เมื่อครั้งหนึ่ง แอสตัน วิลล่า เคยท้าทายแสนยานุภาพของนาซี

เมื่อครั้งหนึ่ง แอสตัน วิลล่า เคยท้าทายแสนยานุภาพของนาซี

เมื่อครั้งหนึ่ง แอสตัน วิลล่า เคยท้าทายแสนยานุภาพของนาซี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วงยุค 1930's-1940's นาซีเยอรมัน ภายใต้การนำของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ถือเป็นปีศาจร้ายที่ทุกผวา ด้วยนโยบายทำสงครามแย่งชิงดินแดนไปทั่วยุโรป ที่เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมไปถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ที่ทำให้มีคนตายหลายล้านคน

อย่างไรก็ดี กลับมีสโมสรฟุตบอลทีมหนึ่งที่ไม่เกรงกลัวต่ออำนาจของพวกเขา นั่นคือ แอสตัน วิลลา ทีมดังจากอังกฤษ เกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น และชะตากรรมพวกเขาเป็นอย่างไร ติดตามเรื่องราวไปพร้อมกับ Main Stand

นาซีเรืองอำนาจ 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศเยอรมนี ได้รับผลกระทบอย่างหนักในฐานะผู้แพ้สงคราม โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายทำให้พวกเขาพวกต้องชำระค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนมหาศาล และสั่งห้ามดำเนินการทางทหาร 


Photo : www.wkms.org

ผลดังกล่าวทำให้ เยอรมัน ต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ แถมยังตกอยู่ในสภาวะเงินเฟ้อทำให้สินค้าแพงขึ้น มีผู้คนมากมายต้องตกงานในช่วงเวลานี้ ทำให้เกิดการจลาจลบ่อยครั้งในประเทศ 

ท่ามกลางความสิ้นหวัง พรรคแรงงานเยอรมันได้ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1919 พวกเขาเป็นพรรคการเมืองขวาจัดที่สุดโต่งแบบชาตินิยม มีนโยบายเชิดชูชาวอารยัน (ชาวนอร์ดิก ผมสีทองตาสีฟ้า) ในขณะเดียวกันก็ต่อต้านทุนนิยม ต่อต้านคอมมิวนิสต์ และที่สำคัญต่อต้านยิว ที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นหนอนบ่อนไส้ทำให้เยอรมันแพ้สงคราม

ในปี 1921 พรรคแรงงานเยอรมัน ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น พรรคแรงงานชาติสังคมนิยมเยอรมัน หรือเรียกสั้นๆ ว่า พรรคนาซี ได้มีโอกาสต้อนรับผู้นำคนใหม่นามว่า อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เขาเป็นทหารผ่านศึกจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของพรรคมาตั้งแต่ปี 1919  

แม้ว่าเขาจะเคยพยายามทำรัฐประหารที่รู้จักกันในชื่อ "กบฎโรงเบียร์" แต่ไม่สำเร็จจนถูกจำคุกเป็นเวลาหนึ่งปี ทว่าหลังจากถูกปล่อยตัว เขาก็ก้าวขึ้นมาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ความคิดแบบขวาจัดของพรรค

จนกระทั่งในปี 1933 ฮิตเลอร์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีของเยอรมัน เขาได้เปลี่ยนเยอรมันให้เป็นรัฐเผด็จการแบบพรรคการเมืองเดียว ภายใต้อุดมการณ์ของนาซี ซึ่งเป็นเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ และมีเป้าหมายที่จะสถาปนาอาณาจักรใหม่ที่มีแต่ชาวอารยันเพียงอย่างเดียว ที่เรียกกันว่า "ไรซ์ที่สาม"


Photo : www.cbc.ca

นาซี ภายใต้การนำของฮิตเลอร์ เริ่มต้นสร้างชาติที่ยิ่งใหญ่ด้วยการกำจัดคนที่ไม่ใช่อารยันออกไป ทั้งชาวยิว ยิปซี สลาฟ ยิปซี รวมไปถึงกลุ่มคนรักร่วมเพศและคนพิการ 

พวกเขาเริ่มต้นด้วยการจำกัดสิทธิพลเมืองของกลุ่มคนเหล่านี้ และพยายามลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อ ด้วยการโจมตีชาวยิวและคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง นอกจากนี้ยังมีการสร้างค่ายกักกันที่ไม่ใช่เพียงแค่คุมขังนักโทษทางการเมืองที่ต่อต้านพวกเขา แต่ยังรวมไปถึงคนที่ไม่ใช่ชาวอารยันที่อยากกำจัด ซึ่งต่อมากลายเป็นจุดเริ่มต้นในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ของโลก 

ในขณะเดียวพวกเขายังมีแผนขยายดินแดนเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเยอรมัน โดยเริ่มต้นจากการบุกออสเตรียและผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมันในเดือนมีนาคม 1938 ภายใต้โฆษณาชวนเชื่อที่ชื่อว่า "อันชลุส" 

ทำให้ช่วงเวลานั้น นาซีเยอรมัน กลายเป็นกลุ่มบุคคลอันตรายกลุ่มหนึ่งของยุโรป  ที่ไม่มีใครอยากมีปัญหาด้วย ถึงขนาดที่แม้แต่อังกฤษยังต้องยอม

สิงโตคำรามยอมสยบ 

ไม่เพียงแต่ในประเทศเท่านั้น นาซีเยอรมัน ยังพยายามเผยแพร่แนวคิดและอุดมการณ์ของพรรคแก่สายตาชาวโลก และในยุคที่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ตหรือยูทูบอย่างในปัจจุบัน "กีฬา" จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญ 


Photo : wikipedia.org

ในทศวรรษที่ 1930's กีฬาระดับนานาชาติ มีนัยยะทางการเมืองมากขึ้น และนาซี ก็รู้ดีในจุดนี้ พวกเขาจึงใช้การแข่งขันกีฬาในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของเยอรมันในเวทีระดับโลก และแสดงให้เห็นว่าชาวอารยันเหนือกว่าชนชาติอื่นแค่ไหน  

ทำให้ โอลิมปิก 1936 ที่กรุงเบอร์ลิน กลายเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อครั้งสำคัญของนาซี เมื่อในการแข่งขันครั้งนั้น ทุกสนามแข่งล้วนประดับประดาไปด้วยธงสวัสดิกะซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพรรคนาซี ไม่เพียงเท่านั้น นักกีฬาเยอรมันทุกคนล้วนเป็นชาวอารยัน (นักกีฬาเชื้อสายอื่นไม่อนุญาตให้ติดทีมชาติ) รวมไปถึงผู้ชมในสนาม ต้องแสดงความเคารพแบบนาซี (Nazi Salute) ตอนร้องเพลงชาติทุกครั้ง  

"มันทำให้ฮิตเลอร์มีที่โชว์ของ เป็นขุมทรัพย์ในโฆษณาชวนเชื่อสำหรับเขา" บาร์บารา เบิร์สติน อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยพิตเบิร์ก และมหาวิทยาลัยเมลลอน กล่าวกับกับ Time 

เยอรมัน ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในโอลิมปิกครั้งนั้น ที่บางคนเรียกมันว่า "นาซีเกมส์" ด้วยการก้าวไปเป็นเจ้าเหรียญทอง หลังกวาดมาได้ถึง 33 เหรียญทอง ทิ้งห่างอันดับ 2 สหรัฐอเมริกาที่คว้ามาได้ 24 เหรียญทองแบบไม่เห็นฝุ่น 


Photo : www.washingtonexaminer.com

แน่นอนว่าหลังทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว นาซี ยังคงใช้กีฬา เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของพวกเขาต่อไป รวมไปถึงในกีฬาฟุตบอล ที่นักเตะทีมชาติทุกคนต้องทำท่าสดุดีนาซีทุกครั้ง

ก่อนที่มันจะลุกลามไปถึงนักเตะคู่แข่ง 

มันหนึ่งในเกมที่เป็นที่จดจำมากที่สุดในประวัติศาสตร์ นั่นคือเกมกระชับมิตร ระหว่างทีมชาติอังกฤษกับเยอรมันที่ โอลิมปิก สเตเดียม ในวันที่ 14 พฤษภาคม 1938

อันที่จริงในช่วงเวลานั้น อังกฤษภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เนวิลล์ เชมเบอร์เลน มีนโยบายทางการทูตต่อเยอรมันในรูปแบบ "จำยอมสละ" (Appeasement) ที่มีมาตั้งแต่ปี 1935 เพื่อหลีกเลี่ยงการทำสงคราม หลังได้เห็นความเลวร้ายมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1

แต่ในปี 1938 ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและเยอรมันกลับค่อนข้างตึงเครียด หลังเยอรมันบุกออสเตรีย ทำให้ เนวิลล์ เฮนเดอร์สัน เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำเยอรมัน พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศดีขึ้น 

ทำให้ก่อนเกม เขาได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ รวมไปถึง แสตนลีย์ รูส เลขาธิการสมาคมฯ ไปบอกให้นักเตะทำท่าแสดงความเคารพแบบนาซีตอนร้องเพลงชาติ แน่นอนว่าในตอนแรกนักเตะทีมชาติอังกฤษล้วนปฏิเสธ 

"ห้องแต่งตัวแทบระเบิด มันเป็นความอลหม่าน นักเตะอังกฤษทุกคนโกรธและไม่เห็นด้วยกับสิ่งนี้ รวมไปถึงผม ทุกคนล้วนตะโกนออกมา" แฟรงค์ บรูม หนึ่งในนักเตะวันนั้นกล่าว 

"แม้กระทั่ง เอ็ดดี แฮปกู๊ด กัปตันทีมจอมทุ่มเทซึ่งปกติเป็นคนที่น่าเคารพ ก็ยังแกว่งนิ้วใส่เจ้าหน้าที่และบอกอีกฝ่ายว่า เขาสามารถทำท่าสดุดีนาซีได้  แต่เป็นที่ตูดนะ"

ทว่าหลังจากเจ้าหน้าที่อธิบายว่าความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและเยอรมันในช่วงนี้ค่อนข้างอ่อนไหว สุดท้ายนักเตะอังกฤษก็ยอมทำแต่โดยดี ทำให้ก่อนเกมพวกเขาต่างทำท่าสดุดีนาซี ตอนเพลงชาติเยอรมันกำลังบรรเลง จนกลายเป็นหนึ่งในภาพประวัติศาสตร์  


Photo : impromptuinc.wordpress.com

ก่อนที่เกมดังกล่าวจะจบลงด้วยชัยชนะของอังกฤษ ที่บุกมาถล่มเยอรมัน 6-3 ท่ามกลางความชื่นมื่นของทั้งสองฝ่าย โดยหลังเกม รูส รู้สึกยินดีที่เกมนี้ผ่านพ้นไปด้วยดี 

"มันเป็นเกมที่วิเศษ เราดีใจที่เราชนะด้วยผลต่างที่ดีแบบนี้ เด็กๆ ก็พอใจกับผลการแข่งขัน" รูส เลขาธิการสมาคมฟุตบอลอังกฤษกล่าวหลังเกม 

"พวกเขาชื่นชมในน้ำใจนักกีฬาของผู้ชม คุณสามารถพูดได้ว่าเราชื่นชมทัศนคติของทุกคนเป็นอย่างมาก ทั้งกรรมการเจ้าหน้าที่ นักเตะและกองเชียร์คู่แข่ง" 

ในขณะที่สื่อเยอรมัน ภายใต้การควบคุมของ โยเซฟ เกิบเบลส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโฆษณาการ (Propaganda) ก็กล่าวชื่นชมในผลงานของนักเตะจากแดนผู้ดี ส่วนสื่ออังกฤษอาจจะวิจารณ์กับระบบไดเร็คของเยอรมัน แต่ก็ชื่นชมกับผลการแข่งขัน

ดูเหมือนว่าความตึงเครียดระหว่างสองชาติจะผ่อนคลายลง แต่ไม่ถึง 24 ชั่วโมงให้หลัง การมาถึงของ แอสตัน วิลลา ก็ทำให้มันไม่เป็นเช่นนั้น

ไม่เกรงกลัวต่ออำนาจ 

แอสตัน วิลลา เป็นหนึ่งในทีมเก่าแก่ของอังกฤษ พวกเขาก่อตั้งในปี 1874 และผลงานที่โดดเด่นในบ้านเกิด ด้วยตำแหน่งแชมป์ดิวิชั่นหนึ่งถึง 6 สมัย และ เอฟเอคัพ 6 สมัย ทำให้หลายคนอยากชมฝีเท้าของพวกเขา เช่นเดียวกับฮิตเลอร์ และพรรคนาซี


Photo : www.worthpoint.com

ในปี 1938 พวกเขาได้รับคำเชิญจากนาซีให้เดินทางไปเตะนัดกระชับมิตรกับทีมรวมดาราเยอรมันในชื่อ Germany XI ที่ส่วนใหญ่เป็นนักเตะจากออสเตรีย โดยมีกำหนดการแข่งขันหนึ่งวันหลังเกมระหว่างอังกฤษและเยอรมัน

แม้จะเป็นเกมระดับสโมสร แต่ก็สามารถเรียกแฟนบอลเข้ามาเต็มความจุ 110,000 คนใน โอลิมปิก สเตเดียม เพียงแต่บรรยากาศกลับต่างออกไปจากเกมทีมชาติ เมื่อบนอัฒจันทร์กลับเต็มไปด้วยความเงียบผิดปกติ 

และเช่นเดียวกับทีมชาติอังกฤษ นักเตะวิลลา ต่างถูกขอร้องให้ทำท่าแสดงความเคารพแบบนาซี ด้วยเหตุผลทางการทูต มันน่าจะไม่ใช่เรื่องยาก เพราะขนาดทีมชาติชุดใหญ่ยังยอมทำ แต่สำหรับวิลลา พวกเขาเลือกที่จะปฏิเสธ 

"หนึ่งวันหลังทีมชาติอังกฤษ เราคือ แอสตัน วิลลา" เอริค ฮอห์ตัน อดีตกองหน้าวิลลาในตอนนั้นย้อนความหลังในหนังสือ Kicking and Screaming

"จิมมี โฮแกน ผู้จัดการทีมของเราพูดว่า พวกเขาอยากให้เราทำท่าสดุดีนาซี"

"เจ้าหน้าที่ของเอฟเอที่ดูแลทีมชาติอังกฤษ มาหาผู้จัดการทีมของเราและพูดว่า 'เราได้คุยกันในเรื่องนี้ และเราคิดว่าน่าจะดีกว่า ถ้าผู้เล่นทำท่าสดุดีนาซีเพื่อมิตรภาพ'" 

"เราได้ประชุมกันในเรื่องนี้ จอร์จ คัมมิงส์ และ อเลค แมสซิเยอร์ บอกว่า 'ไม่มีทางที่พวกเขาจะทำท่าแสดงความเคารพแบบนาซี' ดังนั้นเราจึงไม่ทำมันที่เบอร์ลิน" 

"มันเป็นเหมือนการทิ้งประสบการณ์แย่ๆ ให้กับพวกเขา กับการที่เราปฏิเสธที่จะทำท่าแสดงความเคารพแบบนาซี" ฮอห์ตันอธิบายทิ้งท้าย

ไม่เพียงแต่ไม่ยอมทำท่าสดุดีนาซี เกมดังกล่าวยังสร้างความหงุดหงิดให้กับนักเตะและแฟนบอลเยอรมัน เมื่อแผนกับดักล้ำหน้าของวิลลา เล่นงานคู่แข่งได้ตลอดทั้งเกม แถมระหว่างเกมก็เกิดการปะทะกันระหว่างนักเตะทั้งสองฝ่าย จนกรรมการต้องจับแยก ก่อนที่วิลลา จะเอาชนะไปได้ 3-2 ท่ามกลางความความตึงเครียดและเสียงโห่ของแฟนเจ้าบ้าน 


Photo : www.worthpoint.com

"มันเป็นจุดจบของเกมที่เลวร้าย มุมมองของเจ้าหน้าที่สมาคมฟุตบอลอังกฤษที่ได้ชมที่อังกฤษเอาชนะเยอรมัน 6-3 ซึ่งผ่านไปได้ดี ด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตร ได้ถูกทำลายลงอย่างสมบูรณ์แบบ" เฮนรี โรส นักข่าวของ Daily Express ให้ความเห็นในบทความ Villa booed by Germans, refuse Nazi salute 

นอกจากนี้หลังเกม นักเตะวิลลา ยังเมินที่จะทำท่าสดุดีนาซีเช่นเคย เมื่อเกือบทั้งทีมเดินกลับห้องแต่งตัวทันที และปล่อยให้นักเตะเยอรมันขอบคุณแฟนบอลเพียงลำพัง จนทำให้ เกิบเบลส์ สั่งเก็บรูปถ่ายนักเตะวิลลาเดินออกจากสนามทันที เพราะมันแสดงถึงความไม่เคารพต่อท่านผู้นำของพวกเขา

แม้ว่า จิมมี โฮแกน กุนซือของทีมจะออกมาแก้ต่างภายหลังว่ามันเป็นความเข้าใจผิดของนักเตะวิลลา แต่คำให้การของ จิมมี อัลเลน กัปตันทีมในตอนนั้น ก็ชี้ให้เห็นว่า มันคือการแสดงว่าพวกเขาไม่พอใจในสิ่งที่นักเตะทีมชาติอังกฤษทำในหนึ่งวันก่อนหน้านั้น 

"เด็กของเรารู้สึกไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนเกมระหว่างอังกฤษและและเยอรมัน เมื่อนักเตะอังกฤษยืนตรงตอนเพลงชาติของเราเล่น ส่วนเยอรมันทำท่าสดุดีนาซี" อัลเลนสารภาพ

อย่างไรก็ดี หลังเกมดังกล่าว สมาคมฟุตบอลอังกฤษ พยายามกดดันวิลลาผ่าน เฟรด รินเดอร์ ประธานสโมสรวิลลาที่เป็นสมาชิกสภาเอฟเอ โดยขู่ว่าอาจจะโดนลงโทษ และพวกเขามีโอกาสแก้ตัวในเกมนัดต่อมาที่สตุตการ์ท 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเกมดังกล่าววิลลาจะยอมทำท่าสดุดีนาซี แต่ในเกมนี้ พวกเขากลับท้าทายคู่แข่งและแฟนบอล ด้วยการวิ่งไปที่กลางสนาม ก่อนจะชูสองนิ้ว ซึ่งถือเป็นการเสียมารยาทเป็นอย่างมาก 


Photo : appeasement.blog

"ในเกมถัดมาที่สตุตการ์ท ทั้งสองทีมต่างทำท่าแสดงความเคารพแบบนาซี" ฮอห์ตันกล่าว

"แต่เราวิ่งไปที่กลางสนามแล้วทำท่าชูสองนิ้วแทน" 

แม้ว่าการชูสองนิ้วในธรรมเนียมอเมริกัน จะหมายความถึงตัว V ที่สื่อถึงชัยชนะ (Victory) แต่สำหรับอังกฤษ มันคือการดูถูกและท้าทาย ที่สื่อว่า F...k Off ซึ่งไม่ต่างจากการชูนิ้วกลาง 

สิ่งนี้ถือเป็นการลูบคมท่านผู้นำของเยอรมันเป็นอย่างมาก และนี่คือชะตากรรมที่พวกเขาต้องเผชิญ ...

ไร้ความหมาย 

แม้ว่าวิลลา จะเป็นฝ่ายเอาชนะไปได้อีกครั้ง 1-0 ในแทคติกกับดักล้ำหน้าที่สร้างความโกรธแค้นให้กับแฟนบอล จนต้องมีทหารของนาซี มาคอยคุ้มกันหลังเกม แต่พวกเขาก็เดินทางกลับถึงอังกฤษโดยสวัสดิภาพ 

นั่นเป็นเพราะชาวเยอรมันและนาซี ไม่รู้ในความหมายของการชูสองนิ้วโดยพวกอังกฤษ ทำให้พวกเขารู้สึกขุ่นเคืองใจแค่เพียงชัยชนะที่น่าหงุดหงิดของคู่แข่งเท่านั้น  


Photo : sbnation.com

"พวกเขาเชียร์อย่างบ้าคลั่ง พวกเขาคิดว่ามันโอเค พวกเขาไม่รู้ความหมายของมัน" ฮอห์ตัน กล่าวถึงเกมวันนั้น 

แต่ดูเหมือนว่าการพยายามรักษาความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติจะสูญเปล่า เมื่อหนึ่งปีหลังจากนั้น เยอรมันได้เปิดฉากบุกโปแลนด์ ที่ทำให้อังกฤษต้องประกาศสงครามกับเยอรมันอย่างเป็นทางการ หลังพวกเขาเคยรับประกันว่าจะให้ความคุ้มครองโปแลนด์ 

และมันก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึงกว่า 60 ล้านคน ก่อนที่สงครามจะยุติลงในปี 1945 ด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายอักษะที่นำโดยเยอรมัน พร้อมกับการล่มสลายของระบอบนาซีอันโหดร้าย 

ในขณะที่วิลลา นักเตะทุกคนต่างอยู่รอดปลอดภัย โดยไม่มีใครถูกเล่นงานจากนาซีหลังเหตุการณ์นั้น ก่อนที่พวกเขาจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง กับการคว้าแชมป์ ยูโรเปียนคัพ (ปัจจุบันคือ ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก) ในปี 1982 และคงสถานะสโมสรอาชีพมาจนถึงปัจจุบัน 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook