ศศลักษณ์ ไหประโคน : นักสู้จากประโคนชัย ที่ชีวิตไม่รู้จักคำว่ายอมแพ้

ศศลักษณ์ ไหประโคน : นักสู้จากประโคนชัย ที่ชีวิตไม่รู้จักคำว่ายอมแพ้

ศศลักษณ์ ไหประโคน : นักสู้จากประโคนชัย ที่ชีวิตไม่รู้จักคำว่ายอมแพ้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศศลักษณ์ ไหประโคน คือ ชื่อที่คุ้นหูของแฟนฟุตบอลทีมชาติไทย และแฟนฟุตบอลไทยลีก แม้จะอายุเพียง 24 ปี แต่หนุ่มจากจังหวัดบุรีรัมย์ ประสบความสำเร็จ คว้าแชมป์ลีกกับทีมบ้านเกิดได้ 2 สมัย ผ่านการติดทีมชาติทั้งชุดใหญ่และชุดเล็ก

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ศศลักษณ์ต้องเจอฝ่าด่านมากมาย ที่เข้ามาขัดขวางความฝันของเขา ทั้งเรื่องสรีระร่างกาย, โอกาสในการลงสนาม ไปถึงชีวิตการเรียนที่ยากลำบากในช่วงวัยรุ่น

สิ่งสำคัญที่ผลักดันเขามาจนถึงปัจจุบัน คือหัวใจเลือดนักสู้ ที่สะกดคำว่ายอมแพ้ไม่เป็น เขาต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคกับเรื่องราวฟุตบอลตลอด 24 ขวบปี จนก้าวขึ้นมาเป็นนักฟุตบอลแถวหน้าของประเทศไทย

ฟุตบอลเพื่อนคู่ใจ

“ผมเริ่มเล่นฟุตบอลตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เท่าที่จำความได้ก็เริ่มรักฟุตบอลเลย พอเราเห็นลูกฟุตบอล เราจะอยากไปเตะลูกบอลทันที ลูกฟุตบอลเหมือนเป็นความสุขของผม ผมรู้สึกสนุกทุกครั้ง ที่ได้อยู่กับลูกฟุตบอล” ศศลักษณ์ เล่าย้อนความหลังของตัวเอง

ศศลักษณ์ ไหประโคน เกิดและเติบโต ในอำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เขาไม่ได้เติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย อันที่จริงแล้วค่อนไปทางยากจนด้วยซ้ำ 

แต่ศศลักษณ์ไม่ได้มองว่าเรื่องของเงินทอง ฐานะ จะมาพรากความสุขไปจากชีวิตของเขา เพราะฟุตบอลคือเพื่อนคู่ใจ ที่ทำให้เด็กคนนี้รู้ตั้งแต่วัยเยาว์ว่า ชีวิตของเขาต้องการสิ่งใด

“ผมเริ่มเล่นบอล จากวิชาพละที่โรงเรียน สมัยประถม แล้วก็สมัยก่อน จะมีผงซักฟอกยี่ห้อหนึ่ง เขาจะแถมลูกฟุตบอล มากับผงซักฟอก ผมอยากได้มาก เพราะอยากมีลูกฟุตบอลมาเตะไว้ที่บ้าน”

“แต่ว่าผงซักฟอกมันก็แพงนะครับ ตอนนั้นฐานะครอบครัวก็ลำบาก แต่ผมก็อ้อนคุณพ่อคุณแม่ จนท่านยอมซื้อผงซักฟอก เพื่อให้ผมมีลูกฟุตบอลมาไว้เล่นที่บ้าน”

กิจวัตรประจำวันของเด็กชายศศลักษณ์ คือการตื่นเช้าเพื่อไปเรียนหนังสือ เขาจะใช้เวลาทั้งหมดที่โรงเรียน ทุ่มเทกับการศึกษา ตั้งใจเรียน ทำการบ้านให้เสร็จ เพื่อหลังเลิกเรียน เขาจะได้ทุ่มเทเวลาให้กับฟุตบอล เพราะหลังกลับจากโรงเรียน ศศลักษณ์จะรีบออกไปเล่นฟุตบอล กับรุ่นพี่ในหมู่บ้าน ตั้งแต่ช่วงเย็น 4-5 โมง จนถึง 2-3 ทุ่มกว่าจะกลับบ้าน

“ผมโดนตากับยายด่าตลอด กลับบ้าน 2-3 ทุ่ม ท่านบอกตลอดว่า ทำไมต้องอยู่รอผมกินข้าวถึงดึกดื่น...ตอนนั้นตากับยาย ไม่ค่อยอยากให้ผมเล่นฟุตบอลเท่าไหร่ ด้วยความที่ครอบครัวฐานะไม่ค่อยดี ท่านอยากให้ผมจริงจังกับเรื่องเรียนมากกว่า” 

“ผมโดนบอกตลอดว่า ต้องเป็นนักเรียนที่เรียนให้เก่ง ตอนนั้นคนบ้านข้างๆ เขาจะตื่นมาอ่านหนังสือ ตั้งแต่ตี 4 ตี 5 ตากับยายก็บอกผมตลอดว่า เห็นไหม คนรอบข้างเขาทำอะไร เขาตั้งใจเรียนแค่ไหน เพียงแต่ว่าตอนนั้น ผมรู้ว่า ผมชอบทำอะไร และฟุตบอลคือความสุขของผม ความสุขผมอยู่ตรงนั้น”

แม้จะไม่เป็นที่ถูกใจของครอบครัว เด็กชายศศลักษณ์ ยังคงก้มหน้าก้มตาเตะแต่ลูกฟุตบอล หลังเลิกจากโรงเรียน ด้วยวัยที่เริ่มโตขึ้น บวกกับความรักที่มีในฟุตบอล ทำให้ครอบครัว เริ่มยอมรับและปล่อยให้เขาเล่นฟุตบอลได้ตามที่ใจต้องการ และความฝันการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ เริ่มก่อตัวในความคิดของ ศศลักษณ์ ไหประโคน

ตะลุยด่าน ล่าความฝัน 

“ผมเริ่มต้นด้วยการไปคัดตัวกับโรงเรียนประโคนชัย เพราะจะได้เข้าโรงเรียน ในฐานะนักกีฬาของโรงเรียนด้วย แต่ว่าคัดไม่ติด สุดท้ายต้องไปสอบเข้าแทน ตอนนั้นผมไม่มั่นใจเลย เพราะไม่ได้อ่านหนังสือเตรียมสอบเลย แต่ว่าก็สอบติดนะครับ” ศศลักษณ์เล่าติดตลก

“แต่พอผมเข้าไปเรียน มันเหมือนไม่รู้จะไปทางไหนอะครับ เพราะหัวใจผมมันไปทางฟุตบอล เราอยากเป็นนักบอลอาชีพ อยากมุ่งมั่นไปทางนั้น แต่ในใจลึกๆ ผมคิดตลอดว่า เราจะไปได้ไกลแค่ไหน เราจะเป็นนักบอลได้จริงๆหรือ”

“แต่ผมเห็นรุ่นพี่ที่เป็นนักฟุตบอล เขาสามารถหาโอกาสให้ตัวเอง เข้าไปเป็นนักฟุตบอล ให้โรงเรียนใหญ่ๆในกรุงเทพ ผมก็ตั้งใจ ช่วงวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ผมไม่ยอมกลับบ้าน ซ้อมแต่ฟุตบอล”

ความฝันที่รออยู่เบื้องหน้า ทำให้ศศลักษณ์ แบกกระเป๋าเข้าเมืองกรุง ตามล่าหาความฝัน คัดตัวกับโรงเรียนชื่อดังในกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม ด้วยสรีระของศศลักษณ์ ที่ตัวเล็กและผอมแห้ง ทำให้เขาถูกมองข้ามจากโรงเรียนที่เขาเดินทางเข้าไปคัดตัว

“ตอนนั้นที่ไหนมีคัดตัวผมก็ไปตลอด แต่เหมือนเดิมครับไม่ติด บางทีผมไปคัดตัวกับเพื่อน เพื่อนผมติด ผมไม่ติด แต่ผมก็ไม่ท้อ ไหนๆเราเข้ากรุงเทพฯ มาแล้ว ผมก็อยากจะสู้ต่อ”

ศศลักษณ์คัดตัวกับโรงเรียนในเขตเมืองไปเรื่อยๆ จนกระทั่งได้โอกาสไปคัดตัวกับโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี ภายใต้การนำของอาจารย์สกล เกลี้ยงประเสริฐ และในที่สุดโอกาสที่ศศลักษณ์รอคอยก็มาถึง

“ตอนแรกเขาก็จะไม่เอาผมหรอก แต่สุดท้ายก็มีเหตุการณ์ให้ผมได้เข้าที่นี่...แต่ถามว่าตอนแรกผมอยากเข้าไหม ผมไม่อยากเข้านะ เพราะเราอยากไปอยู่โรงเรียนใหญ่ๆมากกว่า ตอนนั้นที่สุรศักดิ์ ทีมบอลยังไม่ดัง หอพักที่อยู่ก็ไม่ดีมาก สู้โรงเรียนอื่น โรงเรียนดังๆไม่ได้”

“แต่ผมก็ตั้งใจเต็มที่ เราได้โอกาสเข้ามาแล้ว เรียนก็ต้องตั้งใจ บอลต้องเล่นให้เต็มที่ เพราะฟุตบอลคือความสุขของเรา”

“ผมคิดว่าผมโชคดีที่ได้มาอยู่ที่นี่ เพราะอาจารย์สกล เขาให้ความสำคัญเรื่องหัวจิตหัวใจ อาจารย์พูดอยู่ตลอดว่า ‘ถ้าใจมึงสู้ มึงสู้ได้ทุกทีม’ ผมว่าท่านน่าจะเห็นสิ่งนี้ในตัวผม’”

แม้จะมีรูปร่างเล็ก แต่ด้วยทักษะที่คล่องแคล่ว ทำให้ศศลักษณ์ถูกจับโยกมาเล่นกีฬาฟุตซอล ไปพร้อมกับฟุตบอล และกลายเป็นกีฬาลูกหนังโต๊ะเล็กที่สร้างชื่อให้กับศศลักษณ์ จนได้ลงหนังสือพิมพ์กีฬาหลายฉบับ และอาจารย์สกลเคยกล่าวว่า ถ้าเขายังเล่นฟุตซอลอยู่ เขาจะเป็นนักฟุตซอลที่เก่งที่สุดในประเทศไทย

“ตอนนั้นผมชอบเล่นฟุตซอลมากกว่าครับ เพราะเล่นฟุตซอลแล้วเราเด่น ถ้าเป็นฟุตบอลผมไม่เด่นเลย พูดตามตรง เพื่อนรุ่นเดียวกันที่ติดทีมชาติตอนนั้น ถ้าเล่นฟุตบอล ผมสู้พวกเขาไม่ได้เลย”

“แต่ว่าตอนนั้นผมเล่นฟุตบอลโค้กคัพ ให้ทางแบงค็อก ยูไนเต็ด แล้วพี่วัง (ธวัชชัย ดำรงค์อ่องตระกูล : หัวหน้าผู้ฝึกสอนของแบงค็อก ยูไนเต็ดในเวลานั้น) เขามาชวนผมไปเข้าทีม”

“ผมก็คิดหนักนะ ปรึกษาทุกคน เพราะตอนนั้นทางชลบุรี บลูเวฟ ก็สนใจผม ผมก็เคยไปเก็บตัวกับเขามา แต่หลายคนก็บอกว่า ถ้าเลือกฟุตบอล เรื่องของค่าตอบแทน ความมั่นคงมันดีกว่านะ”

 “ตอนนั้นเลือกยากจริงๆครับ คือถ้าผมเป็นนักฟุตซอลต่อ ผมรู้ว่าผมไปได้ไกล ติดทีมชาติได้แน่ แต่ถ้าเลือกฟุตบอล ผมไม่รู้เลยว่าผมจะไปได้ไกลแค่ไหน”

“ผมก็ถามพี่วังไปว่า ถ้าผมไป ผมจะได้อยู่ทีมใหญ่ไหม พี่เขาก็บอกว่า เขาจะไม่ส่งไปไหน ผมก็โอเค เลือกฟุตบอล เลือกไปอยู่กับแบงค็อก”

นรกไทยลีก

จากนักเรียนฟุตบอลขาสั้น สู่การเป็นผู้เล่นระดับไทยลีก ในฤดูกาล 2014 คือชีวิตใหม่ที่ศศลักษณ์ต้องเรียนรู้ เพียงไม่นานหลังจากเข้าร่วมทีมแข้งเทพ ตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอนของทีมได้เกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อโค้ชวัง-ธวัชชัยต้องออกจากตำแหน่ง เปิดทางให้มาโน โพลกิง เข้ามารับหน้าที่แทน

“ตอนนั้นผมมีความกังวล คิดตลอดว่า เราจะได้อยู่กับทีมต่อไหม เพราะพี่วังไม่อยู่แล้ว...รุ่นพี่หลายคนเขาก็บอกว่า การเป็นนักฟุตบอลอาชีพ มันไม่มีอะไรแน่นอน ขอให้เราตั้งใจซ้อม ตั้งใจทำงานต่อไปเรื่อยๆ สิ่งที่ดีจะกลับมาหาเราเอง”

“ตั้งแต่เข้ามาแบงค็อก ผมก็ตั้งใจไว้แล้วว่า ผมจะทำผลงานให้เต็มที่ ทำให้เขาเห็นว่าเรามีดี ผมเชื่อว่าถ้าเราทำดี เขาก็พร้อมให้โอกาสเรา”

“ผมก็ดีใจที่สุดท้าย ผมได้อยู่ในแผนการทำทีมของโค้ชมาโน ถึงโอกาสจะลงเล่นน้อย แต่ผมได้อะไรเยอะ จากการฝึกซ้อมร่วมกับรุ่นพี่ชุดใหญ่ เราได้เรียนรู้ตรงนั้น”

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาฝีเท้าที่ดีที่สุดของนักฟุตบอล คือการลงสนาม แม้จะเป็นดาวรุ่งที่น่าจับตาของทีมแบงค็อก แต่ด้วยสภาพทีมที่กำลังเติบโตขึ้น นักเตะมีชื่อระดับแถวหน้าของไทยลีก ทยอยตบเท้าเข้ารังแข้งเทพ ศศลักษณ์จึงไม่มีทางเลือกมากไปกว่าการเป็น “ตัวสำรองอดทน”

“ผมก็หวังที่จะได้ลงสนามมากขึ้น แต่ในตอนนั้น ผมไม่ได้น้อยเนื้อต่ำใจนะ ผมคิดอยู่ตลอดว่าพวกรุ่นพี่เขาทำงานหนักมาก่อนเรา เขาสมควรที่จะได้ลงเล่น และด้วยสถานการณ์ตอนนั้น ที่ทีมมีซูเปอร์สตาร์เต็มทีม ผมก็รู้ว่ามีรุ่นพี่ที่เขาทำผลงานได้ดี ยืนอยู่ข้างหน้าเรา”

ไม่ใช่เรื่องง่ายกับการรับมือสถานการณ์ในสนาม ในฐานะตัวสำรอง ที่ไม่รู้ว่าตัวเองจะได้โอกาสตอนไหน แต่เรื่องนอกสนาม กลับกลายเป็นความยากลำบากก มากกว่าเรื่องในสนาม เพราะศศลักษณ์ยังต้องทำอีกหน้าที่ เพื่อครอบครัวของเขา การเป็น “นักศึกษา”

“ตอนที่ทั้งเรียนทั้งเล่นบอล มันก็เหนื่อยครับ ถ้าผมอยู่กับพวกรุ่นพี่นักบอล ผมไม่ค่อยรู้สึกเหนื่อยหรอก แต่ถ้าผมอยู่คนเดียว ผมจะรู้สึกเหนื่อยเลย”

“ช่วงปิดเลก ผมไม่ได้หยุด เพราะผมต้องไปเรียน ตื่นเช้ามาผมต้องเข้าเรียน ตกบ่ายต้องมานั่งรอรถไปซ้อม แล้วตอนนั้นผมไม่มีรถเป็นของตัวเอง ผมก็ต้องไปนั่งรอรถตู้บ้าง รอรถสโมสรบ้าง หรือติดรถรุ่นพี่บ้าง”

“เรารู้สึกเหนื่อย เรารู้สึกเครียด เพราะต้องซ้อมบอล เรื่องเรียนก็หนัก ช่วงนั้นเครียดมาก ถือว่าเป็นช่วงที่ผมเหนื่อยหนักที่สุดในชีวิตแล้ว ผมโทรไปคุยกับแม่ ร้องไห้กับแม่ ขอร้องแม่ว่า ขอผมเลิกเรียนได้ไหม ผมอยากอยู่กับฟุตบอล อยากเล่นฟุตบอลอย่างเต็มที่”

“แต่ว่าแม่ผมร้องไห้ ท่านบอกผมว่า ท่านไม่อยากให้ผมเลิกเรียน แม่อยากให้ผมสู้ต่อ ผมมานั่งคิดว่า แม่กับพ่อผมลำบากขนาดไหน กว่าจะเลี้ยงลูกโตมา” 

“เพราะพ่อกับแม่ผมเขาทำงานก่อสร้าง มาตั้งแต่วัยรุ่น เลี้ยงลูกมา 3 คน จนโตมีงานทำกันทุกคน ผมจึงตัดสินใจสู้ต่อ นั่นเป็นครั้งเดียวที่ผมร้องไห้กับแม่ หลังจากนั้นผมไม่เคยร้องไห้กับแม่อีกเลย”

ผลตอบแทนของการทำงานหนัก

แม้จะตั้งใจหวังเรียนต่อให้จบ ตามความต้องการของครอบครัว แต่สุดท้ายเส้นทางชีวิตนักฟุตบอลที่ไม่มีความแน่นอน ได้พาให้ศศลักษณ์ต้องดร็อปเรียนเป็นการชั่วคราว เพื่อเดินเข้าหาความท้าทายใหม่ กับทีมฟุตบอลจากจังหวัดบ้านเกิด  

“ทางบุรีรัมย์ติดต่อมาหาผม ตั้งแต่ตอนต้นปี 2017 แต่ตอนนั้นผมไม่ได้ย้าย เพราะทางแบงค็อกอยากให้ผมอยู่ต่อ เขาอยากให้ผมเป็นอนาคตของทีม ผมเองก็คิดว่า เราเรียนต่ออีกปีก็จะจบแล้ว ผมอยู่ต่อดีกว่า”

“แต่อยู่ไปหนึ่งเลก ผมไม่ได้เล่นเลย ทางบุรีรัมย์ติดต่อมาอีก ผมก็คิดว่า ผมพักเรื่องเรียนไว้ก่อน ถึงจะน่าเสียดาย แต่ผมขอย้ายไปบุรีรัมย์”

“อีกอย่างผมคิดถึงการติดทีมชาติ ตอนนั้นผมมีโอกาสไปเล่นซีเกมส์ (ปี 2017 ที่มาเลเซีย) และผมอยากไปเล่นซีเกมส์ แต่ผมเห็นแล้วว่าเพื่อนๆ ที่ติดทีมชาติตลอด เขาได้เล่นต่อเนื่องในระดับสโมสร” 

“ผมก็ตัดสินใจว่า ถ้าย้ายไปเขาน่าจะให้โอกาสเราได้แสดงฝีมือ ถ้าเราทำสามารถแสดงให้เขาเห็นได้ว่า เราทำได้เต็มที่ เรามีฝีมือ ผมก็ตัดสินใจย้ายไปบุรีรัมย์”

5 พฤษภาคม 2017 คือก้าวที่สำคัญที่สุดในชีวิตของศศลักษณ์ ไหประโคน เขาเปิดตัวในฐานะนักเตะคนใหม่ของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ท่ามกลางคำถามว่า นักเตะดาวรุ่งที่ไม่ได้รับโอกาสลงสนาม แม้แต่นัดเดียวก่อนหน้านี้ในฤดูกาล 2017 จะเบียดลงเล่นกับทีมที่ยักษ์ใหญ่ ที่คว้าแชมป์ไทยลีก 3 สมัย จาก 4 ปีหลังสุด ในช่วงเวลานั้นได้อย่างไร

แต่ศศลักษณ์กลายเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญ กับการลงสนาม 9 นัดให้กับบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และเป็นตัวจริงถึง 8 นัด พาทีมบ้านเกิดเข้าป้ายคว้าแชมป์ไทยลีก ในฤดูกาลนั้นได้ในที่สุด

“ตอนที่ผมย้ายมาอยู่ที่บุรีรัมย์ คำหนึ่งที่ผมเชื่อมาตลอดคือ ‘ถ้าเราทำงานหนัก สักวันมันจะตอบแทนเรา’ ก็เริ่มเห็นผล ผมได้ลงเล่น ได้อยู่กับฟุตบอลอย่างที่ต้องการ ได้พัฒนาตัวเอง”

นอกเหนือจากการเป็นแชมป์ลีก แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือเขาได้มีชื่อติดทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ลุยซึกฟุตบอลในมหกรรมกีฬาซีเกมส์ 2017 ที่ประเทศมาเลเซีย เป็นการติดทีมชาติในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ครั้งแรกของเขา

“ตอนเด็กผมก็ไม่เคยฝันว่าสักวันผมจะได้เป็นนักฟุตบอลติดทีมชาติ...คือฝันแหละ แต่เราก็ฝันแบบเด็กๆ ฝันแบบลมๆแล้งๆ”

“เมื่อก่อนผมโดนคนรอบข้างดูถูกเยอะ เมื่อก่อนหลายคนบอกว่า ‘จะซ้อมทำไม เล่นฟุตบอล ซ้อมอีกแล้วๆ’ หลายคนนั่งขำผม เวลาผมซ้อมฟุตบอล แต่พอมาอยู่จุดที่ผมติดทีมชาติ ผมโคตรภูมิใจเลย”

ต่อสู้กับเสียงวิจารณ์ บนเส้นทางที่ยังไม่จบ

การติดทีมชาติไทย คืออีกหนึ่งก้าวสำคัญ ในอาชีพนักฟุตบอลของศศลักษณ์ ไหประโคน แต่เมื่อก้าวสู่ฟุตบอลในระดับประเทศ การแบกความหวังย่อมต้องเพิ่มขึ้นไปด้วย และทัวร์นาเมนต์ซีเกมส์ครั้งนั้น (ปี 2017) คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ศศลักษณ์ ต้องเรียนรู้ที่จะเผชิญหน้ากับเสียงวิจารณ์ และความกกดดัน

“ตั้งแต่ก่อนไปแข่ง มีคำถามเยอะเกี่ยวกับทีมชุดนั้นว่า เราจะทำได้ดีหรือเปล่า? พอเล่นนัดเเรกแล้วเสมออินโดนีเซีย คนก็บอกกันเยอะว่า ชุดนี้ดีไม่พอ”

“ตัวผมก็โดนหนักเหมือนกัน ผมเข้าไปอ่านคอมเมนต์ หลายคนบอกว่า ‘เอามันติดทีมชาติไปทำไม จับบอลยังลั่นเลย’ เราต้องเก็บตรงนั้น มาแสดงให้คนเห็นว่า สิ่งที่เขาว่ามา มันไม่จริง เรามาอยู่จุดนี้ เรามีดีจริงๆ”

ศศลักษณ์และทีมชาติไทยชุดนั้น ค่อยๆ สยบเสียงวิจารณ์ ด้วยการทำผลงานกรุยทางเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ก่อนที่จะเป็นศศลักษณ์รับบทฮีโร่ในเกมนัดชิง เปิดเตะมุมจนนำไปสู่ประตูชัยของทีมชาติไทย คว้าเหรียญทองซีเกมส์ในครั้งนั้นได้สำเร็จ

เมื่อกลับมาสู่ฟุตบอลลีก จากนักเตะดาวรุ่ง เขากลายเป็นนักเตะตัวหลักของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด สโมสรฟุตบอลที่วางเป้าหมายคือการเป็นแชมป์สถานเดียว นั่นหมายความว่า เขาต้องแบกความกดดันมหาศาล จากแฟนบอลที่ต้องการชัยชนะในแทบทุกเกม เพื่อการเป็นแชมป์ตามที่ทีมหวังเอาไว้


“ผมรู้ดีว่า ผมไม่ได้เล่นดีทุกนัด มันมีวันที่ผมเล่นดี และวันที่เล่นไม่ดี นักฟุตบอลมีขึ้นมีลง” ศศลักษณ์พูดถึงธรรมชาติของนักฟุตบอล

“พอผมเล่นไปสักพัก คนเริ่มคาดหวังเพราะเราอยู่ทีมใหญ่ วันไหนผมเล่นไม่ดี มีผิดพลาด หลายคนก็จะบอกว่า ‘เด็กคนนี้เก่งไม่จริง ไม่เห็นเก่งแบบที่หลายคนพูด’”

“แต่ผมเข้าใจดีว่า เราอยู่ทีมใหญ่ เราต้องรับมันให้ได้ สุดท้ายผมมองว่ามันอยู่ที่ตัวเราเอง เราต้องรู้ตัวเองว่า จุดไหนเราดี หรือจุดไหนเรายังดีไม่พอ จุดไหนที่แฟนบอลติ แล้วเรายังไม่ดีพอ เราก็ต้องปรับปรุง”

จากเด็กหนุ่มที่เดินทางจากดินแดนที่ราบสูง เข้าเมืองกรุงโดยแทบไม่มีโรงเรียนต้องการตัว สู่วันที่เขาเป็นแชมป์ไทยลีก 2 สมัย ติดทีมชาติชุดใหญ่ เคยมีประสบการณ์เล่นบอลระดับทวีป 

สำหรับลูกผู้ชายที่ชื่อ ศศลักษณ์ ไหประโคน ไม่มีสิ่งใดที่เขาต้องขอบคุณ มากไปกว่าขอบคุณตัวเอง ที่เขาไม่เคยยอมแพ้ให้กับทุกอุปสรรค จนก้าวมาถึงจุดที่เขายืนอยู่ในตอนนี้ 

“ผมดีใจที่ผมเลือกเล่นเป็นนักฟุตบอล ตอนที่ผมเลือกเล่นฟุตบอล ผมคิดแค่ว่าผมจะทำให้เต็มที่ ทำให้ดีที่สุด พอมายืนอยู่จุดนี้ แล้วมองกลับไป ผมคิดไม่ผิดที่เลือกฟุตบอล เพราะผมทุ่มเทกับมันมาตลอด ผมตั้งใจกับมันจริงๆ”

“มีหลายอย่างที่ผมอยากจะพัฒนา ผมอยากจะเก่งกว่านี้ ผมรู้ตัวดีว่า พื้นฐานของผมไม่ใช่คนเก่งมาตั้งแต่เกิด ผมไม่มีพรสวรรค์ติดตัว แต่ที่ผมมาอยู่จุดนี้ เพราะใจผมสู้ ใจผมสู้กว่าใครๆ”

“ทุกวันนี้ผมมีความมั่นใจ เพราะผมสู้มาตลอด และผมมั่นใจว่าคนที่สู้ ไม่มีวันที่จะอดตาย” 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook