คำบอกเล่าของนักมวยไทยในวันที่ถูกมองเป็นต้นเหตุ “Super Spreader”

คำบอกเล่าของนักมวยไทยในวันที่ถูกมองเป็นต้นเหตุ “Super Spreader”

คำบอกเล่าของนักมวยไทยในวันที่ถูกมองเป็นต้นเหตุ “Super Spreader”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ครอบครัวผมไปตรวจแล้วไม่มีใครติดเชื้อโควิด-19 แต่ถูกคนเอาไปพูดกันต่อ จนผมไม่กล้าไปมองหน้าใคร ขนาดเด็กน้อยผ่านหน้าบ้านยังต้องปิดจมูกคิดดูครับ”

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน “วงการมวยไทย” มีการเลื่อนการแข่งขันออกไปอย่างไม่มีกำหนด หลังพบการแพร่ระบาดใหญ่ที่มีต้นตอมาจากเวทีมวย โดยอาชีพหนึ่งที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อม นั่นคือ “นักมวยไทยอาชีพ” 

ผลกระทบทางตรงได้แก่เรื่อง “รายได้” เพราะนักมวยไทยนั้น มีโครงสร้างรายได้ที่แตกต่างกับ นักฟุตบอล และนักกีฬาอาชีพหลายๆ ประเภท ตรงที่พวกเขาไม่มีเงินเดือน รายได้ของพวกเขาขึ้นอยู่กับค่าตัวในการชกแต่ละไฟต์ บางค่ายอาจมีเบี้ยเลี้ยงซ้อมไว้ให้นักมวย 

เมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดลุกลามมาถึงวงการกำปั้น ทำให้ ค่ายมวย,เวทีมวย ไม่สามารถดำเนินการเปิดได้ตามปกติ ทั้ง เบี้ยเลี้ยงซ้อม และค่าตัว ที่นักมวยเคยได้จึงหายไป  

ส่วนผลกระทบทางอ้อม คือ สิ่งที่พวกเขาทั้งหลายต่างต้องพบเจอ ในวันที่เดินทางกลับภูมิลำเนา และนี่คือคำบอกเล่าของพวกเขา ที่อยากส่งเสียงไปถึงผู้คนในสังคม...

สายตาที่มองมา 

ในช่วงที่มวยไทยถูกเลื่อนการจัดออกไปอย่างไม่มีกำหนด ค่ายหลายแห่ง ได้ปิดตัวลง นั่นทำให้ เหล่าพ่อค้ากำปั้น ต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา และกักตัว 14 วันตามแนวทางปฏิบัติ 

แต่สิ่งที่นักมวยหลายๆ คน ประสบพบเจอ และบอกเล่าเรื่องราวลงบน โชเซียลมีเดียส่วนตัว คือ สายตาที่ไม่เป็นมิตรสักเท่าไหร่ จากผู้คนที่ภายนอก และความหวาดระแวงที่มีให้ต่อพวกเขา 

“พ่อผมกลับมาจากสนามมวยลุมพินี ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม ไปตรวจก็ไม่มีไข้อะไร แต่ชาวบ้านตื่นอกตกใจ อาจได้ยินเรื่องที่เข้าใจผิดไปทั่ว รวมถึงคนที่ไปดูมาด้วย ตรวจแล้วไม่มีใครติดโรคโควิด-19

“หมอสั่งให้เฝ้าดูอาการ พอถึงวันตรวจ พวกคุณก็เอาไปพูดกันต่อ จนผมผมไม่กล้าไปมองหน้าใคร ขนาดเด็กน้อยผ่านหน้าบ้านยังต้องปิดจมูกคิดดูครับ ถ้าจะเอาเรื่องมั่วๆไปเล่าต่อกันไปแบบนี้ ครอบครัวผมคงเป็นที่สังคมรังเกียจ เพราะชาวบ้านเล่าเรื่องที่ไม่เป็นความจริง ขนาดแม่พี่สาวกับผมไม่ได้ไปไหนอยู่ที่บ้าน ยังโดนเหมารวมว่าเป็นโรค อย่าทำให้ครอบครัวผม ต้องเสียหายมากกว่านี้”

ยอดไอคิว ส.ธนาเพชร นักมวยวัย 18 ปี จากอำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ ระบายความรู้สึกที่อึดอัด หลังเขาและครอบครัว ถูกชาวบ้านบางส่วนเข้าใจผิด เพียงเพราะเขาเป็นนักมวยที่ขึ้นไปชกในเมืองกรุงอยู่สม่ำเสมอ 

เช่นเดียวกับ หนึ่งล้านเล็ก จิตรเมืองนนท์ เขาเปิดเผยประสบการณ์ครั้งหนึ่ง ที่ไปนั่งรับประทานอาหาร (ในช่วงที่ก่อนมีการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน) ก็ถูกเชิญออกมาจากร้าน เพราะมีข่าวลือที่ไม่จริงว่า นักมวยค่ายเดียวกับเขา ป่วยติดเชื้อ ทั้งที่ผลตรวจของนักมวยในค่ายทุกคน ไม่พบใครติดเชื้อ  

ส่วน ยอดเหล็กเพชร อ.อัจฉริยะ ที่กลับภูมิลำเนา จังหวัดร้อยเอ็ด ก็ไม่สามารถเข้าไปอยู่บ้านได้ ต้องแยกตัวออกมาจากหมู่บ้าน แม้ภรรยาจะเพิ่งคลอดลูกก็ตาม

“ผมเข้าสนามมวยเวทีลุมพินีล่าสุด 6 ธ.ค. 62 และเวทีราชดำเนิน 6 ก.พ. 63 และตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. รายการที่บุรีรัมย์ถูกยกเลิก หลังจากนั้นก็ไม่ได้คลุกคลีหรือใกล้ชิดใคร” 

“ส่วนใหญ่ จะมาอยู่กับแฟนไม่ค่อยได้ไปไหนเพราะแฟนใกล้คลอดแล้ว แต่เพื่อความสบายใจและเป็นการรับผิดชอบต่อส่วนรวม ผมอยู่รอเลี้ยงลูกที่นี่แหละคับ สบายๆ ไม่ต้องเข้าหมู่บ้าน” ยอดเหล็กเพชร เผย

 

ทำใจยอมรับ 

ข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด-19 ภายในสนามมวย ที่ส่งผลให้มียอดผู้ติดเชื้อนับ 100 ราย สร้างความตกอก ตกใจ แก่ผู้คนในสังคมที่ติดตามข่าวนี้ จนอาจเกิดความรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย และหวาดหวั่นผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการมวย 

แม้ตอนนี้พ้นช่วงเฝ้าระวังตัวของ บุคคลในกลุ่มเสี่ยงที่สนามมวย และพบนักมวยติดเชื้อเพียง 2 รายเท่านั้น (ทั้งหมดรักษาตัวหายแล้ว) 

อีกทั้งผู้ป่วยส่วนใหญ่ มาจากกลุ่มคนที่เป็น เซียนมวยบนอัฒจันทร์ ไม่ใช่นักชก แต่คนที่ประกอบอาชีพ นักมวย ก็ไม่วายถูกครหาว่าเป็น พวกติดเชื้อ 

“วันที่ 6 มีนาคมฯ ที่เขาจัดรายการมวย วันนั้นผมไม่ได้ไปที่สนามมวยเลย แต่คำว่า ‘นักมวย’ ที่ติดตัวเรา มันก็อาจทำให้คนภายนอกไม่สบายใจ” ธนญชัย สมหวังไก่ย่าง เล่าถึงประสบการณ์ที่ตนเองเคยเจอ เหตุการณ์ทำนองเดียวกัน 

“มีอยู่วันหนึ่ง ระหว่างที่ซ้อมมวยเสร็จอยู่ที่บ้าน กำลังจะอาบน้ำ ปรากฏว่าน้ำไม่ไหล เพราะท่อแตก ก็ขับรถกับเพื่อน ออกไปที่ร้านวัสดุก่อสร้างแห่งหนึ่ง เพื่อนผมเข้าไปในร้านก่อน ส่วนผมที่ตามไปทีหลัง กำลังจะเดินเข้าไป ก็ถูกคนขายตะโกนมาว่าห้ามเข้า เพราะว่าผมใส่กางเกงมวย ให้ผมยืนอยู่นอกร้าน เขาก็ถามว่าเอาอะไร ผมบอกเขาว่าจะมาซื้อท่อน้ำ ขนาดเท่านี้ เขาก็บอกไม่มี ไม่มี ทั้งที่ผมเห็นอยู่ว่ามันมี”

“ส่วนตัวผมเข้าใจเหตุผลนะ คนขายก็ต้องระวังป้องกันตัวเอง แต่ถ้าสามารถอธิบายกับเขาได้ ก็อยากบอกว่า ไม่ใช่นักมวยทุกคนนะที่เป็น”

ด้าน ก้าวหน้า สจ.โต้งปราจีน เขาเป็นนักมวยคนหนึ่งที่อยู่ในเวทีมวย วันที่ 6 มีนาคม และกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่ จังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม แม้ตัวเขาจะยังไม่เคยเจอประสบการณ์เหมือนนักมวยคนอื่นๆ เนื่องจากเจ้าตัวกักตัวอยู่ภายในบ้านอย่างเคร่งครัด จนครบกำหนด และมีผลตรวจเป็นลบ  

แต่ในฐานะนักมวยรุ่นพี่ วัย 30 ปี เขายอมรับว่ามีน้องๆ ในวงการหลายคน โทรมาปรึกษา และบอกเล่าถึงสิ่งที่พวกเขาพบเจอ เมื่อกลับภูมิลำเนา

“พอรู้ข่าวมีคนติดจากสนามมวย ในวันนั้น ผมก็ทำตามที่เขาสั่งทุกอย่าง กักตัวเอง ไม่ได้ออกไปไหน พอพ้น 14 วัน ก็ไปแจ้งโรงพยาบาลว่าขอตรวจ เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยง หมอให้นอน 1 คืน จนผลตรวจออกมา ผมไม่ติดเชื้อ ก็กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ” 

“ส่วนตัวผมไม่เคยเจอคนที่มาต่อว่า หรือเอาเราไปพูดในทางไม่ดี เพราะผมอยู่ในบ้านเป็นหลัก แต่น้องๆ ที่เขาอยู่ตามต่างจังหวัด หลายๆคนก็โทรมาปรึกษาผมบอกว่า เขาถูกคนในหมู่บ้าน เอาไปพูดไม่ดี ไปกล่าวหาว่าเขาติดเชื้อ ได้แต่ให้กำลังใจน้องๆ” 

“อยากให้คนภายนอกเห็นอกเห็นใจนักมวย แค่ไม่มีรายการชก พวกเราก็ลำบากแล้ว ยิ่งมาถูกมองว่าเป็นตัวแพร่เชื้อ ยิ่งไม่ดีเข้าไปใหญ่”

“ที่ผมอยากให้เห็นใจ เพราะนักมวยไม่สามารถไปกำหนดได้ว่า ตอนไหนต้องชกหรือหยุดจัด หน้าที่เรามีแค่ขึ้นต่อยมวย เพื่อหาเงิน โรคนี้ไม่มีใครอยากเป็นหรอกครับ และก็อยากให้เข้าใจว่า นักมวย ไม่ใช่ตัวแพร่เชื้ออย่างที่หลายคนเข้าใจ”

 

เริ่มที่ตัวเอง 

แม้ นักมวย จะไม่ใช่ต้นตอที่ทำให้ รายการมวย ถูกจัดขึ้น จนกลายเป็นการแพร่ระบาดใหญ่ แต่ในฐานะบุคคลที่มีอาชีพอยู่ในกลุ่มเสี่ยง พวกเขาก็ไม่อาจห้ามความคิดของคนภายนอกได้ ที่อาจได้รับข้อมูลไม่รอบด้าน 

นายแพทย์วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต จึงแนะนำให้นักมวยว่า ปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดในช่วงที่กักตัว เมื่อกลับภูมิลำเนาจนครบกำหนด เพื่อความสบายใจ และทำให้ทุกฝ่ายในชุมชนเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน


Photo : Varoth Chotpitayasunondh

“นักกีฬาหลายคนมีความกังวลและความเครียด เพราะมันเกี่ยวกับเรื่องหน้าที่การงาน หลายๆ อาชีพอาจสามารถ work from home ทำงานอยู่กับบ้านได้ แต่นักกีฬาไม่สามารถทำแบบนั้นได้ เพราะผลงานของเขาจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อมีการแข่งขัน ทำให้นักกีฬามีความเครียดสูง”

“ในกรณีของนักมวย ผมยังเชื่อคนไทยจำนวนมาก น่าจะเข้าใจในสถานการณ์และให้โอกาสกัน หากได้รับข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอ อย่างตอนนี้ นักมวยหลายคนกลับจากกรุงเทพ ไปอยู่ในชุมชน” 

“สิ่งสำคัญที่จะทำให้คนรอบข้าง หรือคนในชุมชนเกิดความเชื่อมั่น คือ การปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดของนักกีฬา ตั้งแต่การกักตัวให้ครบ 14 วัน เพื่อเฝ้าระวังอาการในฐานะคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง” 

“ไม่ใช่ว่า รู้ตัวเองเป็นอาชีพกลุ่มเสี่ยง ก็ยังประมาท ยังอยากออกไปเที่ยวเดินเล่น ตั้งวงนอกบ้าน ไม่ป้องกัน หากเป็นแบบนั้นคงไม่มีใครช่วยเขาได้ แต่ถ้าเขาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จนครบกำหนด ก็อาจทำให้คนที่เกิดความสงสัยในตัวของนักมวยว่าติดเชื้อไหม หายสงสัยได้” นายแพทย์ วรตม์ ทิ้งท้าย 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook