"ยาซุฮิโตะ เอนโด" : นักฟุตบอลญี่ปุ่นที่มูลค่าสูงสุดแม้ไม่เคยย้ายออกไปเล่นต่างประเทศ

"ยาซุฮิโตะ เอนโด" : นักฟุตบอลญี่ปุ่นที่มูลค่าสูงสุดแม้ไม่เคยย้ายออกไปเล่นต่างประเทศ

"ยาซุฮิโตะ เอนโด" : นักฟุตบอลญี่ปุ่นที่มูลค่าสูงสุดแม้ไม่เคยย้ายออกไปเล่นต่างประเทศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ญี่ปุ่น ถือเป็นลีกฟุตบอลที่ส่งออกนักเตะไปค้าแข้งในต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในลีกยุโรป ไล่ตั้งแต่ในอดีตอย่าง ยาซุฮิโกะ โอคุเดระ, ฮิเดโตชิ นาคาตะ, ชุนซูเกะ นาคามูระ มาจนถึงรุ่นปัจจุบันอย่าง ชินจิ คางาวะ รวมถึง ทาคาชิ อินุอิ

อย่างไรก็ดี กลับมีนักเตะคนหนึ่ง ที่แม้ว่าจะไม่เคยไปค้าแข้งในต่างแดน แต่กลับได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในนักเตะที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น.. ยาซุฮิโตะ เอนโด คือชื่อของเขา

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand

ผลผลิตจากฟุตบอลมัธยมปลาย 

อันที่จริงชีวิตของ ยาซุฮิโตะ เอนโด หรือ ยัตโตะซัง ดูเหมือนจะผูกพันกับฟุตบอลมาตั้งแต่เด็ก เมื่อเขาเกิดมาเป็นลูกคนสุดท้องของครอบครัวที่มีพี่ชายถึง 3 คน ในคาโงชิมา จังหวัดทางตอนใต้ของญี่ปุ่น และพวกเขาเหล่านั้นต่างชื่นชอบในเกมลูกหนัง 

1

แน่นอนว่ามันทำให้เอนโดหลงใหลในกีฬาชนิดนี้มาตั้งแต่เด็ก เขามักจะออกไปเตะฟุตบอลกับ ทาคุยะ พี่ชายคนโต และ อาคิฮิโระ พี่ชายคนรองที่สนามใกล้บ้านอยู่เสมอ 

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าพรสวรรค์ของเขาจะโดดเด่นกว่าคนในครอบครัว เมื่อมันทำให้เขาได้เข้าไปเป็นสมาชิกชมรมฟุตบอลโรงเรียนคาโงชิมา จิตสึเงียว หนึ่งในโรงเรียนชั้นนำด้านฟุตบอลของญี่ปุ่น 

และที่แห่งนั้นก็ทำให้เขาได้เฉิดฉาย เพราะแค่ปีแรกที่เขาได้เข้ามาร่วมทีมคาโงชิมา จิตสึเงียว ก็ไปได้ไกลถึงตำแหน่งแชมป์ฟุตบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติ หรือ ศึกฤดูหนาว ก่อนที่ปีต่อมา เขาจะได้รับเลือกให้เป็น "ยอดนักเตะของรายการ" และติดทีมชาติญี่ปุ่นชุดอายุไม่เกิน 18 ปี ทั้งที่ทีมจอดป้ายเพียงแค่รอบ 8 ทีม

นอกจากนี้ ด้วยฝีเท้าที่ยอดเยี่ยม ทำให้ตอนอายุ 17 ปี เอนโดมีโอกาสได้ไปฝึกฝนฝีเท้าที่ประเทศบราซิลระยะสั้นๆ กับทีมเซา เบนโต สโมสรในรัฐเซา เปาโล หลังได้รับการแนะนำจาก โจเซ คาร์ลอส โค้ชชาวแซมบ้าที่เปิดสอนฟุตบอลอยู่ในคาโงชิมา 

"ตอนปิดเทอม ครูเรียกผมมาแล้วบอกว่า 'แกน่ะรีบไปบราซิลซะ'" เอนโด ย้อนความหลังกับ Sports watch 

ทำให้หลังเรียนจบ เอนโดได้มีโอกาสเริ่มต้นชีวิตนักเตะอาชีพทันที เมื่อได้เข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกของ โยโกฮามา ฟลูเกลส์ ก่อนจะถูกส่งลงสนามเป็นนัดแรกในศึก "โยโกฮามา ดาร์บี" นัดเปิดฤดูกาลที่พบกับ โยโกฮามา เอฟซี ด้วยวัยเพียง 18 ปี 

2

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าเขาจะโชคร้าย เพราะแม้เอนโดจะได้ลงสนามไปถึง 16 นัด และช่วยให้ทีมคว้าแชมป์เอ็มเพอร์เรอร์ส คัพ ในฤดูกาลแรกในฐานะนักเตะอาชีพ แต่ด้วยปัญหาทางการเงิน ทำให้ฟลูเกลส์ต้องถูกยุบหลังจบฤดูกาลนั้น

"ผมช็อคมาก เพื่อนร่วมทีมและผมต่างกลัวถึงอนาคตชีวิตอาชีพของเรา เราไม่รู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป" เอนโด ให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2011 

โชคยังดีที่ เกียวโต เพอร์เพิล ซังงะ ยังเห็นค่าให้ตัวเขา ก่อนจะดึงตัวมาร่วมทีมที่ทำให้เอนโดได้มีโอกาสร่วมงานกับ "คิงคาซู" คาซุโยชิ มิอุระ ตำนานทีมชาติญี่ปุ่น และ ไดซูเกะ มัตซุอิ รุ่นน้องจากคาโงชิมา จิตสึเงียว 

แต่เอนโดก็อยู่กับเกียวโตได้เพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น เมื่อหลังจบฤดูกาล 2000 เกียวโตมีอันต้องร่วงตกชั้นลงไปเล่นในเจ 2 ทำให้เขาย้ายไปเล่นให้กับสโมสรของเมืองข้างๆที่อยู่ห่างออกไปแค่ 50 กิโลเมตร ที่ชื่อว่า กัมบะ โอซากา ในปี 2001 

และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของตำนาน

มิสเตอร์กัมบะ 

แม้จะอายุอานามเพิ่งผ่านวัย 20 มาไม่กี่ปี แต่เอนโดใช้เวลาไม่นานก็สามารถสถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นแกนหลักของกัมบะได้อย่างรวดเร็ว โดยในปีแรกเขาได้ลงสนามไปถึง 36 นัดในทุกรายการ และทำไป 5 ประตู 

3

จุดเด่นของเอนโดคือการผ่านบอลที่แม่นยำและการยิงไกลที่หวังผลได้ ซึ่งมันก็เข้ากับแผนการเล่นของกัมบะภายใต้การคุมทีมของ อาคิระ นิชิโนะ กุนซือของทีมในตอนนั้น ที่เน้นการจ่ายบอลเร็วได้เป็นอย่างดี 

นอกจากนี้ เขายังเป็นนักเตะที่เล่นลูกตั้งเตะได้อย่างเฉียบคม ไม่ว่าจะเป็นเตะมุม ฟรีคิก หรือจุดโทษ ที่ต่างกลายเป็นหนึ่งในอาวุธสำคัญที่ใช้เล่นงานคู่ต่อสู้มาแล้วนักต่อนัก 

ก่อนที่มันจะกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัว เมื่อกัมบะที่มีนิชิโนะเป็นผู้นำทัพ โดยมีเอนโดเป็นหัวใจสำคัญ ยกระดับขึ้นมาเป็นทีมแถวหน้าของเจลีก และสามารถคว้าโทรฟีแรกได้สำเร็จในปี 2005 หลังซิวแชมป์เจลีกในนัดสุดท้าย ด้วยการทำแต้มแซงเซเรโซ โอซากา คู่แข่งร่วมเมืองไปอย่างหวุดหวิด  

และมันก็เป็นจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ของเอนโดภายใต้ร่มเงาของกัมบะ ในปี 2008 เขากลายเป็นกำลังสำคัญพาทีมคว้าแชมป์เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก ได้สำเร็จ หลังเอาชนะอเดเลด ยูไนเต็ด ไปอย่างขาดลอย ด้วยสกอร์รวม 5-0  

4

แชมป์ดังกล่าวยังทำให้พวกเขาผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลสโมสรในปีเดียวกัน ก่อนจะสร้างผลงานให้ชาวโลกได้เห็น หลังต่อกรกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ แม้จะพ่ายไปด้วยสกอร์ 3-5 ซึ่งแน่นอนหนึ่งในคนที่ได้รับคำชมในเกมนั้นก็คือ เอนโด 

"บอกตามตรง ผมรู้สึกประหลาดใจ ผมไม่คิดว่ากัมบะจะมาในรูปแบบที่ดุดัน นักเตะที่ผมประทับใจที่สุดดือหมายเลข 7 (เอ็นโด) และหมายเลข 30 (มาซาโตะ ยามาซากิ)" ไรอัน กิกส์ แข้งปีศาจแดงกล่าวหลังเกม 

นอกจากนี้ในปี 2014 เขายังสร้างประวัติศาสตร์พากัมบะคว้าทริปเปิลแชมป์ในประเทศ คือแชมป์เจลีก เจลีกคัพ และเอ็มเพอเรอร์สคัพ ที่ทำให้เขาได้รับรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีเจลีก และนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีญี่ปุ่นไปนอนกอดอีกรางวัล 

5

ตลอดเกือบ 20 ปีในสีเสื้อของกัมบะ เอนโดลงเล่นไปกว่า 700 นัด และยิงไปถึง 125 ประตู พร้อมช่วยให้ทีมได้แชมป์เจลีก 2 สมัย, เอ็มเพอเรอร์สคัพ 4 สมัย, เจลีกคัพ 2 สมัย, ซูเปอร์คัพ 2 สมัย และอันดับ 3 ในฟุตบอลสโมสรโลกอีก 1 สมัย 

ในขณะความสำเร็จส่วนตัว เขาคว้ามาแล้วหมดแล้วทั้งรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีเจลีก และนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีญี่ปุ่น นักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีของเอเชีย นอกจากนี้ เขายังเป็นนักเตะคนแรกและคนเดียวที่ถูกเลือกติดทีมยอดเยี่ยมแห่งปีเจลีกถึง 12 สมัย (9 สมัยติดต่อกัน) 

อย่างไรก็ดี โทรฟีแชมป์ ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้เขาได้รับการยกย่อง

เรียบง่ายและมีประสิทธิภาพ  

"ผมคิดว่าการมียัตโตะ (เอ็นโด) ในสนาม ทำให้เพื่อนร่วมทีมใจเย็นลง ด้วยสไตล์การเล่นที่แน่นอนของเขา และการเล่นที่รัดกุม รวมไปถึงประสบการณ์ ช่วยให้ผลออกมาดี" สึเนยาสุ มิยาโมโต กุนซือกัมบะคนปัจจุบันกล่าวกับ Gendai Business 

6

เอนโดอาจจะไม่ใช่นักเตะที่มีเทคนิคแพรวพราวที่เลี้ยงหลบคู่แข่งได้ 2-3 คน แต่สิ่งที่ทำให้เขากลายเป็นนักเตะระดับแถวหน้าของเจลีกมากกว่า 20 ปี คือสไตล์การเล่นที่เรียบง่าย แต่เปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพ 

ตามตำแหน่งของเอนโด เขาคือกองกลางตัวเชื่อมเกมที่เรียกกันว่า "โบลันจิ" (ボランチ) หรือ Volante โดยเกมรับเขาจะมีหน้าที่คอยบีบพื้นที่คู่แข่ง หรือเข้าปะทะเพื่อแย่งบอลในบางครั้ง ในขณะที่เกมรุก ตำแหน่งนี้จะคอยจ่ายบอลสั้น เพื่อสร้างจังหวะ หรือจ่ายไปที่ว่าง หรือไม่ก็พาบอลขึ้นไปเอง 

"โบลันจิ มีความหมายว่าตัวคุมเกม เมื่อก่อนมันไม่มีตำแหน่งนี้ สมัยเด็กผมเล่นเป็นตัวทำคะแนนมาก่อน แต่ก็เปลี่ยนมาเล่นตำแหน่งนี้ตอน ม.ต้น มาจนถึงปัจจุบัน" เอนโด อธิบายกับ Sports Watch

"ผมมีนิสัยเสียที่ชอบโดดเรียน และที่ผมเลือกตำแหน่ง โบลันจิ เพราะว่ามันเป็นตำแหน่งที่สบายที่สุด แต่ว่าผมก็รู้ว่ามันจะเป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุดในอนาคต" 

แต่สิ่งที่ทำให้เขาเฉิดฉายในตำแหน่งนี้ คือการเล่นที่ใช้สมองมากกว่าพละกำลัง แม้หากดูอย่างผิวเผิน จังหวะการเล่นของเขาอาจจะไม่มีอะไรซับซ้อน ได้บอลมาแล้วจ่ายไป ได้มาแล้วจ่ายไป แต่มันเกิดจากการคิดวิเคราะห์และการอ่านเกมล่วงหน้าอย่างถี่ถ้วน 

"มันน่าจะเป็นสมองละมั้ง" เอนโด ตอบ Soccer Digest หลังถูกถามว่าอะไรคือจุดเด่นของตัวเอง  

"ผมไม่ค่อยมีพละกำลังทางกาย ผมจึงต้องเดิมพันเท่านั้น ผมต้องเล่นแบบหยุดๆ เตะๆ ทำให้ผมมาถึงจุดนี้ได้" 

7

ในขณะที่นิชิโนะเสริมว่า "เขามักจะอ่านเกมล่วงหน้าอยู่เสมอ วงจรความคิดของยัตซังต่างจากผู้เล่นคนอื่น" 

และมันก็ทำให้เขากลายเป็นกองกลางที่อันตรายที่สุดของลีก เพราะภายใต้ความเรียบง่ายเหล่านั้น หากเผลอเพียงครู่เดียว บอลจากปลายสตั๊ดของเขาอาจทะลุไปถึงกองหน้า และกว่าจะรู้ตัวก็เสียประตูไปแล้ว 

นอกจากนี้ เอนโดยังขึ้นชื่อในฐานะนักเตะเล่นใจเย็น สามารถทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย โดยเคล็ดลับของเขาก็คือการเล่นตามจังหวะของตัวเอง (my pace) และไม่ไหลไปตามของคู่แข่ง ทำให้ไม่ว่าสถานการณ์จะบีบคั้นแค่ไหน หากบอลอยู่ภายใต้การควบคุมของเขา เพื่อนร่วมทีมก็วางใจได้

"ไม่ว่าจะต้องเจอกับความกดดันแบบไหน หรือเล่นในพื้นที่แคบยังไง ถ้าสามารถทำได้อย่างสม่ำเสมอ หลังจากนั้นก็เหลือแค่ปรับสปีด และความเข้าใจสถานการณ์เท่านั้น" เอนโด กล่าวต่อ

แน่นอนฟังดูอาจจะง่าย แต่ในความเป็นจริงต้องอาศัยจิตใจที่แข็งแกร่งและประสบการณ์ในสนาม รวมไปถึงการซ้อมอย่างหนัก จนร่างกายสามารถจดจำได้ ซึ่งเอนโดมีคุณสมบัติเหล่านี้อย่างครบถ้วน  

"ยัตซังเป็นคนที่มีรากฐานความคิดเรื่องกีฬาอยู่ในหัว เขาเคยเล่าให้ฟังถึงการซ้อมสุดโหดสมัยมัธยมปลาย ที่เขาอยู่กับมันมาตลอด" โซตะ นาคาคะ อดีตแมวมองกัมบะ กล่าวกับ Number 

ในขณะเดียวกัน เขายังเป็นเจ้าของจุดโทษในตำนานที่แสดงให้เห็นความเยือกเย็นของเขาที่ชื่อว่า "โคโระโคโระ PK" (โคโระโคโระ = กลิ้งหลุนๆ) โดยเป็นการยิงจุดโทษ ด้วยการเคลื่อนที่ไปหาบอลอย่างช้าๆ ในระดับที่เรียกว่าย่อง เพื่อดูว่าผู้รักษาประตูขยับตัวไปทางไหน แล้วค่อยยิงไปทางตรงกันข้าม 

"ผมไม่ได้อ้างอิงมาจากไหน ไม่เลย ผมนึกเองหมดเลย แรงจูงใจจากการซ้อมตามปกตินั่นแหละ คือถ้าเตะบอลอย่างเต็มแรงไปหาผู้รักษาประตู เท้าโกลจะไม่ขยับใช่มั้ย ในทางกลับกัน ปล่อยให้เขาขยับดีกว่า แล้วค่อยเตะไปทางตรงกันข้าม แบบที่จะออกมาแล้ว" เอนโด อธิบาย Soccer Digest

น่าเสียดายที่ปัจจุบันเราไม่ได้เห็นจุดโทษแบบนี้จากเขาอีกแล้ว มันไม่ใช่เพราะอัตราความสำเร็จน้อย หรือคู่แข่งจับไต๋ได้.. 

"ทำไมกันนะ? เพราะผมเหนื่อยในวิธีนี้มั้ง (หัวเราะ) แทนที่จะทำแบบนั้น ผมมองหาวิธีที่แน่นอนกว่า เช่นการยิงไปที่มุมข้างตาข่ายที่ผู้รักษาประตูไปไม่ถึง ส่วนใหญ่ผมจะยิงไปทางนั้น และพวกเขาจะเซฟไม่ค่อยได้" 

ด้วยคุณสมบัติข้างต้น ทำให้เอนโดได้รับการยกย่องในฐานะกองกลางที่ครบเครื่องที่สุดของญี่ปุ่น เพราะเขาสามารถทำได้ทุกอย่างในสิ่งที่กองกลางทำได้ ไม่ว่าจะเป็นคุมจังหวะ ปั้นเกม หรือยิงประตูด้วยตัวเอง จนได้รับฉายาว่า "ปิร์โล แห่งแดนอาทิตย์อุทัย" 

แต่ถึงอย่างนั้น ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เขากลับไม่เคยไปเล่นในต่างประเทศแม้แต่ครั้งเดียว

ฝังตัวกับเจลีก

"ผมมีโอกาสอยู่หลายครั้ง จริงๆก็มีช่วงเวลาที่คิดว่าน่าจะไปเหมือนกันอยู่นะ" เอนโด กล่าวกับ Sports Watch

9

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จของ ฮิเดโตชิ นาคาตะ และ ชุนซุเกะ นาคามูระ ในต่างแดน กลายเป็นสะพานที่ทำให้แข้งจากแดนอาทิตย์อุทัยพาเหรดกันไปค้าแข้งในทวีปยุโรปอย่างล้นหลามในช่วงทศวรรษที่ 2000 

แม้ว่าจะมีทั้งผู้เล่นที่ประสบความสำเร็จและผู้เล่นที่ล้มเหลว แต่แน่นอนว่ามันทำให้พวกเขาได้ขัดเกลาฝีเท้า และส่งผลให้ทีมชาติของพวกเขาแข็งแกร่ง และขึ้นมายืนอยู่ในแถวหน้าของเอเชียมาจนถึงปัจจุบัน 

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางรุ่นพี่รุ่นน้องที่ย้ายไปเล่นในต่างแดนจนเป็นเรื่องปกติ เอนโดกลับฝังตัวเล่นให้กัมบะในเจลีกโดยไม่ย้ายออกไปไหนเลย 

อันที่จริงใช่ว่าเขาไม่มีโอกาสย้ายไปเล่นที่อื่น เพราะสมัยที่เอนโดกำลังขาขึ้น เขามักจะตกเป็นข่าวว่าจะย้ายไปเล่นในยุโรปเป็นประจำทุกปี แต่น่าเสียดายที่สุดท้ายมันไม่เคยเกิดขึ้น 

และความทะเยอทะยานคือเหตุผลสำคัญในเรื่องนี้ เนื่องจากเอนโดมองว่า หากการไปเล่นในยุโรปมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาฝีเท้าให้เก่งขึ้นจนสามารถติดทีมชาติ สิ่งเหล่านี้ก็สามารถทำได้แม้จะเล่นในเจลีก และเขาก็พิสูจน์ให้เห็นมาตลอดหลายปี 

10

"ผมคิดว่าการได้เล่นในเจลีกก็เพียงพอแล้วที่ทำให้ผมเติบโต เพราะแค่การไปเล่นต่างประเทศมันก็ไม่ได้เป็นคำตอบที่ถูกต้องเสมอไป ผมจึงอยากเป็นนักเตะเจลีกที่ทำให้ลูกมีความสุขมากกว่า" เขากล่าวกับ Oricon 

นอกจากนี้ เขายังอยากจะใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่เขารัก ทั้งครอบครัว ที่เขาเป็นคุณพ่อลูกสี่ หรือกัมบะ สโมสรที่เขาอุทิศตัวให้มันมากว่าค่อนชีวิต จนทำให้เขาเลือกที่จะทิ้งโอกาสในการเล่นในยุโรป 

"เพราะว่ารักเลยไม่อยากจากไป ผมอยากทำให้กัมบะ โอซากา ยิ่งใหญ่กว่านี้" เอนโด อธิบาย 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะไม่เคยมีประสบการณ์ไปเล่นในต่างประเทศ แต่ด้วยความสามารถที่ทุกคนต่างให้การยอมรับ ก็เพียงพอที่จะทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในนักเตะที่มีมูลค่าสูงสุดในแดนอาทิตย์อุทัย โดยเอนโดมักจะครองตำแหน่งผู้เล่นที่มีค่าเหนื่อยแพงที่สุดของกัมบะเป็นประจำทุกปี 

11

จากการรายงานของเว็บไซต์ Soccer-money.net ระบุว่า ในฤดูกาล 2020 เอนโดยังคงเป็นนักเตะที่ได้รับค่าเหนื่อยสูงสุดของกัมบะ ร่วมกับ เกน โชจิ ที่เพิ่งย้ายกลับมาจากยุโรป และ คิม ยอง กวอน อดีตแข้งกวางโจว เอเวอร์แกรนด์ ด้วยค่าเหนื่อย 1,000 ล้านเยนต่อปี (300 ล้านบาท) หรือ 83 ล้านเยนต่อเดือน (24 ล้านบาท) 

และหากเทียบทั่วทั้งลีก เขาคือนักเตะที่มีเงินเดือนมากที่สุดเป็นอันดับ 9 ร่วมของเจลีก และอันดับ 4 ร่วมของญี่ปุ่น รองมาจาก โกโตคุ ซาคาอิ (1.4 พันล้านเยน) ของ วิสเซิล โกเบ, อาคิฮิโระ อิเอนางะ และ เคนโงะ นาคามูระ (1.2 พันล้านเยน เท่ากัน) ของ คาวาซากิ ฟรอนทาเล แต่เป็นผู้เล่นอายุเกิน 40 ปีเพียงคนเดียวที่มีรายได้เกิน 1 พันล้านเยน

Record Man 

ในวัย 40 ปี เอนโดยังเป็นนักเตะตัวหลักของกัมบะ เขาเพิ่งจะลงเล่นนัดที่ 631 ในเจลีก พร้อมทำลายสถิติกลายเป็นนักเตะที่ลงสนามมากที่สุดในเจลีกของ เซอิโงะ นาราซากิ ผู้รักษาประตูของนาโงยา แกรมปัส เอต ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

12

นอกจากนี้ เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2019 เขายังทำสถิติกลายเป็นคนญี่ปุ่นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ลงเล่นครบ 1,000 นัด และยังเป็นเจ้าของสถิตินักเตะที่ติดทีมชาติมากที่สุดของซามูไรบลู หลังลงรับใช้ชาติไปทั้งสิ้น 152 เกม 

และสิ่งที่ทำให้เขามาได้จึงจุดนี้ นอกจากความสามารถที่ยอดเยี่ยมแล้ว ก็คือการเป็นผู้เล่นที่สามารถยืนระยะในแต่ละเกมได้นาน ในขณะเดียวกัน เขายังเป็นนักเตะที่แทบไม่เคยได้รับบาดเจ็บหนัก ซึ่งมาจากสไตล์การเล่นที่เรียบง่ายของเขา 

"ยัตโตะซังไม่ค่อยจะบาดเจ็บทุกปี ทำให้เขาลงเล่นได้เต็มฤดูกาล แต่ถึงแม้ว่าเขาจะเจ็บ เขาก็จะเล่น" ยาซุยูกิ คอนโนะ คู่หูในแผงมิดฟิลด์ของเขากล่าวกับ Number 

"คำพูดของยัตซังที่ผมจำขึ้นใจคือ 'การบาดเจ็บคือเพื่อน' ตอนที่ผมได้ยินคำนี้ ผมคิดว่ามันสุดยอดมาก เพราะไม่ว่าใครก็ไม่ค่อยพูดคำว่า 'เจ็บ' ต่อหน้าผู้คน" ฮิโรกิ ฟูจิฮารุ แข้งกัมบะกล่าวเสริม 

อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่สุดทำให้เขาสามารถยืนหยัดอยู่ในแถวหน้าของวงการฟุตบอลญี่ปุ่นมาอย่างยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ คือการไม่ปล่อยให้ตัวเองหยุดนิ่ง และพยายามพัฒนาตัวเองอยู่เสมอให้เท่าทันกับฟุตบอลยุคใหม่ 

13

"ผมคิดว่ามันเป็นผลมาจากที่เขาได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ และขัดเกลาตัวเอง จากทีมที่หลากหลาย และโค้ชมากมายที่ได้ร่วมงาน" มิยาโมโต กล่าวกับ Number  

"ยกตัวอย่างเช่น เมื่อก่อน เขายังวิ่งไม่ได้ขนาดนี้ แต่การได้เจอ (อิวิกา) โอซิม (อดีตโค้ชทีมชาติญี่ปุ่น) ทำให้วิ่งได้ดีขึ้น เขาสามารถใช้เทคนิคระดับสูงในขณะที่วิ่งไปด้วย" 

"นอกสนามก็ด้วย เมื่อก่อนเขามาซ้อมแบบจวนเจียน พออายุมากขึ้นก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น"   

เช่นกันกับความมุ่งมั่นในการลงสนาม รวมไปถึงจิตใจที่ไม่ยอมแพ้ของเขาที่กลายเป็นแรงขับชั้นดี โดยล่าสุดเมื่อเดือนต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เอนโดเพิ่งจะประกาศว่าจะอยู่ค้าแข้งต่อไปอย่างแน่นอนในฤดูกาลหน้า แม้ถึงตอนนั้นจะมีอายุ 41 ปีแล้ว 

"ผมพยายามอย่างเต็มความสามารถในแต่ละวัน เพื่อให้ผลงานของผมดึขึ้น เป้าหมายสำคัญที่สุดคือชัยชนะก็จริง แต่อย่างแรก เพื่อให้ได้ลงสนาม เราจะต้องไม่แพ้เพื่อนร่วมทีม" เอนโด กล่าวกับ Gendai Business

"เพื่อลงสนามทุกสัปดาห์ ผมจึงพยายามอย่างสุดความสามารถ มันคือสิ่งที่ผมไม่เคยทำพลาดเลยตลอดทั้งปี" 

14

นี่คือสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปไม่ว่าจะอายุ 18 หรือ 40 ของชายที่ชื่อว่า เอนโด ที่ทำให้เขาคู่ควรกับคำว่า "นักเตะที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์เจลีกที่ไม่เคยไปเล่นในต่างประเทศ" 

และมันก็ทำให้เขากลายเป็นตำนานแห่งวงการฟุตบอลญี่ปุ่น แม้จะยังไม่แขวนสตั๊ดก็ตาม 

"นอกจากการเป็นนักกีฬา ผมคิดแต่อยากลงสนามเท่านั้น สิ่งนี้จะอายุเท่าไร ก็ไม่เคยเปลี่ยนเลย" แข้งหมายเลข 7 กัมบะ ทิ้งท้าย 

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ "ยาซุฮิโตะ เอนโด" : นักฟุตบอลญี่ปุ่นที่มูลค่าสูงสุดแม้ไม่เคยย้ายออกไปเล่นต่างประเทศ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook