"ไลลา อาลี" : ลูกสาวของแชมป์โลกตลอดกาลที่เดินตามรอยเท้าพ่อในฐานะนักมวยไร้พ่าย

"ไลลา อาลี" : ลูกสาวของแชมป์โลกตลอดกาลที่เดินตามรอยเท้าพ่อในฐานะนักมวยไร้พ่าย

"ไลลา อาลี" : ลูกสาวของแชมป์โลกตลอดกาลที่เดินตามรอยเท้าพ่อในฐานะนักมวยไร้พ่าย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บากิ การ์ตูนญี่ปุ่นขวัญใจคนทั่วโลก ประกาศเปิดตัวอนิเมชั่นซีซั่นใหม่ เตรียมพร้อมลงฉายใน Netflix โดยมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการประลองครั้งใหญ่ในประเทศจีน ที่จะรวบรวมยอดนักสู้มากมายเข้ามาประชันฝีมือกับพระเอกของเรื่อง

ในบรรดาคู่ต่อสู้ทั้งหมด หนึ่งในนั้นคือ โมฮัมหมัด อาไล จูเนียร์ ลูกชายของตัวละครที่ถอดแบบมาจาก มูฮัมหมัด อาลี ตำนานนักชกหมายเลขหนึ่งของโลก ที่กลายเป็นศัตรูตัวฉกาจของบากิในซีซั่นนี้

เรื่องราวที่เกิดขึ้นในการ์ตูน แตกต่างจากความเป็นจริง มูฮัมหมัด อาลี ไม่เคยมีลูกชายเป็นนักมวยฝีมือฉกาจ ลูกสาวของเขาต่างหาก ที่เป็นสุดยอดนักสู้ไร้พ่าย และสร้างความยิ่งใหญ่จนผู้เป็นพ่อต้องยอมรับ

Main Stand นำเสนอเรื่องราวของ ไลลา อาลี ลูกสาวผู้เดินตามรอยเท้าของ มูฮัมหมัด อาลี ติดตามของเธอได้ที่นี่

ก่อนจะเป็นนักมวย

ไลลา อมาเรีย อาลี เกิดเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ปี 1977 เธอเป็นลูกคนที่ 8 ของ มูฮัมหมัด อาลี ยอดนักชกชาวอเมริกัน (กับ เวโรนิกา พอร์ช ภรรยาคนที่ 3 จาก 4 คนที่อาลีเคยแต่งงานด้วย) ... ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก หากเราบอกว่า เธอได้รับความเป็นนักสู้จากพ่อผ่านสายเลือด แต่แทนจะใช้มันสร้างชื่อเสียง ไลลานำพรสวรรค์เหล่านั้นไปใช้ในทางที่ผิด

1

ในช่วงวัยรุ่น ไลลา ถูกจับเข้าสถานพินิจหลายครั้ง จากคดีความมากมาย ไล่ตั้งแต่ ขโมยของในร้านค้า, ฉ้อโกงบัตรเครดิต จนถึง ขโมยรถแม่ตัวเอง ไลลาทำทุกอย่างไม่ใช่เพราะเธอต้องการเงิน แต่เป็นเพราะเธอรู้สึกโดดเดี่ยวและแปลกแยกจากสังคม เนื่องจากชื่อเสียงล้นฟ้าของ มูฮัมหมัด อาลี

สิ่งเดียวที่ไลลามองเห็นในช่วงวัยรุ่น คือความจอมปลอมของคนรอบข้าง ที่เข้ามาเพื่อปอกลอกเงินทองจากพ่อของเธอ ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า ไลลา ไม่เคยคิดอยากเป็นนักมวย หลังกลับตัวกลับใจ เธอเดินบนเส้นทางของตัวเอง ด้วยวัยเพียง 16 ปี เธอประกอบอาชีพช่างทำเล็บ และมีซาลอนเป็นของตัวเอง รวมถึงจบการศึกษาในสาขาธุรกิจ จาก Santa Monica College ในรัฐแคลิฟอร์เนีย

"ก่อนหน้านี้ ชีวิตของฉันไม่เคยเกี่ยวข้องกับกีฬา เพราะกฎกติกามากมาย คุณต้องโฟกัสกับมัน อีกอย่าง คือแรงสนับสนุนจากพ่อแม่ คุณต้องการให้พวกเขาพาไปฝึกซ้อม ต้องการให้พวกเขามาชมเกมของคุณ" ไลลา ให้สัมภาษณ์กับ ESPN

"ชีวิตฉันวุ่นวายกับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ตลอดเวลาฉันต้องการเป็นเจ้าของกิจการสักอย่าง เพราะสิ่งหนึ่งที่ฉันรู้ดี คือ ฉันต้องการควบคุมชีวิตของตัวเอง"

2

หากไม่ใช่เพราะโชคชะตา เส้นทางของไลลาคงไม่บรรจบกับผู้เป็นพ่อ ปี 1996 วันหนึ่งขณะนั่งดูโทรทัศน์กับเพื่อน เธอเปลี่ยนช่องไปเจอแมตช์ถ่ายทอดสด การแข่งขันมวยสากลหญิง ระหว่าง คริสตี มาร์ติน และ เดร์เดอร์ โกการ์ตี จิตวิญญาณนักมวยที่หลับใหลมาแสนนาน จึงตื่นขึ้นมาเป็นครั้งแรก

"ฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีกีฬานี้ (มวยสากลหญิง) อยู่บนโลก แต่ทันทีที่ได้รู้จัก ฉันตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะชกมวย และฉันตื่นเต้นกับเรื่องนั้นมากจริงๆ" ไลลา ย้อนเล่าวินาทีที่เปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล

ขัดแย้งกับพ่อ

สิ่งหนึ่งที่คุณได้รู้จากเรื่องราวของ ไลลา ในบทที่ผ่านมา คือ ความมั่นใจที่อัดแน่นภายในตัวเธอ แทนจะเริ่มต้นฝึกซ้อมอย่างเงียบๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความกดดัน ไลลาเผชิญหน้ากับสื่อมวลชน ผ่านรายการ Good Morning America ด้วยการให้สัมภาษณ์กับนักข่าวชื่อดัง ไดแอน ซอว์เยอร์ (Diane Sawyer) ว่าชีวิตนักมวยของเธอเริ่มต้นชึ้นแล้ว

3

ผู้คนทั้งโลกตั้งตารอการชกไฟต์แรกของไลลา ยกเว้น มูฮัมหมัด อาลี บุคคลที่ควรสนับสนุนเธอมากที่สุด ... อาลีผู้พ่อไม่เห็นด้วยที่ลูกสาวเดินตามรอยเท้าของเขา เนื่องจากกีฬามวยเป็นอาชีพอันตราย และมองไม่เห็นเหตุผลที่มนุษย์คนหนึ่ง ผู้เกิดมาเพียบพร้อมทุกอย่าง จะขึ้นไปเจ็บตัวบนสังเวียนต่อสู้

ไลลา ไม่แปลกใจที่พ่อจะไม่ชอบการตัดสินใจครั้งนี้ จากความสัมพันธ์ไม่สู้ดีนักของทั้งสองฝ่าย มูฮัมหมัด อาลี คือ มุสลิมเคร่งศาสนา และต้องการให้ทุกคนในครอบครัวศรัทธาความเชื่อเดียวกัน แต่ลูกสาวหัวขบถรายนี้ นอกจากจะไม่เดินตามแนวทางดังกล่าว เธอยังเป็นเพียงคนเดียวจากลูกทั้ง 9 คน (หญิง 7 ชาย 2) ของ มูฮัมหมัด อาลี ที่กล้าตอบโต้เขาแบบถึงพริกถึงขิง

"หนูโตพอที่จะรู้แล้วว่าสิ่งนั้น (ศาสนา) ไม่ได้อยู่ในหัวใจของหนู" ประโยคจากปากของ ไลลา ทำร้ายหัวใจผู้เป็นพ่อแสนสาหัส ความเจ็บปวดนั้นกลับคืนสู่ตัวเธอ เมื่อ มูฮัมหมัด อาลี ยืนกรานไม่ให้ไลลาชกมวย ผลลัพธ์จบลงแบบเดิม ลูกสาวไม่ฟังคำพูดของเขา มูฮัมหมัดจึงทิ้งระเบิดลูกใหญ่ลงในหัวใจของไลลา

"มันไม่ใช่กีฬาของผู้หญิง มวยคือกีฬาสำหรับผู้ชาย มันยากเกินไป ลูกจะเจ็บตัวอย่างแสนสาหัส"

ประโยคดังกล่าว ไม่ใช่แค่คำเตือน แต่ยังเป็นคำดูถูก.. ไลลาไม่ใส่ใจความเห็นจากพ่อ เธอเดินหน้าต่อบนเส้นทางที่ตั้งใจ ก่อนสร้างผลงานบนสังเวียนที่อาจเรียกได้ว่า สมบูรณ์แบบกว่า อาลีผู้พ่อ เสียอีก

ความเหมือนที่แตกต่าง

ไลลา อาลี ขึ้นชกไฟต์แรก ในวันที่ 8 ตุลาคม ปี 1999 เจอกับ เอพริล ฟาวเลอร์ (April Fowler) ที่เมืองเวโรนา รัฐนิวยอร์ก ถึงจะเป็นแมตช์แรกของเธอ แต่ด้วยชื่อเสียงของการเป็นลูกสาว มูฮัมหมัด อาลี สื่อมวลชนมหาศาลหลั่งไหลมาทำข่าว ร่วมกับแฟนกีฬาอีกกว่า 3,000 คน 

4

เว็บไซต์ Women's Boxing กล่าวภายหลังว่า นี่คือแมตช์มวยหญิงได้รับความสนใจมากที่สุด นับตั้งแต่การพบกันระหว่าง คริสตี มาร์ติน และ เดร์เดอร์ โกการ์ตี การต่อสู้ที่เปลี่ยนชีวิตไลลาให้ก้าวสู่เวทีมวย

แตกต่างจากไฟต์ชื่อดังในปี 1996 แมตช์แรกของไลลา คือการยำใหญ่ฝ่ายเดียว เธอน็อคคู่ต่อสู้หลังเวลาการชกผ่านไปเพียง 31 วินาที แม้จะเป็นการชกที่เห็นชัดว่า "กินหมู" ชัยชนะครั้งนี้ตกเป็นข่าวดังทั่วโลก บวกกับการปรากฏตัวของอาลีผู้พ่อ ที่เดินทางมาให้กำลังใจลูกสาวถึงขอบสังเวียน ทำให้ชื่อของ ไลลา ได้รับความสนใจมากขึ้นอีก

5

ไลลา เจอบททดสอบของจริงในการชกไฟต์ที่สอง เธอมีโปรแกรมพบกับ ชาดีนา เพนนีเบคเกอร์ นักมวยหญิงผู้ผ่านประสบการณ์มาแล้ว 3 ไฟต์ และชนะไปถึง 2 นัด ก่อนมาพบกับไลลา

ทันทีที่เสียงระฆังดังขึ้น ไลลารู้ทันทีว่าไฟต์นี้ไม่ง่ายเหมือนก่อน การชกล่วงเลยเข้าสู่ยก 4 อันเป็นยกสุดท้าย แทนที่จะตื่นตระหนก เธอแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมา 

ไลลาเปิดเผยรูปแบบการชกที่ลื่นไหล ราวกับถอดแบบมาจากพ่อ ยิ่งกว่านั้น เธอยังเชี่ยวชาญการข่มขวัญคู่ต่อสู้ ไลลาล้อเลียนและดูถูกคู่ต่อสู้ หนึ่งในบทเรียนที่คุณสามารถเรียนรู้ได้ จากตำราการชกของมูฮัมหมัด อาลี

6

"ไฟต์แรกของฉัน มันไม่ใช่การต่อสู้สักเท่าไหร่" ไลลา กล่าวถึงการชกสองนัดแรกในชีวิตของเธอ

"แมตช์นี้คือการชกไฟต์ที่สองของฉัน มันต้องใช้เวลา และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมแมตช์นี้ยาวถึง 4 ยก ฉันไม่เคยรู้สึกหงุดหงิดตราบใดที่ยังไม่แพ้ ฉันมีความสุขมากที่การชกลากยาวถึง 4 ยก เพราะตอนนี้ฉันรู้สึกแล้วว่า การต่อสู้ของจริงมันเป็นอย่างไร"

ก่อนหมดเวลาเพียง 3 วินาที ไลลาปลิดบัญชีคู่ต่อสู้ด้วยหมัดรัวซ้าย-ขวา จนกรรมการสั่งยุติการแข่งขัน ไลลาคว้าชัยชนะในการต่อสู้ที่ดุเดือดที่สุดในชีวิต เธอยังคงฟอร์มแรงต่อเนื่อง ไลลาขึ้นชกในไฟต์ที่ 5 กว่าจะรู้สึกว่าการลงไปนอนกับพื้นให้กรรมการนับเป็นอย่างไร

หากจะหาใครสักคนที่ภูมิใจที่สุดในผลงานของ ไลลา แน่นอนว่าต้องเป็น มูฮัมหมัด อาลี แต่ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ของพ่อลูกคู่นี้ จะตรึงเครียดกว่าที่คิด มูฮัมหมัดไม่เคยกล่าวชมลูกสาวของตัวเองสักครั้ง แม้จะเดินทางไปชมไลลาขึ้นชกด้วยตัวเองหลายครั้ง

ความไม่เข้าใจของทั้งคู่มาถึงจุดสิ้นสุด ในวันที่ ไลลา เอาชนะ ซูเซ็ตต์ เทย์เลอร์ คว้าแชมป์โลกรุ่น ซูเปอร์มิดเดิลเวต ของ IBA มาครอง เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2002 ทันทีที่กลับเข้าสู่ห้องแต่งตัว เธอพบ มูฮัมหมัด อาลี รออยู่ที่ห้องแห่งนั้น เพื่อกล่าวขอโทษลูกสาว

"ลูกรู้ว่าพ่อคิดผิด ลูกคือนักสู้ที่ดี วันนี้พ่อรู้แล้วว่า ผู้หญิงสามารถชกมวยได้" ไลลา บอกเล่าคำพูดของพ่อ ผ่านบทความของเธอ "ลูกออกหมัดแย็บเหมือนพ่อ เคลื่อนที่ไปรอบเวทีเหมือนพ่อ" มูฮัมหมัด อาลี พูดพร้อมรอยยิ้ม และเริ่มออกท่าทางชกมวยโชว์ลูกสาว เพื่อแสดงให้เห็นว่าเธอต่อยมวยเหมือนเขาแค่ไหน

7

ไลลาเดินตามรอยเท้าของพ่อจนถึงปี 2007 เธอประกาศแขวนนวม เพื่อหาความท้าทายใหม่ในวงการบันเทิง ทิ้งไว้เพียงผลงานอันน่าประทับใจ ชก 24 ไฟต์ คว้าชัยชนะทั้งหมด ไม่แพ้หรือเสมอแม้แต่ไฟต์เดียว โดยเป็นการชนะแบบน็อคเอาต์ถึง 21 แมตช์ รวมถึงเข็มขัดแชมป์โลกในรุ่น ซูเปอร์มิดเดิลเวต 3 เส้น จาก IBA, WBF และ WBC

ทุกวันนี้ ไลลา อาลี ประสบความสำเร็จในฐานะเซเลบริตี้ชื่อดัง เธอปรากฏตัวในรายการทีวีมากมาย เช่น The Masked Singer, เป็นพิธีกรรายการ American Gladiators ร่วมกับ ฮัลค์ โฮแกน รวมถึงกลับไปสานต่อธุรกิจความงาม ด้วยเป้าหมายที่ต้องการกิจการไปทั่วโลก

เรื่องราวของ ไลลา อาลี อาจจะขัดกับภาพที่เราเคยจินตนาการไว้ เธอไม่ได้ถอดแบบจากยอดนักสู้ผู้เป็นตำนานทุกกระเบียดนิ้ว เหมือนกับภาพของ โมฮัมหมัด อาไล จูเนียร์ 

แต่แนวคิดหัวขบถ ความดื้อรั้น และทักษะการชกมวยที่หาตัวจับยาก เราจึงกล่าวได้ว่า ไลลา คือ ผู้สืบทอดตำนานของ มูฮัมหมัด อาลี ตัวจริงเสียงจริง โดยไม่มีตัวละครสมมติใด สามารถทำได้ใกล้เคียงกว่านี้อีกแล้ว

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ "ไลลา อาลี" : ลูกสาวของแชมป์โลกตลอดกาลที่เดินตามรอยเท้าพ่อในฐานะนักมวยไร้พ่าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook