ชาติเดียวในโลกา : ความหมายที่แท้จริงของท่าจีบมือชาวอิตาลี

ชาติเดียวในโลกา : ความหมายที่แท้จริงของท่าจีบมือชาวอิตาลี

ชาติเดียวในโลกา : ความหมายที่แท้จริงของท่าจีบมือชาวอิตาลี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากกล่าวถึงธรรมเนียมประจำชาติที่เป็นที่รู้จัก การไหว้ของคนไทย ย่อมเป็นหนึ่งในนั้น เช่นเดียวกับอีกหลายวัฒนธรรมทั่วโลก ซึ่งพบเห็นได้บ่อยจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศ

สำหรับประเทศอิตาลี ภาพจำที่เด่นชัดที่สุดคงหนีไม่พ้น ท่าจีบมือ อันเป็นเอกลักษณ์ที่ชาวอิตาลีมักใช้ขณะสื่อสารกับฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะพูดถึงเรื่องอะไรก็ตาม จนคนทั่วโลกสงสัย ท่าจีบมือนั้นมีความหมายอะไรกันแน่?

Main Stand พาคุณค้นหาความหมายที่แท้จริงของท่าจีบมือชาวอิตาลี ตั้งแต่จุดกำเนิดในยุคโรมัน จนถึงวันที่กลายเป็นมุกตลกในภาพยนตร์ระดับออสการ์

สืบทอดแต่โบราณ

ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า ชาวอิตาลีเริ่มต้นใช้ท่าทางมือในการแสดงความรู้สึกตั้งแต่เมื่อใด จากการศึกษาของ อันเดรีย เด โจริโอ นักโบราณคดีรายแรกที่ศึกษาการแสดงออกทางร่างกายของมนุษย์ คาดการณ์ว่า..

ชาวอิตาลีเริ่มต้นใช้ท่าทางมือตั้งแต่สมัยโรมัน อาณาจักรโบราณที่มีการใช้ท่าทางมือเรียกว่า Chironomia ซึ่งถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย ระหว่างการสื่อสารแก่คนจำนวนมากในที่สาธารณะ แม้อาณาจักรโรมันจะล่มสลายในเวลาถัดมา แต่ธรรมเนียมดังกล่าว ถูกสืบทอดแก่คนรุ่นหลังในบริเวณตอนใต้ของประเทศอิตาลี

1

ชาวโรมันไม่ได้ใช้ท่าทางมือ Chironomia เพียงลำพัง ชาวกรีกโบราณ คืออีกหนึ่งชนชาติที่ใช้ท่าทางมือดังกล่าวเช่นกัน ภายหลังการเสื่อมอำนาจของอาณาจักรโบราณ ส่งผลให้ชาวยุโรปอพยพจากถิ่นฐานเดิมไปยังพื้นที่อื่น เช่นเดียวกับ ชาวกรีกโบราณเดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนสู่ประเทศอิตาลี

มีงานวิจัยยืนยันว่า ท่าทางมือของชาวอิตาลีที่ได้รับอิทธิพลจากชาวกรีกโบราณ มีต้นกำเนิดตั้งแต่ 800 ปีก่อนคริสตกาล และยังคงถูกใช้งานจนถึงปัจจุบัน ตรงข้ามกับภาษาโบราณซึ่งใช้ในการพูด ที่สูญสลายหรือแปรเปลี่ยนไป เนื่องจากการอพยพข้ามถิ่นฐานของชาวยุโรป ก่อให้เกิดวิวัฒนาการทางภาษาในเวลาต่อมา

ท่าทางมือมีอิทธิพลต่อสังคมอิตาลีอย่างมากในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) ช่วงคริสต์ศตวรรษ 15-16 จาคส์ เลอ กอฟฟ์ ชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า คนยุคนั้นมองท่าทางมือเป็นการแสดงออกอย่างมีอารยธรรม สื่อถึงประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองและยาวนานของชาวอิตาลี

ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ มีส่วนสำคัญในการพัฒนาท่าทางมือของชาวอิตาลี เนื่องจากยุคสมัยดังกล่าว ให้ความสำคัญต่อการปลดปล่อยความคิดของมนุษย์ ผู้คนจึงมักใช้ท่าทางมือเพื่อเพิ่มความน่าพอใจในการถ่ายทอดข้อความที่อยู่ภายใน ให้บุคคลอื่นได้รับทราบ

2

อิทธิพลจากยุคยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ส่งตรงถึงชาวอิตาลีในปัจจุบัน คนอิตาลีส่วนใหญ่ชอบสื่อสารกับผู้อื่นด้วยแพชชั่น พวกเขาไม่เคยปล่อยให้คำพูดจากปากทำหน้าที่เพียงลำพัง ท่าทางมือมีส่วนร่วมในการสื่อสารเสมอ ยิ่งไปกว่านั้น ชาวอิตาลียังใช้ส่วนอื่นของร่างกายแสดงท่าทางระหว่างการพูด เช่น การยักไหล่, ยักคิ้ว หรือ พลิกข้อมือ เพื่อบ่งบอกความคิดที่อยู่ภายใน

ปัจจุบัน ชาวอิตาลีมีท่าทางมือมากกว่า 250 ท่า และถูกใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างออกไปจากคนยุโรปประเทศอื่น ชาวอิตาลีเชื่อว่า การแสดงออกด้วยท่าทางเพียงหนึ่งครั้ง แสดงความหมายมากกว่าคำพูดนับพัน ท่าทางมือของพวกเขาส่งเสียงหลากหลาย ทั้ง เครื่องหมายคำถาม, ช่องว่าง, คอมมา, เว้นวรรค หรือกระทั่ง จุดลงท้ายประโยค

ความหมายของท่าจีบมือ

ท่ามกลางท่าทางมือนับร้อยของชาวอิตาลี ท่าทางอันเป็นที่จดจำมากที่สุด คงหนีไม่พ้น ท่าจีบมือลักษณะคล้ายดอกบัว หรือ Hand Purse ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายโดยชาวอิตาลี สามารถพบเห็นได้บ่อยในสื่อหลัก เช่น ภาพยนตร์ จนเป็นที่จดจำไปทั่วโลก

ท่าจีบมือดังกล่าว ถูกนำมาใช้งานโดยชนชาติอื่น เมื่อต้องการเลียนแบบคนอิตาลี จนกลายเป็นมีม (meme) โด่งดังในโลกอินเตอร์เน็ต แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า ท่าจีบมือนั้น มีความหมายอะไรกันแน่?

3

ท่าจีบมือของชาวอิตาลี มีชื่อเรียกในภาษาอิตาลีว่า "Ma che stai a dì" หรือ "ma che vuoi?" แปลเป็นภาษาไทยว่า "คุณกำลังพูดอะไร?" หรือ "คุณต้องการอะไร" มีความหมายแสดงท่าทีต้องการทราบเจตนารมณ์ของคู่สนทนา ยามที่ผู้แสดงท่าทางไม่เข้าใจความหมายที่ฝ่ายตรงข้ามต้องการจะสื่อ

ชาวอิตาลีมักใช้ท่าทางมือนี้ พร้อมกับอารมณ์ร่วมที่ค่อนข้างรุนแรง พวกเขาจีบมือในลักษณะดอกบัว และโยกขึ้น-ลงตามจังหวะคำพูด บางครั้งชาวอิตาลียกมือที่กำลังท่าทางดังกล่าว ขึ้นมาบดบังใบหน้าของพวกเขา สื่อให้เห็นว่าชาวอิตาลี เชื่อมั่นว่าท่าทางจีบมือนี้ สามารถแสดงอารมณ์ของพวกเขาออกมาได้ดีเพียงใด

ซิลเวีย มาร์เกตติ นักข่าวของ CNN กล่าวว่า ชาวอิตาลีใช้ท่าจีบมือแทบทุกการสนทนาของพวกเขา แม้กระทั่งในยามคุยโทรศัพท์ ซึ่งไม่มีคู่สนทนาอยู่เบื้องหน้า ชาวอิตาลียังทำท่าจีบมือระหว่างการพูด เพื่อแสดงความรู้สึกของตัวเองออกมา แม้กระทั่ง การพูดกับตัวเองหน้ากระจก ชาวอิตาลีใช้ท่าทางมือดังกล่าวเช่นกัน

4

"เวลาที่คนทั่วไปต้องการเลียนแบบภาพจำของชาวอิตาลี พวกเขาเลือกใช้ท่าทางมือนี้ ซึ่งพวกเขาทำถูกต้องแล้ว" ซิลเวีย มาร์เกตติ นักข่าวชาวอิตาลี เขียนในบทความ

การแสดงท่าทางมืออยู่ในสายเลือดชาวอิตาลีนานนับพันปี ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะบอกว่า การแสดงออกท่าจีบมือของชาวอิตาลีเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจหรืออัตโนมัติ คล้ายกับคนไทย ยกมือไหว้คนแปลกหน้าที่เรารู้จักเป็นครั้งแรกอย่างรวดเร็ว โดยที่สมองไม่ต้องสั่งการ

ด้วยเหตุนี้ ท่าจีบมือของชาวอิตาลี จึงมีความหมายมากมายแฝงอยู่ ไม่ใช่แค่ต้องการรับรู้ความต้องการของฝ่ายตรงข้าม แต่ยังรวมถึงการถามหาความหมายของสิ่งที่อยู่เบื้องหน้า เช่น "คุณกำลังทำอะไร?", "มันคืออะไร?", "เป็นอย่างไรบ้าง?" หรือแม้กระทั่งด่าคู่สนทนาว่า "ไอ้โง่!"

5

ท่าจีบมือลักษณะนี้ถูกใช้งานในหลายประเทศ ด้วยความหมายแตกต่างกันออกไป ทั้ง ฝรั่งเศส, สเปน, กรีซ และ ตุรกี แต่ไม่มีใครจดจำท่าทางนี้ได้มากกว่าที่มาจากชาวอิตาลี ด้วยอารมณ์และสีหน้าอันร้อนแรงของพวกเขา

มีม และ มุกตลก

ชาวอิตาลีใช้ท่าจีบมือ สื่อสารแก่คู่ตรงข้ามอย่างจริงจังนานนับพันปี แต่ในวันที่โลกหมุนมาสู่ศตวรรษที่ 21 อะไรที่จริงจังมาก สามารถกลายเป็นเรื่องตลกชวนขบขันได้ง่ายๆ เช่นเดียวกับ ท่าจีบมือของชาวอิตาลี

ท่าจีบมือของชาวอิตาลี ถูกเรียกอย่างเหมารวมโดยชาวเน็ตว่า "Italian Hand" หรือ "ท่าทางมือของชาวอิตาลี" ซึ่งกลายเป็นมีมยอดนิยมในโลกออนไลน์ มาตั้งแต่ปี 2017 เมื่อ ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ ชื่อ donny_drama ถ่ายภาพตัวเองจับแก้วกาแฟ ด้วยท่าจีบมือของชาวอิตาลี พร้อมแคปชั่นสุดฮา "นี่คือวิธีที่ชาวอิตาลีจับถ้วยกาแฟ"

6

ทันทีที่มีมดังกล่าวออกไปสู่โลกออนไลน์ มันได้รับความนิยมในทันที ผู้คนต่างถ่ายรูปตัวเองใช้ท่าจีบมือแบบอิตาลี กำลังทำกิริยาต่างๆ เช่น เล่นเปียโน, สูบบุหรี่, นอนหลับ, หรือทำอาหาร ด้วยแคปชั่น "นี่คือวิธีที่ชาวอิตาลี.." ด้วยความหลากหลายที่สามารถใช้กับอะไรก็ได้ มีม ท่าทางมือของชาวอิตาลีจึงเป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2017

ท่าจีบมือของชาวอิตาลี ยังกลายเป็นมุกตลกในภาพยนตร์ระดับเข้าชิงรางวัลออสการ์ เรื่อง Inglourious Basterds (2009) ของผู้กำกับ เควนติน ทารันติโน (Quentin Tarantino) ในฉากที่ทหารชาวเยอรมัน ต้องการแฝงตัวสังหารอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในโรงหนัง จึงต้องปลอมตัวเป็นผู้กำกับและช่างภาพชาวอิตาลี ที่สังกัดฝ่ายอักษะเช่นเดียวกับเยอรมัน ในสงครามโลกครั้งที่ 2

ฉากดังกล่าวโด่งดังจากความตลกของนายทหารอเมริกาที่พูดภาษาอิตาลีผิดสำเนียง แต่สิ่งที่น่าตลกยิ่งกว่านั้น นายทหารเหล่านี้ (นำแสดงโดย แบรด พิตต์) ใช้ท่าจีบมือของชาวอิตาลีเพื่อเพิ่มความแนบเนียนยิ่งขึ้นไป แต่กลายเป็นว่า ความหมายของท่าทางมือ ขัดแย้งกับคำพูดหรือบริบทในขณะนั้น สร้างความตลกแก่ผู้ชมมากขึ้นกว่าเดิม

ถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า ชาวอิตาลี ไม่โกรธบ้างหรือที่คนประเทศอื่นเอาวัฒนธรรมของชาติมาล้อเล่นเป็นมุกตลกแบบนี้? เราคงต้องตอบว่า ชาวอิตาลีภูมิใจกับการใช้ท่าทางมือมาก และยอมรับว่าพวกเขาใช้บ่อย "เกินความจำเป็น" จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ท่าจีบมือนี้จะถูกเลียนแบบอย่างขบขันโดยชาวต่างชาติ

8

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่บทสนทนาจริงจัง ซึ่งปราศจากความตลก ท่าทางมือทั้งหลายจะกลับมาสู่หน้าที่เดิมของมัน ชาวอิตาลีจึงย้ำเตือนว่า อย่าใช้ภาษามือสุ่มสี่สุ่มห้า ไม่เช่นนั้น อาจใช้งานผิดความหมาย จนเกิดปัญหากับเจ้าถิ่น

การใช้ท่าทางมือ อาจกลายเป็นมีมในโลกอินเตอร์เน็ตหรือมุกตลกในภาพยนตร์ แต่ในท้ายที่สุด สิ่งนี้คือธรรมเนียมที่สืบทอดอย่างยาวนานนับพันปี เช่นเดียวกับ การไหว้ของคนไทย 

ท่าจีบมือ คือการแสดงออกที่บ่งบอกถึงความเป็นชาวอิตาลี ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปอีกปี ท่าจีบมือของชาวอิตาลีจะเป็นที่จดจำจากคนทั่วโลก และอยู่คู่กับวิถีชีวิตของพวกเขาตราบนานเท่านาน

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ ชาติเดียวในโลกา : ความหมายที่แท้จริงของท่าจีบมือชาวอิตาลี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook