทำให้หลายทีมที่ถูกบริษัทยักษ์ใหญ่เข้าซื้อกิจการ ต่างมุ่งเน้นในจุดนี้มากขึ้น เช่นเดียวกับ ซัลซ์บวร์ก ที่ดำเนินนโยบายนี้มาตั้งแต่ต้น 

 11

พวกเขาได้ใช้เงินทุนส่วนใหญ่ ไปกับการสร้างเครือข่ายแมวมองให้แข็งแกร่ง ด้วยการก่อตั้งเครือข่าย เรดบูล เริ่มจากการเข้าเทคโอเวอร์ นิวยอร์ก/นิวเจอร์ซี่ย์ เมโทรสตาร์ส ในเมเจอร์ ลีก ซอคเก้อร์ ในสหรัฐอเมริกา และเปลี่ยนชื่อเป็น นิวยอร์ก เรดบูล ในปี 2006 ตามมาด้วยการก่อตั้งทีม แอร์เบ ไลป์ซิก เพื่อลงเล่นในลีกเยอรมันเมื่อปี 2009 

พวกเขาไม่เพียงแต่สร้างสโมสรเพื่อลงแข่งเท่านั้น แต่ยังสร้างสโมสรที่เป็นเหมือนอคาเดมีของ เรดบูล ในอเมริกาใต้และแอฟริกา ในชื่อ เรดบูล กานา และ เรดบูล บราซิล ในปี 2008 และ 2009 ตามลำดับ โดยมีโลโก้และสีเสื้อไม่ต่างจาก ซัลซ์บวร์ก, นิวยอร์ก และ ไลป์ซิก

 12

เรดบูล สาขากานา และ เรดบูล สาขาบราซิล แม้จะมีลีกลงเล่น แต่หน้าที่หลักของพวกเขาคือการเสาะหานักเตะฝีเท้าดีในแอฟริกาและบราซิล เพื่อนำมาบ่มเพาะ ก่อนจะส่งต่อให้ ซัลซ์บวร์ก หรือ ไลป์ซิก ใช้งานต่อไป  

“ผมคิดว่าเราแตกต่าง เพราะว่าเราชัดเจน ทุกคนรู้จักแผนกแมวมองของเรา ที่รู้ว่านักแตะแบบไหนที่เรามองหา เราหาเฉพาะนักเตะ 16-20 ปี เรารู้ประเภทของนักเตะที่เราตามหา” ฟรอยด์ที่ถือเป็นคีย์แมนสำคัญในเรื่องนี้ อธิบายกับ FourFourTwo 

“เราต้องการนักเตะที่มีความเร็ว มีไหวพริบ มีความคิดดีและบุคลิกดี จิตใจที่แหลมคม บางทีนี่อาจจะต่างจากสโมสรอื่น” 

นอกจากนี้พวกเขายังมี เอฟซี ไลเฟอร์ริง ที่ เรดบูล เข้าซื้อกิจการจาก ยูเอสเค อานิฟ ทีมระดับดิวิชั่น 2 ของออสเตรีย เมื่อปี 2011 โดยสโมสรแห่งนี้เป็นเหมือนทีมสำรองของ ซัลซ์บวร์ก ที่เอาไว้ส่งนักเตะอายุเกิน 18 ปี ที่ฝีเท้ายังไม่เข้าขั้นที่จะเล่นให้ทีมชุดใหญ่ของซัลซ์บวร์ก 

แผนกลยุทธ์นี้ ได้ส่งผลให้ ซัลซ์บวร์ก กลายเป็นทีมที่อุดมไปด้วยแข้งดาวรุ่ง พวกเขาเป็นหนึ่งในทีมที่มีอายุเฉลี่ยน้อยที่สุดเป็นอันดับต้นๆของ ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ฤดูกาลนี้ ด้วยอายุ 24  แถมทีมเยาวชนของพวกเขายังเคยคว้าแชมป์ ยูฟ่า ยูธ ลีก เมื่อฤดูกาล 2016/17 

 13

และนั่นก็ทำให้พวกเขา สามารถปลุกปั้นนักเตะดาวรุ่งสู่ลีกใหญ่ได้มากมาย เป็นประจำทุกปี และทำให้ซัลบวร์กกลายเป็นหนึ่งในทีมที่ขึ้นชื่อในเรื่องนี้ของยุโรป 

แน่นอนว่าปัจจัยสำคัญคือการใช้เครือข่ายแมวมองเสาะหานักเตะดาวรุ่งมาร่วมทีมอยู่เสมอ แต่การค้นหาไม่ใช่แค่การดึงมาร่วมทีม แต่ต้องพยายามคัดเลือกนักเตะที่เข้ากับทีมได้มากที่สุด และตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ ซาดิโอ มาเน 

“เราเห็นศักยภาพมากมายจากเขา (มาเน) เห็นการเคลื่อนที่ ความเร็ว ความกระหายในการทำประตู เราเห็นบุคลิก และชัดเจนว่าเขาอยากจะก้าวไปอีกขั้น” ฟรอยด์ กล่าว

“สภาพจิตใจ (ของนักเตะ) สำคัญมาก ผมพูดเสมอว่าจิตใจสำคัญกว่าพรสวรรค์ เขาเป็นอย่างไรนอกสนาม เขาเป็นอย่างไรในการฝึกซ้อม เขามีปฏิกิริยาอย่างไรเวลาแพ้ เขาเป็นอย่างไรกับเพื่อนร่วมทีม?”

“เราพยายามหาข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวเขาให้มากที่สุด ดูตั้งแต่ตอนซ้อมและความเป็นไป” 

นอกจากนี้พวกเขายังปลูกฝังปรัชญาของ เรดบูล ในหมู่สโมสรพันธมิตร มีการแชร์ความรู้และทรัพยาการร่วมกัน ที่ทำให้ทุกทีมรวมไปถึง ซัลซ์บวร์ก ต่างพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน

 14

“พวกเขาเอาโค้ชทุกคนจากกานา บราซิล อเมริกา มาประชุมร่วมกันเกี่ยวกับปรัญชา ตัวตน และมีไอเดียที่ชัดเจนว่าอยากจะพัฒนาผู้รักษาประตูอย่างไร เป็นวิธีการเดียวกัน ภาษาเดียวกัน” แอนดรูว สปาร์ค โค้ชผู้รักษาประตูของ เซาแธมป์ตัน ที่เคยทำงานให้กับ นิวยอร์ก และ ซัลซ์บวร์ก ในช่วงปี 2005-2012 กล่าวกับ Daily Mail 

“การแบ่งปันความรู้ในทุกองค์กรเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ ผมไม่สามารถทำแบบนี้ได้ไม่ว่าทีมไหน มันเป็นการเข้าถึงปรัชญาที่แตกต่างกัน และเป็นไอเดียที่ทำให้ เรดบูล แตกต่างจากที่อื่น” 

อย่างไรก็ดี แนวทางของพวกเขาก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการใช้สโมสรเป็นเครื่องมือในการโฆษณาแบรนด์ของตัวเอง หรือการใช้สโมสรในลีกรองเป็นที่พักนักเตะ ก่อนจะนำไปขายให้กับทีมอื่น 

ทว่า เรดบูล ก็ยังยืนหยัดในนโยบาย เพราะสิ่งที่พวกเขาทำมันก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างแท้จริง พวกเขาให้โอกาสนักเตะลงเล่นอย่างต่อเนื่อง พวกเขาไม่เคยขวางหากนักเตะต้องการย้ายไปเล่นในลีกที่ใหญ่กว่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือการไม่ปิดกั้นโอกาสเติบโตของนักเตะ

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเหล่าศิษย์เก่าของ ซัลซ์บวร์ก ที่ต่างเขย่าเวทียุโรป ไม่ว่าจะเป็น มาเน และ เกอิตา ที่กำลังช่วย ลิเวอร์พูล ลุ้นแชมป์ พรีเมียร์ ลีก ในฤดูกาลนี้ ดาโย อูปาเมคาโน ที่ช่วยให้ ไลป์ซิก บินสูง ในบุนเดสลีกาของเยอรมัน หรือ ฮาร์ลันด์ ที่เฉิดฉายใน แชมเปียนส์ ลีก และเตรียมพิสูจน์ตัวเองในบุนเดสลีกากับ ดอร์ทมุนด์ 

 15

“เรารู้จัก เรดบูล ในฐานะแบรนด์ และพวกเขาก็มีเงินมากมาย แต่วิธีที่พวกเขาลงทุนและพัฒนามันส่งผลไปถึงจุดที่กำลังเป็นอยู่ตอนนี้ ตั้งแต่สนามแข่ง เครื่องอำนวยความสะดวก และสโมสร มันเป็นเรื่องเหลือเชื่อมาก” สปาร์คกล่าว

มันคือวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง ที่เชื่อว่าจะทำให้พวกเขาครองความยิ่งใหญ่ในฟุตบอลออสเตรีย และเป็นฝันร้ายสำหรับทีมอื่นในเวทียุโรปตราบนานเท่านาน 

“เหตุผลบางส่วนที่ผู้คนเกลียดพวกเขา เพราะพวกเขาเท่และทำในสิ่งที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล พวกเขาเห็น (สโมสร) เป็นเหมือนสื่อกลางของการตลาด เรดบูล” สปาร์คอธิบาย

“พวกเขาเหมือนกับคนหนุ่ม คนที่มีพลังตลอดเวลาจากบริษัทที่ทำงานหนัก มุ่งมั่นต่อแบรนด์ และพวกเขากำลังสร้างมันต่อไปจากตรงนี้”

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ ของ "เรดบูล ซัลซ์บวร์ก" ทำอย่างไร จึงกลายเป็นสโมสรที่ยิ่งใหญ่ในออสเตรีย?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook