"The English Game" : ซีรีส์ย้อนรำลึกประวัติศาสตร์ฟุตบอลที่แฟนพันธ์ุแท้เกมลูกหนังต้องดู

"The English Game" : ซีรีส์ย้อนรำลึกประวัติศาสตร์ฟุตบอลที่แฟนพันธ์ุแท้เกมลูกหนังต้องดู

"The English Game" : ซีรีส์ย้อนรำลึกประวัติศาสตร์ฟุตบอลที่แฟนพันธ์ุแท้เกมลูกหนังต้องดู
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

The English Game คือซีรีส์กีฬาฟุตบอล ที่สร้างโดย Netflix สตรีมมิงชื่อดัง ที่เล่าถึงเรื่องราวของกีฬาฟุตบอล ยุคเริ่มต้นในประเทศอังกฤษ ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมจากแฟนฟุตบอล รวมถึงผู้สนใจทางประวัติศาสตร์ของประเทศอังกฤษ

ซีรีส์เรื่องนี้ ไม่ได้เล่าถึงการแข่งขันฟุตบอลเป็นหลัก แต่เล่าถึงบริบทการเปลี่ยนผ่าน ของกีฬาฟุตบอล ที่เข้าสู่รากฐานเกมลูกหนัง อย่างที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน 

มีเรื่องราวมากมายที่ซีรีส์นี้ ต้องการบอกกล่าว และเป็นสิ่งที่สาวกกีฬาลูกหนังทุกคนไม่ควรพลาด

* หมายเหตุ : บทความนี้เปิดเผยเรื่องราวของซีรีส์ หากใครไม่ต้องการถูกสปอย สามารถรับชมซีรีส์เรื่องนี้ก่อน แล้วค่อยกลับมาอ่านบทความนี้ก็ได้

ทั้งนี้ซีรีส์เรื่องนี้ ไม่ได้อ้างอิงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ทั้งหมด แต่จุดมุ่งหมายที่ผู้สร้างซีรีส์ต้องการจะสื่อ คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในประเทศอังกฤษ

การเกิดสโมสรฟุตบอลอาชีพ

The English Game แสดงให้เห็นถึงจุดเริ่มต้น ที่การแข่งขันฟุตบอลยังเป็นกีฬาสมัครเล่น สโมสรฟุตบอลเกิดจากการรวมตัวของคนกลุ่มหนึ่ง ที่มีความสัมพันธ์กัน ในแง่ของการศึกษาและชุมชน ลงทำการแข่งขันกัน ในฟุตบอล FA Cup 

กลุ่มคนรวยหรือชนชั้นนำ จะรวมตัวผ่านมหาวิทยาลัย บัณฑิตจากสถานศึกษาเดียวกัน รวมตัวกันสร้างทีมฟุตบอล 

ขณะที่ชนชั้นแรงงาน สร้างสโมสรผ่านโรงงานอุตสาหกรรม ชายฉกรรจ์จากโรงงานเดียวกัน รวมตัวเป็นทีมฟุตบอล โดยมีนายทุนเจ้าของโรงงานท้องถิ่น เป็นผู้สนับสนุนด้านการเงิน หลักๆ คือค่าเดินทาง

1

ในซีรีส์จะแสดงให้เห็นถึง การเกิดของนักฟุตบอลเดินสายจากประเทศสก็อตแลนด์ ที่เข้ามาในอังกฤษเพื่อรับงาน เป็นนักฟุตบอลโดยแลกกับค่าจ้าง ซึ่งในช่วงเวลานั้น ไม่มีสโมสรในอังกฤษ ทำแบบนี้มาก่อน

เฟอร์กัส “เฟอร์กี้” ซูเทอร์ และ เจมส์ “จิมมี่” เลิฟ สองนักฟุตบอลตัวเอกของเรื่อง เดินทางจากสก็อตแลนด์ ย้ายมาเล่นให้กับสโมสร ดาร์เวน เอฟซี จากการว่าจ้างโดยเจ้าของทีม และพวกเขาทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม 

หลังจากนั้น เฟอร์กี้ได้รับข้อเสนอมหาศาล จากสโมสร แบล็คเบิร์น เอฟซี ให้ไปร่วมทีม ด้วยค่าจ้างมหาศาล (แบล็คเบิร์น เอฟซี ไม่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ เนื่องจากผู้สร้างซีรีส์ ไม่แน่ใจว่า เฟอร์กี้เล่นให้กับสโมสรไหน ให้กับทีมแบล็คเบิร์น ที่มีอยู่ 2 สโมสรในช่วงเวลานั้น จึงสร้างสโมสรนี้ขึ้นมาตัดปัญหา) 

แม้ว่าเฟอร์กี้จะปฏิเสธไปในตอนแรก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อเริ่มมีการดึงตัวนักฟุตบอล ที่ไม่ใช่คนท้องถิ่น มาเล่นให้กับทีม และผลงานดีขึ้น สโมสรอื่นจึงเริ่มที่จะทำตาม

สุดท้ายแล้ว เฟอร์กี้ได้ย้ายไปร่วมทีมแบล็คเบิร์น และสร้างหน้าประวัติศาสตร์สำคัญ พาแบล็คเบิร์น คว้าแชมป์เอฟเอ คัพ ได้สำเร็จ

2

หากพูดตามหน้าประวัติศาสตร์ ช่วงเวลานั้นคือช่วงแรก ที่สโมสรฟุตบอลเริ่มฉุกคิดว่า ฟุตบอลไม่ใช่แค่กีฬา สำหรับคนชนชั้นสูง ที่เล่นเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ หาความสำราญให้ตัวเอง ในวันหยุดสุดสัปดาห์

แต่กับบางสโมสร ฟุตบอลคือสิ่งที่พวกเขาต้องการเอาชนะ เอารางวัลหรือถ้วยแชมป์มาครองให้ได้ ความคิดที่จะดึงนักเตะเก่งๆ เข้าร่วมทีมจึงเริ่มขึ้น 

นอกจากการจ่ายเงิน ดึงนักเตะต่างถิ่น เข้ามาเสริมทีม ในซีรีส์จะพูดถึงการเปลี่ยนผ่าน ของนักฟุตบอลในท้องถิ่นเช่นกัน ... จากอดีตที่เคยเป็นเพียงแรงงานในโรงงาน เป็นงานหลัก ส่วนฟุตบอลเป็นเหมือนกิจกรรมเสริม แต่เมื่อฟุตบอลมีความหมาย มากกว่าการเล่นกีฬาในวันหยุด ทำให้เหล่าแรงงาน ได้รับข้อเสนออาชีพ เปลี่ยนจากแรงงานในโรงงาน เป็นแรงงานคู่กับการเป็นนักฟุตบอล เพื่อได้รับค่าจ้างอย่างเหมาะสม

สุดท้ายแล้ว รูปแบบนี้จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้นักฟุตบอลทุกคน ต้องได้รับค่าตอบแทน และเปลี่ยนผ่านสโมสรฟุตบอลสมัครเล่น เข้าสู่การเป็นกีฬาฟุตบอลอาชีพ

ชนชั้นแรงงานผู้ผลักดันฟุตบอล

การเกิดขึ้นของการเปลี่ยนแปลงกีฬาฟุตบอล จากมือสมัครเล่นสู่กีฬาอาชีพ ตามที่เรากล่าวไปข้างต้น เกิดขึ้นแค่กับสโมสรของชนชั้นแรงงานเท่านั้น ในทางกลับกัน สำหรับสโมสรฟุตบอลของคนชั้นสูง เป็นภาพตรงกันข้าม

3

ในซีรีส์จะเล่าถึงความพยายามของคนชั้นสูง ที่ต้องการจะรักษาเกมฟุตบอล ให้เป็นกีฬาที่มีเพียงคนรวย เป็นผู้มีอำนาจ และประสบความสำเร็จเท่านั้น ทำให้พวกเขาปิดรับความเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นในกีฬาฟุตบอล 

เช่น การเกิดขึ้นของนักฟุตบอลอาชีพ ที่ได้รับค่าจ้าง และต้องการให้ฟุตบอลเป็นกีฬาสมัครเล่น จนนำไปสู่ปมสำคัญของเรื่อง

แม้ว่าในเรื่อง จะมีตัวละครจากชนชั้นนำ ที่เข้าร่วมการผลักดัน ให้กีฬาฟุตบอลเปลี่ยนจากกีฬาสมัครเล่น เป็นกีฬาอาชีพ แต่ตัวละครนั้นได้เข้าร่วม เพราะเขาเห็นแล้วว่า กีฬาฟุตบอลจะต้องไปต่อ ในฐานะกีฬาของชนชั้นแรงงาน ไม่ใช่กีฬาของชนชั้นนำ

4

The English Game จะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญ ที่เกมฟุตบอลมีต่อคนชนชั้นแรงงาน ที่คอยติดตามผลการแข่งขันกันทั้งเมือง ผ่านวิทยุ, ให้กำลังใจกับทีม ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ, รวมถึงการเปิดสมัครสมาชิกสโมสร เพื่อระดมทุนให้ฟุตบอล แข่งขันต่อไปได้

ตอนจบท้ายเรื่อง ที่แสดงถึงชัยชนะของสโมสรแบล็คเบิร์น ซึ่งเป็นทีมของชนชั้นแรงงาน และผันตัวเป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพ เหนือทีม โอลด์ อีโตเนียนส์ สโมสรฟุตบอลของชนชั้นนำ ซึ่งเป็นทีมสมัครเล่น คือการเล่าเรื่อง ถึงความเปลี่ยนผ่านของฟุตบอล ที่เข้าสู่ยุคของฟุตบอลชนชั้นแรงงานอย่างเต็มตัว ขณะที่ฟุตบอลสมัครเล่นของชนชั้นสูง ค่อยๆ ล้มหายตายจากไปหลังจากนั้น

5

ชนชั้นล่างกลายเป็นผู้วางรากฐาน พัฒนากีฬาฟุตบอล จนเป็นที่นิยมในเวลาต่อมา ซึ่งในไม่ใช่แค่เรื่องนอกสนามเท่านั้น แต่เรื่องในสนามด้วยเช่นกัน

The English Game ฉายภาพให้เห็น การเล่นฟุตบอลในอดีต ที่เน้นความรุนแรงเป็นหลัก ซึ่งออกแบบโดยทีมชนชั้นสูง ก่อนที่ฟุตบอลจะเริ่มเปลี่ยน เมื่อทีมชนชั้นแรงงานในเรื่อง เล่นฟุตบอลสวยงาม จ่ายบอลจากเท้าสู่เท้า เน้นทีมเวิร์ค 

เมื่อทีมชนชั้นแรงงานเปลี่ยนรูปแบบการเล่น ทำให้ทีมชนชั้นสูงเริ่มที่จะปรับเปลี่ยน วิธีการเล่นของพวกเขาบ้าง จึงนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า การพัฒนาแทคติกฟุตบอล ที่ยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน

ฟุตบอลคือธุรกิจ

ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ฟุตบอลในยุคปัจจุบัน เป็นเรื่องของธุรกิจ ที่คอยขับเคลื่อนให้วงการลูกหนัง ก้าวต่อไปข้างหน้า

6

หลายคนอาจจะมองว่า ฟุตบอลกับธุรกิจ ผนวกเข้ามาเป็นเรื่องเดียวกัน เมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ... แต่ The English Game คือซีรีส์ที่ต้องการจะบอกว่า ฟุตบอลกับธุรกิจคือสิ่งที่เชื่อมโยงกัน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19

The English Game แสดงภาพของฟุตบอล ที่มีปัจจัยของเงินเป็นตัวขับเคลื่อน เฟอร์กี้กับจิมมี่ คงไม่ได้ย้ายจากสก็อตแลนด์ มาเริ่มต้นตั้งถิ่นฐานในแคว้นยอร์คเชียร์ ประเทศอังกฤษ และเริ่มต้นสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการฟุตบอล 

หากแบล็คเบิร์น ไม่ทุ่มเงินค่าตัวมหาศาล ดึงเฟอร์กี้ไปร่วมทีม พวกเขาคงไม่ประสบความสำเร็จ คว้าแชมป์เอฟเอ คัพ แสดงให้ฟุตบอลอังกฤษเห็นว่า ฟุตบอลต้องเปลี่ยนจากกีฬาสมัครเล่น เป็นกีฬาอาชีพ

หรือปัญหาด้านของการทำทีมฟุตบอล ที่ไม่ต่างจากยุคปัจจุบันแม้แต่น้อย เมื่อเจ้าของทีมฟุตบอล เกิดปัญหาด้านการเงิน งบทำทีมฟุตบอลจึงต้องลดลง รวมถึงการลดค่าจ้างของเหล่านักฟุตบอลลงมา หรือในบริบทของซีรีส์ คือการลดเงินเดือนของแรงงาน ที่เป็นนักฟุตบอล 

7

แม้จะไม่เหมือนกันสักทีเดียว แต่ในปัจจุบัน จากภาวะ โควิด-19 เราเห็นได้ว่า นักฟุตบอลและบุคลากร ต้องยอมรับสภาพการลดค่าจ้าง เมื่อสโมสรเกิดปัญหาทางการเงิน ไม่ต่างจากในอดีต

ตัวละครนักฟุตบอลชนชั้นนำใน The English Game แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา ถึงเหตุผลที่พวกเขาไม่ต้องการให้ฟุตบอลเป็นกีฬาอาชีพ ด้วยเจตนาดีว่า ไม่ต้องการเห็นฟุตบอล เป็นกีฬาที่ทีมร่ำรวยกลายเป็นแชมป์ หรือเห็นกีฬากลายเป็นธุรกิจ ไม่ใช่แค่การเล่นเพื่อความสนุก

อย่างไรก็ตาม ภาพที่เราเห็นในปัจจุบัน คือทีมที่เป็นมหาอำนาจในโลกฟุตบอล ล้วนเป็นทีมที่ร่ำรวย สโมสรฟุตบอลที่ได้เศรษฐีพันล้านมาสนับสนุน สามารถพลิกชะตาจากทีมระดับล่าง กลายเป็นทีมลุ้นแชมป์ได้ในพริบตา

สุดท้ายเเล้ว ไม่ว่าใครจะพยายามขัดขวาง หรือไม่เห็นด้วย แบบกลุ่มตัวละครชนชั้นนำในเรื่อง เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ฟุตบอลไม่สามารถหนีความเป็นธุรกิจได้พ้น และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับวงการลูกหนังยาวนานกว่าร้อยปี

8

The English Game ไม่ใช่ซีรีส์เพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่ยังแฝงสาระ ที่ต้องการเล่าถึงความเป็นมา และเนื้อแท้ของวงการลูกหนัง ที่เคยเกิดขึ้นในยุคเริ่มต้น ของเกมฟุตบอลในประเทศอังกฤษ

ไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือไม่ ชอบหรือไม่ชอบ กับสิ่งที่ซีรีส์เรื่องนี้ต้องการนำเสนอ แต่เราต้องการเชิญชวนให้คุณ ลองรับชมซีรีส์นี้ด้วยตนเอง เพราะเราเชื่อว่า คุณจะได้รับความบันเทิงกับซีรีส์นี้ ไม่มากก็น้อย ในฐานะแฟนฟุตบอล

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ "The English Game" : ซีรีส์ย้อนรำลึกประวัติศาสตร์ฟุตบอลที่แฟนพันธ์ุแท้เกมลูกหนังต้องดู

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook