ธนะ วงษ์มณี : ชายผู้เรียนไม่จบ ป.ตรี ที่ทำให้ ‘Goal’ เป็นสื่อฟุตบอลมาตรฐานของไทย

ธนะ วงษ์มณี : ชายผู้เรียนไม่จบ ป.ตรี ที่ทำให้ ‘Goal’ เป็นสื่อฟุตบอลมาตรฐานของไทย

ธนะ วงษ์มณี : ชายผู้เรียนไม่จบ ป.ตรี ที่ทำให้ ‘Goal’ เป็นสื่อฟุตบอลมาตรฐานของไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“วันที่เราเปิดตัว Goal Thailand เราไม่มีงบสำหรับการประชาสัมพันธ์เลย แต่ที่เราโตขึ้นมาได้ เพราะเราทำในเรื่องหรือจุดที่คนอื่น ในตลาดเดียวกันไม่สามารถทำได้”

ในยุคที่ใครๆ ก็เข้าถึงข้อมูล และใครก็หยิบจับ ผันตัวเองขึ้นมาเป็น “สื่อ” ได้ หากถามว่าสำนักข่าวฟุตบอลแห่งไหนของไทย ได้รับการยอมรับในแง่ของคุณภาพ และความน่าเชื่อถือมากสุด แน่นอนว่า “Goal Thailand” ย่อมเป็นหนึ่งในชื่อที่ผู้คนส่วนใหญ่นึกถึง 

ยอดไลค์ 1.8 ล้านผู้ใช้งาน และยอดผู้ติดตามเกือบ 2 ล้านยูสเซอร์ บนหน้าเพจ Goal Thailand เป็นตัวเลขที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า แม้จะนำเสนอเนื้อหาเฉพาะทางแค่เรื่อง “ฟุตบอล” แต่ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้อ่านที่มาติดตามเพจนี้ 

ธนะ วงษ์มณี อดีตนักศึกษาที่หันหลังให้ใบปริญญาตรี และออกมาเผชิญชีวิตการทำงานในวงการสื่อ ตั้งแต่วัยหนุ่ม คือ ชายคนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการเติบโตของ สำนักข่าว Goal Thailand ในฐานะหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง

มันคงน่าทึ่งไม่น้อยที่ได้รู้ว่า Goal Thailand มีจำนวนทีมงานไม่ถึง 20 ชีวิต, ไม่มีออฟฟิศเป็นศูนย์บัญชาการเหมือนอย่างสำนักข่าวอื่นๆ และทุกคนที่ผลิตคอนเทนต์ ต่างทำงานกันอยู่ที่บ้าน

แต่ทำไมสื่อฟุตบอลเพียวๆ อย่าง Goal Thailand ถึงได้ครองใจคนอ่านจำนวนมาก? และได้รับการยอมรับในแง่มาตรฐาน

ย้อนกลับไปสัก 10 ปีที่แล้ว คนไทยน่าจะไม่คุ้นชื่อของ Goal.com ด้วยซ้ำ ช่วยเล่าประวัติพอสังเขปของ Goal หน่อยครับ 

ตอนแรกมันเริ่มจากเว็บบอร์ดที่ชื่อว่า SoccerAge เมื่อมีคนรวมกันเยอะๆ ก็จะมีคนชวนคุย มีคนเปิดประเด็น ใครเก่งอะไรก็ชวนคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นธรรมชาติ เหมือนเวลาเข้าเว็บ Pantip ก็จะรู้ว่า คนนี้เก่งรีวิวกล้อง คนนี้เก่งรีวิวมือถือ 

พอมีผู้ผลิตเนื้อหาบ่อยๆ มีคนติดตามเยอะขึ้น มันก็ปรับตัวมาเป็นเว็บไซต์ฟุตบอลเต็มตัว แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น Goal.com เมื่อสักปี 2004 ภายหลังถูกบริษัทสัญชาติอังกฤษที่ชื่อ Perform (ปัจจุบันคือ DAZN Group) ซื้อเข้ามาทำเป็น สำนักข่าวฟุตบอล

เท่ากับว่า Goal ใช้เวลาแค่ทศวรรษเดียวในการเปลี่ยนผ่านจาก เว็บบอร์ด สู่ สำนักข่าวฟุตบอลออนไลน์ ?

ถ้าพูดกันจริงๆ Goal.com มันสตาร์ทในจุดเดียวกับ SoccerSuck ในบ้านเรานี่แหละ แต่มันก็มีกระบวนการที่ทำให้ในที่สุด ก็พ้นสภาพความเป็นเว็บบอร์ด 

พอ Perform เข้ามาซื้อ ก็ได้มีการขยายเอดิชั่นไปยังประเทศต่างๆ ปัจจุบันน่าจะประมาณ 50 กว่าประเทศ ซึ่งประมาณปี 2012 ก็ได้มีการขยายภาษามายังประเทศไทย 

เราได้เข้ามาเป็นหนึ่งในทีมเซ็ทอัพชุดแรกของ Goal Thailand จากการชักชวนของคุณตี๋ (ธีรภัทร รัญตะเสวี หนึ่งในทีมงานรุ่นก่อตั้ง) หลังผ่านไปสองปี บรรณาธิการบริหารคนแรกก็ลาออกไป เราก็ได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าเต็มตัว แต่ว่าปัจจุบันก็ถอยออกมาดูเบื้องหลังมากๆ แล้ว 

ถามว่าในระยะเวลาสิบกว่าปี มันถูกเปลี่ยนแปลงมาเป็นสำนักข่าวเร็วไหม? จริงๆ ถือว่าเปลี่ยนช้าด้วยซ้ำไป แต่ที่มันโตได้เพราะมันเปลี่ยนนี่แหละ 

ทุกวันนี้ Goal ยังคงมีความเป็นเว็บไซต์สูงมาก เจ้าของอย่าง Perform เขาก็มีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็น แพลทฟอร์มต่างๆ นะ ตั้งแต่เปลี่ยนชื่อจาก Goal.com เป็น Goal เฉยๆ เพราะเชื่อว่า .com มันจะเชย มันจะไม่มีคำพูดคำนี้ ซึ่งมันก็จริง แต่ในขณะเดียวกัน คนก็ยังเรียก Goal ว่า Goal.com อยู่ มันไม่สามารถหนีภาพนี้ได้

เพจหลักของ Goal ในเฟซบุ๊ก ก็จะไม่สามารถเอาคำว่า .com ออกไปได้ เพราะคนมันติด บางประเทศยังติดคำว่า .com อยู่ ไม่สามารถยกออก อย่างเช่น เวียดนาม (Goal.com Vietnam) มันมีความเป็นเว็บไซต์จากยุคเก่าอยู่ประมาณหนึ่ง แต่เพราะมันเปลี่ยนนี่แหละ มันถึงได้โต

ในช่วงเริ่มต้นของ Goal Thailand เว็บที่ทีมพวกคุณดูแล เติบโตมาได้อย่างไร ในการแข่งขันที่มีสื่อกีฬาเจ้าใหญ่ครองเจ้าตลาดฟุตบอลในไทยมาอย่างช้านาน 

สยามกีฬา เขาต่อสู้ในพื้นที่ของเขามานาน จนกีฬามีมูลค่าจริง เกิดเป็นอาณาจักรสื่อขึ้น จากความเหนื่อยยาก ความพยายาม เขาก็สมควรได้รับสิ่งที่เขาพยายามและต่อสู้มา แต่ถ้ามองในตลาดสื่อฟุตบอลไทย สยามกีฬา ก็ยังไม่ได้ครอบคลุมในทุกสิ่งที่ทุกคนต้องการอยู่ดี

โอเค เขาทำได้ดีในส่วนที่เขาได้ดีอยู่แล้ว แต่พอเขาขยายตัวใหญ่ขึ้น เขาก็จะมีข้อจำกัดในตัวเขา ในตอนนั้นโครงสร้างรายได้มาจากสื่อสิ่งพิมพ์เป็นหลัก ส่วนการทำดิจิตัล ถึงจะมีคนเข้าเว็บไซต์เขาเยอะ แต่เขาไม่ได้เน้นไปมากกว่าสิ่งพิมพ์ ที่สามารถขายโฆษณาในเล่มได้ตั้งหลายตังค์ 

และยิ่งเมื่อเขามีทีมกีฬาเป็นของตัว อย่าง เมืองทอง ยูไนเต็ด มันเป็นเรื่องยากมากที่จะรักษาสถานะความเป็นกลางในสายตาคนทั่วไป เมื่อเขาพูดเรื่องดีของเมืองทอง คนอาจก็มองไม่ดีไปอีก ขยับตัวลำบาก 

แต่เราไม่มีภาระตรงนั้น เลยเริ่มต้นทำงานได้ง่ายกว่า เรานำเสนอข่าวได้ทุกทีม และมันอาจเป็นโอกาสด้วย เพราะเจ้าตลาดเดิมเขาอยู่พื้นที่ตรงนั้นมานาน คนอ่านบางส่วน อาจเริ่มมองหาสิ่งใหม่ 

แต่เราก็พยายามกันมาก เพื่อจะได้มีตัวตนในระบบนิเวศสื่อกีฬาไทย ตอนเซ็ทอัพทีมงาน Goal Thailand ชุดแรก เราคุยกันนานมากว่า เราจะยืนอยู่ในตลาดที่มี เจ้าตลาดเบอร์ใหญ่ อย่าง สยามกีฬา และคอมมูนิตี้ฟุตบอลเบอร์ 1 ในโลกดิจิตัล อย่าง SoccerSuck อย่างไร แล้วเราเป็นใคร? เราจะทำอะไรได้บ้าง 

เราเลือกตั้งแต่ภาษาที่เขียน ทีมงานชุดแรกเขียนข่าวแล้วทิ้งไปเกือบ 300 ชิ้น เพื่อค้นหาว่า น้ำเสียง ภาษาของเราคืออะไร สำเนียงเราเป็นแบบไหน ก็ต้องมาเลือกเพื่อให้คนอ่านรู้ได้ทันทีว่า คาแรกเตอร์ เราเป็นอย่างไร? 

คนอ่านจำเป็นต้องชอบหรือไม่ชอบ อย่างใดอย่างหนึ่ง หากเขารู้สึกเฉยๆ นั่นแปลว่ามีปัญหาแล้ว เพราะเขาจะไม่กลับมาอ่านอีก แต่เขาชอบ เขาจะกลับมาซ้ำ ถ้าไม่ชอบ เขาอาจจะกลับมาตามอีกว่า มันพัฒนาขึ้นหรือยัง

ทำไมคนถึงรู้จัก Goal Thailand ทั้งที่มีคู่แข่งเบอร์ใหญ่กว่า 2 ราย ในเวลานั้น

วันที่เราเปิดตัว Goal Thailand เราไม่มีงบสำหรับการประชาสัมพันธ์เลย เราใช้ได้แต่ของฟรี ซึ่งของฟรีที่เราถนัดสุดในตอนนั้นคือ Facebook ที่กำลังเริ่มได้รับความนิยมในบ้านเรา แต่ยังไม่แพร่หลายมาก เราก็ทำเพจให้เป็นเหมือนหน้าโฮมเพจของเว็บไซต์

เราน่าจะเป็นเพจฟุตบอลแรกๆ ในไทยมั้ง ที่ทำภาพกราฟิกลงเพจ เราตั้งใจว่า อะไรที่สื่อประเภทอื่นทำได้ เราต้องทำให้ได้แบบนั้น งานเราต้องมีทั้งความลึก ความกว้าง การนำเสนอที่ทำกับฟุตบอลนอกแล้วดี เราเอามาใช้กับการทำเนื้อหาฟุตบอลไทยด้วย ถ้าในตอนนี้ หากนับเฉพาะเว็บไซต์ฟุตบอลไทย Goal น่าจะเป็นอันดับ 1 ถ้านับกีฬาอื่นด้วย ยังไงก็ต้องเป็น สยามกีฬา

เราโตขึ้นมาได้ เพราะเราทำในเรื่องหรือจุดที่คนอื่น ในตลาดเดียวกันไม่สามารถทำได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราไม่มีภาระผูกพันติดหลัง เราทำในสิ่งที่ตัวเราอยากทำ อยากอ่าน และสุดท้ายก็มีคนอ่านของเราจริงๆ เราไม่คิดว่าตัวเองไปกินส่วนแบ่งของ สยามกีฬา หรือ SoccerSuck มา เราน่าจะเติบโตขึ้นมาในทางของเราเอง

เราสังเกตว่า Goal Thailand มุ่งเน้นในเรื่องการทำข่าวเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่บทความส่วนมากก็เน้นไปที่พวกเรื่องสถิติ ข้อมูลที่น่าสนใจ มากกว่าบทความเชิง Opinion เหตุใดทำไมเป็นเช่นนั้น

เราโตมากับคนอ่านและโซเชียล เราตั้งตัวขึ้นมาได้จากการมีพื้นที่ในนั้น ที่นั่นทุกคนมีความเห็นได้หมด บทความก็เป็นความเห็นอย่างหนึ่ง เราเคยเขียนบทความเชิง Opinion ออกทุกวัน สัปดาห์ละหลายชิ้น

แต่เราก็กลับมาคิดว่า ทุกคนต่างมีความเห็นเป็นของตัวเอง คนอ่านเราก็มีความเห็น สุดท้ายเราปล่อยให้ความเห็นมาเจอกันในกล่องคอมเมนท์ดีกว่าไหม เราไม่ได้รู้สึกว่าความเห็นของเรา เหนือกว่าใคร เราอาจไม่ได้รู้ข้อมูลมากกว่าทุก ๆ คน หลายครั้งที่เรายังโดนคนอ่านแก้คำผิดอยู่เลย 

เมื่อเราให้ข้อมูลผู้อ่านทันกับเรา คนอ่านได้รับข้อมูลชุดเดียวกับเรา เรากับคนอ่าน ความเห็นอาจไม่ต่างกันมากในแง่ของคุณค่าข่าว สุดท้ายเราคิดว่า เออ พอเป็นเรื่องความเห็น มันอาจจะไม่มีคุณค่าข่าวขนาดนั้น เราก็ถอยมาเป็นสายให้ข้อมูลให้มากที่สุดดีกว่า

เรามาเน้นให้ข้อมูลเรื่องสถิติ รายละเอียดเบื้องหลังเกม Opta Stats ที่เป็นข้อมูล อย่างชิ้นที่เพิ่งเผยแพร่ออกไป “บุรีรัมย์ จะโดนโทษอะไร หากถอนตัวไม่ไปแข่ง เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก รอบคัดเลือก” เนื่องจากความกังวลเรื่องไวรัสโคโรนา 

นี่คือสิ่งที่คนอ่านอยากรู้ และเราเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงข้อมูล เราก็แค่นำเอาข้อมูลเหล่านั้นมาส่งให้คนอ่าน ส่วนความเห็นเป็นเรื่องของทุกคน คือคนเราจะคุยกันได้ ก็ต่อเมื่อมีข้อมูลเท่ากัน ถ้าคนมีข้อมูลเท่ากันปั๊ป บทสนทนามีคุณค่า แบบนี้น่าจะดีแล้ว

Goal เติบโตขึ้นมาและแพร่ขยายไปทั่วโลก ภายในทศวรรษเดียว จากการทำสำนักข่าวฟุตบอลออนไลน์ แล้วในภาพกว้างของวงการสื่อ คุณมองเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง? 

มันถูก Disrupt (การถูกทำลายหรือกวาดล้างสิ่งเก่าโดยสิ่งใหม่) เละเทะเลย ตอนที่ผมเข้าเรียนมหา’ลัย ปีที่ 1 ตอนนั้นแม่ของเพื่อนร่วมชั้นเรียน ตกงาน เพราะทำงานเป็นช่างเรียงพิมพ์คนสุดท้ายของระยอง 

ทั้งที่อาชีพนี้ต้องอาศัยความชำนาญมากเลยนะ แต่กลับตกงาน เพราะไม่มีงานให้ทำแล้ว เครื่องแบบที่เรียงตัวตะกั่วใส่ถาดแล้วยัดเข้าแท่นพิมพ์ มันไม่มีอีกแล้ว มันถูกเปลี่ยนเป็นแท่นพิมพ์แบบที่เห็นอยู่ปัจจุบัน ซึ่งก็กลายเป็นของล้าสมัยของยุคนี้อีกที

เรื่อง Disrupt มันเกิดขึ้นตลอดเวลาอยู่แล้ว เพียงแต่ในรอบ 10 ปี ความเร็วมันสูงขึ้นมากๆ จนคนเริ่มกังวล มันเร็วไปหรือเปล่า มีที่ทางให้ของเก่าไหม แม้แต่ Goal ที่เริ่มมาเป็น สื่อดิจิตัลมาโดยตลอด ก็ยังถูก Disrupt อยู่ไม่เว้นวัน ยกตัวอย่าง เมื่อก่อน เว็บไซต์จะมีรายได้จากการขายแบนเนอร์ติดหน้าเว็บ ลูกค้าต้องจ่าย สัปดาห์ละกี่บาทก็ว่าไป

ทุกวันนี้แบนเนอร์ก็ยังอยู่ แต่ไม่มีใครเขาขายแบบนั้นแล้ว พอข้อมูลมันเปิดให้ทุกคนเห็น ของที่เคยขายได้ง่าย ก็มันไม่ง่ายอีกต่อไป ถ้าลูกค้าระบุว่าต้องการให้ คนอายุ 25-35 ปี เพศชาย เห็นจำนวน 500 ครั้ง ถ้าเราทำยอดไม่ถึง ก็เคลมไม่ได้ ต้องทำให้ครบจำนวน ลูกค้าถึงจะจ่ายเงิน 

ลูกค้าเองก็ต้องปรับตัว จากที่เคยอยากให้พยายามยัดเยียดให้คนเห็นเยอะ ๆ ก็พบว่า โฆษณาเป็นสิ่งที่ขัดขวางผู้อ่านกับเนื้อหา ไม่มีใครอยากจ่ายเงินเพื่อเป็นตัวน่ารำคาญของผู้อ่าน เขาก็เปลี่ยนมาเป็นการสนับสนุนเนื้อหา ที่ส่งเสริมภาพลักษณ์แบรนด์ หรือทำตัวสนิทสนมกับไลฟ์สไตล์ของผู้อ่านแทน

วิธีการสื่อสารมันเปลี่ยนไป เปลี่ยนวิธีการโฆษณา คนทำเนื้อหาเฉพาะทางอย่างเช่น สื่อกีฬา กลับมามีบทบาทกับกลุ่มเป้าหมายบางประเภท เพราะสื่อพวกนี้ สามารถคุยกับคนกลุ่มหนึ่ง ได้เฉพาะเจาะจง รูปแบบรายได้ก็เปลี่ยนแปลงไป แต่ถามว่าเปลี่ยนไปในจุดอู้ฟู่ไหม คนทำสื่อไม่เคยอู้ฟู่เลย

เพราะอะไร?

เพราะการทำคอนเทนต์ต่างๆ มันเกือบจะเป็น นามธรรมร้อยเปอร์เซนต์ ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นวัตถุ สมมติมีคนพูดบอกว่า เราทำสิ่งพิมพ์ เรามีหนังสือไงที่เป็นรูปแบบ “แกไม่ได้ทำหนังสือ แกทำเนื้อหาที่อยู่ในหนังสือ” แกไม่ได้ตัดไม้มาทำกระดาษ 

สุดท้ายสิ่งที่ทำก็คือเนื้อหา เมื่อผลิตเนื้อหาแล้ว ก็ต้องหา Container (ประเภทของสื่อ) มาบรรจุใส่ จะเป็น หนังสือ หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ เพจ อะไรไม่รู้แหละ แต่ต้องมี Container ซึ่ง Container มักจะมีราคาแพงด้วย 

สมัยที่เราทำงานในนิตยสาร ก็พบว่า ค่าพิมพ์มันกินทุกอย่าง จนจ้างช่างภาพได้แค่คนเดียว จนไม่สามารถเดินทางไปสัมภาษณ์คนได้ ค่าพิมพ์กินทุกอย่างหมดเลย แต่สุดท้ายถ้าเราลงทุนกับทุกอย่างมากเกินไป เราก็ยัดเนื้อหาทั้งหมดลงไปไม่ได้อยู่ดี เพราะค่าพิมพ์มันแพง 

สมัยนี้มันดีขึ้น บางที Container ที่ใช้เราไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ดังนั้น งานแบบที่พวกเราทำ มันเป็น นามธรรม การประเมินคุณค่าและราคา ยากเสมอ ขึ้นอยู่กับลูกค้าในตลาดว่า ต้องการจ่ายเราเท่าไหร่

คุณมองว่าอะไรที่ทำให้ หนังสือพิมพ์ หนังสือ หรือ นิตยสารกีฬาในบ้านเรา ถูกลดบทบาทลงมา แล้วกลายเป็น สื่อออนไลน์ มีบทบาทมากขึ้น ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา 

สมัยก่อนความเร็วเป็นเรื่องที่ต้องแข่งขันกัน ใครหาวิธีทำให้ได้เร็วที่สุด ก็จะได้ราคา ได้คนดู แต่สมัยนี้ความเร็วมันไม่ได้สำคัญขนาดนั้น บางคนที่ไม่ได้ทำงานสื่อ ไม่ได้มีอาชีพเฉพาะเจาะจง อาจเข้าถึงข้อมูลก่อนนักข่าวก็ได้

ย้อนกลับในอดีต สมัยยังไม่ค่อยมีการถ่ายทอดสด คนก็รอดูบอลแห้ง (บันทึกเทปการแข่งขัน) ที่ต้องรอหลายวัน โอเค ดูสนุกด้วยความเป็นกีฬาฟุตบอล แต่ดูสดกับดูแห้ง อารมณ์มันต่างกันอยู่แล้ว ดังนั้นมนุษย์จึงต้องการรับรู้ผลการแข่งขันให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้เริ่มบทสนทนากับคนอื่น 

ตอนนั้นผลบอลที่ลงในหนังสือพิมพ์รายวัน คือสิ่งที่เร็วสุดแล้ว ต่อมาก็มีคนกล้า (สยามกีฬา) ทำหนังสือพิมพ์กีฬารายวันขึ้น แล้วปรากฏว่า มันตอบโจทย์สำหรับทุกคน เขาจึงอยู่ได้ 

แต่พอมาถึงยุคที่การสื่อสารเร็วขึ้นไปอีก การทำหนังสือพิมพ์รายวัน การรอให้ทุกอย่างไหลลงกระดาษ กลายเป็นเรื่องที่ช้าเกินไป คือคนทำงานเองก็น่าจะรู้ว่า ตัวเองเห็นบนจอก่อน แล้วค่อยข้ามไปอีกจอ เห็นจากจอเทเล็กซ์ แล้วค่อยข้ามไปจอฝ่ายอาร์ท แล้วค่อยลงกระดาษ

ถ้าวันหนึ่งทุกคนมีจอเหมือนกันหมด แล้วกระดาษจะมีไว้ทำไม แล้วมันก็เกิดขึ้นจริงๆ ทุกคนมีจอที่สามารถพกไปไหนมาไหนก็ได้ การจะขายกระดาษ พยายามขายในความคลาสสิค ในความเป็นสื่อช้า มันใช้ได้กับเนื้อหาบางอย่าง แต่กับฟุตบอล พูดยาก ฟุตบอลเตะกันแทบทุกวัน ความเคลื่อนไหวมีตลอดเวลา แล้วกระดาษก็ไม่ได้เห็นภาพเคลื่อนไหวด้วย

ทราบมาว่า Goal Thailand ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มี ออฟฟิศของตัวเอง? และรูปแบบการทำงานของพวกคุณเป็นอย่างไร 

Goal Thailand เป็นดิจิตัล 100 เปอร์เซนต์ เพราะเราทำเว็บไซต์ เราไม่มีแท่นพิมพ์ เราไม่มีอะไรที่เป็นอะนาล็อกเลย แม้แต่กล้องถ่ายรูปก็เป็นดิจิตัลแล้ว ก็เคยมีคนถามเหมือนกันว่า “ออฟฟิศเราตั้งที่ไหน?” เราเลยมาคิดกันว่า “ควรมีดีไหม”

เพราะทีมงานชุดแรก อยู่กันคนละจังหวัด เราอยู่ปทุมธานี บางคนอยู่ชลบุรี แล้วที่ไหนคือสะดวกสุด ก็เลยกัดฟันเอางบที่เช่าออฟฟิศ ไปใช้กับอย่างอื่นที่ดีกว่า การไม่มีออฟฟิศ มันก็มีความลำบากในแบบของมัน 

แต่ว่าในภาวะของเรา มันก็ทำให้เราโตและทำงานได้ เราก็โตมาจากการไม่มีออฟฟิศ โดยการที่ใครอยู่ตรงไหนก็สามารถทำงานได้ มันก็สร้างประโยชน์ในแบบของมัน ทีมงานเรามีชีวิตที่ดีได้ โดยไม่ต้องเดินทางมาเข้าออฟฟิศ เดินทางเท่าที่จำเป็น เจอกันเท่าที่อำนวย บางคนจ้างมา ยังไม่เคยเจอตัวเลย 

พอการสื่อสารมันดี จำนวนคนที่น้อยไม่ได้เป็นอุปสรรค เราทำงานในสเกลเดียวกับ กับองค์กรที่มีคนหลักร้อยคน แต่เราใช้คนทำงานหลักสิบ ตอนนี้ผมไม่แน่ใจว่าทีมงานมีเท่าไหร่ เพราะถอยออกมาอยู่เบื้องหลังมากๆ แล้ว แต่คิดว่ารวมแล้วไม่น่าเกิน 20 คน

มันไมใช่แค่ทีมงานไทย มีอินเตอร์เนตติดต่อกัน แล้วจะทำให้เรามีพลัง การมีคอนเนกชั่นแบบเดียวกันในต่างประเทศ เรามีการพูดคุยกันกับ เอดิชั่นต่างประเทศ แลกเปลี่ยนข่าวสารกัน บางข่าวที่อาจดูธรรมดาในบ้านเรา อาจข่าวใหญ่ในต่างประเทศก็ได้ อย่างเช่นล่าสุด มีน้องลูกครึ่งสเปน ถูกเรียกติดตัวทีมชาติไทย รุ่น U16 มันไม่เป็นประเด็นในบ้านเรา แต่มันเป็นประเด็นที่สเปน เพราะพ่อน้องเป็นดารา เป็นพิธีกรที่นั่น

Goal Thailand ถูกมองว่าเป็นเว็บไซต์ฟุตบอลไทยที่น่าเชื่อถือ และมีมาตรฐาน ยากแค่ไหนที่ต้องรักษาเครดิตตรงนี้ไว้ ในยุคที่ผู้คนมักตั้งคำถามถึงมาตรฐานของ สื่อ?

ต้องรักษาอยู่แล้ว ความน่าเชื่อเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากการทำอะไรซ้ำๆ จนคนเชื่อว่าเราทำได้จริงๆ ความน่าเชื่อถือไม่ได้เกิดขึ้นแค่ 3-5 วัน แต่มันใช้เวลาเป็นปี และมันก็ไม่ใช่จะทำลายกันง่ายๆ ถ้าเราไม่แย่จริงๆ

Goal Thailand ก็มีมาตรฐานในแบบของมัน อะไรที่เราอ่านแล้วรู้สึกไม่น่าไหว คนอ่านก็คงรู้สึกแบบเรา ส่วนหนึ่งเพราะแฟนเพจของเราดุด้วย ดุมาก คนอ่านเขาก็เข้มงวดกับเรา เพราะเขาเห็นว่าเราฟัง เขาก็มาพูดให้เราฟัง เราก็ต้องขอบคุณแฟนเพจ คนติดตาม ที่ให้ใจกับเรา สนใจเรา ใส่ใจเรา เราก็ต้องตอบแทนในลักษณะเดียวกัน คือ ต้องให้ใจเขา 

เรานึกถึงคนอ่านอยู่ตลอด มาตรฐานมันตกไปไม่ได้ เพราะเวลาเผยแพร่ออกไป มันเห็นอยู่ตำตา มีคนมาอ่านทันที เราปล่อยให้เขาทักท้วงขนาดนั้นไม่ได้ เกรงใจเขา มาตรฐานมันต้องมีไปเอง ถามว่ายากไหม? ถ้าทำอะไรซ้ำๆ สักครั้งที่ 8 มันก็ง่ายกว่าครั้งที่ 7 อยู่แล้วหรือเปล่า?

อะไรที่เคยยาก เมื่อเราทำซ้ำๆ มันก็จะง่ายเอง เมื่อเป็นมาตรฐานไปแล้ว ภาพจำของเราเป็นแบบนั้น เราก็ต้องขยับให้สูงขึ้นไป 

มันไม่ได้เป็นเรื่องเลิศหรู หรือสูงส่งอะไรหรอก มันเป็นเรื่องทำกับข้าวแล้วคนกินไม่ตาย มาตรฐานง่ายๆ อาหารต้องสะอาดและสุก ไม่มากกว่านี้ 

การไม่พิมพ์ผิดคืออาหารที่สะอาดและสุก ไม่ได้ใหญ่โตไปกว่านี้ รักษามาตรฐานยากไหม ก็คงเหมือนร้านอาหารที่เขาต้องทำอาหารให้สะอาดและสุก ทำทุกวัน มันก็มีความยากและเหนื่อยในตัวของมัน ทำชุ่ยง่ายกว่าจริงไหม? ลำบากไหมล่ะ ในเมื่อเลือกทำมาหากินทางนี้แล้ว เราก็ต้องทำให้มันมีมาตรฐานหรือเปล่า

เราพยายามสร้างมาตรฐานหลายๆ อย่าง อะไรที่เคยดีมาก่อน แล้วตอนนี้ไม่ดี เราก็ไม่ทำแล้ว เช่น เราพยายามยกเลิกฉายาทั้งหลายที่มัน Racism (เหยียด) ไม่ใช้เลย ยกตัวอย่าง “ชบาแก้ว” เราเป็นที่แรกที่ใช้คำนี้เรียก นักฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย แทนคำว่า “แข้งเนื้อนิ่ม” เราไม่อยากใช้คำที่มันไม่ดีกับใจคน ก็ลองเอาชื่อในการ์ตูน (ชบาแก้ว คือตัวละครเอกฝ่ายหญิงในการ์ตูนช้าง “ก้านกล้วย”) มาใช้ ปรากฏว่ามันเวิร์ค

พื้นฐานของเรา คือ การนำเสนอฟุตบอลในแบบที่เป็นของดี ของมีค่า อะไรที่ทำให้คุณค่ามันลดลง เช่น คำพูดที่ไม่ดี ฉายาที่เหยียดหยาม เสียดแทง ไม่ดีกว่า โอเค ฟุตบอลมีการบลัฟเป็นธรรมชาติ ไม่ได้ผิด แต่ต้องอยู่ในขอบเขต ถ้ามันทำให้คนที่ถูกเรียกไม่สนุก อย่างนั้นเขาเรียกรังแกแล้ว

อย่างที่เห็นว่ายุคนี้ คนทำงานสื่อตกงานกันเยอะมาก แม้แต่ในองค์กรใหญ่ หรือ คนที่มีประสบการณ์ทำงาน 20-30 ปี ก็ถูกเลิกจ้าง ตามข่าวที่ปรากฏ คุณมองสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนทำงานสื่อ ในยุคนี้อย่างไร?

มองเหมือนตอนอยู่ปี 1 ความถนัดเฉพาะตัว ดียังไงก็อาจจะไม่เป็นที่ต้องการได้ ทักษะที่ตลาดต้องการในระยะสั้น สมัยนี้มีเยอะไหม? เยอะ มันเป็นยุคที่เราต้องเรียนรู้, เลิกเรียนรู้ และเรียนรู้ใหม่ ตลอดเวลา เพราะเอาจริงๆ ผมเองคือ กราฟิกดีไซน์ที่ตกยุค 

ผมตกยุคไปเพราะตอนเขาเริ่มเขาหัดทำ UI (User Interface) - UX (User eXperience) เพื่องานเว็บไซต์ เราไม่เอา เราจะอยู่กับสิ่งพิมพ์ สุดท้ายไม่มีงานทำ ก็ต้องข้ามมาทำคอนเทนต์ เพราะทักษะที่เรามีไป มันก็ตกยุคไป 

แต่ว่าทักษะ Soft Skill ที่ไม่ผูกพันกับเครื่องมือ ไม่ผูกพันกับรูปแบบ ในตัวเรามีทุกคน บางครั้งเป็นเพราะเรามีอันนี้ที่อ่อน แต่ปกปิดไว้ได้ด้วยความชำนาญเครื่องมือ ทำให้เราอยู่รอดในวงการ แตพอไม่มีตรงนั้นมาปกป้องเราได้ มันก็ช่วยอะไรไม่ได้ 

เหมือนยุคหนึ่ง ช่างภาพบางคน อาจถ่ายไม่เก่งหรอก แต่ถือกล้องดี กล้องแพง ก็มีงาน ทุกวันนี้ใครก็ซื้อกล้องได้ กัดฟันนิดเดียวก็ซื้อได้แล้ว เพราะฉะนั้นคุณไม่สามารถซ่อนตัวในอุปกรณ์ราคาแพงได้แล้ว สุดท้ายมันกลับมาวัดกันที่ ทักษะ เราตกงานกันที่แบบนี้ 

หรือบางคนทำงานจริงๆ แต่ว่ามีความยึดติด มีความเชื่อในสไตล์ตัวเองมากๆ เชื่อในการนำเสนอของตัวเองมากๆ เชื่อจนกระทั่งไม่อยากเปลี่ยน แล้วพอไม่อยากเปลี่ยน ตลาดไม่ตอบรับ คนที่ชื่นชอบคุณ อาจมีจำนวนน้อยเกินไป สุดท้ายมันก็เป็นทักษะที่สร้างรายได้ให้คุณไม่ได้ หรือองค์กรไม่สะดวกที่จะจ้างต่อ

คุณคิดว่าในทศวรรษหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ในวงการสื่อกีฬาไทย และคิดว่าอะไรที่ทำให้ Goal Thailand ดำรงคงอยู่ต่อไปได้

พูดกับน้องๆ ในทีมมาหลายปี ที่นี่เน้นการเลื่อยขาเก้าอี้กันเอง อยากให้น้องมาไล่หลังรุ่นพี่ อย่าให้เราอยู่นาน ไม่ว่าจะเก่งยังไง คนทุกคนมันมีอายุการใช้งานกันทั้งนั้น เหมือนอาหารที่แพงสุด ก็มีวันหมดอายุ ถ้าหมดอายุแล้วตั้งอยู่นานที่เดิม มันจะมีปัญหา จะเริ่มส่งกลิ่นเน่าเหม็น ถูกคนมองข้าม ทั้งที่เคยเป็นของที่เคยดี

ทุกคนใน Goal จำเป็นต้องถูกไล่หลัง ถูกดัน ถ้าตัวเองขยับสูงขึ้นกว่านี้ไม่ได้ ก็จะต้องถูกน้องดันให้ออกไป ถ้าไม่อยากถูกดันออกไป ก็ต้องขยับตัวให้สูงขึ้น รับผิดชอบให้มากขึ้น ถ้าขยับไม่ออก มันจะมีปัญหา สุดท้ายจะเป็นคนน่าเบื่อและเป็นของบูด

เรื่อง Disrupt พยายามให้น้องมุ่งร้ายกับองค์กรให้มากๆ พยายามหาจุดโค่นล้ม Goal ให้ได้ในทุกวัน หาให้เจอ ก่อนคนอื่นเจอ เราต้องหาวิธีฆ่าจุดอ่อนของเราให้ได้ก่อน เพื่อที่เราจะเกิดใหม่เป็นอย่างอื่น ถ้าคนอื่นเจอจุดนั้นก่อนเราเจอ เราโดนคนอื่นเก็บ เราไม่มีโอกาสได้กลับมาอีกเลย แต่ถ้าเราเจอแล้วเราทำลายมันทิ้งได้ ก็ไปต่อได้

ยกตัวอย่าง BlackBerry มันเคยเป็นของที่แมส แต่ดันหาไม่เจอว่า ตัวเองจะถูกทำลายจากอะไร? สุดท้ายก็ถูกคนอื่น Disrupt จากที่เห็นว่า BlackBerry มีแพลทฟอร์มของตัวเอง ที่มีความปิดสูงมาก ไม่สามารถขยับไปเป็นสมาร์ทโฟนที่แท้จริงของทุกคนได้ 

เมื่อเราเห็นว่านี่คือจุดอ่อนของเรา แต่เราไม่สามารถฆ่าจุดนั้นของตัวเองได้ สักวันหนึ่งก็จะมีคนมาฆ่าเราด้วยจุดอ่อนนั้น เราก็จะกลับมาไม่ได้อีกเลย 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook