"ภควัฒน์ วิไลลักษณ์" : จากแบดบอยแบดมินตันสู่ครูผู้สอนความผิดพลาดของตัวเองให้เด็กรุ่นใหม่

"ภควัฒน์ วิไลลักษณ์" : จากแบดบอยแบดมินตันสู่ครูผู้สอนความผิดพลาดของตัวเองให้เด็กรุ่นใหม่

"ภควัฒน์ วิไลลักษณ์" : จากแบดบอยแบดมินตันสู่ครูผู้สอนความผิดพลาดของตัวเองให้เด็กรุ่นใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ตอนผมติดทีมชาติ ซ้อมตอนเย็นเสร็จ 2 ทุ่ม ผมรีบอาบน้ำแต่งตัวออกไปเที่ยว ไปกินเหล้าเมายา กลับมาอีกที 6 โมงเช้า เพื่อซ้อมต่อตอน 7 โมงเช้า ทำแบบนี้ทุกวัน ทุกวันที่ผมบอก คือ ทุกวันจริงๆ”

พื้นฐานสำคัญของนักกีฬาอาชีพ ที่ทุกคนต้องมีไม่ต่างกัน คือระเบียบวินัยการอยู่ในกฎระเบียบ ไม่ออกนอกลู่นอกทาง ไม่แตะต้องอบายมุขต่างๆ ทั้งเหล้า บุหรี่ เที่ยวกลางคืน หรือการพนัน มุ่งมั่นทำงานอย่างมืออาชีพ

ชายที่รับรู้เรื่องราวเหล่านี้เป็นอย่างดี คือ ภควัฒน์ วิไลลักษณ์ อดีตยอดนักแบดมินตันพรสวรรค์ ของทีมชาติไทย ไม่ใช่เพราะว่า เขาเคยอยู่ในกฎระเบียบ จนตัวเองก้าวไปสู่ความสำเร็จ แต่เขาเคยเกเร ออกนอกลู่นอกทาง จนไปไม่ถึงเป้าหมายที่ควรจะเป็น 

 

จากอดีตแบดบอยตัวฉกาจของวงการแบดมินตันไทย ภควัฒน์ผันตัวมาเป็นอาจารย์สอนแบดมินตัน ที่ไม่ได้สอนเพียงทักษะในสนามแข่งขัน แต่สอนบทเรียนชีวิตของการเป็นนักกีฬาอาชีพ ให้กับลูกศิษย์ทุกคน ผ่านประสบการณ์ตรงของตัวเขาเอง

เซ็ตที่ 1 : จุดกำเนิดแบดบอย

“จริง ๆ ตอนเด็ก ๆ ใจชอบเล่นฟุตบอล แต่ว่าเราตัวเล็ก ไปเล่นโดนชนกระเด็นตลอด เจ็บตัวกลับมา คุณพ่อของผมท่านเล่นแบดมินตัน แนะนำมาว่า ลองเปลี่ยนมาเล่นแบดมินตันสิ” 

“ผมก็ลองไปตีดู แล้วเหมือนกับว่า พอจับไม้ก็ดีได้เลย เหมือนว่าเราตีเป็นเลย ทั้งที่ยังไม่ต้องฝึก ผมจึงเริ่มเล่นแบดมินตันมานับตั้งแต่นั้น” ภัควัฒน์เริ่มต้นเล่าเรื่องราวของตัวเอง

 1

ไม่ต่างจากเด็กทั่วไป ที่ย่อมสนุกกับการเล่นกีฬา ในประเภทที่ตัวเองจะทำผลงานได้ดี...แม้หัวใจจะรักฟุตบอล แต่พรสวรรค์ที่อยู่ในตัวของภควัฒน์ ทำให้เขาฉายแววเก่งตั้งแต่วัยเยาว์ โดยไม่ต้องผ่านการฝึกกับสโมสรแบดมินตันชั้นนำ ไม่ต้องมีสังกัดคอยสนับสนุน

ภควัฒน์สร้างผลงานของตัวเองมาเรื่อยๆ จนกระทั่งอายุ 11 ปี ผลงานของเขาไปเข้าตาสโมสรแห่งหนึ่ง และได้รับการอุปการะ ให้เข้ามาเรียนวิชาแบดมินตัน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น

ทันทีที่เขาเข้าสู่ระบบการสร้างนักกีฬาอย่างถูกต้อง ภควัฒน์สามารถกวาดแชมป์มาประดับบ้านอย่างต่อเนื่อง ทำให้เขาคิดหันมาเริ่มต้นอยากเป็นนักกีฬาอาชีพอย่างจริงจัง เพื่อหาเลี้ยงตัวเอง 

อย่างไรก็ตาม แม้ชีวิตนักกีฬาของภัควัฒน์ จะไปได้สวยตั้งแต่แรกเริ่ม แต่ชีวิตอีกด้าน ในรั้วโรงเรียนของเขา กลับตรงกันข้าม  

“ผมเป็นคนไม่ชอบเรียนหนังสือ ยิ่งผมเล่นแบดฯ มีสโมสรอยู่ ผมไม่เอาเลย ตอนมัธยมฯ ต้น ผมเรียนอยู่ที่โรงเรียนโยธินบูรณะ ผมไม่สนใจเรื่องเรียนเลย อยากแต่จะสนุก เพราะตอนนั้นติดเพื่อน หลังจากนั้นก็เริ่มลองบุหรี่ เริ่มกินเหล้า” 

“พอจบม.3 ผมบอกพ่อ ขอลาออกจากโรงเรียน ไม่อยากเรียนแล้ว จะไปเรียนการศึกษานอกโรงเรียนแทน คุณพ่อไม่ยอม ผมก็ไม่ฟัง สุดท้ายก็ลาออกมาอยู่ดี”

“หลังลาออกจากโรงเรียน ผมก็ทิ้งเรื่องเรียนไปเลย ไปเที่ยว ไปเกเรอย่างเดียว ตอนนั้นทำทุกอย่าง กินเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวผู้หญิง เล่นการพนัน ครบทุกอย่าง”

“แต่ว่าผมซ้อมแบดมินตันปกตินะ ไปซ้อมตลอด ไม่เคยออกนอกลู่นอกทาง แต่ว่าถ้าเวลาไหนไม่มีซ้อม ผมออกไปเที่ยวตลอด ไปกินเหล้าสูบบุหรี่ ไม่เคยหยุด”

 2

แม้จะเกเร ออกนอกลู่นอกทางมากเพียงใด แต่พรสวรรค์ที่ไหลอยู่ตัวของภัควัฒน์ ทำให้เขาประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง จนสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย ต้องการตัวภควัฒน์เข้าไปติดทีมชาติไทย ด้วยวัย 17 ปี

“ตอนนั้นโค้ชที่อุปการะผม เขาไม่ยอมให้ผมเข้าไปติดทีมชาติเลย เขาให้เหตุผลมาคำเดียวเลย ‘ไอ้นี่มันเ*ย’” ภควัฒน์เล่าอย่างเปิดอก

“โค้ชมองว่าตอนนั้นผมยังไม่พร้อม ทั้งในเรื่องของฝีมือ และเรื่องระเบียบวินัย เพราะในแคมป์ทีมชาติ ชีวิตจะมีอิสระมาก เขามองว่าเรายังดูแลตัวเองไม่ได้ นิสัยยังเกเร ไม่อยากให้ผมเข้าไป กลัวผมจะเละเทะกว่าเดิม”

“แต่ตอนนั้น ผมไม่เชื่อ เพราะใครจะไม่อยากติดทีมชาติ เป็นนักกีฬาทีมชาติ เราก็ดึงดัน จะต้องเข้าไปให้ได้ พอเข้าไปก็เป็นแบบที่โค้ชพูดจริงๆ ถ้าพูดตรงๆก็คือ การติดทีมชาติ คือ จุดเริ่มต้นจุดดิ่งในชีวิตผมเลย”

เซ็ตที่ 2 : สุดทางของการเกเร

จุดดิ่งที่ภควัฒน์หมายถึง ไม่ใช่เรื่องผลงานในสนาม เพราะเขาเริ่มต้นด้วยการคว้าเหรียญทองแดง จากกีฬาซีเกมส์ในปี 2007 ตามด้วยเหรียญทองแดงซีเกมส์ ในปี 2009 

ก่อนจะก้าวไปคว้าเหรียญทองแดง ในการเเข่งขันเอเชียนเกมส์ ในปี 2010 และมีเหรียญรางวัล จากการแข่งขันแบดมินตันรายการต่างๆ มาคล้องคออย่างต่อเนื่อง

แต่เป็นชีวิตนอกสนามของเขา ที่พังเละเทะไม่เป็นท่า

 3

“เรามีอิสระ และเรามีเงิน มันก็เลยไปกันใหญ่ มีเงินเท่าไหร่ผมใช้หมด ไม่เคยเก็บ ไปเที่ยวบางทีหมดเป็นหมื่นในคืนเดียว กินเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวผู้หญิง เล่นการพนัน เอาทุกอย่าง และเลเวลคือคูณสอง จากก่อนเข้าเป็นนักกีฬาทีมชาติ”

“ตอนผมติดทีมชาติ ซ้อมตอนเย็นเสร็จ 2 ทุ่ม ผมรีบอาบน้ำแต่งตัวออกไปเที่ยว ไปกินเหล้าเมายา กลับมาอีกที 6 โมงเช้า เพื่อซ้อมต่อตอน 7 โมงเช้า ทำแบบนี้ทุกวัน ทุกวันที่ผมบอกคือทุกวันจริงๆ”

“โค้ชในแคมป์ทีมชาติบอกผมตลอด ถ้าผมเลิกทำตัวแบบนี้ ผมไปได้ไกลแน่ แต่ผมไม่เคยเชื่อ เพราะตอนนั้นเราคิดว่าเราเก่ง เราสู้กับใครก็ได้ เรายังแข่งแล้วชนะ เราใช้ชีวิตแบบนั้น ก็ไม่รู้สึกว่า มันจะกระทบกับผลงานการแข่ง”

“ตอนนั้นผมหลงตัวเอง หลงชื่อเสียง หลงเงินทอง คำว่าเกเรยังน้อยไปสำหรับผม” ภควัฒน์ บอกกับเรา

แม้ชีวิตนอกสนามของ ภควัฒน์ จะออกนอกลู่นอกทางไปไกลขนาดไหน แต่เขายังคงสร้างผลงานมีเหรียญรางวัล สร้างชื่อเสียง ในฐานะนักแบดฯ มือวางอันดับต้นๆของไทยอยู่เสมอ ทำให้เขายังคงได้รับโอกาส ติดทีมชาติมาตลอด ชีวิตของภควัฒน์ จึงไม่พบเจอกับเส้นทางที่จะพาเขากลับเข้ามาอยู่ในจุดที่ถูกต้องของการเป็นนักกีฬาอาชีพ 

 4

“คือบางคนเล่นแบดฯ เพราะอยากเป็นแชมป์ อยากไปแข่งโอลิมปิก แต่ผมเล่นแบดฯ เพราะอยากมีเงิน เราเล่นแบดฯ เรามีเงิน เราคิดว่าแค่นั้น เราประสบความสำเร็จแล้ว เราไม่รู้เลยว่าเราคิดผิด”

“หลังจากนั้น ผมก็หนักขึ้นเรื่อยๆ ไปเล่นการพนัน เสียเป็นล้าน เป็นหนี้เป็นสิน เกเร มีเรื่องชกต่อยทุกวันทุกคืน ปากแตก แขนหัก โดนปืนจ่อหัว เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องปกติ เวลาแขนหักมา ผมก็หลอกโค้ชว่า ผมหกล้ม แต่ถามว่าเขาเชื่อไหม? เขาไม่เชื่อหรอก เขารู้ว่าเราไปเกเรมา”

“จนผมไปมีเรื่องกับลูกผู้มีอิทธิพล จะโดนเขาสั่งเก็บ ตอนนั้นกลัวนะ ใช้ชีวิตแบบหวาดระแวง แต่ก็ไม่ได้คิดที่จะเปลี่ยนตัวเอง”

“แล้วผมก็ยังไปมีเรื่อง ไปทำร้ายร่างกายคนอื่น จนมีหมายศาลมาที่บ้าน พ่อกับแม่เห็นหมายศาล ผมเห็นสีหน้าเขาตอนนั้น ผมสะอึกเลย เห็นความรัก ความเป็นห่วงที่เขามีให้เรา ผมเริ่มคิดได้ เริ่มโทษตัวเอง เราทำอะไรลงไป”

 5

ไม่ใช่แค่ปัญหานอกสนาม ที่เข้ามารุมเร้า แต่ด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่สะสม มายาวนานร่วมสิบปีของภควัฒน์ ทำให้สภาพร่างกายของเขาถดถอยลงไป ไม่สามารถเล่นแบดมินตัน ได้เต็มศักยภาพเหมือนในอดีต

ภัควัฒน์ตัดสินใจบวช เดินเข้าหาร่มพระธรรม เพื่อตั้งหลักให้กับชีวิตเป็นเวลา 3 เดือน ทำให้เขาได้อยู่กับตัวเอง คิดทบทวนเรื่องราวต่างๆ และตัดสินใจจะใช้ชีวิตเป็นภควัฒน์คนใหม่

“คือผมอยากขอโทษทุกคนถ้าเป็นไปได้ ขอโทษทุกคนที่ผมเคยทำไม่ดีเอาไว้ สมัยที่ผมยังเกเร อยากขอโทษคนที่ผมเคยไปมีเรื่อง ไปเกเร ไปทำร้ายไว้ในอดีต” ภควัฒน์กล่าวออกมาจากใจจริง

เซ็ตที่ 3 : ครูผู้อยากให้ลูกศิษย์ได้ดี

ด้วยปัญหาสภาพร่างกายที่รุมเร้า บวกกับปัญหารอบตัวในการเล่นแบดมินตัน ทำให้ภควัฒน์ตัดสินใจลาสังเวียน และผันตัวเองมายืนอยู่ข้างสนาม ในฐานะโค้ชผู้ฝึกสอน ที่ทำให้เขาพบกับมุมมองใหม่ ที่แตกต่างไปจากเดิม 

 6

“พอมาเป็นโค้ช มันไม่เหมือนกับตอนเป็นผู้เล่น พอผมมาเป็นโค้ช ผมอยากเห็นลูกศิษย์ได้ดี ผมกลายเป็นครู เห็นลูกศิษย์ เห็นรุ่นน้อง เขาทำตัวแบบที่เราเคยทำมา ผมก็อยากจะบอก อยากจะเตือนเขา เพราะผมเคยทำมาหมดแล้ว อะไรที่ดีหรือว่าไม่ดี เรารู้หมด และอะไรที่ไม่ดี ผมก็ไม่อยากให้เขาทำ”

เนื่องจากวัยที่นักแบดมินตัน จะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพโดยสมบูรณ์ จะอยู่ที่ช่วง 15-18 ปี ซึ่งเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตวัยรุ่น ทำให้เด็กหนุ่มหลายคน อาจเดินไปผิดทาง ไม่ต่างกับที่ภควัฒน์ เคยทำมาก่อน และเขาต้องการนำประสบการณ์ที่เขามี มาส่งต่อให้กับเด็กรุ่นปัจจุบัน 

“บางคนเป็นเด็กดี เราคงไม่ต้องสอนอะไรเขามาก แต่เด็กบางคนเป็นเกเร เป็นนักเลง เราก็ต้องพูดแบบนักเลงกับเขา ใช้คำว่ามึงกูบ้าง ตรงไปตรงมากับเขา”

“ผมพยายามบอก พยายามสร้างความเข้าใจให้กับเขา เด็กกำลังเป็นวัยรุ่น เราไปบอกเขาว่า ห้ามทำนะ อย่าทำนะ พูดแบบนี้ไม่ได้หรอก เด็กไม่ชอบการถูกบังคับ เขาไม่มีทางเชื่อเรา ไม่มีทางฟังเรา เราห้ามเขาแค่ไหน เขาก็ไปแอบทำอยู่ดี”

 7

“บางทีผมเห็นเด็กสูบบุหรี่ แทนที่จะไปห้าม ผมเดินไปสูบบุหรี่ กับพวกเขาเลย ผมต้องการสร้างความสนิทใจกับพวกเขาว่า ที่เอ็งเคยทำ ข้าทำมาก่อนนะ สิ่งที่เอ็งคิดจะทำ ข้าก็คิดจะทำมาก่อนนะ แล้วเราค่อยบอก ค่อยสอนเขา”

“หรือเด็กบางคนชอบกินเหล้า ชอบสูบบุหรี่ แต่เราต้องหาวิธี ลดให้พวกเขา คุมให้พวกเขา ผมก็บอกไปเลยว่า เดี๋ยวไปแข่ง ถ้าพวกเอ็งชนะ ครูพาไปเลี้ยงเอง อยากไปกินเหล้า เดี๋ยวครูพาไป ต้องช่วงเวลาก่อนแข่ง ช่วงเก็บตัว ครูขอให้งดก่อน เอาไว้ไปแข่งชนะกลับมา แล้วค่อยไป”

“ผมมองว่าแบบนี้มันดีกว่า เราห้ามสุดท้ายเด็กก็ไปกันเอง แต่ถ้าผมพาเด็กไปเที่ยวเอง ผมไปกับเด็กด้วย ผมควบคุมเขาได้ ผมเตือนเขาได้ว่า ‘เอ็งดื่มมากไปแล้วนะ เอ็งสูบมากไปแล้วนะ’ คอยตักเตือนเขา ใช้พื้นที่ตรงนี้สอนเขาไปด้วย”

 8

คำสอนของครู-อาจารย์ แม้จะบอกกล่าว สั่งสอนมากเพียงใด หากเด็กไม่เชื่อฟังคงไม่มีความหมาย เหมือนดั่งในอดีต ที่ภควัฒน์ต้องใช้ “ประสบการณ์” เข้ามาเป็นสิ่งที่ช่วยให้ตนเองเติบโต 

ทำให้ภควัฒน์เลือกใช้วิธี “บอกกล่าว แต่ไม่บังคับ” เพื่อให้ลูกศิษย์ของเขา ได้มีครูคนเดียวกับที่เขาเคยพบเจอ มาร่วมช่วยสอนแก่เด็กๆ นั่นคือประสบการณ์

“เอาเรื่องง่ายๆ สมัยก่อนผมไม่ยอมซ้อมวิ่ง ผมจึงไม่มีแรงไปสู้กับคนอื่น ผมก็บอกลูกศิษย์ว่า ให้ซ้อมวิ่งนะ ถ้าเขาไม่ทำผมก็ไม่ว่า แต่ถ้าวันหนึ่งเข้าไม่มีแรง แล้วมาถามผมว่า ‘ครูครับทำไมผมไม่มีแรง ไปสู้กับคนอื่น’ ผมก็จะบอกเขาไปว่า ที่ครูสอน ที่ครูบอกไป เอาไปฝึกเอาไปปรับใช้หรือยัง”

“การเป็นโค้ช การเป็นครู ผมคิดง่ายๆ ตอนเป็นนักแบดฯ ผมอยากได้โค้ชแบบไหน ผมก็จะเป็นโค้ชแบบนั้น ผมไม่พยายามจะไปบังคับเด็ก แต่ให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเองดีกว่า โดยผมคอยบอก คอยสอนเขา คอยให้เขาเรียนรู้”

“บางทีเด็กไม่อยากมาซ้อม บอกผมว่า ปวดหัว ปวดท้อง แกล้งป่วย ผมก็จะบอกเขาไปตรงๆเลยว่า ครูรู้นะว่าแกล้งป่วย เพราะครูเคยทำมาก่อน อย่าทำแบบนี้เลย มันไม่ดี”

 9

“ถามผมว่า ทำไมผมต้องมาสอนเด็กเหล่านี้ หรือเก็บเด็กเกเรบางคนไว้ ทั้งที่ตัดทิ้งออกไปก็สิ้นเรื่อง เป็นเพราะผมสมัยก่อนที่เกเร ผมก็ยังได้รับโอกาส”

“ผมก็อยากให้โอกาสเด็กเหล่านี้บ้าง เด็กที่เกเรส่วนใหญ่จะเก่ง แต่เขาอาจจะเดินผิดทาง เราต้องไม่ตัดเขาทิ้ง แต่ต้องช่วยเขากลับมา พยายามดึงเขากลับมาให้ได้ มันอาจจะไม่ประสบความสำเร็จทุกคน อาจจะต้องใช้เวลา บางคนกลับตัวได้เร็ว บางคนกลับตัวได้ช้า เราก็ต้องทำ เพราะผมไม่อยากให้ลูกศิษย์ มาเดินตามรอยผม”

ประสบการณ์คือบทเรียนที่ดีสำหรับทุกคน แม้ช่วงเวลาในอดีตจะไม่ใช่สิ่งที่ภควัฒน์ ย้อนกลับไปแก้ไขได้ แต่เขาพร้อมเปิดเผยเรื่องราวทุกอย่าง ที่เขาเคยประสบมา ให้ทุกคนได้เรียนรู้ โดยไม่สนใจว่า ใครจะมองว่าเขาเป็นโค้ชที่ไม่ดี หรือเป็นโค้ชที่เคยมีประวัติเกเร ด่างพร้อยมาก่อน

 10

“ผมไม่คิดจะปิดเรื่องราวของผม ผมอยากให้คนเล่าเรื่องราวของผมออกไปมากกว่า แน่นอนผมไม่ใช่คนดีร้อยเปอร์เซนต์ ผมผ่านเรื่องแย่ๆมาก่อน แต่เพราะผมเคยทำเรื่องแย่ๆมาก่อน ผมจึงกล้ามาสอน มาขัดเกลาเด็กๆแบบทุกวันนี้”

“ที่ผมมาสอนเด็กๆตรงนี้ เพราะผมผ่านอะไรมาหลายอย่าง ผมเสียดายนะ ช่วงเวลาตรงนั้น ถ้าผมไม่เกเร ผมคงไปได้ไกลกว่านี้”

“แต่ผมไม่เสียใจ เพราะผมเคยเกเรแบบนั้น เคยไม่มีระเบียบวินัยแบบนั้น ผมจึงกล้าที่จะเอาประสบการณ์มาสอนคนอื่น ผมอยากเอามาถ่ายทอดให้คนรุ่นหลัง และลูกศิษย์ของผม เขาสามารถเอาเรื่องราวของผมไปเป็นบทเรียนได้ ผมบอกเด็กหลายคนว่า เพราะผมเที่ยว ผมเกเร ชีวิตการเป็นนักแบดผมจึงอยู่แค่นี้ ไปได้ไม่ไกลกว่านี้” 

“ผมอยากฝากถึงน้องๆนักกีฬา หรือเด็กทั่วไป ที่กำลังจะเดินเข้าไปในทางที่ผิด ผมอยากให้คิดให้ดี อยากให้กลับตัวกลับใจ เพราะมันไม่มีอะไรที่ดีกับชีวิตเราเลย แม้แต่อย่างเดียว” ภควัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ "ภควัฒน์ วิไลลักษณ์" : จากแบดบอยแบดมินตันสู่ครูผู้สอนความผิดพลาดของตัวเองให้เด็กรุ่นใหม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook