ทีมถ่ายทอดสดในยุโรปทำงานกันอย่างไรในภาวะ COVID-19?
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/sp/0/ud/223/1118916/dd.jpgทีมถ่ายทอดสดในยุโรปทำงานกันอย่างไรในภาวะ COVID-19?

    ทีมถ่ายทอดสดในยุโรปทำงานกันอย่างไรในภาวะ COVID-19?

    2020-08-13T09:18:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    ในที่สุด แฟนฟุตบอลที่รอคอยการกลับมาของการแข่งขันฟุตบอลลีกดังในยุโรปก็สมหวัง เมื่อ บุนเดสลีกา ลีกสูงสุดของเยอรมันได้กลับมาแข่งขันแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม เป็นต้นมา

    และในสถานการณ์ที่ยังต้องดำเนินตามนโยบาย Social Distancing เว้นระยะห่าง ทำให้แฟนฟุตบอลไม่สามารถเข้าสนามไปเชียร์ทีมรักได้ การถ่ายทอดสด จึงถือเป็นพระผู้มาโปรดที่ทำให้เราๆ ได้ชมเกมลูกหนังตามปกติ

    ถึงกระนั้น ทีมงานถ่ายทอดสด ก็ต้องปรับตัวเพื่อรับกับสถานการณ์ที่ผู้คนต้องอยู่ในบ้านของตัวเองเช่นกัน แต่พวกเขาต้องปรับตัวกันอย่างไรบ้าง?

    หมายเหตุ ตัวเลขที่ปรากฎในบทความ คือจำนวนบุคลากรที่ใช้ในการถ่ายทอดสดต่อ 1 แมตช์

    โควตาเข้าสนามอันจำกัด

    ปกติแล้ว การถ่ายทำรายการโทรทัศน์ หรือการถ่ายทอดสด ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้กำลังคนจำนวนไม่น้อย ... จริงอยู่ที่คุณอาจจะเห็นคนเพียง 3-4 คนที่หน้าจอ แต่ยังมีทีมงานเบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็น โปรดิวเซอร์, ตากล้อง, ทีมเสียง, ฝ่ายกราฟฟิก อีกหลายสิบจนอาจถึงหลักร้อยคนคนเลยทีเดียว

    1

    ทว่าอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้การรวมตัวกันของผู้คนจำนวนมากในสถานที่จำกัดกลายเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ซึ่งในสนามฟุตบอลก็เช่นกัน

    นอกจากไม่อนุญาตให้แฟนบอลเข้าสนามแล้ว บุคลากรต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเกมการแข่งขัน ก็จะได้รับอนุญาตให้เข้าสนามจำนวนจำกัด เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงในการแพร่เชื้อ โดย DFL (เดเอฟแอล) ผู้ควบคุมการแข่งขันฟุตบอลลีกของเยอรมัน อนุญาตให้มีบุคลากรจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะนักเตะ, กรรมการ, เจ้าหน้าที่ หรือแม้แต่สื่อมวลชน รวมกันแล้วไม่เกิน 322 คนเท่านั้น ที่จะสามารถเข้าพื้นที่สนามแข่งได้ในแต่ละเกม

    โดยในพื้นที่สนามแข่งขัน จะมีบุคลากรจากภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น นักเตะ, สตาฟฟ์โค้ช, กรรมการ, เด็กเก็บบอล, ช่างภาพนิ่ง ฯลฯ รวมกันเพียง 98 คน ที่จะอยู่ในส่วนนั้นได้ ณ เวลาการแข่งขัน ขณะที่โควตาในส่วนของทีมงานโทรทัศน์ของสถานีต่างๆ ที่ได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ไม่ว่า SKY, DAZN, ARD ฯลฯ จะมีเพียง 37 คนเท่านั้น ที่จะได้เข้าไปทำหน้าที่ที่จำเป็นในการถ่ายทอดสดของแต่ละเกม ไม่ว่าจะ ควบคุมกล้อง, สั่งเปลี่ยนมุมกล้อง รวมถึงเชื่อมสัญญาณสู่สตูดิโอ เพื่อส่งต่อความมันของเกมลูกหนังไปทั่วทุกมุมโลก

    นอกจากนี้ ทาง DFL ก็ได้กำหนดตารางเวลาการทำงานไว้ค่อนข้างชัดเจน โดยทีมงานถ่ายทอดสดจะสามารถลงมาในพื้นที่สนามได้ เฉพาะช่วงก่อนและหลังการแข่งขันเท่านั้น เพื่อทำการเซ็ตอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงจัดเก็บกลับสถานี ส่วนระหว่างการแข่งขัน ทีมถ่ายทอดสดจะต้องควบคุมกล้องตัวต่างๆ จากบนสแตนด์ หรือรถ OB ซึ่งจอดอยู่ด้านนอกของตัวสนามเท่านั้น และต้องเข้ากระบวนการตรวจเชื้อ COVID-19 และกักตัวเช่นเดียวกับนักเตะอีกด้วย

    เข้าสตูดิโอตามที่จำเป็น

    ด้วยเทคโนโลยีที่รุดหน้า ทำให้การถ่ายทอดสดกีฬาในปัจจุบัน มีความคมชัดไม่เพียงแค่ HD เท่านั้น แต่ยังมากถึงระดับ 4K หรือ 8K เลยทีเดียว ... ซึ่ง BT Sport เครือข่ายสถานีโทรทัศน์กีฬาชื่อดังของอังกฤษ และเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดบุนเดสลีกาในแดนผู้ดี ก็ถือเป็นหนึ่งในนั้น ที่สามารถถ่ายทอดสัญญาณระดับ 8K ส่งถึงบ้านคุณได้

    2

    อย่างไรก็ตาม COVID-19 ก็ได้ทำให้รูปแบบการทำงานของคนทั้งโลกเปลี่ยนไป ... เพื่อหลีกเลี่ยงการรวมตัวกันจนอาจนำมาซึ่งการติดเชื้อหมู่ Work From Home หรือการทำงานจากที่บ้านจึงกลายเป็น New Normal ไปโดยปริยาย

    ถึงกระนั้น เพื่อให้คุณภาพงานออกมาดีที่สุด จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีผู้ทำหน้าที่ในสตูดิโอ ซึ่งประกอบด้วย พิธีกร 2 คน และทีมงานเบื้องหลังอีก 6 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กล้อง 2 คน, ผู้กำกับรายการ 1 คน, โปรดิวเซอร์ 1 คน, เจ้าหน้าที่ภาพ 1 คน และเจ้าหน้าที่เสียงอีก 1 คน 

    โดย เจมี ฮินด์เฮาจ์ (Jamie Hindhaugh) ประธานฝ่ายปฏิบัติการ หรือ COO ของ BT Sport เผยว่า สามารถทำรายการถ่ายทอดสดฟุตบอลได้ โดยที่มีคนในสตูดิโอไม่ถึง 10 คนด้วยซ้ำ

    ผลลัพธ์เต็มร้อย.. ใช้คนน้อยที่สุด

    และเพื่อให้ทุกอย่างออกมาครบถ้วนสมบูรณ์ อย่างที่การถ่ายทอดสดเกมฟุตบอลสักเกมหนึ่งควรจะเป็น จึงมีหลายตำแหน่ง ที่ผู้ปฏิบัติงาน สามารถทำหน้าที่ได้จากที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็น พิธีกรอีก 2 คน ซึ่งโดยปกติจะเป็นผู้สันทัดกรณี, ผู้บรรยายเกมการแข่งขัน 2 คน, ผู้ช่วยผู้กำกับรายการ 1 คน, ผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ 1 คน เจ้าหน้าที่ภาพ 1 คน, เจ้าหน้าที่เสียง 1 คน, เจ้าหน้าที่ภาพรีเพลย์ 1 คน และเจ้าหน้าที่กราฟฟิกอีก 1 คน

    3

    ซึ่งถึงจะเป็นการทำงานจากที่บ้าน แต่ต้องบอกว่า คุณภาพของงานนั้น ไม่ต่างจากการทำงานในสตูดิโออย่างเต็มรูปแบบเลย เพราะทางสถานีได้ส่งเครื่องมือการทำงาน แบบบเดียวกันหรือเทียบเท่ากับที่มีใช้ในสตูดิโอ ไปทำสตูดิโอในบ้านได้อย่างเต็มรูปแบบ พร้อมทั้งระบบอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ และ 4G เพื่อการเชื่อมต่อและส่งข้อมูลได้แบบไร้รอยต่อ

    รูปแบบการทำงานในลักษณะนี้ BT Sport ได้มีการทดลองใช้งานกับรายการฟุตบอลต่างๆ แล้วก่อนหน้า ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นการทำงานที่บ้าน 100% แบบไม่ต้องพึ่งการเข้าสตูดิโอเลยแม้แต่น้อย

    และบางที นี่อาจจะเป็น New Normal ของการถ่ายทอดสดฟุตบอลในอนาคต ที่สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ เพราะประสบการณ์ทำงานจริง ก็ทำให้ ฮินด์เฮาจ์ เชื่อแบบนั้นเช่นกัน

    "จริงๆ เมื่อซัก 10 สัปดาห์ก่อน ผมไม่คิดว่าเราจะทำงานได้ปกติเหมือนเดิมเสียด้วยซ้ำ แต่หลังจากต่อสู้และยอมรับกับมันมา 6 สัปดาห์ จู่ๆ ผมก็แบบ 'เออ เราก็ได้อยู่กับลูกๆ ทุกคืน งานก็ทำได้เสร็จเหมือนแต่ก่อน แถมบางเรื่องยังดีกว่าแต่ก่อนด้วย' การทำงานที่บ้านนั้นดูจะมีคำถามเสมอ แต่ผมคิดว่า ตอนนี้มันมีแนวทางที่ทำให้ทุกอย่างมันได้ผลแล้ว และคุณรู้ไหม คนที่ทำงานเขาก็ชอบด้วยเหมือนกัน"