"ชินจิ โอโนะ" : ลูกพี่ชนาธิปและนักเตะญี่ปุ่นที่รับไม้ต่อจาก "นากาตะ"

"ชินจิ โอโนะ" : ลูกพี่ชนาธิปและนักเตะญี่ปุ่นที่รับไม้ต่อจาก "นากาตะ"

"ชินจิ โอโนะ" : ลูกพี่ชนาธิปและนักเตะญี่ปุ่นที่รับไม้ต่อจาก "นากาตะ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปฎิเสธไม่ได้ว่าสำหรับคอฟุตบอลไทยที่ติดตามฟอร์มของ ชนาธิป สรงกระสินธ์ หลังจากย้ายไปค้าแข้งที่ญี่ปุ่นกับ คอนซาโดเล ซัปโปโร ตั้งแต่ปี 2017 นั้น มันทำให้เรารู้จักนักเตะเจ้าถิ่นในทีมนี้มากขึ้น ... เคน โทคุระ, ไดกิ ซุงะ บลาๆๆ แต่ไม่มีนักเตะคนใดที่เราจะคุ้นชื่อไปมากกว่า ชินจิ โอโนะ แข้งตัวเก๋าในทีมชุดนั้นอีกแล้ว

ในสายตาคนไทย เรามอง ชนาธิป ว่าคือสุดยอดแห่งยุค ... พรสวรรค์, การเป็นนักสู้ และความทะเยอทะยานในแบบของ "นักเดินทาง" ที่แม้จะต้องออกไปในดินแดนที่ยังไม่มีใครยอมรับ แต่เขาก็พร้อมจะแลกเพื่อคำสรรเสริญในตอนท้าย เรามองชนาธิปอย่างไร ชาวญี่ปุ่นก็เคยมอง ชินจิ โอโนะ อย่างนั้น

เจ้าของฉายา "เทนไซ" (อัจฉริยะ) และนักเตะอายุน้อยที่สุดที่อยู่ในชุดประวัติศาสตร์ของทีมชาติญี่ปุ่นในฟุตบอลโลก 1998 ... ผ่านประสบการณ์ร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ และไม่ว่าไปที่ไหน ทุกคนก้มหัวคารวะให้กับหัวใจของเขาทั้งสิ้น

ติดตามเรื่องราวของ ชินจิ โอโนะ ได้ที่นี่ 

ชีวิตที่มีแต่คำว่า "อนาคต"

จุดเริ่มต้นของ ชินจิ โอโนะ ไม่ต่างอะไรกับนักฟุตบอลแถวหน้าของโลกคนอื่นๆ เพราะเขารู้อนาคตตั้งแต่เด็กแล้วว่าโตมาจะเป็นนักฟุตบอล นั่นคือสิ่งที่คิดง่ายแต่ทำยาก เพราะในตอนวัยเยาว์ ลีกฟุตบอลของญี่ปุ่นยังไม่ได้เป็นที่นิยมและมีระบบแบบแผนวางเป๊ะเหมือนทุกวันนี้   


Photo : www.soccerdigestweb.com

เดิมทีฟุตบอลลีกญี่ปุ่นเป็นเพียงลีกกึ่งอาชีพ ที่มีแต่ทีมองค์กรมาแข่งขัน จนกระทั่งปี 1992 พวกเขาก็ตัดสินใจรีแบรนด์ให้มีความเป็นมืออาชีพเต็มตัว กับการก่อตั้ง เจลีก ทว่า 3 ซีซั่นผ่านไปจากการเปิดฉากการแข่งขันเมื่อปี 1993 กระแสแฟนบอลตกลงมาก ค่าเฉลี่ยคนดูลดลงจาก 19,000 คนเหลือ 10,000 คน หรือหายไปเกือบครึ่ง จนกระทั่งต้องปรับโครงสร้างใหม่ ด้วยการให้สโมสรต่างๆ ผูกสัมพันธ์กับท้องถิ่นยิ่งขึ้น

ขณะที่ลีกกำลังตั้งไข่ ชินจิ โอโนะ ก็อยู่ในช่วงเวลาและสถานการณ์เดียวกันพอดีเป๊ะ เขาเพิ่งศึกษาจบมัธยมปลายที่โรงเรียน ชิมิสึ คอมเมอร์เชี่ยล และแน่นอนว่าเขาจะเลือกอะไรเป็นเส้นทางต่อไปของชีวิตได้อีก นอกเสียจากฟุตบอล

"ผมไม่เคยชอบไปโรงเรียนหรอก ผมไม่อยากจะเรียนรู้อะไรนอกจากฟุตบอลอีกแล้ว ฟุตบอลเป็นอย่างเดียวที่ผมอยากทำ" เขาหัวเราะของแนวคิดที่คนอื่นมองว่า "คิดสั้น" แต่ไม่สำคัญเพราะเขาเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่คิดมาดีแล้ว 

"ผมเป็นตัวทีมชาติตั้งแต่สมัยยังเรียนหนังสือแล้ว มันทำให้ผมมั่นใจว่าผมจะต้องเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้แน่นอน สุดท้ายผมก็เลือกเซ็นสัญญากับ อุราวะ เรดส์ นั่นคือสัญญาอาชีพฉบับแรก และหลังจากนั้นผมไม่เคยมองย้อนกลับไปที่อดีตอีกเลย"


Photo : photozou.jp

การประกาศตัวบนเวทีเจลีกปีแรกในฤดูกาล 1998 โอโนะ ถูกยกย่องว่าเขาคือเพชรของวงการฟุตบอลญี่ปุ่นที่มีศักยภาพเยอะจนสามารถเล่นได้ทุกตำแหน่งในแดนกลาง "วิชั่น, เทคนิค และ การจ่ายบอลที่สุดยอด" นี่คือคำจำกัดความของ โอโนะ ในตอนนั้นที่อายุแค่ 17 ปี แต่กลับสามารถยึดตัวหลัก ลงเล่น 29 นัด และยิงได้ถึง 9 ประตูในฤดูกาลแรกกับระดับอาชีพ 

อันที่จริง ไม่ต้องสนสถิติดังกล่าวหรอก เพราะฟอร์มการเล่นในสนามที่เปรี้ยงปร้างตั้งแต่ช่วงแรกของฤดูกาล ทำให้เขาถูกจับตาจาก ทาเคชิ โอกาดะ กุนซือทีมชาติญี่ปุ่นตอนนั้นทันที เพราะหลังจบเลกแรกของการแข่งขัน ก็จะถึงคิวของ ฟุตบอลโลก 1998 ... สุดท้าย โอกาดะ เลือก โอโนะ ไป ฟร้องซ์ '98 และคนที่ถูกตัดชื่ออกในเวลานั้นคือ คาซึโยชิ มิอุระ หรือ "คิง คาซู" ของวงการฟุตบอลญี่ปุ่นนั่นเอง 


Photo : pikdo.biz

วงการฟุตบอลญี่ปุ่น เลือกซื้ออนาคตกับ โอโนะ และมันคือการซื้อหวยที่ถูกรางวัล โอโนะ นำประสบการณ์จากฟุตบอลโลก กลับมาเป็นตัวหลักในศึกยู 20 ชิงแชมป์โลกปีต่อมา ในรายการนี้ โอโนะ ได้เจอกับจอมทัพดาวรุ่งจากทั่วโลกที่แต่ละคนกลายมาเป็นยอดนักเตะในอนาคตทั้ง สเตฟาน อัปเปียห์, โรนัลดินโญ่, เซย์ดู เกอิต้า, เอสเตบัน คัมบิอัสโซ่ และ ชาบี เอร์นันเดซ ... และเขาพิสูจน์ตัวเองว่ามีดีไม่แพ้ใคร โอโนะ พาญี่ปุ่นไปถึงรอบชิงชนะเลิศ ก่อนจะแพ้ให้กับ สเปน 0-4 ญี่ปุ่นที่เล่นดีมาตลอดทั้งทัวร์นาเมนต์ตกม้าตายแบบเป็นคนละทีมในนัดสุดท้าย ... ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่ในเกมนั้นเขาไม่ได้ลงสนาม

"อาจะเป็นเพราะผมไม่ได้ลงเล่นมั้ง (หัวเราะ) ผมได้ใบเหลืองครบโควต้าในรอบ 4 ทีมสุดท้ายและพลาดนัดชิงชนะเลิศไป ผมเองก็ไม่แน่ใจหรอกว่าถ้าผมลงสนามในวันนั้นแล้วสกอร์จะออกมาแบบไหน" โอโนะกล่าวกับสื่อในภายหลัง

"ไม่ว่าจะจบอย่างไรทีมชุดนั้นสมควรได้รับเครดิตทั้งหมด เราคือผู้เล่นที่เล่นกันมาตั้งแต่อายุ 15 ปี และต้องไปลืมว่าเรากวาดทีมใหญ่ๆ อย่าง อังกฤษ, โปรตุเกส, เม็กซิโก และ อุรุกวัย จนเกลี้ยง แค่นี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วล่ะ" 

ในยุคที่ฟุตบอลญี่ปุ่นกำลังสร้างแผนพัฒนาใน 50 ปี พวกเขามี ฮิเดโตชิ นากาตะ คนเดียวที่ไปต่างประเทศแล้วสามารถปรับตัวก่อนสร้างชื่อเสียงจนเป็นที่ยอมรับได้ และไม้ผลัดต่อไปที่วงการญี่ปุ่นเฝ้ารอคือ ชินจิ "เท็นไซ" โอโนะ นักเตะที่มีทั้งฝีเท้า ความมั่นใจ และชอบความท้าทาย ซึ่งนั่นคือคุณสมบัติเดียวกับที่ นากาตะ มีนั่นเอง 


Photo : www.geocities.ws

"นากาตะ เป็นนักเตะที่ดี มีเทคนิคยอดเยี่ยม มีทัศนคติที่แข็งแกร่งมาก สำคัญที่สุดคือเขาเป็นคนฉลาดและมีไหวพริบ ผมว่าผมเองก็เป็นนักเตะที่ดี มีความสามารถแบบที่คล้ายๆกัน ... แต่นากาตะเป็นผู้เล่นที่เพอร์เฟ็กต์ยิ่งกว่าผมแน่นอน" โอโนะกล่าว 

"แปลกดีที่ผมถูกเรียกว่าอัจฉริยะ แต่มันไม่ได้กวนใจอะไรผมหรอก ผมขอรับมันไว้ด้วยความภูมิใจที่มีคนบอกว่าผมเป็นอัจฉริยะ แต่ผมไม่คิดว่าผมจะเป็นคนนั้นๆ หรอก"

แม้ปากจะว่าไปในแบบของคนที่ไม่ชอบการเปรียบเทียบ แต่ความจริงก็คือ ชินจิ โอโนะ ตัดสินใจย้ายไปพิสูจน์ตัวเองที่ประเทศเนเธอร์แลนด์กับสโมสรในลีกสูงสุดอย่าง เฟเยนูร์ด ... ที่ที่เขาจะใช้ฝีเท้าบอกเองว่า "อัจฉริยะ" คือคำที่เหมาะกับเขาหรือเปล่า?

แค่เล่นในต่างประเทศ...ไม่ได้หมายความว่าเก่ง

โอโนะ ย้ายไป เฟเยนูร์ด ด้วยค่าตัว 5 ล้านปอนด์ ในปี 2001 ซึ่งถือว่ามากโขสำหรับนักเตะญี่ปุ่น ที่ยังไม่สามารถการันตีได้เลยว่าจะนำอะไรกลับมาให้สโมสรได้บ้าง ... อย่าว่าแต่การชิงตำแหน่ง 11 ตัวจริง เพราะสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับนักเตะเอเชียในยุโรปคือการปรับตัว


Photo : gramho.com

ณ เวลานั้น เฟเยนูร์ด ถือว่ามีนักเตะดังๆ อย่าง ปิแอร์ ฟาน ฮอยดองค์, ยอห์น ดาห์ล โทมัสสัน และ โรบิน ฟาน เพอร์ซี่ ในวัยหนุ่ม ... เห็นได้ชัดว่า โอโนะ ต้องทำให้เพื่อนๆ ในห้องแต่งตัวยอมรับเขาให้ได้ และเมื่อเขาเป็นเนื้อเดียวกับทีมทุกอย่างก็จะง่ายขึ้นเอง

โอโนะ พยายามอย่างมากที่จะแสดงทัศนคติของตัวเองให้เพื่อนเห็นว่าเขาไม่ได้มาที่นี่เพื่อขายเสื้อ แต่จะมาทำให้ทีมๆ นี้เป็นทีมที่ดีขึ้น

"ผมไม่กลัวการทำงานหนัก ผมไม่กลัวการซ้อมหนักในช่วงปรีซีซั่น เพราะมันจะทำให้ผมฟิตเต็มที่เมื่อถึงการแข่งจริงๆ และยิ่งหนักมันก็ยิ่งดีกว่าสำหรับร่างกายของผม"

ทัศนคติง่ายๆ แต่ทำยากแบบนี้เอง ที่ทำให้การเดินทางสู่ดินแดนที่ไม่มีใครเรียกเขาว่า "อัจฉริยะ" ของเขาสนุกขึ้นอีกหลายเท่าตัว ไม่ต้องเศร้าไม่ต้องเก็บตัว ฟุตบอลคือภาษาง่ายๆ ที่ใครก็พูดกันเข้าใจ มันส่งผ่านความพยายาม ไม่จำเป็นต้องพูด ถ้าคุณพยายามได้มากพอจะมีคนเห็น และยอมรับในตัวคุณเอง 

โอโนะ เป็นตัวจริงเลยทันที ช่วงระยะการปรับตัว ไม่มีในพจนานุกรมของเขา ฤดูกาล 2001-02 ที่เป็นซีซั่นแรกนั้นง่ายกว่าที่คิด ภาพที่แฟนบอลยุโรปหวังจะเห็น สิ่งที่นากาตะทำ ในตัวของโอโนะอาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง เขาไม่ได้เล่นเกมรุกมากเหมือนกับที่ นากาตะ ได้รับบทบาทหมายเลข 10 ที่ อิตาลี แต่บทบาทของ โอโนะ คือหมายเลข 8 ของทีม นั่นคือการสร้างความแตกต่างในแดนกลาง เปลี่ยนเกมรับเป็นเกมรุก นี่คือทำแหน่งที่ต้องใช้ทั้งความบู๊และความบุ๋นมากกว่าที่ใดๆ ที่เขาเคยเจอ ... และสิ่งที่ตามมาก็คือเขากลายเป็นมิดฟิลด์ที่ดีที่สุดคนหนึ่งในดัตช์ลีกไปอย่างสุดเซอร์ไพรส์


Photo : web.ultra-soccer.jp

"ชินจิ โอโนะ ของเฟเยนูร์ดแน่นอน 100%" นี่คือสิ่งที่ เวสลี่ย์ สไนจ์เดอร์ จอมทัพของ อาแจ็กซ์ ทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ในเวลานั้น ตอบคำถามว่านักเตะคนไหนในดัตช์ลีกที่ดวลด้วยและทำให้เขารู้สึกลำบากและเหนื่อยที่สุด

"เขาเป็นนักเตะที่ร่างกายแข็งแกร่ง ฟิตมากๆ และก็เป็นผู้เล่นที่ยอดเยี่ยมเลย เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาตัดบอลจากผมและจะพาบอลหนีจากผมไป ผมต้องใช้ความพยายามเยอะมากในการไปเอาบอลคืนมาจากเขา ปรู๊ดเดียวเขาจะพาบอลไปที่พื้นที่สุดท้ายและมอบมันให้กองหน้าจัดการต่อ ... โอโนะ คือนักเตะที่คุณไม่อาจจะปล่อยให้เขาเดินออกห่างคุณได้แม้แต่ก้าวเดียว หมอนี่เก่งมากๆ" สไนจ์เดอร์ ที่เคยคว้า 3 แชมป์กับ อินเตอร์ ในปี 2010 กล่าว 


Photo : www.voetbal.com

หากจะพูดให้ถูกต้อง คงต้องบอกว่านี่คือปีมหัศจรรย์ของ เฟเยนูร์ด อย่างแท้จริง โอโนะ เข้ามาและทำให้ทีมๆ นี้ได้บอลเอาไปเล่นเกมรุกกันอย่างเมามัน สร้างสถิติยิงกันกระจายทั้ง ฮอยดองค์, ฟาน เพอร์ซี่ และ โทมัสสัน จน เฟเยนูร์ด ไปไกลที่สุดถึงขั้นการเป็นแชมป์ ยูฟ่า คัพ ในปี 2002 เลยทีเดียว นั่นคือแชมป์แรกในรอบหลายปีของพวกเขาที่เกิดขึ้นหลังการเข้ามาอยู่กับทีมแค่ปีเดียวของมิดฟิลด์ชาวญี่ปุ่น ดังนั้นไม่มีทางปฎิเสธได้เลยว่าเครดิตเหล่านี้ ควรถูกแบ่งให้กับ โอโนะ แข้งซามูไรคนที่สองที่ทั้งโลกต้องยอมรับในฝีเท้าบ้าง 

"ผมตัดสินใจเสี่ยงตั้งแต่กระโดดรับโอกาสนั้น (ย้ายไป เฟเยนูร์ด) ผมออกจากประเทศของตัวเอง และคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่ควรทำคือการแสดงทัศนคติของผมให้คนอื่นเห็นให้ได้ การไปเล่นในต่างประเทศไม่ใช่ความสำเร็จสุดท้ายของชีวิต แต่การลงสนามและประสบความสำเร็จในต่างประเทศต่างหากที่เป็นความสำเร็จที่แท้จริง" โอโนะ ให้สัมภาษณ์กับ gekisaka.jp

การเดินทางจะไม่สิ้นสุด...หากคุณมีเป้าหมาย 

โอโนะ กลับมาค้าแข้งที่ญี่ปุ่นกับ อุราวะ อีกครั้งในช่วงต้นปี 2006 หลังประสบปัญหาอาการบาดเจ็บจนได้ลงสนามน้อย ประกอบกับฟุตบอลโลก 2006 ใกล้เข้ามา และสำหรับเขาภารกิจในฟุตบอลโลกยังไม่จบ โอโนะ อยากจะอยู่ในทีมชาติต่อไป ซึ่งการกลับมาบ้านเก่า และได้ลงสนามต่อเนื่องมันจะดีต่อตัวเขามากกว่า

ณ ตอนนั้นหลายคนเสียดายคิดว่าเขาถอดใจไม่สู้ต่อในยุโรปอีกแล้ว บ้างก็บอกว่าเขาขาลงแล้ว แต่สุดท้ายทุกอย่างที่เขาตัดสินใจล้วนเป็นสิ่งที่เขาคิดว่าดีต่อตัวเองที่สุดเสมอ โอโนะ กลับมาและได้เล่นฟุตบอลโลก ซึ่งหลังจากนั้นปีเดียวเขาก็พิสูจน์ให้คนอื่นเห็นอีกครั้งว่า การเดินทางของเขามันไม่ได้จบแค่นี้แบบที่ใครเข้าใจ ... สถานีต่อไปคือ โบคุ่ม ทีมในลีกสูงสุดของประเทศเยอรมัน


Photo : myprivacy.dpgmedia.be

"ราคาค่างวดอาจจะไม่เท่ากับที่เราหวังไว้ แต่ดีลนี้ไม่ใช่เรื่องเงิน เราต้องการให้ ชินจิ กลับไปเปล่งประกายในเวทีใหญ่อีกครั้ง โอกาสนี้เหมาะสมที่เขาจะได้มัน" ชูโซ นากามูระ ผู้จัดการทั่วไปของ อุราวะ กล่าว 

อย่างไรก็ตามการเดินทางครั้งนี้ไม่เป็นอย่างที่หวัง โอโนะ ได้ลงเล่นให้กับ โบคุ่ม แค่ 34 เกมใน 2 ฤดูกาลครึ่ง เขาไม่ประสบความสำเร็จนักที่เยอรมันเพราะว่าอาการบาดเจ็บกลับมารุมเร้า อีกทั้งยังมีเรื่องครอบครัวให้ต้องตัดสินใจ นั่นจึงทำให้เขาขอย้ายกลับมาใน ญี่ปุ่น อีกครั้งกับ ชิมิสึ เอสพัลส์ แต่ก็เป็นช่วงสั้นๆ เนื่องจากเวลานั้นลูกสาวของเขากำลังโต

ชีวิตก็แบบนี้ บางครั้งการเดินทางให้อะไรกับคุณมากมาย โอโนะ จะกลายเป็นนักเตะที่ใครๆ ต่างก็เคารพเมื่อประสบความสำเร็จในยุโรป แต่สุดท้ายจะมีอะไรสำคัญกว่าครอบครัว? 

"มันคือช่วงเวลาที่ต้องดูแลใส่ใจคนในครอบครัวให้มากขึ้น ครอบครัวของผมที่ญี่ปุ่นต้องการผม ลูกๆ ผมกำลังเข้าวัยอนุบาล ช่วงเวลาก่อนหน้านี้ (ท้ายๆ กับ โบคุ่ม) เป็นช่วงเวลาที่วุ่นวายของผมนะ เราคุยและเห็นหน้ากันผ่านอินเตอร์เน็ตบ้าง แต่มันเทียบไม่ได้หรอกกับการตื่นมาแล้วเจอหน้ากันทุกวัน ... ต้องยอมรับเลยว่ามันเป็น 2-3 เดือนเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากกับผมสุดๆ" 


Photo : www.abc.net.au

สิ่งที่ โอโนะ ไม่เคยเปลี่ยนคือทัศนคติ ไม่ว่าจะเล่นในประเทศไหน ประสบความสำเร็จมากที่สุด จนมาถึงกับโบคุ่มที่ล้มเหลวที่สุด เขากลับไม่เคยมองว่ามันเป็นรอยด่างพร้อย แต่มันคือการปักหมุดสำหรับการเดินทางของชีวิต ที่เขาเองเข้าใจอยู่คนเดียวว่า ไม่ว่าจะดีหรือแย่ ประสบการณ์เหล่านี้ล้วนควรค่าแก่การจดจำทั้งสิ้น

"ไม่ว่าจะไปเล่นฟุตบอลทีประเทศไหน ไม่ว่าจะสโมสรต่างแดน จะลีกในประเทศ ผมคิดว่าทุกๆที่สร้างความทรงจำที่มีค่าให้กับผมอย่างเท่าเทียม ไม่มีที่ไหนพิเศษแตกต่างออกไป แต่ละสโมสรมีวัฒนธรรม มีความท้าทาย สิ่งที่น่าสนใจที่แตกต่างกันให้ได้เรียนรู้ตลอด ผมเลือกไม่ได้จริงๆ ว่าช่วงไหนที่ดีที่สุดในชีวิตของผม" นั่นคือสิ่งที่เขาเผยในวัย 33 ปี เมื่อปี 2014 ซึ่งตอนนั้น กำลังเล่นอยู่กับ เวสเทิร์น ซิดนี่ย์ วันเดอร์เรอร์ส ในเอลีก ประเทศออสเตรเลีย

ชายถูกออร่าอัจฉริยะครอบคลุม

เมื่อมาถึงบั้นปลายอาชีพ ประสบการณ์ผ่านการเดินทางข้ามทวีปของเขากลายเป็นสิ่งมีค่าที่หาได้ในนักเตะระดับเอเชียแค่ไม่กี่คน มันเป็นอย่างที่เขาบอก ช่วงที่เล่นในออสเตรเลีย หรือกลับมาเล่นกับ คอนซาโดเล ซัปโปโร โอโนะ กลายเป็นคนสำคัญในห้องแต่งตัวของทีม และเป็นขวัญใจของกองเชียร์ตลอด นั่นอาจจะเป็นเพราะว่าทัศนคติของเขาไม่เคยเปลี่ยน การให้ความสำคัญกับคำว่ามืออาชีพ ทำให้ไม่ว่าเขาจะอายุเยอะมากขึ้นแค่ไหน หากมีสิ่งนี้อยู่ในตัว เขาจะได้ความเคารพนับถือกลับมาเสมอ


Photo : vaaju.com

"ตัวผมเองไม่ได้มีโปรแกรมดูแลตัวเองเฉพาะเจาะจงอะไรมากมายนัก เรื่องง่ายๆ ที่ผมทำคือเน้นและพยายามให้หนักที่สุดในการฝึกซ้อม ทุกครั้งที่ลงเซสซั่นการฝึก ผมจะนึกภาพในหัวและเปลี่ยนมันให้เหมือนอยู่ในสถานการณ์สนามจริงตลอด ผมหวังทุกครั้งว่าการซ้อมจะทำให้ผมมีฟอร์มทีดีเมื่อลงแข่ง" โอโนะ กล่าวถึงการดูแลตัวเองในช่วงปลายอาชีพค้าแข้ง 

เขาทำแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าตั้งแต่เซ็นสัญญาอาชีพฉบับแรกในปี 1998 และตอนนี้มันผ่านมาแล้ว 22 ปี ... หากจะถามว่าอะไรที่ทำให้ไม่เบื่อไปก่อน ทั้งๆ ที่ร่างกายไม่แข็งแรงเหมือนเดิม มีอาการบาดเจ็บรบกวนตลอด ทว่าเขายังเป็น โอโนะ คนเดิมที่ลงเล่น และพบปะแฟนๆ ของเขาอย่างเป็นกันเองด้วยรอยยิ้มเสมอ ไม่ต่างจากตอนที่ตัวเองอายุ 17 ปี ซึ่งน้อยคนมากที่จะยืนระยะได้ยาวนานขนาดนั้น?

เหตุผลมันง่ายนิดเดียว คือเมื่อคุณย้อนกลับไปอ่านบรรทัดแรกที่เขาตัดสินใจเป็นนักฟุตบอลอาชีพ คุณจะได้คำตอบนั้น 

"ฟุตบอลคือชีวิตของผม มันสำคัญที่จะต้องลงเล่นพร้อมกับรอยยิ้ม เพราะมันทำให้ผมรู้สึกสนุก และทำให้ตัวเองแสดงผลงานออกมาให้ดีที่สุด ... หากจะว่ากันตรงๆ มันก็มีช่วงเวลาที่เครียดบ้าง แต่มันคงไม่ดีแน่ที่จะแสดงมุมนั้นให้แฟนๆ ของเราเห็น ผมไม่ชอบทำให้ใครต้องมารู้สึกแย่และกังวลเพราะตัวผมหรอก" เขาสรุปได้อย่างจับใจ

ทุกวันนี้ ไม่ใช่แค่นักเตะในญี่ปุ่น ที่ได้รับอิทธิพลจากความเป็น "ฟุตบอลแมน" หรือ "นักเดินทาง" ที่ยิ่งใหญ่อย่างเขาเท่านั้น ใกล้ตัวคนไทยเราที่สุดอย่าง ชนาธิป สรงกระสินธ์ ที่เคยทำงานร่วมกับ โอโนะ อยู่ 2 ปี ยังเคยให้บอกกล่าวถึงนิสัยใจคอของ โอโนะ ที่เขาให้ความเคารพและมีบทบาทสำคัญกับการเล่นญี่ปุ่นของเขาเป็นอย่างมาก 


Photo : www.jsgoal.jp

“โอโนะ บอกผมว่าเมื่อคุณได้รับบอล สิ่งแรกและสำคัญที่สุดที่คุณต้องแสดงออกคือความสามารถของคุณ ผมรู้สึกดีมากๆ ที่ได้ยินอย่างนั้น และผมจะเก็บคำพูดนี้ไว้ในใจ” ชนาธิป ให้สัมภาษณ์ไว้ในปีแรกที่เขาไปค้าแข้งที่ญี่ปุ่น ซึ่งมันคล้ายกับสถานการณ์กับตอนที่ โอโนะ ไปอยู่กับ เฟเยนูร์ด ใหม่ๆ ที่ต้องการแสดงความสามารถของตัวเองให้โลกเห็น อีกทั้งสถานะของทั้งคู่คือความหวังของชาติและผู้บุกเบิกกรุยทางเพื่อนักฟุตบอลในชาติเดียวกันด้วย ... ต่างช่วงเวลาเท่านั้นเอง 

ประสบการณ์ที่ได้มาจะมีค่าที่สุดก็ต่อเมื่อมันถูกแบ่งปัน ตอนนี้ ชินจิ โอโนะ ในวัยใกล้ 40 ปี ได้ประกาศลาทีม คอนซาโดเล ซัปโปโร ไปตั้งแต่ช่วงกลางปี 2019 ... แม้ตัวจะจากแต่สิ่งที่เขาทิ้งไว้ยังคงอยู่ นั่นคือการช่วยให้ ชนาธิป ให้เป็นผู้เล่นที่ดีกว่าเดิม จนทุกวันนี้ได้เปลี่ยนสถานะจากนักเตะไทยโนเนมในสายตาคนญี่ปุ่น กลายเป็นความหวังของทีมและขวัญใจแฟนๆ ชาว คอนซะ ไปเรียบร้อยแล้ว 

"วันนี้คงเป็นวันสุดท้ายของ ชินจิ ในบ้านหลังนี้ ผมขอบคุณชินจิ ที่คอยให้กำลังใจผมตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย ขอบคุณที่เชื่อมั่นในฝีเท้าของผมมาโดยตลอด ขอบคุณที่ชี้นำและทำให้ผมเป็นนักเตะที่ดีขึ้น ขอบคุณที่เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับรุ่นน้องเสมอมา” 

“ขอบคุณโอกาสดีๆ ที่โลกฟุตบอลทำให้ผมได้เจอกับตำนานอัจฉริยะของฟุตบอลญี่ปุ่นคนนี้ด้วย" ชนาธิป โพสต์ข้อความอำลา โอโนะ ที่ปัจจุบันเล่นให้กับ เอฟซี ริวกิว ใน เจลีก 2 ของญี่ปุ่น 


Photo : AP

"ผมไม่ใช่อัจฉริยะหรอก ไม่ใช่คนประเภทนั้น" ที่คือคำที่เขาเคยบอกไว้ แต่ท้ายที่สุด ชินจิ โอโนะ ก็หนีคำสรรเสริญเหล่านั้นไม่พ้น

ไม่ว่าจะไปที่ไหนเขาก็จะเป็น "เท็นไซ โอโนะ" เสมอ ถึงตอนนี้มันไม่สำคัญเลยว่าเขาหรือ ฮิเดโตชิ นากาตะ ใครคือนักเตะญี่ปุ่นที่ยิ่งใหญ่กว่ากัน เรื่องแบบนั้นมันอยู่ที่มุมมองความชื่นชอบที่ไม่มีถูกมีผิด

แต่สิ่งที่ผู้คนกระทำและกล่าวถึงกับเขาต่างหากคือความจริงที่ไม่อาจปฎิเสธได้ แม้แต่ตัวของ โอโนะ เองจะไม่ได้อยากรับมันไว้ก็ตาม 

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ "ชินจิ โอโนะ" : ลูกพี่ชนาธิปและนักเตะญี่ปุ่นที่รับไม้ต่อจาก "นากาตะ"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook