"เควิน แพลงค์" : อดีตนักกีฬาเกเรที่ใช้ห้องใต้ดินบ้านคุณย่าสร้างธุรกิจหมื่นล้าน

"เควิน แพลงค์" : อดีตนักกีฬาเกเรที่ใช้ห้องใต้ดินบ้านคุณย่าสร้างธุรกิจหมื่นล้าน

"เควิน แพลงค์" : อดีตนักกีฬาเกเรที่ใช้ห้องใต้ดินบ้านคุณย่าสร้างธุรกิจหมื่นล้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มีคนเคยกล่าวไว้ว่า "ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ อาจเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ" และ เควิน แพลงค์ นักธุรกิจชาวอเมริกัน น่าจะเป็นหนึ่งในนั้น 

เขาคืออดีตนักอเมริกันฟุตบอลที่ยุติเส้นทางไว้แค่ระดับมหาวิทยาลัย ก่อนจะใช้ห้องใต้ดินคุณย่า เป็นฐานบัญชาการทำธุรกิจ และขึ้นมาเขย่าวงการอุปกรณ์กีฬาของสหรัฐอเมริกาในระยะเวลาไม่กี่ปี  

ติดตามเรื่องราวของเขาไปพร้อมกับ Main Stand

เด็กเกเร 

ชีวิตของ แพลงค์ ก็ไม่ต่างจากวิถีชาวอเมริกันทั่วไป เขาเกิดที่เมืองเคนซิงตัน รัฐแมรีแลนด์ ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงวอชิงตันดีซี โดยเขาเป็นลูกชายคนสุดท้องของครอบครัวชนชั้นกลาง ที่พ่อเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่แม่เป็นนายกเทศมนตรีของเคนซิงตัน 

ด้วยความที่เป็นน้องคนเล็ก ท่ามกลางพี่ชาย 4 คน ทำให้แพลงค์ จำเป็นต้องมีทักษะทางร่างกายเพื่อเอาตัวรอดจากการกลั่นแกล้งของพี่ชาย ในตอนที่พ่อแม่ไม่อยู่บ้านมาตั้งแต่เด็ก

1

“พี่ของผมเคยแกล้งโดยดึงกางเกงในในเข้าไปอยู่ระหว่างก้น หรือขังผมไว้ในตู้เสื้อผ้า เขาคิดว่ามันคือวิธีเลี้ยงเด็ก” แพลงค์กล่าวกับ Sport Illustrated 

“มันเป็นไอเดียของการเป็นนักกีฬา เพราะคุณไม่มีตัวเลือกเลย ถ้าคุณอยากจะเอาตัวเองออกไปทางไม้แขวนเสื้อที่ติดอยู่กับคุณ เพราะการรอให้กางเกงในขาดมันไม่สนุกเลย” 

แม้จะดูโหดร้าย แต่มันก็ช่วยหล่อหลอมให้เขามีความแข็งแกร่งทางร่างกายมาตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งมันทำให้เขาไปได้ดีในด้านกีฬา โดยเฉพาะอเมริกันฟุตบอล ซึ่งเป็นกีฬาที่เขาชื่นชอบ 

ตอนมัธยมปลาย เขาได้เข้าศึกษาต่อที่ โรงเรียนเตรียมจอร์จทาวน์ โรงเรียนเอกชนของคาทอลิก ซึ่งเป็นโรงเรียนเดียวกับพี่ชายทั้งสี่ของเขา และที่นั่นก็ทำให้เขาได้มีโอกาสเล่นอเมริกันฟุตบอลอย่างจริงจัง

แต่น่าเสียดาย ที่เขาอยู่ที่นั่นได้ไม่นาน เพราะด้วยการที่อยู่ในสังคมที่แต่ผู้ชาย  ทำให้เขาเป็นคนที่ค่อนข้างห่ามและเลือดร้อน นอกจากนี้เขายังไม่ใช่เด็กที่เรียนดีมากนัก และสอบตกอยู่เป็นประจำ 

ก่อนที่ตอน ม.5 เขาจะก่อเรื่องที่ลืมไม่ลง หลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จนเมามาย และไปทะเลาะต่อยตีกับนักฟุตบอลของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ซึ่งแน่นอนว่าโรงเรียนไม่เอาไว้ ไล่เขาออกจากทันที 

2

“ผมโง่มากในตอนนั้น” แพลงค์ กล่าวกับ Forbes
 
“ผมโทรหาแม่และบอกเธอว่าผมช่วยประหยัดค่าเรียนได้แล้ว” 

อย่างไรก็ดี การถูกไล่ออกครั้งนั้น ก็เปลี่ยนชีวิตเขาไม่น้อย 

เริ่มต้นใหม่ 

แม้ว่าจะถูกอัปเปหิ จากโรงเรียนเตรียมจอร์จทาวน์ แต่แพลงค์ ก็ยังมีที่เรียน หลังได้โรงเรียนใหม่ที่ชื่อว่า โรงเรียนมัธยมปลายเซนต์ จอห์น คอลเลจ มันคือโรงเรียนคาทอลิก ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนเดิมมากนัก 

แต่มันทำให้เขาเหมือนได้ชีวิตใหม่ เพราะนอกจากการย้ายโรงเรียนจะทำให้เขาพ้นร่วมเงาของพี่ชายทั้ง สี่แล้ว การถูกไล่ออกยังทำให้เขาตระหนักได้ว่าหน้าที่ที่แท้จริงของเขาคืออะไร และควรทำอะไรต่อจากนี้  

“ผมเรียนรู้ว่ามันใช้เวลานานกว่าเพื่อเขียนโพยที่จะเอาไปสอบวิชาภาษาละติน แทนที่จะทำแบบนั้น ผมควรตั้งใจเรียนมากกว่า” แพลงค์กล่าวกับ Forbes 

3

ความคิดที่เปลี่ยนไปทำให้เขาเริ่มมีผลการเรียนที่ดีขึ้นที่โรงเรียนใหม่ ไม่เพียงเท่านั้น เขายังได้เล่นอเมริกันฟุตบอล กีฬาที่เขาชื่นชอบ จนติดทีมโรงเรียน และได้เป็นตัวแทนไปแข่งในรายการ Washington Metropolitan Athletic Conference (WMAC) อีกด้วย 

อย่างไรก็ดี แพลงค์ มีฝันที่ไกลกว่านั้น เขายังอยากเล่นฟุตบอลต่อในระดับมหาวิทยาลัย ทำให้หลังเรียนจบ เขาได้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อยเอกชน ฟอร์ก ยูเนียน ที่มีชื่อเสียงในการปลุกปั้นนักอเมริกันฟุตบอลชื่อดังมากมาย 

“ผมอยากจะเล่นในรายการที่ใหญ่ขึ้นอย่างฟุตบอลมหาวิทยาลัย หลังจากจบเซนต์จอห์น ผมก็ไม่ได้ถูกเลือกจากโครงการไหน ผมได้คุยกับมหาวิทยาลัยระดับ ดิวิชั่น 3 (ไม่มีทุนให้) ดังนั้นผมจึงตัดสินใจเข้าโรงเรียนเตรียม” แพลงค์กล่าวกับ Sport Illustrated 

“ตอนที่จบมัธยมปลายผมยังเด็กมาก เพิ่งจะอายุ 17 ผมจึงคิดว่าผมน่าจะมีเวลาอีกปี พ่อของผมจึงส่งผมไปเรียนที่โรงเรียนนายร้อยฟอร์ก ยูเนียน” 
 
อย่างไรก็ดี หลังเรียนจบจากโรงเรียนนายร้อยด้วยหลักสูตร 1 ปี ก็ยังไม่มีมหาวิทยาลัยไหนเสนอทุนนักกีฬาให้ ทำให้แพลงค์ ตัดสินใจเข้าเรียนต่อ ที่มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ในบ้านเกิด

4

และมันก็ทำให้เขาได้เจอสิ่งที่ตามหามาตลอด 

นักธุรกิจในคราบนักฟุตบอล 

ที่แมรีแลนด์ เขายังคงเล่นฟุตบอลเหมือนเดิม และได้รับบทบาทเป็น Wedge Buster ของทีมพิเศษ หรือตัวทำลายบล็อคของคู่แข่ง ที่ต้องเสียสละร่างกายเพื่อให้เพื่อนร่วมทีมเข้าไปแทคเกิ้ลคู่ต่อสู้ได้ ก่อนที่มันจะทำให้เขาได้รับการไว้วางใจ จนได้รับการแต่งตั้งเป็นกัปตันของทีมพิเศษ

“โดยพื้นฐานแล้วเขาถูกกำหนดให้เป็นพวกบ้าพลัง ทำงานแบบเพี้ยนๆ” ทอม มัลลิกิน ที่เคยเล่นกับแพลงค์ที่ เซนต์ จอห์น กล่าวกับ Forbes

5

ในทีมฟุตบอลมหาวิทยาลัย แพลงค์ ยังคงทำผลงานได้ดีในทีมพิเศษ แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่กวนใจเขามาตลอดเช่นกัน เมื่อเขารู้สึกว่าเสื้อยืดที่เป็นเสื้อตัวใน มักจะชุ่มไปด้วยเหงื่อเมื่อซ้อมหรือแข่งไประยะหนึ่งเสมอ และเขาก็มองว่าสิ่งนี้ทำให้ประสิทธิภาพในการเล่นของเขาลดลง

เนื่องจากในช่วงนั้น บริษัทผลิตเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา ล้วนให้ความสำคัญแต่ชุดแข่ง ทำให้ผู้เล่นต้องใช้เสื้อยืดที่ทำมาจากผ้าฝ้าย ที่ไม่ได้มีคุณสมบัติซับเหงื่อ มาใส่เป็นเสื้อตัวใน แน่นอนว่ามันก็เป็นการใช้แบบแก้ขัดเท่านั้น 

“ผมเตี้ยและช้า (เจ้าตัวสูงเพียง 185 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าเตี้ยสำหรับการเป็นนักอเมริกันฟุตบอล) ผมจึงมองหาทุกอย่างที่จะใช้ทดแทนได้” แพลงค์กล่าวกับ Forbes 

“แม้แต่ตอนฝนตก (ผ้าฝ้ายที่ชุ่มไปด้วยเหงื่อ) ก็ทำให้ผมช้าลง มันเป็นความรู้สึกที่เฉื่อยๆ บอกไม่ถูก” 

ทำให้แพลงค์ พยายามคิดหาวิธีแก้ไขในเรื่องนี้ เพราะเขาเองก็รู้สึกไม่ค่อยสบายตัว เมื่อต้องเผชิญกับเหงื่อโทรมกายหลังซ้อมหรือแข่ง ก่อนจะได้รับคำตอบว่าในเมื่อมันหาที่ดีกว่านี้ไม่ได้ ก็ผลิตขึ้นมาเองเสียเลย 

อันที่จริง แพลงค์ เองก็เป็นคนที่มีหัวทางธุรกิจอยู่แล้ว เขาทำงานพิเศษมามากมาย ตั้งแต่ส่งดอกไม้ ขายเสื้อยืดและสร้อยข้อมือในงานคอนเสิร์ต หรือแม้กระทั่งเป็นเด็กรับรถ 

“ผมตระหนักได้ตั้งแต่เมื่อก่อนแล้วผมเป็นคนจัดการได้ดี และส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องการควบคุมดูแล ในขณะที่เพื่อนของผมออกไปดูคอนเสิร์ต แต่ผมกำลังหาเงิน ผมเป็นพวกคลั่งไคล้การจัดการ” แพลงค์อธิบายกับ Forbes 

6

ทำให้หลังเรียนจบ แพลงค์ ตัดสินใจหันเหเข้าสู่ธุรกิจเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาอย่างจริงจัง และก่อตั้งบริษัทที่ชื่อ Under Armour ขึ้นมาในปี 1996 (ที่มาของชื่อมาจากพี่ชายช่วยตั้งให้) โดยใช้ชั้นใต้ดินของบ้านคุณย่าเป็นฐานบัญชาการเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

ด้วยคุณสมบัติที่ไม่เคยมีในเสื้อกีฬาแบรนด์ไหน ทำให้ช่วงแรกเขาใช้เวลาไปกับการค้นคว้าและทดลอง ในแต่ละวัน เขาจะตระเวนไปตามร้านผ้าในท้องถิ่น เพื่อเลือกหาวัสดุที่เขาชอบ ก่อนที่จะนำมาผลิตเป็นสินค้าต้นแบบ 

ก่อนที่ในที่สุดเขาจะพบว่าเนื้อผ้าที่ใช้ทำชุดชั้นในผู้หญิง มีคุณสมบัติที่เขาต้องการ และทำให้สามารถผลิตเสื้อต้นแบบที่มีน้ำหนักเบา และสามารถดูดซับและระบายเหงื่อได้ดีออกมาได้สำเร็จ 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะผลิตออกมาได้ แต่ใช่ว่าจะขายได้ทันที ทำให้เขาจำเป็นต้องยืมมือเพื่อนเก่ามาช่วยในเรื่องนี้ 

ปากต่อปาก 

“ทุกอย่างมันเหมือนกับการทำให้ตัวเองใหญ่ขึ้นกว่าที่เป็น เป้าหมายแรกของผมคือทำให้นักกีฬาเชื่อว่า จริงๆ แล้วพวกเขาจำเป็นต้องมีทางเลือกอื่นนอกจากเสื้อยืดผ้าฝ้ายธรรมดา และวิธีนั้นก็คือผลิตสินค้าที่ยอดเยี่ยมออกมา แต่คุณก็ต้องมีคนช่วยจูงใจด้วย” แพลงค์กล่าวกับ Sport Illustrated

หลังผลิตสินค้าต้นแบบออกมาได้สำเร็จ แพลงค์เริ่มจากทำให้คนรู้จักสินค้าของเขาด้วยการส่งเสื้อต้นแบบไปให้เพื่อนของเขา ซึ่งหลายคนสามารถก้าวขึ้นไปเล่นใน NFL หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็น แฟรงค์ วายเช็ค ของ เทนเนสซี ไททันส์ หรือ จิม ดรัคเคนมิลเลอร์ อดีตผู้เล่น ซานฟรานซิสโก โฟร์ตีไนเนอร์ส

7

ทว่าแค่เพื่อนเก่าเขายังไม่พอ เมื่อแพลงค์ ขอร้องให้เพื่อนของเขาช่วยแจกจ่ายเสื้อต้นแบบให้เพื่อนร่วมทีมทดลองใช้ ซึ่งมันเป็นการกระจายสินค้าแบบลูกโซ่อย่างแยบยล 

“ผมโทรหา แฟรงค์ วายเช็ค เพราะว่าเขาน่าจะรับโทรศัพท์ผม มันจึงเป็นเรื่องง่ายกว่าที่จะเอาเสื้อให้แฟรงค์ แทนที่จะเป็น เจอร์รี ไรซ์ ในตอนนั้น ผมส่งพัสดุไปด้วยกัน และส่งไปให้พวกเขา ราว 30 คนที่ผมรู้จัก” แพลงค์กล่าวกับ Sport Illustrated

วิธีของเขาดูเหมือนจะไปได้สวย เมื่อทุกคนที่ทดลองใช้สินค้าของเขาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าชื่นชอบมาก เนื่องจากใส่แล้วรู้สึกสบาย จนกลายเป็นกระแสแบบปากต่อปาก 

ก่อนที่มันจะทำให้เขาได้ทำสัญญาเป็นผู้ผลิตชุดแข่งให้สถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย หรือ จอร์เจียเทค ตามมาด้วย มหาวิทยาลัย นอร์ธ แคโรไลนา สเตท ที่ทำให้ อันเดอร์ อาร์เมอร์ ปิดยอดขายในปีแรกด้วยมูลค่า 17,000 เหรียญ (ราว 540,000 บาท) 

จากนั้นชื่อเสียงเรื่องคุณภาพของ อันเดอร์ อาร์เมอร์ ก็เป็นกระแสอย่างต่อเนื่องในหมู่นักกีฬา ก่อนที่พวกเขาจะได้เซ็นสัญญากับทีมระดับอาชีพ กับ แอตแลนตา ฟอลคอนส์ ใน NFL แถมยังได้รับความสนใจจาก นิวยอร์ก ไจแอนท์ส แต่ปิดดีลไม่ได้ เนื่องจากไจแอนท์สยังมีสัญญากับไนกี้อยู่ 

8

“ผมกำลังนั่งอยู่ในชั้นใต้ดินที่ของย่าในเมืองจอร์จทาวน์ โทรศัพท์ก็ดังขึ้น” แพลงค์ย้อนความหลังกับ Sport Illustrated 

“ผู้ชายคนหนึ่งพูดว่า ‘ผมเป็นหัวหน้าฝ่ายจัดการอุปกรณ์ของ แอตแลนตา ฟอลคอลส์ และเราอยากซื้อเสื้อของคุณ’ หลังจากนั้นฟอลคอนส์ก็เล่นกับ (นิวยอร์ก) ไจแอนท์ส คนที่ดูแลอุปกรณ์ของฟอลคอนส์ ก็เป็นอาจารย์ของคนดูแลอุปกรณ์ไจแอนท์ส และเขาก็ชอบสินค้าของเรา” 

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือในปี 1999 เมื่อแพลงค์ สามารถผลักดันให้สินค้าของเขาเข้าไปอยู่ในภาพยนตร์ได้สำเร็จ หลังได้เป็นผู้ผลิตเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาในภาพยนตร์เรื่อง Any Given Sunday ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ อเมริกันฟุตบอล ที่นำแสดงโดยดาราดังอย่าง อัล ปาชิโน และ เจมี ฟอกซ์ 

การได้เข้าในอยู่ในภาพยนตร์ระดับฮอลลีวู้ด ทำให้โลโก้ของ อันเดอร์ อาร์เมอร์ เริ่มเป็นที่จดจำ และรู้จักในวงกว้าง แต่มันยังไม่พอ ทำให้ปีเดียวกัน แพลงค์ ได้เดิมพันด้วยการของดจ่ายเงินเดือนพนักงานชั่วคราว เพื่อนำเงิน 25,000 เหรียญ (ราว 789,000 บาท) ซื้อโฆษณาใน ESPN Magazine 

9

แต่มันก็เป็นการเดิมพันที่คุ้มค่า เมื่อโฆษณานิตยสาร ทำให้ อันเดอร์ อาร์เมอร์ มียอดขายทะลุ 1 ล้านเหรียญ (ราว 30 ล้านบาท) ในปีต่อมา และทำให้นักกีฬาหลายคนเริ่มสนใจและหันมาซื้อสินค้าของเขามากขึ้น 

“มันเป็นหนึ่งในช่วงเวลาสำคัญที่สร้างบริษัทขึ้นมาได้” แพลงค์กล่าวกับ Washington Post 

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ 

อาณาจักรหมื่นล้าน

การเริ่มเป็นที่รู้จัก เปิดทางให้ธุรกิจของแพลงค์ ค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปอยู่ในวงการกีฬาของอเมริกัน 
ในปี 2001 อันเดอร์ อาร์เมอร์ ได้กลายเป็นผู้ผลิตชุดแข่งให้สโมสรใน NHL หรือ เนชันแนล ฮอคกี้ ลีก รวมถึงได้สิทธิ์ในการผลิตสินค้าใน MLB หรือ เมเจอร์ลีก เบสบอล รวมถึงทีมเบสบอลทีมชาติสหรัฐฯ 

และมันก็ช่วยดึงดูดให้คนทั่วไปสนใจในสินค้าของพวกเขา ในปี 2004 พวกเขามียอดขายเป็นเงินสูงถึง 200 ล้านเหรียญสหรัฐ (6,300 ล้านบาท) ก่อนที่ในปี 2005 แพลงค์ ตัดสินใจ นำ อันเดอร์ อาร์เมอร์ เข้าตลาดหุ้น และขายหุ้นได้เป็นเงินสูงถึง 157 ล้านเหรียญฯ (ราว 5,000 ล้านบาท) 

10

หลังจากนั้น บริษัทของแพลงค์ ก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2010 พวกเขามียอดขายทะลุ 1,000 ล้านเหรียญ (31,000 ล้านบาท) เป็นครั้งแรก ก่อนที่ในปี 2014 พวกเขาจะแซงอาดิดาสขึ้นมาเป็นบริษัทอุปกรณ์กีฬาที่ขายดีเป็นอันดับ 2 รองมาจากไนกี้ 

เบื้องหลังความสำเร็จของ อันเดอร์ อาร์เมอร์ คือการไม่หยุดนิ่งและพยายามพัฒนาอยู่เสมอ พวกเขามักจะน้อมรับคำติชมของลูกค้า เพื่อนำมาปรับปรุงและทำให้สินค้าของพวกเขามีคุณภาพมากที่สุด

นอกจากนี้ พวกเขายังมีพรีเซนเตอร์ระดับแม่เหล็กอย่าง ดเวย์น จอห์นสัน หรือ “เดอะ ร็อค” อดีตนักมวยปล้ำ WWE ที่ปัจจุบันคือดาราฮอลลีวูดชื่อดัง และ ทอม เบรดี ควอเตอร์แบ็คระดับตำนานของ NFL ที่ช่วยกระตุ้นยอดขายให้อันเดอร์ อาร์เมอร์ ได้เป็นอย่างดี 

“มันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผม ที่แบรนด์สินค้าที่ตัวเองใช้ จะต้องทำให้ผมได้ร่วมแบ่งปันคุณค่าที่มี และช่วยให้ผมทำผลงานได้อย่างเต็มที่” เบรดีกล่าว

“ซึ่ง อันเดอร์ อาร์เมอร์ นี่แหละ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยสำหรับคนรุ่นใหม่และสำหรับนักกีฬาที่ลงแข่งในระดับสูงสุดเช่นผม” 

ในขณะเดียวกัน พวกเขายังพยายามมองหาตลาดใหม่ และเจาะกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าผู้หญิง หรือขยายตลาดออกไปในต่างประเทศ ทั้งในวงการฟุตบอลหรือเทนนิส ที่ทำให้ภาพลักษณ์ของพวกเขาดูเท่และทันสมัยอยู่เสมอ

“ผมเป็นแฟนตัวยงของพวกเขาตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัย นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ผมอยากมีส่วนร่วมกับพวกเขา เพราะว่ามันใหม่ และทันสมัย” แพทริค วิลลิส ไลน์แบ็คเกอร์ของ ซานฟรานซิสโก กล่าวกับ Sport Illustrated 

ปัจจุบัน แพลงค์ ตัดสินใจวางมือจากการเป็นผู้บริหารของ อันเดอร์ อาร์เมอร์ ไปตั้งแต่เดือนตุลาคม 2019 โดยให้ แพทริค ฟริสค์ ผู้ช่วยของเขาเป็นคนรับไม้ต่อ แต่ยังคงมีตำแหน่งในบริษัทในฐานะประธานกรรมการบริหาร 

อย่างไรก็ดี แม้จะไม่มีแพลงค์เป็นคนกุมบังเหียนเหมือนเมื่อก่อน แต่ อันเดอร์ อาร์เมอร์ ก็ยังคงพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ที่ทำให้พวกเขาสามารถยืนหยัดขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าของวงการผลิตอุปกรณ์กีฬาของโลก 

ราวกับว่ามันคือสิ่งที่อยู่กับพวกเขามาตลอด นับตั้งแต่วันแรกที่แพลงค์ก่อตั้งขึ้นมาบริษัทเมื่อ 24 ปีก่อน  จนทำให้พวกเขากลายเป็นที่รู้จักในฐานะแบรนด์ “คุณภาพ” มาจนถึงปัจจุบัน 

“ตอนนี้เป็นปีที่ 23 ของธุรกิจเรา และเป็นปีที่ 14 ในฐานะบริษัทมหาชน ความสามารถของเราคือคิดค้น ปรับเปลี่ยน และปรับปรุงให้ดีขึ้น มีความสามารถมากกว่าที่เคยเป็นมา” แพลงค์กล่าวในวันอำลาตำแหน่ง 

“มันเป็นส่วนหนึ่งของดีเอ็นเอของเราที่ไม่มีใครทำลายได้” 

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ "เควิน แพลงค์" : อดีตนักกีฬาเกเรที่ใช้ห้องใต้ดินบ้านคุณย่าสร้างธุรกิจหมื่นล้าน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook