ข้ออ้างสุดคลาสสิค : นักบอลย้ายไปเล่นทีมใหญ่ ช่วยให้ติดทีมชาติจริงหรือไม่?

ข้ออ้างสุดคลาสสิค : นักบอลย้ายไปเล่นทีมใหญ่ ช่วยให้ติดทีมชาติจริงหรือไม่?

ข้ออ้างสุดคลาสสิค : นักบอลย้ายไปเล่นทีมใหญ่ ช่วยให้ติดทีมชาติจริงหรือไม่?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ขึ้นชื่อว่านักฟุตบอลอาชีพ ไม่มีใครไม่อยากย้ายไปเล่น กับสโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่ ซึ่งแต่ละคนล้วนมีเหตุผล แตกต่างกันออกไป

หนึ่งในเหตุผลสุดคลาสสิค ที่นักฟุตบอลมักจะบอกยามย้ายสู่ทีมใหญ่ นั่นคือโอกาสในการติดทีมชาติ ที่นักฟุตบอลเชื่อว่า สโมสรระดับชั้นนำ จะปูทางสู่ความสำเร็จของตัวเอง ในระดับทีมชาติ

แน่นอนว่า นักฟุตบอลที่ติดทีมชาติจำนวนไม่น้อย เล่นให้กับสโมสรใหญ่ แต่การเล่นสโมสรใหญ่ ช่วยให้นักฟุตบอลติดทีมชาติจริงหรือไม่ 

หรือว่าพวกเขาคิดไปเองกันแน่ จากมุมมองทางประวัติศาสตร์ฟุตบอล และความคิดเห็นของคนในวงการลูกหนัง

ต้นแบบความสัมพันธ์ ระหว่างสโมสร(ใหญ่)กับทีมชาติ

ความสัมพันธ์ระหว่างสโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่ กับฟุตบอลทีมชาติ เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงยุค 60’s ที่ระบบการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพ เป็นระบบในหลายพื้นที่ทั่วโลก 


Photo : wikimedia.org

บางสโมสรสามารถตั้งตัว ขึ้นมาเป็นยอดทีมแห่งยุค ด้วยการรวบรวมสุดยอดนักเตะไว้ในทีมเดียวกัน 

ยุคนั้นตลาดซื้อขายนักเตะ ไม่ได้เปิดเสรีแบบในปัจจุบัน นักฟุตบอลเน้นค้าแข่งอยู่ในประเทศตัวเอง จึงไม่ใช่เรื่องยากที่สโมสรฟุตบอล จะรวบรวมนักเตะฝีเท้าดีไว้ในทีม

คนยุคปัจจุบันอาจจะคุ้นชิน กับอิทธิพลของฟุตบอลยุโรป แต่ย้อนไปในช่วงเวลานั้น ฟุตบอลจากทวีปอเมริกาใต้อยู่ในยุคทอง อย่างแท้จริง 

ในช่วงเวลาที่ชาติอย่าง บราซิล, อาร์เจนตินา, อุรุกวัย หรือ เปรู ไม่ต้องเป็นโรงงานส่งออก นักฟุตบอลไปต่างแดน สโมสรภายในประเทศเหล่านี้ จึงเต็มไปด้วยนักเตะฝีเท้าเยี่ยม ขอเพียงแค่มีแรงจูงใจบางอย่าง ดึงดูดให้นักฟุตบอล อยากย้ายมาร่วมทีม

ที่บราซิล ในช่วงเวลานั้น ไม่มีทีมไหนยิ่งใหญ่ ไปกว่า "ซานโตส" เพราะสโมสรแห่งนี้ มีหนึ่งในนักฟุตบอล ที่เก่งที่สุดในโลก อย่างเปเล่ นักฟุตบอลระดับแถวหน้าของแดนกาแฟ ตบเท้าเข้ามารับใช้สโมสรแห่งนี้ 

ไม่ว่าจะเป็น กิลมาร์ ผู้รักษาประตูที่เก่งที่สุดตลอดกาลของบราซิล, ซิโต้ กัปตันทีมของซานโตส สุดยอดกองกลางแห่งยุค, เมาโร รามอส ปราการหลังกัปตันทีมชาติบราซิล ชุดฟุตบอลโลกปี 1962 

รวมถึงกัปตันทีมชาติบราซิล ชุดฟุตบอลโลกปี 1970 อย่างคาร์ลอส อัลแบร์โต คือหนึ่งในผู้เล่น ที่ย้ายเข้ามาร่วมสร้างความยิ่งใหญ่ ให้กับซานโตสเช่นกัน

ซานโตส เริ่มสร้างดรีมทีมของโลก ด้วยการดึงเหล่านักเตะชุดแชมป์โลกปี 1958 มาอยู่ในทีมเดียวกัน เพื่อเล่นเคียงข้างกับเปเล่ 

ทีมชาติบราซิล ที่มีเปเล่เป็นหัวใจของทีม เหมือนกับ ซานโตส ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากดึงผู้เล่นตัวหลักของซานโตส เข้ามาติดทีมชาติ ให้มากที่สุด เพราะนักเตะเหล่านี้ ล้วนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความมหัศจรรย์ของเปเล่

ท้ายที่สุดขุมกำลังของซานโตส กลายเป็นหัวใจพาทัพเซเลเซา คว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 1962 และซานโตส ยังคงเป็นแกนหลักของทีมชาติบราซิล ในฟุตบอลโลก 1966 และ 1970 จนกระทั่งยุคสมัยของเปเล่ สิ้นสุดลง พร้อมกับการคว้าแชมป์โลก ในปี 1970 ร่วมกับผองเพื่อนจากทีมซานโตส


Photo : www.sportsnet.ca

ทุกวันนี้ เมื่อเรานึกถึงความสำเร็จของบราซิล ในช่วงปลายยุค 50’s จนถึงยุค 70’s คนจะนึกถึงแค่ชื่อของเปเล่ แต่อันที่จริงแล้ว เหล่าเพื่อนร่วมทีมของเปเล่ที่ซานโตส ล้วนเป็นกำลังสำคัญที่สร้างความสำเร็จ เคียงข้างกับเปเล่ ทั้งในระดับทีมชาติและสโมสร

ซานโตสกับบราซิล จึงเป็นกรณีแรกที่ชัดเจนว่า การดึงสุดยอดนักฟุตบอล มารวมตัวไว้ในทีมเดียวกัน จะสามารถสร้างสุดยอดทีม ที่ประสบความสำเร็จ ในระดับทีมชาติและสโมสร

ซึ่งใช้แรงจูงใจจากเกียรติยศ ทั้งในระดับสโมสรและทีมชาติ เชื้อเชิญให้นักฟุตบอล เข้ามาร่วมทีม

 

สร้างทีมชาติด้วยสโมสร

เรื่องราวของซานโตสอาจจะไกลตัวไปสักหน่อย แต่ไม่นานนัก โมเดลนี้ได้จุติขึ้นในยุโรป กับสโมสรที่มีชื่อว่า บาเยิร์น มิวนิค และทีมชาติเยอรมัน

บาเยิร์น มิวนิค ในยุค 60’s เป็นเพียงแค่ทีมธรรมดาๆในเยอรมัน แถมถังแตกเจอปัญหาทางการเงิน ไม่มีทางจะดึงนักเตะชื่อดังมาร่วมทีม พวกเขาจึงหันไปให้ความสำคัญกับการพัฒนาเยาวชน และผลิตออกผลเกินคาด


Photo : futbolretro.es

บาเยิร์นได้สุดยอดนักเตะกลับมา 3 คน หนึ่งคือฟรานซ์ เบ็คเคนบาวเออร์, แกรด มุลเลอร์ และเช็ปป์ ไมเออร์  ซึ่งเป็นแกนหลักของบาเยิร์น สร้างความเกรียงไกร ให้กับทีมในช่วงต้นยุค 70’s

ทั้งสามคนกลายเป็นรากฐานสำคัญ ให้บาเยิร์นกลายเป็นทีมหัวแถว ในเยอรมัน และเริ่มเป็นตัวหลักของทัพอินทรีเหล็ก ทำให้นักฟุตบอลเยอรมันฝีเท้าดี เริ่มย้ายเข้าสู่รังเสือใต้

ด้วยขุมกำลังที่แข็งแกร่งของบาเยิร์น ทำให้ทีมชาติเยอรมัน ไม่รอช้า หันมาใช้บริการนักเตะของบาเยิร์น ในการสร้างทีมเป็นแกนหลัก และผลตอบรับที่ทัพอินทรีเหล็กได้กลับมา คือแชมป์ยูโร 1972 และ ฟุตบอลโลก 1974

เรื่องราวที่เกิดกับบาเยิร์นและทีมชาติเยอรมัน ไม่ต่างอะไรกับทีมชาติบราซิล และซานโตส การมีสโมสรที่แข็งแกร่งส่งผลดี ต่อทีมชาติ และนั่นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ


Photo : www.worldfootball.net

“เป็นเรื่องปกติที่โค้ชทีมชาติ จะอยากเรียกนักเตะทีมใหญ่ มาติดทีมชาติ เพราะว่า โค้ชสามารถสร้างทีม ด้วยการใช้นักฟุตบอลสโมสรใหญ่ เป็นแกนหลักในการเล่น” วิทยา เลาหกุล หรือโค้ชเฮง ผู้มากประสบการณ์ฟุตบอล จากที่ยุโรปและเอเชีย ทั้งในฐานะนักเตะและโค้ช แสดงความเห็นกับ Main Stand 

“ฟุตบอลทีมชาติมีเวลาเตรียมทีมน้อย และทุกอย่างวัดด้วยผลงาน โค้ชทีมชาติต้องหาทางที่ง่าย สามารถพาทีมประสบความสำเร็จ คือการสร้างทีมจากสโมสรใหญ่”

“สมมติว่าโค้ชมีปรัชญาฟุตบอลอยู่ในใจ เขาเจอทีมใหญ่ที่คิดว่ามีแนวทางตรงกันกับเขา เขาสามารถดึงตัวนักเตะเก่งๆ จากทีมนั้นมาติดทีมชาติได้หมด”

“ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่นักฟุตบอลจะอยากย้ายไปอยู่ทีมใหญ่ เพราะถ้าคุณย้ายไป เล่นได้เข้าระบบโดดเด่น โอกาสติดทีมชาติก็มีสูง”

“ในทางกลับกัน ถ้าอยู่ทีมเล็ก บางทีคุณเก่ง แต่เล่นไม่ตามแทคติคของโค้ช เขาก็ไม่เอาไปเล่น ผมยกตัวอย่าง สมมติโค้ชอยากได้กองหลังที่จ่ายบอลได้ ออกบอลได้ แต่คุณเอาแต่หวดบอลทิ้ง เตะไปให้ไกลๆ ต่อให้เก่งแค่ไหน โค้ชก็ไม่ดึงไปติดทีมชาติ”

จนถึงทุกวันนี้ โมเดลในการสร้างทีมชาติ ผ่านสโมสรยังคงเห็นได้อยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นทีมชาติสเปน ผ่านเรอัล มาดริด และบาร์เซโลนา, เยอรมัน ผ่าน บาเยิร์น มิวนิค ใช้ระบบการเล่นของสโมสรเหล่านี้ เป็นแกนหลักในการสร้างทีม ทำให้ผู้เล่นไม่ต้องปรับตัวมาก ยามเข้าสู่แคมป์ทีมชาติ


Photo : www.moneycontrol.com

ดังนั้น ผู้เล่นชาวสเปน ล้วนต้องการไปร่วมทัพสองทีมใหญ่ เพราะโอกาสติดทีมชาติ มีมากกว่าเล่นให้กับทีม อย่างเรอัล เบติส หรือ บาเลนเซีย…

ขณะที่แข้งเมืองเบียร์ ล้วนมีความฝันอยากไปเล่นให้กับทัพเสือใต้ เพราะมีโอกาสติดทีมชาติ มากกว่าสโมสรอื่นในประเทศ อยู่หลายเท่าตัว

แม้แต่ประเทศไทย ก็หนีไม่พ้นโมเดลนี้ เมื่อครั้งที่สโมสรเอสซีจี เมืองทอง ดึงตัวนักเตะตัวหลักทัพช้างศึกไปร่วมทีมหลายคน เช่น ชนาธิป สรงกระสินธ์, ธนบูรณ์ เกษารัตน์, ทริสตอง โด เป็นต้น


Photo : www.goal.com

ทำให้นักฟุตบอลฝีเท้าดีของไทย ตบเท้าตามมาร่วมทีมอีกเป็นจำนวนมาก เช่น ธีราทร บุญมาทัน, มงคล ทศไกร, ประกิต ดีพร้อม, สิโรจน์ ฉัตรทอง, ทศวรรษ ลิ้มวรรณเสถียร และชารีล ชัปปุยส์ 

แน่นอนว่า เรื่องโอกาสในการประสบความสำเร็จด้านสโมสร มีส่วนไม่น้อย ที่ดึงดูดให้ผู้เล่นย้ายทีม แต่นักเตะเหล่านี้ ล้วนไม่มีใครไม่อยากติดทีมชาติ และฟุตบอลไทยในช่วงเวลานั้น หากอยากจะติดทีมชาติ ไม่มีทางเลือกไหน จะดีไปกว่า การย้ายไปอยู่กับทัพกิเลนผยองอีกแล้ว

 

ข้อได้เปรียบของทีมใหญ่ 

“ทีมใหญ่ยังไงก็ได้เปรียบมากกว่าทีมเล็ก เพราะขึ้นชื่อว่าทีมใหญ่ ก็คือทีมที่เก่งกว่า ทีมที่อยู่หัวตาราง เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องปกติ ที่โค้ชทีมชาติจะต้องมองผู้เล่นทีมใหญ่ ก่อนผู้เล่นทีมเล็ก เพราะไม่มีใครอยากเอาผู้เล่นฝีเท้าธรรมดา ไปติดทีมชาติ” โค้ชเฮงเปิดประเด็นกับ Main Stand


Photo : fathailand.org

“ผมยกตัวอย่างตัวผมเอง สมัยก่อนตอนผมเล่นทีมเล็ก มันยากมากที่จะไปติดทีมชาติ เราต้องแสดงให้เห็นว่า เราเก่งมากพอ ที่จะไปติดทีมชาติ เขาถึงจะเลือกเราไป”

“หรือชลบุรี สมัยก่อนเราเป็นทีมใหญ่ อยู่ระดับ Top 3 ผู้เล่นไปติดทีมชาติเป็นเรื่องปกติ แต่ตอนนี้เราเป็นทีมกลางตาราง การจะไปติดทีมชาติก็ไม่ง่าย เพราะโค้ชเขาต้องมองนักเตะจากบุรีรัมย์, เมืองทอง หรือแบงค็อกมาก่อน” 

สิ่งที่เฮงซังกล่าว ไม่ได้ไกลเกินความจริงนัก ทุกวันนี้เราเห็นกันเป็นเรื่องปกติว่า นักฟุตบอลที่อยู่ในทีมระดับสูง ล้วนเป็นขาประจำของฟุตบอลทีมชาติ 

บางประเทศ ไม่สามารถสร้างทีมชาติจากสโมสรหนึ่งได้ เพราะนักเตะฝีเท้าดี ไม่ได้ร่วมตัวอยู่ทีมเดียวกัน เช่น อังกฤษ แต่การเลือกผู้เล่นติดทีมชาติของทัพสิงโตคำราม ก็ไม่ใช่เรื่องยาก 

เพราะพรีเมียร์ลีก เต็มไปด้วยสโมสรฟุตบอลชั้นนำของโลก ทั้งแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เชลซี, ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, อาร์เซนอล เป็นต้น

นักฟุตบอลเหล่านี้ นอกจากจะเป็นผู้เล่นฝีเท้าดี ยังเต็มไปด้วยประสบการณ์ ในเกมระดับสูง ผ่านฟุตบอลยุโรปในทุกปี ดวลกับนักเตะจากเยอรมัน หรือสเปน เป็นว่าเล่น…

เมื่อมีตัวเลือกที่พร้อมขนาดนี้ โค้ชทีมชาติย่อมมองถึง นักเตะจากทีมใหญ่ มากกว่าจะเลือกนักเตะจากนอริช ซิตี้ หรือคริสตัล พาเลซ มาติดทีมชาติ

หรือในเคสของ ชาติจากเอเชีย และอเมริกาใต้ หากผู้เล่นได้ย้ายมาค้าแข้ง ในทวีปยุโรป คือการยกระดับตัวเองไปอีกขั้น เป็นผู้เล่นที่เหนือกว่านักฟุตบอลในประเทศ

ยามมีทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลก การที่บราซิลหรืออาร์เจนตินา เลือกนักเตะที่เล่นอยู่ในประเทศมาติดทีมชาติ คือเรื่องที่ประหลาดอย่างมาก ว่านักเตะเหล่านี้มีดีอะไร ถึงได้รับเลือก ก่อนนักฟุตบอลที่ค้าแข้งในยุโรป

แม้แต่ทีมชาติไทยในปัจจุบัน สุดยอดผู้เล่นของทีม อย่าง ชนาธิป, ธีราทร, กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ และ ธีรศิลป์ แดงดา ล้วนไม่ได้ค้าแข้งอยู่ในไทยลีก แต่ย้ายไปค้าแข้งในเจลีก ของประเทศญี่ปุ่น ที่พูดได้อย่างเต็มปาก ว่าเป็นลีกฟุตบอลที่มีคุณภาพมากกว่า ลีกฟุตบอลบ้านเรา


Photo : ฟุตบอลทีมชาติไทย

นอกจากนี้ แฟนบอลช้างศึกคงเห็นอย่างชัดเจนว่า เหล่าผู้เล่นไทยในเจลีก คือยอดนักเตะที่มีฝีเท้า เหนือกว่าผู้เล่นไทยทั่วไป คู่ควรต่อการติดทีมชาติ เป็นไปไม่ได้ที่นักเตะเหล่านี้ จะหลุดจากทีมชาติไทย

“ย้ายไปอยู่ทีมใหญ่ มันมีโอกาสที่จะทำให้นักเตะเก่งขึ้น คุณได้ไปเจอสภาพแวดล้อมที่ดีกว่า ความพร้อมดีกว่า เพื่อนร่วมทีมที่เก่งกว่าเดิม”

“นักบอลบางคน พอย้ายไปเล่นกับคนเก่งๆ เขาได้พัฒนาตัวเอง เขาเก่งขึ้นกว่าเดิม บางคนอยู่ทีมกลางๆ เขาอาจจะเก่งไม่สุด พอย้ายไปทีมใหญ่ เขาเล่นดี เขาก็ติดทีมชาติ” โค้ชเฮงแสดงความคิดเห็น

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การย้ายไปสู่สโมสรใหญ่ คือการท้าทายความสามารถของผู้เล่น เพื่อเพิ่มขีดจำกัดความสามารถของตัวเอง หากนักเตะทำได้สำเร็จ การติดทีมชาติ อันเป็นความฝันสูงสุด ของนักฟุตบอลทุกคน ไม่ได้อยู่ไกลอีกต่อไป

หากมองที่ฟุตบอลโลก 2018 ซึ่งเป็นทัวร์นาเมนต์ใหญ่ล่าสุด ของวงการฟุตบอล ทีมที่มีนักเตะติดทีมชาติไปเล่น มากที่สุด คือแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ตามมาด้วย เรอัล มาดริด, บาร์เซโลนา ซึ่งล้วนเป็นทีมใหญ่ระดับแถวหน้าของโลกทั้งสิ้น

 

ชื่อของทีม ไม่สำคัญเท่าฝีเท้า (และโชควาสนา)

ความจริงที่ต้องยอมรับ คือการเล่นฟุตบอลให้สโมสรใหญ่ เปิดโอกาสให้นักฟุตบอล ก้าวไปเป็นนักเตะทีมชาติได้มากกว่าทีมเล็ก ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องผิด หากนักฟุตบอลสักคน จะต้องการย้ายจากทีมเล็ก ไปอยู่กับทีมใหญ่ แม้แฟนบอลทีมเล็กจะไม่ค่อยพอใจนัก เพราะสุดท้ายแล้ว นี่คือโอกาสที่ทีมใหญ่ สามารถมอบให้นักฟุตบอล

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า ผู้เล่นทีมใหญ่ทุกคน จะติดชาติ เพราะเราสามารถเห็นผู้เล่นจากทีมเล็ก เบียดเอาชนะนักฟุตบอลจากทีมใหญ่ ก้าวขึ้นไปติดทีมชาติชุดใหญ่ 


Photo : www.spieler-trikot.de

“สุดท้ายแล้ว การติดทีมชาติต้องวัดกันที่ผลงาน นักฟุตบอลทีมเล็กถ้าเล่นดีจริง ก็ติดทีมชาติได้ ส่วนนักฟุตบอลทีมใหญ่ ถ้าเล่นธรรมดาๆ ไม่ต่างจากผู้เล่นทีมเล็ก โค้ชก็ไม่เรียกไปติดทีมชาติ”

“การอยู่ทีมใหญ่ ช่วยให้ผู้เล่นมีโอกาสติดทีมชาติมากกว่าก็จริง แต่สุดท้ายการจะวัดว่าใครติดทีมชาติ ขึ้นอยู่กับฝีเท้า ไม่ได้เกี่ยวกับทีมเล็ก หรือทีมใหญ่” วิทยา เลาหกุล แสดงความคิดเห็น

นักฟุตบอลหลายคน สามารถก้าวขึ้นไปติดทีมชาติ แม้จะไม่ได้เล่นให้กับ สโมสรยักษ์ใหญ่ เช่น แมทธิว เลอ ทิสซิเออร์ กับเซาธ์แธมป์ตัน, มิโรสลาฟ โคลเซ กับไกเซอร์สเลาเทิร์น ในฟุตบอลโลก 2002, ลูคัส โพดอลสกี กับโคโลญจน์ ในฟุตบอลโลก 2006 และ 2010, ดาบิด บีญา ในฟุตบอลยุโร 2008 และฟุตบอลโลก 2010 เป็นต้น


Photo : www.zimbio.com

สุดท้ายแล้ว นักฟุตบอลหลายคน อาจเลือกย้ายไปทีมใหญ่ เพื่อรักษาพื้นที่ในทีมชาติเอาไว้ แต่ก่อนที่พวกเขาจะขึ้นไปสู่สโมสรชั้นนำ พวกเขาต้องสร้างผลงาน พิสูจน์ว่าตัวเองคู่ควรกับทีมชาติ ตั้งแต่อยู่กับสโมสรเล็ก

ทั้งนี้ ยังมีอีกเหตุหนึ่ง ที่ทำให้นักฟุตบอลบางคนไม่ติดทีมชาติ แม้จะเป็นผู้เล่นฝีเท้าดี หรือย้ายไปเล่นทีมใหญ่ เพื่อเพิ่มโอกาสของตัวเอง แต่ประตูฟุตบอลทีมชาติ ยังคงไม่เปิดต้อนรับ สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน ด้วยเหตุผลสุดคลาสสิคที่ว่า “ไม่เข้าระบบ”

“สมมติว่าคุณเก่งแบบ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช เล่นอยู่ทีมใหญ่ แต่โค้ชทีมชาติเป็นเยอร์เกน คล็อปป์ เล่นบอลเกเกนเพรซซิง มันก็มีโอกาสสูงที่คุณจะไม่ติดทีมชาติ” 

“เพราะต่อให้เก่งแค่ไหน แต่ถ้าโค้ชไม่ต้องการใช้งานก็จบ สุดท้ายเขาต้องไปเลือกผู้เล่นที่เข้าระบบ มาอยู่ในทีม” โค้ชเฮง กล่าวกับ Main Stand


Photo : www.goal.com

เรื่องของการติดทีมชาติ ฝีเท้าคือเรื่องสำคัญ หากนักฟุตบอลเชื่อว่า การย้ายไปอยู่ทีมใหญ่ จะมีทำให้ตนเอง มีองค์ประกอบที่ดีกว่า พัฒนาฝีเท้าได้ดีขึ้น เพื่อการติดทีมชาติ ถือว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผล ที่นักฟุตบอลจะกระทำ

แต่ท้ายที่สุด การเรียกนักฟุตบอลติดทีมชาติ มีปัจจัยมากมาย ที่จะทำให้โค้ชเรียกนักฟุตบอลมาอยู่ในทีม ดังนั้นแล้วเรื่องโชควาสนา ถือว่าสำคัญไม่แพ้กัน…

กระนั้น การติดทีมชาติ คือความฝันของนักฟุตบอลทุกคน และเชื่อว่านักฟุตบอลทุกคน จะยอมทำทุกทางเพื่อให้ติดทีมชาติสักครั้งในชีวิต เพื่อเกียรติประวัติของตนเอง และวงศ์ตระกูล

“นักฟุตบอลรุ่นใหม่ ใครๆก็อยากเล่นทีมชาติ ผมเชื่อว่าถ้าเขาย้ายไปอยู่ทีมที่ให้เงินไม่เยอะ แต่มีโอกาสติดทีมชาติมาก ผมว่าเขาจะย้ายไปเล่นทีมนั้น ไม่ย้ายไปเล่นทีมที่ให้เงินเยอะ แต่ไม่มีโอกาสติดทีมชาติ” วิทยา เลาหกุล กล่าวทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook