มีดีมากกว่าโต้คลื่น : "ตำนานเซิร์ฟ" กิจกรรมเปี่ยมด้วยความหมายยาวนานกว่า 1,000 ปี

มีดีมากกว่าโต้คลื่น : "ตำนานเซิร์ฟ" กิจกรรมเปี่ยมด้วยความหมายยาวนานกว่า 1,000 ปี

มีดีมากกว่าโต้คลื่น : "ตำนานเซิร์ฟ" กิจกรรมเปี่ยมด้วยความหมายยาวนานกว่า 1,000 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากพูดถึงกีฬาประเภทเอ็กซ์ตรีม ที่ต้องเล่นกับผืนน้ำ ไม่มีกีฬาไหนจะได้รับความนิยมไปกว่า กีฬาเซิร์ฟ การโต้คลื่น บนเซิร์ฟบอร์ด ที่สุดท้าทายความสามารถของผู้เล่นกีฬา

แม้กีฬาเซิร์ฟจะเป็นเหมือนภาพแทนของคนรุ่นใหม่ แต่กีฬาเซิร์ฟ มีอายุยืนยาวมาหลายร้อยปี นักประวัติศาสตร์บางคน บอกว่ากีฬานี้ยืนยาวมาเป็น 1,000 ปี และเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของชนพื้นเมือง

ไปรู้จักเรื่องราวที่แท้จริงของกีฬาเซิร์ฟ กีฬาที่มีดีกว่ามากกว่าแค่ความสนุก แต่ซ่อนไปด้วยวัฒนธรรมผ่านกีฬา ในแต่ละยุคสมัย

วัฒนธรรมโบราณ

ไม่มีบันทึกแน่ชัด ถึงเวลาที่แน่นอน อันเป็นจุดเริ่มต้นของกีฬาเซิร์ฟ แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ บ่งบอกแน่ชัดว่า กีฬาเซิร์ฟเป็นวัฒนธรรมพื้นเมือง ของชาวหมู่เกาะโบราณ ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่โซนโอเซียเนียหรืออเมริกาเหนือ

 1

กีฬาเซิร์ฟถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ครั้งแรก เมื่อปี 1767 ผ่านการเดินทางของเจมส์ คุก (James Cook) นักเดินเรือผู้เลื่องชื่อชาวอังกฤษ ที่เดินทางไปยังเกาะตาฮิติ (Tahiti) และได้พบกับการเล่นเซิร์ฟ ของชนพื้นเมืองเป็นครั้งแรก 

เมื่อคุกเดินทางต่อ ไปจนถึงเกาะฮาวาย เขาพบว่าการเล่นเซิร์ฟ คือการละเล่นพื้นเมืองของคนท้องถิ่นที่นั่นเช่นกัน จนชาวยุโรปถึงกับต้องเอาเครื่องเล่นเซิร์ฟ หรือเซิร์ฟบอร์ด ของคนยุคนั้น กลับไปยังทวีปยุโรปด้วย

ในขณะที่คนยุโรป มองการละเล่นเซิร์ฟ เป็นความบันเทิงที่น่าตื่นตา สำหรับชนชาวเกาะพื้นเมืองต่างๆ การเล่นเซิร์ฟ ไม่ใช่กีฬา แต่เป็นวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับชีวิตพวกเขา

การเล่นเซิร์ฟคือหนึ่งในวัฒนธรรมของชาวโพลีนีเซียน (Polynesian) ชนพื้นเมืองที่ใช้ชีวิตอยู่บนหมู่เกาะในทะเลแปซิฟิค ซึ่งมีวัฒนธรรมยาวนานตั้งแต่ก่อนยุคคริสตกาล 

นักประวัติศาสตร์ และนักโบราณคดี ที่สนใจในเรื่องราวของชาวโพลีนีเซียน ได้ศึกษาวัฒนธรรมการเล่นเซิร์ฟ และมองว่าเป็นกิจกรรมที่ถูกส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น เกาะสู่เกาะ พ่อสอนลูก เพื่อนสอนเพื่อน เป็นกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ของชนท้องถิ่น 

นอกจากนี้ พวกเขายังสันนิษฐานว่า การเล่นเซิร์ฟอาจเกิดมาตั้งแต่ 1,500 ปีที่แล้ว และสืบทอดมาเรื่อยๆ นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า ชาวโพลีนีเซียนโบราณเกือบทุกคนเล่นกีฬาชนิดนี้เป็น และหากพวกเขาต้องการหาความสนุกสนานในชีวิต การเล่นเซิร์ฟ คือตัวเลือกลำดับแรกๆ

 2

“บางครั้งผมเห็นผู้ชาย 20-30 คน นอนอยู่บนแผ่นไม้ พวกเขาใช้แขนควบคุมทิศทาง แล้วเริ่มมุ่งหน้าสู่ทะเล พาตัวเองโต้ไปบนคลื่น” เจมส์ คิง (James King) นักเดินเรือผู้ลือชื่อชาวอังกฤษอีกคน เขียนถึงการเล่นเซิร์ฟของชนพื้นเมืองโบราณ ไว้ในบันทึกการเดินทางของเขา

ไม่ใช่แค่การเล่นเซิร์ฟที่สำคัญ สำหรับชนพื้นเมือง แต่การออกแบบเซิร์ฟบอร์ด ได้รับความใส่ใจเป็นอย่างมาก พวกเขาไม่ได้เอาท่อนไม่ธรรมดาๆ มาโต้คลื่น แต่มีการกำหนดขนาดเป็นอย่างดี ทั้งขนาด 24 ฟุต สำหรับคนทั่วไป, 18 ฟุต ที่จะรวดเร็วกว่าเดิม แต่ควบคุมได้ยาก ไปจนถึงมีขนาดแค่ 8 ฟุต ที่มีไว้สำหรับสุดยอดนักโต้คลื่นเท่านั้น

เปลี่ยนผ่านสู่ความบันเทิง

น่าเสียดายที่ยุคทองของการเล่นเซิร์ฟ ในหมู่ชาวโพลีนีเซียนต้องจบลง เพราะหลังจากเกาะของพวกเขาถูกค้นพบโดยชาติตะวันตกได้ไม่นาน ชาติเหล่านั้นหันกลับมายึดครองเกาะของชาวโพลีนีเซียน 

 3

ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, เยอรมัน ล้วนแบ่งเค้ก ยึดของเกาะเหล่านี้อย่างทั่วถึง เพื่อยึดครองทรัพยากร และนำชนพื้นเมือง ไปเป็นแรงงานทาส

สำหรับวัฒนธรรมพื้นเมือง ของชาวโพลีนีเซียน ถูกทดแทนด้วยวัฒนธรรมคริสตจักร ที่ชาติตะวันตกนำมายึดเยียดใส่ชนพื้นเมือง ด้วยข้ออ้างเพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ และกิจกรรมหนึ่งที่ถูกลบให้หายไป คือการเล่นเซิร์ฟ

เพราะการเล่นเซิร์ฟ ถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรกระทำ ตามมุมมองของศาสนาคริสต์ ที่จะเห็นคนไปเล่นโต้คลื่น เพื่อความสนุก โดยไม่สวมเสื้อผ้าใดๆ 

กระนั้นสำหรับชนพื้นเมือง ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะให้พวกเขาทิ้งวัฒนธรรม ที่สืบทอดมามากกว่าพันปีไปง่ายๆ...ซามูเอล คลีเมนส์ (Samuel Clemens) หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ มาร์ค ทเวน (Mark Twain) อันเป็นนามปากกาของนักเขียน และนักมนุษยชนชื่อดังผู้นี้ ได้เดินทางไปยังหมู่เกาะฮาวาย เพื่อศึกษาว่า ชนพื้นเมืองใช้ชีวิตอย่างไร ภายใต้การกดขี่ของคนอเมริกัน และเขาได้พบถึงความสำคัญของการเล่นเซิร์ฟ

 4

“ผมไปยังสถานที่หนึ่ง มีชนพื้นเมืองจำนวนมากอยู่ตรงนั้น มีตั้งแต่เด็กจนคนแก่ ทั้งชายและหญิง และพวกเขาล้วนแก้ผ้า แต่พวกเขามารวมตัวกันหาความสนุก ด้วยการเล่นเซิร์ฟ”

สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ กีฬาเซิร์ฟคือความบันเทิงอย่างแท้จริง ใครที่ได้ลองไปโต้คลื่นบนแผ่นไม่กระดาน ต้องชื่นชอบกับความสนุก และความตื่นเต้นที่กีฬานี้มอบให้ 

เข้าสู่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 เกาะฮาวายในฐานะเมืองขึ้นของสหรัฐอเมริกา (ตอนนั้นยังไม่ได้เป็นหนึ่งในรัฐของสหรัฐฯ) กลายเป็นที่พักผ่อนย่อนใจยอดนิยมของชาวอเมริกัน 

เมื่อฮาวายกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว การเล่นเซิร์ฟจึงถูกปรับเปลี่ยนจากวัฒนธรรมพื้นเมือง กลายมาเป็นกีฬาที่ใช้เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว

ขณะเดียวกัน กีฬาเซิร์ฟถูกปรับภาพลักษณ์ใหม่ จากกีฬาของชนพื้นเมือง ให้กลายเป็นกีฬาของคนชั้นสูง ภายใต้การนำของ แจ็ค ลอนดอน (Jack London) นักเขียนชาวอเมริกันชื่อดัง ที่เคยไปเล่นเซิร์ฟที่ฮาวาย และกลับมาเขียนถึงการเล่นเซิร์ฟว่า นี่คือกีฬาที่เต็มไปด้วยความสนุก และทุกคนควรได้มาท้าทาย

 5

“ถอดเสื้อผ้าของคุณออก เพราะมีสิ่งที่ท้ายคุณอยู่เบื้องหน้าความสวยงามนี้ มาร่วมปล้ำไปกับท้องทะเล แสดงพลังและความสามารถของคุณ พาข้อเท้าของคุณโบยบิน คุณสามารถเป็นเจ้าแห่งท้องทะเล ขี่อยู่บนหลังของพวกเขา อย่างที่กษัตริย์สมควรจะทำ”

ด้วยชื่อเสียงของลอนดอน บวกกับการเขียนโน้มน้าวใจ อันเป็นเอกลักษณ์ของเขา...ปี 1908 เพียงปีเดียวหลังจากลอนดอนเชื้อเชิญให้คนหันมาเล่นเซิร์ฟ ชมรมนักเล่นเซิร์ฟ เกิดขึ้นครั้งแรกของโลกที่ฮาวาย โดย อเล็กซานเดอร์ ฮูม ฟอร์ด (Alexander Hume Ford)

วัฒนธรรมไม่เคยสูญหาย

สังคมการเล่นเซิร์ฟ ขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชมรมถูกก่อตั้งขึ้น แม้แต่ชาวฮาวาย ได้ร่วมก่อตั้งชมรมเล่นเซิร์ฟของพวกเขาเอง ในปี 1911 ขณะที่ผู้หญิงได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเล่นเซิร์ฟอย่างเป็นทางการ ในปี 1926

 6

ขณะเดียวกัน การเล่นเซิร์ฟขยายสู่วงกว้างมากขึ้น เมื่อวัฒนธรรมเซิร์ฟ ถูกนำมาเล่นในพื้นที่รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นครั้งแรกในปี 1907 เนื่องจากที่แคลิฟอร์เนีย ถือว่ามีหลายพื้นที่เหมาะสมกับการเล่นกีฬาโต้คลื่นเช่นกัน 

จากฝั่งตะวันตก กีฬาเซิร์ฟขยายสู่ฝั่งตะวันออกในอเมริกา ในปี 1909 ที่รัฐนอร์ท แคโลไรนา อันเป็นสถานที่แรก ที่ไม่ได้เล่นเซิร์ฟ ในทะเลแปซิฟิค แต่หันไปเล่นเซิร์ฟ บนผืนทะเลแอตแลนติคแทน

กีฬาเซิร์ฟ แผ่กระจายความนิยมอย่างรวดเร็ว สวรรค์ของชายหนุ่มคือคำเรียกของกีฬาชนิดนี้...ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ชายหนุ่มที่อยากหาความสนุก ความท้าทายของตัวเองกับท้องทะเล หันมาเล่นกีฬาชนิดนี้ กันอย่างเนืองแน่น

นอกจากนี้ กีฬาเซิร์ฟได้เปรียบจากกีฬาอื่น เพราะการเล่นเซิร์ฟ ไม่ใช่แค่การเล่นกีฬา แต่รวมถึงการท่องเที่ยว ที่ได้รับผ่านกีฬาชนิดนี้ นักเล่นเซิร์ฟ เดินทางไปยังหาดต่างๆ เพื่อท้าท้ายโต้คลื่น ระหว่างตัวเขากับท้องทะเล ใครจะเเน่วแน่กว่ากัน

ด้วยกระแสนิยม ของกีฬาเซิร์ฟในเวลานั้น ทำให้การถ่ายรูปของชายหนุ่มยืนโชว์รูปร่าง พร้อมกับเซิร์ฟบอร์ดบนชายหาด โดยมีพื้นหลังบนผืนน้ำทะเล ได้รับความนิยมอย่างมาก จึงช่วยปลุกกระแสความน่าสนใจของกีฬาเซิร์ฟไปในตัว

นอกจากที่สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย คืออีกประเทศที่กีฬาเซิร์ฟ ได้รับความนิยม เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งประเทศ ที่อยู่ใกล้กับอาณาเขตเดิมของชาวพื้นเมืองโพลีนีเซียน พวกเขานำอิทธิพลของกีฬาชนิดนี้ เขามาสร้างความนิยมในประเทศเช่นเดียวกัน

ช่วงต้นศตวรรษ 20 คือยุคทองของกีฬาเซิร์ฟ ดาราชายมากมาย หันมาเล่นกีฬานี้ กลายเป็นค่านิยมของคนในสังคม ที่ต้องได้ลองเล่นเซิร์ฟสักครั้งในช่วงเวลานั้น...ก่อนที่ในปี 1928 จะเกิดการแข่งขันเซิร์ฟอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในชื่อ Pacific Coast Surf Riding Championship (แปซิฟิค โคสต์ เซิร์ฟ ไรดิง แชมปเปียนชิพ)

แม้ว่ายุคทองของการเล่นเซิร์ฟ จะจบลงด้วยพิษสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่แปรเปลี่ยนผืนน้ำของการเล่นกีฬา การเป็นสนามรบ...แต่หลังจากจบสงครามโลก กีฬาเซิร์ฟเข้าสู่ยุคใหม่ ด้วยการเปลี่ยนเซิร์ฟบอร์ด จากที่ใช้วัสดุเป็นไม้ กลายเป็นโฟม และเปลี่ยนเป็นไฟเบอร์กลาส หรือเส้นใยแก้ว ในเวลาต่อมา

ขณะเดียวกัน ในปี 1953 ได้มีการออกแบบชุดเล่นเซิร์ฟ เป็นครั้งแรก ซึ่งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จนสามารถปลุกกระแสการเล่นเซิร์ฟ ให้เป็นที่นิยมอีกครั้ง ในฮาวายและแคลิฟอร์เนีย

 7

ตลอดศตวรรษที่ 20 กีฬาเซิร์ฟ ได้มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง เซิร์ฟบอร์ดได้พัฒนามาเป็นพลาสติกแบบในปัจจุบัน เพื่อตอบโจทย์กับโลกยุคใหม่ ทั้งความต้องการของคน และแง่ของการผลิต 

แต่สิ่งที่กีฬาเซิร์ฟ พัฒนามากสุด คือการกลับมาที่จุดเริ่มต้นของกีฬานี้อีกครั้ง คือเรื่องวัฒนธรรม...กีฬาเซิร์ฟได้สร้างวัฒนธรรมในการเล่น หลากหลายรูปแบบ ทั้งการเล่นเซิร์ฟแบบชนพื้นเมือง, การเล่นเซิร์ฟคลื่นยักษ์, การเล่นเซิร์ฟของผู้หญิง, การเล่นเซิร์ฟแบบรักสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

รวมถึงการสร้างป็อปคัลเจอร์ ผ่านทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของบทเพลง ที่มักมีเรื่องราวการเล่นเซิร์ฟ ถูกถ่ายทอดผ่านเสียงดนตรี นอกจากนี้ กีฬาเซิร์ฟ ได้ให้กำเนิดการแต่งตัวแนวแฟชั่น การแต่งตัวแบบริมทะเลที่หลากหลาย จนนำมาสู่การกำเนิดของแบรนด์ชื่อดังอย่าง Rip Curl (ริป เคิร์ล), Oakley (โอคเลย์), Billabong (บิลลาบอง), Volcom (โวลคอม) เป็นต้น 

 8

กีฬาเซิร์ฟ ไม่ได้เป็นเพียงแค่การไปโต้คลื่น หาความสนุก ท้าทายตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่กีฬานี้ ไม่เคยลืมรากหญ้าของตัวเอง ในฐานะกิจกรรมที่เป็นมากกว่ากีฬา แต่เป็นวัฒนธรรมของคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ

ไม่ว่ากีฬาเซิร์ฟ จะผ่านไปนานแค่ใน ถูกปรับเปลี่ยน ดัดเเปลงมากเพียงใด นับตั้งแต่กีฬานี้อยู่บนเกาะเล็กๆ จนโด่งดังไปทั่วโลก แต่เชื่อได้ว่ากีฬาเซิร์ฟ จะยังคงเป็นกีฬาที่เปี่ยมด้วยวัฒนธรรม ภายในตัวของกีฬาแบบนี้ไปตลอดกาล

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ มีดีมากกว่าโต้คลื่น : "ตำนานเซิร์ฟ" กิจกรรมเปี่ยมด้วยความหมายยาวนานกว่า 1,000 ปี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook