เกิดอะไรขึ้นกับ "เอซี มิลาน" อภิมหาอำนาจฟุตบอลอิตาลีที่ตกต่ำแบบกู่ไม่กลับ?

เกิดอะไรขึ้นกับ "เอซี มิลาน" อภิมหาอำนาจฟุตบอลอิตาลีที่ตกต่ำแบบกู่ไม่กลับ?

เกิดอะไรขึ้นกับ "เอซี มิลาน" อภิมหาอำนาจฟุตบอลอิตาลีที่ตกต่ำแบบกู่ไม่กลับ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภาพที่แฟนฟุตบอลบ้านเราคุ้นเคยสำหรับ เอซี มิลาน คือหนึ่งในทีมที่แข็งแกร่งที่สุดในยุโรป มีทั้งความเด็ดขาดทางแท็คติก และศักยภาพนักเตะที่เหมือนเป็นทีมรวมดาราโลก

ทว่าตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทีมที่เคยคว้าแชมป์ยุโรปมากที่สุดเป็นอันดับ 2 กลับถอยหลังลงคลองไปเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้ 6 ซีซั่นติดแล้วที่พวกเขาไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขันในระดับท็อปของทวีป

สิ่งที่เราได้เห็นผ่านหน้าสื่อทุกวันนี้ คือผลงานในสนามกลายเป็นทีมระดับกลางๆ ที่ 3 วันดี 4 วันไข้ นโยบายซื้อขายเปลี่ยนไปแทบทุกปี และเจอกับปัญหานอกสนามแบบไม่เว้นวัน..

1 ทศวรรษเปลี่ยนไปขนาดนี้ได้อย่างไร ติดตามการล่มสลายของอาณาจักรปีศาจแดงดำอันยิ่งใหญ่ได้ที่นี่

เมื่อท่านผู้นำจากไป

ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ คือชื่อของชายที่เข้ามาสร้างยุคทองของ เอซี มิลาน หลังจากตกต่ำสุดๆ ในสภาพที่ทีมโดนปรับตกชั้นในปี 1980 เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องในข้อหาพัวพันกับคดีการล้มบอล "โตโต้เนโร่" ของ เฟลิเซ่ โคลอมโบ ประธานสโมสรคนเก่า

1

แบร์ลุสโคนี่ ถือเงินสดเดินเข้ามาเจรจากับบอร์ดบริหารพร้อมขอซื้อสโมสรในปี 1986 ด้วยเงินจำนวน 40 ล้านลีร์ พร้อมประกาศว่า "ผมจะเข้ามาเป็นผู้กอบกู้ และยุคสมัยใหม่ของมิลาน จะเริ่มขึ้นหลังจากนี้"

ทุกอย่างที่เขาพูดเป็นเรื่องจริง เอซี มิลาน เป็นเหมือนยักษ์หลับที่ถูกปลุกให้ตื่นด้วยพลังเงินและทักษะการบริหารของ แบร์ลุสโคนี่ ทำให้ มิลาน ยิ่งใหญ่สุดๆ เมื่อเข้าสู่ยุค 90's เขาแสดงความทะเยอทะยานด้วยการเล่นของใหญ่ รุด กุลลิต, แฟร้งค์ ไรจ์การ์ด และ มาร์โก ฟาน บาสเท่น จากนั้นก็ตามมาด้วยคนอื่นๆ อีกมากมาย มันไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน แม้แต่นักเตะที่อยู่กับทีมมาอย่างยาวนาน อย่าง ฟรังโก้ บาเรซี่ ยังยอมรับว่า นับตั้งแต่ แบร์ลุสโคนี่ เข้ามาเทคโอเวอร์ทีม เอซี มิลาน ไม่กลัวทีมไหนทั้งนั้นบนโลกใบนี้.. 8 สคูเด็ตโต้ และ 5 แชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก คือแชมป์ในยุคของ "ป๋าแบร์" ที่มิลานได้รับ 

2

อย่างไรก็ตามทุกคนล้วนมีความผิดพลาดกันได้ทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่ แบร์ลุสโคนี่ เอง ในช่วงยุค 2000's ขณะที่ทีมกำลังประสบความสำเร็จถึงขีดสุด มิลาน เลือกที่จะลงทุนนอกสนามเพื่อรายรับที่เพิ่มขึ้นในอนาคตด้วยการจะสร้างสนามแห่งใหม่ เพราะแต่เดิมนั้น มิลาน ต้องเช่าสนาม ซาน ซิโร่ กับทางเมืองมิลาน และใช้ร่วมกับทีมร่วมเมืองอย่าง อินเตอร์ มิลาน (สำหรับอินเตอร์ จะใช้ชื่อ จูเซปเป้ เมอัซซ่า ตามตำนานของสโมสร)

เพียงแต่ว่าเรื่องนี้คือการวางแผนที่เกินตัว เพราะหลังจากนั้นประเทศอิตาลี (ที่มี แบร์ลุสโคนี เป็นนายกรัฐมนตรี) ก็เกิดภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง บริษัทใหญ่ๆ ในประเทศล้วนได้รับผลกระทบทั้งหมด อาทิ "เฟียต" บริษัทอุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดใหญ่ ที่ต้องให้รัฐบาลฉีดเงินช่วยเหลือกว่า 400 ล้านยูโรเลยทีเดียว ... เอซี มิลาน ก็เช่นกัน เมื่อเศรษฐกิจเป็นเช่นนี้ ทุกอย่างที่เคยลงทุนกับโปรเจ็คต์สร้างสนามก็ถูกทำให้หยุดชะงัก ทำให้เงินที่ลงทุนไปก่อนหน้านี้เสียไปเปล่าๆ 

ยิ่งเมื่อเวลาผ่านไปเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น แถมยังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ บวกกับเคราะห์ซ้ำกรรมซัดทั้งปัญหา "กัลโช่โปลี" คดีฉาวล็อกผลการแข่งขันในปี 2006 (ซึ่ง เอซี มิลาน ก็มีส่วนเกี่ยวพันอีกครั้ง) ที่ทำให้แฟนบอลหมดศรัทธา จำนวนคนดูและผู้ติดตามการแข่งขันของฟุตบอลอิตาลีลดลง สำคัญที่สุดคือเมื่อ แบร์ลุสโคนี่ แพ้การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี เกมก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ... มิลาน ไม่สามารถใช้เงินได้แบบที่เคยเป็น นักเตะดังที่เคยมีต้องค่อยๆ ถูกขายเพื่อหาเงินเข้ามาเยียวยา 1 ในรายที่เด่นชัดที่สุดคือ ริคาร์โด้ กาก้า จอมทัพชาวบราซิล ที่ถึงกับเสียน้ำตาในวันที่ย้ายไปอยู่กับ เรอัล มาดริด ในปี 2009 ... เขารักที่นี่ เขารักแฟนๆ ของ มิลาน และไม่ต้องการย้ายทีม แต่สุดท้าย สโมสรก็เคาะยืนยันว่าได้ว่าเวลาอันสมควร เพราะราคาที่ มาดริด ยื่นมานั้นเป็นตัวเลขที่พวกเขาไม่อาจจะปฏิเสธได้อีกแล้ว หลังจากที่เคยปฏิเสธข้อเสนอ 100 ล้านปอนด์ของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ไม่นานก่อนหน้า 

3

ปัญหาการเงินคือเรื่องใหญ่ที่สุด และเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ แบร์ลุสโคนี่ เองก็รู้ดีว่าเขาไม่สามารถแบกรับภาระนี้ไหวอีกต่อไป ผลงานของ มิลาน ย่ำแย่มากนับตั้งแต่แชมป์เซเรียอาครั้งสุดท้ายในปี 2011 พวกเขาไม่เคยได้สัมผัสแชมป์ใดอีกเลย มีแต่การถอยหลังลงคลอง ขายนักเตะเกรด A ของตัวเอง เพื่อเอานักเตะเกรด C ของทีมอื่นๆ เข้ามาแทน สัญญาณการล่มสลายชัดเจนมากถึงมากที่สุด สุดท้ายแล้วเขาจึงเลือกขายทีมให้กับ หลี่ หยงหง นักธุรกิจชาวจีน ในราคา 740 ล้านยูโร ในช่วงปี 2017.. ไม่มีการลงทุนกับฟุตบอลครั้งไหนมากกว่านี้อีกแล้วในประวัติศาสตร์นักธุรกิจจีน

ดังนั้นแฟนบอลของ มิลาน คิดว่าจะได้กลับมาเห็นคืนวันที่สดใส ลงเล่นเมื่อไหร่ก็ได้ชัยชนะในยุคของเจ้าของใหม่ ทว่าสุดท้ายกลายเป็นการหนีเสือปะจระเข้ชัดๆ ซึ่งการพบจระเข้สัญชาติจีนนั้นต้องบอกว่า มิลาน พาตัวเองเดินไปลงคลองที่มีจระเข้อ้าปากรองาบอยู่ก็ว่าได้

เลือกคนผิดคิดจนตัวตาย 

น่าแปลกใจปนน่าขบขัน คุณลองคิดว่าคุณเป็นเจ้าของธุรกิจที่กำลังจะทำการซื้อ-ขาย ด้วยวงเงินกว่า 700 ล้านยูโร สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือต้องมีความรอบคอบให้มากที่สุด ตรวจสอบที่มาที่ไปอย่างละเอียดเพื่อทำให้แน่ใจว่า ที่สุดแล้วจะไม่มีปัญหาตามหลังมาเล่นงานให้ปวดหัว

แต่บอร์ดบริหารของ มิลาน ชุดนั้น (ก่อนขายทีม) ได้ทำมันลงไปแล้ว พวกเขาไม่ได้ตรวจสอบ (หรืออาจจะตรวจสอบแค่ผ่านๆ) เพราะหลังจากที่ หลี่ หยงหง เข้ามาเป็นเจ้าของสโมสรด้วยการถือหุ้น 99% ได้ไม่นาน สื่อจากฝั่งจีนก็ถึงกับตั้งคำถามว่า "หลี่ หยงหง คือใคร?" ชื่อนี้ไม่เคยมีในหน้าประวัติศาสตร์เศรษฐีจีน ที่แม้แต่ทุกวันนี้โลกยังหาคำตอบไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเขาเป็นใครกันแน่? 

4

หลี่ หยงหง โดนตามสืบค้นเกี่ยวกับธุรกิจทั้งหลายที่เขาอ้าง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเหมืองแร่ที่สุดท้ายก็ได้ความว่า "ไม่มีจริง" อีกทั้งยังมีคดีติดตัวมาไม่น้อย ทั้งคดีหลอกลวงว่าตนเองเป็นเจ้าของบริษัทการบินที่ชื่อว่า แอร์ ดราก้อน ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับบริษัทเลย นอกจากนี้ยังเคยโดนคดีหลอกตบทรัพย์ในปี 2004 ซึ่งในครั้งนั้นพ่อและน้องชายของเขาโดนจับติดคุกอีกต่างหาก

คำถามคือปัญหาเยอะขนาดนี้ แล้วเขาไปเอาเงินมาจากไหนกันแน่.. ซึ่งคำตอบก็ไม่น่าซับซ้อน ในเมื่อธุรกิจของเขาคืออะไร มีรายได้เท่าไหร่ยังไม่มีใครหาคำตอบได้ ดังนั้นวิธีเดียวที่เขาจะหาเงินก้อนโตขนาดนั้นมาซื้อ มิลาน ได้คือการ "กู้เงิน" นั่นเอง 

Corriere della Sera สื่อจาก อิตาลี สืบค้นและพบว่า หลี่ หยงหง ใช้เงินตัวเองเพียงส่วนเดียวเท่านั้นในการซื้อทีม โดยมีการการกู้เงินจากสถาบันการเงินมาโปะถึง 303 ล้านยูโร แถมสัญญาที่ต้องเริ่มชำระหนี้และดอกเบี้ยจะเริ่มต้นภายหลังจากการกู้แค่ 1 ปีเท่านั้น ... นั่นแหละหายนะแบบสุดขีดจึงเกิดขึ้นกับ เอซี มิลาน ผ่านชายชาวจีนผู้ที่พวกเขาไม่ตรวจสอบเบื้องหลังให้ละเอียดก่อน 

ย้อนกลับไปตอนที่เขาเอาเงิน 700 กว่าล้านยูโรมาซื้อทีมกันอีกสักนิด ณ นาทีนั้นใครๆ ก็ว่า มิลาน กลับมาแน่ๆ พวกเขาใช้เงินช็อปนักเตะเข้าทีมไปทั้งหมดเกือบ 200 ล้านยูโร (รวมพวกที่ยืม+สัญญาซื้อขาดในอนาคต) นักเตะอย่าง อังเดร ซิลวา, มาเตโอ มูซัคคิโอ, ริคาร์โด้ โรดริเกซ, ฮาคาน ชาลาโนกลู รวมไปถึงแข้งเบอร์ใหญ่อย่าง เลโอนาร์โด้ โบนุชชี่ คือรายชื่อที่ดีที่สุดเท่าที่ มิลาน เคยนำเข้ามาสู่ทีมในระยะหลังๆ

5

ทว่าปีเดียวเท่านั้นสวรรค์ก็ล่มลง หลัง หลี่ หยงหง โดนจับโป๊ะ ทุกอย่างก็ต้องกลับสู่โลกแห่งความจริง ผลงานทีมก็ย่ำแย่ การทำอันดับไปเล่นยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ก็เป็นได้แค่ฝัน การบริหารเรื่องเงินล้มเหลวถึงขีดสุด สโมสรขาดทุนเกิน 100 ล้านยูโรภายในปีเดียว ดังนั้นเมื่อถึงรอบชำระหนี้หลังฤดูกาลจบ หลี่ หยงหง จึงไม่มีเงินจ่าย อีกทั้งยังโดนกฎทางการเงินอย่าง ไฟแนนเชี่ยล แฟร์เพลย์ (ใช้เงินมากกว่ารายรับที่สโมสรมี) เล่นงานซ้ำ เรียกได้ว่าไม่เคยมีช่วงเวลาไหนที่จะเละได้ครบทุกด้านแบบนี้อีกแล้ว

บริหารอย่างไรผลงานเป็นอย่างนั้น

ไม่มีทางเลยที่ผลงานในสนามจะดีได้ ภายใต้เบื้องหลังที่เละเทะจับต้นชนปลายไม่ถูกแถมไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ มิลาน เป็น ...

6

"การจะได้ผลการแข่งขันดีๆ คุณต้องทำให้นักเตะมีความรู้สึกร่วม พวกเขาต้องการให้สโมสรดูแลใส่ใจ ต้องการโค้ชเก่งๆ มีประธานที่คอยให้ความสำคัญในการทำงานของพวกเขา เรื่องนี้สำคัญ ผมจะบอกให้ตอนที่ผมเป็นประธาน ผมรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับนักเตะในทีม พวกเขารักผมเหมือนกับเป็นพี่ชายคนหนึ่ง.. และยืนยันอีกครั้งว่าจะหาใครสักคนมาแทนคนอย่าง แบร์ลุสโคนี่ นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายหรอกนะ จงจำไว้เลย" แบร์ลุสโคนี่ กล่าวถึงอดีตทีมที่เขาเป็นเจ้าของอย่างเจ็บปวด 

การมีผู้บริหารที่แม้แต่ที่มาที่ไปก็ยังไม่ชัดเจน ทำให้ส่งผลไปทั่วทั้งองค์กร มิลาน ผิดพลาดมหันต์ในการลงตลาดซื้อขาย ผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับการแต่งตั้งโค้ช นอกจากนี้ มิลาน ยังไม่มีผู้อำนวยการกีฬาหรือประธานที่คอยกำหนดทิศทางของทีมให้ชัดเจน เหมือนกับที่ ยูเวนตุส มี จูเซ็ปเป้ มาร็อตต้า เป็น CEO และค่อยๆ สร้างทีมจนกลายเป็นทีมอันดับ 1 ของประเทศ (ปัจจุบันย้ายไปรับตำแหน่งกับ อินเตอร์ มิลาน) 

ดังนั้นหากจะถามว่า มิลาน พลาดตรงไหน เหตุใดจึงย่ำแย่เหลือเชื่อใน 10 ปีหลัง? คำตอบที่ดีที่สุดคือ "ทุกตรง" แตะตรงไหนก็มีปัญหาพร้อมผุพังไปเสียหมด สิ่งเดียวที่ทำได้ ณ เวลานี้ คือการชดใช้กรรมและความประมาทในอดีต ค่อยๆ สร้างขึ้นมาใหม่ภายใต้การบริหารที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยๆ ขอให้คนที่มีวิสัยทัศน์ สามารถตั้งธงได้ว่าทีมๆนี้มีเป้าหมายตรงไหนที่จะไปให้ถึง ... ซึ่งทุกวันนี้แม้จะกระท่อนกระแท่นแต่พวกเขาก็พยายามอย่างเต็มที่ที่จะกลับมาจากหายนะให้ได้ 

การกู้ที่ไม่ได้คิดหน้าคิดหลังทำให้ หลี่ หยงหง ไม่มีเงินมาใช้หนี้ สุดท้ายในปี 2018 กลุ่มทุนที่ชื่อว่า เอลเลียต เมเนจเมนท์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ก็ต้องเข้ามาควบคุมกิจการแทน และมีการแต่งตั้ง อิวาน กาซิดิส อดีตซีอีโอของ อาร์เซน่อล เข้ามาบริหารงานด้านฟุตบอลแทน 

อย่างไรก็ตาม การปล่อยให้ระบบพังมาเป็น 10 ปีนั้นยังต้องใช้เวลา ณ ปัจจุบัน มิลาน ยังคงมีปัญหาภายในอยู่ มีคลื่นใต้น้ำก่อให้เห็นเป็นระยะๆ ล่าสุดคือการปลด ซโวนิเมียร์ โบบัน หนึ่งในทีมบริหารออกจากตำแหน่ง จากความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับ CEO อย่าง กาซิดิส ซึ่งจ้องจะเอา ราล์ฟ รังนิก เข้ามาทำทีมในฐานะกุนซือและผู้อำนวยการกีฬาของสโมสรอีกด้วย 

7

เรื่องดังกล่าวทำให้ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช นักเตะตัวเก๋าของทีมออกอาการไม่พอใจอย่างมาก เพราะเจ้าตัวมีความสนิทสนมกับ โบบัน เป็นอย่างมาก และย้ายกลับมา มิลาน ด้วยเหตุผลข้อนี้เป็นข้อหลัก จนมีปากเสียงกันออกสื่อมาแล้ว 

ณ เวลานี้ มิลาน เหมือนกำลังล้างไพ่ใหม่ทั้งหมด ซึ่งหากวัดจากผลงานในสนามก็ต้องบอกว่าพวกเขาดีขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่เข้าปี 2020 จนตอนนี้อันดับกระเตื้องมาอยู่ครึ่งบนของตารางและไล่จี้โซนฟุตบอลยุโรปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถทำให้แฟนๆ สามารถเบาใจได้เลย เมื่อกลุ่มผู้บริหารยังมีความคิดที่ไม่ตรงกันและมีการก่อคลื่นใต้น้ำการอย่างต่อเนื่อง ... ทว่าทุกอย่างล้วนมีสองด้าน การล้างไพ่ครั้งนี้จะเป็นการทำให้ฝั่งใดฝั่งหนึ่งเป็นใหญ่แต่เพียงผู้เดียว และเมื่อเป็นเช่นนั้นพวกเขาจะได้ทำงานแบบมีอิสระและเต็มที่ หากการเลื่อยขาเก้าอี้ของกันและกันจบลง

ไม่ว่ากลุ่มผู้บริหารฝั่งไหนจะชนะ สุดท้ายแล้วสิ่งที่ มิลาน จะได้ คือการมีผู้นำนอกสนามที่ตั้งธงและเป้าหมายชัดเจนที่สุดในรอบหลายปี อย่างน้อยๆ นี่คือสิ่งที่เป็นการเปลี่ยนแปลงในแบบที่พวกเขาขาดหาย ส่วนจะดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่า "ใครจะเป็นฝ่ายชนะ" และเวลาเท่านั้นจะบอกได้ว่าผู้ชนะในศึกภายในจะสามารถพิสูจน์ตัวเองด้วยผลงานการบริหารทีมในแบบที่พวกเขาตั้งใจได้หรือไม่..

8

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ เกิดอะไรขึ้นกับ "เอซี มิลาน" อภิมหาอำนาจฟุตบอลอิตาลีที่ตกต่ำแบบกู่ไม่กลับ?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook