"เกรตนา เอฟซี" : ทีมดิวิชั่น 7 ที่สร้างปาฏิหาริย์สู่ลีกสูงสุดก่อนจะพินาศหลังจากนั้น

"เกรตนา เอฟซี" : ทีมดิวิชั่น 7 ที่สร้างปาฏิหาริย์สู่ลีกสูงสุดก่อนจะพินาศหลังจากนั้น

"เกรตนา เอฟซี" : ทีมดิวิชั่น 7 ที่สร้างปาฏิหาริย์สู่ลีกสูงสุดก่อนจะพินาศหลังจากนั้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"เทพนิยาย" ในโลกของฟุตบอล มักจะเป็นคำจำกัดความของทีมเล็กๆที่ทำผลงานได้อย่างน่าเซอร์ไพรส์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ก้าวขึ้นไปประสบความสำเร็จหรือคว้าแชมป์ ที่กลายเป็นตอนจบแบบ "Happy Ending"

และครั้งหนึ่งวงการฟุตบอลสก็อตแลนด์ ก็เคยมีทีมที่สร้างเทพนิยายขึ้นมาจนเป็นที่โจษจัน เมื่อสโมสรระดับหมู่บ้านที่ชื่อว่า เกรตนา เอฟซี สามารถพาตัวเองจากลีกล่างของแดนวิสกี้ สู่สก็อตติชพรีเมียร์ลีก ภายในระยะเวลาแค่ 5 ปี 

อย่างไรก็ดี ทั้งที่มันน่าจะจบลงด้วยการฉลอง และความยินดีปรีดา แต่สุดท้ายพวกเขากลับมีชื่ออยู่ในลีกสูงสุดเพียงแค่ปีเดียว ก่อนจะล่มสลายอย่างไม่มีชิ้นดีหลังจากนั้น

เกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา? ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

สโมสรนอกลีกอังกฤษ 

เกรตนา เอฟซี อาจจะไม่ใช่ทีมที่คุ้นหูแฟนบอลมากนัก เพราะแม้จะก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1946 แต่พวกเขาก็เป็นแค่ทีมเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในเมืองที่มีประชากรไม่ถึง 3,000 คนที่ชื่อว่า เกรตนา ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของสก็อตแลนด์ ใกล้พรมแดนของอังกฤษ 

1

ทำให้หลังจากเริ่มต้นในลีกระดับสมัครเล่นของแดนวิสกี้ไปได้ไม่นาน พวกเขาก็ข้ามพรมแดน มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในลีกระดับตำบลของอังกฤษที่ชื่อว่า คาร์ไลส์ แอนด์ ดิสทริคต์ ลีก และอยู่ที่นั่นจนถึงปี 1982 ก่อนจะย้ายมาเล่นในลีกที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ที่ชื่อว่า นอร์เธิร์นลีก ดิวิชั่น 2 

เกรตนา เล่นอยู่ในนอร์เธิร์นลีก ดิวิชั่น 2 ไม่กี่ปี ก็สามารถก้าวขึ้นไปถึงตำแหน่งแชมป์ และได้เลื่อนขึ้นชั้นไปเล่นในดิวิชั่น 1 ก่อนที่หลังจากนั้นไม่นาน พวกเขาจะได้เลื่อนขั้นขึ้นไปเล่นใน นอร์ทเธิร์น พรีเมียร์ ลีก ดิวิชั่น 1 

อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นระดับพรีเมียร์ดิวิชั่น แต่มันก็เป็นเพียงระดับดิวิชั่น 7 ของปิรามิดฟุตบอลของอังกฤษ ทำให้เกรตนา มีสถานะเป็นเพียงทีมนอกลีกเท่านั้น นอกจากนี้พวกเขายังไม่ได้มีผลงานที่โดดเด่น ทำให้มักจะเกาะกลุ่มอยู่ในโซนกลางตาราง หรือบางครั้งก็อาจจะค่อนไปทางท้ายตาราง 

ทำให้ผลงานที่ดีที่สุดของพวกเขาในลีกอังกฤษ น่าจะเป็นการผ่านเข้าไปเล่นใน เอฟเอคัพ รอบแรก 2 ครั้งในฤดูกาล 1991-92 และ 1993-94 (ทีมนอกลีก จำเป็นต้องเล่นตั้งแต่รอบคัดเลือก 3-5 รอบขึ้นอยู่กับดิวิชั่นที่สังกัด) ซึ่งถือเป็นทีมจากสก็อตแลนด์ ทีมแรกต่อจาก ควีนส์พาร์ค ที่ได้ลงเล่นรอบปกติในรายการนี้ นับตั้งแต่ปี 1887

2

หลังจากเล่นอยู่ในลีกแดนผู้ดีอยู่นานหลายปี ฤดูกาล 2001-02 ก็กลายเป็นฉากสุดท้ายของ เกรตนา ในลีกต่างถิ่น เมื่อพวกเขาตัดสินใจย้ายกลับไปเล่นในลีกสก็อตแลนด์ หลังได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของ สก็อตดิช ดิวิชั่น 3 ลีกระดับ 4 ของประเทศ ในฤดูกาล 2002-03 

ก่อนที่มันจะกลายเป็นปฐมบทแห่งเทพนิยาย

ปาฏิหาริย์แห่งแดนวิสกี้ 

อันที่จริงในช่วงแรกของการกลับมาเล่นในลีกบ้านเกิด เกรตนา ก็ไม่ได้มีผลงานที่ดีมากมายนัก เมื่อพวกเขาวนเวียนอยู่ในโซนกลางค่อนไปทางท้ายของตาราง ด้วยการจบในอันดับ 6 จาก 8 ทีมในการประเดิมฤดูกาลแรก 

3

แต่หลังจากนั้นไม่นาน พวกเขาก็เริ่มมีอนาคตที่สดใส เมื่อ บรูคส์ ไมล์สัน เศรษฐีชาวเมืองซันเดอร์แลนด์ ได้เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสร ก่อนที่เขาจะดำเนินนโยบายที่ไม่ต่างจาก โรมัน อบราโมวิช สมัยที่เข้าเทคโอเวอร์ เชลซีในช่วงแรก นั่นคือการ "ใช้เงินบันดาลสุข" 

เนื่องจากไมล์สัน มีเป้าหมายที่จะพาทีมเล็กๆ ทีมนี้ เลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในลีกบนให้เร็วที่สุด ทำให้เขาทุ่มงบไม่อั้นในการสร้างทีม โดยเฉพาะการคว้าตัวนักเตะที่มีชื่อเสียงของลีกสก็อตแลนด์มาร่วมทัพ รวมไปถึง เคนนี ดอยชาร์ อดีตแข้งของ ฟัลเคิร์ก 

"การเลื่อนชั้นไม่ใช่ความทะเยอทะยาน แต่เป็นความปรารถนา ฟุตบอลท้องถิ่นอาจจะค่อนข้างเถื่อน แต่ผมคิดว่าเราจะเอาชนะพวกเขาได้" ไมล์สันกล่าวกับ The Northern Echo

และดูเหมือนว่าวิธีนี้จะได้ผล เมื่อนักเตะที่ได้มาใหม่ ต่างทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในลีกล่างแห่งนี้ โดยเฉพาะ ดอยชาร์ ที่กดไปถึง 38 ประตูจาก 30 เกม ในฤดูกาล 2004-05 กลายเป็นนักเตะที่ยิงประตูได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ในลีกดังกล่าว 

ประตูของเขาไม่เพียงทำให้เกรตนา ภายใต้การนำทีมของ โรแวน อเล็กซานเดอร์ กุนซือที่เป็นนักเตะเก่าของทีม ผงาดคว้าแชมป์ดิวิชั่น 3 ชนิดนอนมา พร้อมได้สิทธิ์เลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในดิวิชั่น 2 แต่ยังทำให้ทีมสามารถทะลวงตาข่ายคู่แข่งรวมกันไปถึง 130 ลูก และเก็บไปถึง 98 คะแนน โดยทิ้งห่างอันดับ 2 ถึง 20 คะแนน 

"มันเป็นฤดูกาลที่ยอดเยี่ยมอย่างสมบูรณ์แบบ เราทำลายในทุกสถิติ โรแวนทำงานได้เยี่ยมด้วยทีมที่เขาพามันไปข้างหน้า" ไมล์สันกล่าวกับ Chronicle Live 

แต่ไมล์สัน ก็ยังไม่หยุดเพียงเท่านั้น เพราะก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมิถุนายน 2004 เขายังมีแผนจะเพิ่มความจุ เรย์เดล พาร์ค รังเหย้าสโมสร จากความจุ 1,030 คน เป็น 6,000 ที่นั่ง ทั้งๆ ที่เมืองนี้มีประชากรไม่ถึง 3,000 คน 

"สถาปนิกและผู้รับเหมาของเรากำลังเจรจาสำหรับความพยายามที่จะทำให้สนามของเราเป็นไปตามแผนและดำเนินต่อไป นี่คือโอกาสที่จะหาพื้นที่และสร้างสนามของชุมชนที่เราต้องการ" ไมล์สันกล่าวต่อ

จากแผนดังกล่าวทำให้ ไมล์สัน ตัดสินใจขายสำนักงานใหญ่ของบริษัทตัวเองในเมืองเฟนท์เฮาส์ ที่ทำให้เขาได้เงินทุนกลับมาราว 1.4 ล้านปอนด์ สำหรับเป้าหมายในการเลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในลีกสูงสุดอย่าง สก็อตติช พรีเมียร์ลีก  

"ถ้าไม่ใช่ 4 ปี ก็คงเป็น 5 ปี เราสามารถผลักเรือลำนี้ออกไปได้จริงๆ ในปีนี้" นักธุรกิจผู้เข้ามาชุบชีวิตทีมกล่าวต่อ 

พวกเขายังคงนโยบายทุ่มเงินดึงตัวแข้งดังมาเสริมทีมอย่างต่อเนื่อง และมันก็ทำให้ฤดูกาลต่อมา เกรตนา ยังคงทำผลงานได้อย่างดีไม่มีสะดุดในดิวิชั่น 2 พวกเขายังคงยิงประตูได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยซัดไปถึง 97 ประตูจาก 36 นัด คว้าแชมป์ดิวิชั่น 2 และได้สิทธิ์เลื่อนชั้นสู่ดิวิชั่น 1 อย่างไม่ยากเย็น 

4

นอกจากนี้ในฤดูกาล 2005-06 พวกเขายังสร้างความฮือฮาให้กับวงการฟุตบอลสก็อตแลนด์ หลังหักปากกาเซียน ทะลุถึงนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลถ้วย สก็อตติช คัพ โดยเข้าไปพบกับ ฮาร์ทส์ ทีมดังในลีกสูงสุด 

แม้น่าเสียดายที่ เกรตนา พ่ายให้กับ ฮาร์ทส อย่างหวุดหวิดในการดวลจุดโทษ และทำได้เพียงตำแหน่งรองแชมป์ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังทำให้พวกเขาคว้าสิทธิ์ผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลสโมสรยุโรปใบเล็ก ยูฟ่า คัพ (ฮาร์ทส์ ได้โควต้า เข้าไปเล่นใน ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก) และกลายเป็นทีมระดับดิวิชั่น 3 ทีมแรกของสก็อตแลนด์ที่ได้เล่นรายการนี้ 

ก่อนที่ในฤดูกาล 2006-07 ความพยายามและการลงทุนของ ไมล์สัน จะสัมฤทธิ์ผล เมื่อ เกรตนา ผงาดคว้าแชมป์ สก็อตติช ดิวิชั่น 1 ได้สำเร็จในนัดส่งท้ายฤดูกาล หลังได้ประตูชัยในนาทีสุดท้ายจาก เจมส์ กราดี ช่วยให้ทีมเอาชนะ รอสส์ เคาท์ตี 3-2 โดยเฉือน เซนส์ จอนห์สโตน ไปเพียงแค่แต้มเดียว 

5

การคว้าแชมป์พร้อมได้สิทธิ์ขึ้นไปเล่นใน สก็อตติช พรีเมียร์ลีก ทำให้ เกรตนา กลายเป็นที่สนใจจากสื่อในบ้านเกิด เพราะการเลื่อนชั้น 3 ปีติดต่อกัน เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักในลีกแห่งนี้ ที่ทำให้พวกเขาได้รับการขนานนามในฐานะ "เทพนิยาย" แห่งสก็อตแลนด์ 

อย่างไรก็ดี มันกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบ

โตเร็วเกินไป 

ฤดูกาล 2007-08 ควรจะเป็นฤดูกาลที่ชื่นมื่นของ เกรตนา เอฟซี และชาวเมือง เกรตนา หลังพวกเขาผงาดขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุดได้สำเร็จ ตามปณิธานของ ไมล์สัน ประธานและผู้สนับสนุนหลักของสโมสร 

 6

ทว่าเค้าลางของหายนะ ก็เริ่มก่อตัวตั้งแต่ยังไม่ทันเปิดฤดูกาล เมื่อ เรย์เดล พาร์ค รังเหย้าของพวกเขา ที่มีความจุเพียงแค่ 1,030 คน ไม่ตรงตามมาตรฐานของทีมที่จะลงเล่นในลีกสูงสุด 

ทำให้เกรตนา จำเป็นต้องไปยืมสนาม เฟอร์ พาร์ค ของ มาเธอร์เวลล์ เพื่อนร่วมลีกที่อยู่ไกลออกไปทางตอนเหนือถึง 120 กิโลเมตร มาใช้เป็นรังเหย้าใหม่ชั่วคราวสำหรับฤดูกาลแรกของพวกเขาในสก็อตติช พรีเมียร์ลีก 

ก่อนที่มันจะกลายเป็นปัญหา เมื่อการที่สนามอยู่ไกล ทำให้นักเตะของ เกรตนา ต้องเสียเวลาในการเดินทางไปกลับมากกว่า 2 ชั่วโมงทั้งที่เป็นการแข่งขันในบ้าน ในขณะเดียวกันมันก็กลายเป็นอุปสรรคสำหรับแฟนบอล ที่ทำให้เกมในบ้านของพวกเขามีผู้ชมบางตา

 7

พวกเขากลายเป็นเจ้าของสถิติทีมที่มีแฟนบอลเข้าชมเกมน้อยที่สุดของฟุตบอลสก็อตแลนด์ หลังมีแฟนบอลในสนามเพียงแค่ 342 คนในศึก CIS Cup ในเกมพบกับ คาวเดนบีธ ในขณะที่ผู้ชม 501 คนในเกมพบ ดันดี ยูไนเต็ด ก็กลายเป็นจำนวนน้อยที่สุดในสก็อตติช พรีเมียร์ลีก 

และมันก็ส่งผลกระทบต่อฟอร์มในสนามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เกรตนา ทำผลงานได้อย่างย่ำแย่ ในซีซั่นแรกบนลีกสูงสุด เมื่อต้องพบกับความปราชัยไปถึง 8 เกมจาก 10 นัดแรก โดยยิงคู่แข่งได้เพียง 9 ประตู และเสียไปถึง 24 ลูก แถม 5 นัดแรกของเกมในบ้าน พวกเขาคว้าชัยได้เพียงเกมเดียวเท่านั้น 

แต่สนามแข่ง ไม่ใช่ปัญหาที่เลวร้ายที่สุดของพวกเขา แม้ว่าการใช้เงินจำนวนมากทุ่มซื้อนักเตะในยุคของ บรูคส์ ไมล์สัน จะทำให้ เกรตนา ประสบความสำเร็จ แต่มันก็ทำให้สโมสรต้องรับภาระเป็นหนี้ที่สูงถึง 4 ล้านปอนด์ (ราว 160 ล้านบาท) 

 8

"ตอนที่ไมล์สัน เริ่มต้นโครงการที่จะพาเราไปสก็อตติชพรีเมียร์ลีก เขาก็เซ็นเช็คเปล่าให้อเล็กซานเดอร์ทันที" แดนนี เลนนอน หัวหน้าศูนย์ฝึกเยาวชนเกรตนากล่าวกับ The Guardian เมื่อปี 2008 

"แม้ว่ามันจะหมายความว่าเราจะมีนักเตะดีๆ เข้ามาสู่สโมสรมากมาย แต่พวกเราส่วนใหญ่ก็ตระหนักว่าโครงสร้างค่าจ้างที่มีอยู่มันจะไม่เป็นไปตามจริง" 

ก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายลงไปอีก เมื่อในขณะที่สโมสรกำลังเผชิญปัญหา ไมล์สัน ที่ควบตำแหน่งสปอนเซอร์หลักของทีมด้วย ก็มาล้มป่วยอย่างหนัก ทำให้เขาตัดสินใจยุติให้เงินสนับสนุนสโมสร  

การถูกตัดขาดจากไมล์สัน ทำให้ เกรตนา ประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก พวกเขาไม่มีเงินไปจ่ายสตาฟฟ์โค้ช และทีมงาน ทำให้สภาพของทีมในตอนนั้นแทบไม่ต่างจากเรือผุพังที่ลอยเคว้งคว้าไร้หางเสือ ท่ามกลางพายุฝนที่โหมกระหน่ำ 

จากนั้น เกรตนา ก็กลายเป็นทีมถังแตกอย่างสมบูรณ์ พวกเขาถูกบริษัทบริหารสินทรัพย์เข้ามาจัดการ แถมยังถูกตัดแต้มจากเรื่องนี้ ก่อนจะจบฤดูกาลแรกในลีกสูงสุดไปอย่างเจ็บปวดด้วยอันดับสุดท้ายของตาราง และมีเพียง 13 คะแนน เท่านั้น 

 9

"สิ่งที่แย่ที่สุด คือเราได้ยินมาว่ามีคนแค่คนเดียวที่มีอำนาจในการง่ายเงินเดือนให้พนักงานนั่นก็คือไมล์สันเอง และมันก็ไม่มีทางอื่นเลยที่จะทำให้ธุรกิจนี้ไปต่อได้" เดฟ แมคอีวาน แฟนบอลของเกรตนากล่าวกับ The Guardian  

หลังจากนั้นไม่นาน เกรตนา ก็ถูกยึดทรัพย์ และถูกปรับตกสู่ดิวิชั่น 3 ด้วยปัญหาการเงิน ในขณะที่นักเตะก็ถูกปล่อยออกจากทีมยกชุด เมื่อไม่มีลีก ไม่มีนักเตะ ไม่มีสนาม ไม่มีงบประมาณ สุดท้ายทีมก็ประกาศยุบในเดือนสิงหาคม 2008 สามเดือนก่อนที่ ไมล์สัน จะสิ้นลม

และทำให้ เกรตนา เอฟซี ปิดตำนานลงอย่างชอกช้ำ

เกิดใหม่ในชื่อใหม่ 

"ผมภูมิใจกับการเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของเกรตนา แต่รอยร้าวก็เริ่มปริออกหลังเราแพ้ในสก็อตติชคัพนัดชิงชนะเลิศ" เลนนอน กล่าวกับ The Guardian

"การที่เกรตนาเข้าไปเล่นใน SPL มันเร็วเกินไปสำหรับสิ่งที่เรามี พวกเขาควรใช้เวลาสักสองฤดูกาลในดิวิชั่น 1 ที่ทำให้นักเตะดาวรุ่งของเรามีโอกาสได้ยกระดับตัวเอง มันอาจจะหมายความว่าเราอาจจะได้สนามใหม่ แทนที่จะย้ายไปมาเธอร์เวลล์" 

 10

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดจาก เกรตนา เอฟซี คือการที่พวกเขาเป็นทีมที่โตเร็วเกินไป แน่นอนว่าการเลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุดภายในเวลาไม่กี่ปี สร้างผลดีให้แก่สโมสรในแง่ชื่อเสียง แต่ในทางกลับกัน มันก็ทำให้พวกเขาไม่ได้เติบโตอย่างมั่นคงเท่าที่ควร  

ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เห็นว่า การพึ่งผู้สนับสนุนหลักเพียงแค่รายเดียว เป็นเรื่องที่เสี่ยงมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสโมสรที่กำลังเติบโต ที่อาจล้มครืนแค่เพียงพริบตา

อย่างไรก็ดี แม้ว่า เกรตนา เอฟซี จะถูกยุบทีมไปตั้งแต่ปี 2008 แต่พวกเขาก็ยังมีทีมที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาจากแฟนบอลของทีม เพื่อสืบทอดจิตวิญญาณของทีมไม่ให้ดับสูญไปในชื่อ เกรตนา 2008 

"ผมเคยดูเกรตนาทีมเก่าในฐานะแฟนร่วมกับลูกชายของผม และมันเกือบจะเป็นแบบที่ทุกอย่างได้เผยออกมา" แอนตัน ฮอดจ์ ประธานสโมสรเกรตนา 2008 กล่าวกับ Herald Scotland 

"มันเป็นช่วงเวลาที่สุดยอดมากที่ได้ดูพวกเขา แทบเหมือนกับ ฮาร์เล็ม โกลบทร็อตเตอร์ส (ทีมบาสเกตบอลโชว์สไตล์ผาดโผนผสมตลก) คุณแค่มาถึงแล้วก็ลุ้นประตูได้เลย" 

เกรตนา 2008 ลงเล่นใน อีสต์ ออฟ สก็อตแลนด์ ฟุตบอล ลีก ซึ่งเป็นระดับดิวิชั่น 7 ของสก็อตแลนด์มาตั้งแต่ปี 2008 ก่อนจะย้ายมาเล่นใน โลว์แลนด์ ฟุตบอล ลีกลีกระดับ ดิวิชั่น 5 ที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ในฤดูกาล 2013-14 และวนเวียนอยู่ในลีกแห่งนี้จนถึงปัจจุบัน 

 11

"เหตุผลส่วนหนึ่งของการมีสโมสรใหม่เพราะว่าเรามีฟุตบอลในเมืองมาตลอดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเราอยากให้เป็นอย่างนั้นต่อไป" ฮอดจ์กล่าวต่อ 

"มันเหมือนกับการกลับไปทำในแนวทางก่อนที่บรูคส์จะมา และผู้คนมากมายก็เห็นคุณค่าในสิ่งนี้"

แม้ว่า เกรตนา 2008 อาจจะไม่ใช่ทีมเดิม หรือมีลุ้นขึ้นไปเล่นในลีกสูงสุดเหมือนที่ เกรตนา เอฟซี เคยทำไว้ แต่อย่างน้อยการมีอยู่ของมันก็ทำให้ชาวเมืองไม่ลืมว่ายังคงมีสโมสรฟุตบอลอยู่ในบ้านเกิดของพวกเขา

ราวกับว่ามันคือเศษเสี้ยวแห่งความทรงจำว่าครั้งหนึ่งเคยมีเรื่องราวสุดมหัศจรรย์เกิดขึ้นในเมืองแห่งนี้

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ "เกรตนา เอฟซี" : ทีมดิวิชั่น 7 ที่สร้างปาฏิหาริย์สู่ลีกสูงสุดก่อนจะพินาศหลังจากนั้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook