ถอดรหัส : ทำไม "RoV โปรลีก" จึงเป็นลีกอีสปอร์ตที่คนติดตามมากสุดในเมืองไทย?

ถอดรหัส : ทำไม "RoV โปรลีก" จึงเป็นลีกอีสปอร์ตที่คนติดตามมากสุดในเมืองไทย?

ถอดรหัส : ทำไม "RoV โปรลีก" จึงเป็นลีกอีสปอร์ตที่คนติดตามมากสุดในเมืองไทย?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วงเวลาที่กีฬาต่างๆ ไม่สามารถทำการแข่งขันได้ จากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 “อีสปอร์ต” ดูจะเป็นกีฬาที่ได้รับผลกระทบน้อยสุด เพราะยังสามารถจัดแข่งได้อย่างไร้ปัญหา

อีสปอร์ต จึงเป็นกีฬาที่ถูกจับตามองอย่างมากในบ้านเรา หลายเกมๆ เริ่มมีการพัฒนาจากแข่งขันทัวร์นาเมนต์สมัครเล่น เข้าสู่ลีกอาชีพที่มีสังกัด, นักกีฬา มีรายได้-สัญญาชัดเจน โดยลีกที่ได้รับความนิยมมากสุดในเมืองไทย คงหนีไม่พ้น “RoV โปรลีก”

ภายในระยะเวลาแค่ 2 ปี RoV โปรลีก สามารถดำเนินการจัดอย่างต่อเนื่อง มาแล้วถึง 5 ซีซั่น เพราะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชม รวมถึงภาคธุรกิจที่กระโดดลงมาทุ่มเงินทำทีม และสนับสนุนการแข่งขัน จนมีเงินรางวัลรวมสูงถึง 10 ล้านบาทต่อ 1 ซีซั่น (แข่งประมาณ 4 เดือน เท่านั้น)

เหตุใด การแข่งขันเกมมือถืออย่าง RoV ถึงได้รับความนิยมอย่างสูงในเมืองไทย เหนือหลายๆ เกมที่ทำการตลาดมาก่อนหน้าพวกเขา ? Main Stand จะมาวิเคราะห์และถอดรหัสความสำเร็จของ RoV โปรลีก ในบ้านเรา

ไม่ซับซ้อน เล่นง่าย เข้าถึงคนได้มาก 

เกม RoV หรือที่ในหลายประเทศใช้ชื่อ Arena of Valor เปิดตัวครั้งแรกในช่วงปลายปี 2015 ในรูปแบบเกม MOBA (Multiplayer Online Battle Arena) บนมือถือ โดยมี Tencent ค่ายเกมยักษ์ใหญ่ของจีน เป็นเจ้าของ และ Garena เป็นผู้ดูแลเกมในไทย

 1

สำหรับเกม RoV หากมองผิวเผิน จะมีลักษณะคล้ายกับ เกม PC ที่ได้รับความนิยมมากก่อนหน้านี้ อย่าง Dota2, League of Legend (LoL) แต่อย่างไรก็ตาม RoV ถูกออกแบบมาให้เป็นเกมที่เล่นง่ายกว่า, การควบคุมตัวละครไม่ยาก, ลดทอนความซับซ้อนหลายๆอย่างของ เกม MOBA รุ่นพี่ลงไปมาก 

แม้แต่ คนที่ไม่มีพื้นฐานจากเกม LoL, Dota2 ก็สามารถเข้าใจเกม RoV จนเล่นได้ในระยะเวลาไม่นานนัก ต่างจากเกม MOBA จำนวนไม่น้อย ที่ต้องใช้ความเข้าใจเกมมากกว่า, รายละเอียดเยอะกว่า ต้องอาศัยระยะเวลามากพอสมควร กว่าจะเล่นได้อย่างเข้าใจและชำนาญ 

อีกทั้ง RoV ยังเปิดตัว ในช่วงที่เกมมือถือ กำลังเริ่มเป็นที่นิยม เนื่องจากพฤติกรรมของมนุษย์ หันมาใช้เวลาอยู่กับสมาร์ทโฟนมากขึ้น ในขณะที่เกมคอนโซล ต้องใช้ต้นทุนสูงในการซื้อเครื่องและแผ่นเกม ส่วนเกมบน PC ต้องมีเวลามากพอสำหรับการเล่น เพราะเกมหนึ่งๆ ใช้เวลาแข่งขันนาน 

RoV กลับลดทอนความยุ่งยากพวกนั้น ปรับตัวเกมให้เข้ากับ พฤติกรรมของคน ที่อยู่กับ สมาร์ทโฟนมากขึ้น มีความต้องการอยากเล่นเกมที่บังคับได้ไม่ยาก และใช้เวลาไม่นานนัก ต่อ 1 แมตช์ แถมยังเป็นเกมที่ดาวน์โหลดได้ฟรี 

ทำให้ RoV ในช่วง 2 ปีแรก (2016-2017) เติบโตอย่างรวดเร็วในเมืองไทย เพราะสามารถเข้าถึงคนได้ทุกเพศ ทุกวัย ไม่เฉพาะแค่เด็กๆ วัยรุ่น แต่ยังรวมถึงคนวัยทำงาน ที่ต้องการหาเวลาเพียงเล็กน้อย สำหรับการเล่นเกมมือถือ ที่สามารถแข่งขันกับคนอื่น หรือจับกลุ่มเล่นกับเพื่อนๆ ก็ยังได้  

 2

สิ่งที่ตามมาหลังการเติบโตของเกม คือ ทัวร์นาเมนต์แข่งขัน RoV ในไทย ได้รับกระแสตอบรับที่ดี จากผู้ชม ไม่ว่าจะเป็น การแข่งขันในงาน GSL 2017, ศึก Road to Glory, Throne of Glory, RoV Major League 2017, Divas Championships และศึกเฟ้นหาตัวแทนประเทศอย่าง Road to Glory : AIC และ AIC (Arena of Valor International Championship)

นั่นทำให้ Garena มองเห็นอนาคตของ RoV และโอกาสในการเติบโตไปอีกขั้น จึงก่อตั้ง RoV โปรลีก ซีซั่นแรก ในช่วงต้นปี 2018 

ถือเป็น ลีกอีสปอร์ตอาชีพแห่งแรกของไทย ที่มีการกำหนดว่า นักกีฬาทุกคนในลีก จะต้องได้รับการการันตีเงินเดือนจากต้นสังกัด ไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท  และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ RoV โปรลีก กลายเป็นลีกอีสปอร์ตที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในเมืองไทย…

ลีกที่มั่นคง 

การประกาศตัวว่าเป็น ลีกอีสปอร์ตอาชีพของ RoV โปรลีก เป็นหมุดหมายสำคัญต่อความนิยมที่มีมาถึงทุกวันนี้ เพราะสิ่งที่นักเล่นเกมในยุคนั้นถวิลหาที่สุด คือการที่ได้อยู่ในสโมสรที่มีการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ และการันตีรายได้นักกีฬา

 3

ในอดีต โปรเพลเยอร์ ที่จะไปถึงจุดนั้นได้ ต้องเป็น ผู้เล่นระดับหัวกะทิของเกมนั้นๆ หรือไม่ก็ต้องออกไปอยู่กับทีมในต่างประเทศ อย่างเช่น Jabz, Mickie แต่เมื่อกำแพงเหล่านั้น ถูกทลายลงไป โดยการมีลีก RoV ในเมืองไทย ที่สามารถให้ค่าตอบแทน ในจำนวนเงินที่พวกเขาพึงพอใจได้ 

ทำให้ทีมใน RoV โปรลีก สามารถดึงดูดใจ เหล่าโปรเพลเยอร์เก่งๆ จากเกมต่างๆ อาทิ HoN, LoL ไปจนถึงเกมแนวยิงปืน (FPS) กระโดดลงสู่สังเวียนนี้ เพราะมองเห็นถึงโอกาสในการเติบโตของลีก และรายได้ก้อนโต 

“ก่อนหน้าที่ผมจะเล่น RoV ตอนนั้น อีสปอร์ต ยังไม่ได้เป็นที่นิยมและสร้างรายได้ให้คนเล่นมากนัก ผมต้องไปทำงานอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย” 

“ผมได้ยินข่าวอีกว่า จะมีการจัดแข่งขัน RoV โปรลีก ซีซั่น 1 โดยนักกีฬาที่อยู่ในลีก มีรายได้ขั้นต่ำ 5 หลักต่อเดือน ทำให้ผมมีความสนใจอย่างมาก ผมตัดสินใจดร็อปเรียน หันมาคว้าโอกาสนี้ไป เพราะผมไม่รู้ว่ามันจะมีโอกาสแบบนี้อีกไหม” 

“สำหรับผม (เงินเดือน 50,000 บาท) มันเป็นเงินที่เยอะกว่าเดิม เป็น 10 เท่า จากที่ผมเคยได้มา มันเหมือนเป็นสิ่งที่คนเล่นเกมใฝ่ฝัน อยากมีแคมป์ซ้อม มีคนดูแลทุกอย่าง และมันก็เกิดขึ้นจริงๆ” 

Mrsunz - ณัฐดนัย รุ่งเรือง อดีตโปรเพลเยอร์เกม HoN กล่าวถึงแรงจูงใจที่ทำให้เขา รวมถึงผู้เล่นหลายๆ คน ยอมทิ้งทักษะความสามารถจากเกมเก่า เพื่อมาฝึกหัดเล่นเกมใหม่อย่าง RoV ที่ดูมั่นคงและแน่นอนกว่า

เมื่อ RoV โปรลีก กลายเป็นซุ้มชุมนุมเทวดาที่รวมเอาบรรดา นักเล่นเกมๆ ฝีมือดี มาฟาดฟันกัน ทำให้ระดับของการแข่งขัน จึงเข้มข้นและสนุกน่าติดตาม โดย RoV โปรลีก ซีซั่นแรกนั้น ถือว่าประสบความสำเร็จทั้งแง่ของผู้ชม และภาพลักษณ์ของการแข่งขัน

 4

หลายๆ คนติดตามดู RoV โปรลีก เพราะอยากเห็นเทคนิคต่างๆ วิธีการเล่นของเหล่าโปร เพลเยอร์ ไปฝึกฝนเพื่อทำให้ตัวเองเก่งขึ้น, บางคนติดตามเพราะเป็นแฟนคลับของนักกีฬา, บางคนติดตามชม เพราะเป็นการแข่งขันดูสนุก เข้าใจง่าย 

ซึ่งส่วนหนึ่งต้องให้เครดิตกับ ทีมโปรดักชั่นของ RoV โปรลีก รวมถึงนักพากย์ ที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ  บางคนอาจคิดว่า อีสปอร์ต จะสนุกได้ ถ้าผู้เล่นเล่นกันเก่ง แต่ในความเป็นจริง ผู้บรรยายเกม มีส่วนอย่างยิ่งยวดต่อการติดตามรับชม 

เพราะนักพากย์จะเป็นคนกลางที่สร้างความเข้าใจ ระหว่างผู้ชม กับนักกีฬา โดยอาศัยทักษะการสื่อสารที่ดี, การเลือกใช้คำในจังหวะและเวลาต่างๆ รวมถึงต้องมีความพื้นฐานความเข้าใจ วิธีการเอาชนะ การเลือกตัวละคร และวิธีการคอนโทรลของเกม และสไตล์การเล่นของผู้เล่น และทีมต่างๆ  

ถ้านักพากย์ให้น้ำหนักเรื่องเทคนิคมากเกินไป บางครั้งอาจทำให้คนดูทั่วไป เกิดความไม่เข้าใจ และรู้สึกว่าดูยาก แต่หากนักพากย์ไม่มีพื้นฐานความเข้าใจตัวเกมเลย ก็จะทำให้ผู้ชมไม่สนุกได้ (เช่น เกมฟุตบอล ถ้าเข้าใจเฉพาะเรื่องฟุตบอล แต่ไม่รู้ว่าวิธีบังคับ วิธีการเล่น ก็จะพากย์ออกมาแค่ในมิติของฟุตบอลเท่านั้น)

 5

จากการติดตามรับชม ผู้เขียนมีความรู้สึกว่า นักพากย์ RoV มีวิธีการสื่อสารในระดับที่ดีต่อ ผู้ชมที่เป็นทั้ง นักเล่นมือใหม่, คนที่เล่นจริงจัง ไปจนถึงคนที่ไม่เล่นเกม ก็สามารถรับชมได้และเกิดความเข้าใจในการแข่งขัน

ผลลัพธ์ที่เกินคาดในซีซั่นแรก จุดประกายให้เกิดนักแข่งหน้าใหม่ และทำให้เหล่า ทีมอีสปอร์ต, สปอนเซอร์เจ้าต่างๆ ที่อาจยังไม่ได้ร่วมจอยในซีซั่นแรก หันมาสนใจ RoV โปรลีกมากขึ้น ในเวลาต่อมา 

มี กลุ่มทุนจากต่างประเทศเข้ามาซื้อสล็อต เพื่อจะได้เข้ามาอยู่ในลีก, ผู้สนับสนุนจากเอกชนบางราย เลือกลงทุนให้กับสโมสร เพื่อแลกกับการมีชื่อตัวเองอยู่บนชื่อทีม ไปจนถึง ทีมฟุตบอลอาชีพอย่าง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ก็ตัดสินใจร่วมวงศ์ไพบูลย์ เทคสิทธิ์ทำทีมลุย RoV โปรลีก ด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อการแข่งขันมียอดคนดูที่สูง และกระแสความนิยมไม่ลดลง ก็ทำให้สปอนเซอร์รายต่างๆ อุดหนุนเงินให้ผู้จัดการแข่งขันเพิ่มขึ้น ดูได้จากเงินรางวัลรวม ที่ก้าวกระโดดจาก 5 ล้านบาทในซีซั่นแรก พุ่งมาแตะหลัก 10 ล้านบาท ตั้งแต่ซีซั่นที่ 3 

และที่สำคัญรูปแบบของลีก เป็นลีกแฟรนไชส์ ที่ไม่ใช่แค่สรรหาทีมจากฝีมือ จากที่ทีมเล่นเก่ง ไต่เต้าจาก อเมเจอร์ มาดิวิชั่น 1 ได้แชมป์แล้วจะสามารถเลื่อนขึ้นมาสู่ RoV โปรลีกได้ พวกเขาจะต้องมีเงินทุนมากพอ มีสปอนเซอร์รองรับ เพื่อพร้อมสำหรับการจ่ายเงินค่าสล็อต เข้ามาเป็น 1 ใน 8 ทีมของการแข่งขัน 

 6

อาจจะเป็นแนวทางที่โหดร้ายไปสักนิดสำหรับคนที่คุ้นชินกับ ลีกกีฬาแบบดั้งเดิม แต่ในโลกอีสปอร์ต ก็ต้องยอมรับว่า ลีกแฟรนไชส์ที่ต้องเสียเงินเข้าร่วมการแข่งขัน มีข้อดีตรงที่อย่างน้อย มันเป็นการันตี และประกันได้ในระดับหนึ่ง (อาจไม่ทั้งหมด) ว่าทีมนั้นมีทุนมากพอ และจะไม่ถอนทีมไปกลางทาง จนกว่าจะครบสัญญา

RoV โปรลีก จึงเป็นลีกที่มีโครงสร้างแข็งแกร่ง จากเหล่าทีมที่เข้าร่วมแข่งขัน และสปอนเซอร์ที่มองเห็นความคุ้มค่าในการลงเงิน เนื่องจากเป็น ลีกอีสปอร์ตที่มีฐานผู้ชมสูง และเหนียวแน่น 

แม้ในรอบการแข่งขันแบบปกติ จะถ่ายทอดสดผ่านทางออนไลน์เท่านั้น ไม่มีจัดแบบออฟไลน์  แต่ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชม จนมีตัวเลขที่น่าทึ่ง

สื่อและการให้คุณค่า 

“RoV โปรลีก” ถ่ายทอดสดการแข่งขัน ผ่านทาง 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ เพจ Facebook : Garena RoV Thailand ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 4.2 ล้าน Followers และทาง Youtube ช่อง Garena RoV Thailand ที่มีผู้ติดตาม 2.81 ล้านผู้ใช้งาน 

 7

โดยแชนแนลบน Youtube ของ RoV ที่ใช้สำหรับถ่ายทอดสด และประชาสัมพันธ์ รวมถึงคลิปไฮไลต์การแข่งขัน ที่ก่อตั้งในวันที่ 27 ก.ค. 2016 มียอดวิวรวมกัน (จนถึงวันที่ 27 เมษายน 2020) มากถึง 902,460,812 ครั้ง

เมื่อเทียบกับ Toyota E-League ลีกเกม PES อาชีพของไทย ซึ่งเป็นเกมที่ได้รับความนิยมในไทย มาก่อน RoV หลายสิบปี และถ่ายทอดสดในแพลตฟอร์มเดียว แต่ก่อตั้งช่องช้ากว่า 2 ปี (สร้างแชนแนลเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2018) ช่อง Toyota E-League มียอดวิวรวมกันอยู่ที่ 1,459,962 ครั้ง (นับถึงวันที่ 27 เมษายน 2020)

หรือเทียบง่ายๆ แค่แมตช์การแข่งขัน ในฤดูกาลนี้ (ชื่อคลิป RoV Pro League 2020 Summer | Championship Round - DAY2) คลิปดังกล่าว มียอดวิวใน Youtube 1,615,281 ครั้ง ซึ่งมากกว่า Toyota E-League ทั้งแชนแนลรวมกันเสียอีก 

ตัวเลขดังกล่าว สะท้อนให้เห็นความนิยมที่แตกต่างมากพอสมควร ระหว่างลีกอีสปอร์ตสองเกมของไทย ที่ RoV โปรลีกขยับตัวก่อนในตลาดตรงนี้ จนกลายเป็นลีกยอดนิยม 

 8

ปัจจัยที่ทำให้คนดูติดหนึบ ไม่ได้มีแค่เพียงที่เราเขียนมาข้างต้น แต่ยังรวมถึง กิจกรรมระหว่างการแข่งขัน เช่น หากผู้ชมรวมกันยอดถึงจำนวนที่ต้องการ จะมีการแจกโค้ดของรางวัล ให้คนไปเปิดในเกมได้ ก็ยิ่งกระตุ้นคนเล่นเกมนี้ ติดตามรับชมอยู่ต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ ยังมีการประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่างๆ และการรุกใช้สื่อออนไลน์อย่างเต็มที่ ทั้ง วิดิโอไฮไลท์, คลิปเทคนิคสอนเล่น, การสัมภาษณ์นักกีฬา ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทำให้ นักกีฬาในลีก มีภาพลักษณ์ที่ดี และทำให้ถูกมองมาอย่างมีคุณค่า 

 9

ต้องยอมรับว่า การทำโปรโมตจน RoV โปรลีก เป็นการแข่งขันอีสปอร์ตที่แมส (Mass) ช่วยทำให้มุมมองของคนภายนอก ต่อโปรเพลเยอร์เปลี่ยนแปลงไป “นักกีฬาอีสปอร์ต” เกม RoV พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พวกเขาก็สามารถมีรายได้ที่สูง มีชื่อเสียง และเป็นที่ยอมรับในสังคมได้ 

ต่างจากในอดีต สมัยที่การแข่งขันเกม ไม่ได้เป็นที่นิยมในวงกว้าง ภาพลักษณ์และการให้คุณค่ากับ โปรเพลเยอร์ จากสังคมอาจจะน้อยกว่าเป็นทีอยู่ ณ ตอนนี้ นักกีฬา RoV อาชีพหลายคน เคยให้สัมภาษณ์ว่า ในอดีตพวกเขามักถูกว่าเป็นแค่เด็กติดเกม, การเล่นเกมดูไม่มีอนาคต 

ภายในระยะเวลาแค่ 2 ปี กับ 5 ซีซั่น มีนักกีฬา และอดีตนักกีฬาที่ผ่านการแข่งขัน RoV โปรลีก มากมาย ที่สามารถสร้างรายได้ และต่อยอดอาชีพ ทั้งจากการเป็น โปรเพลเยอร์, สตรีมเมอร์, โค้ช รวมถึง อินฟลูเอ็นเซอร์ เช่น กิตงาย, กายหงิด, Frozenkiss ฯลฯ 

หรือแม้แต่เด็กบางคน ที่อายุน้อย ช่วงวัยอยู่ในระดับมัธยมฯ แต่ถ้ามีฝีมือที่ดีพอ พวกเขาก็สามารถเป็น โปร เพลเยอร์ ได้เช่นกัน 

 10

RoV โปรลีก ทำให้ผู้คนในสังคมได้เห็น Career Path (เส้นทางในการชีวิตทำงาน) ของคนที่มาเล่นเกมนี้ ว่าสามารถต่อยอดไปเป็นอย่างอื่นได้มากมาย ไม่ใช่แค่เล่นเกมเท่านั้น ผู้ใหญ่อาจมองการแข่งขันเป็นเรื่องที่สนุก ดูเพื่อความบันเทิง 

แต่สำหรับเด็กรุ่นใหม่ การแข่งขันเหล่านี้ อาจเป็นแรงบันดาลใจ และทำให้พวกเขามองเห็นเส้นทางอาชีพ ที่มีมากกว่าแค่อาชีพดั้งเดิมในยุคอดีต หรือค่านิยมที่เคยถูกปลูกฝังว่า อาชีพไหนมีเกียรติ มีคุณค่า ร่ำรวย… 

การเล่นเกม การดูการถ่ายทอดสดอีสปอร์ต ไม่ใช่เรื่องดูน่าหวาดกลัว เพราะนิยามของนักเล่นเกมอาชีพในบ้านเรา ได้ถูกเปลี่ยนไปแล้ว โดยมีการเกิดของ RoV โปรลีก เป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนนั้น

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ ถอดรหัส : ทำไม "RoV โปรลีก" จึงเป็นลีกอีสปอร์ตที่คนติดตามมากสุดในเมืองไทย?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook