"โทนี ชูมัคเกอร์" : แข้งที่ชาวฝรั่งเศสโหวตว่าน่ารังเกียจยิ่งกว่า "ฮิตเลอร์"

"โทนี ชูมัคเกอร์" : แข้งที่ชาวฝรั่งเศสโหวตว่าน่ารังเกียจยิ่งกว่า "ฮิตเลอร์"

"โทนี ชูมัคเกอร์" : แข้งที่ชาวฝรั่งเศสโหวตว่าน่ารังเกียจยิ่งกว่า "ฮิตเลอร์"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากเอ่ยถึงบุคคลในประวัติศาสตร์ที่คนฝรั่งเศสไม่ชอบหน้า ชื่อของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ อดีตผู้นำจอมเผด็จการของเยอรมัน น่าจะเป็นชื่อลำดับต้นๆ ที่พวกเขานึกถึง จากการบุกยึดครองฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

อย่างก็ดีในอีก 40 ปีต่อมา กลับมีนักฟุตบอลคนหนึ่งที่ชาวฝรั่งเศสเกลียดยิ่งกว่าอดีตผู้นำพรรคนาซี และ "โทนี ชูมัคเกอร์" ก็คือชื่อของเขา เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

เพื่อนบ้านที่ (ไม่ค่อย) เป็นมิตร 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ฝรั่งเศส และ เยอรมนี ถือเป็นหนึ่งในสองชาติมหาอำนาจของยุโรป พวกเขาล้วนเป็นผู้นำทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม มาตั้งแต่อดีต แถมยังเป็นหนึ่งในชาติที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการก่อตั้งสหภาพยุโรป (อียู) 

 1

และด้วยความที่ทั้งสองชาติมีพรมแดนที่ติดกัน ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันมาตลอด ตั้งแต่ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นสงครามฟรังโก-ปรัสเซีย (ส่วนหนึ่งของเยอรมนีในอดีต) ในช่วงปี 1870-1871 ที่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศส หรือสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ฝรั่งเศสถอนแค้นได้สำเร็จ 

อย่างไรก็ดี สงครามโลกครั้งที่ 2 กลับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้ชาวฝรั่งเศสอับอายมากที่สุด 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ฝรั่งเศสมีความเชื่อมั่นในแสนยานุภาพของตัวเอง จากการสามารถต่อต้านการบุกของเยอรมันได้อย่างเด็ดขาด ทำให้พวกเขาเชื่อว่าตัวเองมีกองทัพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก 

และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เปิดฉากขึ้น ฝรั่งเศสก็ต้องเผชิญกับการรุกรานของเยอรมนีอีกครั้งภายใต้การนำของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำจอมเผด็จการของพรรคนาซี ซึ่งพวกเขาก็เชื่อว่ากองทัพที่เกรียงไกร น่าจะต้านทานเอาไว้ได้เช่นเคย เพียงแต่ครั้งนี้พวกเขาคิดผิด 

ด้วยยุทธวิธีการรบที่ทันสมัยกว่า ที่ฝรั่งเศสยังยึดติดกับการรบแบบสนามเพลาะ ในขณะที่เยอรมนีใช้รูปแบบ "บลิทซ์ครีค" (Blitzkrieg) หรือสงครามสายฟ้าแลบ ที่เน้นการโจมตีอย่างรวดเร็ว ทั้งภาคพื้นดินและกลางอากาศ 

บวกกับยุโธปกรณ์ทางการรบของฝรั่งเศสที่ด้อยกว่า จากการที่รถถังของพวกเขาเป็นเพียงแค่ยานพาหนะที่สนับสนุนทหารราบ แต่ฝั่งเยอรมนีเป็นรถถังประจัญบาน ทำให้กองทัพฝรั่งเศสถูกตีจนแตกพ่ายในเวลารวดเร็ว

และในวันที่ 25 มิถุนายน 1940 กรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศสก็ถูกยึดครองโดยเยอรมนีอย่างสมบูรณ์ หลังฝรั่งเศสประกาศ "ยกธงขาว" ยอมแพ้ โดยใช้เวลาทั้งสิ้นเพียง 46 วัน ซึ่ง ฮิตเลอร์ ถึงกับเดินทางไปที่ปารีสเพื่อประกาศชัยชนะด้วยตัวเอง 

 2

แม้ว่าส่วนหนึ่งในเหตุผลของการประกาศยอมแพ้ของฝรั่งเศส จะมาจากการประเมินว่ากองทัพไม่สามารถต่อกรต่อสรรพกำลังของนาซีเยอรมันได้ รวมไปถึงไม่อยากให้บ้านเมืองเสียหาย แต่มันกลายเป็นความอับอายของชาวฝรั่งเศส ที่ต้องพ่ายอย่างหมดรูป ในช่วงเวลาไม่ถึง 2 เดือน 

แน่นอนว่าเหตุการณ์นี้ล้วนเป็นสิ่งที่จำฝังใจต่อพวกเขา บวกกับความแค้นในอดีต ทำให้ชาวฝรั่งเศสรู้สึกเกลียดชังชาวเยอรมัน รวมไปถึง ฮิตเลอร์ ผู้นำในตอนนั้น

อย่างไรก็ในอีก 40 กว่าปีต่อมา กลับมีคนที่ชาวฝรั่งเศสเกลียดกว่าผู้นำพรรคนาซี

เกมสุดอื้อฉาว

แม้ว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศส และ เยอรมนี (ตะวันตก) จะจับมือเป็นพันธมิตรกัน และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสหภาพยุโรป หรือ อียู ในปี 1958 แต่ความรู้สึกของความไม่ลงรอยของทั้งคนสองประเทศก็ยังไม่จางหาย 

ก่อนที่มันจะมาปะทุอีกครั้งในปี 1982 เมื่อ ฝรั่งเศส และ เยอรมันตะวันตก ต้องโคจรมาพบกันในรอบรองชนะเลิศในเวิลด์คัพที่สเปน  

 3

ในครั้งนั้น ฝรั่งเศส ภายใต้การนำของ มิเชล พลาตินี ทำผลงานได้อย่างน่าเซอร์ไพร์ส ด้วยการทะลุเข้ามาถึงรอบ 4 ทีมสุดท้าย ในขณะที่ เยอรมันตะวันตก เจ้าของแชมป์โลก 2 สมัย (ในขณะนั้น) ที่มี ปิแอร์ ลิตบาร์สกี เป็นตัวชูโรง ก็ไม่น้อยหน้า ฝ่าด่านเข้ามาได้ถึงรอบนี้

เกมนัดดังกล่าวถูกจัดขึ้นที่ รามอน ซานเชซ ปิซฆวน รังเหย้าของ เซบียา ในวันที่ 8 กรกฎาคม 1982 ก่อนที่มันจะกลายเป็นเกมที่ชาวฝรั่งเศสไม่ลืมนักเตะคนหนึ่งไปชั่วชีวิต 

การแข่งขันดำเนินไปตามปกติ เยอรมันตะวันตกเป็นฝ่ายได้เฮก่อนตั้งแต่นาทีที่ 17 เมื่อ เคลาส์ ฟิชเชอร์ ยิงไปติดเซฟของ ฌอง ลุค เอ็ตโตรี บอลมาเข้าทาง ลิตบาร์สกี ยิงสวนให้เยอรมันตะวันตกออกนำ แต่ทัพตราไก่ก็ไม่ยอมแพ้ เมื่อมาได้จุดโทษใน 10 นาทีต่อมา ก่อนที่ พลาตินี จะรับหน้าที่สังหารเข้าไปเป็นประตู 1-1 และจบครึ่งแรกไปด้วยสกอร์นั้น 

ครึ่งหลังในนาทีที่ 50 มิเชล ฮิดัลโก ตัดสินใจแก้เกมด้วยการส่ง ปาทริค บัตติสตอง กองหลัง ลงมาแทน แบร์นาร์ด เก็งกินี แนวรุกที่โดนใบเหลืองไปแล้ว แต่ในอีก 10 นาที เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น 

มันเป็นจังหวะที่ พลาตินี จ่ายบอลให้ บัสติตอง ทะลุช่องขึ้นมายิง ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่ เฮอราลด์ "โทนี" ชูมัคเกอร์ ผู้รักษาประตูเยอรมันตะวันตก พยายามออกมาปิดมุม ซึ่งจากกล้องในการถ่ายทอดสด ดูเหมือนไม่มีอะไร และเป็นแค่การที่บัตติสตอง ยิงหลุดกรอบออกไปเอง 

 4

แต่ในสนามกลับมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น เมื่อ บัตติสตอง ที่โดนชูมัคเกอร์เข้าปะทะแถวกรอบเขตโทษ ถึงกับนอนแน่นิ่งอยู่ที่พื้นสนาม เขาแทบไม่ได้สติ จนเพื่อนร่วมทีมเห็นท่าไม่ดี และต้องเรียกเปลสนาม เพื่อนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน 

"เขาไม่มีชีพจรแล้วในตอนนั้น เขาดูซีดมาก" พลาตินีกล่าวกับ Goal ในตอนหลัง 

และจากภาพช้าทำให้เห็นว่า ในจังหวะที่ บัตติสตอง ปะทะกับ ชูมัคเกอร์ ทั้งสองฝ่ายต่างเร่งความเร็วเข้าหากัน และในช่วงเวลาแค่เสี้ยววินาที นายด่านชาวเยอรมันตะวันตก ก็หันสะโพกและใช้ท่อนแขนฟาดไปที่คู่แข่ง 

มันกลายเป็นการปะทะที่น่าสยดสยองครั้งหนึ่งในเกมฟุตบอล เมื่อครั้งนั้น ทำให้ บัตติสตอง ฟักหัก 3 ซี่ ซี่โครงร้าว กระดูกสันหลังเสียหาย ที่ไม่น่าเชื่อว่านี่ไม่ใช่อาการบาดเจ็บที่เกิดจากรถชน แต่เกิดขึ้นในสนามฟุตบอล

 

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ บัตติสตอง หมดสติไปราวชั่วโมง และอยู่ในสภาวะโคม่า เขาต้องใช้เวลารักษาตัวเองถึง 6 เดือนกว่าจะกลับมาหายดีเป็นปกติ 

แต่สิ่งที่โหดร้ายที่สุด คือ ชูมัคเกอร์ ดูเหมือนจะไม่มีท่าทีรู้สึกผิดกับเหตุการณ์นี้

เกลียดกว่าฮิตเลอร์ 

แม้ว่าจะเป็นการปะทะที่น่าสยดยอง แต่แทบไม่น่าเชื่อว่า ฝรั่งเศสไม่ได้ฟาวล์ ไม่ได้ฟรีคิกหรือลูกจุดโทษอะไรเลย แถม ชาร์ล โคเวอร์ ผู้ตัดสินชาวดัตช์ในวันนั้น ยังให้เยอรมันได้ลูกตั้งเตะ และไม่ได้แจกใบแดงหรือแม้แต่ใบเหลืองให้กับ ชูมัคเกอร์อีกด้วย 

 6

"โชคร้ายที่ผมไม่เห็นการชนกัน เพราะว่าผมกำลังตามบอลที่หลุดกรอบออกไป" โคเวอร์ให้สัมภาษณ์กับ L'Equipe เมื่อปี 2012

"ผมเข้าไปถามผู้ช่วยของผมทันทีว่าเห็นเหตุการณ์มั้ย และเขาก็บอกผมว่าในความคิดของเขามันไม่ใช่ความตั้งใจ ดังนั้นผมจึงทำอะไรไม่ได้เลย" 

โคเวอร์ อาจจะอ้างว่าเขามองไม่เห็นเหตุการณ์ในวันนั้น ซึ่งพอเข้าใจได้ว่าเขาอาจจะอยู่ตรงมุมอับพอดี แต่เพราะเหตุใดผู้ช่วยผู้ตัดสินที่อยู่ที่ใกล้ที่สุดจึงมองว่าไม่ใช่ความตั้งใจ ซึ่งเรื่องนี้แม้ปัจจุบันก็ยังไม่มีคำตอบ 

"มันเป็นความอยุติธรรมที่ลึกซึ้ง เราพยายามบอกให้กรรมการเป่าฟาล์ว" อแลง กูร์โยล สมาชิกของทีมในวันนั้นกล่าวกับ Metronews  

"หลังจากนั้นเมื่อเราเห็นสภาพของปาทริค เรากังวลอย่างมากกับสภาพร่างกายของเขา เขาจะตื่นขึ้นมามั้ย ชีวิตเขากำลังเป็นอันตรายหรือเปล่า หลังเหตุการณ์นั้น ทั้งทีมล้วนรู้สึกแย่ เราไม่ได้คิดถึงเกมอยู่พักใหญ่ ไม่ได้มีสมาธิกับมันเลย"

แต่สิ่งที่ทำให้แฟนบอลชาวฝรั่งเศสโกรธแค้นที่สุด คือท่าทีของ ชูมัคเกอร์ เพราะขณะที่ทุกคนกำลังตกใจกับสภาพของบัตติสตอง และพยายามย้ายเขาออกจากสนามโดยเร็ว นายด่านเลือดดอยช์ กลับแทบไม่ได้สนใจอาการคู่แข่งที่เขาเพิ่งทำให้น็อคไป 

ชูมัคเกอร์ ดูเหมือนไม่ได้ยินดียินร้าย เขารีบเอาบอลมาวางที่เส้นหกหลา และยืนเท้าสะเอวด้วยความเบื่อหน่าย ราวกับว่าให้เอาบัตติสตองออกจากสนามไปเสียที 

 7

นอกจากนี้ การที่เขาเซฟได้ถึง 2 ครั้งในช่วงการดวลจุดโทษ ยังช่วยให้ เยอรมันตะวันตก เอาชนะ ฝรั่งเศส 5-4 หลังจบ 120 นาที เสมอ 3-3 เข้าไปชิงชนะเลิศกับ อิตาลี ... แน่นอน เขากลายเป็นฮีโร่ แต่นั่นก็สำหรับแฟนบอลเยอรมันเท่านั้น เมื่อในตอนนั้น แทบไม่มีใครอยากให้พวกเขาชนะจากเหตุการณ์ที่ชูมัคเกอร์ทำเอาไว้ 

นั่นทำให้  ชูมัคเกอร์ กลายเป็นบุคคลที่ชาวฝรั่งเศสเกลียดมากที่สุด โดยจากการสำรวจของสำรวจของหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส ผู้รักษาประตูเลือดดอยช์ มีคะแนนเป็นอันดับ 1 มากกว่า อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ที่ตามมาเป็นอันดับ 2 เสียอีก

แถมมันยังสะเทือนไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมันและฝรั่งเศส เมื่อความโหดร้ายที่เขากระทำต่อบัตติสตอง ถูกโยงจนเหตุการณ์ที่เยอรมันบุกยึดครองฝรั่งเศส และปลุกกระแสความเกลียดชังต่อเยอรมันในแดนน้ำหอม 

ทำให้หลังฟุตบอลโลก 1982 เฮลมุต ชมิดท์ นายกรัฐมนตรีเยอรมันตะวันตก ถึงขั้นต้องส่งโทรเลขหา ฟรองชัวร์ มิตเตอร์รองด์ ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อลดความตึงเครียดระหว่างสองชาติ

 8

"ผมไม่เข้าใจขอบเขตของมัน ผมไม่ได้เป็นคนสนใจการเมืองเลย แต่ทันใดนั้นผมต้องมารับผิดชอบกับการต่อต้านเยอรมันที่ลุกเป็นไฟในฝรั่งเศส" ชูมัคเกอร์กล่าวกับ Goal

"มันเหมือนกับผมเป็นชนวนที่ทำให้ให้เกิดสงครามครั้งต่อไป มันเป็นความเกลียดชังอย่างมหาศาลที่ผมไม่เคยรู้สึกมาก่อน" 

ถึงกระนั้น ใช่ว่า ชูมัคเกอร์ จะไม่เสียใจ

ผมเองก็เสียใจ    

"ผมสังเกตพฤติกรรมเขาตลอด วิธีที่เขาชน โดมินิค โรเช็ตตู และ ดิดิเยร์ ซิกซ์" บัตติสตองกล่าวกับ AFP 

"ผมคิดว่าเขากระตือรือร้นมาก ถูกกระตุ้นได้ง่ายมากๆ ผมพูดเรื่องนี้กับผู้เล่นคนอื่นๆ บนม้านั่งสำรอง" 

 9

อันที่จริง ชูมัคเกอร์ เป็นคนค่อนข้างบ้าเลือดอยู่แล้ว มีเรื่องเล่าว่าเขาเคยโชว์การดับบุหรี่ด้วยแขนต่อหน้าแฟนสาว หรือมักจะไปต่อยกระสอบทรายระบายความแค้นที่บ้านจนนิ้วเลือดออก หากทีมได้รับความพ่ายแพ้ 

แต่ชูมัคเกอร์ยอมรับว่าเขาเสียใจกับเหตุการณ์ในปี 1982 และไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้บัตติสตองได้รับบาดเจ็บ ในขณะเดียวกัน เขารู้ดีว่าเขาควรเข้าไปดูอาการของคู่แข่ง แต่เพราะตอนนั้นมีนักเตะฝรั่งเศสอยู่แล้ว จึงเลือกที่จะไม่เข้าไป 

นอกจากนี้ ผู้รักษาประตูทีมชาติเยอรมันยังบอกว่า เขารู้สึกเสียใจที่ตอบนักข่าวในเรื่องอาการบาดเจ็บของคู่กรณีว่าจะช่วยออกค่าทำฟันให้ 

"ผมไม่ได้อยากทำให้เขาบาดเจ็บ แต่จะทำในสิ่งเดิมอีกครั้งหากมันเกิดขึ้นอีก มันเป็นวิธีเดียวที่จะได้บอล" ชูมัคเกอร์กล่าวกับ Le Figaro

"ผมเสียใจที่ตัวแทนของเยอรมันและผม ไม่ได้ไปโรงพยาบาลทันทีที่ได้ข่าวของปาทริค บัตทิสตอง"   

เขายืนยันว่าเขาไม่ได้เป็นคนเย่อหยิ่ง หรือไม่ได้เป็นคนที่ไม่รู้สึกรู้สากับอะไร และไม่สำนึกผิด แต่ตอนนั้นที่เขาตัดสินใจไม่เข้าไปดูอาการ หรือแสดงความเสียใจทันทีหลังเหตุการณ์เพียงเพราะเขากลัว กลัวเกินกว่าที่ต้องเผชิญกับมัน 

 10

"ความลับคือผมกลัวว่า บัตติสตอง จะได้รับบาดเจ็บหนัก หรืออยู่ในภาวะโคม่า" ชูมัคเกอร์ยืนยัน ซึ่งบัตติสตอง ก็เข้าใจดีในสิ่งที่คู่กรณีแสดงออกมา 

"บางทีเขาอาจจะรู้สึกสำนึกผิด มันสามารถดึงข้อสรุปในสิ่งที่เขารู้สึก ทั้งหมดที่ผมรู้คือชูมัคเกอร์ เป็นคนที่ชัยชนะมีค่าเหนือทุกสิ่ง และเขาก็ทำมันตลอดในเย็นวันนั้น" บัตทิสตองกล่าวกับ Goal 

เพื่อไม่ให้ความโกรธต่อชูมัคเกอร์ บานปลาย หลังเกมนั้น เพื่อนของบัตติสตอง ได้นัดให้ทั้งสองได้เจอกัน เพื่อให้ทั้งสองคนได้เคลียร์ความในใจ โดยเลือกวันที่พิเศษที่สุด นั่นก็คือหนึ่งวันก่อนวันแต่งงานของกองหลังฝรั่งเศส 

พวกเขานัดเจอกันที่เม็ตซ์ ชูมัคเกอร์ มาพร้อมกับของขวัญและคำขอโทษ แต่ในความเป็นจริง เหมือนเขาถูกลวงมาฆ่า หลังถูกพาไปที่ห้องที่เต็มไปด้วยสื่อฝรั่งเศสที่มารอทำข่าว โดยที่เขาไม่รู้มาก่อน

"พวกเขาพาผมไปที่ห้อง และเมื่อเปิดประตู ก็เต็มไปด้วยนักข่าวมากมาย ผมไม่ได้คาดคิดในเรื่องนี้ ผมได้ขอโทษ แต่ผมไม่ชอบวิธีการเจอกันที่พวกเขาจัดขึ้น มันแสดงให้เห็นบนหน้าของผม" ชูมัคเกอร์ กล่าวกับ Goal 

ก่อนที่เขาจะมีโอกาสแก้ตัวอย่างเป็นทางการในอีก 2 ปีหลังฟุตบอลโลกที่สเปน 

เกมไถ่บาป 

ในปี 1984 ฝรั่งเศสและเยอรมันตะวันตกโคจรมาพบกันอีกครั้งในเกมนัดกระชับมิตร แม้เหตุการณ์จะผ่านไป 2 ปี แต่ความโกรธแค้นต่อชูมัคเกอร์ ก็ยังไม่หายไปง่ายๆ จากใจแฟนบอลฝรั่งเศส 

นั่นจึงทำให้เกมนั้นเต็มไปด้วยความตึงเครียด ภายในสนามเต็มไปด้วยตำรวจที่เข้ามารักษาความปลอดภัย และต้องล้อมรั้วด้วยลวดหนาม ราวกับกำลังจะมีสงครามเกิดขึ้น 

 11

"ตอนที่ผมลงไปในสนามที่สตาร์บูร์ก ในเกมทีมชาตินัดแรกกับฝรั่งเศสหลังฟุตบอลโลก ผมเห็นตัวเองเป็นเหมือนกับตุ๊กตาที่มีชีวิตที่กำลังห้อยต่องแต่งอยู่บนตะแลงแกง (ที่แขวนคอนักโทษประหาร)" ชูมัคเกอร์ย้อนความหลังกับ Goal 

"สนามถูกล้อมรั้วและต้องรักษาความปลอดภัยจากตำรวจที่มีกระบองอยู่ในมือ มิฉะนั้นคนฝรั่งเศสอาจจะฉีกผมเป็นชิ้นๆ ทุกที่ในสนามมีแบนเนอร์เป็นตราสวัสดิกะและสโลแกนคล้ายนาซี" 

"ไข่ มันฝรั่ง แอปเปิ้ล มะเขือเทศ หิน พวกเขาขว้างทุกอย่างมาที่ผม พวกเขาผิวปากและเดือดดาลทุกครั้งที่ผมได้บอล แต่พวกเขาไม่สามารถทำให้ผมรู้สึกตัวเล็กลงได้" 

นี่คือสิ่งที่ ชูมัคเกอร์ ต้องยืนหยัด เขารู้ดีว่าเขาทำผิดต่อ บัตติสตอง แต่เขาก็ต้องทำผลงานอย่างเต็มที่ในเกมนี้ โดยไม่เกรงกลัว และพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาแข็งแกร่ง 

"ผมรู้ผมต้องทำอะไร ถ้าผมไม่ลุกขึ้นยืนในสภาพที่กดดันเช่นนี้ ชีวิตทีมชาติของผมก็จะจบลง ผมเต็มไปด้วยสมาธิและเตรียมตัวด้วยการฝึกจิตอย่างต่อเนื่อง" ชูมัคเกอร์ย้อนความหลัง

แม้จะโดนกดดัน แต่ชูมัคเกอร์ ก็ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม เขาปัดลูกยิงจากฝั่งซ้าย รับลูกยิงไกล ไว้ได้ทั้งหมด ก่อนจะมาเสียท่าให้ ดิดิเยร์ ซิกซ์ ที่ซัดไกลเข้าไปให้ฝรั่งเศสออกนำ 

ก่อนที่สุดท้ายฝรั่งเศสจะเอาชนะไปได้ด้วยสกอร์นั้น และชัยชนะของเจ้าบ้านต่อคู่แค้นอย่างเยอรมันก็ทำให้บรรยากาศดีขึ้น ราวกับว่า ชูมัคเกอร์ ได้ไถ่โทษในสิ่งที่เคยทำลงไป 

 12

"ฝรั่งเศสชนะ 1-0 แต่ผมเล่นได้ดี และเมื่อเกมเดินหน้าไปเรื่อยๆ ผู้คนก็เริ่มปรบมือให้ผม" ชูมัคเกอร์ กล่าว

"ผมแลกเสื้อกับ บัตติสตอง แต่แลกในห้องแต่งตัว ไม่ได้แลกในสนาม" 

หลังเกมวันนั้น ชูมัคเกอร์ ได้มีโอกาสติดทีมชาติไปเล่นฟุตบอลโลกในปี 1986 แต่ไม่สามารถหยุดความร้อนแรงของ ดิเอโก มาราโดนา ได้ และทำได้เพียงตำแหน่งรองแชมป์โลก ด้วยการแพ้ อาร์เจนตินา ในการแข่งขันที่ประเทศเม็กซิโก และหลุดทีมในชุดปี 1990 ซึ่งเยอรมันไปถึงตำแหน่งแชมป์โลก ในการแข่งที่ประเทศอิตาลี

ในขณะที่ บัสติสตอง หลังพักรักษาตัวจนหายดี เขาก็กลับมาติดทีมชาติอีกครั้ง แถมยังเป็นหนึ่งในขุนพลฝรั่งเศสชุดคว้าแชมป์ยูโร 1984 และอันดับ 3 ในฟุตบอลโลก 1986 ก่อนเลิกเล่นไปในปี 1991 

ผ่านมาเกือบ 40 ปีนับตั้งแต่เกมสุดอื้อฉาว หลายคนโดยเฉพาะแฟนบอลฝรั่งเศส อาจจะยังไม่ให้อภัยกับการกระทำของชูมัคเกอร์ เมื่อส่วนใหญ่มองว่าเขาแค่แก้ตัวให้ตัวเองไม่รู้สึกผิดจนเกินไป 

แน่นอนว่ามันยากที่จะพิสูจน์ว่าสิ่งที่ ชูมัคเกอร์ อธิบายเป็นเรื่องจริงหรือไม่? การเท้าสะเอวในตอนนั้น เขารู้สึกผิดหรือกลัวอย่างนั้นหรือ? แต่ไม่ว่าคำตอบจะคืออะไร สำหรับ บัตติสตอง เขาปล่อยวางมันไปหมดแล้ว 

มันจึงเป็นเพียงแค่เหตุการณ์สำคัญ เหตุการณ์หนึ่งในชีวิตเขา ก็เท่านั้นเอง

"ผมให้อภัยเขา ตลอดเวลาผมตระหนักว่าผู้คนต้องตราหน้าเขากับเรื่องนี้ไปตลอดกาล แต่ตอนนี้มันจบลงแล้ว" บัตติสตองกล่าวเมื่อปี 2012  

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ "โทนี ชูมัคเกอร์" : แข้งที่ชาวฝรั่งเศสโหวตว่าน่ารังเกียจยิ่งกว่า "ฮิตเลอร์"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook