ก่อนจะมีสงครามโลก : ย้อนดูความรัก-ความขัดแย้ง "สหรัฐ-อิหร่าน" ผ่านกีฬามวยปล้ำ

ก่อนจะมีสงครามโลก : ย้อนดูความรัก-ความขัดแย้ง "สหรัฐ-อิหร่าน" ผ่านกีฬามวยปล้ำ

ก่อนจะมีสงครามโลก : ย้อนดูความรัก-ความขัดแย้ง "สหรัฐ-อิหร่าน" ผ่านกีฬามวยปล้ำ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สงครามโลกครั้งที่ 3 (World War III) กลายเป็นคำที่ถูกพูดถึงทั่วโลกโซเชียล หลังจากการลอบสังหาร คาเซ็ม สุเลมานี ผู้นำคนสำคัญของอิหร่าน จากคำสั่งของผู้นำสหรัฐอเมริกา จนชาติยักษ์ใหญ่จากเอเชียตะวันออกกลาง ประกาศพร้อมใช้กำลังทางทหาร ตอบโต้การกระทำในครั้งนี้

ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองชาติไม่ใช่เรื่องใหม่ กว่า 40 ปีที่ทั้งสองประเทศมีความขัดแย้งทางการเมือง แย่งชิงความเป็นใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลาง จนส่งผลกระทบไปทั้งเรื่องของการค้า, การทูต, การเมือง และกีฬา

หนึ่งในเรื่องราวที่สามารถสะท้อนถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติได้ดี คือ กีฬามวยปล้ำสมัครเล่น ที่ทั้งอิหร่านและสหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจของกีฬาประเภทนี้ เรื่องราวความขัดแย้ง จุดยืนที่แตกต่าง ถูกสะท้อนผ่านกีฬามวยปล้ำ 

รวมถึงกีฬามวยปล้ำสมัครเล่น ยังเป็นเหมือนพื้นที่เล็กๆ พื้นที่สุดท้าย ที่ทั้งสองชาติสามารถหาคำว่า “เพื่อน” ระหว่างกันและกันได้ ในความเป็นศัตรูผ่านการแข่งขันกีฬา

อิหร่านกับมวยปล้ำ

อิหร่าน คือ ชนชาติที่มีประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่ยาวนาน ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรเปอร์เซีย (เชื้อสายของชาวอิหร่าน) ถือกำเนิดมาตั้งแต่ช่วง 700 ปีก่อนคริสตกาล กว่า 3,000 ปีที่คนเปอร์เซีย สร้างอาณาจักรของตนเองบนพื้นที่เอเชียตะวันออกกลาง สร้างอารยธรรมที่ยั่งยืนในภูมิภาคนี้


Photo : www.pinterest.co.uk

กีฬา คือ สิ่งที่อยู่คู่กับอารยธรรมของมนุษย์มาตลอด สำหรับอารยธรรมเปอร์เซีย คือกีฬามวยปล้ำ...มีการบันทึกไว้ว่า กีฬามวยปล้ำอยู่คู่กับอารยธรรมของมนุษย์ มายาวนานร่วม 5,000 ปี นับตั้งแต่อารยธรรมสุเมเรียน ซึ่งผู้คนอพยพมาจากถิ่นที่ตั้งของประเทศอิหร่าน ในปัจจุบัน

รากฐานที่แน่นแฟ้น ระหว่าง คนอิหร่าน กับมวยปล้ำ ทำให้กีฬาประเภทนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งกับอารยธรรมเปอร์เซีย อย่างรวดเร็ว 

เมื่อเวลาผ่านไป มวยปล้ำจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่กีฬา สำหรับคนอิหร่าน แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คน มีความผูกพันแน่นแฟ้นกับสังคม ไม่ต่างอะไรกับคนอังกฤษที่ผูกพันกับฟุตบอลหรือรักบี้ ไม่ต่างอะไรกับคนไทยผูกพันกับกีฬามวยไทย 

ความเป็นรัฐศาสนา ทำให้บางชนิดกีฬาไม่สามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอิหร่าน แต่มวยปล้ำกลับเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในฐานะกีฬาท้องถิ่น…

มวยปล้ำ กลายเป็น กีฬาที่นิยมอย่างแพร่หลายในอิหร่าน มีการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง มีกฎระเบียบที่ชัดเจน อีกทั้งมวยปล้ำ ยังถูกขนานนามว่าเป็นกีฬาประจำชาติของอิหร่าน ก่อนที่กีฬาชนิดนี้ จะแพร่หลายไปในวงกว้างระดับโลกเสียด้วยซ้ำ

สำหรับคนอิหร่าน กีฬามวยปล้ำคือกีฬาที่สะท้อนทั้งตัวตนของชาวเปอร์เซีย และศาสนาอิสลามออกมาได้อย่างเด่นชัด ด้วยนิยามความดี 3 ประการ : ฝีมือดี, วาจาดี, ความคิดดี… พวกเขาเชื่อว่า มวยปล้ำ คือ กีฬาที่ขาวสะอาด มีศีลธรรม และยุติธรรม พร้อมกับการแสดงความเป็นนักสู้ของมนุษย์ ในขณะที่ กีฬาจากชาติตะวันตก เต็มไปด้วยเรื่องราวของการฉ้อโกง และความไม่เป็นธรรม มวยปล้ำจึงเป็นกีฬาที่มีคุณค่าสำหรับชาวอิหร่าน และเป็นสมบัติของชาติ 


Photo : www.scribd.com

อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อิหร่านปรับเปลี่ยนสไตล์ในกีฬามวยปล้ำของตัวเอง เพื่อให้แตกต่างกับชาติอื่นทั่วโลก หลังกระแสกีฬามวยปล้ำแผ่ขยายไปทั่วโลก

ขณะเดียวกัน ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศอิหร่าน ถูกเข้าควบคุมโดยกองทัพจากอังกฤษ และรัสเซีย มีผลให้กีฬามวยปล้ำ ถูกลดบทบาทความสำคัญในอิหร่านอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ยิ่งทำให้ชาวอิหร่านรู้สึกว่า มวยปล้ำคือกีฬาที่พวกเขาต้องปกป้อง 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากศัตรูอันดับหนึ่งของชาวอิหร่าน ที่ชื่อสหรัฐอเมริกา

ศีลธรรมที่ถูกท้าทาย

หากพูดถึงกีฬามวยปล้ำ คนส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ย่อมนึกถึง มวยปล้ำจากประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับแรก ด้วยชื่อเสียงของสมาคมมวยปล้ำอาชีพ WWE และผลงานรวม 132 เหรียญรางวัลจากมหกรรมกีฬา โอลิมปิก เกมส์ ย่อมทำให้ภาพของสหรัฐอเมริกา กลายเป็นมหาอำนาจของกีฬาประเภทนี้


Photo : old.nasimonline.ir

ทั้งที่ความเป็นจริง กีฬามวยปล้ำเข้าสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยหลักฐานระบุว่า สมาคมมวยปล้ำสมัครเล่นแห่งแรกของสหรัฐฯ ก่อตั้งในปี 1904 แตกต่างจากความผูกพันอันยาวนาน ระหว่างคนอิหร่านกับมวยปล้ำโดยสิ้นเชิง

มุมมองของ อิหร่าน ต่อมวยปล้ำ คือ กีฬาแห่งศีลธรรม เชื่อมโยงกับศาสนา และผูกพันกับวิถีชีวิตผู้คน... แต่สำหรับ สหรัฐอเมริกา “มวยปล้ำ” ถูกปรับเปลี่ยนบทบาทและมองในมุมที่ต่างออกไป 

เพราะชาวอเมริกานำมวยปล้ำ ไปผสมกับความบันเทิง เปลี่ยนจากกีฬาให้กลายเป็นโชว์การแสดง มีบทบาทให้กับนักมวยปล้ำ จนกลายเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมไปทั่วสหรัฐอเมริกา และพัฒนากลายเป็นกีฬามวยปล้ำอาชีพ อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน

ความเป็นสุดยอดในกีฬามวยปล้ำ แต่ยืนอยู่บนพื้นฐาน จุดยืนด้านกีฬาที่แตกต่างกัน ทำให้การแข่งขันมวยปล้ำระหว่างทั้งสองชาติ เป็นมากกว่าการต่อสู้ในเกมกีฬาทั่วไป และเมื่อความขัดแย้งระหว่าง อิหร่านกับสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นในเวทีการเมือง เบาะมวยปล้ำ จึงแปรเปลี่ยนเป็นสนามรบในคราบของการแข่งขันกีฬาในทันที

การปฏิวัติอิหร่าน (Iranian Revolution) ในปี 1979 คือจุดเริ่มต้น หลังจากอิหร่านกลับมาเป็นรัฐศาสนาโดยสมบูรณ์อีกครั้ง รัฐบาลอิหร่านแสดงจุดยืนชัดเจนที่จะรักษาภาพลักษณ์ของกีฬามวยปล้ำ ในฐานะกีฬาแห่งศีลธรรม และกีฬาที่ดีงามเอาไว้ เริ่มต้นด้วยการไม่ส่งนักมวยปล้ำ ไปแข่งที่ประเทศอิสราเอล ดินแดนที่รัฐบาลอิหร่าน มองว่าเป็นดินแดนแห่งความชั่วร้าย


Photo : ossetians.com

การตั้งประเทศของอิสราเอล ด้วยการยึดดินแดนเดิมมาจากปาเลสสไตน์ เพื่อนร่วมศาสนาของอิหร่าน บวกกับความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่าง ทำให้อิหร่านประกาศตัวเป็นศัตรูกับอิสราเอล ผ่านวงการกีฬาในทันที 

หนึ่งในชาติที่หนุนหลังอิสราเอลมาตลอด คือสหรัฐอเมริกา แต่พวกเขาไม่สามารถแสดงท่าทีอะไร กับประเด็นในวงการกีฬาได้มากนัก เพราะในเวทีการเมืองสหรัฐฯ เจอปัญหาใหญ่กว่านั้น เมื่อชาวอเมริกัน 52 คน ถูกรัฐบาลอิหร่านกักขังตัวไว้ในสถานทูตสหรัฐฯ ในประเทศอิหร่าน ยาวนานถึง 444 วัน

สร้างมิตรผ่านสนามกีฬา

ท่ามกลางความตึงเครียด ระหว่างทั้งสองชาติ พวกเขาจึงพยายามหลีกเลี่ยงการพบเจอกัน ในเกมกีฬาเพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่อาจจะบานปลาย เช่น โอลิมปิก เกมส์ 1984 ที่ลอส แองเจลิส ที่อิหร่านตัดสินใจบอยคอตมหกรรมกีฬาครั้งนี้ 


Photo : mwolverine.com

“สหรัฐอเมริกาพยายามอย่างมาก ที่จะเข้ามาแทรกแซงภูมิภาคตะวันออกกลาง พวกเขาให้การสนับสนุนรัฐบาลของเยรูซาเล็ม (ประเทศอิสราเอล) และเป็นต้นตอของอาชญากรรม ในพื้นที่ละตินอเมริกา” อิหร่านแถลงถึงการบอยคอตโอลิมปิก เกมส์ ในครั้งนั้น ส่งผลให้สหรัฐฯ กลายเป็นชาติที่ได้เหรียญทองมากที่สุด จากกีฬามวยปล้ำในการแข่งขัน ในปี 1984

แม้จะเป็นไม้เบื่อไม้เมากันทั้งกันเมือง และมีมุมมองต่อกีฬามวยปล้ำ ต่างกันแบบสุดขั้ว แต่ครั้งหนึ่ง ก็เคยมีความพยายามที่ใช้ มวยปล้ำ เป็นกีฬาที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง สหรัฐฯและอิหร่าน

ในปี 1997 โมฮัมเหม็ด คาตามี (Mohammad Khatami) ประธานาธิบดีของอิหร่าน มีความตั้งใจที่จะยุติความบาดหมาง ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ เขาตัดสินใจนำแนวทางของ การทูตปิงปอง (Ping-pong diplomacy) ที่สหรัฐฯกับจีนเคยเชื่อมความสัมพันธ์กันผ่านเกมกีฬา ในช่วงยุค 70’s มาใช้กับสหรัฐฯ ผ่านกีฬามวยปล้ำ

รัฐบาลอิหร่านตัดสินใจเชิญนักกีฬามวยปล้ำจากสหรัฐ ให้มาแข่งขันที่กรุงเตหะราน ในปี 1998 หลังจากไม่มีนักกีฬามวยปล้ำของสหรัฐฯ มาแข่งในพื้นที่ตะวันออกกลาง นับตั้งแต่ปี 1979 ซึ่งทางสหรัฐฯได้ตอบตกลง และเดินทางมาแข่งที่อิหร่าน โดยประเทศเจ้าบ้านได้ให้การต้อนรับผู้มาเยือนอย่างอบอุ่น 

หากมองในแง่การกระชับความสัมพันธ์ด้านกีฬา ทุกอย่างถือว่าประสบความสำเร็จ มวยปล้ำกลายเป็นกีฬาบรรทัดฐาน ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ และนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ในกีฬาชนิดอื่น เช่น ฟุตบอล


Photo : www.ibtimes.com

หลังจากนั้นทั้งสองฝั่ง สลับสับเปลี่ยนส่งนักมวยปล้ำ ไปแข่งขันในประเทศฝ่ายตรงข้าม แม้หลายครั้งจะมีเหตุการณ์ความตึงเครียดทางการเมือง 

แต่ทั้งอิหร่านและสหรัฐ ตัดสินใจที่จะส่งนักมวยปล้ำของตัวเอง ไปแข่งขันในประเทศ ของอีกฝั่งอย่างต่อเนื่อง เพราะพวกเขามองว่า กีฬามวยปล้ำเป็นเพียงไม่กี่สิ่ง ที่ยังคงสามารถสร้างความสัมพันธ์เชิงบวก ระหว่างทั้งสองประเทศได้…

จนกระทั่งปี 2017 ทุกอยางก็เปลี่ยนไปอีกครั้ง

ฟางสุดท้ายของความสัมพันธ์เชิงบวก

ในปี 2017 เกิดข่าวดังขึ้นในวงการกีฬาโลก เมื่อจอร์แดน เบอร์โรจ์ส (Jordan Burroughs) นักกีฬาดีกรีเหรียญทองโอลิมปิก เกมส์ ชาวสหรัฐฯ ไม่สามารถเดินทางไปแข่งขันมวยปล้ำสมัครเล่น ที่ประเทศอิหร่าน เพราะทางอิหร่าน ไม่อนุมัติวีซ่าให้เขาเข้าประเทศ รวมถึงเพื่อนนักมวยปล้ำคนอื่นด้วย


Photo : bjjscout.com

แน่นอนว่า ประเด็นทางการเมือง คือ เหตุผลหลักในเรื่องนี้ จากการที่ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประกาศกร้าวหลังเขาขึ้นรับตำแหน่ง เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ว่าจะไม่มีการประณีประนอมกับอิหร่าน ทำให้อิหร่านตัดสินใจโต้กลับ ด้วยการแบนเหล่านักมวยปล้ำจากแดนลุงแซมเป็นการเอาคืน

“มันยากลำบาก ที่ต้องอยู่ในช่วงเวลาแบบนี้ ผมไม่รู้เลยว่า ที่ไหนผมไปแข่งได้ ที่ไหนผมไปแข่งไม่ได้ มันยากที่ผมจะมุ่งมั่นเรื่องการแข่งขัน ในเมื่ออำนาจทางการเมือง เป็นสิ่งกำหนดชะตากรรมของเรา” จอร์แดนเผยความในใจ

อย่างที่ จอร์แดน กล่าวไว้ สุดท้ายเขาและผองเพื่อน ได้เข้าไปแข่งมวยปล้ำที่อิหร่าน เพราะทางสมาคมมวยปล้ำสมัครเล่นของทั้งสองชาติ ตัดสินใจรวมหัวกันล็อบบี้จนสามารถออกวีซ่าเข้าประเทศ ให้เหล่านักกีฬามวยปล้ำได้ในที่สุด

“ผมคิดว่าทางสมาคมของอิหร่าน และตัวรัฐบาลของพวกเขาเองด้วย พยายามช่วยให้เราได้เข้าไปแข่งขัน เพราะพวกเขาต้องการโชว์ภาพลักษณ์ที่ดีของกีฬานี้ พวกเขาให้ความเคารพในกีฬามวยปล้ำอย่างมาก” บิล ซาดิค (Bill Zadick) โค้ชทีมมวยปล้ำสมัครเล่นประเภทฟรีสไตล์ของสหรัฐฯ กล่าวกับ CNN

“ผมเคยไปแข่งที่อิหร่านมาหลายปี และคนอิหร่านทุกคนที่เข้ามาพูดคุยกับผม พวกเขาสุภาพมาก ให้ความเคารพพวกเราอย่างมาก ในขณะที่เรื่องการเมืองเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ผมคิดว่าเราไม่เจอเรื่องแบบนี้ ในการแข่งขันกีฬา” ไคล์ สไนเดอร์ (Kyle Snyder) อีกหนึ่งนักมวยปล้ำเหรียญทองโอลิมปิก แสดงความเห็น


Photo : www.en24.news

กระทั่งในการแข่งขันมวยปล้ำสมัครเล่นชิงแชมป์โลก ซึ่งจัดขึ้นในปี 2018 ที่ประเทศสหรัฐฯ อิหร่านประกาศถอนตัวจากการแข่งขัน อย่างไม่ทราบสาเหตุ 

โดยสื่อจากอเมริกาประโคมข่าวว่า อิหร่านได้เปลี่ยนแนวทางความสัมพันธ์ด้านกีฬากับสหรัฐฯ หลังความตึงเครียดทางการเมืองเพิ่มขึ้น...อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายร่วมส่งนักกีฬาแข่งขันด้วยกันอีกครั้ง กับการแข่งขันในปี 2019 ณ สนามกลางที่ประเทศรัสเซีย

ตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์ระหว่างทั้งสองชาติ ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่กองทัพสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดใส่เรือน้ำมันของอิหร่าน ในเดือนพฤษภาคมปี 2019 หรือในเดือนมิถุนายนที่อิหร่าน ยิงจรวจโจมตีเครื่องบินโดรนของสหรัฐฯ ไปจนถึงการสังหาร คาเซ็ม สุเลมานี หนึ่งในผู้นำของอิหร่าน โดยสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 3 มกราคม 2020 จนปลุกกระแสสงครามโลกครั้งที่ 3 ไปทั่วโลกอินเทอร์เน็ต

วงการกีฬามวยปล้ำสมัครเล่น ดูเหมือนจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่ทั้งอิหร่าน และสหรัฐอเมริกา พยายามจะรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองชาติเอาไว้ 

กระนั้นทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมือง เพราะแม้จะมีความพยายามแยกกีฬาออกจากการเมืองมากแค่ไหน ในความเป็นจริงแล้ว การเมืองคือสิ่งที่กำหนดความสัมพันธ์ทุกอย่าง รวมทั้งการแข่งขันมวยปล้ำ กีฬาที่ทั้งสองประเทศรักและคลั่งไคล้มันอย่างสุดหัวใจ 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook